คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
ปกรณ์ มหรรณพ

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 138 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3594/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเพิกถอนการปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาต่างชาติ เหตุไม่มีที่อยู่และอาจหลบหนี ศาลอุทธรณ์และศาลฎีกายืนคำสั่ง
คำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้เพิกถอนการปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาที่ 1 เป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นเห็นว่าผู้ต้องหาที่ 1 ไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่งและไม่มีสิทธิอยู่ในราชอาณาจักร พฤติการณ์ของผู้ต้องหาที่ 1 อาจหลบหนีได้ ซึ่งเป็นดุลพินิจของศาลชั้นต้นที่พิจารณาโดยอาศัยหลักเกณฑ์แห่ง ป.วิ.อ. มาตรา 108 และเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณาที่ไม่ทำให้คดีเสร็จสำนวน กรณีจึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ฎีกาคำสั่งนั้นในระหว่างพิจารณาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 196

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2456/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การรับสารภาพหลังสืบพยาน ศาลพิจารณาจากข้อเท็จจริงที่ได้จากการสืบพยานได้
ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 176 วรรคหนึ่ง เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพ ศาลจะพิพากษาโดยไม่สืบพยานหลักฐานต่อไปก็ได้ แต่หากจำเลยให้การรับสารภาพหลังสืบพยานโจทก์และพยานจำเลยเสร็จสิ้นแล้ว เมื่อข้อเท็จจริงที่ได้จากทางนำสืบของโจทก์ว่าจำเลยไม่ได้กระทำความผิดดังกล่าว ศาลย่อมนำข้อเท็จจริงมารับฟังเป็นคุณแก่จำเลยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 วรรคหนึ่ง, 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 215 และ 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2300/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องคดี พ.ร.บ.ธุรกิจคนต่างด้าว: รัฐเป็นผู้เสียหายโดยตรง ไม่ใช่เอกชน
ตามเหตุผลในการประกาศใช้ พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 ก็เพื่อส่งเสริมให้มีการแข่งขันในการประกอบธุรกิจทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งจะเป็นประโยชน์แก่ประเทศไทยโดยส่วนรวม บทบัญญัติดังกล่าวจึงมีวัตถุประสงค์มุ่งคุ้มครองส่วนที่เป็นส่วนรวม ซึ่งรัฐเป็นผู้มีหน้าที่ในการดูแลให้มีการแข่งขันในการประกอบธุรกิจของเอกชนภายในรัฐ โดยมิได้มุ่งประสงค์ที่จะคุ้มครองเอกชนคนใดคนหนึ่งเป็นการเฉพาะเจาะจง รัฐเท่านั้นจึงเป็นผู้เสียหายในความผิดตามบทบัญญัติดังกล่าวนี้ได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (4) แม้ข้อเท็จจริงจะปรากฏตามคำฟ้องของโจทก์ว่า จำเลยซึ่งเป็นคนต่างด้าวประกอบธุรกิจขายที่ดินในสวนปาล์มน้ำมันหรือทำสวนปาล์มน้ำมันอันเป็นธุรกิจต้องห้ามตามบทบัญญัติดังกล่าวก็ตาม ก็ไม่ถือว่าเป็นการกระทำที่ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายโดยตรง และแม้จะปรากฏด้วยว่าจำเลยประกอบธุรกิจต้องห้ามดังกล่าวในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติที่โจทก์ได้รับอนุญาตให้ทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยจากกรมป่าไม้โดยชอบ ก็เป็นเรื่องที่โจทก์จะต้องไปว่ากล่าวแก่จำเลยในทางแพ่ง ไม่ถือว่าโจทก์ได้รับความเสียหายเป็นพิเศษอันเนื่องมาจากการกระทำของจำเลยตามฟ้อง อันจะทำให้โจทก์เป็นผู้เสียหายและมีอำนาจฟ้องในความผิดตามบทบัญญัตินี้ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1532/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การนัดประชุมกรรมการบริษัทเมื่อตำแหน่งประธานว่างลง และการใช้วิธีประกาศโฆษณาแทนการติดต่อโดยตรง
เมื่อตำแหน่งประธานกรรมการของจำเลยที่ 1 ว่างลง กรณีจึงไม่มีประธานกรรมการของจำเลยที่ 1 ที่จะทำหน้าที่นัดเรียกประชุมกรรมการ จึงมีเหตุขัดข้องที่ไม่อาจดำเนินการตามข้อบังคับที่ระบุว่าให้ประธานกรรมการเป็นผู้นัดเรียกประชุมกรรมการ เมื่อเกิดกรณีเช่นนี้ตามข้อบังคับของจำเลยที่ 1 ข้อ 2 ระบุให้รับเอาบทบัญญัติใน ป.พ.พ. ว่าด้วยบริษัทจำกัดเป็นข้อบังคับของบริษัท ซึ่ง ป.พ.พ. มาตรา 1162 บัญญัติว่า กรรมการคนหนึ่งคนใดจะนัดเรียกให้ประชุมกรรมการเมื่อใดก็ได้ การที่จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 และที่ 3 ในฐานะกรรมการผู้มีอำนาจทำการแทนจำเลยที่ 1 ได้นัดเรียกประชุมกรรมการจึงเป็นไปตามข้อบังคับของจำเลยที่ 1 ข้อ 2 แล้ว ส่วนการที่มีการเรียกประชุมกรรมการโดยวิธีประกาศโฆษณาทางหนังสือพิมพ์นั้น ตามข้อบังคับของจำเลยที่ 1 ไม่ได้กำหนดวิธีการนัดเรียกประชุมไว้ ส่วน ป.พ.พ. มาตรา 1144 ประกอบมาตรา 1158 ก็มิใช่บทบัญญัติที่เกี่ยวกับวิธีการนัดเรียกประชุมกรรมการ เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่สามารถติดต่อโจทก์โดยวิธีอื่นใดได้ จึงต้องนัดเรียกประชุมกรรมการโดยวิธีประกาศโฆษณาทางหนังสือพิมพ์ การเรียกประชุมกรรมการโดยวิธีดังกล่าวจึงไม่ขัดต่อข้อบังคับของจำเลยที่ 1 และไม่ฝ่าฝืนต่อกฎหมาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 765/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การโอนสิทธิเรียกร้องค่าเช่าหลังเปลี่ยนเจ้าของกรรมสิทธิ์ สิทธิเรียกร้องนั้นไม่ผูกพันเจ้าของกรรมสิทธิ์รายใหม่
การที่บริษัท บ. โอนสิทธิเรียกร้องค่าเช่าอันจะพึงได้รับจากบริษัท ม. แก่โจทก์ และได้รับความยินยอมในการโอนสิทธิรับค่าเช่าดังกล่าว สิทธิและหน้าที่ข้างต้นนั้นคงผูกพันบริษัท บ. เจ้าหนี้ และบริษัท ม. ลูกหนี้ตามหนังสือโอนสิทธิเรียกร้องนั้น แต่เมื่อปรากฏว่าตั้งแต่วันที่ 11 ตุลาคม 2553 บริษัทบริหารสินทรัพย์ ส. เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินที่จำเลยเช่าสถานีบริการน้ำมัน ค่าเช่าที่คำนวณได้จากจำเลยได้ใช้ที่ดินนั้นย่อมเป็นดอกผลของบริษัทบริหารสินทรัพย์ ส. ซึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินแปลงดังกล่าว บริษัท บ. ไม่มีสิทธิใดในค่าเช่าอีกต่อไป ย่อมไม่มีสิทธิโอนสิทธิเรียกร้องค่าเช่าให้โจทก์ กรณีตาม ป.พ.พ. มาตรา 569 วรรคหนึ่งบัญญัติว่า "อันว่าสัญญาเช่าอสังหาริมทรัพย์นั้นย่อมไม่ระงับไป เพราะเหตุโอนกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินซึ่งให้เช่า" และวรรคสองบัญญัติว่า "ผู้รับโอนย่อมรับไปทั้งสิทธิและหน้าที่ของผู้โอนซึ่งมีต่อผู้เช่านั้นด้วย" เป็นสิทธิและหน้าที่ระหว่างผู้เช่าและผู้ให้เช่า ไม่ครอบคลุมถึงสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องในการรับเงินค่าเช่าด้วย การที่บริษัท บ. โอนสิทธิเรียกร้องรับเงินค่าเช่าที่มีต่อบริษัท ม. ให้แก่โจทก์สำหรับงวดปี 2544 ถึงปี 2558 หาใช่เป็นสิทธิและหน้าที่ของผู้ให้เช่าที่บริษัทบริหารสินทรัพย์ ส. ต้องผูกพันด้วยไม่ หากโจทก์ต้องเสียหายเนื่องจากไม่ได้รับเงินค่าเช่าตามฟ้อง โจทก์กับบริษัท บ. มีสิทธิและหน้าที่กันอย่างไรชอบจะไปว่ากล่าวกันเอง การที่จำเลยชำระค่าเช่างวดปี 2554 แก่บริษัทบริหารสินทรัพย์ ส. เจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโดยไม่ได้ชำระให้แก่โจทก์ซึ่งไร้สิทธิเรียกร้องค่าเช่าแล้วไม่เป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 20936/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนในคดีอาญา: ผู้เสียหายต้องได้รับความเสียหายโดยตรงจากการกระทำผิด
ผู้เสียหายในคดีอาญา หมายถึงบุคคลผู้ได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำผิดฐานใดฐานหนึ่ง คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยขับรถยนต์กระบะด้วยความเร็วสูงเสียหลักลื่นไถลออกนอกเส้นทางพุ่งชนรถยนต์คันที่โจทก์ร่วมที่ 1 ขับสวนทางมา โดยมีโจทก์ร่วมที่ 2 นั่งโดยสารมาด้วย ทำให้โจทก์ร่วมที่ 1 ได้รับอันตรายสาหัส การกระทำความผิดของจำเลยตามฟ้องมิได้ทำให้โจทก์ร่วมที่ 2 ได้รับความเสียหาย แม้จำเลยไม่คัดค้านในการที่โจทก์ร่วมที่ 2 ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ แต่การพิจารณาว่าโจทก์ร่วมที่ 2 เป็นผู้เสียหายหรือไม่ ต้องพิจารณาจากข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในฟ้องว่าโจทก์ร่วมที่ 2 ได้รับความเสียหายจากการกระทำความผิดของจำเลยหรือไม่ มิใช่พิจารณาว่าจำเลยจะคัดค้านหรือไม่ดังนี้ โจทก์ร่วมที่ 2 จึงไม่ใช่ผู้เสียหายตาม ป.วิ.อ. มาตรา (4) และไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 30 ทั้ง ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 บัญญัติให้ผู้เสียหายตามบทบัญญัติดังกล่าว ต้องเป็นผู้เสียหายตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (4) หรือมาตรา 5 เมื่อโจทก์ร่วมที่ 2 มิใช่ผู้เสียหายจึงไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนได้ และเมื่อการกระทำความผิดของจำเลยตามฟ้องมิได้เกี่ยวข้องกับบุตรของโจทก์ร่วมที่ 1 โจทก์ร่วมที่ 1 จึงไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นค่าขาดไร้อุปการะและค่ารักษาพยาบาลของบุตรโจทก์ร่วมที่ 1 ก่อนถึงแก่ความตาย
of 14