คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
นิติ เอื้อจรัสพันธุ์

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 64 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3823/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การปลอมเอกสารสิทธิเพื่อใช้ในการหลอกลวงเรียกรับเงินค่าเสียหายจากผู้เสียหาย เป็นความผิดฐานปลอมเอกสารสิทธิและใช้เอกสารสิทธิปลอม
สัญญาบันทึกข้อตกลงชดใช้ค่าเสียหายมี ส. และผู้เสียหายร่วมลงลายมือชื่อเพื่อใช้เป็นหลักฐานยืนยันว่า ผู้เสียหายยินยอมชำระเงินให้แก่ ส. ซึ่งเป็นตัวแทนหรือผู้รับมอบอำนาจช่วงของบริษัท ด. โดยเอกสารดังกล่าวมีหัวกระดาษและตราสัญลักษณ์ของบริษัท ด. ซึ่งเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์และเครื่องหมายการค้า ทำให้บุคคลทั่วไปเห็นแล้วเชื่อว่าบริษัทดังกล่าวทำขึ้น แม้ความจริงบริษัทดังกล่าวไม่ได้ทำบันทึกข้อตกลงนั้นกับผู้เสียหาย แต่การที่พวกของจำเลยซึ่งไม่ได้รับมอบอำนาจจากเจ้าของลิขสิทธิ์และเครื่องหมายการค้าที่แท้จริงกลับทำสัญญาบันทึกข้อตกลงดังกล่าวกับผู้เสียหาย เพื่อให้ผู้เสียหายหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารสิทธิที่แท้จริงแล้วนำไปใช้อ้างต่อพันตำรวจตรี น. เพื่อแสดงให้เห็นว่าได้ยอมความโดยชอบ ทำให้คดีในส่วนอาญาระงับโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน แม้จะมิใช่เอกสารที่แท้จริงของบริษัทดังกล่าวก็ตาม ก็เป็นการทำปลอมเอกสารสิทธิขึ้นทั้งฉบับและใช้เอกสารสิทธิปลอม
การที่จำเลยกับพวกร่วมกันแจ้งข้อความอันเป็นเท็จต่อเจ้าพนักงานตำรวจเพื่อนำไปใช้เป็นหลักฐานในการตรวจค้นผู้เสียหาย แล้วนำสัญญาบันทึกข้อตกลงชดใช้ค่าเสียหายกลับมาลงบันทึกประจำวันโดยแจ้งให้เจ้าพนักงานผู้กระทำการตามหน้าที่จดข้อความอันเป็นเท็จลงในบันทึกรายงานประจำวันรับแจ้งเป็นหลักฐานอันเป็นเอกสารราชการเพื่อใช้เป็นหลักฐานว่า ส. พวกของจำเลยเป็นผู้รับมอบอำนาจช่วงและผู้เสียหายเป็นผู้ละเมิดสินค้าลิขสิทธิ์ แต่ตกลงค่าเสียหายได้โดยผู้เสียหายยินยอมชดใช้เป็นเงิน และทุกฝ่ายจะไม่เอาความกันภายหลังทั้งทางแพ่งและทางอาญา แม้จะกระทำต่างเวลากันแต่เป็นการกระทำโดยมีเจตนาเดียวกันเพื่อให้ผู้อื่นหลงเชื่อว่าพวกของจำเลยได้รับมอบอำนาจมาและมีอำนาจกระทำการแทนเจ้าของลิขสิทธิ์เครื่องหมายการค้าในการเรียกรับเงินค่าเสียหายและตกลงยอมความกับผู้เสียหาย การกระทำของจำเลยกับพวกจึงเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3676/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบรรยายฟ้องอาญาไม่จำเป็นต้องระบุวันที่แน่นอน หากโจทก์บรรยายเวลาตามสมควรแล้ว ฟ้องยังชอบ
ป.วิ.อ. มาตรา 158 มิได้บังคับให้ฟ้องต้องบรรยายระบุเจาะจงวันที่และเดือนซึ่งเกิดการกระทำผิด ทั้งเวลาซึ่งเกิดการกระทำผิด ไม่ว่าจะเป็นข้อเท็จจริงหรือรายละเอียด กฎหมายบัญญัติเพียงให้โจทก์กล่าวมาพอสมควรเท่าที่จะทำให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดี คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องระบุเวลาการกระทำผิดของจำเลยว่าประมาณปีใด โดยฟ้องโจทก์บรรยายด้วยว่า ไม่ปรากฏแน่ชัดถึงวันที่และเดือนที่จำเลยกระทำความผิด จึงเป็นการบรรยายฟ้องที่เกี่ยวกับเวลาเท่าที่จะบรรยายได้ มิได้ประสงค์เอาเปรียบในเชิงคดี การที่จำเลยให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหาโดยรายละเอียดจะนำเสนอข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายในชั้นพิจารณาต่อไป แสดงว่าจำเลยเข้าใจฟ้องโจทก์ได้ดีและสามารถต่อสู้คดีได้ถูกต้อง ฟ้องโจทก์ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 แล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3009/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ผู้ขายยาเสพติดมีส่วนร่วมในการสนับสนุนการกระทำผิดของผู้ซื้อ แม้ไม่มีส่วนร่วมโดยตรงในการครอบครองหรือจำหน่าย
เมทแอมเฟตามีนของกลาง 565 เม็ด เป็นส่วนหนึ่งของเมทแอมเฟตามีนที่ ส. ซื้อมาจากจำเลย หลังจากที่จำเลยขายเมทแอมเฟตามีนให้แก่ ส. โดยจำเลยได้รับเงินค่าเมทแอมเฟตามีนไปแล้ว การครอบครองเมทแอมเฟตามีนเพื่อจำหน่ายและการจำหน่ายล้วนเป็นการกระทำของ ส. กับพวกโดยจำเลยไม่มีส่วนรู้เห็นหรือเกี่ยวข้อง อีกทั้งในวันเกิดเหตุในคดีนี้จำเลยไม่ได้อยู่ในที่เกิดเหตุหรือมีส่วนร่วมในการครอบครองเมทแอมเฟตามีนของกลางเพื่อจำหน่ายหรือจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนให้แก่สายลับ จึงไม่อาจถือได้ว่าจำเลยร่วมกับ ส. กับพวกมีเมทแอมเฟตามีนของกลางไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและจำหน่าย แต่การที่จำเลยจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนของกลางให้แก่ ส. ย่อมถือได้ว่าเป็นการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกแก่ ส. ในการมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำเลยจึงเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 86 แม้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานเป็นตัวการ แต่ข้อเท็จจริงตามทางพิจารณาฟังได้ว่า จำเลยเป็นเพียงผู้สนับสนุนการกระทำความผิด ถือว่าข้อแตกต่างดังกล่าวมิใช่เป็นข้อสาระสำคัญ เมื่อจำเลยมิได้หลงต่อสู้ ศาลย่อมลงโทษจำเลยฐานเป็นผู้สนับสนุนได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสอง ประกอบมาตรา 215 และ 225 กับ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2887/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การลักทรัพย์ในความสัมพันธ์สมรสที่ไม่สมบูรณ์ตามกฎหมายไทย และข้อยกเว้นโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 71
โจทก์ร่วมและจำเลยจดทะเบียนสมรสกันที่ประเทศอังกฤษเมื่อปี 2557 แม้ ป.พ.พ. มาตรา 1459 วรรคหนึ่ง จะบัญญัติว่า "การสมรสในต่างประเทศระหว่างคนที่มีสัญชาติไทยด้วยกัน หรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีสัญชาติไทย จะทำตามแบบที่กำหนดไว้ตามกฎหมายไทยหรือกฎหมายแห่งประเทศนั้นก็ได้" และ พ.ร.บ.ว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พ.ศ.2481 มาตรา 20 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "การสมรสซึ่งได้ทำถูกต้องตามแบบที่บัญญัติไว้ในกฎหมายแห่งประเทศที่ทำการสมรสนั้น ย่อมเป็นอันสมบูรณ์" ก็ตาม แต่อย่างไรก็ดี มาตรา 19 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวบัญญัติว่า "เงื่อนไขแห่งการสมรสให้เป็นไปตามกฎหมายสัญชาติของคู่กรณีแต่ละฝ่าย" เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าจำเลยและโจทก์ร่วมเป็นผู้มีสัญชาติไทย ดังนั้น ในการพิจารณาถึงความสมบูรณ์แห่งการสมรสระหว่างจำเลยและโจทก์ร่วมจึงต้องพิจารณาตาม ป.พ.พ. บรรพ 5 หมวด 2 เรื่องเงื่อนไขแห่งการสมรสประกอบด้วย เมื่อมาตรา 1448 บัญญัติว่า "การสมรสจะทำได้ต่อเมื่อชายและหญิงมีอายุสิบเจ็ดปีบริบูรณ์แล้ว" แสดงว่าการสมรสจะสมบูรณ์ต่อเมื่อคู่สมรสเป็นชายและหญิง เมื่อจำเลยและโจทก์ร่วมต่างก็เป็นหญิง การสมรสระหว่างจำเลยและโจทก์ร่วมจึงไม่ต้องด้วยเงื่อนไขของการสมรสตามกฎหมายไทย จำเลยและโจทก์ร่วมไม่มีสถานะเป็นสามีภริยาตามกฎหมาย กรณีจึงไม่ต้องด้วยเหตุยกเว้นโทษตาม ป.อ. มาตรา 71

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1864/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การโกงเจ้าหนี้หลังล้มละลาย: เจ้าหนี้ต้องยื่นขอรับชำระหนี้ตามขั้นตอน หากไม่ยื่น สิทธิเรียกร้องสิ้นสุด
หนี้ของโจทก์เกิดขึ้นก่อนที่จำเลยจะถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด โจทก์จึงต้องยื่นขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ภายใน 2 เดือน นับแต่วันโฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 91 วรรคหนึ่ง เมื่อโจทก์ไม่ยื่นขอรับชำระหนี้ โจทก์ย่อมหมดสิทธิที่จะบังคับชำระหนี้ต่อไป ซึ่งตาม ป.อ. มาตรา 350 ที่บัญญัติว่า เจ้าหนี้ซึ่งได้ใช้หรือจะใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้ชำระหนี้นั้น หมายถึงเจ้าหนี้ที่สามารถบังคับชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย เมื่อโจทก์มิได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ภายใน 2 เดือน นับแต่วันโฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด ย่อมหมดสิทธิบังคับชำระหนี้จากจำเลยได้อีกต่อไป เพราะผลของการประนอมหนี้หลังล้มละลายย่อมผูกพันโจทก์ และเมื่อศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งยกเลิกการล้มละลายไปแล้ว จำเลยย่อมหลุดพ้นจากหนี้ทั้งปวงที่อาจขอรับชำระหนี้ได้ในคดีล้มละลาย ทั้งคำว่า "เจ้าหนี้ของตน" ย่อมหมายถึงเฉพาะโจทก์ที่เป็นผู้เสียหายในคดีนี้เท่านั้น มิได้หมายความรวมถึงเจ้าหนี้อื่นของจำเลยที่มิได้ยื่นฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ด้วย ดังนั้น การที่จำเลยขายที่ดินตามฟ้องจึงมิใช่การกระทำเพื่อมิให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ในคดีแพ่งได้รับชำระหนี้ จำเลยไม่มีความผิดฐานโกงเจ้าหนี้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 472/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ชมรมสงเคราะห์จ่ายเงินสงเคราะห์หลังสมาชิกเสียชีวิต เข้าข่ายประกอบธุรกิจประกันชีวิตโดยไม่ได้รับอนุญาต
การดำเนินกิจกรรมของชมรมเอื้ออาทรเกษตรกรอำนาจเจริญ สมาชิกจะต้องจ่ายเงินค่าสมาชิกแก่ชมรมทุกปี เมื่อสมาชิกถึงแก่ความตาย ชมรมจะนำเงินค่าสมาชิกหมุนเวียนจ่ายเป็นเงินสงเคราะห์โดยอาศัยเหตุแห่งการมรณะของสมาชิกนั้น เป็นเหตุในอนาคตที่จะใช้เงินแก่ผู้รับประโยชน์ตามที่สมาชิกนั้นกำหนดไว้ มิใช่เป็นการจ่ายเพื่อการสงเคราะห์ตาม พ.ร.บ.การฌาปนกิจสงเคราะห์ พ.ศ.2545 แต่เป็นการดำเนินกิจการอันมีลักษณะทำการเป็นผู้รับประกันภัยโดยทำสัญญาประกันชีวิตตาม ป.พ.พ. มาตรา 861 มาตรา 862 และมาตรา 889 ซึ่งมิได้จัดตั้งขึ้นในรูปบริษัทมหาชนจำกัด จึงไม่อาจที่จะได้รับใบอนุญาตให้ประกอบธุรกิจประกันชีวิตตาม พ.ร.บ.การประกันชีวิต พ.ศ.2535 มาตรา 7
จำเลยทั้งสี่ร่วมกันดำเนินกิจการชมรมในการทำการเป็นผู้รับประกันชีวิตโดยทำสัญญาประกันชีวิตกับบรรดาสมาชิกทั้งหลายด้วยการแบ่งหน้าที่กันทำชักชวนหาสมาชิก เป็นการร่วมกันทำการเป็นผู้รับประกันภัยโดยทำสัญญาประกันชีวิตกับบุคคลใด ๆ โดยไม่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันภัย อันเป็นการฝ่าฝืน พ.ร.บ.ประกันชีวิต พ.ศ.2535 มาตรา 18 ซึ่งบัญญัติไว้เป็นความผิดตามมาตรา 91

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4726/2562

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฟ้องซ้ำ: สิทธิผู้ซื้อที่ดินตามคำพิพากษาตามยอมผูกพันตามคดีแบ่งแยกที่ดินเดิม
การที่โจทก์ได้สิทธิความเป็นเจ้าของรวมในที่ดินในฐานะผู้ทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินเฉพาะส่วนของจำเลยที่ 10 ตามคำพิพากษาตามยอมในคดีแพ่งที่โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยที่ 10 โอนที่ดินส่วนของจำเลยที่ 10 แก่โจทก์ ย่อมหมายความว่า สิทธิในที่ดินของจำเลยที่ 10 มีอยู่ในขณะที่จะขายเป็นต้นไปเพียงใด โจทก์ย่อมรับโอนสิทธิของจำเลยที่ 10 มาเพียงนั้น ซึ่งรวมถึงหน้าที่ของจำเลยที่ 10 ในฐานะเจ้าของรวมที่ต้องจดทะเบียนแบ่งแยกกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินส่วนที่จำเลยที่ 10 ครอบครองเป็นส่วนสัดให้แก่จำเลยที่ 1 และเจ้าของรวมคนอื่นตามคำพิพากษาคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ ส.656/2549 ของศาลชั้นต้นด้วย ในฐานะที่โจทก์เป็นผู้สืบสิทธิของจำเลยที่ 10 ที่ต้องผูกพันตามผลของคดีดังกล่าว
การที่โจทก์ซึ่งเป็นผู้สืบสิทธิในที่ดินส่วนของจำเลยที่ 10 และถือเป็นคู่ความในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ ส.656/2549 เช่นเดียวกับจำเลยที่ 10 หยิบยกข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ 10 มิได้ตกลงยินยอมให้แบ่งแยกกรรมสิทธิ์รวม ซึ่งเป็นประเด็นเดียวกันมากล่าวอ้างในคำฟ้องคดีนี้เพื่อขอให้ศาลวินิจฉัยทบทวนอีก ย่อมเป็นการซ้ำซ้อนกับข้อวินิจฉัยในคดีดังกล่าว และมีผลให้ขัดแย้งกับกระบวนการบังคับคดีที่ได้ดำเนินไปแล้วในคดีดังกล่าว เป็นการรื้อร้องฟ้องในประเด็นที่ศาลได้วินิจฉัยไปและถึงที่สุดแล้ว คดีโจทก์จึงเป็นฟ้องซ้ำ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2817/2562

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ กรรมสิทธิ์ร่วมในทรัพย์สินที่ได้มาในระหว่างสมรสและการคืนทรัพย์สินที่ถูกริบจากการกระทำผิด
เมื่อรถบรรทุกของกลางเป็นทรัพย์สินที่ผู้ร้องซื้อมาด้วยเงินที่ได้มาระหว่างสมรส ผู้ร้องกับจำเลยจึงมีส่วนเป็นเจ้าของรวมกันคนละครึ่ง เมื่อจำเลยนำรถบรรทุกของกลางไปใช้ในการกระทำความผิดจนถูกศาลพิพากษาให้ริบไปแล้ว ผู้ร้องซึ่งมิได้มีส่วนรู้เห็นเป็นใจในการกระทำความผิดของจำเลยด้วย ย่อมมีสิทธิขอคืนได้กึ่งหนึ่ง ส่วนอีกกึ่งหนึ่งตกเป็นของอันพึงต้องริบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2607/2562

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกตามพินัยกรรมหลังมีคำสั่งแต่งตั้งผู้จัดการมรดกโดยไม่มีพินัยกรรมแล้ว ศาลต้องรับคำร้อง
เดิมผู้ร้องเป็นผู้คัดค้านในคดีที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้ง ถ. และ อ. กับผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายร่วมกัน อ. กับผู้ร้องอุทธรณ์คำสั่ง ระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 7 อ. กับผู้ร้องยื่นคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคำร้องคัดค้านและเพิ่มเติมอุทธรณ์คำสั่งอ้างว่าเพิ่งพบพินัยกรรมของผู้ตายระบุให้ น. และผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกและตัดไม่ให้ทรัพย์สินแก่ ถ. ศาลอุทธรณ์ภาค 7 ยกคำร้อง โดยเห็นว่า อ. กับผู้ร้องชอบที่จะไปดำเนินคดีเป็นอีกเรื่องหนึ่งต่อศาลชั้นต้น และต่อมามีคำพิพากษายืนตามคำสั่งศาลชั้นต้น การที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกตามพินัยกรรมของผู้ตายในคดีนี้ตามคำสั่งของศาลอุทธรณ์ภาค 7 โดยยื่นต่อศาลชั้นต้นซึ่งเป็นศาลเดียวกันกับที่เคยมีคำสั่งตั้ง ถ. เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายร่วมกับผู้ร้อง โดยผู้ร้องอ้างในคำร้องถึงรายละเอียดในคดีที่เคยยื่นคำร้องคัดค้านในคดีก่อน และแนบคำสั่งศาลชั้นต้น คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 เพื่อขอให้มีคำสั่งตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกตามพินัยกรรมแทน แม้ผู้ร้องได้ยื่นคำร้องใหม่เข้ามาและมีการลงเลขคดีดำใหม่ ก็เป็นเพียงเรื่องปฏิบัติในทางธุรการของศาลเท่านั้น กรณีถือได้ว่าผู้ร้องได้เสนอคำร้องต่อศาลในคดีก่อน ตามนัย แห่ง ป.วิ.พ. มาตรา 7 (4) แล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1986/2562

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาซื้อขายที่ดินสาธารณะเป็นโมฆะ โจทก์มีสิทธิเรียกเงินคืนได้ตามกฎหมาย แม้เวลาผ่านไป
โจทก์ตกลงซื้อที่ดินมือเปล่าที่จำเลยอ้างว่าเป็นผู้มีสิทธิครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมายจำนวนเนื้อที่ 25 ไร่ ราคา 10,000,000 บาท โจทก์ชำระราคาที่ดินให้แก่จำเลยครบถ้วน และจำเลยส่งมอบการครอบครองที่ดินให้โจทก์แล้ว ต่อมาโจทก์ได้ยื่นเรื่องขอออกโฉนดที่ดินต่อสำนักงานที่ดินจึงทราบว่าที่ดินที่จำเลยขายแก่โจทก์ตั้งอยู่ในเขตที่สวนเลี้ยงสัตว์บ้านท่าแดงซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภททรัพย์สินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน จึงเป็นการที่โจทก์กับจำเลยทำสัญญาซื้อขายทรัพย์สินซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1304 (2) ซึ่งจะโอนแก่กันมิได้ตามมาตรา 1305 ซึ่งเป็นสัญญาที่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย เป็นโมฆะตามมาตรา 150 ทั้งเป็นกรณีที่จำเลยรู้อยู่แล้วว่าที่ดินที่นำมาขายแก่โจทก์เป็นที่ดินสาธารณสมบัติของแผ่นดินไม่อาจซื้อขายได้ แต่จำเลยจงใจนิ่งเสียไม่แจ้งความจริงดังกล่าวแก่โจทก์ ซึ่งหากโจทก์รู้ความจริงสัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยเกี่ยวกับที่ดินพิพาทคงจะไม่เกิดขึ้น กรณีจึงถือได้ว่าจำเลยได้รับเงินค่าที่ดินจำนวนดังกล่าวไปจากโจทก์โดยมิชอบด้วยกฎหมาย การที่โจทก์มีคำขอให้บังคับจำเลยคืนเงินจำนวนดังกล่าวเท่ากับราคาที่ดินที่โจทก์ชำระให้แก่จำเลยไปนั้น จึงมีลักษณะเป็นการใช้สิทธิติดตามเอาทรัพย์สินของโจทก์คืนจากจำเลยผู้ที่ไม่มีสิทธิที่จะยึดถือไว้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336 ซึ่งเป็นกรณีที่ไม่มีกำหนดอายุความ ฟ้องของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ จำเลยจึงต้องรับผิดคืนเงินราคาที่ดินจำนวนดังกล่าวให้แก่โจทก์
of 7