คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.วิ.พ. ม. 248 วรรคสอง

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 4 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5649/2537 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฎีกาต้องห้าม: ข้อเท็จจริงใหม่ & ประเด็นที่ไม่ได้อุทธรณ์ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
อาคารพิพาทที่โจทก์ฟ้องขับไล่แม้โจทก์จะอ้างว่าให้เช่าได้เดือนละ 25,000 บาท แต่ศาลชั้นต้นเห็นว่าแม้อาคารพิพาทจะอยู่ในทำเลการค้าแต่ก็เป็นอาคารที่ก่อสร้างมานาน จึงกำหนดค่าเสียหายให้เพียงเดือนละ 10,000 บาทโจทก์มิได้อุทธรณ์ จึงถือได้ว่าอาคารพิพาทอาจให้เช่าได้ในขณะยื่นคำฟ้องไม่เกินเดือนละ 10,000 บาท ต้องห้ามมิให้ฎีกาในข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ.มาตรา 248วรรคสอง คดีนี้ศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่ดินและอาคารพิพาทให้ขับไล่จำเลยและบริวารออกจากอาคารพิพาท และให้ชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เดือนละ 10,000 บาท จำเลยฎีกาว่า โจทก์ไม่ใช่เจ้าของที่ดินและอาคารพิพาทค่าเช่าเดือนละ 10,000 บาท สูงเกินไปเพราะเป็นตึกเก่าอย่างมากคิดได้เดือนละ5,000 บาท จึงเป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์เป็นฎีกาในข้อเท็จจริงจึงต้องห้ามตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
ที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยมีสิทธิอยู่ในอาคารพิพาทเพราะมีสัญญาต่างตอบแทนยิ่งกว่าสัญญาเช่าธรรมดาซึ่งพอแปลได้ว่าโจทก์ยังไม่มีสิทธิฟ้องขับไล่จำเลยนั้น ในประเด็นดังกล่าวจำเลยมิได้ยกขึ้นอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้นเป็นแต่ขอให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาตามคำฟ้องแย้งของจำเลย ซึ่งคำฟ้องแย้งของจำเลยศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับและศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ฎีกาของจำเลยในประเด็นข้อนี้จึงเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ต้องห้ามฎีกาตาม ป.วิ.พ.มาตรา 249 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ที่จำเลยฎีกาว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง เพราะคำเบิกความของโจทก์ไม่น่าเชื่อถือ โจทก์ไม่สามารถพิสูจน์ประเด็นอำนาจฟ้องให้ชัดแจ้งได้นั้นก็เป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ จึงเป็นฎีกาในข้อเท็จจริง
ปรากฏจากคำฟ้องว่าโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินและอาคารพิพาทตั้งอยู่ที่ถนนเยาวราช แขวงสัมพันธวงศ์ เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพ-มหานคร จำเลยเช่าอาคารพิพาทเลขที่ 424 จากเจ้าของกรรมสิทธิ์เดิมโดยไม่มีสัญญาเช่าและกำหนดเวลาเช่า จำเลยยื่นคำให้การว่าเช่าที่ดินพิพาทอยู่จริงและมีสัญญาต่างตอบแทนยิ่งกว่าสัญญาเช่าธรรมดามีกำหนดระยะเวลา 30 ปีโจทก์ได้รับโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินและอาคารพิพาทมาจึงต้องรับสิทธิและหน้าที่ที่จะต้องให้จำเลยเช่าอยู่ในอาคารจนครบกำหนดเวลาดังกล่าว แสดงว่าจำเลยเข้าใจดีว่าอาคารพิพาทตั้งอยู่ส่วนใดของที่ดินพิพาทและสามารถต่อสู้คดีได้ถูกต้องฟ้องโจทก์จึงได้แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาและข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาพอที่จำเลยจะเข้าใจข้อหาของโจทก์ได้แล้วตาม ป.วิ.พ.มาตรา 172วรรค 2 ฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5323/2537 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การฟ้องขับไล่และการพิพาทเรื่องที่ดิน: อำนาจฟ้องและการวินิจฉัยข้อเท็จจริงเรื่องสาธารณสมบัติ
โจทก์ฟ้องบังคับให้จำเลยทั้งสองรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างทั้งหมดที่จำเลยทั้งสองบุกรุกเข้าไปปลูกในที่ดินพิพาทของโจทก์และเรียกค่าเสียหาย เป็นคดีฟ้องขับไล่บุคคลใด ๆ ออกจากอสังหาริมทรัพย์โดยไม่ปรากฏว่าขณะยื่นฟ้องอาจให้เช่าได้เกินเดือนละ 10,000 บาท จึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคสอง
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ฟังว่า ที่ดินพิพาทโจทก์มีสิทธิครอบครองโดยซื้อมาจาก ป.และ ค. เท่ากับศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัยในข้อเท็จจริงว่าที่ดินพิพาทมิใช่สาธารณสมบัติของแผ่นดิน ที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่า ที่ดินพิพาทเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน และโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องนั้น จึงต้องวินิจฉัยข้อเท็จจริงเสียก่อนว่า ที่ดินพิพาทเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินหรือไม่ ฎีกาของจำเลยทั้งสองจึงเป็นฎีกาคัดค้านคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 2 ในปัญหาข้อเท็จจริงว่า ที่ดินพิพาทเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินหรือไม่ เพื่อนำไปสู่ข้อกฎหมายว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3525/2537 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบรรยายฟ้องเรื่องตัวแทนเชิดและการพิพากษาคดีนอกเหนือจากประเด็นที่ได้ยกขึ้นในฟ้อง
โจทก์มิได้บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เชิดตัวเองออกเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 2 และที่ 3 หรือจำเลยที่ 2 และที่ 3 เชิดจำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 2 และที่ 3 แต่อย่างใด และที่โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยทั้งสามยินยอมแสดงออกยอมรับให้จำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการกิจการเข้าหุ้นส่วนกันนั้น ก็มีความหมายเพียงว่า จำเลยที่ 1 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของห้างหุ้นส่วนสามัญที่จำเลยทั้งสามเข้าหุ้นส่วนกันนั้นเท่านั้น มิได้หมายความว่า จำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 2และที่ 3 อีกด้วย คดีจึงไม่มีประเด็นว่า จำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนเชิดของจำเลยที่ 2และที่ 3 หรือไม่ ดังนั้น เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยทั้งสามมิได้ตกลงเข้าเป็นหุ้นส่วนกันตามฟ้อง แต่จำเลยที่ 1 ทำสัญญาจะขายที่ดินและตึกแถวพิพาทให้แก่โจทก์โดยได้รับชำระราคาที่ดินและตึกแถวพิพาทนั้นจากโจทก์ครบถ้วนแล้ว จะพิพากษาว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 เชิดจำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนของตน ขายที่ดินและตึกแถวพิพาทให้แก่โจทก์ และพิพากษาให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกับจำเลยที่ 1 โอนที่ดินและตึกแถวพิพาทให้แก่โจทก์ในฐานะที่จำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนเชิดของจำเลยที่ 2 และที่ 3ไม่ได้ เป็นการต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142
ฟ้องแย้งของจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นฟ้องขับไล่โจทก์ออกจากอสังหาริมทรัพย์อันมีค่าเช่าหรืออาจให้เช่าได้ในขณะยื่นคำฟ้องไม่เกินเดือนละหนึ่งหมื่นบาท ต้องห้ามมิให้ฎีกาในข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 248 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1524/2537 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อจำกัดการฎีกา: ประเด็นข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่มิได้ยกขึ้นในศาลอุทธรณ์
การโต้เถียงเรื่องวันเวลาในการเข้าแย่งการครอบครองที่พิพาทว่าเมื่อใดเป็นการโต้เถียงข้อเท็จจริง คดีนี้เป็นคดีฟ้องขับไล่จำเลยออกจากอสังหาริมทรัพย์ อันอาจให้เช่าได้ในขณะที่ยื่นคำฟ้องเดือนละไม่เกิน 10,000 บาทต้องห้ามฎีกาในข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 248 วรรคสอง
ปัญหาข้อกฎหมายซึ่งเกิดขึ้นตั้งแต่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาจำเลยสามารถยกปัญหาข้อกฎหมายนั้นขึ้นอุทธรณ์ได้ แต่จำเลยหาได้ยกขึ้นกล่าวอ้างในอุทธรณ์ของจำเลยไม่ จึงเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาล-อุทธรณ์ ต้องห้ามฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคแรก