คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.อ. ม. 148

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 124 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4789/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การจับกุมโดยมิชอบและการเรียกรับเงินจากผู้ถูกจับกุม ความผิดตาม ป.อ. มาตรา 149 และ 157
การที่จะเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 149 จะต้องได้ความว่าเจ้าพนักงานตำรวจจับกุม ส. โดยชอบ กล่าวคือ จับกุมขณะ ส. กำลังเล่นการพนัน แล้วหลังจากนั้นจึงเรียกรับเงินจาก ส. เพื่อที่จะไม่ดำเนินคดี เมื่อจำเลยกับพวกไม่พบการเล่นการพนันไฮโลในที่เกิดเหตุ การจับกุม ส. จึงเป็นการจับกุมโดยมิชอบ แม้จะมีการเรียกรับเงินจาก ส. การกระทำของจำเลยกับพวกก็ไม่อาจเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 149 ได้ คงเป็นความผิดตามมาตรา 148 แต่โจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องขอลงโทษในความผิดฐานดังกล่าว จึงไม่อาจลงโทษจำเลยได้เพราะต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 215 และ 225 กับ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ. 2559 มาตรา 6 วรรคหนึ่ง คงลงโทษได้ตาม ป.อ. มาตรา 157 ซึ่งเป็นบทความผิดทั่วไปเท่านั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4594/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การกระทำความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบ ต้องข่มขืนใจหรือจูงใจบุคคลอื่นที่ไม่ใช่ผู้ร่วมกระทำความผิด
ป.อ. มาตรา 148 บัญญัติว่า "ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบ ข่มขืนใจหรือจูงใจเพื่อให้บุคคลใดมอบให้หรือหามาให้ซึ่งทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดแก่ตนเองหรือผู้อื่น..." นั้น การข่มขืนใจหรือจูงใจต้องเป็นการกระทำต่อบุคคลอื่นมิใช่ผู้ที่ได้ร่วมกระทำความผิดด้วยกัน เมื่อ ธ. เป็นผู้ที่ได้ร่วมกระทำความผิดกับจําเลย จึงถือไม่ได้ว่าเป็นการข่มขืนใจหรือจูงใจบุคคลอื่นเพื่อให้มอบให้หรือหามาให้ซึ่งทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดแก่ตนเองหรือผู้อื่น การกระทำของจําเลยจึงขาดองค์ประกอบความผิดตามบทกฎหมายดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9955/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความคดีทุจริต: การตีความบทบัญญัติขยายอายุความโดยเคร่งครัด และผลกระทบต่อคดีที่เกิดขึ้นก่อนมีผลบังคับใช้
ขณะเกิดเหตุ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2554 ที่ให้เพิ่มความตามมาตรา 98 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 ซึ่งให้นำมาตรา 74/1 มาใช้บังคับโดยอนุโลมยังไม่มีผลใช้บังคับ เมื่อมาตรา 98 ประกอบมาตรา 74/1 เป็นบทบัญญัติที่มิให้นับระยะเวลาที่ผู้ถูกกล่าวหาหลบหนีรวมเป็นส่วนหนึ่งของอายุความด้วย ประกอบกับ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2554 มิได้มีบทเฉพาะกาลให้นำมาตรา 98 ประกอบมาตรา 74/1 มาใช้บังคับแก่คดีที่เกิดขึ้นก่อน พ.ร.บ.ดังกล่าวมีผลใช้บังคับ การตีความกฎหมายจึงต้องตีความโดยเคร่งครัด จะขยายความไปถึงคดีที่เกิดขึ้นก่อนวันที่ พ.ร.บ.ดังกล่าวใช้บังคับโดยที่ไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้โดยแจ้งชัดอันจะเป็นผลร้ายแก่จำเลยหาได้ไม่ เพราะจะขัดต่อความรับผิดของบุคคลในการรับโทษทางอาญา ตาม ป.อ. มาตรา 2 วรรคหนึ่ง กรณีจึงนำมาตรา 98 ประกอบมาตรา 74/1 มาใช้ย้อนหลังเป็นผลร้ายแก่จำเลยมิได้ อายุความการฟ้องคดีอาญาแก่จำเลยที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติไต่สวนแล้วมีมติแจ้งข้อกล่าวหาแก่จำเลย จึงต้องพิจารณาตามความใน ป.อ. มาตรา 95 เมื่อความผิดตาม ป.อ. มาตรา 148 ประกอบมาตรา 83 และ 86 ที่โจทก์ฟ้องมีอายุความยี่สิบปีนับแต่วันกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 95 (1) การที่โจทก์ฟ้องและได้ตัวจำเลยมาดำเนินคดีนี้เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2556 เกินกว่ายี่สิบปีนับแต่วันกระทำความผิดแล้ว คดีโจทก์จึงขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 17235/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องคดีความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการเป็นอำนาจของ ป.ป.ช. พนักงานสอบสวนไม่มีอำนาจสอบสวน
ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 4 ให้ความหมายคำว่า "เจ้าหน้าที่ของรัฐ" รวมถึงข้าราชการด้วย จำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐตาม พ.ร.บ.ดังกล่าว ไม่ว่าการกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ตามที่โจทก์ฟ้องจะเป็นความผิดต้องด้วยบทเฉพาะตาม ป.อ. มาตรา 149 ดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัย หรือเป็นความผิดต้องด้วยบทเฉพาะตาม ป.อ. มาตรา 148 ดังที่โจทก์ฎีกา แต่ก็ถือได้ว่าฟ้องโจทก์เป็นการกล่าวหาว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 กระทำความผิดฐานปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและโดยทุจริตตาม ป.อ. มาตรา 157 ซึ่งเป็นบททั่วไป และความผิดตามบทมาตราทั้งสามดังกล่าวบัญญัติไว้ในหมวด 2 ของ ป.อ. ว่าด้วยความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ฟ้องโจทก์เกี่ยวกับการกระทำของจำเลยทั้งสามในส่วนนี้จึงเป็นการกล่าวหาว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 โดยจำเลยที่ 3 เป็นผู้สนับสนุน ซึ่งมาตรา 19 (3) 43 (4) และมาตรา 88 ของ พ.ร.บ.ดังกล่าวกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริงเมื่อมีการกล่าวหาเจ้าหน้าที่ของรัฐว่ากระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ กระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม ทั้งนี้ ตามมาตรา 4 ผู้ถูกกล่าวหายังหมายความรวมถึงตัวการ ผู้ใช้ หรือผู้สนับสนุนการกระทำดังกล่าวด้วย โดยกฎหมายกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่โดยเฉพาะของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในการไต่สวนข้อเท็จจริงกรณีดังกล่าว แทนการให้พนักงานสอบสวนมีอำนาจสอบสวนตาม ป.วิ.อ. ดังเช่นคดีอาญาอื่นๆ การที่พนักงานสอบสวนทำการสอบสวนในข้อหาความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการจึงเป็นการสอบสวนโดยมิชอบ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสามในความผิดตามข้อหาดังกล่าว
แม้ต่อมาจะมี พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2554 ยกเลิกความในมาตรา 19 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 และให้ใช้ข้อความใหม่แทน โดยมาตรา 19 (4) ที่แก้ไขใหม่ บัญญัติให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีอำนาจหน้าที่ไต่สวนและวินิจฉัยว่าผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอื่นซึ่งไม่ใช่บุคคลตาม (2) หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐตั้งแต่ผู้บริหารระดับสูงหรือข้าราชการซึ่งดำรงตำแหน่งตั้งแต่ผู้อำนวยการกองร่ำรวยผิดปกติ กระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ หรือความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม หรือความผิดที่เกี่ยวข้องกัน รวมทั้งดำเนินการกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือข้าราชการในระดับต่ำกว่าที่ร่วมกระทำความผิดกับผู้ดำรงตำแหน่งดังกล่าว หรือกับผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หรือที่กระทำความผิดในลักษณะที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. เห็นสมควรดำเนินการด้วย และตาม พ.ร.บ.มาตรการของฝ่ายบริหารในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2551 มาตรา 17 (4) บัญญัติให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตภาครัฐ (คณะกรรมการ ป.ป.ท.) มีอำนาจหน้าที่ไต่สวนข้อเท็จจริงและชี้มูลเกี่ยวกับการกระทำทุจริตในภาครัฐของเจ้าหน้าที่ของรัฐ เป็นผลให้การกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ซึ่งไม่ได้เป็นข้าราชการที่ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการกองหรือสูงกว่าผู้อำนวยการกอง ไม่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ก็ตาม แต่อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ ป.ป.ช. และอำนาจสอบสวนของพนักงานสอบสวน รวมตลอดถึงอำนาจของพนักงานอัยการในการยื่นฟ้องคดี ย่อมเป็นไปตามบทบัญญัติของกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น กรณีจึงต้องบังคับใช้ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 ฉบับเดิม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10616/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การแก้ไขโทษทางอาญา: ศาลอุทธรณ์ปรับลดโทษและวรรคของบทความผิด จำเลยฎีกาไม่ได้ในข้อเท็จจริง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 148, 157 ประกอบมาตรา 86, 83 และมาตรา 337 ประกอบมาตรา 83 การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทลงโทษตาม ป.อ. มาตรา 148 ประกอบมาตรา 86, 83 อันเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตาม ป.อ. มาตรา 90 จำคุก 10 ปี กับให้จำเลยใช้เงิน 70,000 บาทแก่ผู้เสียหาย ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่าจำเลยมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 148 ประกอบมาตรา 86 และมาตรา 337 วรรคแรก ประกอบมาตรา 83 ให้จำคุก 5 ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น เป็นการปรับบทลงโทษจำเลยในความผิดฐานสนับสนุนให้เจ้าพนักงานตำรวจใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบ ข่มขืน หรือจูงใจให้บุคคลใดมอบให้ หรือหามาให้ซึ่งทรัพย์สินแก่ตนเองหรือผู้อื่น และระบุวรรคในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 337 เป็นการแก้ไขเพียงแต่ปรับบทกำหนดโทษและปรับวรรคของบทความผิดให้ถูกต้อง โดยมิได้แก้ฐานความผิดแต่อย่างใด แม้จะแก้โทษด้วยก็ถือเป็นการแก้ไขเล็กน้อย เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 2 ยังคงลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกิน 5 ปี จึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2573/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ: เจ้าพนักงานตำรวจข่มขืนใจเพื่อรับเงิน แต่ผู้เสียหายวางแผนจับกุม ศาลแก้ไขเป็นพยายามกรรโชก
จำเลยซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตำรวจกองปราบปรามขู่ให้โจทก์ร่วมนำเงินมามอบให้โดยอ้างว่าเพื่อลบชื่อโจทก์ร่วมออกจากบัญชีผู้ค้ายาเสพติดของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด และเพื่อที่จะไม่จับกุมโจทก์ร่วม จึงเป็นความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการฐานเป็นเจ้าพนักงานใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบข่มขืนใจและจูงใจเพื่อให้โจทก์ร่วมมอบให้ซึ่งทรัพย์สินแก่ตนเอง แต่การที่โจทก์ร่วมนำเงินไปมอบให้แก่จำเลยก็เพื่อที่จะให้เจ้าพนักงานจับกุม แสดงว่าโจทก์ร่วมไม่ได้กลัวคำขู่ของจำเลย ยังถือไม่ได้ว่าจำเลยข่มขืนใจโจทก์ร่วมจนโจทก์ร่วมยอมเช่นว่านั้น การกระทำของจำเลยเป็นเพียงความผิดฐานพยายามกรรโชก แม้จำเลยจะไม่ได้ฎีกาในปัญหานี้ แต่เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจแก้ไขให้ถูกต้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2389/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เจ้าพนักงานที่ดินแนะนำการจัดการมรดก ไม่ถือเป็นการใช้อำนาจในทางมิชอบ
แม้ว่าจำเลยจะเป็นเจ้าพนักงานที่ดิน มีหน้าที่ในการดำเนินการเรื่องการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับที่ดิน แต่การที่จำเลยแนะนำผู้เสียหายว่าต้องดำเนินการร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกก่อนและรับติดต่อทนายความเพื่อดำเนินการร้องขอจัดการมรดกนั้นหาใช่เป็นการใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบ หรือเป็นการปฏิบัติการหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตาม ป.อ. มาตรา 148 และมาตรา 157 ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 166/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เจ้าพนักงานตำรวจใช้อำนาจหน้าที่มิชอบเรียกรับเงินเพื่อปล่อยตัวผู้ถูกจับกุม
เมื่อผลการตรวจค้นตัว ว. ไม่พบสิ่งของผิดกฎหมาย จึงไม่มีเหตุอันควรสงสัยว่า ว. ได้กระทำความผิดฐานมียาเสพติดให้โทษไว้ในครอบครองต่อไปอีก จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตำรวจไม่มีอำนาจจับกุม ว. สมควรที่จำเลยที่ 1 จะต้องปล่อยตัว ว. ไป การที่จำเลยที่ 1 ยังจับกุม ว. จากศาลาท่าน้ำนำตัวไปไว้ที่สะพานข้ามคลองแสนแสบจึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ
วันเกิดเหตุจำเลยที่ 2 ออกปฏิบัติหน้าที่คู่กับจำเลยที่ 1 โดยใช้รถจักรยานยนต์คันเดียวกับจำเลยที่ 1 และอยู่ด้วยกันกับจำเลยที่ 1 ตั้งแต่เริ่มตรวจค้นจับกุมจนกระทั่งปล่อยตัว ว. ขณะที่จำเลยที่ 1 ขับรถจักรยานยนต์นำ ว. ไปที่ใต้สะพานข้ามคลองแสนแสบโดย ว. นั่งกลาง จำเลยที่ 2 นั่งซ้อนท้ายมีลักษณะควบคุมตัว ว. ไม่ให้หลบหนีทั้งระหว่างที่จำเลยที่ 1 เรียกร้องเงินจนถึงรับเงินจาก ว. จำเลยที่ 2 ก็อยู่ในบริเวณเดียวกันนั้น เมื่อได้รับเงินแล้วจำเลยที่ 2 ก็นั่งรถจักรยานยนต์ออกไปจากที่เกิดเหตุพร้อมกับจำเลยที่ 1 พฤติการณ์ดังกล่าวฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 เป็นตัวการร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 1

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3470/2543

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดเจ้าพนักงานเรียกรับทรัพย์สิน-ปฏิบัติ/ละเว้นหน้าที่โดยทุจริต-กรรโชก: ศาลลงโทษตามบทเฉพาะได้ แม้ฟ้องผิด
จำเลยทั้งสามเป็นเจ้าพนักงานตำรวจตำแหน่งลูกแถว กองกำกับการอารักขาและรักษาความปลอดภัย กองบังคับการสายตรวจและปฏิบัติการพิเศษกองบัญชาการตำรวจนครบาล ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตำรวจมีอำนาจหน้าที่สืบสวนจับกุมผู้กระทำผิดอาญา เมื่อได้พบและกล่าวหาว่าผู้เสียหายให้ที่พักอาศัยแก่คนต่างด้าวโดยไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย อันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมืองฯ จึงไม่ใช่การกลั่นแกล้งกล่าวหาว่าผู้เสียหายกระทำผิดอาญาโดยไม่มีมูลความผิดการที่จำเลยทั้งสามปฏิบัติการไปตามหน้าที่ดังกล่าวโดยชอบแล้ว กลับไม่จับกุมแต่ขู่เข็ญเรียกร้องเอาเงินแล้วละเว้นไม่จับกุมผู้เสียหาย การกระทำของจำเลยทั้งสามจึงไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 148 แต่การที่จำเลยทั้งสามขู่เข็ญเรียกร้องเอาเงินจากผู้เสียหายภายหลังเช่นนี้ย่อมเป็นความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานเรียกรับทรัพย์สินในตำแหน่งโดยมิชอบด้วยหน้าที่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149 คดีนี้โจทก์มิได้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149 อันเป็นบทเฉพาะมาด้วย แต่โจทก์ได้บรรยายฟ้องว่าเมื่อพบการกระทำผิดซึ่งจำเลยทั้งสามมีหน้าที่จับกุมผู้กระทำผิด แต่กลับร่วมกันปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตโดยข่มขืนใจผู้เสียหายให้มอบเงินดังกล่าว อันเป็นการใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบคำบรรยายฟ้องดังกล่าวจึงเข้าองค์ประกอบความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149 แม้คำขอท้ายฟ้องโจทก์จะอ้าง บทมาตราความผิดตามบทเฉพาะตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 148แต่เมื่อคำบรรยายฟ้องและข้อเท็จจริงที่พิจารณาได้ความว่าการกระทำของจำเลยทั้งสามเป็นความผิดตามบทเฉพาะตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 149 แล้ว จึงถือว่าโจทก์อ้างฐานความผิดหรือบทมาตราผิด ศาลมีอำนาจลงโทษจำเลยตามฐานความผิดที่ถูกต้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคห้า
จำเลยทั้งสามร่วมกันขู่เข็ญเรียกร้องเอาเงินจากผู้เสียหาย เพื่อที่จะละเว้นไม่จับกุมผู้เสียหายไปดำเนินคดี จนผู้เสียหายกลัวว่าจะถูกจับกุมอันจะเป็นอันตรายต่อเสรีภาพของตน จึงยอมจะให้เงินแก่จำเลยทั้งสามนั้นเป็นความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ซึ่งเป็นบททั่วไปและฐานกรรโชกตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 337 วรรคแรก ด้วย หาใช่เป็นเรื่องที่เมื่อเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149 แล้วจะ ไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และมาตรา 337 ด้วยไม่ เพียงแต่เมื่อเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149ซึ่งเป็นบทเฉพาะแล้วก็ไม่จำต้องปรับบทตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ซึ่งเป็นบททั่วไปอีกเท่านั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1170/2542

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เจ้าพนักงานใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่โดยมิชอบเรียกรับเงินจากผู้ประกอบการ
เมื่อพฤติการณ์ของจำเลยฟังได้ว่าจำเลยมีเจตนามาแต่แรกที่จะกระทำทุจริตโดยใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่ของตนโดยมิชอบจูงใจให้โจทก์ร่วมมอบเงินให้แก่จำเลยการกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 148 ซึ่งเป็นบทเฉพาะแล้วไม่จำเป็นต้องปรับบทความผิดตามมาตรา 157 ซึ่งเป็นบททั่วไปอีก ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149 เป็นเรื่องที่ เริ่มต้นโดยใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่ของตนโดยชอบแล้วกลับทุจริตในภายหลัง การที่จำเลยกับพวกยึดไม้ของกลาง130 ชิ้น และกล่าวหาโจทก์ร่วมว่ามีไม้หวงห้ามแปรรูปไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต แต่ในทางนำสืบของโจทก์ และโจทก์ร่วมไม่ได้ความแน่ชัดว่า เมื่อจำเลยกล่าวหาโจทก์ร่วม แล้วจำเลยได้เรียกเงินจากโจทก์ร่วมเพื่อมิให้ดำเนินคดี แก่โจทก์ร่วมจริงหรือไม่ จึงยังไม่พอฟังลงโทษจำเลย ในความผิดฐานนี้
of 13