คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.พ.พ. ม. 11

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 268 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8816/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาโอนสิทธิเรียกร้อง: การชำระหนี้ตามสัญญาหลักและการคืนสิทธิเรียกร้องเมื่อสัญญาหลักสิ้นสุด
โจทก์กู้เงินจำเลย โดยตกลงทำสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องเงินค่าเช่าซื้อรถยนต์ที่ลูกหนี้ผู้เช่าซื้อจะชำระหนี้ให้แก่โจทก์ไปให้จำเลยเพื่อเป็นประกันการชำระเงิน และเมื่อภาระผูกพันที่โอนสิทธิเรียกร้องไปเป็นประกันได้รับชดใช้คืนครบถ้วนแล้ว จำเลยต้องโอนสิทธิเรียกร้องคืนให้แก่โจทก์ การที่สัญญาโอนสิทธิเรียกร้องมีข้อความว่า ให้สัญญานี้ใช้บังคับจนกว่าภาระผูกพันที่มีหลักประกันที่โจทก์ต้องรับผิดต่อจำเลยทั้งหมดจะได้รับการชดใช้คืนจนครบถ้วนนั้น จากถ้อยคำในสัญญาที่ว่า "สัญญาอื่นใดระหว่างผู้โอน และผู้รับโอนที่ทำขึ้นไม่ว่าเวลาใด" คำว่า "สัญญาอื่นใดที่ทำขึ้นระหว่างผู้โอนและผู้รับโอน" ซึ่งมีคู่สัญญา 2 ฝ่าย ระหว่างผู้โอนคือโจทก์ กับผู้รับโอน คือจำเลย จึงน่าจะหมายถึงสัญญากู้เงินที่ทั้ง 2 ฝ่าย จะต้องทำขึ้น ไม่ใช่หมายถึงสัญญาบริหารซึ่งเป็นสัญญาหลายฝ่าย ถ้าหากต้องการให้การโอนสิทธิเรียกร้องเป็นหลักประกันการชำระหนี้ตามสัญญาบริหารด้วย ผู้โอนและผู้รับโอนก็น่าจะกำหนดไว้โดยชัดแจ้งว่า นอกจากสัญญากู้เงินแล้ว ให้สัญญาโอนสิทธิเรียกร้องเป็นหลักประกันสัญญาบริหารด้วย เพราะหากสัญญาบริหารเป็นสัญญาหลักที่สำคัญที่ต้องใช้สิทธิเรียกร้องค่าเช่าซื้อรถยนต์เป็นหลักประกันการปฏิบัติตามสัญญาด้วย ก็ควรต้องกำหนดในสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องไว้ให้ชัดเจน การแปลสัญญาว่าสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องเป็นหลักประกันสัญญาบริหารด้วย ย่อมไม่ต้องด้วยบทบัญญัติของมาตรา 11 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งบัญญัติว่า "ในกรณีที่มีข้อสงสัย ให้ตีความไปในทางที่เป็นคุณแก่คู่กรณีฝ่ายซึ่งจะเป็นผู้ต้องเสียในมูลหนี้นั้น" ฉะนั้นเมื่อโจทก์ชำระหนี้ตามสัญญากู้ครบถ้วนแล้ว จำเลยต้องโอนสิทธิเรียกร้องทั้งหมดที่โอนไปตามสัญญากลับคืนให้แก่โจทก์
จำเลยเปิดบัญชีเงินฝากกับธนาคาร จำเลยจึงเป็นคู่สัญญาฝากเงินกับธนาคาร และย่อมมีสิทธิเรียกคืนทรัพย์สินซึ่งรับฝากตามป.พ.พ. มาตรา 665 แม้จำเลยจะโอนสิทธิและผลประโยชน์ในบัญชีเงินฝาก และสิทธิที่จะได้รับหรือถอนเงินจากบัญชีให้แก่ผู้อื่นแล้วก็ตาม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6444/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาเช่า, การคิดค่าเช่าค้างชำระ, ค่าป่วยการ, การบอกเลิกสัญญา, การรื้อถอนอาคาร
แม้หนังสือมอบอำนาจของจำเลยจะระบุข้อความให้ ผ. ลงนามในสัญญาจ้างมิใช่สัญญาเช่าก็ตาม แต่ก็มีข้อความต่อไปว่าเพื่อการอนุญาตเช่าที่ดินของการรถไฟ ฯ เพื่อตั้งสำนักงานหน่วยงานที่พักระหว่างสถานีธนบุรี - ตลิ่งชัน เมื่ออ่านข้อความทั้งหมดประกอบแล้ว ย่อมเห็นเจตนาอันแท้จริงของจำเลยได้ว่าจำเลยประสงค์มอบอำนาจให้ ผ. ไปลงนามในสัญญาเช่าที่ดินกับโจทก์
การที่ ธ. พนักงานของโจทก์ลงนามในสัญญาเช่าโดยมิได้รับมอบอำนาจจากโจทก์ แม้จะถือไม่ได้ว่าทำในฐานะผู้แทนโจทก์ แต่โจทก์ได้รับเอาผลแห่งนิติกรรมนั้นโดยได้ฟ้องขับไล่จำเลยเป็นคดีนี้ ย่อมถือว่าโจทก์ได้ให้สัตยาบันแก่การนั้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 823 วรรคหนึ่ง
แม้โจทก์ได้ยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมล่วงพ้นระยะเวลาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 88 วรรคสอง แต่มาตรา 87 (2) ได้บัญญัติว่า แต่ถ้าศาลเห็นว่าเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมจำเป็นต้องสืบพยานหลักฐานอันสำคัญซึ่งเกี่ยวกับประเด็นข้อสำคัญในคดีโดยฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติของอนุมาตรานี้ให้ศาลมีอำนาจรับฟังพยานหลักฐานเช่นว่านั้นได้เมื่อ ว. และเอกสารหมาย จ.9 เป็นพยานสำคัญในคดี ทั้งจำเลยได้มีโอกาสถามค้านและนำพยานหลักฐานเข้าสืบหักล้างพยานหลักฐานโจทก์ได้ ไม่ทำให้จำเลยต้องเสียเปรียบในเชิงคดีแต่อย่างใด การที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์ยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมได้ ซึ่งเป็นกรณีที่ถือได้ว่าศาลชั้นต้นได้พิจารณาแล้วเห็นว่าเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมในการที่จะให้การวินิจฉัยชี้ขาดประเด็นสำคัญในคดีเป็นไปด้วยความเที่ยงธรรม จำเป็นต้องสืบพยานหลักฐานสำคัญนั้น ศาลจึงมีอำนาจรับฟังคำเบิกความของ ว. และเอกสารหมาย จ.9 เป็นพยานหลักฐานของโจทก์ได้
เมื่อครบกำหนดตามสัญญาเช่าแล้ว จำเลยยังคงอยู่ในที่เช่าต่อไป โดยโจทก์รู้แล้วไม่ทักท้วง ถือว่าโจทก์และจำเลยได้ทำสัญญาเช่าใหม่ต่อไปไม่มีกำหนดเวลาตาม ป.พ.พ. มาตรา 570 ซึ่งข้อตกลงอื่นตามสัญญาใหม่ย่อมต้องเป็นไปตามสัญญาเดิม
จำเลยได้ออกจากพื้นที่เช่าเดือนมิถุนายน 2541 แล้ว โดยไม่ปรากฏว่าจำเลยขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกจากที่เช่าตั้งแต่วันที่เท่าใด คงได้ความจากหนังสือบอกเลิกสัญญาเช่าของโจทก์ว่า โจทก์กำหนดให้จำเลยขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกจากที่เช่าภายในวันที่ 14 มิถุนายน 2541 จึงต้องฟังให้เป็นคุณแก่จำเลยซึ่งจะเป็นผู้ต้องเสียในมูลหนี้นั้นว่า จำเลยขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกจากที่เช่าตั้งแต่วันที่ 14 มิถุนายน 2541

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1255/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อตกลงรับผิดชอบความเสียหายจากบัตรภาษี การทวงหนี้ และดอกเบี้ยผิดนัด
จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 2 เชื่อโดยสุจริตว่าบัตรภาษีตามฟ้องถูกต้องตามกฎหมาย ถือว่าจำเลยที่ 2 ไม่ได้ให้การต่อสู้ว่าจำเลยที่ 1 ส่งสินค้าออกนอกราชอาณาจักรจริงเพราะเหตุใด ที่จำเลยที่ 2 อุทธรณ์ว่า จำเลยที่ 1 ส่งสินค้าออกไปนอกราชอาณาจักรตามใบขนสินค้าพิพาทจริงจึงเป็นอุทธรณ์ที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลภาษีอากรกลาง ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 29 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรไม่รับวินิจฉัย
แม้จำเลยที่ 2 จะรับโอนบัตรภาษีมาโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน แต่ในการขอรับโอนสิทธิตามบัตรภาษีจำเลยที่ 2 สัญญาว่า หากปรากฏว่าการขอรับเงินชดเชยค่าภาษีอากรของผู้โอนสิทธิเกิดจากการทุจริตและเกิดความเสียหายแก่โจทก์ไม่ว่ากรณีใด จำเลยที่ 2 ผู้รับโอนยินยอมรับผิดต่อโจทก์โดยไม่มีข้อโต้แย้ง ซึ่งเป็นข้อตกลงที่ไม่มีกฎหมายบัญญัติห้ามไว้และมิใช่ความตกลงที่ทำไว้ล่วงหน้าเป็นข้อความยกเว้นมิให้โจทก์ต้องรับผิดเพื่อความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของตนตาม ป.พ.พ. มาตรา 373 และไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 จึงใช้บังคับได้ ข้อตกลงดังกล่าวจึงผูกพันจำเลยที่ 2 เมื่อความรับผิดของจำเลยที่ 2 เป็นความรับผิดในหนี้เงินอันเกิดแต่สัญญาและไม่มีกำหนดเวลาชำระหนี้ตามวันแห่งปฏิทิน จำเลยที่ 2 จึงต้องร่วมรับผิดใช้ดอกเบี้ยเมื่อผิดนัดตาม ป.พ.พ. มาตรา 204 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 224 วรรคหนึ่ง โจทก์ทวงถามให้จำเลยที่ 2 คืนเงินชดเชย 2 ครั้ง ครั้งแรกวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2547 ขอให้คืนเงินชดเชย 1,779,673.94 บาท ครั้งที่สองวันที่ 14 สิงหาคม 2547 ขอให้คืนเงินชดเชยเพิ่มเติม 307,017.61 บาท ซึ่งเป็นการทวงถามถึงเงินชดเชยคนละจำนวนกันและตามหนังสือทวงถามดังกล่าวไม่อาจทราบได้ว่าฉบับใดเป็นการทวงถามถึงเงินชดเชยตามมูลค่าบัตรภาษีในคดีนี้ ตามหนังสือทวงถามทั้งสองฉบับระบุให้คืนบัตรภาษีหรือชดใช้เงินตามมูลค่าบัตรภาษีพร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมายภายในกำหนด 15 วัน นับแต่วันที่ในหนังสือ แต่ตามใบตอบรับในประเทศเอกสารหมาย จ.1 แผ่นที่ 18 และ 19 จำเลยที่ 2 ได้รับหนังสือทวงถามดังกล่าวเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2547 และวันที่ 19 สิงหาคม 2547 ซึ่งโจทก์มิได้นำสืบให้เห็นว่าโจทก์มีเจตนาจะให้ระยะเวลาชำระหนี้เพียงใด นับได้ว่าทั้งสองกรณีมีข้อสงสัยจึงต้องตีความไปในทางที่เป็นคุณแก่ฝ่ายซึ่งจะเป็นผู้ต้องเสียในมูลหนี้นั้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 11 จึงต้องถือว่าโจทก์มีเจตนาให้จำเลยที่ 2 ชำระหนี้ภายในกำหนด 15 วัน นับแต่วันที่จำเลยที่ 2 ทราบถึงการทวงถามครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2547 ครบกำหนดแล้วจำเลยที่ 2 ไม่ชำระหนี้จึงตกเป็นผู้ผิดนัดและต้องใช้ดอกเบี้ยนับแต่วันถัดไปคือวันที่ 4 กันยายน 2547 และเมื่อจำเลยที่ 2 ต้องรับผิดต่อโจทก์ตามมูลหนี้อันเกิดแต่สัญญาตามฟ้องแล้ว ดังนี้ไม่ว่าสิทธิเรียกร้องของโจทก์จะเป็นเรื่องลาภมิควรได้หรือเรื่องละเมิดหรือไม่ก็ไม่เป็นเหตุที่จะยกประเด็นดังกล่าวตามที่จำเลยที่ 2 อุทธรณ์ขึ้นวินิจฉัยเพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8286/2550 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาค้ำประกัน: ความรับผิดจำกัดเฉพาะตำแหน่งเดิม และผลของการเปลี่ยนแปลงความเสี่ยงภัย
ตามสัญญาค้ำประกัน ข้อ 1 ระบุให้จำเลยที่ 2 ค้ำประกันจำเลยที่ 1 ซึ่งสมัครเข้าทำงานในบริษัทโจทก์ตามใบสมัครงาน ลงวันที่ 5 ตุลาคม 2525 และข้อ 2 ระบุให้จำเลยที่ 2 ยอมรับผิดชอบชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์โดยครบถ้วน หากในระหว่างที่จำเลยที่ 1 ทำงานอยู่กับโจทก์ ถ้าได้กระทำการผิดกฎหมายหรือได้กระทำความเสียหายแก่ทรัพย์สินของโจทก์หรือเป็นหนี้แก่โจทก์ โดยจำเลยที่ 2 ขอสละสิทธิของผู้ค้ำประกันที่มีอยู่ตามกฎหมายในการที่จะขอให้โจทก์เรียกร้องเอาค่าเสียหายจากจำเลยที่ 1 ก่อน จึงเป็นกรณีที่จำเลยที่ 2 ยอมผูกพันตนต่อโจทก์เพื่อชำระหนี้ ในเมื่อจำเลยที่ 2 ไม่ชำระหนี้ที่ก่อให้เกิดขึ้นสำหรับการทำงานในตำแหน่งที่ระบุไว้ในใบสมัครงาน ลงวันที่ 5 ตุลาคม 2525 ซึ่งเมื่อพิจารณาใบสมัครงานลงวันที่ 5 ตุลาคม 2525 ระบุว่าจำเลยที่ 1 สมัครงานในตำแหน่งเจ้าหน้าที่บุคคล ดังนั้น ความรับผิดที่จำเลยที่ 2 จะต้องชำระหนี้แก่โจทก์ในฐานะผู้ค้ำประกันการทำงานของจำเลยที่ 1 จะต้องเป็นกรณีที่จำเลยที่ 1 ผิดสัญญาจ้างแรงงานต่อโจทก์หรือกระทำละเมิดเกี่ยวกับการทำงานตามสัญญาจ้างแรงงานต่อโจทก์ในขณะทำงานตำแหน่งเจ้าหน้าที่บุคคลตามที่จำเลยที่ 2 ระบุในสัญญาค้ำประกันข้อ 1 ดังกล่าว แม้ว่าตามสัญญาค้ำประกัน ข้อ 4 ระบุว่าจำเลยที่ 2 ยินยอมและตกลงด้วยว่าหากโจทก์โยกย้าย แต่งตั้ง สับเปลี่ยน หรือถอดถอนจำเลยที่ 1 ไปทำงานกับบริษัทในเครือหรือสำนักงานสาขาแห่งใดให้ถือว่าสัญญาค้ำประกันนี้มีผลบังคับได้เช่นเดิมตลอดไป ก็มีความหมายเพียงว่าจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ค้ำประกันการทำงานของจำเลยที่ 1 จะต้องรับผิดต่อโจทก์เมื่อจำเลยที่ 1 กระทำความเสียหายแก่โจทก์ในระหว่างที่จำเลยที่ 1 ทำงานอยู่กับโจทก์หรือบริษัทในเครือของโจทก์ในตำแหน่งเจ้าหน้าที่บุคคลตามที่ค้ำประกันไว้เท่านั้น เมื่อปรากฏว่าปี 2526 โจทก์ให้จำเลยที่ 1 ย้ายจากตำแหน่งเจ้าหน้าที่แผนกบุคคลไปทำหน้าที่พนักงานขาย มีหน้าที่เกี่ยวกับการจำหน่ายรถยนต์ซึ่งรวมถึงการรับจ่ายเงินค่าสินค้าและอื่นๆ อันเป็นการเพิ่มความเสี่ยงภัยและความรับผิดให้แก่จำเลยที่ 2 มากขึ้นเกินกว่าที่ระบุไว้ในสัญญาค้ำประกัน ข้อ 1 แล้ว จำเลยที่ 1 ได้อนุมัติการจำหน่ายรถยนต์โดยผิดระเบียบและฝ่าฝืนวิธีการจำหน่าย แล้วทำหนังสือรับสภาพหนี้ไว้แก่โจทก์ในขณะทำหน้าที่พนักงานขายตำแหน่งผู้จัดการแผนกขาย จึงมิใช่กรณีที่จำเลยที่ 1 ผิดสัญญาจ้างแรงงานหรือกระทำละเมิดเกี่ยวกับการทำงานตามสัญญาจ้างแรงงานต่อโจทก์ในตำแหน่งเจ้าหน้าที่บุคคล จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดในฐานะผู้ค้ำประกันการทำงานของจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2762/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ดอกเบี้ยสัญญา กู้ยืมเงิน การชำระหนี้ และผลกระทบต่อผู้ค้ำประกัน
สัญญากู้ยืมเงินทั้งสองฉบับ ที่โจทก์ทำสัญญาไว้กับจำเลยที่ 1 นั้น ระบุว่าโจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยตามกฎหมายจึงเป็นกรณีมิได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้โดยชัดแจ้ง จึงต้องตีความเป็นคุณแก่ผู้กู้ซึ่งเป็นผู้ต้องเสียในมูลหนี้ โจทก์ในฐานะผู้ให้กู้จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 7 โจทก์จะนำพยานบุคคลมาสืบว่าได้มีการตกลงกันด้วยวาจาให้คิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 5 ต่อเดือนไม่ได้ ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 94 (ข) กรณีหาใช่เป็นการนำสืบถึงรายละเอียดแห่งข้อเท็จจริงในมูลกรณีที่โจทก์ฟ้องไม่
โจทก์ได้รับชำระหนี้จากจำเลยที่ 1 เป็นจำนวนเงิน 155,505 บาท แต่จำเลยที่ 1 มิได้ระบุว่าเป็นการชำระหนี้สินรายใด เมื่อหนี้สินมีจำนวน 150,000 บาท และจำนวน 30,000 บาท โดยไม่ได้กำหนดเวลาชำระหนี้ไว้ แต่หนี้สินรายแรกมีผู้ค้ำประกัน 2 ราย ส่วนหนี้รายหลังมีผู้ค้ำประกันเพียงรายเดียว หนี้สินรายหลังจึงเป็นหนี้ที่มีเจ้าหนี้มีประกันน้อยที่สุด เมื่อจำเลยที่ 1 นำเงินมาชำระแก่โจทก์ จึงต้องถือว่าหนี้รายหลังเป็นอันปลดเปลื้องไปก่อนตาม ป.พ.พ. มาตรา 328 วรรคสอง
เมื่อการชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นการชำระหนี้ที่แบ่งแยกจากกันไม่ได้ จึงมีผลถึงจำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งมิได้ฎีกาด้วยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 245 (1) ประกอบมาตรา 247

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 667/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความหนี้บัญชีเดินสะพัด, เจตนาเลิกสัญญา, การบังคับจำนอง, และขอบเขตการบังคับชำระหนี้
แม้สัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีรวมทั้งสัญญาเพิ่มวงเงินกู้เบิกเงินเกินบัญชีซึ่งต้องด้วยลักษณะของสัญญาบัญชีเดินสะพัดจะไม่มีกำหนดเวลา แต่สัญญาบัญชีเดินสะพัดเป็นเอกเทศสัญญาที่มีลักษณะเฉพาะ โดยสัญญาจะคงสภาพอยู่ต่อไปได้ก็จะต้องมีการสะพัดทางบัญชีอย่างต่อเนื่องและภายในระยะเวลาอันสมควร ข้อเท็จจริงปรากฏว่า ภ. ได้นำเงินเข้าบัญชีเพื่อหักทอนอันเป็นการเดินสะพัดทางบัญชีครั้งสุดท้าย เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2526 แล้วไม่มีการเดินสะพัดทางบัญชีกันอีกเลย นับถึงวันที่ ภ. สิ้นพระชนม์เป็นเวลานานเกือบ 12 ปี แสดงว่า ภ. มีเจตนาเลิกสัญญากับโจทก์โดยปริยายแล้ว โจทก์เป็นสถาบันการเงินมีหน้าที่ต้องตรวจตราบัญชีของลูกค้าอยู่ตลอดเวลาว่ามีการเคลื่อนไหวอย่างไร เมื่อปรากฏว่า ภ. ซึ่งเป็นลูกค้าของโจทก์ไม่มีการเคลื่อนไหวทางบัญชี โจทก์ย่อมจะต้องทวงถามหรือบอกเลิกสัญญาในเวลาอันสมควร มิใช่ถือโอกาสใช้สิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นในระยะเวลายาวนานเกินสมควรเช่นนี้ ถือได้ว่าการใช้สิทธิของโจทก์มิได้กระทำโดยสุจริต โดยถือว่าสัญญาเลิกกันตั้งแต่วันที่ ภ. มีเจตนาเลิกสัญญากับโจทก์โดยปริยายคือวันที่ 14 มีนาคม 2526 อันเป็นวันที่ ภ. เดินสะพัดทางบัญชีเป็นครั้งสุดท้าย สิทธิเรียกร้องของโจทก์ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีจึงเกิดขึ้นนับแต่นั้น สิทธิเรียกร้องตามสัญญาดังกล่าวมีกำหนดอายุความ 10 ปี โจทก์นำคดีมาฟ้องเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2539 พ้นกำหนด 10 ปี หนี้ตามสัญญาบัญชีเดินสะพัดจึงขาดอายุความ แต่อย่างไรก็ตามเมื่อปรากฏว่า ภ. ได้นำที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างมาจดทะเบียนจำนองเพื่อเป็นประกันหนี้ดังกล่าวในวงเงิน 5,500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี โดยมีข้อตกลงว่าหากโจทก์บังคับจำนองได้เงินไม่พอชำระหนี้ยอมให้บังคับเอาจากทรัพย์สินอื่นจนกว่าจะครบ ดังนี้ แม้หนี้ตามสัญญาบัญชีเดินสะพัดดังกล่าวจะขาดอายุความ แต่กรณีต้องด้วย ป.พ.พ. มาตรา 193/27 และมาตรา 745 กล่าวคือ โจทก์ซึ่งเป็นผู้รับจำนองจะบังคับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่จำนองแม้เมื่อหนี้ที่จำนองเป็นประกันนั้นขาดอายุความแล้วก็ได้ แต่จะบังคับให้ชำระดอกเบี้ยที่ค้างชำระย้อนหลังเกินกว่าห้าปีไม่ได้ และคงบังคับได้แต่เฉพาะทรัพย์สินที่ ภ. จำนองไว้เท่านั้น จะบังคับจากทรัพย์สินอื่นอีกหาได้ไม่ ถึงแม้ว่าตามสัญญาจำนองจะกำหนดให้บังคับเอาจากทรัพย์สินอื่นจนกว่าจะครบ หากบังคับจำนองได้เงินไม่พอชำระหนี้ก็ตาม
(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 3/2548)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 465/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฎีกาต้องห้ามเนื่องจากทุนทรัพย์ไม่เกินสองแสน และการโต้แย้งดุลพินิจศาลอุทธรณ์เกี่ยวกับลายมือชื่อในสัญญากู้
คดีนี้มีทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาไม่เกินสองแสนบาท ต้องห้ามมิให้ฎีกาในข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 248 วรรคหนึ่ง ที่จำเลยฎีกาว่า ข้อเท็จจริงจากการสืบพยานหลักฐานของโจทก์ยังไม่อาจรับฟังได้เป็นยุติว่า จำเลยเป็นผู้ลงลายมือชื่อในสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ. 2 จึงเป็นกรณีที่มีข้อสงสัยซึ่งต้องตีความและวินิจฉัยไปในทางที่เป็นคุณแก่จำเลยตาม ป.พ.พ. มาตรา 11 นั้น ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยเป็นผู้ลงลายมือชื่อในสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ. 2 ฎีกาของจำเลยข้อนี้จึงเป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ภาค 2 เพื่อนำไปสู่ปัญหาข้อกฎหมายที่จำเลยอ้าง ผลเท่ากับเป็นฎีกาในข้อเท็จจริงต้องห้ามมิให้ฎีกาตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
การที่โจทก์นำสืบว่าลายมือชื่อสมถวิล บุญภักดี ผู้กู้ในสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ. 2 เป็นลายมือชื่อของจำเลย แม้ชื่อตามลายมือชื่อนั้นจะไม่ตรงกับชื่อที่ถูกต้องแท้จริงของจำเลยคือ ถวิล บุญภักดี ก็ตาม แต่เป็นการนำสืบถึงตัวบุคคลผู้ทำสัญญาว่าจำเลยเป็นผู้ลงลายมือชื่อผู้กู้ตามที่ปรากฏในสัญญากู้เงินฉบับดังกล่าว ทั้งนี้เพื่อแสดงให้เห็นว่าจำเลยได้กู้เงินไปจากโจทก์และทำสัญญากู้เงินให้โจทก์ไว้ตามที่โจทก์กล่าวอ้างมาในคำฟ้อง การนำสืบของโจทก์มิได้มีผลกระทบถึงข้อความหรือข้อตกลงในสัญญากู้เงิน จึงหาใช่เป็นการนำสืบพยานบุคคลเพื่อเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสารอันจะเป็นการต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 94 (ข) ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5384/2548 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ จำนองหนี้ในอนาคต: สัญญาจำนองยังผูกพันแม้มีการชำระหนี้บางส่วน
สัญญาจำนองที่ดินระหว่างโจทก์และจำเลยมีความหมายแจ้งชัดว่า สัญญาจำนองที่ดินพิพาทนอกจากจะประกันหนี้เงินที่ ส. ได้กู้ไปจากจำเลยในขณะทำสัญญาจำนองแล้ว ยังรวมถึงเป็นประกันหนี้ที่ ส. จะกู้ไปจากจำเลยต่อไปในอนาคตด้วย หากสัญญาจำนองที่ดินพิพาทระหว่างโจทก์และจำเลยยังมีผลผูกพันอยู่ โดยจำกัดวงเงินจำนองที่โจทก์จะต้องรับผิดทั้งสิ้นไม่เกิน 260,000 บาท ซึ่งจากบทบัญญัติ ป.พ.พ. มาตรา 681 วรรคสองและมาตรา 707 เมื่อสัญญาจำนองกำหนดวงเงินจำนองที่โจทก์จะต้องรับผิดไม่เกิน 260,000 บาท แสดงให้เห็นเจตนาของโจทก์ที่จะรับผิดในหนี้จำนวนดังกล่าว หลังจากทำสัญญาจำนองที่ดินพิพาทแล้ว ส. ได้กู้เงินจำเลยจำนวน 50,000 บาท ซึ่งยังไม่เต็มวงเงินจำนอง แม้จะได้ชำระหนี้ดังกล่าวให้จำเลยครบถ้วนแล้วในวันที่ 3 มกราคม 2546 แต่เมื่อโจทก์และจำเลยไม่ได้ตกลงเลิกสัญญาจำนอง สัญญาจำนองที่ดินพิพาทยังมีผลผูกพันอยู่ไม่ระงับสิ้นไป ต่อมาวันที่ 24 มกราคม 2546 ส. ได้กู้เงินจำเลยจำนวน 130,000 บาท ซึ่งไม่เกินจำนวนวงเงินที่โจทก์จะต้องรับผิดต้องถือว่าหนี้กู้เงินครั้งหลังเป็นหนี้ในอนาคต สัญญาจำนองซึ่งเป็นหนี้อุปกรณ์ย่อมครอบคลุมถึงหนี้กู้ยืมเงินครั้งหลังอันเป็นหนี้ประธานด้วย หาจำต้องไปจดทะเบียนจำนองต่อพนักงานเจ้าหน้าที่กันใหม่อีก เมื่อสัญญาจำนองที่ดินพิพาทมีข้อความชัดเจนว่า เป็นการจำนองหนี้ในอนาคตด้วย หามีข้อสงสัยที่จะต้องตีความไปในทางที่เป็นคุณแก่คู่ความฝ่ายซึ่งจะเป็นผู้ต้องเสียในมูลหนี้นั้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 11 แต่อย่างใดไม่ การที่ ส. ค้างชำระหนี้เงินกู้ครั้งหลังที่มีอยู่แก่จำเลย โจทก์จึงมีหน้าที่จะต้องรับผิดต่อจำเลยตามสัญญาจำนองซึ่งประกันหนี้เงินกู้ดังกล่าวอยู่สัญญาจำนองยังไม่ระงับสิ้นไป จำเลยมีสิทธิที่จะไม่จดทะเบียนไถ่ถอนจำนองที่ดินพิพาทให้โจทก์ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3889/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ซื้อขายเผื่อชอบ-ยักยอก: เมื่อมีข้อสงสัยต้องยกประโยชน์ให้จำเลย
จำเลยรับนาฬิกาข้อมือจำนวน 7 เรือน ของผู้เสียหายไปเพื่อให้สามีตรวจดูโดยมีเจตนาจะซื้อขายกันและมีข้อตกลงจะใช้เวลาในการตรวจดูประมาณ 14 วัน หากจำเลยไม่ตกลงซื้อจะต้องแจ้งให้ผู้เสียหายทราบว่าไม่ซื้อหรือส่งนาฬิกาคืน ถ้าครบกำหนด 14 วัน แล้วจำเลยไม่แจ้งต่อผู้เสียหายและไม่ส่งมอบนาฬิกาคืน ย่อมถือว่าจำเลยตกลงซื้อนาฬิกาทั้ง 7 เรือน อันเป็นผลให้การซื้อขายเผื่อชอบมีผลบริบูรณ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 508 จำเลยมีหน้าที่ต้องชำระราคาให้แก่ผู้เสียหาย หากไม่ชำระผู้เสียหายต้องไปว่ากล่าวแก่จำเลยในทางแพ่งตามสัญญาซื้อขายเผื่อชอบ จำเลยไม่มีความผิดฐานยักยอก
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 33 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "ในคดีอาญา ต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิด" และ ป.วิ.อ. มาตรา 227 วรรคสอง ก็บัญญัติว่า "เมื่อมีความสงสัยตามสมควรว่าจำเลยได้กระทำผิดหรือไม่ ให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้จำเลย" ดังนั้น เมื่อมีข้อสงสัยว่าผู้เสียหายซึ่งเป็นผู้ขายให้จำเลยผู้ซื้อยืมสินค้าไปตรวจดูเพื่อตัดสินใจว่าจะซื้อหรือไม่หรือไม่เป็นกรณีที่มีการตกลงซื้อขายเผื่อชอบกันแล้ว กรณีก็ต้องยกประโยชน์ให้แก่จำเลย โดยฟังว่าข้อตกลงระหว่างผู้เสียหายกับจำเลยเป็นเรื่องสัญญาซื้อขายเผื่อชอบ จะนำ ป.พ.พ. มาตรา 11 มาใช้ตีความเพื่อลงโทษจำเลยไม่ได้ จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานยักยอก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5320-5325/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ศาลแรงงานมีอำนาจพิจารณากำหนดค่าเสียหาย แม้คำฟ้องใช้คำว่า 'ค่าชดเชยพิเศษ'
คำฟ้องของโจทก์ได้บรรยายเหตุที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่เป็นธรรมและบรรยายว่าโจทก์อายุมากแล้ว ทำงานมานาน ต้องเดือดร้อนเพราะมีภาระและการหางานใหม่ เพื่อให้ศาลใช้ประกอบการพิจารณากำหนดค่าเสียหายแก่โจทก์ และมีคำขอท้ายฟ้องให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยพิเศษ ไม่ได้ใช้คำว่าค่าเสียหาย เมื่ออ่านคำฟ้องและคำขอท้ายฟ้องโดยตลอดแล้ว ย่อมชัดเจนพอที่จะตีความได้ว่าหมายถึงขอให้พิจารณาความเสียหายและกำหนดค่าเสียหายให้แก่โจทก์ การที่ศาลแรงงานกลางตีความว่าเป็นการฟ้องเรียกค่าเสียหายเป็นการตีความโดยเพ่งเล็งถึงเจตนาอันแท้จริงยิ่งกว่าถ้อยคำสำนวนหรือตัวอักษรตาม ป.พ.พ. มาตรา 171 ไม่ใช่กรณีมีข้อสงสัยจนต้องนำมาตรา 11 มาตีความ ศาลแรงงานกลางจึงมีอำนาจพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมแก่โจทก์
of 27