พบผลลัพธ์ทั้งหมด 2 รายการ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1968/2537
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การอุทธรณ์นอกกรอบ, การคิดดอกเบี้ยหลังบอกเลิกสัญญา, และการพิจารณาข้อตกลงดอกเบี้ยใหม่หลังผิดนัด
แม้ว่าก่อนที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ขยายระยะเวลาอุทธรณ์จำเลยที่ 1 ที่ 2 จะมีสิทธิยื่นอุทธรณ์ได้ภายในวันที่ 17 กันยายน2533 เป็นวันสุดท้ายได้เพราะวันครบกำหนดระยะเวลาอุทธรณ์คือวันที่ 15 กันยายน 2533 ตรงกับวันเสาร์หยุดราชการ แต่เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ขยายระยะเวลาอุทธรณ์แล้ว การนับระยะเวลาก็ต้องนับติดต่อกันไปโดยไม่ต้องคำนึงว่าวันสุดท้ายแห่งกำหนดระยะเวลาเดิมจะเป็นวันหยุดราชการหรือไม่ คือเริ่มนับหนึ่ง ตั้งแต่วันที่ 16 กันยายน 2533 เป็นวันเริ่มต้น แม้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ได้อุทธรณ์โต้แย้งคำพิพากษาศาลชั้นต้นส่วนนี้ไว้ก็ตาม แต่เมื่อได้ความจากการวินิจฉัยมาแล้วว่าจำเลยที่ 1ที่ 2 ยื่นอุทธรณ์เกินกำหนดจึงถือเท่ากับว่าจำเลยที่ 1 ที่ 2 มิได้อุทธรณ์นั่นเอง ปัญหาข้อเท็จจริงเช่นว่านั้นย่อมยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น จำเลยที่ 1 ยอมให้โจทก์ซึ่งเป็นสถาบันการเงินปรับอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 19 ต่อปีได้ โดยมีเงื่อนไขข้อตกลง เมื่อต่อมาปรากฏว่าโจทก์ไม่ปฏิบัติตามข้อตกลง และจำเลยที่ 1 ได้มีหนังสือบอกเลิกสัญญาที่ยอมให้โจทก์ปรับอัตราดอกเบี้ยโจทก์ย่อมไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยกับจำเลยที่ 1 ในอัตราร้อยละ 19 ต่อปีได้ เฉพาะเงินกู้งวดสุดท้าย จำเลยที่ 1 ได้ตกลงกับโจทก์ใหม่โดยชัดแจ้งว่าจำเลยที่ 1 จะชำระคืนให้แก่โจทก์ภายใน 6 เดือน นับแต่วันรับเงินกู้พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19 ต่อปี อันเป็นข้อตกลงใหม่ต่างหากจากข้อตกลงยอมให้ปรับอัตราดอกเบี้ย โจทก์ย่อมมีสิทธิคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19 ต่อปี จากเงินกู้งวดสุดท้ายนั้นได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4637/2536
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ธนาคารต้องรับผิดชอบการจ่ายเช็คที่มีลายมือชื่อปลอม แม้จะอ้างว่าผู้เสียหายประมาทในการเก็บรักษาเช็ค
เช็คที่โจทก์เก็บรักษาไว้ที่บ้านก็ดี ที่นำติดตัวไปด้วยโดยเก็บไว้ในกระเป๋าในรถยนต์ก็ดีเป็นการเก็บเช็คและนำเช็คติดตัวไปเพื่อใช้ดังเช่นที่วิญญูชนจะพึงปฏิบัติตามปกติธรรมดา มิได้มีความบกพร่องไม่เก็บเช็คไว้ในที่มั่นคงและปลอดภัยแต่อย่างใด ถือไม่ได้ว่าโจทก์ประมาทเลินเล่อการที่เจ้าหน้าที่ของธนาคารจำเลยจ่ายเงินตามเช็คพิพาทไป แม้จะอ้างว่าปราศจากความประมาทเลินเล่อแต่เมื่อลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายในเช็คเป็นลายมือชื่อปลอม ไม่ใช่ลายมือชื่อโจทก์ จำเลยจึงหาหลุดพ้นความรับผิดไปไม่ ดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1008 โจทก์ฟ้องว่าจำเลยผิดสัญญาฝากเงินประเภทเงินฝากกระแสรายวันซึ่งมีข้อตกลงว่าในการใช้เช็คสั่งจ่ายเงินจากบัญชีของโจทก์จะต้องลงลายมือชื่อโจทก์เป็นผู้สั่งจ่าย แต่จำเลยจ่ายเงินตามเช็คที่มีผู้ปลอมลายมือชื่อโจทก์ จึงขอให้จำเลยคืนเงินที่จำเลยหักไปจากบัญชีของโจทก์เป็นกรณีที่ไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะจึงมีอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164 เดิม(มาตรา 193/30 ที่แก้ไขใหม่)