คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.พ.พ. ม. 609 วรรคสอง

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 4 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5849/2537 เวอร์ชัน 3 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดของผู้ขนส่งทอดสุดท้ายในความเสียหายของสินค้า
นอกจากจำเลยจะปฏิบัติหน้าที่ทางเอกสารที่เกี่ยวข้องกับหน่วยราชการต่าง ๆ แทนบริษัทผู้ขนส่งที่อยู่ต่างประเทศแล้ว จำเลยยังเป็นผู้จัดการในการขนถ่ายสินค้าจากเรือใหญ่ลงเรือฉลอมแล้วนำเข้ามาที่โรงพักสินค้าเพื่อส่งมอบให้ผู้ซื้อสินค้าซึ่งเป็นผู้รับตราส่งอีกด้วย เข้าลักษณะร่วมขนส่งเพื่อให้สินค้าถึงมือผู้ซื้อในการขนส่งช่วงสุดท้าย จำเลยจึงเป็นผู้ขนส่งทอดสุดท้ายซึ่งต้องร่วมรับผิดในความเสียหายของสินค้าด้วย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 618 ซึ่งเป็นบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งกับการรับขนของทางทะเลในขณะเกิดข้อพิพาท ทั้งนี้ไม่ว่าความเสียหายจะเกิดขึ้นตอนใดในระหว่างการขนส่งและจำเลยจะได้เป็นผู้ทำให้เกิดความเสียหายนั้นหรือไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5287/2537 เวอร์ชัน 3 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ขอบเขตความรับผิดของผู้แทนขนส่งทางทะเล: ไม่เป็นผู้ขนส่ง
จำเลยมิใช่ผู้ออกใบตราส่งและไม่ได้เข้าไปเกี่ยวข้องโดยตรงกับการขนส่งสินค้า ไม่ว่าจะเป็นในระหว่างทางหรือเมื่อเรือมาถึงท่าเรือปลายทางแล้วการเกี่ยวข้องของจำเลยเพียงเป็นตัวแทนของผู้ขนส่งที่อยู่ต่างประเทศและไม่มีภูมิลำเนาในประเทศไทย โดยจำเลยเป็นผู้แจ้งการมาถึงของเรือผู้ขนส่งให้ผู้รับตราส่งทราบและให้ผู้รับตราส่งนำใบตราส่งไปเปลี่ยนเป็นใบปล่อยสินค้า จำเลยเป็นผู้ออกใบปล่อยสินค้าและติดต่อกรมศุลกากรเพื่อเปิดระวางเรือ แจ้งกรมเจ้าท่าเพื่อให้นำเรือเข้าเทียบท่าเรือปลายทาง และแจ้งกองตรวจคนเข้าเมืองเพื่อให้เจ้าหน้าที่มาตรวจคนที่มากับเรือ ซึ่งการเหล่านี้มิใช่การขนส่ง แต่เป็นงานเกี่ยวกับเอกสารหรือการติดต่อกับบุคคลต่าง ๆ ซึ่งเจ้าของเรือหรือบริษัทผู้ขนส่งมิได้กระทำโดยตนเอง หากแต่ได้มอบหมายให้จำเลยทำแทนเท่านั้น การกระทำต่าง ๆ ดังกล่าวของจำเลยจึงมิใช่ลักษณะการร่วมเป็นผู้ขนส่งสินค้าหรือเป็นผู้ขนส่งหลายคนหลายทอด ตาม ป.พ.พ.มาตรา 618 อันเป็นบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งที่จะยกมาปรับแก่คดีรับขนของทางทะเลในขณะเกิดข้อพิพาทคดีนี้ซึ่งยังไม่มีกฎหมายและกฎข้อบังคับว่าด้วยการนั้นดังที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 609 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 4 จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดในความชำรุดเสียหายของสินค้าที่ขนส่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2930/2537 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดของผู้ขนส่งสินค้าล่าช้าและการชดใช้ค่าเสียหายจากความเสียหายของสินค้าอันเกิดจากราคาตลาด
ขณะเกิดข้อพิพาทคดีนี้ พ.ร.บ.การรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 ยังไม่ได้ประกาศใช้ และไม่ปรากฏจารีตประเพณีแห่งท้องถิ่นเกี่ยวกับการรับขนของทางทะเล ศาลจึงจำต้องวินิจฉัยคดีนี้โดยอาศัยเทียบบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ.มาตรา 616 อันเป็นบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งตาม ป.พ.พ.มาตรา 4 คดีนี้จำเลยทราบล่วงหน้าก่อนตกลงรับขนว่าโจทก์ประสงค์จะให้ขนส่งสินค้าของโจทก์โดยเร็ว จึงมีการเปลี่ยนจากเรือ อ.เป็นเรือ ป. แต่ปรากฏว่าเรือ ป.แล่นออกจากประเทศไทยล่าช้าถึง 1 สัปดาห์ จึงทำให้เรือแล่นไปถึงท่าเรือปลายทางต้องล่าช้าไปด้วย ดังนี้ การส่งมอบสินค้าแก่ผู้รับสินค้าปลายทางล่าช้าเป็นเพราะจำเลยเริ่มทำการขนส่งสินค้าล่าช้าเอง มิได้เกิดแต่เหตุสุดวิสัย จำเลยจึงต้องรับผิดในความเสียหายของโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 616
ความเสียหายมิได้เกิดจากตัวสินค้าข้าวโพด หากแต่เกิดจากราคาสินค้าข้าวโพดในตลาดไต้หวันตกต่ำลงในขณะที่มีการส่งมอบชักช้า ผู้ซื้อที่ไต้หวันจึงอาจเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอันเกิดแต่การส่งมอบสินค้าข้าวโพดชักช้าผิดเวลานั้นได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 215 เมื่อโจทก์ได้ใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้ซื้อไปแล้ว จำเลยผู้ขนส่งจึงต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายนั้นแก่โจทก์ ส่วนค่าเสียหายซึ่งเป็นดอกเบี้ยที่โจทก์ชำระให้แก่ธนาคารในประเทศไทยนั้นไม่ใช่ค่าเสียหายเช่นที่ตามปกติย่อมเกิดจากการที่จำเลยส่งมอบสินค้าชักช้า และมิใช่ค่าเสียหายอันเกิดแต่พฤติการณ์พิเศษที่จำเลยได้คาดเห็นหรือควรจะได้คาดเห็นพฤติการณ์เช่นนั้นล่วงหน้า ตาม ป.พ.พ. มาตรา 222 เนื่องจากไม่ปรากฏว่าขณะโจทก์และจำเลยทำสัญญารับขนสินค้า และขณะที่จำเลยส่งมอบสินค้าดังกล่าวชักช้า จำเลยได้ทราบอยู่แล้วว่าหากธนาคารในไต้หวันยังไม่จ่ายเงินตามเลตเตอร์ออฟเครดิตแก่ธนาคารในประเทศไทย โจทก์จำเป็นต้องขอเบิกเงินค่าสินค้าจากธนาคารในประเทศไทยไปก่อนโดยโจทก์ต้องเสียดอกเบี้ยแก่ธนาคารดังกล่าวด้วย จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดใช้ค่าเสียหายส่วนนี้ให้โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2929/2537 เวอร์ชัน 3 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดของผู้รับขนส่งทางทะเล กรณีสินค้าสูญหายจากความประมาท ไม่ใช่เหตุสุดวิสัย
โจทก์บรรยายฟ้องว่า สินค้าของโจทก์เป็นเส้นใยฝ้ายจำนวน408 กล่อง น้ำหนัก 2,900 กิโลกรัม สูญหายทั้งหมด ซึ่งจำเลยก็ให้การรับว่าสินค้าของโจทก์ตกลงไปในทะเลและสูญหายทั้งหมด แสดงว่าจำเลยเข้าใจข้อหาได้ดีแล้ว รายการสินค้าที่เสียหายมีอย่างไร เป็นรายละเอียดที่โจทก์สามารถนำสืบได้ในชั้นพิจารณา หาจำต้องบรรยายมาในฟ้องไม่ ฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม
คดีนี้เป็นเรื่องรับขนของทางทะเล ซึ่งขณะเกิดข้อพิพาท พ.ร.บ.การรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 ยังไม่มีผลใช้บังคับ ทั้งไม่ปรากฏคลองจารีต-ประเพณีแห่งท้องถิ่นว่าด้วยรับขนของทางทะเล จึงต้องวินิจฉัยคดีโดยอาศัยเพียงบท-กฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่ง ตามมาตรา 4 แห่ง ป.พ.พ. อันได้แก่ บทบัญญัติตามป.พ.พ. บรรพ 3 ลักษณะ 8 รับขน มาตรา 616 ซึ่งบัญญัติว่า ผู้ขนส่งจะต้องรับผิดในการที่ของอันเขาได้มอบหมายแก่ตนนั้นสูญหาย เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าการสูญหายนั้นเกิดแต่เหตุสุดวิสัย เมื่อปรากฏว่า การบรรทุกสินค้าของจำเลยไม่รัดกุมพอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้อุปกรณ์ผูกรัดตลอดจนวิธีการผูกรัดตู้คอนเทนเนอร์ไม่มั่นคงพอที่จะป้องกันความเสียหายอันเกิดจากคลื่นลมแรงได้ ซึ่งเป็นที่แน่นอนว่าการขนส่งสินค้าทางทะเลโดยเรือสินค้า มรสุมคลื่นลมแรงในทะเลย่อมเป็นเรื่องที่อาจเกิดขึ้นเมื่อใดก็ได้ ทั้งไม่ปรากฏว่าไม่อาจหาวิธีการอื่นใดในการผูกรัดและป้องกันการตกลงไปในทะเลของตู้คอนเทนเนอร์ให้ดีกว่าที่ปฏิบัติแล้วได้ และก่อนที่เรือจำเลยจะออกจากช่องแคบอังกฤษ ได้ทราบข่าวการพยากรณ์อากาศว่าจะเกิดคลื่นลมแรงแล้ว ดังนั้น หากนายเรือของจำเลยจะหยุดเรืออยู่ที่ช่องแคบอังกฤษรอจนกว่าคลื่นลมในอ่าวบิสเคย์สงบก่อน จึงค่อยออกเรือต่อไป ภัยพิบัติก็จะไม่เกิด จึงเป็นเรื่องที่นายเรือของจำเลยจะป้องกันได้ การที่นายเรือจำเลยอ้างว่าได้ทราบพยากรณ์-อากาศแล้วยังเดินเรือต่อไป เพราะเห็นว่าไม่เป็นอันตรายสำหรับเรือขนาดบรรทุก 20,500 ตัน นับว่าเป็นความประมาทของนายเรือจำเลยโดยแท้ ฉะนั้นจึงมิใช่เหตุสุดวิสัย เมื่อจำเลยมีภาระในการพิสูจน์ถึงเหตุสุดวิสัยเพื่อให้พ้นความรับผิดตาม ป.พ.พ. มาตรา 616 แต่นำสืบไม่ได้ตามคำให้การ จำเลยก็ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์