คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
ศรีอัมพร ศาลิคุปต์

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 205 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 735/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดของหุ้นส่วนผู้จัดการและหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดในห้างหุ้นส่วนจำกัดต่อหนี้ที่เกิดขึ้น
จำเลยที่ 1 มีจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการระหว่างวันที่ 8 กันยายน 2547 ถึงวันที่ 23 กันยายน 2556 และมีจำเลยที่ 3 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการระหว่างวันที่ 24 กันยายน 2556 จนถึงปัจจุบัน เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2556 จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 หุ้นส่วนผู้จัดการในขณะนั้นทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับโจทก์รับว่าเป็นหนี้ค่าสินค้าโจทก์โดยตกลงผ่อนชำระเป็นงวดๆ ต่อมาจำเลยที่ 1 ผิดนัด โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสามให้รับผิด จำเลยที่ 3 หุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 เป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดจึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 แม้หนี้ดังกล่าวจะเกิดขึ้นก่อนที่จำเลยที่ 3 เข้ามาเป็นหุ้นส่วนก็ตาม ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1052 ประกอบมาตรา 1077 (2) และมาตรา 1080 วรรคหนึ่ง ส่วนจำเลยที่ 2 ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 เนื่องจากยังอยู่ในเวลาสองปีนับแต่วันที่จำเลยที่ 2 ออกจากการเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1068 ประกอบมาตรา 1080 วรรคหนึ่ง และมาตรา 1087

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8913/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อพิพาทหุ้นส่วนทางธุรกิจ: พยานหลักฐานฝ่ายจำเลยมีน้ำหนักกว่า โจทก์พิสูจน์การเป็นหุ้นส่วนไม่ได้
จำเลยทั้งสามยื่นคำให้การข้อ 1 โดยบรรยายว่า จำเลยทั้งสามขอให้การตัดฟ้องของโจทก์ในประเด็นข้อกฎหมายว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสาม กล่าวคือ เมื่อพิจารณาคำฟ้องของโจทก์ในข้อ 2 แล้ว โจทก์บรรยายฟ้องทำนองว่า ในปี 2548 ถึงปี 2549 โจทก์และจำเลยที่ 2 ตกลงเข้าร่วมหุ้นกันทำธุรกิจผลิตและจำหน่ายลูกชิ้นหมูปิ้งเพื่อวัตถุประสงค์จะแบ่งปันกำไรอันจะพึงได้จากกิจการที่ร่วมหุ้นกันนั้น การบรรยายฟ้องของโจทก์ดังกล่าวมีลักษณะเป็นการตกลงทำธุรกิจในรูปแบบของห้างหุ้นส่วนสามัญไม่จดทะเบียนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ แต่การที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 จดทะเบียนจัดตั้งจำเลยที่ 1 ขึ้นมาถือได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลต่างหากจากผู้เป็นหุ้นส่วนทั้งหมด ดังนั้น จะถือว่าโจทก์เป็นหุ้นส่วนในกิจการของจำเลยที่ 1 มิได้ หากโจทก์เห็นว่าจำเลยที่ 2 ในฐานะหุ้นส่วนในกิจการห้างหุ้นส่วนสามัญไม่จดทะเบียนจัดตั้งจำเลยที่ 1 เพื่อประกอบธุรกิจในลักษณะและประเภทเดียวกันหรือมีสภาพดุจเดียวกันแล้ว โจทก์มีสิทธิที่จะเรียกร้องเอาผลกำไรหรือค่าสินไหมทดแทนจากการที่จำเลยที่ 2 ประกอบกิจการค้าแข่งเท่านั้น โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องบังคับให้จำเลยทั้งสามใส่ชื่อโจทก์เข้าเป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดในห้างหุ้นส่วนจำกัดจำเลยที่ 1 คำให้การของจำเลยทั้งสามไม่มีข้อความใดยอมรับว่าโจทก์และจำเลยที่ 2 ตกลงเข้าหุ้นส่วนกันตามฟ้อง หากแต่เป็นการอ้างเนื้อความตามคำฟ้องมาเพื่อให้การต่อสู้คดีในเรื่องอำนาจฟ้องเป็นข้อแรกทำนองว่าหากเป็นดังที่โจทก์ฟ้อง โจทก์ต้องเรียกร้องผลกำไรหรือค่าสินไหมทดแทนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1038 จะฟ้องให้ใส่ชื่อโจทก์เข้าเป็นหุ้นส่วนในห้างหุ้นส่วนจำกัด จำเลยที่ 1 ไม่ได้ อีกทั้งคำให้การในข้อ 3 จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธอย่างชัดแจ้งว่า โจทก์กับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ต่างประกอบอาชีพมีธุรกิจเป็นส่วนตัวไม่ได้เป็นหุ้นส่วนกัน คดีจึงมีประเด็นข้อพิพาทว่าโจทก์และจำเลยที่ 2 ตกลงเข้าหุ้นส่วนกันตามฟ้องหรือไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7765/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การครอบครองที่ดินพิพาท: ศาลรับฟังพยานตามข้อต่อสู้ของจำเลยได้ ไม่ถือเป็นการนอกประเด็น
คำฟ้องของโจทก์ได้บรรยายไว้ชัดว่า จำเลยเข้าไปครอบครองที่ดินบางส่วนของที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ ( น.ส. 3 ) เลขที่ 313 จำนวน 20 ไร่ ของโจทก์กับพวกโดยไม่มีสิทธิ ต่อมาเมื่อโจทก์ทราบว่าหนังสือรับรองการทำประโยชน์ที่ดินพิพาทอยู่ในความครอบครองของจำเลย โจทก์จึงฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ และตามคำขอท้ายฟ้องของโจทก์ในข้อ 1 นอกจากจะขอให้จำเลยมอบหนังสือรับรองการทำประโยชน์เลขที่ 313 ให้โจทก์แล้วยังขอให้จำเลยส่งคืนทรัพย์สินแก่โจทก์ด้วย การที่จำเลยยกข้อต่อสู้ในเรื่องการได้สิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทว่ามีที่มาที่ไปเป็นอย่างใด และศาลชั้นต้นได้สืบพยานโจทก์จำเลยตามประเด็นดังกล่าว จึงเป็นการสืบพยานตามข้อต่อสู้ของรูปคดี หาใช่เป็นการสืบพยานหรือรับฟังพยานนอกฟ้องนอกประเด็นไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7078/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดต่อรถยนต์สูญหายในที่จอดรถ: ลูกจ้างผู้เช่าพื้นที่ไม่ใช่ลูกค้า - จำเลยไม่ต้องรับผิด
จำเลยที่ 1 เป็นห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่จัดให้มีบริการที่จอดรถ นอกจากจะเป็นการปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 แล้ว ยังเป็นการอำนวยความสะดวกแก่ลูกค้าที่มาซื้อสินค้าหรือใช้บริการอื่นภายในห้างสรรพสินค้าของจำเลยที่ 1 อันมีผลโดยตรงต่อยอดการจำหน่ายสินค้าหรือบริการของจำเลยที่ 1 เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ย. เป็นลูกจ้างของห้าง ฮ. ซึ่งเป็นผู้ประกอบการและผู้เช่าพื้นที่จากจำเลยที่ 1 เพื่อประกอบกิจการค้าหากำไร วันเกิดเหตุการที่ ย. นำรถยนต์เข้ามาจอดไว้ในที่จอดรถของจำเลยที่ 1 เพื่อเข้าไปทำงานประจำในห้าง ฮ. โดยไม่ปรากฏว่า ย. ได้ซื้อสินค้าหรือใช้บริการอื่นภายในห้างสรรพสินค้าของจำเลยที่ 1 จึงยังไม่อาจถือได้ว่า ย. เป็นลูกค้าของจำเลยที่ 1 แม้จะฟังว่าห้าง ฮ. เช่าพื้นที่จำหน่ายสินค้าภายในห้างสรรพสินค้าของจำเลยที่ 1 ก็ไม่ปรากฏว่ามีข้อสัญญาระหว่างห้าง ฮ. กับจำเลยที่ 1 เกี่ยวกับความรับผิดกรณีที่รถยนต์ของลูกจ้างห้าง ฮ. สูญหายเพราะถูกคนร้ายลักไป การที่คนร้ายลักรถยนต์ของ ย. คันที่โจทก์รับประกันภัยไว้ไป มิได้เกิดจากการงดเว้นการปฏิบัติหน้าที่ของจำเลยทั้งสอง อันจะถือว่าเป็นความประมาทเลินเล่อ จำเลยทั้งสองจึงไม่ต้องร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6099/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดทางละเมิดจากเหตุรถหายในลานจอดห้างสรรพสินค้า และขอบเขตความรับผิดของผู้รับประกันภัย
จำเลยประกอบธุรกิจห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ ต้องให้ความสำคัญด้านบริการ ทั้งเรื่องสินค้า ความปลอดภัยและความสะดวกสบาย เพื่อสร้างความพึงพอใจให้ลูกค้ามาใช้บริการและซื้อสินค้าอันจะส่งผลต่อรายได้ของจำเลย โดยเฉพาะการบริการเกี่ยวกับสถานที่จอดรถ ดังนั้นจำเลยย่อมมีหน้าที่ดูแลและรักษาความปลอดภัยทรัพย์สินของลูกค้าที่มาใช้บริการรวมถึงรถยนต์ของลูกค้าที่นำมาจอดบริเวณลานจอดรถด้วย แต่จำเลยมิได้จัดให้มีพนักงานรักษาความปลอดภัยเพื่อดูแลทรัพย์สินของลูกค้าและไม่มีมาตรการในการระมัดระวังมิให้คนร้ายเข้ามาลักรถยนต์ของลูกค้า คงมีเพียงกล้องวงจรปิดที่ใช้บันทึกภาพรถยนต์ที่ผ่านเข้าออกเท่านั้น การกระทำของจำเลยจึงเป็นการกระทำโดยประมาทปราศจากความระมัดระวัง จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์ จำเลยทำประกันภัยความรับผิดต่อบุคคลภายนอกกับจำเลยร่วมไว้ โดยกรมธรรม์ดังกล่าวระบุความรับผิดในเรื่องความเสียหายของผู้มาเยือนในข้อ 4.8 ว่า ความเสียหายต่อทรัพย์สินจากผลกระทบส่วนบุคคล (รวมถึงยานพาหนะและส่วนที่เกี่ยวข้อง) ครอบครองโดยกรรมการ ผู้มาเยือนและลูกจ้างของผู้เอาประกันภัย ซึ่งความเสียหายดังกล่าวหมายความรวมถึงความสูญหายด้วยตามนิยามศัพท์ข้อ 11.11 โดยจำเลยไม่ได้นำสืบหักล้างให้เห็นว่าเงื่อนไขความรับผิดส่วนแรกที่ระบุในกรมธรรม์ประกันภัยไม่ถูกต้องอย่างไร จำเลยร่วมจึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลย จำเลยร่วมเป็นเพียงผู้รับประกันภัยจากจำเลยมีความผูกผันที่จะร่วมรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความวินาศภัยอันเกิดขึ้นตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ในกรมธรรม์เท่านั้นไม่ใช่ผู้ทำละเมิดหรือต้องร่วมรับผิดกับผู้ทำละเมิดอย่างลูกหนี้ร่วม เมื่อกรมธรรม์ประกันภัยมิได้กำหนดเวลาชำระหนี้ไว้ตามวันแห่งปฏิทินและโจทก์มิได้ทวงถามให้จำเลยร่วมชำระหนี้ จึงยังถือไม่ได้ว่าจำเลยร่วมตกเป็นผู้ผิดนัดก่อนโจทก์ฟ้องคดี โดยจำเลยร่วมต้องรับผิดชดใช้ดอกเบี้ยนับแต่วันที่จำเลยขอให้หมายเรียกจำเลยร่วมเข้ามาในคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57 (3) ปัญหาเรื่องการกำหนดความรับผิดเกินกว่าความรับผิดตามกฎหมายเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนแม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5)
อนึ่ง คดีนี้จำเลยและจำเลยร่วมซึ่งเป็นคู่ความร่วมในคดีที่มีมูลความแห่งคดีเป็นการชำระหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้โดยจำเลยและจำเลยร่วมต่างยื่นอุทธรณ์และฎีกาแยกกัน ต่างเสียค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกา เมื่อรวมกันแล้วมีจำนวนสูงกว่าที่จำเลยและจำเลยร่วมจะต้องชำระในกรณียื่นอุทธรณ์และฎีการ่วมกัน กรณีจึงต้องด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 150 วรรคห้า ที่จะต้องมีคำสั่งคืนค่าขึ้นศาลส่วนที่เกินแก่จำเลยและจำเลยร่วม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4781/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดของนายจ้างต่อความเสียหายจากการขนส่งสินค้า: กรณีมีชื่อบริษัทติดรถ
แม้จำเลยจะอ้างว่ารถยนต์กระบะบรรทุกเป็นของ บ. เอง ค่าน้ำมันเชื้อเพลิง และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ บ. เป็นผู้จ่าย ทั้ง บ. ก็ไม่ได้อยู่ในบังคับบัญชาของจำเลย แต่เมื่อรถยนต์กระบะบรรทุกคันเกิดเหตุ ปรากฏชื่อบริษัทของจำเลยอยู่ข้างตัวรถ การที่จำเลยสั่งให้ บ. เข้าไปรับสินค้าโดยใช้รถยนต์กระบะบรรทุกคันดังกล่าว จำเลยจึงเป็นนายจ้างของ บ. ต้องรับผิดกับ บ. ในเหตุละเมิดที่เกิดขึ้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4338/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การร่วมกันครอบครองยาเสพติดเพื่อจำหน่าย: พฤติการณ์ร่วมเดินทางและรับรู้การกระทำผิด
พฤติการณ์ของจำเลยที่ 3 ที่ร่วมเดินทางกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไปยังจังหวัดเชียงใหม่ และพาจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไปพักค้างคืนอยู่ที่อำเภอฝางและอำเภอเชียงดาวรวมเป็นเวลาถึง 4 วัน และจำเลยที่ 1 มีพฤติการณ์ไปรับยาเสพติดของกลางจากผู้ส่งยาเสพติดทางภาคเหนือดังกล่าว แสดงถึงข้อพิรุธที่จำเลยที่ 3 ร่วมเดินทางไปกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ตลอดเวลา ทั้งยาเสพติดของกลางที่ตรวจพบในรถตู้ดังกล่าวนั้น มีจำนวนมาก จำเลยที่ 3 ย่อมสามารถสังเกตเห็นได้ง่ายเมื่อจำเลยที่ 1 ไปรับยาเสพติดของกลางมาจากผู้ส่งยาเสพติด การที่ยาเสพติดดังกล่าวซุกซ่อนอยู่บริเวณหลังเบาะของคนขับซึ่งขณะจับกุมนั้นมีจำเลยที่ 1 เป็นผู้ขับ จึงมีเหตุผลเชื่อว่าจำเลยที่ 3 ร่วมรู้เห็นและมีเจตนาร่วมกับจำเลยที่ 1 ในการเดินทางไปรับยาเสพติดของกลางจากอำเภอฝางและอำเภอแม่อาย พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมามีเหตุผลและน้ำหนักรับฟังได้โดยปราศจากความสงสัยว่า จำเลยที่ 3 ร่วมกับจำเลยที่ 1 มียาเสพติดของกลางไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำเลยที่ 3 ฐานสนับสนุนจำเลยที่ 1 มียาเสพติดของกลางไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายนั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา อย่างไรก็ตามเมื่อโจทก์มิได้ฎีกา ศาลฎีกาไม่อาจลงโทษจำเลยที่ 3 ในความผิดฐานร่วมกันมียาเสพติดของกลางไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายได้เพราะจะเป็นการเพิ่มเติมโทษจำเลยที่ 3 ซึ่งต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 212 ประกอบมาตรา 225 และ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3 แต่เห็นสมควรปรับบทลงโทษจำเลยที่ 3 ให้ถูกต้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4078/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องของผู้จัดการมรดกกรณีห้างหุ้นส่วนเสียหาย และการถอดถอนผู้ชำระบัญชีที่ไม่ปฏิบัติหน้าที่
แม้โจทก์มิได้เป็นหุ้นส่วนในห้างหุ้นส่วนจำกัด แต่โจทก์เป็นผู้จัดการมรดกของ ก. ซึ่งเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของห้างหุ้นส่วนจำกัด หากมีการกระทำไปในทางที่จะทำให้ห้างหุ้นส่วนจำกัดซึ่งเป็นนิติบุคคลเสียหาย ย่อมถือว่าโจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ก. ซึ่งเป็นหุ้นส่วนในห้างหุ้นส่วนจำกัดดังกล่าว เป็นผู้มีส่วนได้เสียและมีอำนาจฟ้องขอให้ถอดถอนจำเลยออกจากการเป็นผู้ชำระบัญชีของห้างหุ้นส่วนจำกัดและตั้งบุคคลอื่นเป็นผู้ชำระบัญชีแทนได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3412/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเพิกถอนรายการจดทะเบียนบริษัท: โจทก์ต้องเพิกถอนมติที่ประชุมก่อน จึงจะขอให้จำเลย (นายทะเบียน) เพิกถอนรายการจดทะเบียนได้
เมื่อโจทก์กล่าวอ้างว่า ล. กับพวกร่วมกันยื่นคำขอจดทะเบียนแก้ไขเปลี่ยนแปลงเพิ่มเติมจำนวนกรรมการ กรรมการผู้มีอำนาจลงลายมือชื่อผูกพันบริษัท และตราประทับของบริษัทโดยอาศัยมติที่ประชุมอันเป็นเท็จ เป็นเรื่องที่โจทก์จะต้องไปฟ้องขอเพิกถอนมติที่ประชุมดังกล่าวก่อน และหากโจทก์ชนะคดีจึงจะมีสิทธินำคำพิพากษาไปยื่นต่อจำเลยซึ่งเป็นนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทเพื่อรับจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงแก้ไข
การที่โจทก์นำคดีมาฟ้องจำเลยในฐานะนายทะเบียนให้เพิกถอนคำขอจดทะเบียนดังกล่าวเป็นคดีนี้จึงไม่ถูกต้อง จำเลยเป็นนายทะเบียนมิได้เป็นผู้จัดทำรายงานการประชุมที่โจทก์อ้างว่าเป็นเท็จ การที่จำเลยรับจดทะเบียนแก้ไขเพิ่มเติมจำนวนกรรมการ กรรมการผู้มีอำนาจลงลายมือชื่อผูกพันบริษัท และตราประทับของบริษัทก็เป็นการปฏิบัติตามหน้าที่ตามกฎหมาย และไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าจำเลยรับจดทะเบียนไว้โดยไม่ชอบ การกระทำของจำเลยจึงยังไม่เป็นการโต้แย้งสิทธิโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3184/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การสวมสิทธิเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาบางส่วน ไม่ใช่การแทนที่เจ้าหนี้เดิมทั้งหมด การขอเข้าเป็นเจ้าหนี้อีกคนหนึ่งในคดีไม่เป็นไปตามกฎหมาย
ตามคำร้องฉบับแรกผู้ร้องมีความประสงค์ขอเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแทนโจทก์เดิมทั้งหมด แต่คำร้องฉบับหลังเป็นการยื่นคำร้องเข้ามาโดยมีความประสงค์ขอเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแทนโจทก์เดิมเพียงบางส่วนคือขอเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาตามคำขอท้ายฟ้องข้อ 1 ข้อ 3 และข้อ 4 ส่วนสิทธิตามคำขอท้ายฟ้องข้อ 2 ยังเป็นของโจทก์เดิม อันหมายความได้ว่า โจทก์เดิมยังคงเป็นคู่ความในคดีหรือยังคงเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษามีสิทธิบังคับชำระหนี้ตามคำขอท้ายฟ้องข้อ 2 ได้ต่อไป คำร้องฉบับหลังของผู้ร้องดังกล่าวเป็นที่เห็นได้ชัดว่าเป็นการขอเข้ามาในลักษณะเป็นโจทก์อีกคนหนึ่งหรือเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาอีกคนหนึ่งโดยโจทก์เดิมก็ยังคงเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในคดีเช่นเดียวกัน มิใช่เป็นการเข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแทนโจทก์เดิมซึ่งมีผลทำให้โจทก์เดิมพ้นจากการเป็นคู่ความหรือพ้นจากการเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาและทำให้ผู้ร้องเข้ามาเป็นคู่ความหรือเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในคดีนี้แทนอันเป็นการเข้าสวมสิทธิตามที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.ก.บริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ.2541 มาตรา 7 แต่อย่างใด ซึ่งไม่มีกฎหมายใดอนุญาตให้ผู้ร้องเข้ามาในคดีเพื่อเป็นโจทก์อีกคนหนึ่งหรือเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาอีกคนหนึ่งในลักษณะเช่นนี้ได้ ที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ไม่อนุญาตให้แก้ไขคำสั่งให้สวมสิทธิเดิมและยังคงคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องเข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแทนโจทก์เดิม
จึงชอบแล้ว
of 21