คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.วิ.พ. ม. 225 วรรคสอง

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 3 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5485/2537 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบอกล้างสัญญาให้ระหว่างสมรสและผลกระทบต่อทายาท
การที่จำเลยอ้างอิงพินัยกรรมแนบท้ายคำร้องเพื่อสืบเป็นพยานในชั้นอุทธรณ์ โดยมิได้ระบุไว้ในบัญชีระบุพยาน เป็นการฝ่าฝืน ป.วิ.พ. มาตรา88 จึงรับฟังไม่ได้ และกรณีไม่ใช่เรื่องที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนหรือที่จำเลยไม่สามารถยกปัญหาข้อกฎหมายใด ๆ ขึ้นกล่าวอ้างในศาลชั้นต้นเพราะพฤติการณ์ไม่เปิดช่องให้กระทำได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคสอง ศาลอุทธรณ์จะมีคำสั่งหรือไม่ก็ไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนไป ฎีกาของจำเลยที่ว่าศาลอุทธรณ์ไม่สั่งคำร้องจึงไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัย
จำเลยให้การว่าโจทก์ไม่เคยทำสัญญายกที่ดินตามฟ้องให้จำเลยมิได้ให้การต่อสู้ว่าสัญญาให้ของโจทก์เป็นนิติกรรมอำพรางสัญญาแบ่งทรัพย์สินระหว่างสามีภริยา และการที่โจทก์ตอบทนายจำเลยถามค้านว่า จำเลยได้โอนหุ้นบริษัท บ.รถยนต์ พันธบัตรรัฐบาลและให้เงินสดแก่โจทก์ แล้วโจทก์โอนที่ดินให้จำเลยเป็นการอำพรางสัญญาแบ่งทรัพย์สินระหว่างสามีภริยานั้น เป็นเพียงการรับว่าจำเลยเคยให้ทรัพย์สินแก่โจทก์ เป็นการตอบข้อเท็จจริงนอกประเด็น ฎีกาจำเลยที่ว่า สัญญาให้ระหว่างโจทก์จำเลยเป็นนิติกรรมอำพรางโดยนิติกรรมที่แท้จริงคือสัญญาแบ่งทรัพย์สินระหว่างสามีภริยา จึงมิใช่เรื่องที่ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
โจทก์เป็นผู้ยกที่ดินให้จำเลยผู้เป็นภริยาระหว่างสมรส โจทก์มีสิทธิบอกล้างสัญญาระหว่างสมรสในเวลาใดก็ได้ระหว่างที่เป็นสามีภริยากันอยู่ โจทก์มีหนังสือบอกล้างไปถึงจำเลยเป็นการบอกล้างโดยชอบตาม ป.พ.พ. มาตรา 1469 ที่ได้ตรวจชำระใหม่ พ.ศ.2519 ซึ่งใช้บังคับในขณะนั้นแล้ว
แม้สิทธิบอกล้างจะเป็นสิทธิเฉพาะตัว แต่เมื่อมีการบอกล้างโดยชอบก่อนที่โจทก์จะถึงแก่กรรมแล้วจึงไม่เป็นสิทธิเฉพาะตัวอีกต่อไปและย่อมตกทอดไปยังทายาทของโจทก์ด้วย ทายาทของโจทก์จึงเข้าเป็นคู่ความแทนได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2574/2537 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การอุทธรณ์ข้อเท็จจริงในคดีที่ทุนทรัพย์น้อยกว่า 50,000 บาท และข้อจำกัดการเสียค่าขึ้นศาล
คู่ความพิพาทกันเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ในที่ดินว่าเป็นของผู้ร้องหรือผู้คัดค้าน หาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนไม่
อุทธรณ์ของผู้คัดค้านที่ว่า พยานผู้ร้องล้วนเป็นเครือญาติกับผู้ร้อง มีการซักซ้อมกันมาเบิกความ ชี้ให้เห็นว่าศาลชั้นต้นรับฟังพยานหลักฐานฝ่าฝืนข้อเท็จจริงตามที่คู่ความนำสืบมาเป็นการไม่ชอบด้วยกระบวนพิจารณา อุทธรณ์ดังกล่าวเป็นอุทธรณ์โต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลชั้นต้น จึงเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง เมื่อทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์มีราคาไม่เกิน50,000 บาท คดีจึงต้องห้ามอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง
ผู้คัดค้านฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ที่ให้ยกอุทธรณ์ของผู้คัดค้าน โดยขอให้ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิจารณาแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดีจึงเป็นคดีไม่มีทุนทรัพย์ ต้องเสียค่าขึ้นศาล 200 บาท ตามตาราง 1ข้อ 2 ก. ท้าย ป.วิ.พ.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1647/2537 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การยกปัญหาการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำในชั้นอุทธรณ์ & สิทธิในการอ้างข้อกฎหมายที่ไม่สามารถยกในชั้นต้นได้
โจทก์เพิ่งยกปัญหาเรื่องการดำเนินการกระบวนพิจารณาซ้ำขึ้นกล่าวในชั้นอุทธรณ์เนื่องจากโจทก์ไม่สามารถยกปัญหาดังกล่าวขึ้นอ้างในศาลชั้นต้นได้ เพราะศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องของผู้ร้องโดยมิได้ส่งสำเนาคำร้องให้โจทก์ได้มีโอกาสคัดค้านตั้งประเด็นเรื่องการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำจึงเป็นกรณีที่ถือได้ว่าโจทก์ไม่สามารถยกปัญหาข้อกฎหมายนี้ขึ้นกล่าวในศาลชั้นต้นเพราะพฤติการณ์ไม่เปิดช่องให้กระทำได้ โจทก์ย่อมมีสิทธิที่จะยกปัญหาข้อกฎหมายนี้ขึ้นในชั้นอุทธรณ์ได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคสอง
ในคดีเดิมผู้ร้องกล่าวอ้างว่า ผู้ร้องทำสัญญาต่างตอบแทนกับบ.หรือโจทก์ ซึ่งศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาแล้วว่าไม่มีสัญญาต่างตอบแทนระหว่างผู้ร้องกับโจทก์หรือระหว่างผู้ร้องกับ บ. การที่ผู้ร้องกล่าวอ้างในคดีนี้ว่ามีสัญญาต่างตอบแทนระหว่างผู้ร้องกับ บ. ขึ้นมาอีก จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 144