พบผลลัพธ์ทั้งหมด 44 รายการ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11294/2556
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
อายุความสิทธิเรียกร้องจากการซื้อขายต้นกล้ายางพารา: เกษตรกร, การเพาะเลี้ยง, และระยะเวลาตามกฎหมาย
โจทก์กับจำเลยต่างอยู่ในฐานะผู้ประกอบเกษตรกรรมตามความหมายของ ป.พ.พ. มาตรา 193/34 (2) แต่เนื่องจากลักษณะการดำเนินการระหว่างกันเป็นเรื่องที่โจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้ได้ส่งมอบต้นตอยางพาราและวัสดุแก่จำเลยผู้เป็นลูกหนี้ เพื่อให้จำเลยนำไปเพาะเลี้ยงให้เป็นต้นกล้ายางพาราชำถุงแล้วนำมาขายคืนแก่โจทก์ โดยหักราคาค่าต้นตอยางพารากับค่าวัสดุที่รับไปก่อนนั้นกับต้นกล้ายางพาราที่นำมาส่งมอบ ต้นตอยางพาราที่จำเลยรับไปจากโจทก์เพื่อให้จำเลยเพาะเลี้ยงแล้วนำมาขายคืนแก่โจทก์นั้นเป็นการที่ได้ทำเพื่อกิจการของจำเลยผู้เป็นลูกหนี้นั้นเอง สิทธิเรียกร้องของโจทก์จึงไม่ตกอยู่ในบังคับอายุความ 2 ปี ตามบทกฎหมายดังกล่าว แต่ตกอยู่ในบังคับอายุความ 5 ปี ตามมาตรา 193/33 (5)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9769/2556
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การรับฟังพยานหลักฐานในคดีอาญา การพิจารณาพยานเอกสาร และการพิสูจน์ความผิดฐานฆ่าผู้อื่น
การที่ศาลกำหนดให้มีการนัดตรวจพยานหลักฐานก่อนวันที่จะมีการสืบพยานกันจริง ๆ เป็นกระบวนการเพื่อให้การดำเนินคดีมีความพร้อมมิได้มีผลถึงกับทำให้กระบวนพิจารณารับฟังไม่ได้ ส่วนเอกสารที่จำเลยอ้างว่าโจทก์นำเสนอต่อศาลโดยไม่ปรากฏชื่อ ที่อยู่ของพยานนั้น โจทก์ได้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับชื่อและที่อยู่ของพยานบางคน และสถานที่ที่พยานบางคนรับราชการอยู่ซึ่งมีความละเอียดเพียงพอให้รู้ว่าเป็นบุคคลใดบ้าง และพยานบางอันดับก็เป็นบันทึกคำให้การของพยาน ซึ่งโจทก์ไม่จำต้องให้จำเลยตรวจหรือคัดสำเนาเอกสารก่อนสืบพยาน ทั้งการไม่ได้ปฏิบัติดังกล่าวของโจทก์ก็มิได้ทำให้จำเลยเสียโอกาสในการต่อสู้คดีแต่อย่างใด นอกจากนี้ศาลชั้นต้นก็ได้อนุญาตให้จำเลยคัดสำเนาเอกสารได้ตามที่ขอโดยตลอด ศาลชั้นต้นจึงมีอำนาจในการรับฟังพยานเอกสารดังกล่าวของโจทก์ได้ เมื่อจำเลยนำสืบปฏิเสธโดยอ้างฐานที่อยู่ลอย ๆ โดยไม่มีพยานบุคคลซึ่งมิได้ให้การไว้ในชั้นสอบสวนมาเบิกความเป็นพยาน พยานหลักฐานของจำเลยจึงไม่มีน้ำหนักรับฟังหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ได้ พยานหลักฐานของโจทก์มีน้ำหนักมั่นคงรับฟังได้ว่า จำเลยกระทำความผิดฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8760/2556
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
อายุความฟ้องเรียกเงินส่วนต่างราคารถ กรณีส่งมอบรถไม่ตรงรุ่น: อายุความ 10 ปี ไม่ใช่ 1 ปี
โจทก์ฟ้องขอให้ศาลบังคับจำเลยคืนเงินส่วนต่างของราคาที่เกินไป อันสืบเนื่องมาจากที่จำเลยซึ่งเป็นผู้ขายมิได้ส่งมอบรถให้ตรงตามรุ่นตามความประสงค์ของผู้ซื้อโดยมีผลต่างราคากันอยู่เป็นเงิน 94,000 บาท กรณีดังกล่าวย่อมไม่ถือว่าเงินส่วนที่โจทก์ชำระเกินไปดังกล่าวเป็นเงินที่จำเลยได้มาเพราะการที่โจทก์กระทำเพื่อชำระหนี้โดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้ อันจะถือได้ว่าเป็นลาภมิควรได้ที่ตกแก่จำเลยซึ่งโจทก์จะต้องใช้สิทธิเรียกร้องเอาเงินคืนจากจำเลยเสียภายในกำหนดอายุความ 1 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 419 และกรณีดังกล่าวไม่มีกฎหมายว่าด้วยอายุความบัญญัติไว้โดยเฉพาะ จึงต้องบังคับตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 ซึ่งมีอายุความ 10 ปี นับแต่วันที่โจทก์อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6608-6609/2556
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
อำนาจการฟ้องคดีอาญาต่อแผ่นดิน: การสอบสวนและการดำเนินคดีโดยพนักงานอัยการ
ความผิดตาม ป.อ. มาตรา 157, 162 (1) (4) ที่โจทก์ฟ้องและศาลลงโทษจำเลยที่ 10 เป็นความผิดอาญาต่อแผ่นดิน อันมิใช่ความผิดต่อส่วนตัวที่ห้ามพนักงานสอบสวนทำการสอบสวนเว้นแต่จะมีคำร้องทุกข์ตามระเบียบตาม ป.วิ.อ. มาตรา 121 วรรคสอง เมื่อมีความผิดอาญาเกิดขึ้น หรืออ้าง หรือเชื่อว่าได้เกิดขึ้น และก่อให้เกิดความเสียหายต่อประชาชนหรือหน่วยงานของรัฐ ย่อมเป็นหน้าที่โดยตรงของเจ้าพนักงานตำรวจที่จะต้องสืบสวนจับกุมผู้กระทำความผิดให้พนักงานสอบสวนทำการสอบสวนเพื่อเอาความผิดแก่ผู้กระทำความผิดอาญาทั้งปวงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 18, 19 ประกอบมาตรา 121 วรรคหนึ่ง ไม่ว่าจะมีผู้เสียหายร้องทุกข์หรือมีผู้กล่าวโทษผู้กระทำความผิดหรือไม่ ดังนั้น แม่ทัพภาค 2 จะมีอำนาจในการมอบอำนาจให้บุคคลใดไปทำการร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนหรือไม่ จึงไม่จำต้องวินิจฉัย เมื่อมีการสอบสวนในความผิดที่ได้ฟ้องซึ่งเป็นคดีอาญาต่อแผ่นดินแล้ว โจทก์ซึ่งเป็นพนักงานอัยการย่อมมีอำนาจฟ้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 120
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6337/2556
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ผลของข้อตกลงแบ่งทรัพย์สินก่อนจดทะเบียนหย่า: เช็คยังไม่มีผลผูกพันจนกว่าการหย่าสมบูรณ์
ตามข้อตกลงในเอกสารหมาย จ.1 หรือ ล.2 ทั้งสองฝ่ายแสดงเจตนาว่า จะหย่ากันตามกฎหมาย โดยจะไปจดทะเบียนหย่ากันต่อไป ซึ่ง ป.พ.พ. มาตรา 1514, 1515 และ 1532 บัญญัติความว่า การหย่านั้นจะทำได้แต่โดยความยินยอมของทั้งสองฝ่าย... การหย่าโดยความยินยอมต้องทำเป็นหนังสือและมีพยานลงลายมือชื่ออย่างน้อยสองคน เมื่อได้จดทะเบียนสมรส... การหย่าโดยความยินยอมจะสมบูรณ์ต่อเมื่อสามีภริยาได้จดทะเบียนการหย่านั้นแล้ว และเมื่อหย่ากันแล้วให้จัดการแบ่งทรัพย์สินของสามีภริยา...ตามที่มีอยู่ในเวลาจดทะเบียนการหย่า จึงเป็นที่เห็นได้ว่าเมื่อหญิงชายได้สมรสกันแล้วตามกฎหมาย ความสัมพันธ์เชิงทรัพย์สินของทั้งสองฝ่ายมิได้มีเพียงที่เป็นสินสมรสและที่แยกไว้เป็นสินส่วนตัวเท่านั้น ยังมีสิทธิ หน้าที่ และความรับผิดต่าง ๆ ที่สามีภริยามีต่อกันและมีต่อบุคคลภายนอกซึ่งกฎหมายจะต้องให้ความคุ้มครองด้วย ดังเห็นได้จากบทบัญญัติทั้งหลายในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ลักษณะครอบครัว เหตุนี้ เมื่อจะตกลงยุติความสัมพันธ์ฉันสามีภริยา กฎหมายจึงกำหนดให้สามีภริยาต้องทำความตกลงเป็นหนังสือ ต้องมีพยานอีกอย่างน้อยสองคนลงลายมือชื่อเป็นพยาน และยังต้องจดทะเบียนการหย่าต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ด้วย ทั้งนี้ก็เพราะกฎหมายมิได้ต้องการเพียงความแน่นอนในการแสดงเจตนาการหย่าระหว่างสามีกับภริยาเท่านั้น แต่เพื่อให้เป็นที่รับรู้และอ้างอิงแก่บุคคลภายนอกได้ด้วย โดยบทบัญญัติกฎหมายดังกล่าว จึงทำให้ข้อตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลยในเรื่องการแบ่งทรัพย์สินตามที่ได้ระบุไว้นั้นยังไม่มีผลระหว่างกันตราบใดที่ยังไม่ได้จดทะเบียนการหย่า และแม้จำเลยจะสั่งจ่ายเช็คให้ไว้แก่โจทก์หลังจากทำข้อตกลงดังกล่าวแล้ว เช็คฉบับนี้ก็มีสถานะเป็นเพียงตราสารแทนค่าการแบ่งทรัพย์สินที่เป็นตัวเงินไว้ล่วงหน้า ก่อนเวลาที่การหย่าโดยความยินยอมจะได้จดทะเบียนมีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย เพื่อจัดการแบ่งทรัพย์สินตามที่มีอยู่ในเวลาจดทะเบียนการหย่าต่อไป แต่เมื่อโจทก์กับจำเลยยังไม่ได้จดทะเบียนการหย่า มูลหนี้ตามเช็คก็ยังไม่อาจที่จะบังคับกันได้เพราะยังไม่อาจรู้ได้ว่า ณ เวลาใดจะเป็นเวลาที่จดทะเบียนการหย่า จำเลยจึงยังไม่ต้องรับผิดตามเช็ค