คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
ประมวล สุขสมพร

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 27 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2354/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเพิ่มกระทงความผิดและแก้ไขโทษของศาลอุทธรณ์ ทำให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงต้องห้ามตามกฎหมาย
คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 335 (11) ลดโทษแล้วคงจำคุก 1 ปี ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป จำคุกกระทงละ 1 ปี รวม 5 กระทง เป็นจำคุก 5 ปี ลดโทษกระทงละกึ่งหนึ่งคงจำคุก 30 เดือน เป็นการแก้ไขเล็กน้อย และยังคงจำคุกกระทงละไม่เกิน 5 ปี จึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคแรก ที่จำเลยฎีกาขอให้ลงโทษสถานเบาหรือรอการลงโทษ เป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการกำหนดโทษและดุลพินิจในการลงโทษของศาลอุทธรณ์ภาค 3 จึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามฎีกาตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1046/2562

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ค่าธรรมเนียมบังคับคดี: การคิดค่าธรรมเนียมยึดทรัพย์สินต้องไม่เกินส่วนแบ่งที่โจทก์มีสิทธิได้รับ
การกระทำของโจทก์ที่ขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินมรดกของ น. เพื่อนำออกขายทอดตลาดนำเงินมาแบ่งกันโดยมิได้มีการขอแบ่งทรัพย์มรดกของ น. จากจำเลยทั้งห้าก่อน ซึ่งไม่เป็นไปตามลำดับขั้นตอนที่ระบุไว้ในคำพิพากษา ต่อมาศาลฎีกาได้มีคำพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ให้เพิกถอนการยึดอันเป็นความผิดของโจทก์เอง ดังนั้น โจทก์ซึ่งเป็นผู้ขอบังคับคดี จึงต้องเป็นผู้ชำระค่าธรรมเนียมยึดทรัพย์สินซึ่งไม่ใช่ตัวเงินแล้วไม่มีการขายหรือจำหน่ายในอัตราร้อยละ 3.5 ของราคาทรัพย์สินที่ยึดตาม ป.วิ.พ. มาตรา 149 วรรคหนึ่ง, 153 วรรคสอง, 153/1 และตาราง 5 ข้อ 3 ท้าย ป.วิ.พ. (เดิม) บทบัญญัติดังกล่าวไม่ได้ระบุว่าผู้ที่นำยึดจะต้องเป็นเจ้าหนี้หรือลูกหนี้ตามคำพิพากษาต่อกันแต่อย่างใด ประกอบกับเมื่อโจทก์เป็นฝ่ายชนะคดีย่อมเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาชอบที่จะร้องขอให้บังคับคดีตามคำพิพากษาของศาลได้ หากจำเลยทั้งห้าเป็นฝ่ายแพ้คดี (ลูกหนี้ตามคำพิพากษา) มิได้ปฏิบัติตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลทั้งหมดหรือบางส่วน เพียงแต่คดีนี้ศาลได้กำหนดในคำพิพากษาไว้แล้วถึงวิธีการแบ่งทรัพย์มรดกระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งห้าโดยให้ตกลงแบ่งทรัพย์มรดกกันก่อน เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าโจทก์กับจำเลยทั้งห้ายังมิได้แบ่งทรัพย์มรดกกัน แต่โจทก์กลับขอให้บังคับคดียึดที่ดินมรดกออกขายทอดตลาดนำเงินมาแบ่งกันข้ามขั้นตอนตามที่ระบุไว้ในคำพิพากษา การที่โจทก์ขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินมรดก จึงเกิดจากการกระทำของโจทก์เอง เมื่อศาลมีคำสั่งให้เพิกถอนการยึด โจทก์จึงต้องมีหน้าที่ชำระค่าธรรมเนียมเจ้าพนักงานบังคับคดีกรณียึดทรัพย์สินแล้วไม่มีการขายหรือจำหน่าย คำสั่งของศาลชั้นต้นและคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ที่ให้โจทก์ชำระค่าธรรมเนียมยึดแล้วไม่มีการขายหรือจำหน่ายจึงชอบแล้ว
เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลฎีกาแล้วว่า โจทก์นำยึดที่ดินมรดกโดยยังมิได้ตกลงแบ่งกันในระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งห้าอันเป็นการบังคับคดีไม่เป็นไปตามลำดับขั้นตอนตามคำพิพากษาจนศาลฎีกาพิพากษาให้เพิกถอนการยึดที่ดิน ซึ่งโจทก์มีหน้าที่ชำระค่าธรรมเนียมกรณียึดทรัพย์สินแล้วไม่มีการขายหรือจำหน่าย อย่างไรก็ตาม การคิดค่าธรรมเนียมของเจ้าพนักงานบังคับคดีตามตาราง 5 ข้อ 3 ท้าย ป.วิ.พ. (เดิม) ระบุว่า เมื่อยึดทรัพย์สินซึ่งไม่ใช่ตัวเงินแล้วไม่มีการขายหรือจำหน่ายให้เสียค่าธรรมเนียมร้อยละ 3 ครึ่งของราคาทรัพย์สินที่ยึดนั้น เหตุผลที่บัญญัติเช่นนี้เพราะโดยปกติผลของการไปยึดทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาจะได้มูลค่าทรัพย์สินน้อยกว่าจำนวนหนี้ที่จะต้องรับผิดในการบังคับคดี กฎหมายจึงบัญญัติให้คิดค่าธรรมเนียมตามราคาทรัพย์สินที่ยึดได้ ซึ่งจะเสียค่าธรรมเนียมน้อยกว่าจำนวนหนี้ที่จะต้องรับผิดในการบังคับคดี แต่กฎหมายมิได้คำนึงถึงกรณีที่เจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาแล้ว หากได้มูลค่าทรัพย์สินเกินกว่าจำนวนหนี้ที่จะต้องรับผิดในการบังคับคดีจะให้ปฏิบัติในเรื่องการเสียค่าธรรมเนียมดังกล่าวเป็นประการใดและคงไม่ประสงค์จะให้เสียค่าธรรมเนียมมากกว่าจำนวนหนี้ที่จะต้องรับผิดในการบังคับคดี มิฉะนั้นจะเป็นการเสียค่าธรรมเนียมเกินกว่าที่พิพาทกันในคดีซึ่งย่อมไม่ถูกต้อง ฉะนั้น กรณีที่ยึดทรัพย์สินซึ่งไม่ใช่ตัวเงินแล้วไม่มีการขายหรือจำหน่าย การเสียค่าธรรมเนียมร้อยละ 3 ครึ่งของราคาทรัพย์สินที่ยึดนั้น คำว่า ราคาทรัพย์สินที่ยึดตามบทบัญญัติดังกล่าวจึงหมายถึงราคาทรัพย์สินที่ยึดซึ่งไม่เกินจำนวนหนี้ที่จะต้องรับผิดในการบังคับคดี ประกอบกับไม่ปรากฏพฤติการณ์แห่งคดีว่าโจทก์นำยึดที่ดินมรดกเกินกว่าที่จำเป็นแก่การบังคับคดีตามสิทธิที่โจทก์ได้รับดังกล่าว ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้โจทก์ชำระค่าธรรมเนียมในอัตราร้อยละ 3.5 ของราคาทรัพย์สินที่ยึดทั้งหมดนั้น จึงไม่ถูกต้อง และไม่เป็นธรรมแก่โจทก์ ศาลฎีกาจึงเห็นสมควรให้คิดค่าธรรมเนียมในอัตราร้อยละ 3.5 ของราคาทรัพย์สินที่ยึด แต่ไม่เกินจำนวนส่วนแบ่งที่โจทก์มีสิทธิได้รับในทรัพย์สินที่ยึด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5263/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่มิชอบฝ่าฝืนระเบียบจัดซื้อเพื่ออนุมัติเอง แม้มีเหตุสมควรแต่ยังคงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157
แม้การกระทำของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนายกองค์การบริหารส่วนตำบลสระแก้วไม่ใช้การซื้อหรือการจ้างโดยวิธีพิเศษตามที่ได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมสภาองค์การบริหารส่วนตำบลสระแก้ว เพราะยังไม่ได้รับประกาศภัยพิบัติจากจังหวัดนครสวรรค์ อันไม่เข้าเงื่อนไขการซื้อหรือการจ้างโดยวิธีพิเศษตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการพัสดุขององค์การบริหารส่วนตำบล (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2544 ข้อ 17 (2) ต้องการซื้อหรือการจ้างโดยวิธีสอบราคาตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการพัสดุขององค์การบริหารส่วนตำบล (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2544 ข้อ 14 ตามที่จำเลยที่ 2 เสนอต่อจำเลยที่ 1 ซึ่งจะมีผลให้ใช้เวลาในการซื้อหรือการจ้างนานขึ้น จำเลยที่ 1 จึงไม่เห็นชอบให้ใช้การซื้อหรือการจ้างโดยวิธีสอบราคาตามที่จำเลยที่ 2 โต้แย้ง กลับสั่งการให้ใช้การซื้อหรือการจ้างโดยวิธีตกลงราคาตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการพัสดุขององค์การบริหารส่วนตำบล (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2544 ข้อ 13 เพื่อจำเลยที่ 1 จะได้มีอำนาจอนุมัติการซื้อการจ้างนั้นได้ทันที ทำให้ต้องแบ่งการซื้อผ้าห่มนวมออกเป็นสองครั้ง ครั้งละ 500 ผืน เป็นเงินครั้งละ 100,000 บาท เท่ากับจำเลยที่ 1 จงใจกระทำการอันเป็นการฝ่าฝืนต่อระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการพัสดุขององค์การบริหารส่วนตำบล (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2544 ข้อ 16 วรรคสอง ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบแล้ว แต่พยานหลักฐานของโจทก์กลับไม่ปรากฏว่า การกระทำของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวเป็นไปเพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่นอย่างใด จึงรับฟังไม่ได้ว่าเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต อย่างไรก็ดี การกระทำของจำเลยที่ 1 จงใจฝ่าฝืนต่อระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการพัสดุขององค์การบริหารส่วนตำบล (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2544 ดังกล่าวย่อมมีผลกระทบกระเทือนและก่อให้เกิดความเสียหายแก่การบริหารราชการแผ่นดินอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จึงเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด และเข้าองค์ประกอบความผิดตาม ป.อ. มาตรา 157 อยู่ดี ส่วนการทำฎีกาเบิกเงินนอกงบประมาณรายจ่ายและเอกสารประกอบครั้งที่ 2 เป็นการปฏิบัติตามหน้าที่รับรองเป็นหลักฐานซึ่งข้อเท็จจริงอันเอกสารนั้นมุ่งพิสูจน์ความจริงอันเป็นเท็จ อันเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 162 (4) หรือไม่นั้น เห็นว่า แม้ข้อเท็จจริงจะรับฟังได้ตามที่โจทก์อ้างก็ตาม การทำฎีกาเบิกเงินนอกงบประมาณรายจ่ายครั้งที่ 2 ก็เป็นเพียงการทำไว้ล่วงหน้าอันเป็นเรื่องปกติธรรมดาของการจัดทำฎีกาเบิกเงินโดยทั่วไปเท่านั้น เมื่อมีการเบิกจ่ายเงินกันจริงหาได้ไม่มีการเบิกจ่ายเงินกันตามนั้นอันเป็นความเท็จไม่ ดังนั้น แม้อาจเป็นไปเพื่อให้เป็นหลักฐานอ้างอิงว่ามีการจัดซื้อผ้าห่มนวมตามวันเวลาเกิดเหตุซึ่งไม่ตรงกับความเป็นจริงไปบ้างก็หาได้เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 162 (4) ไม่ ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 กระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 157 เท่านั้น สำหรับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 นั้นเป็นเจ้าพนักงานและเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาที่มีหน้าที่ความรับผิดชอบต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายและระเบียบของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชา แม้มีการแบ่งการซื้อหรือการจ้างออกเป็นสองครั้ง แต่การซื้อหรือการจ้างโดยวิธีตกลงราคาในแต่ละครั้งก็เป็นไปโดยชอบด้วยระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการพัสดุขององค์การบริหารส่วนตำบล (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2544 ข้อ 13 คำสั่งของจำเลยที่ 1 ในส่วนนี้จึงเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายและระเบียบที่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ต้องถือปฏิบัติตาม ทั้งพยานหลักฐานของโจทก์ก็ไม่ปรากฏว่าการแบ่งการซื้อหรือการจ้างออกเป็นสองครั้งดังกล่าวเกิดจากจำเลยอื่นเป็นผู้เสนอต่อจำเลยที่ 1 แต่กลับปรากฏตามเอกสารหมาย จ.41 ว่าเป็นการสั่งการของจำเลยที่ 1 เอง โดยจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำของจำเลยที่ 1 ในส่วนนี้แต่อย่างใด การกระทำของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 จึงเป็นการขาดเจตนาเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดและไม่เป็นความผิดตามฟ้อง อย่างไรก็ตาม ข้อเท็จจริงตามทางนำสืบของโจทก์เองรับฟังได้ว่าทางจังหวัดนครสวรรค์ประกาศให้พื้นที่เกิดเหตุเป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติหนาวในวันที่ 14 มกราคม 2552 อันเข้าเงื่อนไขที่จะดำเนินการซื้อหรือการจ้างโดยวิธีพิเศษให้เป็นไปตามมติของที่ประชุมสภาองค์การบริหารส่วนตำบลสระแก้วได้ แต่ก็เป็นวันเดียวกับที่ได้ดำเนินการซื้อหรือการจ้างโดยวิธีตกลงราคาไปแล้ว อันแสดงว่ามีภัยพิบัติภัยหนาวเกิดขึ้นที่มีความจำเป็นต้องดำเนินการแก้ไขอย่างเร่งด่วนจริงการกระทำของจำเลยที่ 1 ที่มุ่งบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนอย่างเร่งด่วนเป็นสำคัญ แม้เป็นการผิดกฎหมาย แต่ก็มีเหตุสมควรที่จะลงโทษจำเลยที่ 1 แต่เพียงสถานเบา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2164/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การลดโทษทางอาญา: ลดโทษแต่ละกระทงก่อนแล้วจึงรวมโทษ เพื่อประโยชน์แก่จำเลยตามหลักกฎหมาย
เมื่อการกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ศาลชั้นต้นต้องลดโทษแต่ละกระทงก่อนแล้วจึงรวมโทษ เพราะ ป.อ. มาตรา 21 วรรคสอง บัญญัติว่า "หากกำหนดโทษจำคุกเป็นเดือน ให้นับสามสิบวันเป็นหนึ่งเดือน..." การกำหนดโทษ 12 เดือน จึงเท่ากับ 360 วัน แต่หากรวมโทษทุกกระทงเป็นจำคุก 2 ปี แล้วจึงลดโทษให้จำเลยกึ่งหนึ่งตาม ป.อ. มาตรา 78 คงจำคุก 1 ปี ย่อมเป็นผลร้ายแก่จำเลยมากกว่า
(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 5/2561)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4586/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การปฏิเสธความรับผิดของผู้ถือหุ้นในบริษัทจำเลยร่วม ศาลต้องพิจารณาเหตุแห่งการปฏิเสธอย่างชัดเจน
แม้ตามคำฟ้องของโจทก์จะเป็นเรื่องที่โจทก์ใช้สิทธิเรียกร้องของบริษัทจำเลยร่วมซึ่งเป็นลูกหนี้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 233 แต่ปัญหาว่าจำเลยจะต้องรับผิดต่อโจทก์ตามที่ฟ้องหรือไม่ มิได้พิจารณาแต่เพียงว่าโจทก์เป็นเจ้าหนี้ของบริษัทจำเลยร่วมซึ่งเพิกเฉยไม่ใช้สิทธิเรียกร้องที่ตนมีอยู่หรือไม่เท่านั้น แต่ยังมีประเด็นปัญหาที่ต้องพิจารณาว่าจำเลยเป็นลูกหนี้ของบริษัทจำเลยร่วมหรือไม่ เพียงใด นอกจากนี้ศาลยังต้องพิจารณาให้ได้ความว่า บริษัทจำเลยร่วมขัดขืนไม่ยอมใช้สิทธิเรียกร้องหรือเพิกเฉยไม่ใช้สิทธิเรียกร้องเอาจากจำเลยจนเป็นเหตุให้โจทก์ต้องเสียประโยชน์หรือไม่อีกด้วย จำเลยให้การว่าจำเลยไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใด ๆ ในบริษัทจำเลยร่วม และไม่ได้เป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทจำเลยร่วมโดยอ้างเหตุแห่งการปฏิเสธ คำให้การของจำเลยจึงเป็นการปฏิเสธข้ออ้างของโจทก์โดยชัดแจ้งรวมทั้งเหตุแห่งการปฏิเสธว่าจำเลยไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 177 วรรคสอง แล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2654/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การถอนฟ้องคดีอาญาโดยผลจากการตกลงในคดีแพ่ง ศาลอนุญาตได้หากเป็นการแสดงเจตนาชัดเจนและจำเลยไม่คัดค้าน
ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 35 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "คำร้องขอถอนฟ้องคดีอาญาจะยื่นเวลาใดก่อนมีคำพิพากษาของศาลชั้นต้นก็ได้ ศาลจะมีคำสั่งอนุญาตหรือมิอนุญาตให้ถอนก็ได้ แล้วแต่ศาลจะเห็นสมควรประการใด..." เท่ากับให้เป็นดุลพินิจของศาลที่จะกำหนดให้ถอนฟ้องด้วยวิธีใดแล้วแต่ศาลจะเห็นสมควร คดีนี้ศาลชั้นต้นเห็นว่า โจทก์ได้แสดงเจตนาขอถอนฟ้องไว้เป็นหนังสือแล้ว โดยไม่ได้สั่งให้โจทก์ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องเข้ามาอีก และมีการบันทึกไว้ตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้น จึงถือเป็นดุลพินิจที่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 35 วรรคหนึ่ง แล้ว
โจทก์และจำเลยตกลงท้ากันในคดีแพ่งของศาลชั้นต้น ว่าหากจำเลยคดีนี้ยอมไปสาบานตนด้วยถ้อยคำที่ตกลงกันถือว่าโจทก์คดีนี้แพ้ โจทก์ยินยอมถอนฎีกาและยินยอมจ่ายเงินจำนวน 175,000 บาท แก่จำเลย และขอแสดงเจตนาถอนฟ้องคดีอาญาที่ได้ฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ ส่วนจำเลยขอไม่ติดใจบังคับคดีตามคำพิพากษา หากจำเลยคดีนี้ไม่ไปสาบานตน จำเลยขอยอมรับข้อเท็จจริงตามคำให้การในคดีแพ่งและขอให้ศาลฎีกาพิพากษาต่อไป ทั้งขอถือเป็นการแสดงเจตนาถอนฟ้องและถอนอุทธรณ์ในคดีอาญาที่ได้ฟ้องโจทก์เป็นจำเลย แต่โจทก์คดีนี้ต้องนำเงินจำนวน 175,000 บาท มาวางศาลภายในวันที่ 3 เมษายน 2558 เมื่อปรากฏว่าโจทก์มิได้นำเงินจำนวน 175,000 บาท มาวางศาล โจทก์จึงแพ้คดีตามคำท้า อันมีผลเท่ากับโจทก์แสดงเจตนาถอนฟ้องคดีนี้ตามคำท้า การขอถอนฟ้องคดีนี้แม้จะเป็นผลประการหนึ่งอันสืบเนื่องมาจากข้อตกลงหรือการท้ากันในคดีแพ่งก็ตาม ก็หาได้ถือว่าเป็นการท้ากันในคดีอาญานี้ไม่ ดังนั้น เมื่อเป็นการขอถอนฟ้องก่อนมีคำพิพากษาของศาลชั้นต้น จำเลยไม่คัดค้านการถอนฟ้อง และศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ถอนฟ้อง กับจำหน่ายคดีออกจากสารบบความ จึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1860/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องคดีส่งมอบซากสินค้าหลังมีคำชี้ขาดอนุญาโตตุลาการในส่วนค่าสินไหมทดแทน
อนุญาโตตุลาการชี้ขาดให้โจทก์ชำระค่าสินไหมทดแทนในส่วนของสินค้าที่เสียหายให้แก่จำเลย ยังไม่ได้วินิจฉัยเรื่องซากสินค้าที่เสียหายเพราะไม่มีข้อพิพาท คดีจึงไม่อยู่ในบังคับตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 โจทก์จึงไม่ถูกจำกัดสิทธิที่จะเสนอคดีนี้ต่อศาลตามพระราชบัญญัติดังกล่าว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยให้ส่งมอบซากสินค้าได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 94/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การพรากเด็กเพื่อการอนาจาร ต้องพิจารณาผลกระทบต่ออำนาจปกครอง และเจตนาการกระทำ
การกระทำที่เป็นการพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแลนั้นต้องมีลักษณะเป็นการพาไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครองหรือผู้ดูแลที่มีผลกระทบกระเทือนหรือรบกวนต่ออำนาจปกครองหรือสิทธิในลักษณะเดียวกับสิทธิของผู้ใช้อำนาจปกครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1567 ได้แก่ กำหนดที่อยู่ของเด็ก ทำโทษเด็กตามสมควรเพื่อว่ากล่าวสั่งสอน ให้เด็กทำการงานตามสมควรแก่ความสามารถ เรียกเด็กคืนจากบุคคลอื่นซึ่งกักเด็กไว้โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือกระทบกระเทือนหรือรบกวนต่อหน้าที่ในการอุปการะเลี้ยงดูและให้การศึกษาแก่เด็กตามมาตรา 1567 เป็นต้น ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ผู้เสียหายที่ 1 ไปที่บ้านของจำเลย เป็นเพราะ ม. ชักชวนไป โดยจำเลยไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องด้วย แม้เหตุคดีนี้จะเกิดขึ้นภายในบ้านของจำเลย ก็ถือไม่ได้ว่าจำเลยกระทำการอันเป็นการพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากผู้เสียหายที่ 2 หรือมีการกระทำอันเป็นการกระทบกระเทือนหรือรบกวนต่ออำนาจปกครองหรือสิทธิหน้าที่ตามกฎหมายของผู้เสียหายที่ 2 ดังกล่าว ที่โจทก์อ้างว่า จำเลยกระทำความผิดก็ด้วยเรื่องที่ชวนผู้เสียหายที่ 1 เข้าไปในห้องนอนของตนเพื่อการอนาจารนั้น ก็ต้องแยกเจตนาและการกระทำออกเป็นสองส่วน ได้แก่ จำเลยชวนผู้เสียหายที่ 1 เข้าไปในห้องนอนส่วนหนึ่ง และจำเลยกระทำไปเพื่อการอนาจารอีกส่วนหนึ่ง โดยต้องพิจารณาเสียก่อนว่าจะชวนเข้าไปในห้องนอนดังกล่าวเป็นความผิดตามมาตรา 317 วรรคแรกหรือไม่ แล้วจึงจะพิจารณาต่อไปได้ว่าจำเลยกระทำไปเพื่อการอนาจารที่มีผลให้ต้องรับโทษหนักขึ้นตามมาตรา 317 วรรคสามหรือไม่ ความผิดตามมาตรา 317 วรรคแรกเพียงเป็นการพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปโดยปราศจากเหตุอันสมควรหรือความยินยอมของบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแล ย่อมเป็นความผิดสำเร็จได้ในตัวเอง หาจำต้องเป็นการกระทำเพื่อหากำไรหรือเพื่อการอนาจารอันเป็นอีกองค์ประกอบหนึ่งของความผิดตามมาตรา 317 วรรคสามประกอบด้วยไม่ กล่าวคือ แม้ไม่มีการกระทำอันเป็นความผิดตามมาตรา 317 วรรคสาม ก็มีความผิดตามมาตรา 317 วรรคแรกได้โดยสมบูรณ์ จึงจะนำเรื่องเป็นการกระทำเพื่อการอนาจารตามมาตรา 317 วรรคสาม ย้อนกลับมาถือเป็นเหตุให้การกระทำนั้นปราศจากเหตุอันสมควรหรือต้องได้รับความยินยอมจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแลตามมาตรา 317 วรรคแรกหาได้ไม่ กรณีเห็นได้ชัดแจ้งอยู่แล้วว่าเพียงการชวนให้บุคคลใดเข้าไปในห้องนอนของตนเท่านั้น เมื่อไม่เอาองค์ประกอบความผิดตามมาตรา 317 วรรคสาม ที่ว่าเป็นไปเพื่อการอนาจารมาพิจารณาประกอบด้วย ก็ย่อมถือไม่ได้อยู่เองว่าการกระทำเช่นนั้นเป็นไปโดยปราศจากเหตุอันสมควร กลับกันเป็นว่าผู้เสียหายที่ 1 เข้าไปโดยไม่ถือว่าปราศจากเหตุอันสมควรอีกต่างหาก ในกรณีผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งมีอายุ 14 ปีแล้วจะเข้าไปหรือไม่ ย่อมมีอิสระตัดสินใจได้เองตามสมควร มิฉะนั้นจะกลายเป็นว่าไม่ว่าผู้ใดชวนผู้เสียหายที่ 1 ไปที่ใดหรือเข้าไปภายในหรือบริเวณใดของบ้านหรือสถานที่ธรรมดาทั่วไป ก็ต้องขอหรือกลับไปขอความยินยอมจากผู้เสียหายที่ 2 ทุกครั้งไป ซึ่งขัดต่อสภาพความเป็นจริงอย่างเห็นได้ชัด ข้อเท็จจริงข้างต้นจึงรับฟังไม่ได้ว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามมาตรา 317 วรรคแรก เมื่อการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดตามมาตรา 317 วรรคแรกเสียแล้ว ย่อมไม่ต้องพิจารณาว่าเป็นการกระทำเพื่อการอนาจารอันจะเป็นความผิดตามมาตรา 317 วรรคสามหรือไม่อีกต่อไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8180/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดร่วม ละเมิด-สัญญาซื้อขาย: โจทก์ชำระหนี้แทนจำเลย แล้วรับช่วงสิทธิไล่เบี้ยได้เพียงครึ่งหนึ่ง
ตามคำพิพากษาของศาลฎีกาที่ 8305/2549 ระบุว่าให้โจทก์รับผิดในมูลหนี้ละเมิดและจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 รับผิดในมูลหนี้สัญญาซื้อขาย แต่ บ. ขอให้โจทก์ร่วมรับผิดในค่าเสียหายจำนวนเดียวกันกับที่ บ. ขอให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ต้องรับผิดต่อ บ. จึงถือเป็นหนี้อันจะแบ่งกันชำระมิได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 301 ซึ่งบัญญัติให้โจทก์ต้องรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมกับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ด้วย ซึ่งตามคำพิพากษาดังกล่าวระบุไว้ชัดแจ้งแล้วว่า โจทก์ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายในมูลหนี้ละเมิดแก่ บ. ส่วนจำเลยทั้งสามแต่ละคนต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายในมูลหนี้สัญญาซื้อขายแก่ บ. เพียงแต่ค่าเสียหายที่ บ. เรียกจากโจทก์และจำเลยทั้งสามนั้นเป็นจำนวนเดียวกันถือเป็นหนี้อันจะแบ่งกันชำระมิได้ จึงมีผลให้ความรับผิดของโจทก์กับจำเลยแต่ละคนต่อ บ. เป็นอย่างลูกหนี้ร่วมในค่าเสียหายจำนวนเดียวกัน แต่ไม่ได้ทำให้ความรับผิดของโจทก์ในมูลหนี้ละเมิดต่อ บ. หมดไป โจทก์ยังคงมีความรับผิดต้องชดใช้ค่าเสียหายในมูลหนี้ละเมิดแก่ บ. ตามส่วนของตน การที่โจทก์ชดใช้ค่าเสียหายแก่ บ. เต็มจำนวนที่โจทก์ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยทั้งสาม จึงเป็นการชำระหนี้มูลละเมิดของโจทก์ที่มีต่อ บ. ครึ่งหนึ่งและชำระหนี้มูลสัญญาซื้อขายของจำเลยทั้งสามที่มีต่อ บ. ครึ่งหนึ่ง โจทก์จึงเข้ารับช่วงสิทธิของ บ. ที่จะไล่เบี้ยจากจำเลยทั้งสามได้เพียงครึ่งหนึ่งของจำนวนที่โจทก์ชำระไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7086/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อแตกต่างระหว่างความผิดฐานลักทรัพย์ ฉ้อโกง และผู้สนับสนุนความผิด การพิพากษาเกินคำขอหรือมิได้กล่าวในฟ้อง
โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยทั้งสามร่วมกันลักรถจักรยานยนต์ของบริษัท ก. ผู้เสียหายขณะอยู่ในความครอบครองของ ร. แต่ข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในการพิจารณาได้ความว่า เจ้าพนักงานตำรวจยืมรถตามฟ้องจากผู้อื่นแล้วให้ ร. นำไปส่งมอบแก่พวกจำเลยแลกกับค่าตอบแทนเป็นเงิน 10,000 บาท หาใช่เป็นการลักรถจักรยานยนต์ตามฟ้องไปจาก ร. ไม่ จึงเป็นกรณีข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในการพิจารณาแตกต่างกับข้อเท็จจริงดังที่กล่าวในฟ้องในข้อสาระสำคัญ ซึ่งตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสอง บัญญัติให้ศาลยกฟ้อง จึงไม่อาจลงโทษจำเลยทั้งสามในความผิดฐานร่วมกันลักทรัพย์ และลงโทษฐานเป็นผู้ใช้ให้กระทำความผิดฐานฉ้อโกงไม่ได้เช่นกัน ถือว่าเกินคำขอหรือมิได้กล่าวในฟ้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่ง และการที่จำเลยทั้งสามชี้ช่องแนะนำให้ ร. ไปทำสัญญาเช่าซื้อและเสนอเงินค่าตอบแทนในการนำรถจักรยานยนต์มาส่งมอบจำนวน 10,000 บาท ดังกล่าว อาจถือว่าเป็นการกระทำด้วยประการใด ๆ อันเป็นการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกแก่ ร. ก็ตาม แต่การกระทำดังกล่าวจะเป็นความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนได้ ต้องเป็นไปตาม ป.อ. มาตรา 86 ที่บัญญัติว่าเป็นการช่วยเหลือ หรือให้ความสะดวกในการที่ผู้อื่นกระทำความผิดก่อนหรือขณะกระทำความผิด หมายถึงต้องมีการกระทำความผิดเกิดขึ้นด้วย จึงจะพิจารณาได้ว่าการกระทำนั้นเป็นการกระทำก่อนหรือขณะกระทำความผิดได้ แตกต่างกับบทบัญญัติแห่งมาตรา 84 วรรคสองตอนท้าย ที่อาจมีความผิดฐานเป็นผู้ใช้ได้แม้ว่าความผิดมิได้กระทำลงก็ตาม เมื่อคดีนี้เกิดจากการวางแผนของเจ้าหน้าที่ตำรวจไว้ก่อน และเป็นการขอยืมรถจักรยานยนต์จากผู้อื่นเพื่อให้ ร. ขับไปทำทีส่งมอบแก่พวกจำเลย หาได้เกิดจาก ร. หลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง และโดยการหลอกลวงดังว่านั้น ได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวง อันจะถือเป็นการกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 341 เมื่อความผิดตามมาตรา 341 ไม่มีเสียแล้ว ความผิดฐานสนับสนุนการกระทำความผิดที่ต้องนำความผิดตามมาตรา 341 มาประกอบกับมาตรา 86 ย่อมเกิดขึ้นไม่ได้เช่นกัน จึงไม่อาจพิพากษาลงโทษตามมาตรา 341 ประกอบมาตรา 86 ได้อีกด้วย และกรณีดังกล่าวเป็นเหตุอยู่ในส่วนลักษณะคดีที่ศาลฎีกามีอำนาจพิพากษาตลอดไปถึงจำเลยที่ 1 ที่มิได้ฎีกาให้มิต้องถูกรับโทษดุจจำเลยที่ 2 และที่ 3 ผู้ฎีกาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 213 ประกอบมาตรา 225
of 3