คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
ศรีอัมพร ศาลิคุปต์

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 205 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16066/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การขายน้ำมันดีเซลโดยไม่ได้รับอนุญาตในน่านน้ำภายในและเขตต่อเนื่อง, การมีไว้เพื่อขาย, และการลงโทษ
เรือ ช. บรรทุกน้ำมันที่ได้รับยกเว้นภาษีสรรพสามิตสำหรับการนำไปจำหน่ายเฉพาะในบริเวณเขตต่อเนื่อง โดยประเทศไทยได้ประกาศใช้ความกว้างของทะเลอาณาเขตเป็นระยะ 12 ไมล์ทะเล และได้มีการประกาศเขตต่อเนื่อง ได้แก่ บริเวณที่อยู่ถัดออกไปจากทะเลอาณาเขต มีความกว้าง 24 ไมล์ทะเล วัดจากเส้นฐานที่ใช้วัดความกว้างของทะเลอาณาเขต เจ้าพนักงานจับจำเลยทั้งสองขณะที่เรือ ช. ถ่ายน้ำมันให้แก่เรือ ป.ไทยประดิษฐ์ ซึ่งในบริเวณดังกล่าวอยู่ภายใต้ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีเรื่องเส้นฐานตรงและน่านน้ำของประเทศไทยบริเวณที่สี่ จึงอยู่ในน่านน้ำภายใน เพราะทะเลที่เป็นส่วนต่อจากน่านน้ำภายในคือทะเลอาณาเขตที่มีความกว้าง 12 ไมล์ทะเล เมื่อสุดระยะของทะเลอาณาเขตจึงเป็นบริเวณของเขตต่อเนื่อง
เมื่อจำเลยที่ 1 ผู้เป็นนายเรือ มีอำนาจควบคุมเรือ ช. ต้องถือว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ขายน้ำมันดีเซลดังกล่าว ส่วนจำเลยที่ 2 เป็นรองต้นกลเรือ เป็นผู้ควบคุมเครื่องยนต์ ซึ่งขณะถ่ายน้ำมันลงเรือ ป.ไทยประดิษฐ์ต้องมีการเดินเครื่องยนต์ จึงถือว่าจำเลยทั้งสองขายสินค้าที่ได้รับยกเว้นหรือได้รับคืนภาษีแล้วตามหมวด 7 แห่ง พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต มาตรา 162 (2)
แม้เรือ ช. จะได้รับน้ำมันดีเซลโดยชอบ เพื่อนำไปจำหน่ายให้แก่ชาวประมงในเขตต่อเนื่อง แต่จากพฤติการณ์แสดงว่าการมีน้ำมันจำนวนดังกล่าวมุ่งประสงค์ในการนำเข้ามาจำหน่ายโดยฝ่าฝืนประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง ยกเว้นภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่ 63) ลงวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2544 การมีน้ำมันในเรือ ช. จึงเป็นการมีไว้เพื่อขายโดยไม่มีสิทธิ ส่วนจำเลยที่ 2 เป็นเพียงรองต้นกลเรือ มีหน้าที่เพียงควบคุมเครื่องยนต์เรือ และไม่ปรากฏพฤติการณ์ว่ามีส่วนร่วมในการมีน้ำมันดีเซลไว้เพื่อขาย จึงยังไม่อาจรับฟังว่าจำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 1 มีน้ำมันดังกล่าวไว้เพื่อขายโดยไม่ชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15674/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิเจ้าของที่ดินต้องไม่ละเมิดสิทธิผู้อื่น การสร้างกำแพงบดบังทัศนียภาพทำให้เสียโอกาสทางธุรกิจ เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต
จำเลยเป็นเจ้าของที่ดินย่อมมีสิทธิกระทำการใด เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้อื่นเข้ายุ่งเกี่ยวกับที่ดินของจำเลย แต่การใช้สิทธิของจำเลยต้องเป็นไปโดยสุจริต และไม่เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นด้วย ที่ดินของจำเลยมีเนื้อที่เพียง 35 ตารางวา เป็นรูปสามเหลี่ยมชายธง มีความกว้างสุดประมาณ 2 เมตร ตามสภาพย่อมไม่สามารถใช้ประโยชน์ในการปลูกสร้างอาคารหรือสิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่ที่จะบดบังทัศนียภาพหน้าที่ดินที่เป็นตึกแถวตั้งอยู่ได้ ซึ่งทัศนียภาพดังกล่าวเป็นคูน้ำและทางหลวงสายสุพรรณบุรี - ชัยนาท หมายเลข 340 ที่อยู่หน้าที่ดินของจำเลย ส. เจ้าของที่ดินเดิมก็คงคาดหมายเช่นนี้ จึงสร้างตึกแถวขาย แต่เมื่อมีกำแพงทึบสูงถึง 2.70 เมตร ย่อมทำให้ชั้นล่างของตึกแถวถูกบดบังและผู้อยู่อาศัยย่อมไม่อาจเห็นทัศนียภาพดังกล่าวได้ ทำให้ผู้อยู่ในตึกแถวเสียโอกาสเห็นความเป็นไปบนทางหลวง และผู้สัญจรบนทางหลวงไม่อาจเห็นตึกแถวได้ชัดเจนเช่นกัน ย่อมทำให้ผู้อยู่ในตึกแถวเสียโอกาสในการค้าขาย การที่จำเลยทำกำแพงคอนกรีตทึบสูง 2.70 เมตร โดยขาดเหตุผล จึงเป็นการกระทำโดยไม่สุจริต และเป็นการใช้สิทธิซึ่งมีแต่ให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ทั้งสาม อันเป็นการไม่ชอบด้วย ป.พ.พ. มาตรา 421

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15364-15365/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฟ้องซ้อน-ละเมิดทางธุรกิจ: การกระทำต่างกรรมต่างวาระ และการนำสืบพยานเอกสารที่ไม่ถูกต้อง
แม้คดีนี้และคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 1692/2544 ของศาลชั้นต้น จะเป็นคดีที่มีมูลละเมิดอย่างเดียวกัน จำเลยที่ 3 กับโจทก์ต่างเป็นคู่ความรายเดียวกัน แต่การที่จำเลยที่ 3 รับจำเลยคนอื่นๆ ในคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 1692/2544 กับการที่จำเลยที่ 3 รับจำเลยที่ 1 และที่ 2 เข้าร่วมเดินรถรับส่งผู้โดยสารเป็นคดีนี้เป็นการกระทำต่างกรรมต่างวาระกัน โดยร่วมกับบุคคลต่างกัน หาใช่บุคคลผู้เป็นคู่ความรายเดิมไม่ ข้ออ้างตามคำฟ้องของโจทก์ที่ว่า จำเลยทั้งสามกระทำละเมิดในคดีนี้ จึงเป็นเรื่องที่เกิดต่างกรรมต่างวาระจากมูลละเมิดในคดีดังกล่าว ทำให้โจทก์มีสิทธิฟ้องจำเลยที่ 3 ในคดีนี้ได้ ฟ้องโจทก์ทั้งสองคดีนี้จึงไม่เป็นฟ้องซ้อนกับคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 1692/2544 ของศาลชั้นต้นตาม ป.วิ.พ. มาตรา 173 วรรคสอง (1)
การที่จำเลยทั้งสามส่งสำเนาคำฟ้องคดีอาญาหมายเลขดำที่ 2132/2551 ของศาลชั้นต้นต่อศาลฎีกา โดยในคำฟ้องระบุว่า พนักงานอัยการจังหวัดอุบลราชธานีเป็นโจทก์ฟ้อง ช. ในความผิดฐานเบิกความเท็จในคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 384/2546, 386/2546, 389/2546 ของศาลชั้นต้น นั้น ข้อเท็จจริงตามเอกสารดังกล่าว จำเลยทั้งสามเพิ่งยกขึ้นกล่าวอ้างในชั้นฎีกา จึงเป็นการนำพยานเอกสารเข้าสู่สำนวนความโดยไม่ถูกต้องตาม ป.วิ.พ. มาตรา 88 ทั้งโจทก์ไม่มีโอกาสซักค้านเกี่ยวกับพยานเอกสารดังกล่าวนี้ ข้อเท็จจริงตามเอกสารนั้นจึงรับฟังไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15250/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การลักทรัพย์รูปเคารพที่ไม่เข้าข่าย 'ทรัพย์อันเป็นที่สักการะบูชาของประชาชน' ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 ทวิ
ที่เกิดเหตุในศาลเจ้าแม่ น. มีการจัดวางองค์เจ้าแม่กวนอิม องค์พระศิวะ และองค์แม่พระอุมาเทวีของกลาง ซึ่งนับว่าเป็นวัตถุในทางศาสนาพุทธและศาสนาพราหมณ์ แต่ผู้เสียหายก็มิได้จัดวางองค์เจ้าแม่กวนอิม องค์พระศิวะ และองค์แม่พระอุมาเทวีไว้ในสถานที่เหมาะสม โดยมีเครื่องสักการะบูชาเพื่อให้ประชาชนเคารพสักการะ และยังเป็นการจัดวางไว้ต่ำกว่าโต๊ะเครื่องสักการะบูชาที่มีพระพุทธรูปเป็นประธานเสียอีก เพียงแต่วางของกลางดังกล่าวไว้บนโต๊ะเท่านั้น จึงฟังได้เพียงว่าวัตถุของกลางเป็นเพียงรูปสำหรับเคารพเท่านั้น ยังถือไม่ได้ว่าองค์พระศิวะ องค์เจ้าแม่กวนอิม องค์แม่พระอุมาเทวีดังกล่าวเป็นวัตถุในทางศาสนาที่สักการะบูชาของประชาชนตามความหมายของกฎหมาย เมื่อองค์เจ้าแม่กวนอิม องค์พระศิวะ และองค์แม่พระอุมาเทวีของกลางมิใช่ทรัพย์อันเป็นที่สักการะบูชาของประชาชน การลักทรัพย์ของจำเลยทั้งสองจึงมิได้กระทำต่อทรัพย์ตาม ป.อ. มาตรา 335 ทวิ วรรคแรก การกระทำของจำเลยทั้งสอง จึงไม่เป็นความผิดตามมาตรา 335 ทวิ วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15039/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความมรดกและการครอบครองทรัพย์สินโดยเจตนา: สิทธิการรับมรดกสิ้นสุดเมื่อเลยกำหนดอายุความ
ผู้ร้องและผู้คัดค้านต่างเป็นทายาทและบุตรของผู้ตายเจ้ามรดก ผู้ร้องได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย ผู้ร้องเข้าครอบครองที่ดินพิพาทตั้งแต่ก่อนเจ้ามรดกมีชีวิตอยู่เรื่อยมาเพียงผู้เดียวกระทั่งเจ้ามรดกถึงแก่ความตายและได้รับแต่งตั้งเป็นผู้จัดการมรดก การครอบครองที่ดินพิพาทของผู้ร้องดังกล่าวจึงเป็นการครอบครองโดยเจตนายึดถือเพื่อตน และไม่มีกฎหมายบัญญัติว่า การที่ทายาทคนหนึ่งคนใดครอบครองทรัพย์มรดกเพียงผู้เดียวเป็นสัดส่วนชัดเจนจะถือว่าเป็นการครอบครองแทนทายาทอื่น และภายหลังเมื่อเจ้ามรดกถึงแก่ความตาย ผู้คัดค้านก็ไม่เคยครอบครองที่ดินพิพาทและไม่เคยร้องขอแบ่งทรัพย์มรดกภายในอายุความมรดก 1 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 วรรคหนึ่ง ผู้คัดค้านเพิ่งมาขอแบ่งทรัพย์มรดกหลังผู้ร้องได้รับแต่งตั้งเป็นผู้จัดการมรดกแล้วเกิน 1 ปี ฉะนั้นสิทธิเรียกร้องของผู้คัดค้านที่จะเรียกร้องให้ผู้ร้องแบ่งทรัพย์มรดกจึงต้องห้ามตามมาตรา 1754 วรรคหนึ่งดังกล่าว ด้วยเหตุนี้ที่ดินพิพาทอันเป็นทรัพย์มรดกย่อมตกเป็นของผู้ร้องโดยสมบูรณ์ และการที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกภายหลังเจ้ามรดกถึงแก่ความตายแล้วเกือบ 3 ปี โดยมิได้ระบุในคำร้องว่าจะนำที่ดินพิพาทมาแบ่งปันแก่ทายาทก็เป็นเพียงการที่ผู้ร้องดำเนินการให้ตนมีอำนาจเปลี่ยนแปลงหลักฐานทางทะเบียนได้เท่านั้น หาใช่เพื่อประโยชน์แก่ผู้คัดค้านและทายาทอื่นที่สิ้นสิทธิในการฟ้องเรียกทรัพย์มรดกโดยอายุความไปแล้วตามมาตรา 1754 วรรคหนึ่ง แต่อย่างใด ทั้งการที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกก็ถือไม่ได้ว่าผู้ร้องสละประโยชน์แห่งอายุความตามมาตรา 193/24 ดังนั้น การครอบครองทรัพย์มรดกของผู้ร้องที่กล่าวข้างต้นจึงมิใช่เป็นการครอบครองแทนทายาทอื่นและแทนผู้คัดค้านที่สิ้นสิทธิในการรับมรดกโดยอายุความไปแล้ว กรณีจึงถือไม่ได้ว่าผู้คัดค้านเป็นทายาทหรือผู้มีส่วนได้เสียในอันที่จะยื่นคัดค้านการตั้งผู้จัดการมรดก และขอให้ตั้งผู้จัดการมรดกตามมาตรา 1713 ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15037/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เจ้าหนี้รายหลังไม่มีสิทธิเพิกถอนนิติกรรมที่ลูกหนี้ทำไปก่อนหน้านี้ แม้จะทำให้เจ้าหนี้เสียเปรียบ
ตาม ป.พ.พ. มาตรา 237 เจ้าหนี้ที่มีสิทธิขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมใด ๆ อันลูกหนี้ได้กระทำลงไปทั้ง ๆ ที่รู้อยู่ว่าเป็นทางให้เจ้าหนี้เสียเปรียบจะต้องเป็นผู้ที่เป็นเจ้าหนี้อยู่แล้วในขณะที่ลูกหนี้ได้กระทำนิติกรรมดังกล่าวแล้ว เจ้าหนี้รายหลัง ๆ หามีสิทธิเช่นนั้นไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14953/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การรับฟังพยานหลักฐานจากคำให้การของผู้ต้องหา การแจ้งสิทธิ และการล้างมลทิน
หลังจากเกิดเหตุ เจ้าพนักงานตำรวจทำการสืบสวนทราบว่า ในช่วงเวลาใกล้กับเวลาเกิดเหตุ จำเลยทั้งสองกับพวกนั่งอยู่ที่บริเวณหน้าบ้านเกิดเหตุ จึงสืบหาที่พักของจำเลยที่ 1 และนำจำเลยทั้งสองกับพวกอีก 2 คน มาสอบถามเหตุการณ์ว่ารู้เห็นเรื่องปล้นทรัพย์หรือไม่ จำเลยทั้งสองกับพวกยอมรับว่าพวกตนเป็นคนร้าย ตามบันทึกคำให้การผู้ให้ถ้อยคำ จากนั้นจำเลยทั้งสองกับพวกพาเจ้าพนักงานตำรวจไปเอาของกลางที่ข้างหลังที่พักของจำเลยที่ 1 ตามบันทึกการตรวจยึด การให้ถ้อยคำของจำเลยทั้งสองรวมทั้งการนำเจ้าพนักงานตำรวจไปเอาของกลาง เชื่อว่าเกิดจากความสมัครใจของจำเลยทั้งสอง การที่จำเลยทั้งสองให้ถ้อยคำแก่เจ้าพนักงานตำรวจตามบันทึกคำให้การผู้ให้ถ้อยคำ เป็นการกระทำก่อนที่เจ้าพนักงานตำรวจจะจับกุมจำเลยทั้งสองเป็นผู้ต้องหา ซึ่งในกรณีที่มีความผิดอาญาเกิดขึ้นย่อมเป็นหน้าที่ของเจ้าพนักงานตำรวจที่จะดำเนินการสืบสวนเพื่อแสวงหาข้อเท็จจริงและหลักฐานในการหาตัวคนร้าย การที่จำเลยทั้งสองให้ถ้อยคำแก่เจ้าพนักงานตำรวจดังกล่าวจึงหาใช่เป็นการให้ถ้อยคำในฐานะผู้ถูกจับไม่ จึงไม่จำเป็นต้องมีการแจ้งสิทธิแก่จำเลยทั้งสองก่อนตาม ป.วิ.อ. มาตรา 84 วรรคท้าย และสามารถนำมารับฟังประกอบพยานหลักฐานของโจทก์ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14482/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เจตนาฆ่าหรือไม่? ศาลฎีกาตัดสินคดีใช้อาวุธปืนข่มขู่ ยิงไม่โดน ถือเป็นทำร้ายร่างกาย
วัน เวลา และสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง จำเลยมีและพาอาวุธปืนพกรีวอลเวอร์ขนาด .22 ไปบริเวณโรงงานเชียงใหม่สุขสวัสดิ์ค้าไม้ เนื่องมาจากจำเลยเข้าใจว่าผู้เสียหายเป็นชู้กับภริยาของจำเลย จำเลยจึงไปพบผู้เสียหายยังสถานที่เกิดเหตุและสอบถามจำเลยว่า ชอบเป็นชู้กับภริยาชาวบ้านใช่ไหม แล้วใช้แขนซ้ายล๊อกคอผู้เสียหายและใช้มือขวาล้วงอาวุธปืนออกมาจากเอวจ่อที่บริเวณศีรษะของผู้เสียหาย ช. ท. และ ส. ซึ่งเป็นประจักษ์พยานโจทก์และอยู่บริเวณที่เกิดเหตุเบิกความสอดคล้องต้องกันว่า เห็นจำเลยกระทำดังกล่าว นอกจากนั้นผู้เสียหายยังเบิกความว่าผู้เสียหายได้สะบัดศีรษะเพื่อหลบและได้ยินเสียงปืนดังขึ้น 1 นัด หลังจากนั้นจำเลยก็เดินออกไป การกระทำของจำเลยดังกล่าวจะเห็นได้ว่า จำเลยอยู่ห่างจากผู้เสียหายประมาณ 1 ฟุต โดยใช้มือล๊อกคอของผู้เสียหายไว้พร้อมใช้อาวุธปืนจ่อบริเวณศีรษะซึ่งเป็นระยะที่ใกล้ชิดกับศีรษะมาก หากจำเลยประสงค์ต่อชีวิตของผู้เสียหายแล้ว ย่อมเป็นการยากที่กระสุนปืนจะพลาดจากเป้าหมาย และขณะที่กระสุนลั่นจากอาวุธปืนไม่ปรากฏว่าประจักษ์พยานโจทก์คนใด เห็นว่า ปากกระบอกปืนยังคงจ่อเล็งอยู่ที่บริเวณศีรษะของผู้เสียหายหรือไม่ และการที่ผู้เสียหายเพียงแต่สะบัดศีรษะเพื่อหลบ แต่ก็ไม่ได้ลุกขึ้นวิ่งหนี จึงไม่ทำให้เป้าหมายของวิถีกระสุนเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม จำเลยย่อมสามารถที่จะยิงผู้เสียหายซ้ำได้อีก อีกทั้งหลังจากปืนลั่น 1 นัดแล้ว ไม่มีผู้ใดเข้าห้ามปรามหรือขัดขวางการกระทำของจำเลย และหลังเกิดเหตุ ป. ติดตามจับกุมจำเลยได้พร้อมอาวุธปืนของกลาง ยังปรากฏกระสุนปืนอยู่ภายในรังเพลิงอีกจำนวน 5 นัด แสดงให้เห็นว่าจำเลยมีโอกาสใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหายได้อีก แต่จำเลยก็หาได้กระทำไม่ เมื่อก่อเหตุแล้วจำเลยก็ได้ขับรถจักรยานยนต์กลับไปยังสถานที่ทำงานของตน มิได้หลบหนีไปไหนจนกระทั่ง ป. ไปจับกุมจำเลยได้พร้อมอาวุธปืนของกลาง พฤติการณ์แห่งคดีเชื่อว่า จำเลยไม่มีเจตนาฆ่าผู้เสียหาย แต่เป็นการใช้อาวุธปืนยิงเพื่อข่มขู่ผู้เสียหายเท่านั้น และการที่จำเลยใช้แขนล๊อกคอผู้เสียหายเป็นการใช้กำลังทำร้ายผู้เสียหายโดยไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจ อันเป็นความผิดตามที่พิจารณาได้ความซึ่งศาลมีอำนาจลงโทษจำเลยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคท้าย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14429/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ หุ้นส่วนสามัญต้องรับผิดร่วมกันในหนี้ของห้างหุ้นส่วน แม้มีข้อตกลงภายในระหว่างหุ้นส่วนที่จำกัดความรับผิดชอบต่อบุคคลภายนอก
โจทก์ประกอบธุรกิจให้บริการโทรศัพท์ระหว่างประเทศ จำเลยที่ 1 ได้รับอนุญาตจากโจทก์ให้เชื่อมต่อสัญญาณโทรศัพท์พื้นฐานเข้ากับชุมสายโทรศัพท์แบบอัตโนมัติของโจทก์ จำเลยทั้งสองตกลงเข้าร่วมงานและร่วมลงทุนขยายบริการโทรศัพท์พื้นฐานในพื้นที่โทรศัพท์นครหลวงจำนวนสองล้านเลขหมาย โดยจำเลยทั้งสองตกลงแบ่งผลประโยชน์ร่วมกันจากส่วนแบ่งรายได้ค่าบริการ เช่น ค่าติดตั้งโทรศัพท์ ค่าเช่าเลขหมายโทรศัพท์ ค่าใช้บริการโทรศัพท์ทางไกลทั้งในประเทศและต่างประเทศ ถือได้ว่าเป็นการตกลงเข้ากันเพื่อกระทำกิจการร่วมกัน ด้วยประสงค์จะแบ่งปันกำไรอันจะพึงได้แต่กิจการที่ทำ จึงมีลักษณะเป็นสัญญาจัดตั้งห้างหุ้นส่วนสามัญโดยไม่จดทะเบียน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1012 ซึ่งผู้เป็นหุ้นส่วนหมดทุกคน ต้องรับผิดร่วมกันเพื่อหนี้ทั้งปวงของห้างหุ้นส่วนโดยไม่มีจำกัด ตามมาตรา 1025 แม้สัญญาร่วมการงานและร่วมลงทุนขยายกิจการจะระบุว่า บรรดาความรับผิดชอบที่จำเลยที่ 2 มีต่อบุคคลภายนอก จำเลยที่ 1 จะไม่รับผิดชอบใดๆ ทั้งสิ้น ข้อสัญญาดังกล่าวก็เป็นเพียงข้อตกลงภายในระหว่างจำเลยทั้งสองซึ่งเป็นหุ้นส่วนกัน ไม่มีผลผูกพันกับโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14351/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องคดีเช็ค: ผู้เสียหายคือห้างหุ้นส่วนจำกัด ไม่ใช่เจ้าของห้างหุ้นส่วน โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง
เช็คพิพาททั้งสองฉบับ เช็คที่ออกเพื่อชำระเงินค่าเสื้อแจกเกตให้แก่ห้างหุ้นส่วนจำกัด อ. กรณีจึงถือว่า ห้างหุ้นส่วนจำกัด อ. เป็นผู้ทรงเช็คพิพาท เมื่อเช็คดังกล่าวธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน ห้างหุ้นส่วนจำกัด อ. ย่อมเป็นผู้เสียหายที่จะดำเนินคดีแก่จำเลยซึ่งเป็นผู้สั่งจ่ายเช็คพิพาท มิใช่โจทก์ร่วม ถึงแม้จำเลยจะได้สั่งซื้อเสื้อแจกเกตจากโจทก์ร่วมและโจทก์ร่วมจะมีส่วนเป็นเจ้าของห้างหุ้นส่วนจำกัด อ. ด้วยก็ตาม แต่ห้างหุ้นส่วนจำกัด อ. ก็เป็นนิติบุคคลแยกต่างหากจากโจทก์ร่วม โจทก์ร่วมในฐานะส่วนตัวจึงไม่อยู่ในฐานะผู้ทรงเช็คพิพาท และมิใช่ผู้เสียหายที่จะมีอำนาจร้องทุกข์ขอให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีแก่จำเลยได้ การที่โจทก์ร่วมเข้าร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนเพื่อให้ดำเนินคดีแก่จำเลย โดยไม่ปรากฏหลักฐานว่า ห้างหุ้นส่วนจำกัด อ. ได้มอบอำนาจให้โจทก์ร่วมดำเนินการแทน จึงถือได้ว่า ห้างหุ้นส่วนจำกัด อ. ไม่ได้แจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน พนักงานสอบสวนจึงไม่มีอำนาจทำการสอบสวนการกระทำความผิดของจำเลย การที่พนักงานสอบสวนดำเนินการสอบสวนมานั้น จึงเป็นการสอบสวนที่มิชอบ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลย
of 21