พบผลลัพธ์ทั้งหมด 4 รายการ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2127/2542
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
สิทธิในที่ดิน: การขอออกโฉนดกรณีตกค้างการแจ้งการครอบครอง แม้มีเขตปฏิรูปที่ดิน
โจทก์ซื้อที่ดินพิพาทมาจาก พ.ซึ่งก่อนหน้านี้พ. ไม่ได้แจ้งการครอบครองที่ดินพิพาทตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2497 โจทก์ เข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทต่อเนื่องตลอดมา เมื่อมีการประกาศกำหนดท้องที่และวันเริ่มต้นของการเดินสำรวจ เพื่อออกโฉนดที่ดินโจทก์ไม่ได้แจ้งการครอบครองที่ดินพิพาท ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามประมวลกฎหมายที่ดินฯ มาตรา 27 ตรี เนื่องจากโจทก์เดินทางไปประกอบอาชีพที่อื่น แต่โจทก์ได้ไปพบพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อนำสำรวจรังวัดออกโฉนดที่ดินเมื่อมีการเดินสำรวจแล้ว แต่พนักงานเจ้าหน้าที่ให้รออยู่ก่อนครั้นเมื่อไปพบตามกำหนดก็ได้รับแจ้งว่าหมดโครงการเดินสำรวจแล้ว แสดงว่าเหตุขัดข้องซึ่งทำให้ไม่มีการสำรวจรังวัดที่ดินพิพาท ตามวันเวลาที่พนักงานเจ้าหน้าที่ปิดประกาศ มิใช่เป็นความผิด ของโจทก์ ดังนั้น การที่โจทก์ได้นำเจ้าพนักงานที่ดิน ไปทำการรังวัดที่ดินพิพาทเพื่อขอออกโฉนด ย่อมถือได้ว่า โจทก์ยังประสงค์จะได้สิทธิในที่ดินพิพาทและเป็นผู้ปฏิบัติตาม มาตรา 27 ตรี ซึ่งยังไม่พ้นระยะเวลาตามที่กฎหมายกำหนด การขอออกโฉนดที่ดินของโจทก์จึงเป็นกรณีผู้ตกค้างการแจ้ง การครอบครองสามารถขอออกโฉนดเป็นการเฉพาะรายได้ตาม ประมวลกฎหมายที่ดินฯ มาตรา 59 ทวิ วรรคหนึ่ง พระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2518ไม่ได้ยกเลิกสิทธิในที่ดินตามประมวลกฎหมายที่ดินฯ แต่อย่างใดเมื่อโจทก์ดำเนินการขอออกโฉนดที่ดินตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ กฎหมายกำหนดโดยจำเลยที่ 2 ได้มีหนังสือแจ้งต่อผู้ว่าราชการจังหวัด เพื่อขอรังวัดออกโฉนดที่ดินเฉพาะรายโดยมิได้แจ้งการครอบครองว่า ที่ดินพิพาทอยู่ในหลักเกณฑ์ที่จะออกโฉนดที่ดินได้และเห็นควร ออกโฉนดที่ดินให้แก่โจทก์ได้ โดยพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ทำการ รังวัดตรวจสอบรายละเอียดและดำเนินการตามระเบียบ ของคณะกรรมการจัดที่ดินแห่งชาติแล้ว จึงไม่มีเหตุที่จำเลยทั้งสองจะปฏิเสธไม่ยอมออกโฉนดที่ดินพิพาทเพียงเพื่อให้โจทก์ไป ดำเนินการขอเอกสารสิทธิในที่ดินพิพาทตาม พระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมฯ อีก เพราะโจทก์มีสิทธิดำเนินการตามประมวลกฎหมายที่ดินฯ ได้อยู่แล้ว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6193/2540
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ที่ดินเกาะต้องเป็นไปตามกฎกระทรวง หากไม่มีหลักฐานตามที่กฎหมายกำหนด จะขอออกไม่ได้
ที่ดินทั้ง 2 แปลง ที่โจทก์ขอให้มีการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์เป็นที่ดินที่ตั้งอยู่บนเกาะ การออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ย่อมตกอยู่ภายใต้บังคับของกฎกระทรวงฉบับที่ 43(พ.ศ. 2537) ออกตามความในพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2497 กล่าวคือ โจทก์ต้องมีหลักฐานแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1) มีใบจอง ใบเหยียบย่ำหนังสือรับรองการทำประโยชน์โฉนดตราจอง ตราจองที่ตราว่า"ได้ทำประโยชน์แล้ว" อย่างใดอย่างหนึ่งมาแสดงหรือโจทก์ต้องเป็นผู้มีสิทธิตามกฎหมายว่าด้วยการจัดที่ดินเพื่อการครองชีพ หรือที่ดินที่คณะกรรมการจัดที่ดินแห่งชาติได้อนุมัติให้จัดแก่ประชาชน หรือที่ดินซึ่งได้มีการจัดหาผลประโยชน์ตามมาตรา 10 และมาตรา 11 แห่งประมวลกฎหมายที่ดินโดยคณะกรรมการจัดสรรที่ดินแห่งชาติได้อนุมัติแล้ว แต่โจทก์หาได้มีหลักฐานดังกล่าว หรือหาได้เป็นผู้มีสิทธิในที่ดินตามกฎหมายกำหนดไว้ดังกล่าวแต่อย่างใดไม่ แม้โจทก์จะได้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินทั้ง 2 แปลง สืบต่อกันมาตั้งแต่ก่อนพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลที่ดิน พ.ศ. 2497 ประกาศใช้จนถึงปัจจุบัน และเป็นกรณีที่มิได้แจ้งการครอบครองที่ดินตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดินพ.ศ. 2497 อันอาจทำให้โจทก์มีสิทธิขอให้มีการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ที่ดินได้เป็นการเฉพาะรายตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 59 ทวิ ก็ตาม แต่การพิจารณาว่าที่ดินประเภทใด จะออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ให้ได้หรือไม่นั้น จะต้องอยู่ในบังคับของกฎกระทรวง ฉบับที่ 43(พ.ศ. 2537) ด้วย เมื่อปรากฏว่าที่พิพาททั้ง 2 แปลงเป็นที่เกาะและมิได้เป็นประเภทที่ดินซึ่งสามารถจะขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ได้ตามกฎกระทรวงฉบับดังกล่าวแล้วโจทก์จึงไม่มีสิทธิขอให้จำเลยออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ที่ดินทั้ง 2 แปลง ของโจทก์
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 280/2537
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
สิทธิครอบครองที่ดิน กรณีไม่แจ้งการครอบครองตามประมวลกฎหมายที่ดิน รัฐมีอำนาจจัดที่ดินได้ แต่สิทธิครอบครองไม่ระงับ
พระราชบัญญัติ ให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2497 มาตรา 5วรรคสอง เป็นบทบัญญัติที่เพียงแต่กำหนดให้รัฐมีอำนาจจัดที่ดินของผู้ครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินก่อนวันที่ประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับซึ่งมีหน้าที่แจ้งการครอบครองที่ดินแต่ไม่แจ้งการครอบครองในกำหนดก็เพื่อให้รัฐเข้าไปจัดที่ดินตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายที่ดินได้โดยผู้ครอบครองและทำประโยชน์ไม่อาจยกการครอบครองและทำประโยชน์ขึ้นยันรัฐหรือยันบุคคลผู้ได้สิทธิมาจากรัฐในการจัดที่ดินเท่านั้นตราบใดที่รัฐยังมิได้เข้าจัดที่ดินนั้นผู้นั้นย่อมมีสิทธิครอบครองอยู่ ประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 58 ทวิ และมาตรา 59 ทวิ ที่แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 96 บัญญัติให้ผู้ครอบครองที่ดินมาก่อนใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน แต่มิได้แจ้งการครอบครองไว้รวมทั้งผู้ครอบครองต่อเนื่องจากบุคคลดังกล่าวมีสิทธิขอให้ทางราชการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ได้เมื่อมีการเดินสำรวจรังวัดในท้องที่นั้นหรือเมื่อมีความจำเป็นก็อาจขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์เป็นการเฉพาะรายก็ได้ โจทก์ฟ้องว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ซึ่งได้ครอบครองต่อเนื่องจากผู้ครอบครองเดิมตลอดมาแม้มิได้แจ้งการครอบครองไว้แต่ยังมีสิทธิครอบครองอยู่จึงได้ยื่นคำร้องต่อจำเลยเพื่อให้ออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์และโฉนดที่ดินให้แก่โจทก์ จำเลยโต้แย้งว่าที่ดินที่โจทก์ครอบครองเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินและไม่ยอมออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์และโฉนดที่ดินให้แก่โจทก์ เป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์แล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 280/2537 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
สิทธิครอบครองที่ดิน กรณีไม่แจ้งการครอบครองตามกฎหมาย และการโต้แย้งสิทธิในที่ดินสาธารณสมบัติ
ที่ดินของโจทก์ทั้งห้าเป็นที่ดินมือเปล่า ซึ่งได้ครอบครองทำประโยชน์ต่อเนื่องจากผู้ครอบครองเดิมตลอดมาก่อน ประมวลกฎหมายที่ดินฯใช้บังคับ แต่โจทก์ทั้งห้ามิได้แจ้งการครอบครองไว้ แม้ภายหลังจะมีประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 96 ออกมายกเลิกความใน มาตรา 5 วรรคสองแห่ง พระราชบัญญัติ ให้ใช้ ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2497 แต่ก็ไม่มีผลบังคับย้อนหลัง โจทก์ทั้งห้าจึงไม่มีสิทธิครอบครองขึ้นมาใหม่เว้นแต่จะเข้าหลักเกณฑ์ตาม มาตรา 58 ทวิ,59 ทวิ แห่งประมวลกฎหมายที่ดินฯ และระเบียบของคณะกรรมการจัดสรรที่ดินแห่งชาติฉบับที่ 2(พ.ศ. 2515) หมวด 2 ข้อ 4 ซึ่งเป็นกรณีมีเหตุสมควรและไม่มีเจตนาฝ่าฝืน เมื่อโจทก์ทั้งห้าอ้างว่าที่ดินพิพาทเป็นของตนซึ่งได้ครอบครองต่อเนื่องจากผู้ครอบครองเดิมตลอดมา แม้มิได้แจ้งการครอบครองไว้แต่ก็ยังมีสิทธิครอบครองอยู่ตาม ประมวลกฎหมายที่ดินฯ มาตรา 58 ทวิและ 59 ทวิ และได้ยื่นคำร้องต่อจำเลยเพื่อขอให้ออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์และออกโฉนดที่ดินให้แก่โจทก์ทั้งห้า จำเลยทั้งสามโต้แย้งว่าที่ดินโจทก์ทั้งห้าครอบครองเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินและไม่ยอมออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์และโฉนดที่ดินให้แก่โจทก์ทั้งห้าย่อมเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ทั้งห้าแล้วโจทก์ทั้งห้าจึงมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสาม