คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.พ.พ. ม. 366 วรรคสอง

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 3 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6102/2537 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาจะซื้อจะขายเกิดมีผลผูกพัน แม้ยังมิได้ทำเป็นหนังสือ เมื่อมีการวางมัดจำและตกลงกันแล้ว
โจทก์ตกลงซื้อตึกแถวจากจำเลยและได้วางมัดจำไว้แล้วและข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าโจทก์จำเลยมีการตกลงกันว่าจะทำสัญญาจะซื้อจะขายเป็นหนังสือ ดังนั้นแม้จะยังไม่ได้ทำสัญญากันเป็นหนังสือ ก็ถือว่าสัญญาจะซื้อจะขายเกิดมีขึ้นแล้ว โจทก์ก็มีสิทธิฟ้องคดีได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 456 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3651/2537 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาซื้อขายข้าวทางโทรพิมพ์: หลักฐาน, การชำระหนี้ และผลบังคับใช้
สัญญาซื้อขายข้าวระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 มิได้มีกฎหมายกำหนดแบบให้ต้องทำเป็นหนังสือ ทั้งโจทก์และจำเลยที่ 1 มิได้ตกลงให้ทำสัญญาซื้อขายกันเป็นหนังสือ เมื่อจำเลยที่ 1 และโจทก์ได้ตกลงซื้อขายข้าวกันตามที่ได้เสนอสนองและตกลงกันได้ตามโทรพิมพ์ และสำเนาโทรพิมพ์ เมื่อคำเสนอและคำสนองของโจทก์และจำเลยที่ 1 ในการซื้อขายข้าวถูกต้องตรงกัน สัญญาขายข้าวระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 ย่อมเกิดขึ้นโดยสมบูรณ์แล้ว โจทก์และจำเลยที่ 1หาจำต้องทำสัญญาซื้อขายข้าวเป็นหนังสือไม่
สัญญาซื้อขายข้าวระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 เป็นสัญญาซื้อขายสังหาริมทรัพย์ที่ตกลงกันเป็นราคาห้าร้อยบาทหรือกว่านั้นขึ้นไป เมื่อไม่ปรากฏว่า จำเลยที่ 1 ได้ลงลายมือชื่อไว้ในโทรพิมพ์ดังกล่าวแต่อย่างใด สัญญาซื้อขายข้าวจึงไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นฝ่ายต้องรับผิดเป็นสำคัญ ทั้งไม่มีการวางประจำ และไม่มีการชำระหนี้บางส่วนโดยจำเลยที่ 1โจทก์จึงไม่มีหลักฐานในการฟ้องร้องบังคับคดีแก่จำเลยที่ 1 ตามสัญญาซื้อขายข้าวได้
การที่โจทก์ผู้ซื้อชำระหนี้ให้แก่จำเลยที่ 1 ผู้ขาย โดยโจทก์เปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตกับธนาคารต่างประเทศ มายังธนาคารในประเทศไทยนั้นต้องถือว่าธนาคารต่างประเทศเป็นเพียงตัวแทนของผู้ซื้อในต่างประเทศ และธนาคารในประเทศไทยเป็นตัวแทนของธนาคารต่างประเทศอีกต่อหนึ่ง แม้ผู้ซื้อในต่างประเทศจะได้ชำระเงินเพื่อเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตแล้ว ก็เป็นเพียงการชำระเงินให้แก่ตัวแทนของตนเท่านั้น หาอาจจะถือว่าเป็นการชำระหนี้ให้แก่ผู้ขายหรือตัวแทนของผู้ขายไม่ เมื่อจำเลยที่ 1 ผู้ขายยังไม่ได้ไปรับเงินจากธนาคารตามเลตเตอร์ออฟเครดิตนั้น จึงถือไม่ได้ว่าโจทก์ได้ชำระราคาสินค้าข้าวตามสัญญาซื้อขายข้าวให้แก่จำเลยที่ 1 แล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3251/2537 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาเช่าเกิดผลเมื่อมีการตกลงเงื่อนไขชัดเจน แม้ยังไม่ได้ลงนามเป็นหนังสือ และการเปลี่ยนแปลงข้อตกลงเดิมไม่ทำให้สัญญาเดิมเป็นโมฆะ
การที่จำเลยตกลงให้โจทก์เช่าอาคารสืบต่อจากผู้เช่าเดิมโดยถือตามสัญญาเช่าฉบับเดิม และโจทก์ได้ชำระหนี้ค่าเช่าที่ค้างและค่าเช่าล่วงหน้าให้แก่จำเลยตามเงื่อนไขที่จำเลยเสนอกับเข้าครอบครองทรัพย์ที่เช่าแล้ว โจทก์จำเลยจึงมีความผูกพันต่อกันในฐานะผู้เช่ากับผู้ให้เช่าตามสัญญาเช่าเดิม การที่โจทก์จำเลยตกลงเปลี่ยนแปลงรายการการชำระเงินในภายหลัง หามีผลเป็นการยกเลิกสัญญาเช่าฉบับเดิมไม่
แม้โจทก์จะยังมิได้ชำระเงินกินเปล่างวดแรกและไปลงนามทำสัญญาเช่ากับจำเลยตามข้อตกลงเดิมในวันที่ 1 กรกฎาคม 2531 แต่จำเลยก็มีหนังสือถึงตัวแทนโจทก์เสนอให้โจทก์แจ้งความประสงค์เข้าทำสัญญาตามข้อตกลงนั้นได้ถึงวันที่ 15 กรกฎาคม 2531 ซึ่งภายในระยะเวลาที่บ่งไว้นี้ จำเลยย่อมไม่มีสิทธิที่จะถอนคำเสนอได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 354 โจทก์จึงมีสิทธิที่จะแสดงเจตนาเข้าทำสัญญาตามข้อตกลงเดิมในวันใดก็ได้ภายในวันที่ 14 กรกฎาคม 2531เมื่อจำเลยปฏิเสธไม่ยอมให้ทำสัญญาเช่าตามข้อตกลงเดิม โจทก์ก็ได้แสดงเจตนาเข้าทำสัญญาเช่ากับจำเลยตามข้อตกลงเดิม โดยนำเงินกินเปล่างวดแรกที่ถึงกำหนดชำระแล้วไปวางที่สำนักงานวางทรัพย์ เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2531 ภายในกำหนดเวลาที่จำเลยกำหนดไว้ ถือได้ว่าโจทก์ได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่จำเลยจะต้องรับผูกพันตามข้อตกลงที่ทำกันไว้ ทำให้เกิดสัญญาเช่าขึ้น การที่จำเลยเสนอเงื่อนไขขึ้นมาใหม่โดยลดระยะเวลาการเช่าลงกับเพิ่มเงินกินเปล่าขึ้น โจทก์มิได้สนองรับจึงไม่เกิดสัญญาขึ้นใหม่และไม่มีผลลบล้างข้อตกลงเดิม
โจทก์จำเลยตกลงกันที่จะทำสัญญาเช่าไว้เป็นหนังสือ และยังไม่มีการลงนามในสัญญาเช่าอันจะมีผลให้สาระสำคัญของสัญญาตามที่ตกลงกันไว้กลายเป็นสัญญาเช่าที่เป็นหนังสือ แต่เมื่อเงื่อนไขอันเป็นสาระสำคัญของสัญญานั้น โจทก์ได้ตรวจแก้ไขและจำเลยก็ยอมรับแล้ว จึงไม่มีเหตุให้เป็นที่สงสัยว่าอาจจะมีข้อความใดที่ตกหล่นหรือเกินเลยไปจากคู่สัญญามุ่งทำสัญญากันแต่อย่างใด ทั้งคำเสนอและคำสนองของคู่สัญญาก็มีความชัดแจ้งและถูกต้องตรงกันทุกประการแล้วจึงไม่อาจถือได้ว่าเป็นกรณีที่ยังมิได้มีสัญญาต่อกัน
กรณีที่มีการตกลงให้ทำสัญญากันไว้เป็นหนังสือแต่ให้ถือว่ายังมิได้มีสัญญาต่อกันจนกว่าจะได้ทำขึ้นเป็นหนังสือตาม ป.พ.พ.มาตรา 366วรรคสอง นั้น มีได้เฉพาะเมื่อกรณีเป็นที่สงสัยเท่านั้น เมื่อไม่มีกรณีเป็นที่สงสัยจะบังคับตาม ป.พ.พ. มาตรา 366 วรรคสอง ไม่ได้