พบผลลัพธ์ทั้งหมด 1 รายการ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4467/2536
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การคืนภาษีการค้ากรณีผลักภาระภาษีจากผู้ผลิตไปผู้ส่งออก และการคำนวณดอกเบี้ย
โจทก์เป็นผู้ผลิตน้ำตาลทรายขาวและน้ำตาลทรายดิบออกจำหน่ายจึงเป็นผู้ประกอบการค้าประเภทการค้า 1 การขายของชนิด 1(ก) ตามบัญชีอัตราภาษีการค้า มีหน้าที่เสียภาษีในอัตราร้อยละ 7 ของรายรับตามบัญชีอัตราภาษีที่ใช้บังคับขณะนั้น ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 78วรรคแรก และไม่ได้รับยกเว้นภาษีการค้าตามพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการลดอัตราและยกเว้นภาษีการค้า (ฉบับที่ 54)พ.ศ. 2517 มาตรา 5(8) เนื่องจากน้ำตาลทรายดิบเป็นสินค้าที่ระบุไว้ในบัญชีท้ายพระราชกฤษฎีกา บัญชีที่ 1 หมวด 1(7) แต่เนื่องจากได้มีประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีการค้า (ฉบับที่ 18)เรื่องกำหนดหน้าที่เสียภาษีการค้าตามมาตรา 78 วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2517 ข้อ 3 ให้ผู้ส่งออกเป็นผู้เสียภาษีการค้าในอัตราร้อยละ 7.0 ของรายรับ ดังนั้นแม้ว่าโจทก์มีหน้าที่ต้องเสียภาษีการค้าแก่จำเลยในอัตราภาษีร้อยละ 7 ของรายรับ แต่เมื่อจำเลยได้มีประกาศผลักภาระการเสียภาษีให้แก่ผู้ส่งออกต้องชำระภาษีเต็มในอัตราภาษีร้อยละ 7 ของรายรับเสียแล้ว เท่ากับจำเลยยอมเปลี่ยนตัวผู้เสียภาษีการค้าจากผู้ผลิตมาเป็นผู้ส่งออกจำเลยจึงต้องคืนเงินค่าภาษีการค้าตามฟ้องให้แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ย มาตรา 4 ทศ แห่งประมวลรัษฎากรที่ใช้บังคับขณะโจทก์ต้องเสียภาษีอากรตามฟ้อง บัญญัติว่าให้ผู้ได้รับคืนเงินภาษีอากรได้รับดอกเบี้ยด้วยในอัตราร้อยละ 0.625 ต่อเดือน หรือเศษของเดือนของเงินภาษีอากรที่ได้รับคืนโดยไม่คิดทบต้น ทั้งนี้ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนดโดยกฎกระทรวง แต่มิให้เกินกว่าจำนวนเงินภาษีอากรที่ได้รับคืน และตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 133(พ.ศ. 2516) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการให้ดอกเบี้ยแก่ผู้ที่ได้รับคืนเงินภาษีอากรข้อ 1(2) กรณีคืนเงินภาษีอากรที่ชำระตามแบบแสดงรายการ ให้เริ่มคิดดอกเบี้ยตั้งแต่วันถัดจากวันครบระยะเวลาสามเดือน นับแต่วันยื่นคำร้องขอคืนเงินภาษีอากรโจทก์ขอให้จำเลยรับผิดใช้ดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี ซึ่งไม่มากกว่าอัตราที่มาตรา 4 ทศวรรคแรก บัญญัติไว้ จึงให้จำเลยชดใช้ให้โจทก์ในอัตราตามที่โจทก์ขอแต่ไม่เกินจำนวนเงินภาษีอากรที่โจทก์ได้รับคืนตามมาตรา 4 ทศ วรรคสอง