คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.พ.พ. ม. 193/30 ใหม

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 5 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1744/2540 เวอร์ชัน 3 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิขอคืนอากรหลังชำระเพิ่ม-การประเมินราคาศุลกากรไม่ชอบด้วยกฎหมาย-อายุความ 10 ปี
ตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 10 วรรคห้ากรณีที่โจทก์จะต้องโต้แย้งหรือแจ้งความไว้ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ก่อนการส่งมอบว่าจะยื่นคำเรียกร้องขอคืนอากรก็ต่อเมื่อโจทก์ชำระค่าภาษีอากรเพิ่มตามที่พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยเรียกให้ชำระเพิ่มในวันนำเข้านั้นเอง แต่ในคดีนี้ที่โจทก์ได้ชำระภาษีอากรเฉพาะตามจำนวนที่ได้สำแดงไว้เท่านั้น ส่วนจำนวนที่พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยเรียกให้โจทก์ชำระเพิ่ม โจทก์ยังมิได้ชำระแต่ได้วางหนังสือค้ำประกันของธนาคารเป็นประกันค่าอากรที่อาจต้องชำระเพิ่มเมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยประเมินเพิ่มในภายหลัง อันเป็นการดำเนินการเพื่อให้สินค้าออกจากอารักของจำเลยตามที่ พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 112 ได้บัญญัติไว้ต่อมาพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยได้ประเมินให้โจทก์ชำระอากรเพิ่ม โจทก์ได้ชำระอากรเพิ่มตามที่ได้รับแบบแจ้งการประเมิน การชำระอากรเพิ่มเป็นการชำระหลังจากได้รับมอบสินค้าแล้ว จึงไม่ต้องด้วย พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469มาตรา 10 วรรคห้า การที่โจทก์ชำระอากรเพิ่มให้จำเลยตามที่เรียกเก็บเช่นนี้แม้โจทก์จะทราบดีอยู่ก่อนยื่นใบขนสินค้าแล้วว่าอาจต้องถูกประเมินราคาสินค้าเพิ่มขึ้นและต้องชำระอากรเพิ่มขึ้นและมิได้โต้แย้งหรือได้แจ้งความไว้ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ว่าจะเรียกร้องเงินจำนวนนี้คืนก็มิได้ตัดสิทธิโจทก์ในการฟ้องคดี โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
เมื่อการขอคืนอากรของโจทก์ไม่ต้องด้วย พ.ร.บ.ศุลกากรพ.ศ.2469 มาตรา 10 วรรคห้า โจทก์จึงไม่สิ้นสิทธิในการเรียกร้องขอคืนเงินอากรที่เสียเพิ่มภายหลังแม้จะมิได้ฟ้องขอคืนภายในกำหนด 2 ปี นับจากวันที่นำของเข้า และตาม พ.ร.บ.ศุลกากรดังกล่าวมิได้บัญญัติเกี่ยวกับกำหนดอายุความในเรื่องนี้ไว้โดยเฉพาะจึงต้องใช้อายุความ 10 ปี ตามมาตรา 164 เดิม และมาตรา 193/30 ใหม่ แห่ง ป.พ.พ.
การที่พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยประเมินราคาสินค้าของโจทก์โดยอาศัยเปรียบเทียบกับราคาสินค้าชนิดเดียวกัน โดยใช้ราคาสูงสุดที่มีผู้นำเข้าก่อนรายของโจทก์ภายในระยะเวลาไม่เกิน 3 เดือนนั้น แม้จะเป็นไปตามหลักเกณฑ์ในคำสั่งทั่วไปของจำเลยที่ 8/2530 และ 47/2531 แต่หลักเกณฑ์ตามคำสั่งดังกล่าวก็เป็นเพียงระเบียบปฏิบัติภายในของจำเลยเพื่อหาราคาอันแท้จริงในท้องตลาดเท่านั้นหาเป็นเกณฑ์ตายตัวว่าราคาสินค้าที่นำเข้าจะต้องมีราคาอันแท้จริงตามนั้นไม่ ในระยะเวลา 3 เดือนดังกล่าวราคาสินค้าอาจเปลี่ยนแปลงไปในทางต่ำลงก็ได้ แต่จำเลยกลับถือเอาราคาสูงสุดเป็นเกณฑ์ประเมิน ราคาที่จำเลยนำมาเปรียบเทียบและประเมินตามคำสั่งดังกล่าวจึงมิใช่ราคาอันแท้จริงในท้องตลาด ตามความหมายแห่งราคาอันแท้จริงในท้องตลาดตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 2

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7855/2538 เวอร์ชัน 3 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิเรียกร้องค่าบำเหน็จนายหน้าสืบเนื่องจากสัญญาประนีประนอมยอมความที่เชื่อมโยงกับสัญญาจะซื้อจะขาย
สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทระหว่าง ม. กับจำเลยเกิดจากการชี้ช่องของโจทก์ แม้ต่อมาจำเลยไม่ปฏิบัติตามสัญญาและ ม.ฟ้องจำเลยแต่จำเลยก็ได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความในศาลยอมโอนที่ดินพิพาทให้นาย ม.หรือบุคคลที่ ม.ประสงค์ ศาลพิพากษาตามยอม ภายหลังจำเลยได้ปฏิบัติตามโดยโอนขายที่ดินพิพาทให้แก่บริษัท ช. ที่ ม.ประสงค์ ซึ่งตรงกับราคาที่ระบุในสัญญาจะซื้อจะขาย ดังนี้สัญญาประนีประนอมยอมความและคำพิพากษาตามยอมดังกล่าวจึงมีผลสืบเนื่องมาจากสัญญาจะซื้อจะขาย เมื่อสัญญาจะซื้อจะขายมีผลสืบเนื่องมาจากการชี้ช่องของโจทก์ สัญญาประนีประนอมยอมความและคำพิพากษาตามยอมก็ย่อมมีผลสืบเนื่องมาจากการชี้ช่องของโจทก์ด้วย โจทก์จึงมีสิทธิได้รับบำเหน็จค่านายหน้าจากจำเลย
สัญญานายหน้าเป็นสัญญาที่แยกต่างหากจากสัญญาจะซื้อจะขายแม้ตามสัญญาจะซื้อจะขายจะบันทึกเรื่องที่จำเลยตกลงให้ค่าบำเหน็จนายหน้าแก่โจทก์ไว้ก็หาทำให้สัญญาค่าบำเหน็จนายหน้าเป็นสัญญาอุปกรณ์ของสัญญาจะซื้อจะขายไม่ โจทก์ฟ้องเรียกเอาบำเหน็จนายหน้าไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้ จึงมีอายุความ 10 ปี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6229/2538 เวอร์ชัน 3 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาบัญชีเดินสะพัด, การบอกเลิกสัญญา, ดอกเบี้ยทบต้น, อายุความ
โจทก์และจำเลยมิได้กำหนดระยะเวลาตัดทอนบัญชีหรือกำหนดระยะเวลาของอายุสัญญาบัญชีเดินสะพัดไว้ ดังนั้น สัญญาบัญชีเดินสะพัดระหว่างโจทก์กับจำเลยจะสิ้นสุดลงต่อเมื่อมีการบอกเลิกสัญญาบัญชีเดินสะพัดและให้หักทอนบัญชีกันเสียก่อน เมื่อโจทก์หักทอนบัญชีในวันที่ 26 กันยายน 2526 และทวงถามให้จำเลยชำระหนี้ดังกล่าวแล้ว ย่อมถือได้ว่าโจทก์บอกเลิกสัญญาบัญชีเดินสะพัดแล้วสัญญาบัญชีเดินสะพัดจึงสุดสิ้นลงในวันดังกล่าว โจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นได้ถึงวันนั้น
ดอกเบี้ยทบต้นที่ธนาคารโจทก์คิดเอาแก่จำเลยตามข้อตกลงในระหว่างสัญญาได้กลายเป็นต้นเงินแล้วจึงมิใช่ดอกเบี้ยค้างส่งอันจะอยู่ในอายุความ5 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 166 เดิม หรือ 193/33 ใหม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7314/2537 เวอร์ชัน 3 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดจากประมาทเลินเล่อของทนายความ/นิติกร และหนังสือรับสภาพหนี้
โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นพนักงานของโจทก์ โดยมีจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นผู้ค้ำประกันความเสียหายของจำเลยที่ 1 ขณะปฏิบัติหน้าที่ จำเลยที่ 1 ปฏิบัติหน้าที่โดยลำพังมิได้รับอนุญาตหรือได้รับมอบหมายจากโจทก์อันเป็นความประมาทเลินเล่อ ทำให้โจทก์เสียหายอย่างร้ายแรง คิดเป็นเงินจำนวน 349,494.55 บาท จำเลยที่ 1 จึงได้ทำหนังสือรับสภาพหนี้ว่าจะชำระเงินจำนวนดังกล่าวให้โจทก์ แต่จำเลยที่ 1 ไม่ชำระ ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามชำระเงินจำนวนดังกล่าวให้โจทก์ จึงถือว่าฟ้องโจทก์ได้แสดงโดยชัดแจ้งซึ่งสภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับ อีกทั้งข้ออ้างที่อาศัยหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 วรรคสอง แล้ว หาเป็นคำฟ้องที่ขัดกันเองไม่ ฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุม
จำเลยที่ 1 เป็นทนายความว่าความให้โจทก์ จึงถือว่าโจทก์เป็นตัวการและจำเลยที่ 1 เป็นตัวแทน เมื่อโจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 1 รับผิดฐานะเป็นตัวแทนกระทำการโดยประมาทเลินเล่อ ทำให้โจทก์ผู้เป็นตัวการเสียหายซึ่งมิได้มีบทบัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะแล้วย่อมมีอายุความฟ้องร้องสิบปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164 เดิม (มาตรา 193/30 ที่แก้ไขใหม่)หาใช่เป็นกรณีละเมิดที่ต้องใช้อายุความหนึ่งปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 420, 448 ไม่ เมื่อโจทก์ฟ้องคดีภายในสิบปีแล้ว ฟ้องโจทก์ไม่ขาดอายุความ
เมื่อโจทก์ได้ทำบันทึกวิธีปฏิบัติในการประนีประนอมยอมความทางศาลให้นิติกรหรือทนายความของโจทก์ทราบก่อนที่จำเลยที่ 1 ได้รับการบรรจุและแต่งตั้งเป็นนิติกรของโจทก์ว่าแม้ทนายความซึ่งได้แต่งตั้งโดยให้มีอำนาจให้ทำการประนีประนอมยอมความได้ก็ตาม หากจะประนีประนอมยอมความแล้ว ให้ทนายความเสนอความเห็นพร้อมด้วยรายละเอียดในเรื่องที่จะประนีประนอมยอมความต่อผู้ได้รับแต่งตั้งเป็นตัวแทน แล้วให้ผู้ได้รับแต่งตั้งเป็นตัวแทนเสนอขออนุมัติต่อการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคโจทก์ก่อนทุกครั้ง ซึ่งบันทึกวิธีปฏิบัติดังกล่าวได้เวียนไปให้หน่วยงานต่าง ๆในสังกัดโจทก์ทราบ และได้รวบรวมไว้เป็นเล่มแต่ละปี สามารถตรวจสอบได้ง่ายและนิติกรทุกคนได้ทราบวิธีปฏิบัติดังกล่าวแล้ว จึงต้องถือว่าจำเลยที่ 1 ทราบและต้องปฏิบัติตามโดยเคร่งครัด ทั้งก่อนวันที่จำเลยที่ 1 ทำการตกลงหรือประนีประนอมยอมความกับจำเลยในคดีดังกล่าว โจทก์ก็ได้ย้ำปรับความเข้าใจเกี่ยวกับวิธีปฏิบัติในการตกลงหรือประนีประนอมยอมความทางศาลให้ทนายความของโจทก์ซึ่งรวมทั้งจำเลยที่ 1 ให้ถือปฏิบัติโดยเคร่งครัด การที่จำเลยที่ 1 ทำการประนีประนอมยอมความกับจำเลยในคดีดังกล่าว โดยมิได้เสนอความเห็นพร้อมด้วยรายละเอียดในเรื่องที่จะตกลงหรือประนีประนอมยอมความต่อ อ. ผู้รับมอบอำนาจให้ฟ้องคดีเพื่อขออนุมัติต่อโจทก์ย่อมถือว่าจำเลยที่ 1 มิได้ปฏิบัติตามคำสั่งของโจทก์เกี่ยวกับวิธีปฏิบัติในการตกลงหรือประนีประนอมยอมความทางศาลอันเป็นความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง จำเลยที่ 1 จะอ้างเพียงว่าเมื่อในใบแต่งทนายความให้จำเลยที่ 1 มีอำนาจประนีประนอมยอมความได้แล้วจำเลยที่ 1 ย่อมมีอำนาจทำการตกลงหรือประนีประนอมยอมความตามที่จำเลยที่ 1 เห็นสมควรโดยพลการหาได้ไม่ เพราะในบันทึกวิธีปฏิบัติดังกล่าวระบุไว้ชัดแจ้งว่าแม้มีการมอบอำนาจให้นิติกรหรือทนายความประนีประนอมยอมความก็ให้นิติกรหรือทนายความเสนอขออนุมัติต่อโจทก์ทุกครั้งไป การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่อ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง เพราะทำให้โจทก์ไม่สามารถเรียกดอกเบี้ยที่จำเลยในคดีดังกล่าวต้องชำระให้โจทก์ตามคำพิพากษา การที่จำเลยที่ 1 รู้ว่าจำเลยที่ 1 ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายแล้ว จำเลยที่ 1 จึงได้ทำหนังสือรับสภาพหนี้ ชำระเงินแก่โจทก์ หนังสือรับสภาพหนี้จึงมีผลใช้บังคับได้โดยสมบูรณ์
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 รับผิดตามหนังสือรับสภาพหนี้ซึ่งจำเลยที่ 1 ยอมรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ ดังนั้นเอกสารบันทึกวิธีปฏิบัติในการประนีประนอมยอมความทางศาลและหนังสือย้ำความเข้าใจเกี่ยวกับวิธีปฏิบัติในการประนีประนอมยอมความทางศาล จึงมิใช่เป็นพยานหลักฐานอันเกี่ยวกับประเด็นโดยตรงในคดีซึ่งโจทก์จะต้องส่งสำเนาเอกสารนั้น ๆ แก่จำเลยที่ 3ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 90 แต่อย่างใด และโจทก์ได้ส่งสำเนาเอกสารดังกล่าวต่อศาลชั้นต้นประกอบถามค้านจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นพยานจำเลยที่ 3 ในเวลาที่จำเลยที่ 1 เบิกความแล้ว เอกสารดังกล่าวจึงไม่ต้องห้ามมิให้รับฟังเป็นพยานหลักฐาน และการที่โจทก์นำสืบเอกสารดังกล่าวก็เพื่อพิสูจน์ข้อเท็จจริงที่ว่าจำเลยที่ 1 กระทำผิดหน้าที่โดยฝ่าฝืนคำสั่งของโจทก์ เป็นเหตุทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายซึ่งถือว่าจำเลยที่ 1 ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง จำเลยที่ 1 จึงได้ทำหนังสือรับสภาพหนี้ยอมชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เช่นนี้เท่ากับเป็นการนำสืบว่าหนังสือรับสภาพหนี้ มีมูลหนี้ที่จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดต่อโจทก์จริง อันเป็นประเด็นโดยตรงในคดีตามฟ้องโจทก์ หาใช่เป็นการนำสืบนอกฟ้องนอกประเด็นไม่
เมื่อประเด็นสาระสำคัญแห่งคดีโดยตรงซึ่งภาระการพิสูจน์ตกแก่จำเลยทั้งสามแล้ว การที่ศาลชั้นต้นกำหนดให้จำเลยทั้งสามมีหน้าที่นำสืบก่อนในประเด็นข้อนี้ และเพื่อมิให้คดีล่าช้าจึงให้จำเลยทั้งสามนำสืบก่อนในทุกประเด็นข้ออื่นด้วยนั้น นับว่าชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3362/2537 เวอร์ชัน 3 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การได้รับเงินเดือนซ้ำซ้อนและลาภมิควรได้ กรณีจำเลยรับเงินเดือนจากทั้งโจทก์และกรุงเทพมหานคร เกินระยะเวลาอายุความ
คำฟ้องของโจทก์ที่เรียกเงินเดือนซึ่งจำเลยได้รับเงินจากโจทก์ในระหว่างวันที่ 15 พฤษภาคม 2518 ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2521 คืนโดยได้แจ้งจำนวนยอดรวมทั้งหมดแล้ว ถือว่าชัดแจ้งพอที่จำเลยจะต่อสู้คดีได้ ถ้ายอดจำนวนเงินที่โจทก์ฟ้องมานั้นมากกว่าที่จำเลยได้รับ จำเลยก็ชอบที่จะต่อสู้มาในคำให้การได้โจทก์ไม่จำต้องบรรยายฟ้องว่าเงินจำนวนดังกล่าวเป็นเงินที่จำเลยได้รับเดือนละเท่าใด หักภาษีแล้วเท่าใด เพราะเป็นรายละเอียดที่โจทก์นำสืบได้ในชั้นพิจารณาฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุม
การที่จำเลยได้รับเงินเดือนทั้งจากโจทก์และกรุงเทพมหานครเป็นการฝ่าฝืนพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการจ่ายเงินเดือน เงินปี บำเหน็จ บำนาญและเงินอื่นในลักษณะเดียวกัน พ.ศ.2505 ซึ่งกำหนดให้จำเลยรับเงินเดือนได้เพียงตำแหน่งเดียว เป็นกรณีที่จำเลยได้รับทรัพย์สินไปจากโจทก์โดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้ อันเป็นลาภมิควรได้ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องเรียกเงินที่จำเลยรับไปจากโจทก์คืนได้
คำให้การของจำเลยที่ว่า โจทก์ฟ้องเรียกเงินคืนซึ่งเงินเดือนที่จำเลยได้รับจากโจทก์นั้นเกินกว่าสิบปีแล้ว ฟ้องโจทก์ขาดอายุความ เป็นคำให้การชัดแจ้งและแสดงเหตุแห่งการขาดอายุความแล้ว การที่จำเลยได้รับเงินจากโจทก์อันปราศจากมูลที่จะอ้างกฎหมายได้และเป็นทางให้โจกท์เสียเปรียบ เข้าลักษณะลาภมิควรได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 406 จำเลยจึงจำต้องคืนเงินให้แก่โจทก์ แต่ตามป.พ.พ.มาตรา 419 บัญญัติห้ามมิให้ฟ้องคดีเมื่อพ้นกำหนดปีหนึ่งนับแต่เวลาที่ฝ่ายผู้เสียหายรู้ว่าตนมีสิทธิเรียกคืน หรือเมื่อพ้นสิบปีนับแต่สิทธินั้นได้มีขึ้น ดังนั้นเงินที่จำเลยได้รับไปนับแต่วันฟ้องย้อนหลังไปเกินสิบปีจึงขาดอายุความ จำเลยจำต้องคืนเงินที่จำเลยได้รับไปเฉพาะส่วนที่นับแต่วันฟ้องย้อนหลังไปไม่เกินสิบปีเท่านั้น