คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.พ.พ. ม. 169 เดิม

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 14 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1996/2538 เวอร์ชัน 3 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความคดีภาษีโรงเรือน, การบังคับสิทธิเรียกร้อง, และขอบเขตคำฟ้อง
เมื่อไม่มีบทบัญญัติใน พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากรและไม่มีข้อกำหนดคดีภาษีอากรเกี่ยวกับเรื่องคำฟ้องไว้ จึงต้องนำบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ. มาตรา 172 วรรคสอง มาใช้บังคับโดยอนุโลมตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 17
ฟ้องของโจทก์ได้แสดงรายละเอียดจำนวนหนี้ค่าภาษีโรงเรือนที่ว.เจ้าของโรงเรือนคนเก่าค้างชำระในปีใด จำนวนเท่าใด จำเลยทั้งหกต้องรับผิดร่วมด้วยเพราะเหตุใด กับขอให้บังคับจำเลยทั้งหกชำระเงินจำนวนเท่าใดไว้ครบถ้วนถูกต้องสมบูรณ์ตามกฎหมายแล้ว แม้โจทก์จะเคยมีหนังสือทวงถามจำเลยทั้งหกโดยกล่าวอ้างว่า ว.ค้างชำระค่าภาษีโรงเรือนปี พ.ศ.2521 ถึง พ.ศ.2524 เป็นเงินรวม 61,545 บาท ซึ่งไม่ตรงกับจำนวนตามคำฟ้องก็เป็นข้อเท็จจริงนอกคำฟ้องมิใช่ข้ออ้างแห่งข้อหาหรือสภาพแห่งข้อหาในคำฟ้องของโจทก์ ไม่เป็นเหตุที่จะทำให้คำฟ้องที่สมบูรณ์ของโจทก์กลับกลายเป็นคำฟ้องที่เคลือบคลุมไปได้
มาตรา 45 แห่ง พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475ที่บัญญัติให้เจ้าของคนเก่าและคนใหม่เป็นลูกหนี้ค่าภาษีค้างร่วมกันนั้น เป็นบทบัญญัติพิเศษที่ให้รัฐสามารถติดตามเอาชำระค่าภาษีค้างให้ได้ไม่ว่ากรรมสิทธิ์แห่งทรัพย์สินนั้นจะได้โอนไปเป็นของผู้ใด และโดยที่หนี้ค่าภาษีค้างเป็นหนี้ที่มีอยู่ก่อนเจ้าของคนใหม่รับโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์นั้น สิทธิเรียกร้องในหนี้ค่าภาษีค้างจึงอาจบังคับได้ตั้งแต่เจ้าของคนเก่าแล้ว ดังนั้น การนับกำหนดอายุความจึงต้องเริ่มนับแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องแก่เจ้าของคนเก่าได้ คือนับแต่วันพ้นกำหนด 90 วัน ที่ได้รับแจ้งรายการประเมิน ตาม พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 มาตรา 38เดิม ซึ่งใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2535 ว.เจ้าของคนเก่าได้รับแจ้งรายการประเมินภาษีโรงเรือนปี พ.ศ.2515 ถึงพ.ศ.2519 ในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2520 ส่วนภาษีโรงเรือนปี พ.ศ.2520ได้รับแจ้งรายการประเมินเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2520 และภาษีโรงเรือนปี พ.ศ.2521 ถึง พ.ศ.2524 ได้รับแจ้งรายการประเมินเมื่อวันที่ 30มิถุนายน 2524 นับตั้งแต่วันครบกำหนด 90 วัน ที่ได้รับแจ้งรายการประเมินถึงวันฟ้องพ้นกำหนด 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 167 (เดิม) คดีโจทก์เกี่ยวกับหนี้ค่าภาษีค้างประจำปี พ.ศ.2515 ถึง พ.ศ.2524 จึงขาดอายุความส่วนภาษีโรงเรือนปี พ.ศ.2525 ว.ได้รับแจ้งรายการประเมินเมื่อวันที่ 21ตุลาคม 2525 และภาษีโรงเรือนปี พ.ศ.2526 ได้รับแจ้งรายการประเมินเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2526 นับตั้งแต่วันครบกำหนด 90 วัน ที่ได้รับแจ้งรายการประเมินถึงวันฟ้องยังไม่พ้นกำหนดเวลา 10 ปี คดีโจทก์ในส่วนนี้จึงไม่ขาดอายุความ
คดีนี้โจทก์มิได้ฟ้อง ว.หรือทายาทและมีคำขอให้ ว.หรือทายาทร่วมรับผิดกับจำเลยทั้งหกแต่อย่างใด ที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้ ว.และทายาทร่วมชำระเงินแก่โจทก์ด้วย จึงเป็นการพิพากษาเกินไปกว่าคำฟ้อง ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 142 ประกอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 17 แม้ปัญหานี้จำเลยทั้งหกไม่มีสิทธิอุทธรณ์เพราะไม่กระทบถึงสิทธิของจำเลยทั้งหกแต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนศาลฎีกาย่อมมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2002/2537 เวอร์ชัน 3 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความภาษีอากร: ศุลกากร vs. ภาษีทั่วไป, นับจากวันชำระเงินไม่ใช่คดีอาญา
อายุความในการเรียกค่าภาษีอากรตาม พ.ร.บ. ศุลกากรพ.ศ.2469 เป็นเรื่องอายุความเฉพาะกรณีที่กรมศุลกากรเรียกเงินอากรขาดเพราะเหตุตาม มาตรา 10 วรรคสาม แต่กรณีที่จำเลยเจตนาหลีกเลี่ยงค่าภาษี-อากร ซึ่ง พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 มิได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะ ต้องใช้อายุ-ความทั่วไปเกี่ยวกับการเรียกค่าภาษีอากร ตาม ป.พ.พ. มาตรา 167 เดิม คือสิบปี นับเริ่มแต่ขณะที่อาจบังคับตามสิทธิเรียกร้องได้ ป.พ.พ. มาตรา 169 เดิม
ค่าภาษีการค้าและค่าภาษีบำรุงเทศบาลซึ่งเป็นภาษีการค้าด้วยนั้น ประมวลรัษฎากร มิได้บัญญัติเรื่องอายุความไว้โดยเฉพาะ ต้องบังคับตามป.พ.พ. มาตรา 167 เดิม และ 169 เดิม มีอายุความสิบปี นับเริ่มแต่ขณะที่อาจบังคับตามสิทธิเรียกร้องได้ จำเลยชำระค่าภาษีและวางเงินประกันค่าภาษีวันที่ 24 ธันวาคม 2518 อายุความจึงเริ่มนับแต่วันนี้เป็นต้นไป ตามประมวล-รัษฎากร มาตรา 78 เบญจ (1) และประกาศกระทรวงการคลังว่าด้วยภาษี-การค้า (ฉบับที่ 7)
การกระทำผิดในทางอาญา หาได้ก่อให้เกิดหนี้ค่าภาษีอากรในทางแพ่งในขณะเดียวกับการกระทำผิดทางอาญาโดยตรงไม่ แต่หนี้เกิดเพราะการนำเข้าสำเร็จและกฎหมายให้ถือว่าได้ขายสินค้านั้น ๆ คดีนี้จึงมิใช่คดีแพ่งเกี่ยวเนื่องคดีอาญา อายุความสิบปีนับแต่วันที่ 24 ธันวาคม 2518 หาใช่นับแต่คดีอาญาถึงที่สุดไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 97/2537

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความคดีซื้อขายที่ดิน เริ่มนับเมื่อใดเมื่อมีข้อตกลงผ่อนชำระโดยไม่มีกำหนดเวลาโอน
ในเรื่องซื้อขายที่ดินกฎหมายมิได้กำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะจึงมีอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164 เดิมการที่โจทก์ชำระเงินให้จำเลยบางส่วนในวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2518แล้วโจทก์จำเลยตกลงกันว่าส่วนที่เหลือจะชำระในวันโอน โดยมิได้กำหนดเวลาวันโอนไว้นั้น ถือได้ว่าเป็นข้อตกลงที่ไม่มีกำหนดระยะเวลาซึ่งโจทก์อาจบังคับใช้สิทธิเรียกร้องได้นับแต่วันที่4 กุมภาพันธ์ 2518 เป็นต้นไป อันเป็นวันเริ่มนับอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 169 เดิม เมื่อนับถึงวันฟ้องเกิน10 ปี คดีโจทก์จึงขาดอายุความ
of 2