คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
ปกิต สุวรรณพรหมา

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 34 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5724/2562

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ หนังสือค้ำประกัน – ตัวแทนเกินอำนาจ – ความรับผิดของตัวการ – ความประมาทเลินเล่อของจำเลย
โจทก์บรรยายฟ้องข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำของ จ. ซึ่งเป็นลูกจ้างและตัวแทนของจำเลยที่เป็นเหตุโต้แย้งสิทธิของโจทก์แล้ว แม้โจทก์จะมิได้กล่าวในฟ้องเกี่ยวกับลักษณะการเป็นตัวแทน โจทก์ก็นำสืบได้เพราะเป็นข้อเท็จจริงในรายละเอียดว่าการกระทำดังกล่าวของ จ. จะมีลักษณะเป็นลูกจ้างหรือตัวแทนของจำเลย ขึ้นอยู่กับข้อกฎหมายที่ว่าจำเลยจะต้องรับผิดด้วยหรือไม่ ฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม
จำเลยมอบอำนาจให้ จ. ซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยออกหนังสือค้ำประกันแทนจำเลยได้ตามเงื่อนไข การที่ จ. ออกหนังสือค้ำประกันที่สาขาของจำเลยโดยใช้กระดาษแบบฟอร์มของจำเลย ถือได้ว่าทางปฏิบัติของจำเลยผู้เป็นตัวการทำให้โจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกมีมูลเหตุอันสมควรจะเชื่อว่าการออกหนังสือค้ำประกันดังกล่าวเป็นการกระทำอยู่ภายในขอบอำนาจของตัวแทน หนังสือค้ำประกันจากธนาคารจึงเป็นเงื่อนไขสำคัญในการสั่งซื้อสินค้าจากโจทก์ เมื่อโจทก์ยอมรับหนังสือค้ำประกันเป็นหลักประกันการชำระเงินค่าสินค้าของ ม. การที่ ม. ไม่ชำระหนี้ค่าสินค้าให้โจทก์ ความเสียหายของโจทก์จึงเป็นผลโดยตรงจากการกระทำละเมิดของ จ. ซึ่งเป็นลูกจ้างและตัวแทนของจำเลย จำเลยจึงต้องรับผิดต่อโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5560-5563/2562

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อุทธรณ์ต้องห้ามตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ: ศาลฎีกามีอำนาจจำกัดในการวินิจฉัยอุทธรณ์ที่ขัดต่อเงื่อนไขตามกฎหมาย
พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มีวัตถุประสงค์เพื่อให้การระงับข้อพิพาทโดยการอนุญาโตตุลาการเป็นไปด้วยความรวดเร็ว สมดังเจตนาของคู่พิพาทที่เลือกใช้วิธีระงับข้อพิพาทโดยการอนุญาโตตุลาการแทนการนำข้อพิพาทไปฟ้องคดีต่อศาล จึงบัญญัติให้คำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการจะได้รับการพิจารณาจากศาลเพียงชั้นเดียว ยกเว้นเป็นคำสั่งหรือคำพิพากษาตามกรณีมาตรา 45 (1) ถึง (5) จึงจะอุทธรณ์ต่อศาลฎีกาได้ ที่ผู้คัดค้านอุทธรณ์และแก้ไขอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้น โดยอาศัยสิทธิตามมาตรา 45 (1) และ (2) เพื่อให้ศาลฎีกาเพิกถอนคำชี้ขาดและปฏิเสธไม่รับบังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการจึงเป็นอุทธรณ์เกี่ยวกับการยอมรับหรือการบังคับตามคำชี้ขาดนั้น จะเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือคำสั่งหรือคำพิพากษานั้นฝ่าฝืนต่อบทกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน หลักความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนไม่มีบทนิยามหรือวิเคราะห์ศัพท์ของกฎหมายบัญญัติไว้จึงเป็นเรื่องที่ศาลจะต้องใช้วิจารณญาณตามพฤติการณ์ของข้อพิพาทและกาลสมัยของคุณค่าสังคม โดยคำนึงถึงหลักการคุ้มครองประโยชน์สาธารณะ บริการสาธารณะ ผลประโยชน์ของประชาชนส่วนรวมโดยตรง มิใช่ผลประโยชน์ของคู่พิพาทโดยเฉพาะหรือการดำเนินกระบวนพิจารณาของคณะอนุญาโตตุลาการชอบด้วยกฎหมายหรือไม่เป็นต้น ดังนั้น การที่จะนำหลักความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนมาปรับใช้กับการยอมรับหรือการบังคับตามคำชี้ขาดหรือคำสั่งหรือคำพิพากษาฝ่าฝืนต่อบทกฎหมายต้องพิจารณาลักษณะข้อพิพาทให้สอดคล้องกับหลักดังกล่าวข้างต้นเป็นรายกรณีไป
การที่ผู้ร้องได้ทำสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องเงินค่าว่าจ้างตามสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างให้แก่ธนาคาร ท. มีผลให้สิทธิเรียกร้องเงินค่าว่าจ้างดังกล่าวโอนไปยังธนาคาร ท. แล้ว เป็นเหตุให้ผู้ร้องไม่มีสิทธิเรียกร้องให้ผู้คัดค้านชำระเงินตามสัญญาอีกตาม ป.พ.พ.มาตรา 306 หรือสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องระหว่างผู้ร้องกับธนาคาร ท. ไม่ใช่การโอนสิทธิเรียกร้องตามมาตรา 306 แต่เป็นเพียงสัญญาที่เป็นหลักประกันหนี้ที่ผู้ร้องเบิกเงินไปจากธนาคาร ท. เท่านั้นเป็นเหตุให้หนี้ตามสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างระหว่างผู้ร้องกับผู้คัดค้านยังไม่ระงับ นั้น ต้องพิจารณาจากการแสดงเจตนาที่แท้จริงของคู่สัญญาระหว่างผู้ร้องกับธนาคาร ท. ในการทำสัญญาโอนสิทธิเรียกร้อง ตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏในพยานหลักฐานต่าง ๆ ของผู้ร้องกับผู้คัดค้านทั้งปวง เมื่อทางปฏิบัติหลังจากทำสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องกันแล้ว ผู้ร้องยังคงเป็นผู้เรียกเก็บเงินจากผู้คัดค้าน หากผู้คัดค้านได้รับใบเรียกเก็บเงินจากผู้ร้อง ผู้คัดค้านจะสั่งจ่ายเช็คให้แก่ผู้ร้องไม่ใช่ธนาคาร ท. โดยผู้ร้องและธนาคารดังกล่าวจะไปรับเช็คพร้อมกันเพื่อนำเข้าบัญชีของผู้ร้อง แล้วธนาคารจะหักเงินจากบัญชีของผู้ร้องบางส่วนเพื่อชำระหนี้เงินกู้ของธนาคารโดยจะคืนส่วนที่เหลือให้แก่ผู้ร้อง กับผู้ร้องเป็นผู้ออกใบเสร็จรับเงินให้แก่ผู้คัดค้าน แสดงว่าหลังจากทำสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องกันแล้ว ผู้คัดค้านยังคงชำระเงินค่าว่าจ้างตามสัญญาพิพาทให้แก่ผู้ร้องมาโดยตลอดไม่เคยชำระให้แก่ธนาคาร ท. และธนาคารก็ไม่เคยทักท้วงไปยังผู้ร้องหรือผู้คัดค้าน ซึ่งคณะอนุญาโตตุลาการใช้อำนาจวินิจฉัยในเรื่องการรับฟังข้อเท็จจริงตามพยานหลักฐานและการชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานทั้งปวง แล้วนำไปปรับใช้กับข้อกำหนดในสัญญาหรือข้อกฎหมายแล้วมีคำวินิจฉัยว่า การโอนสิทธิเรียกร้องดังกล่าวไม่ใช่การโอนสิทธิเรียกร้องตามมาตรา 306 แต่เป็นเพียงสัญญาที่เป็นหลักประกันหนี้ที่ผู้ร้องเบิกเงินไปจากธนาคาร ท. ซึ่งข้อพิพาทนี้เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ของคู่พิพาทโดยเฉพาะเท่านั้น จึงไม่เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน เมื่อไม่ปรากฏว่าคำวินิจฉัยของคณะอนุญาโตตุลาการฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติกฎหมาย ศาลไม่อาจตรวจสอบการใช้ดุลพินิจรับฟังพยานหลักฐานและการชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานของคณะอนุญาโตตุลาการในเรื่องการโอนสิทธิเรียกร้องดังกล่าวนี้ซ้ำอีก การยอมรับหรือการบังคับตามคำชี้ขาดไม่เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือคำพิพากษาของศาลชั้นต้นไม่ฝ่าฝืนต่อบทกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน
ค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีเป็นค่าฤชาธรรมเนียมประเภทหนึ่งที่กฎหมายบังคับให้ศาลต้องมีคำสั่งไม่ว่าผู้ร้องจักมีคำขอหรือไม่ก็ตาม คำสั่งศาลต้องอยู่ในบังคับตาราง 7 ท้าย ป.วิ.พ. ที่กำหนดให้ศาลมีคำสั่งให้ชดใช้ค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีตามจำนวนที่ศาลเห็นสมควร จึงเป็นดุลพินิจของศาลโดยแท้มิใช่กรณีที่เมื่อผู้ร้องมิได้มีคำขอ ศาลต้องมีคำสั่งให้ค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีเป็นพับสถานเดียว คดีนี้ผู้คัดค้านยื่นคำร้องขอวางหลักประกันการงดการบังคับคดีจนต่อมาศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าหลักประกันเพียงพอต่อการปฏิบัติตามคำพิพากษาแล้ว ให้งดการบังคับคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 289 (2) จึงเป็นกรณีที่ผู้คัดค้านมาขอให้งดการบังคับคดีที่ศาลชั้นต้นได้พิพากษาให้บังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการไว้ก่อน ถือได้ว่าเป็นกรณีขอให้งดการบังคับคดีทั่วไปซึ่งเป็นอำนาจของศาลชั้นต้นที่จะมีคำสั่งงดการบังคับคดีหรือไม่ก็ได้ เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้งดการบังคับคดีแล้ว ย่อมไม่อาจบังคับคดีกันอีกได้ในหนี้ทั้งหมดตามบทบัญญัติในภาค 4 ลักษณะ 2 แห่งประมวลกฎหมายดังกล่าว อีกทั้งการงดการบังคับคดีในกรณีตามบทบัญญัตินี้มิได้บัญญัติหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขการงดการบังคับคดีไว้ หากศาลชั้นต้นเห็นว่าเป็นกรณีมีเหตุอันสมควรและหลักประกันเพียงพอต่อการปฏิบัติตามคำพิพากษา ย่อมใช้ดุลพินิจมีคำสั่งให้งดการบังคับคดีได้ คำสั่งศาลชั้นต้นที่ยกคำร้องขอออกหมายบังคับคดี (ในส่วนที่ศาลสั่งคืนหนังสือค้ำประกัน) ของผู้ร้องชอบด้วยกฎหมายแล้ว อุทธรณ์คำสั่งของผู้ร้องฟังไม่ขึ้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4325/2562

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฎีกาเกี่ยวกับคดีความผิดยาเสพติด การไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด ทำให้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์เป็นที่สุด
ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่าจำเลยที่ 3 มีความผิดฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายซึ่งเป็นความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด แม้จำเลยที่ 3 ร้องขอให้เพิกถอนการส่งหมายนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์และการอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ก็ตาม แต่คำร้องขอเพิกถอนดังกล่าวของจำเลยที่ 3 เป็นผลสืบเนื่องมาจากศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำคุก ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 ดังนี้ คดีนี้จึงเป็นคดีความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดอันอยู่ในบังคับของ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 ด้วย ซึ่งมาตรา 18 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวบัญญัติว่า "ให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาหรือมีคำสั่งโดยมิชักช้า และภายในบังคับแห่งบทบัญญัติมาตรา 16 และมาตรา 19 คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์เฉพาะการกระทำซึ่งเป็นความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้เป็นที่สุด" และมาตรา 19 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "ในกรณีที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาหรือมีคำสั่งในคดีความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดตามมาตรา 18 วรรคหนึ่งแล้ว คู่ความอาจยื่นคำขอโดยทำเป็นคำร้องไปพร้อมกับฎีกาต่อศาลฎีกาภายในกำหนดหนึ่งเดือนนับแต่วันอ่านหรือถือว่าได้อ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลนั้นให้คู่ความฝ่ายที่ขออนุญาตฎีกาฟัง เพื่อขอให้พิจารณารับฎีกาไว้วินิจฉัยก็ได้" ดังนั้น เมื่อจำเลยที่ 3 ฎีกาโดยมิได้ปฏิบัติตามมาตรา 19 วรรคหนึ่ง คำพิพากษาศาลอุทธรณ์จึงเป็นที่สุดตามมาตรา 18 วรรคหนึ่ง ที่ศาลชั้นต้นรับฎีกาของจำเลยที่ 3 จึงเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3095/2562

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดถูกระงับ หากไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนการตรวจพิสูจน์ตาม พ.ร.บ.ฟื้นฟูฯ
ในชั้นสอบสวนจำเลยถูกแจ้งข้อกล่าวหาว่ากระทำความผิด 2 ข้อหา คือ ความผิดฐานเสพยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 (เมทแอมเฟตามีน) และความผิดฐานเป็นผู้ขับขี่รถเสพยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 (เมทแอมเฟตามีน) แต่ต่อมาพนักงานอัยการจังหวัดสุพรรณบุรีมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องจำเลยในความผิดฐานเป็นผู้ขับขี่รถเสพยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 (แอมเฟตามีน) จำเลยย่อมหลุดพ้นจากผู้ต้องหาหรือมิได้ต้องหาในความผิดดังกล่าว ต่อมาได้โอนคดีให้สำนักงานอัยการคดีศาลแขวงสุพรรณบุรีฟ้องจำเลยในข้อหาความผิดฐานเสพยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 (เมทแอมเฟตามีน) เป็นคดีนี้อันต้องด้วยเงื่อนไขที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ.ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.2545 มาตรา 19 วรรคหนึ่ง ในส่วนที่บัญญัติว่า "...ถ้าไม่ปรากฏว่าต้องหาหรือไม่อยู่ในระหว่างถูกดำเนินคดีในความผิดฐานอื่นซึ่งเป็นความผิดที่มีโทษจำคุก..." ดังนี้ โจทก์จึงมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามขั้นตอนที่บัญญัติในมาตรา 19 วรรคหนึ่ง โดยให้พนักงานสอบสวนดำเนินการนำตัวจำเลยไปตรวจพิสูจน์การเสพหรือการติดยาเสพติดต่อไป เมื่อโจทก์มิได้ปฏิบัติดังกล่าวมาแต่แรกเป็นเหตุให้จำเลยต้องสูญเสียสิทธิอันพึงจะได้รับการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดตามหลักการและเหตุผลในการออก พ.ร.บ.ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ.2545 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2064/2562

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การทิ้งอุทธรณ์ในคดีอาญา: ศาลมีอำนาจจำหน่ายคดีออกจากสารบบความได้
แม้คำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้โจทก์นำส่งสำเนาอุทธรณ์ให้แก่จำเลยโดยเสียค่าธรรมเนียมในการส่งจะไม่ชอบด้วยบทกฎหมาย แต่ต่อมาเจ้าหน้าที่ศาลไม่สามารถส่งสำเนาอุทธรณ์ให้จำเลยได้เพราะไม่พบภูมิลำเนาของจำเลย การที่ศาลชั้นต้นสั่งให้โจทก์เขียนแผนที่แสดงภูมิลำเนาจำเลยเพื่อประกอบดุลพินิจก่อนจะมีคำสั่งเกี่ยวกับการส่งสำเนาอุทธรณ์ให้แก่จำเลยต่อไป จึงเป็นคำสั่งเพื่อประโยชน์ในการดำเนินกระบวนพิจารณาโดยชอบ ต่อมาเมื่อศาลชั้นต้นสั่งให้โจทก์แถลงพร้อมแผนที่สังเขป แต่โจทก์แถลงส่งแผนที่ที่ระบุเพียงว่าเป็นตึก 2 ถึง 3 ชั้น โดยไม่ระบุเลขที่บ้านของอาคารดังกล่าว ศาลชั้นต้นจึงสั่งให้โจทก์แสดงแผนที่ให้ชัดเจนอีกครั้ง โจทก์ก็ยื่นคำแถลงโดยไม่ได้ส่งแผนที่ตามคำสั่ง ศาลชั้นต้นจึงมีคำสั่งให้โจทก์ปฏิบัติตามคำสั่งเดิม โจทก์ยื่นคำแถลงและส่งแผนที่ลักษณะเดิม พฤติการณ์ของโจทก์ถือได้ว่าเป็นกรณีที่โจทก์เพิกเฉยไม่ดำเนินคดีภายในเวลาที่ศาลชั้นต้นกำหนด เป็นการทิ้งอุทธรณ์ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 174 (2), 246พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 บัญญัติให้นำวิธีพิจารณาความอาญาตามบทบัญญัติแห่ง พ.ร.บ. ดังกล่าวมาใช้บังคับในศาลชั้นต้น แต่กรณีที่ไม่มีบทบัญญัติใน พ.ร.บ. ดังกล่าวบังคับ ให้คงใช้กฎหมายว่าด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรม กฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาความอาญา กฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาความแพ่งบังคับ ซึ่งเมื่อ พ.ร.บ. ดังกล่าว และ ป.วิ.อ. ไม่มีบทบัญญัติเกี่ยวกับการทิ้งอุทธรณ์ไว้โดยเฉพาะ ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าเป็นการทิ้งอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งประกอบ พ.ร.บ. ดังกล่าว มาตรา 4 จึงชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 265/2562

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การกระทำชำเราเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี แม้ผู้เสียหายจะยินยอม ศาลพิจารณาความผิดตามมาตรา 277 วรรคหนึ่ง
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 276 (เดิม) ประกอบ 285 ซึ่งความผิดตามที่โจทก์ฟ้องรวมการกระทำที่เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 277 วรรคหนึ่ง (เดิม) อันเป็นความผิดได้อยู่ในตัวเองอยู่ด้วย เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าจำเลยกระทำผิดตาม ป.อ. มาตรา 277 วรรคหนึ่ง (เดิม) ประกอบมาตรา 285 ศาลมีอำนาจลงโทษจำเลยตามความผิดที่พิจารณาได้ความซึ่งมีอัตราโทษเท่ากันได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคท้าย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5263/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่มิชอบฝ่าฝืนระเบียบจัดซื้อเพื่ออนุมัติเอง แม้มีเหตุสมควรแต่ยังคงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157
แม้การกระทำของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนายกองค์การบริหารส่วนตำบลสระแก้วไม่ใช้การซื้อหรือการจ้างโดยวิธีพิเศษตามที่ได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมสภาองค์การบริหารส่วนตำบลสระแก้ว เพราะยังไม่ได้รับประกาศภัยพิบัติจากจังหวัดนครสวรรค์ อันไม่เข้าเงื่อนไขการซื้อหรือการจ้างโดยวิธีพิเศษตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการพัสดุขององค์การบริหารส่วนตำบล (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2544 ข้อ 17 (2) ต้องการซื้อหรือการจ้างโดยวิธีสอบราคาตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการพัสดุขององค์การบริหารส่วนตำบล (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2544 ข้อ 14 ตามที่จำเลยที่ 2 เสนอต่อจำเลยที่ 1 ซึ่งจะมีผลให้ใช้เวลาในการซื้อหรือการจ้างนานขึ้น จำเลยที่ 1 จึงไม่เห็นชอบให้ใช้การซื้อหรือการจ้างโดยวิธีสอบราคาตามที่จำเลยที่ 2 โต้แย้ง กลับสั่งการให้ใช้การซื้อหรือการจ้างโดยวิธีตกลงราคาตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการพัสดุขององค์การบริหารส่วนตำบล (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2544 ข้อ 13 เพื่อจำเลยที่ 1 จะได้มีอำนาจอนุมัติการซื้อการจ้างนั้นได้ทันที ทำให้ต้องแบ่งการซื้อผ้าห่มนวมออกเป็นสองครั้ง ครั้งละ 500 ผืน เป็นเงินครั้งละ 100,000 บาท เท่ากับจำเลยที่ 1 จงใจกระทำการอันเป็นการฝ่าฝืนต่อระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการพัสดุขององค์การบริหารส่วนตำบล (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2544 ข้อ 16 วรรคสอง ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบแล้ว แต่พยานหลักฐานของโจทก์กลับไม่ปรากฏว่า การกระทำของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวเป็นไปเพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่นอย่างใด จึงรับฟังไม่ได้ว่าเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต อย่างไรก็ดี การกระทำของจำเลยที่ 1 จงใจฝ่าฝืนต่อระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการพัสดุขององค์การบริหารส่วนตำบล (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2544 ดังกล่าวย่อมมีผลกระทบกระเทือนและก่อให้เกิดความเสียหายแก่การบริหารราชการแผ่นดินอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จึงเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด และเข้าองค์ประกอบความผิดตาม ป.อ. มาตรา 157 อยู่ดี ส่วนการทำฎีกาเบิกเงินนอกงบประมาณรายจ่ายและเอกสารประกอบครั้งที่ 2 เป็นการปฏิบัติตามหน้าที่รับรองเป็นหลักฐานซึ่งข้อเท็จจริงอันเอกสารนั้นมุ่งพิสูจน์ความจริงอันเป็นเท็จ อันเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 162 (4) หรือไม่นั้น เห็นว่า แม้ข้อเท็จจริงจะรับฟังได้ตามที่โจทก์อ้างก็ตาม การทำฎีกาเบิกเงินนอกงบประมาณรายจ่ายครั้งที่ 2 ก็เป็นเพียงการทำไว้ล่วงหน้าอันเป็นเรื่องปกติธรรมดาของการจัดทำฎีกาเบิกเงินโดยทั่วไปเท่านั้น เมื่อมีการเบิกจ่ายเงินกันจริงหาได้ไม่มีการเบิกจ่ายเงินกันตามนั้นอันเป็นความเท็จไม่ ดังนั้น แม้อาจเป็นไปเพื่อให้เป็นหลักฐานอ้างอิงว่ามีการจัดซื้อผ้าห่มนวมตามวันเวลาเกิดเหตุซึ่งไม่ตรงกับความเป็นจริงไปบ้างก็หาได้เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 162 (4) ไม่ ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 กระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 157 เท่านั้น สำหรับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 นั้นเป็นเจ้าพนักงานและเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาที่มีหน้าที่ความรับผิดชอบต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายและระเบียบของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชา แม้มีการแบ่งการซื้อหรือการจ้างออกเป็นสองครั้ง แต่การซื้อหรือการจ้างโดยวิธีตกลงราคาในแต่ละครั้งก็เป็นไปโดยชอบด้วยระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการพัสดุขององค์การบริหารส่วนตำบล (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2544 ข้อ 13 คำสั่งของจำเลยที่ 1 ในส่วนนี้จึงเป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายและระเบียบที่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ต้องถือปฏิบัติตาม ทั้งพยานหลักฐานของโจทก์ก็ไม่ปรากฏว่าการแบ่งการซื้อหรือการจ้างออกเป็นสองครั้งดังกล่าวเกิดจากจำเลยอื่นเป็นผู้เสนอต่อจำเลยที่ 1 แต่กลับปรากฏตามเอกสารหมาย จ.41 ว่าเป็นการสั่งการของจำเลยที่ 1 เอง โดยจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำของจำเลยที่ 1 ในส่วนนี้แต่อย่างใด การกระทำของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 จึงเป็นการขาดเจตนาเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดและไม่เป็นความผิดตามฟ้อง อย่างไรก็ตาม ข้อเท็จจริงตามทางนำสืบของโจทก์เองรับฟังได้ว่าทางจังหวัดนครสวรรค์ประกาศให้พื้นที่เกิดเหตุเป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติหนาวในวันที่ 14 มกราคม 2552 อันเข้าเงื่อนไขที่จะดำเนินการซื้อหรือการจ้างโดยวิธีพิเศษให้เป็นไปตามมติของที่ประชุมสภาองค์การบริหารส่วนตำบลสระแก้วได้ แต่ก็เป็นวันเดียวกับที่ได้ดำเนินการซื้อหรือการจ้างโดยวิธีตกลงราคาไปแล้ว อันแสดงว่ามีภัยพิบัติภัยหนาวเกิดขึ้นที่มีความจำเป็นต้องดำเนินการแก้ไขอย่างเร่งด่วนจริงการกระทำของจำเลยที่ 1 ที่มุ่งบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนอย่างเร่งด่วนเป็นสำคัญ แม้เป็นการผิดกฎหมาย แต่ก็มีเหตุสมควรที่จะลงโทษจำเลยที่ 1 แต่เพียงสถานเบา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2164/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การลดโทษทางอาญา: ลดโทษแต่ละกระทงก่อนแล้วจึงรวมโทษ เพื่อประโยชน์แก่จำเลยตามหลักกฎหมาย
เมื่อการกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ศาลชั้นต้นต้องลดโทษแต่ละกระทงก่อนแล้วจึงรวมโทษ เพราะ ป.อ. มาตรา 21 วรรคสอง บัญญัติว่า "หากกำหนดโทษจำคุกเป็นเดือน ให้นับสามสิบวันเป็นหนึ่งเดือน..." การกำหนดโทษ 12 เดือน จึงเท่ากับ 360 วัน แต่หากรวมโทษทุกกระทงเป็นจำคุก 2 ปี แล้วจึงลดโทษให้จำเลยกึ่งหนึ่งตาม ป.อ. มาตรา 78 คงจำคุก 1 ปี ย่อมเป็นผลร้ายแก่จำเลยมากกว่า
(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 5/2561)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4586/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การปฏิเสธความรับผิดของผู้ถือหุ้นในบริษัทจำเลยร่วม ศาลต้องพิจารณาเหตุแห่งการปฏิเสธอย่างชัดเจน
แม้ตามคำฟ้องของโจทก์จะเป็นเรื่องที่โจทก์ใช้สิทธิเรียกร้องของบริษัทจำเลยร่วมซึ่งเป็นลูกหนี้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 233 แต่ปัญหาว่าจำเลยจะต้องรับผิดต่อโจทก์ตามที่ฟ้องหรือไม่ มิได้พิจารณาแต่เพียงว่าโจทก์เป็นเจ้าหนี้ของบริษัทจำเลยร่วมซึ่งเพิกเฉยไม่ใช้สิทธิเรียกร้องที่ตนมีอยู่หรือไม่เท่านั้น แต่ยังมีประเด็นปัญหาที่ต้องพิจารณาว่าจำเลยเป็นลูกหนี้ของบริษัทจำเลยร่วมหรือไม่ เพียงใด นอกจากนี้ศาลยังต้องพิจารณาให้ได้ความว่า บริษัทจำเลยร่วมขัดขืนไม่ยอมใช้สิทธิเรียกร้องหรือเพิกเฉยไม่ใช้สิทธิเรียกร้องเอาจากจำเลยจนเป็นเหตุให้โจทก์ต้องเสียประโยชน์หรือไม่อีกด้วย จำเลยให้การว่าจำเลยไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใด ๆ ในบริษัทจำเลยร่วม และไม่ได้เป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทจำเลยร่วมโดยอ้างเหตุแห่งการปฏิเสธ คำให้การของจำเลยจึงเป็นการปฏิเสธข้ออ้างของโจทก์โดยชัดแจ้งรวมทั้งเหตุแห่งการปฏิเสธว่าจำเลยไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 177 วรรคสอง แล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2654/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การถอนฟ้องคดีอาญาโดยผลจากการตกลงในคดีแพ่ง ศาลอนุญาตได้หากเป็นการแสดงเจตนาชัดเจนและจำเลยไม่คัดค้าน
ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 35 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "คำร้องขอถอนฟ้องคดีอาญาจะยื่นเวลาใดก่อนมีคำพิพากษาของศาลชั้นต้นก็ได้ ศาลจะมีคำสั่งอนุญาตหรือมิอนุญาตให้ถอนก็ได้ แล้วแต่ศาลจะเห็นสมควรประการใด..." เท่ากับให้เป็นดุลพินิจของศาลที่จะกำหนดให้ถอนฟ้องด้วยวิธีใดแล้วแต่ศาลจะเห็นสมควร คดีนี้ศาลชั้นต้นเห็นว่า โจทก์ได้แสดงเจตนาขอถอนฟ้องไว้เป็นหนังสือแล้ว โดยไม่ได้สั่งให้โจทก์ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องเข้ามาอีก และมีการบันทึกไว้ตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้น จึงถือเป็นดุลพินิจที่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 35 วรรคหนึ่ง แล้ว
โจทก์และจำเลยตกลงท้ากันในคดีแพ่งของศาลชั้นต้น ว่าหากจำเลยคดีนี้ยอมไปสาบานตนด้วยถ้อยคำที่ตกลงกันถือว่าโจทก์คดีนี้แพ้ โจทก์ยินยอมถอนฎีกาและยินยอมจ่ายเงินจำนวน 175,000 บาท แก่จำเลย และขอแสดงเจตนาถอนฟ้องคดีอาญาที่ได้ฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ ส่วนจำเลยขอไม่ติดใจบังคับคดีตามคำพิพากษา หากจำเลยคดีนี้ไม่ไปสาบานตน จำเลยขอยอมรับข้อเท็จจริงตามคำให้การในคดีแพ่งและขอให้ศาลฎีกาพิพากษาต่อไป ทั้งขอถือเป็นการแสดงเจตนาถอนฟ้องและถอนอุทธรณ์ในคดีอาญาที่ได้ฟ้องโจทก์เป็นจำเลย แต่โจทก์คดีนี้ต้องนำเงินจำนวน 175,000 บาท มาวางศาลภายในวันที่ 3 เมษายน 2558 เมื่อปรากฏว่าโจทก์มิได้นำเงินจำนวน 175,000 บาท มาวางศาล โจทก์จึงแพ้คดีตามคำท้า อันมีผลเท่ากับโจทก์แสดงเจตนาถอนฟ้องคดีนี้ตามคำท้า การขอถอนฟ้องคดีนี้แม้จะเป็นผลประการหนึ่งอันสืบเนื่องมาจากข้อตกลงหรือการท้ากันในคดีแพ่งก็ตาม ก็หาได้ถือว่าเป็นการท้ากันในคดีอาญานี้ไม่ ดังนั้น เมื่อเป็นการขอถอนฟ้องก่อนมีคำพิพากษาของศาลชั้นต้น จำเลยไม่คัดค้านการถอนฟ้อง และศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ถอนฟ้อง กับจำหน่ายคดีออกจากสารบบความ จึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว
of 4