คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
เกษม เกษมปัญญา

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 198 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12454/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความฟ้องคดีแพ่งจากความเสียหายทรัพยากรธรรมชาติ: กำหนดตามอายุความอาญาที่เกี่ยวข้อง
จำเลยถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมดำเนินคดีอาญาตาม พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 และ พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 แม้พนักงานอัยการจะมีคำสั่งไม่ฟ้องจำเลยในความผิดตามพระราชบัญญัติดังกล่าวซึ่งเป็นอำนาจของพนักงานอัยการที่มีความเห็นในการสั่งคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาก็ตาม แต่เป็นกรณีถือได้ว่าไม่มีผู้ใดฟ้องทางอาญาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 51 วรรคหนึ่ง ทั้งคดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องว่าการกระทำของจำเลยเป็นการทำลาย ทำให้สูญหายและเสียหายแก่ทรัพยากรธรรมชาติซึ่งเป็นของรัฐที่โจทก์มีหน้าที่ดูแลรักษา ส่งเสริม ทำนุบำรุงป่าและการเกี่ยวกับการป่าไม้ ฯลฯ ทำให้พื้นที่ป่าต้นน้ำลำธารและติดอยู่ในเขตพื้นที่โซนอนุรักษ์ตามมติคณะรัฐมนตรีได้รับความเสียหายทางด้านป่าไม้ คิดเป็นค่าเสียหายให้แก่โจทก์ตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 ซึ่งเป็นความผิดตามมาตรา 97 และมีโทษทางอาญาตามมาตรา 99 ประกอบมาตรา 43 ถือว่า โจทก์ซึ่งเป็นผู้เสียหายฟ้องทางแพ่งเนื่องจากความผิดทางอาญาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 51 วรรคหนึ่ง จึงต้องใช้อายุความฟ้องคดีอาญาตามมาตรา 99 ดังกล่าวซึ่งมีระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี และมีอายุความ 10 ปี ตาม ป.อ. มาตรา 95 (3) ประกอบ ป.พ.พ. มาตรา 448 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11532/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องคดียาเสพติด: คุณสมบัติผู้ฟื้นฟูฯ และการดำเนินคดีอื่น
ตามบทบัญญัติแห่ง พ.ร.บ.ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.2545 ได้กำหนดคุณสมบัติของบุคคลที่จะเข้ารับการตรวจพิสูจน์การเสพหรือการติดยาเสพติดหรือเข้ารับการฟื้นฟูที่สำคัญว่า บุคคลดังกล่าวไม่ต้องหาหรืออยู่ในระหว่างถูกดำเนินคดีในความผิดฐานอื่น ซึ่งเป็นความผิดที่มีโทษจำคุกหรืออยู่ในระหว่างรับโทษจำคุกตามคำพิพากษาของศาล และผลการตรวจพิสูจน์ต้องเป็นผู้เสพหรือติดยาเสพติด จึงจะมีสิทธิได้รับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดตามพระราชบัญญัตินี้ หากข้อเท็จจริงปรากฏภายหลังจากที่ศาลมีคำสั่งตามมาตรา 19 ว่า ผู้เข้ารับการตรวจพิสูจน์หรือผู้เข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดนั้นต้องหาหรือถูกดำเนินคดีในความผิดฐานอื่น ซึ่งเป็นความผิดที่มีโทษจำคุกหรือต้องคำพิพากษาให้จำคุก ให้ศาลพิจารณามีคำสั่งให้ส่งตัวผู้นั้นไปยังพนักงานสอบสวนเพื่อดำเนินคดีต่อไปตามมาตรา 24 หรือถ้าผลการตรวจพิสูจน์ไม่ปรากฏว่าผู้ต้องหาเป็นผู้เสพหรือติดยาเสพติด ให้คณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดรายงานผลการตรวจพิสูจน์ให้พนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการเพื่อพิจารณาดำเนินคดีต่อไปตามมาตรา 22 วรรคสาม หรือในกรณีที่ผู้เข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดผู้ใดแม้จะได้รับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดจนครบกำหนดเวลาตามมาตรา 25 แล้ว แต่ผลการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดยังไม่เป็นที่พอใจ ให้คณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดรายงานความเห็นไปยังพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการ แล้วแต่กรณีเพื่อประกอบการพิจารณาคดีผู้นั้นต่อไปตามมาตรา 33 วรรคสอง โดยไม่มีบทบัญญัติใดที่ระบุว่า เมื่อศาลมีคำสั่งตามมาตรา 19 แล้ว ในการส่งตัวกลับไปดำเนินคดีเพราะเหตุขาดคุณสมบัติหรือเพราะเหตุอื่นจะต้องให้ศาลเป็นผู้พิจารณาสั่งเท่านั้น ส่วนการพิจารณาสั่งของศาลตามมาตรา 24 ก็เป็นกรณีที่ข้อเท็จจริงปรากฏต่อศาลเอง หรือศาลได้รับแจ้งจากคณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดหรือพนักงานสอบสวนแล้วแต่กรณี ดังนั้น ที่คณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดจังหวัดกำแพงเพชรตรวจสอบแล้วพบว่าจำเลยถูกดำเนินคดีในความผิดฐานอื่นซึ่งเป็นความผิดที่มีโทษจำคุก จึงส่งตัวจำเลยไปยังพนักงานสอบสวนเพื่อดำเนินคดีต่อไป จึงเป็นไปตามเจตนารมณ์ของบทบัญญัติกฎหมายดังกล่าวแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11319/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ พนักงานสินเชื่อร่วมกับผู้อื่นใช้เอกสารราชการปลอมหลอกลวงธนาคาร คดีนี้ศาลฎีกาพิพากษาแก้เป็นว่าจำเลยมีความผิด
ทางนำสืบของโจทก์นอกจากคดีนี้แล้ว จำเลยยังถูกดำเนินคดีในข้อหาลักษณะเดียวกันกับในคดีนี้อีกหลายคดี ซึ่งลักษณะ วิธี หรือรูปแบบเฉพาะในการกระทำความผิดของจำเลยมีลักษณะเช่นเดียวกับคดีนี้ คือการที่มีผู้นำรถยนต์มาขอสินเชื่อ จำเลยทำการประเมินขอสินเชื่อจากผู้เสียหายแล้วมีการปลอมใบคู่มือจดทะเบียนรถยนต์ ซึ่งสามารถนำมาฟังประกอบพยานหลักฐานของโจทก์ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 226/2 วรรคหนึ่ง (2)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10879/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การป้องกันสิทธิในบ้านและการใช้กำลังป้องกันเกินสมควรแก่เหตุ คดีทำร้ายร่างกายจนเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัส
แม้ผู้เสียหายเข้าไปภายในบริเวณบ้านจำเลย และ ส. เพื่อปรับความเข้าใจเรื่องที่ผู้เสียหายมีปากเสียงกับจำเลย แต่เมื่อ ส. ไล่ให้ผู้เสียหายกลับไป และจำเลยปิดประตูบ้าน จึงเป็นการใช้สิทธิอันชอบธรรมของจำเลย และ ส. ในฐานะเจ้าของบ้านที่จะไล่ให้ผู้เสียหายออกไปจากบริเวณบ้านของตนได้ เมื่อผู้เสียหายไม่ยอมออกไปจากบริเวณบ้าน ถือเป็นการบุกรุกบ้านของจำเลย การที่จำเลยใช้อาวุธมีดโต้ฟันผู้เสียหายจึงเป็นการกระทำเพื่อป้องกันสิทธิของตนให้พ้นจากภยันตราย ซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมาย แต่ผู้เสียหายไม่ได้ใช้อาวุธใดจะทำร้ายจำเลย การที่จำเลยใช้มีดโต้ฟันผู้เสียหายหลายครั้ง จนเป็นเหตุให้ผู้เสียหายรับอันตรายสาหัส จึงเป็นการป้องกันเกินสมควรแก่เหตุตาม ป.อ. มาตรา 69
แม้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานพยายามฆ่าผู้อื่นตาม ป.อ. มาตรา 288 แต่ความผิดดังกล่าวรวมการกระทำโดยเจตนาทำร้ายด้วยซึ่งเป็นความผิดอยู่ในตัว เมื่อทางพิจารณาได้ความว่า จำเลยกระทำความผิดฐานทำร้ายร่างกายจนเป็นเหตุให้ผู้ถูกทำร้ายรับอันตรายสาหัสตาม ป.อ. มาตรา 297 (8) ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจลงโทษจำเลยในความผิดตามที่พิจารณาได้ความได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคท้าย ประกอบมาตรา 215, 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10260/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การแก้ไขคำให้การ การไม่โต้แย้งคำสั่งศาล และความรับผิดชอบต่อทนายความที่แต่งตั้ง
ตาม ป.วิ.พ. ลักษณะ 2 หมวด 1 วิธีพิจารณาคดีมโนสาเร่ไม่นำวิธีพิจารณาคดีสามัญมาใช้บังคับ จำเลยได้ยื่นคำให้การฉบับแรกเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2551 ก่อนวันกำหนดนัดไกล่เกลี่ย ให้การ และสืบพยาน จึงยังมีเวลาที่จำเลยจะยื่นคำร้องแก้ไขคำให้การได้อีกจนกว่าจะถึงวันนัด ครั้นถึงวันนัด คู่ความประสงค์จะเจรจาตกลงกันศาลชั้นต้นจึงอนุญาตให้เลื่อนคดีไปเป็นวันที่ 11 สิงหาคม 2551 ดังนั้นจำเลยย่อมมีสิทธิที่จะยื่นคำร้องขอแก้ไขคำให้การได้อีกจนถึงวันดังกล่าว แม้ตาม ป.วิ.พ มาตรา 193 วรรคสี่ บัญญัติว่า ถ้าจำเลยไม่ให้การตามวรรคสาม ให้ศาลมีอำนาจใช้ดุลพินิจมีคำสั่งไม่ยอมเลื่อนเวลาให้จำเลยยื่นคำให้การ โดยให้ถือว่าจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ ก็ตาม แต่กรณีนี้ปรากฏว่าจำเลยได้ยื่นคำให้การไว้ภายในกำหนดแล้ว ตั้งแต่วันที่ 21 กรกฎาคม 2551 ศาลชั้นต้นย่อมมีอำนาจใช้ดุลพินิจอนุญาตให้จำเลยเลื่อนยื่นคำให้การได้ซึ่งหมายรวมถึงการยื่นคำร้องขอแก้ไขคำให้การได้ด้วย ทั้งปรากฏว่าในวันที่ 11 สิงหาคม 2551 ซึ่งเป็นวันนัดไกล่เกลี่ย ให้การ และสืบพยาน ที่เลื่อนมาจำเลยได้ยื่นคำร้องขอแก้ไขคำให้การ ศาลชั้นต้นได้จ่ายสำเนาให้ พ. ทนายโจทก์รับสำเนาแล้ว ทนายโจทก์ไม่ค้าน ศาลชั้นต้นจึงมีคำสั่งอนุญาตให้จำเลยแก้ไขคำให้การตามคำร้องดังกล่าว คำสั่งศาลชั้นต้นดังกล่าวจึงเป็นการสั่งโดยชอบ หากโจทก์เห็นว่าคำสั่งศาลชั้นต้นไม่ชอบ โจทก์ต้องโต้แย้ง แต่โจทก์ก็มิได้โต้แย้งคำสั่งศาลดังกล่าวแต่อย่างใด ซึ่งคำสั่งให้รับคำให้การอันเป็นคำคู่ความเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณานอกจากที่ระบุไว้ใน ป.วิ.พ. มาตรา 227 และมาตรา 228 เมื่อโจทก์มิได้โต้แย้งคำสั่งดังกล่าวให้ศาลจดข้อโต้แย้งนั้นลงในรายงานหรือยื่นคำแถลงโต้แย้งเป็นหนังสือ จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามมาตรา 226 ที่โจทก์ฎีกาว่า โจทก์ไม่ทราบการยื่นคำร้องขอแก้ไขคำให้การของจำเลยดังกล่าวเพราะทนายโจทก์ฉ้อฉลไม่แจ้งให้โจทก์ทราบนั้น เห็นว่า โจทก์เป็นผู้แต่งตั้ง พ. เป็นทนายความของโจทก์มีอำนาจในการว่าความและดำเนินกระบวนพิจารณาใด ๆ รวมทั้งการจำหน่ายสิทธิของโจทก์ได้ด้วย โจทก์ในฐานะตัวการจึงต้องผูกพันและรับผิดชอบในสิ่งที่ พ. ตัวแทนของโจทก์กระทำไปภายในขอบอำนาจที่โจทก์มอบหมายด้วย ข้ออ้างของโจทก์ที่ปฏิเสธไม่รับรู้การปฏิบัติหน้าที่ของ พ. จึงไม่มีเหตุผลรับฟัง ศาลชั้นต้นสั่งรับคำร้องขอแก้ไขคำให้การของจำเลยไว้โดยชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7832/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิในการถอนคำร้องทุกข์ของผู้เสียหายจากการยักยอกทรัพย์ และผลกระทบต่อการดำเนินคดีอาญา
จำเลยกับพวกร่วมกันยักยอกรถยนต์ของผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ให้เช่าซื้อ ขณะอยู่ในความครอบครองของผู้เสียหายที่ 2 ซึ่งเป็นผู้เช่าซื้อ เมื่อในขณะกระทำความผิดผู้เสียหายที่ 2 เป็นผู้มีสิทธิครอบครองใช้ประโยชน์รถยนต์ที่เช่าซื้อดังกล่าว การกระทำของจำเลยกับพวกย่อมทำให้ผู้เสียหายที่ 2 ได้รับความเสียหายโดยตรง แม้ผู้เสียหายที่ 2 จะไปแจ้งความร้องทุกข์ในฐานะผู้รับมอบอำนาจจากผู้เสียหายที่ 1 แต่ก็ถือว่าได้ร้องทุกข์ในฐานะที่ผู้เสียหายที่ 2 เป็นผู้เสียหายด้วยเช่นกัน ผู้เสียหายที่ 2 จึงเป็นผู้เสียหายในคดีนี้ และย่อมมีอำนาจในการถอนคำร้องทุกข์ เมื่อความผิดฐานยักยอกทรัพย์เป็นความผิดต่อส่วนตัวและคดียังไม่ถึงที่สุด ผู้เสียหายขอถอนคำร้องทุกข์เสียเมื่อใดก็ได้ เมื่อปรากฏว่าก่อนศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับฎีกา ผู้เสียหายที่ 2 ถอนคำร้องทุกข์ สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (2)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7515/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดทางอาญาและแพ่งจากการร่วมกันทำร้ายร่างกายจนเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัส
เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 ร่วมกับจำเลยที่ 2 ทำร้ายร่างกายผู้เสียหายจนเป็นเหตุให้รับอันตรายสาหัส อันเป็นการร่วมกันกระทำละเมิดต่อผู้เสียหาย จำเลยที่ 1 จึงต้องร่วมชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เสียหายด้วย แต่เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 1 มิได้ยกขึ้นวินิจฉัย ศาลฎีกาเห็นสมควรยกขึ้นวินิจฉัยเพื่อให้การพิพากษาคดีส่วนแพ่งเป็นไปตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญา โดยเห็นสมควรกำหนดให้จำเลยที่ 1 ร่วมชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เสียหายตามจำนวนที่จำเลยที่ 2 ต้องรับผิด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2909/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความชอบด้วยกฎหมายของฟ้องเท็จและเบิกความเท็จ: การบรรยายฟ้องที่ชัดเจนและครบถ้วน
ความผิดฐานฟ้องเท็จ ฟ้องโจทก์บรรยายว่าเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2557 เวลากลางวันจำเลยเอาความเท็จฟ้องโจทก์เป็นคดีอาญาต่อศาลแขวงอุบลราชธานี โดยจำเลยบรรยายฟ้องว่าเมื่อวันที่ 4 เมษายน 2543 โจทก์ปลอมสัญญากู้เงินของ ส. และ อ. ที่ทำสัญญากู้เงินไว้กับกลุ่มออมทรัพย์บ้านหนองบัวแดง และเมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2543 ปลอมเอกสารดังกล่าวจากเดือนมีนาคมเป็นเดือนเมษายนทั้งสองฉบับ ด้วยเจตนาทุจริตเบียดบังเอาเงินของกลุ่มออมทรัพย์บ้านหนองบัวแดงไปเป็นประโยชน์ของตน จำเลยทราบข้อเท็จจริงว่าโจทก์ไม่ได้กระทำความผิดหรือปลอมเอกสารดังกล่าวตามที่จำเลยฟ้อง แต่ยังกลั่นแกล้งนำความเท็จมาฟ้องต่อศาลเพื่อต้องการให้โจทก์ได้รับโทษโดยโจทก์แนบสำเนาคำฟ้องคดีที่จำเลยฟ้องโจทก์กับสำเนาบันทึกการสอบสวนข้อเท็จจริงที่แสดงว่าโจทก์ไม่ได้กระทำความผิดมาท้ายคำฟ้องด้วย ถือได้ว่าโจทก์ได้บรรยายฟ้องข้อเท็จจริงที่แสดงให้เห็นว่าคำฟ้องของจำเลยเป็นเท็จและความจริงโจทก์ไม่ได้กระทำความผิดฐานปลอมเอกสาร ส่วนความผิดฐานเบิกความเท็จ ฟ้องโจทก์บรรยายถึงคำเบิกความของจำเลยที่เป็นเท็จและบรรยายว่าความเท็จดังกล่าวเป็นข้อสำคัญในการพิจารณาคดีอาญา ซึ่งความจริงโจทก์ไม่ได้ปลอมเอกสารตามที่จำเลยเบิกความ หากศาลเชื่อว่าโจทก์กระทำความผิดจริงก็จะทำให้โจทก์ถูกพิพากษาลงโทษโดยโจทก์แนบคำเบิกความของจำเลยตามสำเนาคำให้การและสำเนาคำพิพากษาคดีก่อนมาท้ายคำฟ้อง ถือว่าโจทก์ได้บรรยายฟ้องเป็นการกระทำที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำความผิดพอสมควรเท่าที่จะทำให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดี ฟ้องโจทก์ทั้งสองข้อหาชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) แล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1864/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การครอบครองเมทแอมเฟตามีนเพื่อจำหน่าย: การปรับบทตามกฎหมายยาเสพติด และการพิพากษาลงโทษ
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 1 และที่ 3 ร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย กรณีไม่จำต้องปรับบทตามมาตรา 15 วรรคหนึ่ง ทั้งเมทแอมเฟตามีนที่จำเลยที่ 1 และที่ 3 ร่วมกันมีไว้ในครอบครองเป็นจำนวนเดียวกันเพียงแต่บรรจุหีบห่อไว้แยกต่างหากจากกัน เมื่อเมทแอมเฟตามีนดังกล่าว คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้เกินกว่า 20 กรัม จึงเป็นความผิดตามมาตรา 15 วรรคสาม (2), 66 วรรคสาม เท่านั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 947/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดฐานปล้นทรัพย์กับลักทรัพย์หลังทำร้ายร่างกาย ศาลฎีกายกประเด็นความสงบเรียบร้อยวินิจฉัยเองได้
จำเลยที่ 2 กับพวก รุมทำร้ายผู้เสียหาย เมื่อผู้เสียหายแกล้งหมดสติจึงหยุดทำร้าย จากนั้นจำเลยที่ 2 กับพวกร่วมกันเอารถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายไปอันเป็นเจตนาร่วมกันประสงค์ต่อทรัพย์ของผู้เสียหาย หลังจากที่การทำร้ายร่างกายขาดตอนไปแล้ว จำเลยที่ 2 กับพวกจึงมีความผิดฐานร่วมกันลักทรัพย์อีกกระทงหนึ่ง ปัญหานี้แม้โจทก์ฟ้องมาเป็นความผิดกระทงเดียวและไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ฎีกาในประเด็นดังกล่าว แต่เห็นว่าเป็นปัญหาที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ซึ่งศาลฎีกาเห็นว่า แม้โจทก์ไม่ได้ขอให้ลงโทษหลายกรรม แต่ก็ได้บรรยายฟ้องว่าจำเลยร่วมกันทำร้ายร่างกาย และร่วมกันปล้นทรัพย์ผู้เสียหาย ซึ่งความผิดฐานปล้นทรัพย์มีความผิดฐานลักทรัพย์ อันเป็นบทเบารวมอยู่ด้วย ศาลฎีกาจึงมีอำนาจลงโทษจำเลยที่ 2 เป็นสองกระทงความผิดได้ ไม่เกินคำขอ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192
of 20