พบผลลัพธ์ทั้งหมด 150 รายการ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3546/2558
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
สื่อเสนอข่าวบุกรุกป่าตามข้อมูลสืบสวน ไม่เป็นการหมิ่นประมาท แม้จะทำให้เข้าใจว่าโจทก์เกี่ยวข้อง
ข่าวเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเรื่องการบุกรุกพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติและมีการออกโฉนดที่ดินทับซ้อนพื้นที่สวนป่าเป็นข่าวที่สังคมให้ความสนใจเพราะมีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของทุกคนในสังคม และข้อเท็จจริงตามที่จำเลยที่ 1 นำมาตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ของตนเป็นข้อเท็จจริงที่ปรากฏจากการสืบสวนและสอบสวนของเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องทั้งในส่วนของกรมป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช รวมถึงเจ้าพนักงานตำรวจ เมื่อจำเลยทั้งสองในฐานะสื่อมวลชนมีหน้าที่เสนอข่าวสารที่เกิดขึ้นในบ้านเมืองให้ประชาชนทราบโดยเสนอข้อมูลไปตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏตามที่เจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องสืบสวนและสอบสวนได้ความ หาใช่เป็นข้อเท็จจริงที่จำเลยทั้งสองสร้างขึ้นมาเองไม่ แม้ข้อความบางส่วนอาจทำให้ผู้อ่านเกิดความเข้าใจว่าโจทก์มีส่วนเกี่ยวข้องในการกระทำความผิดด้วยอันเป็นการใส่ความโจทก์ให้ได้รับความเสียหาย โดยที่โจทก์ยังมิได้ถูกเรียกไปแจ้งข้อกล่าวหาหรือดำเนินคดี แต่การดำเนินคดีก็เป็นเรื่องที่เจ้าพนักงานผู้เกี่ยวข้องสามารถดำเนินการได้ภายในกำหนดอายุความ ทั้งการนำเสนอข่าวสารเชิงวิเคราะห์ของจำเลยทั้งสอง ก็เป็นการติชมวิพากษ์วิจารณ์ และแสดงความคิดเห็นไปตามข้อเท็จจริงที่ได้ความมาจากการสืบสวนสอบสวนของเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องโดยสุจริตและติชมด้วยความเป็นธรรมอันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำ จำเลยทั้งสองจึงไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาทตาม ป.อ. มาตรา 329 (3)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1831/2558
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การฟ้องอาญา: ข้อผิดพลาดในการอ้างบทกฎหมาย-ฐานความผิด ศาลมีอำนาจปรับบท-แก้ไขฐานความผิดได้
โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันเก็บหา นำออกไปและทำด้วยประการใด ๆ อันทำให้เสื่อมสภาพซึ่งไม้ภายในเขตอุทยานแห่งชาติ และนำอาวุธปืนเข้าไปในเขตอุทยานแห่งชาติโดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ อันเข้าลักษณะเป็นความผิดตามมาตรา 16 (2) (15) แห่ง พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2504 และมีบทลงโทษตามมาตรา 24, 26 และ 27 โจทก์บรรยายฟ้องเกี่ยวกับความผิดดังกล่าวชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) แล้ว แต่ ป.วิ.อ. มาตรา 158 (6) บัญญัติว่า ฟ้องต้องมี "อ้างมาตราในกฎหมายซึ่งบัญญัติว่าการกระทำเช่นนั้นเป็นความผิด" ที่โจทก์มีคำขอท้ายฟ้องเพียงแต่อ้างบทลงโทษตามมาตรา 24, 25 และ 27 โดยไม่ได้อ้างบทความผิดตามมาตรา 16 มาด้วย กรณีเช่นนี้ไม่ถึงกับเป็นเรื่องเกินคำขอเสียทีเดียวหรือเป็นเรื่องที่มิได้กล่าวในฟ้อง และไม่ถือว่าเป็นข้อเท็จจริงที่โจทก์ไม่ประสงค์ให้ลงโทษตามฐานความผิดดังกล่าว ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่งและวรรคสี่ แต่อย่างใด เมื่อข้อหาความผิดหนึ่งต้องมีบทความผิดกับบทลงโทษประกอบเข้าด้วยกัน โดยอาจจะอยู่ในมาตราเดียวกันหรือแยกกันอยู่คนละมาตราก็ได้ การที่โจทก์เพียงอ้างมาตราในกฎหมายที่เป็นบทความผิดหรือบทลงโทษเพียงอย่างใดอย่างหนึ่ง ถือได้ว่าเป็นเรื่องโจทก์อ้างฐานความผิดหรือบทมาตราผิดอย่างหนึ่ง เมื่อจำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับฐานความผิดนั้นสมตามฟ้อง ทั้งบทลงโทษที่บัญญัติไว้ก็เชื่อมโยงไปถึงบทความผิด อันเห็นได้ถึงบทมาตราที่ถูกต้องครบถ้วน และการกระทำตามฟ้องเป็นความผิดตามกฎหมายเช่นใด ก็อยู่ในขั้นตอนปรับบทกฎหมายอันเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่อยู่ในอำนาจของศาล ดังนั้น ศาลย่อมมีอำนาจลงโทษจำเลยที่ 1 ตามฐานความผิดที่ถูกต้องนี้ได้ตาม ป.วิ.อ.มาตรา 192 วรรคห้า
ความผิดฐานมีเลื่อยโซ่ยนต์โดยไม่ได้รับใบอนุญาตตาม พ.ร.บ.เลื่อยโซ่ยนต์ พ.ศ.2545 นั้น นอกจากโจทก์ไม่ได้อ้างกฎกระทรวงกำหนดลักษณะเลื่อยโซ่ยนต์และส่วนประกอบของเลื่อยโซ่ยนต์ พ.ศ.2551 อันเป็นกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำนั้นมาในคำขอท้ายฟ้องแล้ว กรณีปรากฏอีกด้วยว่ากฎกระทรวงดังกล่าวกำหนดให้ "เลื่อยโซ่ยนต์" หมายความว่า "(1) เครื่องมือสำหรับใช้ตัดไม้หรือแปรรูปไม้ที่มีฟันเลื่อยติดกับโซ่ซึ่งขับเคลื่อนด้วยกำลังเครื่องจักรกลที่ผลิตและประกอบสำเร็จรูปเพื่อการใช้งานที่มีต้นกำลังเกินกว่า 2 แรงม้า โดยมีแผ่นบังคับโซ่ที่มีขนาดความยาวเกินกว่า 12 นิ้ว" อันเป็นการกำหนดไว้เฉพาะการมีเลื่อยโซ่ยนต์ที่มีลักษณะเช่นนี้เท่านั้นที่ต้องมีใบอนุญาตจากนายทะเบียนเลื่อยโซ่ยนต์ ถ้าไม่มีใบอนุญาตจึงจะมีความผิดตามมาตรา 4 วรรคหนึ่ง และมีบทลงโทษตามมาตรา 17 วรรคหนึ่ง แต่ฟ้องโจทก์ไม่ปรากฏเลยว่าเลื่อยโซ่ยนต์คดีนี้มีลักษณะต้องห้ามตามที่กฎกระทรวงดังกล่าวกำหนดไว้ ฟ้องโจทก์เกี่ยวกับความผิดดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) และ (6) แม้จำเลยที่ 1 จะให้การรับสารภาพก็รับฟังไม่ได้ว่า การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.เลื่อยโซ่ยนต์ พ.ศ.2545 มาตรา 4 วรรคหนึ่ง, 17 วรรคหนึ่ง จึงต้องพิพากษายกฟ้องความผิดข้อนี้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 215, 225 ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็ยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.อ.มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
ความผิดฐานมีเลื่อยโซ่ยนต์โดยไม่ได้รับใบอนุญาตตาม พ.ร.บ.เลื่อยโซ่ยนต์ พ.ศ.2545 นั้น นอกจากโจทก์ไม่ได้อ้างกฎกระทรวงกำหนดลักษณะเลื่อยโซ่ยนต์และส่วนประกอบของเลื่อยโซ่ยนต์ พ.ศ.2551 อันเป็นกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำนั้นมาในคำขอท้ายฟ้องแล้ว กรณีปรากฏอีกด้วยว่ากฎกระทรวงดังกล่าวกำหนดให้ "เลื่อยโซ่ยนต์" หมายความว่า "(1) เครื่องมือสำหรับใช้ตัดไม้หรือแปรรูปไม้ที่มีฟันเลื่อยติดกับโซ่ซึ่งขับเคลื่อนด้วยกำลังเครื่องจักรกลที่ผลิตและประกอบสำเร็จรูปเพื่อการใช้งานที่มีต้นกำลังเกินกว่า 2 แรงม้า โดยมีแผ่นบังคับโซ่ที่มีขนาดความยาวเกินกว่า 12 นิ้ว" อันเป็นการกำหนดไว้เฉพาะการมีเลื่อยโซ่ยนต์ที่มีลักษณะเช่นนี้เท่านั้นที่ต้องมีใบอนุญาตจากนายทะเบียนเลื่อยโซ่ยนต์ ถ้าไม่มีใบอนุญาตจึงจะมีความผิดตามมาตรา 4 วรรคหนึ่ง และมีบทลงโทษตามมาตรา 17 วรรคหนึ่ง แต่ฟ้องโจทก์ไม่ปรากฏเลยว่าเลื่อยโซ่ยนต์คดีนี้มีลักษณะต้องห้ามตามที่กฎกระทรวงดังกล่าวกำหนดไว้ ฟ้องโจทก์เกี่ยวกับความผิดดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) และ (6) แม้จำเลยที่ 1 จะให้การรับสารภาพก็รับฟังไม่ได้ว่า การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.เลื่อยโซ่ยนต์ พ.ศ.2545 มาตรา 4 วรรคหนึ่ง, 17 วรรคหนึ่ง จึงต้องพิพากษายกฟ้องความผิดข้อนี้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 215, 225 ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็ยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.อ.มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16527/2557
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
สัญญาเช่าไม่สมบูรณ์หากไม่ได้รับความเห็นชอบจากกรมการศาสนา ผู้ให้เช่าไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญาหรือเรียกค่าเช่า
ตาม ป.พ.พ. มาตรา 546 บัญญัติว่า "ผู้ให้เช่าจำต้องส่งมอบทรัพย์สินซึ่งให้เช่านั้นในสภาพอันซ่อมแซมดีแล้ว" บทบัญญัติดังกล่าวเป็นการยืนยันหน้าที่ของผู้ให้เช่าในอันที่จะต้องให้ผู้เช่าได้ใช้สอยหรือได้รับประโยชน์ในทรัพย์สินที่เช่า โจทก์ในฐานะผู้ให้เช่าจึงมีหน้าที่ต้องส่งมอบที่ดินที่เช่าในสภาพที่พร้อมจะให้ผู้เช่าทำการปลูกสร้างอาคารเพื่อดำเนินธุรกิจได้มีกำหนด 30 ปีตามที่ตกลงกันไว้ในสัญญา แต่ข้อเท็จจริงกลับปรากฏว่าโจทก์เพียงแจ้งให้จำเลยเข้าปลูกสร้างอาคารโดยโจทก์ยังมิได้ขอความเห็นชอบต่อกรมการศาสนาตามที่กำหนดในกฎกระทรวง ฉบับที่ 2 (พ.ศ.2511) ซึ่งออกตามความใน พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 ข้อ 4 ที่ระบุว่า "การให้เช่าที่ธรณีสงฆ์ ที่กัลปนาหรือที่วัดที่กันไว้เป็นที่จัดประโยชน์ที่มีกำหนดระยะเวลาการเช่าเกินสามปี จะกระทำได้ก็ต่อเมื่อได้รับความเห็นชอบจากกรมการศาสนา" สัญญาระหว่างโจทก์และจำเลยจึงยังไม่สมบูรณ์ตามกฎหมาย และยังถือไม่ได้ว่าโจทก์ได้ส่งมอบทรัพย์ที่เช่าตรงตามวัตถุประสงค์แห่งสัญญาเช่าแล้ว โจทก์จึงไม่อาจนำเงื่อนเวลาการก่อสร้างอาคารให้แล้วเสร็จภายใน 10 เดือน นับแต่วันทำสัญญามาบังคับแก่จำเลยได้ จำเลยไม่ได้เป็นฝ่ายผิดสัญญา โจทก์ยังไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญาและไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหาย และตราบใดที่ยังไม่มีการจดทะเบียนสิทธิการเช่า จำเลยผู้เช่ายังไม่มีหน้าที่ต้องชำระค่าเช่าให้แก่โจทก์ผู้ให้เช่า โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกค่าเช่าจากจำเลย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15866/2557
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
อายุความความผิดเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา: ความผิดสำเร็จที่การทำสัญญา ไม่ใช่ความผิดต่อเนื่อง
ความผิดฐานเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราตามที่กฎหมายกำหนดนั้นเกิดขึ้นเป็นความผิดสำเร็จตั้งแต่วันที่มีการให้กู้ยืมเงินด้วยการทำสัญญากันและจำเลยเรียกดอกเบี้ยจากผู้เสียหายเกินอัตราตามที่กฎหมายกำหนด หาใช่ความผิดต่อเนื่องตลอดระยะเวลาตราบเท่าที่จำเลยยังคงเรียกเก็บดอกเบี้ยเกินอัตราอยู่และผู้เสียหายแต่ละคนได้ผ่อนชำระดอกเบี้ยนั้นดังที่โจทก์ฎีกาไม่ เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์ฟ้องคดีนี้ในวันที่ 25 กันยายน 2551 เกินกว่า 5 ปี นับแต่วันกระทำผิดสำเร็จ จึงเป็นอันขาดอายุความตาม ป.อ. มาตรา 95 (4)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13764/2557
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
สำคัญผิดในคุณสมบัติทรัพย์สิน สัญญาซื้อขายเป็นโมฆียะ การเพิกถอนนิติกรรม
โจทก์ที่ 2 ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินและตึกแถวพิพาทกับจำเลยแล้วเข้าไปซ่อมแซมปรับปรุงตึกแถวพิพาท โดยต่อเติมบริเวณด้านหลังซึ่งเป็นทางเดิน สร้างผนังปิดทางเดิน สร้างเพิ่มเติมพื้นชั้นลอย เพิ่มความสูงของอาคารเป็น 4 ชั้น ก่อสร้างโครงหลังคาเหล็กต่อจากชั้นที่ 4 ขึ้นไป จึงเชื่อได้ว่าในวันทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินและตึกแถวพิพาทนั้น จำเลยไม่ได้บอกกล่าวให้โจทก์ที่ 2 ทราบว่ามีพื้นชั้นลอยด้านหลังที่จำเลยยังไม่ได้รื้อถอนให้แล้วเสร็จตามคำสั่งของสำนักงานเขตจอมทอง ซึ่งหากจำเลยได้บอกกล่าวให้โจทก์ที่ 2 ทราบข้อเท็จจริงนี้แล้ว ไม่น่าเชื่อว่าโจทก์ที่ 2 จะกล้าเสี่ยงต่อเติมอาคารหลายรายการและเสียค่าใช้จ่ายมากมายโดยไม่ตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อน ถือได้ว่าโจทก์ที่ 2 ทำสัญญาจะซื้อที่ดินและตึกแถวพิพาทจากจำเลยโดยสำคัญผิดในคุณสมบัติของทรัพย์สินซึ่งตามปกติถือว่าเป็นสาระสำคัญ สัญญาจะซื้อจะขายดังกล่าวจึงเป็นโมฆียะตาม ป.พ.พ. มาตรา 157 แม้โจทก์ที่ 2 ไม่ได้บอกล้างโมฆียะกรรม แต่การฟ้องคดีนี้มีผลเท่ากับเป็นการบอกล้างโมฆียะกรรมนั้นแล้ว สัญญาจะซื้อจะขายดังกล่าวจึงเป็นโมฆะมาแต่เริ่มแรก คู่กรณีต้องกลับคืนสู่ฐานะเดิมตามมาตรา 176 วรรคหนึ่ง คู่สัญญาแต่ละฝ่ายไม่อาจอาศัยสัญญาจะซื้อจะขายมาเป็นข้ออ้างเพื่อเรียกร้องค่าเสียหายใดๆ ต่อกันได้ จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์ที่ 2 เพียงคืนเงินค่าที่ดินและตึกแถวพิพาทพร้อมดอกเบี้ยเท่านั้น โจทก์ที่ 2 ไม่อาจเรียกร้องค่าเสียหายใดๆ จากจำเลยได้อีก
คำฟ้องของโจทก์ที่ 2 มิได้กล่าวอ้างหรือตั้งประเด็นเกี่ยวกับความรับผิดฐานละเมิด ศาลจึงไม่อาจพิพากษาให้จำเลยใช้ค่าเสียหายในกรณีละเมิดได้เพราะจะเป็นการพิพากษาเกินคำขอและเป็นเรื่องนอกฟ้องนอกประเด็นซึ่งต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 วรรคหนึ่ง
คำฟ้องของโจทก์ที่ 2 มิได้กล่าวอ้างหรือตั้งประเด็นเกี่ยวกับความรับผิดฐานละเมิด ศาลจึงไม่อาจพิพากษาให้จำเลยใช้ค่าเสียหายในกรณีละเมิดได้เพราะจะเป็นการพิพากษาเกินคำขอและเป็นเรื่องนอกฟ้องนอกประเด็นซึ่งต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 วรรคหนึ่ง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13658/2557
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
เบี้ยปรับจากสัญญาซื้อขายและการลดจำนวนเบี้ยปรับเมื่อผู้ขายผิดสัญญา
โจทก์ให้หลักประกันเพื่อให้จำเลยที่ 2 เชื่อได้ว่าโจทก์จะปฏิบัติตามสัญญา หากโจทก์ปฏิบัติผิดสัญญาจำเลยที่ 2 จะได้รับการชดใช้ค่าเสียหายเป็นค่าใช้จ่ายในการฟ้องขับไล่ผู้เช่าและผู้อาศัยที่ไม่ยอมย้ายออกจากทรัพย์สินที่ซื้อขายด้วยเงินที่ยึดถือไว้เป็นประกัน อันมีลักษณะเป็นเบี้ยปรับที่กำหนดเป็นจำนวนเงินตาม ป.พ.พ. มาตรา 379
เมื่อโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญา จึงหามีสิทธิได้ดอกเบี้ยจากเบี้ยปรับที่ได้รับคืนไม่ ที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดให้จำเลยที่ 2 ต้องชำระดอกเบี้ยสำหรับเบี้ยปรับที่ต้องคืนให้แก่โจทก์ด้วยนั้นไม่ถูกต้อง ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้คู่ความมิได้ยกขึ้นฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องเองได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 247 ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 142 (5)
เมื่อโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญา จึงหามีสิทธิได้ดอกเบี้ยจากเบี้ยปรับที่ได้รับคืนไม่ ที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดให้จำเลยที่ 2 ต้องชำระดอกเบี้ยสำหรับเบี้ยปรับที่ต้องคืนให้แก่โจทก์ด้วยนั้นไม่ถูกต้อง ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้คู่ความมิได้ยกขึ้นฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องเองได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 247 ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 142 (5)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12756/2557
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ความผิดฐานใช้เอกสารราชการปลอมและแจ้งความเท็จเพื่อเอื้อประโยชน์ในการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดิน
การที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลลาดพร้าวว่าได้ทำโฉนดที่ดินซึ่ง บ. และจำเลยที่ 1 ถือกรรมสิทธิ์ร่วมกันสูญหาย และแจ้งให้พนักงานสอบสวนจดข้อความอันเป็นเท็จลงในบันทึกรายงานประจำวันรับแจ้งเอกสารหายแล้วนำบันทึกรายงานประจำวันรับแจ้งเอกสารหายและหนังสือมอบอำนาจไปใช้และอ้างแสดงต่อเจ้าพนักงานที่ดิน สำนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร สาขาบางกะปิ เพื่อขอรับใบแทนโฉนดที่ดินแล้วนำใบแทนโฉนดที่ดินและหนังสือมอบอำนาจปลอมไปใช้และอ้างแสดงต่อเจ้าพนักงานที่ดินสำนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร สาขาบางกะปิ เพื่อให้มีรายการแก้ไขจดทะเบียนโฉนดที่ดินจากชื่อ บ. มาเป็นชื่อของจำเลยที่ 1 แต่ผู้เดียวจำเลยที่ 2 เป็นสามีของจำเลยที่ 1 มีส่วนได้เสียในที่ดินที่รับโอนทั้งลงลายมือชื่อเป็นพยานในหนังสือมอบอำนาจและติดต่อ อ. ให้ประสานกับเจ้าพนักงานที่ดิน เช่นนี้ย่อมรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 เป็นตัวการร่วมรู้เห็นเป็นใจกับจำเลยที่ 1 ในการกระทำความผิดมาตั้งแต่แรก และแม้การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ตามขั้นตอนต่าง ๆ ดังกล่าว เป็นการกระทำคนละวันและต่อเจ้าพนักงานคนละหน่วยงานกัน แต่เป็นการกระทำโดยมีเจตนาเดียวกัน คือ เพื่อให้ที่ดินดังกล่าวตกมาเป็นของจำเลยที่ 1 แต่เพียงผู้เดียว การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกาปัญหาดังกล่าว แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12163/2557
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
สัญญาซื้อขายน้ำมันราคาคงที่ ความรับผิดในสัญญา และการคำนวณค่าเสียหายจากส่วนต่างราคา
โจทก์กับจำเลยตกลงทำสัญญาซื้อขายราคาคงที่ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมน้ำมันเตาจำนวน 6,030,000 ลิตร ภายในช่วงเวลาที่กำหนด วันเดียวกัน โจทก์ทำสัญญาสั่งซื้อน้ำมันชนิดดังกล่าวจากบริษัท ช. เพื่อสำรองส่งมอบให้จำเลยภายในกำหนดระยะเวลาตามสัญญา โดยทำเป็นสัญญาซื้อขายเพื่อความแตกต่างซึ่งเป็นประกันความเสี่ยงราคาน้ำมัน หลังจากจำเลยทำสัญญากับโจทก์แล้ว จำเลยซื้อน้ำมันจากโจทก์ไม่ครบจำนวนตามสัญญา ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ตามสัญญาซื้อขายราคาคงที่ฯ ข้อ 4.1 ระบุว่า ในกรณีที่ผู้ซื้อไม่อาจสั่งซื้อสินค้าได้ครบตาม ข้อ 1.4 ของสัญญานี้...ผู้ขายมีสิทธิเลือกที่จะปรับผู้ซื้อตามข้อ 4.3 และสัญญาดังกล่าว ข้อ 4.3 ระบุว่า ค่าเสียหายจะเท่ากับค่าปรับดังต่อไปนี้ของจำนวนสินค้าที่ผู้ซื้อยังซื้อไม่ครบ (แล้วแต่อย่างใดจะสูงกว่า) 4.3.1 ร้อยละ 10 (สิบ) ของจำนวนราคาสินค้าที่ผู้ซื้อยังซื้อไม่ครบตามสัญญาข้อ 1.4 ของสัญญานี้ 4.3.2 หรือเท่ากับมูลค่าที่แตกต่างระหว่างราคาสินค้าตามสัญญากับราคาเฉลี่ยของสินค้าของผู้ค้ารายอื่น ๆ ภายในประเทศที่ต่ำกว่าในประเภทสินค้าเดียวกันอย่างน้อย 2 ราย และเอกสารแนบท้าย ก. ข้อ 7 ระบุว่า ในกรณีที่ไม่สามารถรับสินค้าปริมาณการสั่งซื้อนั้นไว้ได้...ผู้ซื้อจะถูกปรับ (และอาจถูกปรับสูงขึ้น) โดยจะต้องชำระราคาเพิ่มอีก 10% จากราคาตามข้อ 5 หรือชำระมูลค่าที่แตกต่างระหว่างราคาสินค้าที่ตกลงกันตามข้อ 5 กับราคาตลาด (เฉพาะกรณีที่ราคานั้นต่ำกว่าราคาตามข้อ 5) ของผู้ค้าน้ำมันหลักรายอื่น ๆ อย่างน้อย 2 ราย คูณจำนวนที่ยังสั่งซื้อไม่ครบ เมื่อพิจารณาประกอบกับใบกำกับสินค้า (Invoice) หรือใบแจ้งหนี้ ย่อมเป็นที่เข้าใจได้ว่าค่าเสียหาย คือ ส่วนต่างระหว่างราคาคงที่ตามสัญญากับราคาน้ำมันในตลาดขณะนั้นซึ่งต่ำกว่า เมื่อโจทก์จ่ายค่าเสียหายนี้ให้แก่บริษัท ช. ตามสัญญาเพื่อความแตกต่างที่โจทก์ทำไว้กับบริษัทดังกล่าว โจทก์ย่อมเรียกร้องให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายส่วนนี้ได้ตามสัญญาซื้อขายราคาคงที่ฯ ข้อ 4.3.2 แม้โจทก์จะไม่ได้คิดคำนวณค่าเสียหายจากมูลค่าที่แตกต่างระหว่างราคาสินค้าตามสัญญากับราคาเฉลี่ยของสินค้าของผู้ค้ารายอื่น ๆ ภายในประเทศที่ต่ำกว่าในประเภทสินค้าเดียวกันอย่างน้อย 2 ราย ตามข้อสัญญา ก็ตาม แต่การคิดค่าเสียหายตามที่โจทก์เรียกร้องไม่ได้ทำให้จำเลยเสียเปรียบเพราะค่าเสียหายที่โจทก์จ่ายให้แก่บริษัท ช. เป็นผู้ค้ารายใหญ่ ต้นทุนการดำเนินการย่อมต่ำกว่าผู้ค้ารายย่อยอื่น ๆ ในประเทศอยู่แล้ว โจทก์นำสืบค่าเสียหายว่าต้องจ่ายเงินที่เป็นส่วนต่างของราคาน้ำมันให้แก่บริษัท ช. เป็นเงิน 42,587,757 บาท จำเลยจึงต้องรับผิดชดใช้เงินจำนวนดังกล่าวให้แก่โจทก์ และเนื่องจากเป็นหนี้เงิน จึงให้จำเลยชำระดอกเบี้ยผิดนัดตามกฎหมายในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10927/2557
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ค่าเสียหายจากอุบัติเหตุทางถนน: การคำนวณค่าขาดไร้อุปการะ, ทุนทรัพย์, และค่าฤชาธรรมเนียม
โจทก์ฎีกาขอให้จำเลยทั้งสองรับผิดต่อโจทก์เพิ่มเติมจากที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษามา แต่โจทก์เสียค่าขึ้นศาลชั้นฎีกามาตามทุนทรัพย์ในศาลชั้นต้น จึงต้องคืนค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาตามทุนทรัพย์ที่โจทก์เสียเกินมา และที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาให้คืนค่าขึ้นศาลแก่จำเลยทั้งสอง 4,800 บาท เพราะเห็นว่าจำเลยทั้งสองอุทธรณ์ทำนองว่าค่าเสียหายที่จำเลยทั้งสองต้องรับผิดต่อโจทก์เป็นเงินเพียง 240,000 บาท ทุนทรัพย์ที่พิพาทในชั้นอุทธรณ์จึงเป็นเงินเพียง 360,000 บาท นั้น แม้อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองมีข้อความว่า จำเลยที่ 1 เห็นว่าค่าขาดไร้อุปการะที่ศาลชั้นต้นกำหนดให้เดือนละ 5,000 บาท สูงเกินส่วน ที่เหมาะสมควรจะเป็นเงินเดือนละ 2,000 บาท เป็นเวลา 10 ปี เป็นเงิน 240,000 บาท แต่จำเลยทั้งสองมีคำขอท้ายอุทธรณ์ว่าขอให้ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายกฟ้อง อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองจึงมิได้ยอมรับผิดชดใช้ค่าขาดไร้อุปการะจำนวนดังกล่าวให้แก่โจทก์ ซึ่งศาลอุทธรณ์ก็ได้พิพากษายกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 2 ทุนทรัพย์ที่พิพาทในชั้นอุทธรณ์จึงเป็นเงิน 600,000 บาท ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาให้คืนค่าขึ้นศาลตามทุนทรัพย์จำนวนดังกล่าวแก่จำเลยทั้งสองจึงไม่ชอบ นอกจากนี้ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 2 โดยไม่ได้สั่งค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นสำหรับจำเลยที่ 2 ใหม่ก็เป็นการไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5), 246 และมาตรา 247
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10554/2557
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ฟ้องซ้อน: คดีถึงที่สุดแล้ว การยื่นขอแก้ไขคำให้การ/ฟ้องแย้งภายหลังไม่ทำให้คดีเดิมอยู่ในระหว่างพิจารณา
คดีนี้เดิมโจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองและ ณ. ร่วมกันรับผิดตามหนังสือรับสภาพหนี้ จำเลยทั้งสองยื่นคำให้การ หลังจากศาลชั้นต้นนัดชี้สองสถานและนัดสืบพยานโจทก์แล้ว จำเลยทั้งสองยื่นคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคำให้การและฟ้องแย้ง ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่อนุญาตและพิพากษายกฟ้องโจทก์ คู่ความไม่อุทธรณ์ คดีส่วนที่ศาลพิพากษายกฟ้องจึงถึงที่สุด แม้จำเลยทั้งสองจะอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตให้แก้ไขเพิ่มเติมคำให้การและฟ้องแย้งและศาลอุทธรณ์พิพากษายืนซึ่งจำเลยทั้งสองยังฎีกาต่อมาก็ตาม แต่ขณะจำเลยทั้งสองอุทธรณ์และฎีกาคำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตให้แก้ไขเพิ่มเติมคำให้การและฟ้องแย้งในคดีเดิม ศาลชั้นต้นมิได้มีคำสั่งให้งดการพิจารณาคดีไว้ก่อนโดยดำเนินกระบวนการพิจารณาต่อมาและมีคำพิพากษายกฟ้องโจทก์ คดีถึงที่สุด คดีในส่วนที่จำเลยทั้งสองอุทธรณ์และฎีกาคำสั่งที่ไม่อนุญาตให้แก้ไขเพิ่มเติมคำให้การและฟ้องแย้งจึงเป็นคดีคนละส่วนไม่เกี่ยวข้องกับฟ้องเดิมของโจทก์ ทั้งศาลฎีกาในคดีเดิมมีคำสั่งไม่รับคดีของจำเลยทั้งสองไว้พิจารณาเพราะเห็นว่าเป็นฎีกาที่ไม่เป็นสาระแก่คดี ผลของคำสั่งศาลฎีกาย่อมไม่กระทบต่อคำพิพากษาในคดีเดิมที่ถึงที่สุดแล้ว ประกอบกับจำเลยทั้งสองยื่นคำร้องขออนุญาตแก้ไขเพิ่มเติมคำให้การและฟ้องแย้งอันเป็นข้อที่จำเลยทั้งสองทราบอยู่ก่อนแล้ว และยื่นภายหลังกำหนดเวลาตามกฎหมายเพื่อให้คดีเดิมอยู่ระหว่างพิจารณา พฤติการณ์ของจำเลยทั้งสองดังกล่าวมีเจตนาที่ไม่สุจริต จึงไม่ถือว่าคดีตามฟ้องเดิมอยู่ในระหว่างพิจารณาอันเป็นเหตุให้ฟ้องของโจทก์ในคดีนี้เป็นฟ้องซ้อนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 173 วรรคสอง (1)