คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
เกษม เกษมปัญญา

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 198 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 735/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดของหุ้นส่วนผู้จัดการและหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดในห้างหุ้นส่วนจำกัดต่อหนี้ที่เกิดขึ้น
จำเลยที่ 1 มีจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการระหว่างวันที่ 8 กันยายน 2547 ถึงวันที่ 23 กันยายน 2556 และมีจำเลยที่ 3 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการระหว่างวันที่ 24 กันยายน 2556 จนถึงปัจจุบัน เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2556 จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 หุ้นส่วนผู้จัดการในขณะนั้นทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับโจทก์รับว่าเป็นหนี้ค่าสินค้าโจทก์โดยตกลงผ่อนชำระเป็นงวดๆ ต่อมาจำเลยที่ 1 ผิดนัด โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสามให้รับผิด จำเลยที่ 3 หุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 เป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดจึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 แม้หนี้ดังกล่าวจะเกิดขึ้นก่อนที่จำเลยที่ 3 เข้ามาเป็นหุ้นส่วนก็ตาม ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1052 ประกอบมาตรา 1077 (2) และมาตรา 1080 วรรคหนึ่ง ส่วนจำเลยที่ 2 ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 เนื่องจากยังอยู่ในเวลาสองปีนับแต่วันที่จำเลยที่ 2 ออกจากการเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1068 ประกอบมาตรา 1080 วรรคหนึ่ง และมาตรา 1087

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8906/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องคดีละเมิด: เจ้าของกรรมสิทธิ์/ครอบครองจริง แม้กรรมสิทธิ์จะเปลี่ยนมือ แต่ยังคงครอบครองและใช้ประโยชน์
โจทก์ทั้งสองกล่าวอ้างว่า ช. เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 72398 ตำบลพระโขนง อำเภอพระโขนง กรุงเทพมหานคร พร้อมทั้งบ้านเลขที่ 110/1 ซึ่งปลูกสร้างบนที่ดินดังกล่าว ต่อมา ช. รื้อบ้านหลังดังกล่าวและปลูกสร้างเป็นอาคาร 2 หลัง แทนหลังเดิมและขอเลขที่บ้านเป็น 3 หลัง ให้ ส. ภริยาและบุตร 4 คน พักอาศัยอยู่ร่วมกันในที่ดินแปลงเดิม แบ่งเป็นบ้านเลขที่ 110/1 ให้ ส. ป. และ ก. พักอาศัย บ้านเลขที่ 110/4 ให้โจทก์ที่ 2 พักอาศัยและบ้านเลขที่ 110/5 ให้ ณ. พักอาศัย แสดงให้เห็นเจตนาและความประสงค์ให้บุตรและภริยาได้พักอาศัยเป็นสัดส่วน ช. โอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินให้แก่ ป. และ ก. โดยเสน่หา แต่โจทก์ที่ 2 ยังคงพักอาศัยในบ้านและที่ดินดังกล่าวมาโดยตลอดไม่ได้ปล่อยให้ ป. และ ก. ครอบครองเพียงฝ่ายเดียว เมื่อโจทก์ที่ 2 แต่งงานกับโจทก์ที่ 1 แล้วย้ายไปพักอาศัยที่อื่น ก็นำบ้านหลังดังกล่าวให้บุคคลภายนอกเช่าโดยไม่มีบุคคลใดโต้แย้งกรรมสิทธิ์ ถือได้ว่าโจทก์ทั้งสองเป็นเจ้าของและครอบครองบ้านเลขที่ 110/4 เมื่อโจทก์ทั้งสองอ้างว่า ได้รับความเสียหายจากการกระทำละเมิดของจำเลยทั้งหกและจำเลยร่วมอันเป็นการโต้แย้งสิทธิโจทก์ทั้งสองตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55 โจทก์ทั้งสองจึงมีอำนาจฟ้อง
ส่วนการยื่นคำร้องขอให้ศาลหมายเรียกบุคคลภายนอกเข้ามาในคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57 (3) ต้องแสดงเหตุว่าตนอาจฟ้องหรือถูกคู่ความเช่นนั้นฟ้องตนได้เพื่อการใช้สิทธิไล่เบี้ยหรือเพื่อใช้ค่าทดแทน โดยต้องยื่นคำร้องพร้อมกับคำฟ้องหรือคำให้การ ถ้ายื่นภายหลังนั้นต้องแสดงเหตุให้เป็นที่พอใจของศาลว่าไม่สามารถยื่นคำร้องได้ก่อนนั้นได้แต่ต้องยื่นก่อนมีคำพิพากษา การที่จำเลยที่ 6 ไม่สามารถยื่นคำร้องขอให้ศาลหมายเรียกจำเลยร่วมเข้ามาในคดีพร้อมกับคำให้การได้โดยจำเลยที่ 6 แสดงเหตุอันสมควรที่จำเลยที่ 6 ไม่สามารถยื่นคำร้องได้เนื่องจากจำเลยร่วมซึ่งเป็นผู้รับประกันขอตรวจสอบความเสียหายและเจรจากับโจทก์ทั้งสองก่อน จนกระทั่งจำเลยร่วมปฏิเสธไม่รับผิด จำเลยที่ 6 จึงยื่นคำร้องขอหมายเรียกจำเลยร่วมเข้ามาในคดีภายหลังจากที่จำเลยที่ 6 ยื่นคำให้การแล้ว แต่เป็นระยะเวลาก่อนศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา และศาลชั้นต้นอนุญาตให้หมายเรียกจำเลยร่วมเข้ามาในคดี คำร้องขอหมายเรียกจำเลยร่วมเข้ามาในคดีของจำเลยที่ 6 จึงชอบด้วยกฎหมายตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57 (3)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7078/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดต่อรถยนต์สูญหายในที่จอดรถ: ลูกจ้างผู้เช่าพื้นที่ไม่ใช่ลูกค้า - จำเลยไม่ต้องรับผิด
จำเลยที่ 1 เป็นห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่จัดให้มีบริการที่จอดรถ นอกจากจะเป็นการปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 แล้ว ยังเป็นการอำนวยความสะดวกแก่ลูกค้าที่มาซื้อสินค้าหรือใช้บริการอื่นภายในห้างสรรพสินค้าของจำเลยที่ 1 อันมีผลโดยตรงต่อยอดการจำหน่ายสินค้าหรือบริการของจำเลยที่ 1 เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ย. เป็นลูกจ้างของห้าง ฮ. ซึ่งเป็นผู้ประกอบการและผู้เช่าพื้นที่จากจำเลยที่ 1 เพื่อประกอบกิจการค้าหากำไร วันเกิดเหตุการที่ ย. นำรถยนต์เข้ามาจอดไว้ในที่จอดรถของจำเลยที่ 1 เพื่อเข้าไปทำงานประจำในห้าง ฮ. โดยไม่ปรากฏว่า ย. ได้ซื้อสินค้าหรือใช้บริการอื่นภายในห้างสรรพสินค้าของจำเลยที่ 1 จึงยังไม่อาจถือได้ว่า ย. เป็นลูกค้าของจำเลยที่ 1 แม้จะฟังว่าห้าง ฮ. เช่าพื้นที่จำหน่ายสินค้าภายในห้างสรรพสินค้าของจำเลยที่ 1 ก็ไม่ปรากฏว่ามีข้อสัญญาระหว่างห้าง ฮ. กับจำเลยที่ 1 เกี่ยวกับความรับผิดกรณีที่รถยนต์ของลูกจ้างห้าง ฮ. สูญหายเพราะถูกคนร้ายลักไป การที่คนร้ายลักรถยนต์ของ ย. คันที่โจทก์รับประกันภัยไว้ไป มิได้เกิดจากการงดเว้นการปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยทั้งสอง อันจะถือว่าเป็นความประมาทเลินเล่อ จำเลยทั้งสองจึงไม่ต้องร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6099/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดทางละเมิดจากเหตุรถหายในลานจอดห้างสรรพสินค้า และขอบเขตความรับผิดของผู้รับประกันภัย
จำเลยประกอบธุรกิจห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ ต้องให้ความสำคัญด้านบริการ ทั้งเรื่องสินค้า ความปลอดภัยและความสะดวกสบาย เพื่อสร้างความพึงพอใจให้ลูกค้ามาใช้บริการและซื้อสินค้าอันจะส่งผลต่อรายได้ของจำเลย โดยเฉพาะการบริการเกี่ยวกับสถานที่จอดรถ ดังนั้นจำเลยย่อมมีหน้าที่ดูแลและรักษาความปลอดภัยทรัพย์สินของลูกค้าที่มาใช้บริการรวมถึงรถยนต์ของลูกค้าที่นำมาจอดบริเวณลานจอดรถด้วย แต่จำเลยมิได้จัดให้มีพนักงานรักษาความปลอดภัยเพื่อดูแลทรัพย์สินของลูกค้าและไม่มีมาตรการในการระมัดระวังมิให้คนร้ายเข้ามาลักรถยนต์ของลูกค้า คงมีเพียงกล้องวงจรปิดที่ใช้บันทึกภาพรถยนต์ที่ผ่านเข้าออกเท่านั้น การกระทำของจำเลยจึงเป็นการกระทำโดยประมาทปราศจากความระมัดระวัง จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์ จำเลยทำประกันภัยความรับผิดต่อบุคคลภายนอกกับจำเลยร่วมไว้ โดยกรมธรรม์ดังกล่าวระบุความรับผิดในเรื่องความเสียหายของผู้มาเยือนในข้อ 4.8 ว่า ความเสียหายต่อทรัพย์สินจากผลกระทบส่วนบุคคล (รวมถึงยานพาหนะและส่วนที่เกี่ยวข้อง) ครอบครองโดยกรรมการ ผู้มาเยือนและลูกจ้างของผู้เอาประกันภัย ซึ่งความเสียหายดังกล่าวหมายความรวมถึงความสูญหายด้วยตามนิยามศัพท์ข้อ 11.11 โดยจำเลยไม่ได้นำสืบหักล้างให้เห็นว่าเงื่อนไขความรับผิดส่วนแรกที่ระบุในกรมธรรม์ประกันภัยไม่ถูกต้องอย่างไร จำเลยร่วมจึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลย จำเลยร่วมเป็นเพียงผู้รับประกันภัยจากจำเลยมีความผูกผันที่จะร่วมรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความวินาศภัยอันเกิดขึ้นตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ในกรมธรรม์เท่านั้นไม่ใช่ผู้ทำละเมิดหรือต้องร่วมรับผิดกับผู้ทำละเมิดอย่างลูกหนี้ร่วม เมื่อกรมธรรม์ประกันภัยมิได้กำหนดเวลาชำระหนี้ไว้ตามวันแห่งปฏิทินและโจทก์มิได้ทวงถามให้จำเลยร่วมชำระหนี้ จึงยังถือไม่ได้ว่าจำเลยร่วมตกเป็นผู้ผิดนัดก่อนโจทก์ฟ้องคดี โดยจำเลยร่วมต้องรับผิดชดใช้ดอกเบี้ยนับแต่วันที่จำเลยขอให้หมายเรียกจำเลยร่วมเข้ามาในคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57 (3) ปัญหาเรื่องการกำหนดความรับผิดเกินกว่าความรับผิดตามกฎหมายเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนแม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5)
อนึ่ง คดีนี้จำเลยและจำเลยร่วมซึ่งเป็นคู่ความร่วมในคดีที่มีมูลความแห่งคดีเป็นการชำระหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้โดยจำเลยและจำเลยร่วมต่างยื่นอุทธรณ์และฎีกาแยกกัน ต่างเสียค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกา เมื่อรวมกันแล้วมีจำนวนสูงกว่าที่จำเลยและจำเลยร่วมจะต้องชำระในกรณียื่นอุทธรณ์และฎีการ่วมกัน กรณีจึงต้องด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 150 วรรคห้า ที่จะต้องมีคำสั่งคืนค่าขึ้นศาลส่วนที่เกินแก่จำเลยและจำเลยร่วม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6095/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เบี้ยปรับภาษีอากร: ห้ามคิดดอกเบี้ย แม้ฟ้องร่วมตาม ป.พ.พ. มาตรา 233
มูลหนี้ตามคำฟ้องที่โจทก์นำมาฟ้องคดีนี้เป็นมูลหนี้ค่าเบี้ยปรับในหนี้ภาษีอากร ซึ่งตามประมวลรัษฎากร ไม่มีบทบัญญัติให้โจทก์คิดดอกเบี้ยจากเบี้ยปรับดังกล่าวได้ แม้ว่าการฟ้องคดีของโจทก์จะเป็นการใช้สิทธิเรียกร้องของโจทก์ร่วมในนามตนเองตาม ป.พ.พ. มาตรา 233 แต่การใช้สิทธิเรียกร้องของโจทก์ก็ห้ามมิให้โจทก์ได้รับชำระหนี้มากไปกว่าจำนวนที่ค้างชำระ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 235 วรรคสอง ดังนั้น โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับดอกเบี้ยจากเบี้ยปรับ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5724-5725/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อพิพาทสัญญาต่างตอบแทนและตัวแทน: การรับผิดจากความประมาทเลินเล่อและการปลอมแปลงเอกสาร
การที่จะเป็นหุ้นส่วนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1012 จะต้องได้ความว่าผู้เข้าเป็นหุ้นส่วนประสงค์ทำกิจการร่วมกัน หากผลประกอบการมีกำไรก็แบ่งกำไรกัน หากขาดทุนก็ขาดทุนร่วมกัน แต่ตามข้อตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ไม่ปรากฏว่ามีข้อตกลงแบ่งกำไรจากการให้บริการโทรศัพท์ระหว่างประเทศคงมีแต่ข้อตกลงให้โจทก์แบ่งรายได้ค่าพูดโทรศัพท์ระหว่างประเทศให้จำเลยที่ 1 เป็นรายนาที รายได้ดังกล่าวมิใช่กำไรจากการให้บริการโทรศัพท์ระหว่างประเทศ นิติสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 มิได้เป็นการร่วมกิจการโดยมุ่งประสงค์จะแบ่งกำไร จึงไม่มีลักษณะเป็นหุ้นส่วนกัน
โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าบริการโทรศัพท์ระหว่างประเทศ ซึ่งโจทก์ไม่อาจเรียกเก็บจากผู้ใช้บริการได้ ด้วยเหตุจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาหุ้นส่วน จำเลยที่ 2 ตัวแทนของจำเลยที่ 1 กระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้มีการปลอมลายมือชื่อลูกค้าและเอกสารประกอบคำขอใช้บริการ อันเป็นการร่วมกันทำผิดหน้าที่ของหุ้นส่วนและตัวแทน เป็นการฟ้องให้รับผิดในมูลละเมิดและปฏิบัติผิดสัญญา แม้ความรับผิดในมูลละเมิดจะขาดอายุความ แต่ความรับผิดตามสัญญาไม่มีกำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 จำเลยทั้งสองผิดสัญญาระหว่างปี 2544 ถึงปี 2547 นับถึงวันฟ้องทั้งสองสำนวนวันที่ 24 มิถุนายน 2553 และ 19 พฤศจิกายน 2553 ตามลำดับ ยังไม่เกิน 10 ปี ฟ้องโจทก์ทั้งสองสำนวนจึงไม่ขาดอายุความ
โจทก์ประกอบธุรกิจให้บริการโทรศัพท์ระหว่างประเทศ และได้ทำข้อตกลงกับจำเลยที่ 1 อนุญาตให้จำเลยที่ 1 เชื่อมต่อสัญญาณโทรศัพท์เข้ากับชุมสายโทรศัพท์ระหว่างประเทศของโจทก์แบบอัตโนมัติ โดยแบ่งรายได้จากค่าใช้บริการโทรศัพท์ระหว่างประเทศให้จำเลยที่ 1 เป็นรายนาที ต่อมาจำเลยที่ 1 อนุญาตให้จำเลยที่ 2 เชื่อมต่อสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่เข้ากับชุมสายโทรศัพท์ระหว่างประเทศของโจทก์โดยตรง จำเลยที่ 1 แบ่งรายได้จากค่าบริการโทรศัพท์ระหว่างประเทศให้จำเลยที่ 2 เป็นรายนาทีเช่นกัน ข้อตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ดังกล่าว จึงมีลักษณะเป็นสัญญาต่างตอบแทนประเภทหนึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 369 โดยโจทก์มีหน้าที่ต้องเปิดให้บริการโทรศัพท์ระหว่างประเทศ และจ่ายส่วนแบ่งรายได้จากค่าใช้บริการให้จำเลยที่ 1 ส่วนจำเลยที่ 1 มีหน้าที่ตรวจสอบหลักฐานของผู้ใช้บริการ หากจำเลยที่ 1 ประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้มีการปลอมลายมือชื่อและเอกสารประกอบคำขอใช้บริการจนโจทก์ไม่อาจเรียกเก็บค่าบริการได้ ย่อมเป็นการละเมิดและผิดสัญญาต้องรับผิดต่อโจทก์ สำหรับจำเลยที่ 2 ให้ลูกค้าใช้บริการโทรศัพท์ระหว่างประเทศของโจทก์โดยอัตโนมัติ โดยไม่ปรากฏว่าโจทก์เคยปฏิเสธไม่ให้ลูกค้าของจำเลยที่ 2 ใช้บริการ ถือได้ว่าจำเลยที่ 2 เป็นตัวแทนโดยปริยายของโจทก์ในส่วนที่เกี่ยวกับการขอใช้บริการโทรศัพท์ระหว่างประเทศ นอกจากนี้ลักษณะการให้บริการของจำเลยทั้งสองยังถือได้ว่าร่วมกันให้บริการโทรศัพท์ระหว่างประเทศ โดยผ่านชุมสายโทรศัพท์ระหว่างประเทศของโจทก์ด้วย แม้โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยที่ 1 รับผิดตามสัญญาเข้าเป็นหุ้นส่วน กับขอให้จำเลยที่ 2 รับผิดตามสัญญาตัวแทน แต่เนื้อหาของข้อตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 และสัญญาระหว่างจำเลยทั้งสองเป็นเรื่องสัญญาต่างตอบแทนและตัวแทนโดยปริยาย ประกอบกับคำฟ้องของโจทก์ได้บรรยายข้อเท็จจริงเกี่ยวกับนิติสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสองไว้ครบถ้วนแล้ว เพียงแต่โจทก์ปรับบทกฎหมายแตกต่างไปเป็นสัญญาเข้าเป็นหุ้นส่วนและตัวแทน ศาลก็มีอำนาจที่จะปรับบทกฎหมายให้ตรงกับคำบรรยายฟ้อง เนื้อหาของข้อตกลง และสัญญาดังกล่าวได้ การที่จำเลยที่ 2 ประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้มีการปลอมลายมือชื่อและเอกสารประกอบคำขอใช้บริการ อันเป็นผลโดยตรงทำให้โจทก์ไม่อาจเรียกเก็บค่าบริการโทรศัพท์ระหว่างประเทศได้ จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นตัวแทนในการทำสัญญากับผู้ใช้บริการจึงต้องรับผิดต่อโจทก์ตามมาตรา 812 จำเลยที่ 1 คู่สัญญาต่างตอบแทนกับโจทก์ และร่วมกับจำเลยที่ 2 ให้บริการโทรศัพท์ระหว่างประเทศของโจทก์ต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์ด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5508/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดของตลาดและผู้รับจ้างรักษาความปลอดภัยต่อการสูญหายของรถยนต์ในพื้นที่เปิด ไม่ถือเป็นการละเมิด
ได้ความว่าตลาดไทมีพื้นที่ประมาณ 500 ไร่ มีการแบ่งตลาดย่อยๆตามประเภทสินค้าหลายตลาดและมีลานซื้อขายสินค้า อาคารพาณิชย์และที่จอดรถหลายจุด ทั้งลักษณะกิจการของตลาดไทเป็นศูนย์กลางซื้อขายสินค้าเกษตรขนาดใหญ่ เปิดบริการ 24 ชั่วโมง ทำให้มีรถยนต์เข้าออกเป็นจำนวนมากในแต่ละวัน ปรากฏว่าการเข้าออกตลาดไทซึ่งมีพื้นที่กว้างใหญ่นั้น รถยนต์ของผู้ที่มาใช้บริการสามารถเข้าออกตลาดย่อยต่างๆและลานจอดรถได้ตามความสะดวก ไม่ต้องขออนุญาตหรือแลกบัตรในการผ่านเข้าออก เว้นแต่รถยนต์ที่นำสินค้าเข้ามาจำหน่ายต้องเสียค่าธรรมเนียมที่ป้อมยาม ส่วนรถยนต์อื่นๆไม่มีการเก็บค่าธรรมเนียมหรือค่าจอดรถและไม่ได้มีบริการรับฝากรถ ผู้ที่มาใช้บริการสามารถเลือกที่จอดรถในบริเวณที่จำเลยที่ 1 จัดไว้เป็นพื้นที่จอดรถได้ตามอิสระ ไม่ได้มีพนักงานรักษาความปลอดภัยคอยดูแลเป็นการเฉพาะในการนำรถยนต์เข้าหรือออกจากลานจอดรถ ผู้ที่มาใช้บริการจะขับรถยนต์ออกไปก็สามารถกระทำได้ทันที ไม่มีการตรวจสอบของพนักงานรักษาความปลอดภัย ทั้งรถยนต์ที่เข้าออกส่วนใหญ่บรรทุกหรือขนส่งสินค้าเกษตรนำมาเสนอขายเพื่อให้ผู้ซื้อรับซื้อสินค้าไปในลักษณะการขายส่งเป็นหลัก การขับรถยนต์เข้ามาในตลาดไทเพื่อนำสินค้ามาขายหรือเพื่อมาซื้อสินค้ามุ่งในการซื้อขายกระจายสินค้าโดยมีรถยนต์เป็นพาหนะขนส่งซึ่งแตกต่างจากการที่บุคคลไปใช้บริการห้างสรรพสินค้าหรือศูนย์การค้า โดยนำรถยนต์ไปจอดในลานจอดรถแล้วเข้าไปซื้อสินค้าหรือบริการในฐานะลูกค้าของของกิจการนั้น ส่วนสัญญาว่าจ้างรักษาความปลอดภัยกำหนดให้จำเลยที่ 2 ดูแลรักษาทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 และบริวาร ผู้ค้าขาย ผู้ซื้อ ผู้มาติดต่อ หรือใช้บริการภายในตลาดไท เป็นเพียงการกำหนดขอบเขตการดำเนินงานทั่วไปของจำเลยที่ 2 โดยในสัญญาว่าจ้างรักษาความปลอดภัยระบุเพียงว่า ตระเวนและตรวจตราดูแล จัดระบบและควบคุมดูแลจัดระเบียบการจราจรภายในบริเวณโครงการตลาดไท โดยไม่มีหน้าที่โดยเฉพาะว่าพนักงานรักษาความปลอดภัยต้องทำการดูแลรักษาความปลอดภัยรถยนต์ของลูกค้าทั่วไปที่มาใช้บริการ หรือต้องปฏิบัติหน้าที่ประจำลานจอดรถ พนักงานรักษาความปลอดภัยเพียงแต่มีหน้าที่ตรวจตราดูแลเพื่อจัดระเบียบการจราจรเท่านั้น จำเลยทั้งสองจึงไม่มีหน้าที่ตามสัญญาหรือตามความสัมพันธ์ที่เคยปฏิบัติในการดูแลรักษาความปลอดภัยแก่รถยนต์ของผู้ใช้บริการที่นำมาจอดในลานจอดรถของตลาดไท จำเลยทั้งสองจึงไม่ต้องรับผิดในการที่รถยนต์ที่โจทก์รับประกันภัยไว้สูญหายในลานจอดรถ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5471/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกห้างหุ้นส่วนสามัญโดยผลของกฎหมาย และการชำระบัญชีที่ไม่ขาดอายุความ
ห้างหุ้นส่วนสามัญระหว่างผู้ร้องและผู้คัดค้านเลิกกันด้วยเหตุที่กิจการแบ่งขายที่ดินดำเนินการเสร็จสิ้นแล้วเมื่อห้างหุ้นส่วนสามัญเลิกกันโดยผลของกฎหมาย ศาลจึงไม่จำต้องมีคำสั่งให้เลิกห้างหุ้นส่วนสามัญตามคำร้องขอของผู้ร้องอีก
การชำระบัญชีเป็นกระบวนการตามที่กฎหมายบัญญัติให้จัดการทรัพย์สินกรณีห้างหุ้นส่วนเลิกกันตาม ป.พ.พ. มาตรา 1061 วรรคหนึ่ง มิใช่เป็นสิทธิเรียกร้องที่จะต้องขอบังคับภายในกำหนดอายุความ แม้ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ชำระบัญชีเกินกว่า 10 ปี นับแต่ห้างเลิกกันแล้ว แต่เมื่อยังไม่มีการชำระบัญชี ผู้ร้องก็ชอบที่จะขอให้จัดการชำระบัญชีตามบทบัญญัติว่าด้วยการเลิกและชำระบัญชีห้างหุ้นส่วนสามัญได้ หาได้เป็นการบังคับสิทธิเรียกร้องที่ต้องอยู่ภายใต้กำหนดอายุความไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5066/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ผู้รับประกันภัยมีสิทธิรับช่วงสิทธิผู้รับประโยชน์และเรียกร้องค่าเสียหายส่วนต่างจากผู้ละเมิด แม้จะมีการคืนรถ
เมื่อโจทก์ในฐานะผู้รับประกันภัยได้ชดใช้เงินค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้รับประโยชน์ไปแล้วโจทก์ย่อมได้รับโอนกรรมสิทธิ์รถยนต์พิพาทจากผู้เอาประกันภัยหรือผู้รับประโยชน์ตามเงื่อนไขแห่งกรมธรรม์ประกันภัยและโจทก์ยังเข้ารับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันภัยและผู้รับประโยชน์ซึ่งมีต่อจำเลยทั้งสองในจำนวนค่าสินไหมทดแทนที่โจทก์ได้ใช้ให้แก่ผู้รับประโยชน์ไป ตาม ป.พ.พ. มาตรา 880 วรรคหนึ่ง แม้ระหว่างการพิจารณาคดีของศาลชั้นต้น เจ้าพนักงานตำรวจติดตามยึดรถยนต์พิพาทคืนแก่โจทก์แล้ว ถือได้ว่ารถยนต์พิพาทที่โจทก์ได้รับคืนมาเป็นการบรรเทาความเสียหายที่โจทก์ได้จ่ายค่าสินไหมทดแทนไป โจทก์ย่อมมีอำนาจที่จะจำหน่ายรถยนต์พิพาทไปได้ แต่เมื่อโจทก์ได้รับเงินจากการจำหน่ายน้อยกว่าจำนวนเงินที่โจทก์ได้จ่ายให้แก่ผู้รับประโยชน์ไป จำเลยทั้งสองจึงต้องรับผิดชำระค่าสินไหมทดแทนส่วนที่ขาด ถือได้ว่าความเสียหายที่โจทก์ต้องจ่ายเงินค่าสินไหมทดแทนเกินจำนวนราคารถยนต์พิพาทที่โจทก์ประมูลขายไปเป็นผลโดยตรงจากการกระทำของจำเลยทั้งสองแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4952/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คำฟ้องเคลือบคลุม จำเลยไม่ต่อสู้ ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมิได้ ศาลฎีกาพิพากษากลับ
คำฟ้องต้องแสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาของโจทก์และคำขอบังคับ ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้น ตามที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.พ. มาตรา 172 วรรคสอง การบรรยายฟ้องจึงต้องให้ได้ความว่ามีข้อโต้แย้งเกิดขึ้นเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ของบุคคลใดตามกฎหมายแพ่งพร้อมข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาและคำขอบังคับ หากจำเลยซึ่งเป็นฝ่ายยื่นคำให้การต่อสู้คดีเห็นว่าคำฟ้องบกพร่องตรงไหน อย่างไร ก็จะต้องให้การต่อสู้เป็นประเด็นไว้ว่าคำฟ้องนั้นเคลือบคลุม ดังนั้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 วินิจฉัยว่า โจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องให้ปรากฏว่าใครเป็นผู้เอาประกันภัยรถยนต์บรรทุกคันที่จำเลยรับประกันภัย และมิได้บรรยายฟ้องให้ปรากฏว่าผู้ขับรถยนต์บรรทุกมีนิติสัมพันธ์อย่างไรกับผู้เอาประกันภัยซึ่งผู้เอาประกันภัยจะต้องร่วมรับผิดในผลแห่งละเมิดของผู้ขับรถยนต์บรรทุก คำฟ้องของโจทก์จึงขาดสาระสำคัญอันเป็นประเด็นแห่งคดีที่จะทำให้จำเลยต้องรับผิดนั้น จึงเป็นการวินิจฉัยว่าเป็นคำฟ้องเคลือบคลุมนั่นเอง แต่ปัญหาว่าคำฟ้องเคลือบคลุมหรือไม่ หาใช่ปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนที่ศาลจะยกขึ้นวินิจฉัยได้เองไม่ หากแต่จำเลยจะต้องยกขึ้นต่อสู้โดยชัดแจ้งเป็นประเด็นไว้ในคำให้การ ซึ่งจำเลยไม่ได้ให้การต่อสู้ว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุมแต่อย่างใด ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 ยกขึ้นวินิจฉัยดังกล่าวจึงไม่ชอบ
of 20