คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
ปานนท์ กัจฉปานันท์

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 53 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5401/2562

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดทางละเมิดจากการยกลากรถยนต์ชำรุด: การร่วมรับผิดของตัวการและผู้กระทำละเมิด
โจทก์บรรยายฟ้องว่า โจทก์รับประกันภัยรถยนต์หมายเลขทะเบียน ฎต 1321 กรุงเทพมหานคร ซึ่งเกิดอุบัติเหตุชนต้นไม้และภูเขาดินได้รับความเสียหาย โจทก์มอบหมายให้จำเลยที่ 4 ตัวแทนโจทก์ โดยมีจำเลยที่ 3 เป็นผู้ออกตรวจสอบอุบัติเหตุเดินทางไปตรวจสอบสถานที่เกิดเหตุ ส่วนจำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รถยกและเป็นเจ้าของกิจการจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 3 ทำการยกรถยนต์ที่โจทก์รับประกันภัยเพื่อเข้าไปจัดซ่อมที่อู่ทันเซอร์วิสในทางการที่จ้างวานมอบหมายหรือมีผลประโยชน์ร่วมกันของจำเลยทั้งสี่ ด้วยความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 3 เป็นเหตุให้รถยนต์ที่โจทก์รับประกันภัยพลิกคว่ำได้รับความเสียหายเพิ่มเติมอีก โดยจำเลยที่ 1 และที่ 2 ขอรับผิดชอบในส่วนความเสียหายที่เกิดขึ้น แต่ขอให้โจทก์จัดซ่อมไปก่อน แล้วจำเลยที่ 1 และที่ 2 จะขอชดใช้ในภายหลัง โจทก์ทำการซ่อมแซมรถยนต์ดังกล่าวแล้ว รวมเป็นเงิน 165,451.34 บาท และรับช่วงสิทธิมาเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสี่ โดยแนบสำเนาแบบแจ้งอุบัติเหตุรถยนต์ รายงานอุบัติเหตุรถยนต์และใบรับรองความเสียหายของรถยนต์ที่เกิดอุบัติเหตุซึ่งจำเลยที่ 3 จัดทำขึ้น ภาพถ่ายรถยนต์ที่ได้รับความเสียหาย ภาพถ่ายรถยนต์ขณะทำการซ่อมแซม สำเนาใบสั่งอะไหล่และใบเสร็จรับเงินค่าซ่อมแซม เป็นต้น คำฟ้องของโจทก์ได้บรรยายโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหา คำขอบังคับและข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาแล้วว่า เหตุละเมิดเกิดจากความประมาทของจำเลยที่ 3 ทำให้รถยนต์ที่โจทก์รับประกันไว้ได้รับความเสียหาย ส่วนรถยนต์ที่โจทก์รับประกันภัยไว้ได้รับความเสียหายในส่วนไหน อย่างไร เป็นรายละเอียดที่โจทก์อาจนำสืบได้ในชั้นพิจารณา ทั้งจำเลยที่ 2 ก็ให้การว่า ความเสียหายที่เกิดขึ้นภายหลังมีเพียงตัวถังบุบครูดเพิ่มเติมเล็กน้อย ไม่มีความเสียหายในระบบเกียร์ ระบบขับเคลื่อนหรือโครงสร้างของรถยนต์แม้แต่น้อย แสดงว่าจำเลยที่ 2 เข้าใจคำฟ้องของโจทก์และสามารถต่อสู้คดีได้ ฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2351/2562

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การพิพากษาคดีจำเลยในความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดและการลักลอบนำสิ่งของต้องห้ามเข้าเรือนจำ โดยศาลฎีกาเห็นว่าพยานหลักฐานไม่เพียงพอ
คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ฐานร่วมกันพยายามจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน และฐานร่วมกันนำสิ่งของต้องห้ามเข้ามาในเรือนจำ ศาลชั้นต้นรับฟังว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้อง ศาลอุทธรณ์แผนกคดียาเสพติดคงรับฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้องเช่นกัน แต่กรณีที่มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้กระทงละหนึ่งในสาม จำเลยฎีกาโดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา กรณีถือว่าฎีกาของจำเลยได้รับอนุญาตให้ฎีกาเฉพาะความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดเท่านั้น แต่อย่างไรก็ดี เมื่อศาลฎีการับฟังข้อเท็จจริงใหม่ว่า จำเลยมิได้กระทำความผิดฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย และฐานร่วมกันพยายามจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนแล้ว สำหรับความผิดฐานร่วมกันนำสิ่งของต้องห้ามเข้ามาในเรือนจำซึ่งมิใช่เป็นความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ซึ่งศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุก 1 ปี และศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ให้จำคุก 8 เดือน อันเป็นการแก้ไขเล็กน้อย และความผิดฐานนี้ต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 ก็ตาม แต่เนื่องจากเป็นข้อเท็จจริงอันเดียวเกี่ยวพันกัน เมื่อศาลฎีกาเห็นว่าจำเลยมิได้กระทำผิดจึงให้ยกฟ้องปล่อยจำเลยไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 215, 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2108/2562

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ จำเลยมีส่วนเกี่ยวข้องกับยาเสพติดหรือไม่? ศาลฎีกาพิจารณาพยานหลักฐานและใช้กฎหมายที่ให้คุณแก่จำเลย
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 3 ตาม พ.ร.บ.วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2518 มาตรา 62 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดและมีบทกำหนดโทษตามมาตรา 106 ทวิ ระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงสี่แสนบาท ต่อมาในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกาได้มี พ.ร.บ.วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2559 ออกใช้บังคับ และให้ยกเลิก พ.ร.บ.วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2518 แต่ พ.ร.บ.วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2559 มาตรา 4, 16 วรรคหนึ่ง, 88 วรรคสาม ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ภายหลังการกระทำความผิดคงบัญญัติให้การกระทำความผิดตามฟ้องเป็นความผิดอยู่ โดยมีกำหนดโทษตามมาตรา 118 ระวางโทษจำคุกตั้งแต่สี่ปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่สี่แสนบาทถึงสองล้านบาท โทษจำคุกตาม พ.ร.บ.วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2559 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ภายหลังการกระทำความผิดจึงเป็นคุณแก่จำเลยที่ 3 มากกว่า พ.ร.บ.วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ.2518 จึงต้องใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณแก่ผู้กระทำความผิด ไม่ว่าในทางใด ตาม ป.อ. มาตรา 3

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8929/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การพิพากษาคดีจำหน่ายยาเสพติด: ข้อหาเกินคำฟ้อง และการให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่
การที่จำเลยถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมได้พร้อมเมทแอมเฟตามีนของกลางจำนวนหนึ่งที่บริเวณลานจอดรถ และนำไปตรวจค้นยึดได้ที่ในห้องพักอีกจำนวนหนึ่งเป็นการที่เจ้าพนักงานตำรวจไปตรวจค้นที่พักพบของกลางตามปกติในทางปฏิบัติเกี่ยวกับการกระทำความผิดลักษณะนี้อยู่แล้ว ไม่ถือว่าเป็นการให้ข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษในอันที่จะให้ลงโทษจำเลยน้อยกว่าอัตราโทษขั้นต่ำที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 100/2 ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8623/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การให้สินบนเจ้าพนักงานเพื่อช่วยเหลือผู้กระทำผิดยาเสพติด: ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาและกฎหมายพิเศษ
การร่วมกระทำความผิดในลักษณะตัวการตาม ป.อ. มาตรา 83 จะต้องเป็นการร่วมกระทำความผิดด้วยกันซึ่งต้องพิจารณาทั้งในส่วนการกระทำและเจตนาของผู้ที่ร่วมกระทำ หมายถึงต้องร่วมกระทำผิดด้วยกันและกระทำโดยเจตนาร่วมกัน ทั้งทุกคนที่กระทำจะต้องรู้ถึงการกระทำของกันและกันและต่างประสงค์ถือเอาการกระทำของแต่ละคนเป็นการกระทำของตนด้วย ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 2 และที่ 3 เท่านั้นที่เป็นผู้เสนอเงินสินบนให้แก่เจ้าพนักงานตำรวจเพื่อให้ปล่อยตัวจำเลยที่ 2 และที่ 3 กับพวก โดยจำเลยที่ 1 มิได้เป็นผู้ร่วมเสนอเงินสินบนให้แก่เจ้าพนักงานตำรวจ จำเลยที่ 1 เพิ่งจะเข้ามาเกี่ยวข้องโดยเป็นผู้นำเงินสินบนมามอบให้แก่เจ้าพนักงานตำรวจเท่านั้น การกระทำของจำเลยที่ 1 ยังถือไม่ได้ว่าเป็นการร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ในลักษณะของตัวการ และความผิดตาม ป.อ. มาตรา 144 นั้นเป็นความผิดสำเร็จตั้งแต่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้หรือขอให้เงินสินบนแก่เจ้าพนักงานตำรวจแล้ว การที่จำเลยที่ 1 นำเงินสินบนมามอบให้แก่เจ้าพนักงานตำรวจในภายหลังจึงไม่เป็นผู้สนับสนุนในการกระทำความผิดของจำเลยที่ 2 และที่ 3 เพราะการเป็นผู้สนับสนุนตาม ป.อ. มาตรา 86 จะต้องเป็นการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกในการที่ผู้อื่นกระทำความผิดก่อนหรือขณะกระทำความผิดเท่านั้น แต่อย่างไรก็ตามจำเลยที่ 1 เป็นผู้นำเงินสินบนมามอบให้แก่เจ้าพนักงานตำรวจเพื่อจูงใจให้เจ้าพนักงานตำรวจกระทำการอันมิชอบด้วยหน้าที่ด้วยการปล่อยตัวจำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้พ้นจากการจับกุม เป็นกรณีที่จำเลยที่ 1 กระทำความผิดแยกได้ต่างหากจากการกระทำความผิดของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงที่ต่างไปจากคำฟ้องที่ว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ร่วมกันให้สินบนแก่เจ้าพนักงานก็ตาม แต่ก็เป็นข้อเท็จจริงที่รับฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 กระทำผิดฐานให้สินบนแก่เจ้าพนักงานแล้ว เพราะในการกระทำนั้นไม่ว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 จะร่วมกันกระทำหรือต่างกระทำความผิดเพียงลำพัง จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 แต่ละคนก็ย่อมถูกลงโทษ เป็นแต่จะลงโทษได้เต็มคำขอของโจทก์หรือไม่เท่านั้น ข้อเท็จจริงตามคำฟ้องที่แตกต่างจากข้อเท็จจริงในทางพิจารณาดังกล่าวมิใช่ข้อสาระสำคัญ และจำเลยที่ 1 มิได้หลงต่อสู้ ศาลย่อมรับฟังลงโทษจำเลยที่ 1 ได้ตามข้อเท็จจริงที่ได้ความในทางพิจารณานั้น ตามนัยแห่ง ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสอง
พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 6 วรรคหนึ่ง ได้บัญญัติไว้ว่า "ในความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ผู้ใดกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ต้องระวางโทษเช่นเดียวกับตัวการในความผิดนั้น... (3) จัดหาหรือให้เงินหรือทรัพย์สิน ที่ประชุม ที่พำนัก หรือที่ซ่อนเร้นเพื่อช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกแก่ผู้กระทำความผิด หรือเพื่อช่วยให้ผู้กระทำความผิดพ้นจากการถูกจับกุม" และมาตรา 6 วรรคสอง บัญญัติต่อไปว่า "ผู้ใดจัดหาหรือให้เงินหรือทรัพย์สิน ที่พำนักหรือที่ซ่อนเร้นเพื่อช่วยบิดา มารดา บุตร สามี หรือภริยาของตนให้พ้นจากการถูกจับกุม ศาลจะไม่ลงโทษผู้นั้นหรือลงโทษผู้นั้นน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้" แสดงให้เห็นว่าบทบัญญัติดังกล่าวเป็นบทบัญญัติที่ต้องการลงโทษผู้ที่จัดหาหรือให้เงินหรือทรัพย์สินหรือที่ประชุมหรือที่พำนักหรือที่ซ่อนเร้นแก่ผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดโดยตรง โดยผู้กระทำความผิดตามมาตรานี้ต้องมีเจตนาพิเศษเพื่อช่วยเหลือหรือให้ความสะดวก หรือเพื่อช่วยให้ผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดพ้นจากการถูกจับกุม การจัดหาหรือให้เงินตามมาตรา 6 วรรคหนึ่ง (3) นี้จะต้องเป็นการจัดหาหรือให้เงินแก่ผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดเท่านั้น และหากเป็นการจัดหาหรือให้เงินแก่ผู้กระทำความผิดซึ่งเป็นบิดา มารดา บุตร สามี หรือภริยาของตนเพื่อช่วยให้พ้นจากการถูกจับกุม ศาลก็มีอำนาจที่จะไม่ลงโทษผู้นั้นหรือจะลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดเพียงใดก็ได้ เมื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดหาหรือให้เงินสินบนแก่เจ้าพนักงานตำรวจ เพื่อให้ปล่อยตัวจำเลยที่ 2 และที่ 3 กับพวกจากการถูกจับกุม มิใช่เป็นการจัดหาหรือให้เงินแก่ผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงไม่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 6 วรรคหนึ่ง (3)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8257/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องคดีฉ้อโกง: ผู้เสียหายโดยนิตินัยมีสิทธิร้องทุกข์และอัยการมีอำนาจฟ้องได้ แม้ไม่มีส่วนร่วมในการกระทำความผิด
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกง ตาม ป.อ. มาตรา 341 (เดิม), 83 โดยโจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยกับพวกร่วมกันหลอกลวงผู้เสียหายให้ร่วมลงทุนเป็นเจ้ามือการพนันเมล็ดฟักทองกับจำเลยและพวกเพื่อหลอกเอาเงินจาก ป. ซึ่งเป็นพวกของจำเลย ผู้เสียหายหลงเชื่อจึงนำเงิน 5,330,000 บาท และสร้อยคอทองคำหนัก 6 บาท พร้อมพระเครื่องหลวงพ่อโสธรเลี่ยมทอง 1 องค์ ราคา 300,000 บาท มาร่วมลงทุน โดยจำเลยกับพวกไม่มีเจตนาที่จะเล่นการพนัน ไม่มีเจตนาที่จะชักชวนผู้เสียหายให้ร่วมลงทุนเป็นเจ้ามือการพนันและไม่ได้ร่วมกันเล่นการพนันดังกล่าว แต่จำเลยกับพวกมีเจตนาหลอกเอาเงินและทรัพย์สินจากผู้เสียหายมาแต่ต้น โดยใช้วิธีการวางแผนเป็นกระบวนการโดยแบ่งหน้าที่กันทำเพื่อให้ผู้เสียหายร่วมลงทุนเป็นเจ้ามือการพนัน และให้ ป. เป็นผู้เล่นเพื่อหลอกเอาเงินและทรัพย์สินจากผู้เสียหายให้แนบเนียน ทั้งที่ผู้เสียหายไม่มีเจตนาที่จะร่วมเล่นการพนันกับพวกจำเลยมาแต่ต้น การที่ผู้เสียหายมอบเงินและทรัพย์สินให้แก่จำเลยกับพวกเพื่อเล่นการพนันเป็นการตกหลุมพรางที่วางไว้ ถือไม่ได้ว่าผู้เสียหายร่วมเล่นการพนันกับพวกจำเลยโดยไม่ได้รับอนุญาต ทั้งถือไม่ได้ว่าผู้เสียหายมีส่วนร่วมในการกระทำความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงอันจะเป็นการร่วมกับจำเลยกระทำความผิด ผู้เสียหายจึงเป็นผู้เสียหายโดยนิตินัยมีอำนาจร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนในความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกง และพนักงานอัยการโจทก์มีอำนาจฟ้องคดีนี้ได้
เนื่องจากความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกง ตาม ป.อ. มาตรา 341 (เดิม), 83 มีอัตราโทษจำคุกไม่เกินสามปีหรือปรับไม่เกิน 6,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และคดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง คู่ความจึงอาจต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง เมื่อศาลอุทธรณ์ยังมิได้วินิจฉัยข้อเท็จจริงตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่าจำเลยร่วมกับพวกกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ จึงเห็นสมควรให้ย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ในปัญหาดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8195/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การจำหน่ายที่ดินพิพาทหลังคำพิพากษาถึงที่สุด: สิทธิในการจำหน่ายเป็นไปตามคำพิพากษาเดิม แม้กระทบสิทธิทายาท
คดีแรก จ.สามี น. ฟ้องเรียกทรัพย์สินรวมทั้งที่ดินพิพาทคืนจาก ส. กับพวกซึ่งเป็นตัวแทน คดีมีคำพิพากษาถึงที่สุดชั้นอุทธรณ์พิพากษาให้จำหน่ายทรัพย์สินเกี่ยวกับที่ดินพิพาทที่ จ. ได้มาระหว่างเป็นคนต่างด้าวไปตาม ป.ที่ดิน มาตรา 94 และ 96 โดยให้ จ. ได้รับเงินจากการจำหน่ายที่ดินแทนการได้กรรมสิทธิ์ หากไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนา อันเป็นการพิพากษากล่าวถึงการปฏิบัติชำระหนี้ตามคำพิพากษาเกี่ยวกับการคืนทรัพย์สินในกรณีเป็นที่ดินแก่คนต่างด้าวที่ได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายด้วยการบังคับให้จัดการจำหน่ายแทนการได้กรรมสิทธิ์ตามประมวลกฎหมายที่ดิน เมื่อที่ดินพิพาทได้มาในระหว่างที่ จ. เป็นคนต่างด้าว และได้ความในชั้นพิจารณาว่า น. ได้สัญชาติไทยหลัง จ. แสดงว่าในระหว่างที่ได้ที่ดินพิพาทมานั้น น. ก็เป็นคนต่างด้าวเช่นเดียวกับ จ. สามี ดังนั้นสิทธิของ น. ในที่ดินพิพาทในฐานะเจ้าของรวมที่ตกทอดแก่ทายาทก็คือเงินที่ได้จากการจำหน่ายที่ดินพิพาท หาใช่กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทดังที่โจทก์กล่าวอ้าง ฉะนั้น คดีที่สองที่ ส. เป็นโจทก์ฟ้องพี่น้องห้าคนเป็นจำเลย ขอให้บังคับพี่น้องทั้งห้าแบ่งทรัพย์มรดกส่วนของที่ดินพิพาทในส่วนของ น. มารดาให้แก่ ส. 1 ใน 7 ส่วน และคดีถึงที่สุดในชั้นฎีกาพิพากษาให้แบ่งทรัพย์มรดกส่วนของที่ดินพิพาทในส่วนของ น. ให้แก่ ส. 1 ใน 7 ส่วน นั้น เป็นการพิพากษาบังคับให้ปฏิบัติการชำระหนี้ในการแบ่งทรัพย์มรดกเกี่ยวกับที่ดินพิพาทในส่วนของ น. ซึ่งก็ย่อมต้องหมายถึงเงินที่ได้จากการจำหน่ายที่ดินพิพาทนั่นเอง ทั้งประเด็นแห่งคดีตามคำฟ้องทั้งสองคดีก็แตกต่างกัน ไม่ถือเป็นการปฏิบัติชำระหนี้อันแบ่งแยกจากกันไม่ได้ คำพิพากษาหาได้ขัดกันไม่
การที่ทายาทหรือผู้จัดการมรดกของ ส. ผู้มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทคนหนึ่งที่ถูกฟ้องในคดีแรก ไม่ยอมปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาล จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกตามคำสั่งศาลของ ว. ผู้มีชื่อถือกรรมสิทธิ์อีกคนในที่ดินพิพาท และจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้เข้าเป็นคู่ความแทน จ. เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในคดีแรก ย่อมมีสิทธิถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาดำเนินการจำหน่ายที่ดินพิพาทตามคำพิพากษาของศาลได้โดยชอบ ดังนั้น การที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันทำสัญญาขายหรือจำหน่ายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 3 และจำเลยที่ 3 นำไปจดทะเบียนจำนองแก่จำเลยที่ 4 ย่อมชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ไม่อาจฟ้องให้เพิกถอนได้
คำฟ้องโจทก์ที่ขอให้เพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายและการจำนองที่ดินพิพาท เป็นการเรียกร้องให้ได้ที่ดินพิพาทคืนทั้งสามแปลง ไม่ใช่เฉพาะส่วนของโจทก์ ย่อมเป็นคดีมีทุนทรัพย์เต็มตามราคาที่ดินพิพาท มิใช่ตามส่วนที่โจทก์มีสิทธิในที่ดินพิพาท

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6893/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อพิพาทสัญญาจ้างทำความสะอาด: การเปลี่ยนแปลงสัญญา, ค่าเสียหายจากการบอกเลิก, และการประเมินความเสียหาย
สัญญาว่าจ้างบริการทำความสะอาดอาคารและสถานที่ กำหนดว่า การจะเปลี่ยนแปลง แก้ไขหรือเพิ่มเติมข้อความในสัญญา โดยเฉพาะอัตราค่าบริการ คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายจะต้องตกลงกันเป็นหนังสือลงลายมือชื่อทั้งสองฝ่ายและแนบท้ายสัญญาไว้ด้วย ต้องถือว่าอัตราค่าบริการเป็นสาระสำคัญของสัญญา เพราะโจทก์เข้ามาทำงานรับจ้างทำความสะอาดอาคารและสถานที่ให้จำเลย ก็หวังจะได้ค่าบริการจากจำเลยเป็นการตอบแทนนั่นเอง การที่โจทก์มีหนังสือขอปรับขึ้นค่าบริการ ไปถึง จ. ฝ่ายจัดซื้อจัดจ้าง และ ภ. ฝ่ายแม่บ้าน ซึ่งเป็นพนักงานของจำเลย บุคคลทั้งสองไม่มีอำนาจตกลงเปลี่ยนแปลงข้อสัญญากับโจทก์ได้ โดยเฉพาะเรื่องสำคัญอย่างการปรับขึ้นค่าบริการ การตกลงที่สำคัญเช่นนี้โจทก์ต้องมีหนังสือไปถึงกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลย เมื่อกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยไม่ได้ตกลงกับโจทก์ ไม่ได้มีการทำข้อตกลงเป็นหนังสือลงลายมือชื่อคู่สัญญาทั้งสองฝ่าย ตามที่กำหนดไว้ในสัญญา หนังสือปรับขึ้นค่าบริการของโจทก์จึงยังไม่ผูกพันให้จำเลยต้องรับผิดในอัตราค่าบริการใหม่ที่โจทก์กำหนดขึ้นเอง แม้หลังจากที่พนักงานของจำเลยได้รับหนังสือขอปรับขึ้นค่าบริการแล้วจะยังมีการจัดซื้อจัดจ้างโจทก์ก็ตาม ก็ยังไม่ถือว่าจำเลยได้ตกลงยินยอมให้โจทก์ปรับขึ้นค่าบริการแล้ว จึงไม่มีผลให้โจทก์สามารถคิดค่าบริการจากจำเลยในอัตราใหม่ได้ เพราะพนักงานดังกล่าวไม่ใช่ผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลย ทั้งโจทก์ยอมรับว่า จำเลยยังไม่เคยจ่ายเงินค่าบริการในอัตราที่โจทก์กำหนดขึ้นใหม่ให้แก่โจทก์แต่อย่างใด เท่ากับว่าจำเลยยังไม่ได้ตกลงด้วยกับโจทก์ในการปรับเปลี่ยนอัตราค่าบริการใหม่ โจทก์ย่อมไม่อาจคิดค่าบริการจากจำเลยในอัตราใหม่ได้ และเนื่องจากระหว่างพิจารณา จำเลยได้จ่ายเงินค่าจ้างหรือค่าบริการที่ค้างชำระให้จนโจทก์ไม่ติดใจเรียกร้องค่าจ้างในอัตราเดิมจากจำเลยอีกต่อไปแล้ว และค่าจ้างหรือค่าบริการในอัตราใหม่ก็ไม่ผูกพันจำเลยให้ต้องรับผิดต่อโจทก์ โจทก์จึงไม่อาจเรียกค่าจ้างหรือค่าบริการค้างจ่ายจากจำเลยได้อีก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6418/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับคดียาเสพติด: ผู้เช่าซื้อก่อนโอนกรรมสิทธิ์ไม่มีสิทธิขอคืน
ตาม พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 29 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "บรรดาทรัพย์สินซึ่งพนักงานอัยการได้ยื่นคำร้องต่อศาลตามมาตรา 27 วรรคหนึ่งนั้น ให้ศาลไต่สวน หากคดีมีมูลว่าเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ให้ศาลสั่งริบทรัพย์สินนั้น เว้นแต่บุคคลซึ่งอ้างว่าเป็นเจ้าของทรัพย์สินได้ยื่นคำร้องขอคืนก่อนคดีถึงที่สุดและแสดงให้ศาลเห็นว่า (1) ตนเป็นเจ้าของที่แท้จริง และทรัพย์สินนั้นไม่ได้เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด..." ดังนี้ เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ขณะยื่นคำคัดค้านผู้คัดค้านที่ 3 เป็นเพียงผู้เช่าซื้อโดยยังผ่อนชำระค่าเช่าซื้อไม่ครบถ้วน กรรมสิทธิ์ในรถยนต์ยังเป็นของผู้ให้เช่าซื้อ ผู้คัดค้านที่ 3 จึงมิใช่เป็นเจ้าของรถยนต์ดังกล่าวในอันที่จะใช้สิทธิร้องขอคืนได้ แม้ต่อมาเมื่อวันที่ 12 มกราคม 2559 ผู้คัดค้านที่ 3 ได้ชำระค่าเช่าซื้อจนครบถ้วนและรับโอนกรรมสิทธิ์ในรถยนต์ดังกล่าวมา ก็ไม่ทำให้ผู้คัดค้านที่ 3 กลับเป็นผู้มีสิทธิยื่นคำคัดค้านขึ้นมาได้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้คืนรถยนต์ดังกล่าวแก่ผู้คัดค้านที่ 3 ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของผู้ร้องฟังขึ้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 841/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การพิสูจน์สิทธิในทรัพย์มรดก: โจทก์มีภาระการพิสูจน์ว่าที่ดินเป็นทรัพย์มรดก หากไม่มีหลักฐานเพียงพอ ศาลย่อมยกประโยชน์ให้จำเลยผู้ถือกรรมสิทธิ์
จำเลยเป็นผู้มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาททั้งสี่แปลงตามโฉนดที่ดินอันเป็นเอกสารมหาชน ย่อมได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานตาม ป.พ.พ. มาตรา 1373 ว่าเป็นผู้มีสิทธิครอบครอง โจทก์กล่าวอ้างว่าจำเลยเป็นผู้มีชื่อในโฉนดที่ดินเพราะเป็นผู้รักษาทรัพย์มรดกไว้แทนโจทก์ โจทก์จึงมีภาระการพิสูจน์นำสืบหักล้างข้อสันนิษฐานของกฎหมายดังกล่าว
of 6