คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.พ.พ. ม. 193/12

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 303 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 748/2537

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความภาษีอากร: สิทธิเรียกร้องของรัฐบาลมีอายุความ 10 ปี นับแต่เวลาที่อาจบังคับสิทธิได้
กรณีที่จำเลยหลีกเลี่ยงค่าภาษีอากร สิทธิของกรมศุลกากรโจทก์ที่ 1 ที่จะเรียกเงินอากรที่ขาดจึงเข้าข้อยกเว้นตามมาตรา10 วรรคสามแห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 ดังนั้น จะนำอายุความสิบปีและการนับอายุความ โดยเริ่มนับจากวันที่นำของเข้าตามมาตราดังกล่าวมาใช้บังคับหาได้ไม่ จึงต้องใช้อายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 167 เดิม (มาตรา 193/31)และการนับอายุความก็ต้องให้นับเริ่มแต่ขณะที่จะอาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 169 เดิม(มาตรา 193/12) เงินเพิ่มภาษีการค้านั้น ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 89 ทวิกำหนดเงื่อนไขสำคัญว่า มิให้เกินกว่าจำนวนภาษีที่ต้องชำระโดยไม่รวมเบี้ยปรับ ดังนั้น การที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยชำระเงินเพิ่มภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลตามใบขนสินค้าแต่ละฉบับนับแต่วันตรวจปล่อยจนกว่าจะชำระเสร็จ โดยมิได้ระบุว่าเงินเพิ่มภาษีการค้ามิให้เกินกว่าจำนวนภาษีการค้าที่ต้องชำระเพิ่มโดยไม่รวมเบี้ยปรับ จึงไม่ถูกต้อง และเป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนแม้คู่ความจะมิได้ฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 97/2537 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความสัญญาซื้อขายที่ดิน เริ่มนับจากวันชำระเงินบางส่วน แม้ยังไม่ได้โอนกรรมสิทธิ์
สัญญาซื้อขายที่ดินมิได้กำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะจึงมีอายุความ10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164 เดิม การที่โจทก์ชำระเงินให้จำเลยในวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2518 แล้วโจทก์จำเลยตกลงกันว่าส่วนที่เหลือจะชำระในวันโอน โดยมิได้กำหนดเวลาวันโอนไว้นั้น ถือได้ว่าเป็นข้อตกลงที่ไม่มีกำหนดระยะเวลา ซึ่งโจทก์อาจบังคับใช้สิทธิเรียกร้องได้นับแต่วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2518 เป็นต้นไปอันเป็นวันเริ่มนับอายุความตามมาตรา 169 เดิม มิใช่เริ่มนับแต่วันที่ผิดนัดจนกว่าจะมีการบอกกล่าวก่อน เมื่อนับถึงวันฟ้องเกิน 10 ปีแล้ว คดีโจทก์จึงขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3871/2536

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เอกสารไม่ใช่ตั๋วสัญญาใช้เงิน แต่เป็นหลักฐานการกู้ยืม และฟ้องขาดอายุความ
เอกสารไม่มีข้อความตอนใดระบุว่าเป็น "ตั๋วสัญญาใช้เงิน"คงมีแต่ข้อความว่าเป็น "ตั๋ว" เอกสารดังกล่าวจึงขาดสาระสำคัญของตั๋วสัญญาใช้เงินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 983(1)จึงมิใช่ตั๋วสัญญาใช้เงิน โจทก์ฟ้องเรียกเงินกู้โดยอ้างเอกสารซึ่งมีข้อความว่าจำเลยจะจ่ายเงินตามคำสั่งของโจทก์โดยไม่มีถ้อยคำชัดว่าเป็นหนี้เงินกู้หรือหนี้อย่างอื่น โจทก์ย่อมจะนำพยานหลักฐานมาสืบประกอบว่าเป็นหนี้เงินกู้ได้ เมื่อโจทก์มีหลักฐานเป็นหนังสือแสดงความเป็นหนี้ลงลายมือชื่อลูกหนี้แล้วและสืบพยานประกอบอธิบายได้ว่าหนี้นั้นเป็นหนี้สินแห่งการกู้ยืมเอกสารนั้นก็เป็นหนังสืออันเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมแล้ว โจทก์ฟ้องให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์ตามหลักฐานเอกสารนั้นมีอายุความ 10 ปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164(เดิม)ที่ใช้บังคับในขณะโจทก์ จำเลยมีข้อพิพาทกัน (มาตรา 193/30ที่แก้ไขใหม่) และในเรื่องอายุความนี้ มาตรา 169(เดิม)(มาตรา 193/12 ที่แก้ไขใหม่) บัญญัติว่า อายุความให้นับเริ่มแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไป เมื่อจำเลยไม่เคยชำระเงินต้นและดอกเบี้ยแก่โจทก์ภายในวันที่ 15 มีนาคม 2519ตามที่ระบุในเอกสาร จำเลยจึงตกเป็นผู้ผิดนัดชำระเงินหรือปฏิบัติการชำระหนี้ใด ๆ ตามที่ระบุไว้ในเอกสารนั้น และการผิดนัดดังกล่าวเอกสารนั้นระบุให้มีผลว่าตั๋วหรือเอกสารนั้นถึงกำหนดได้ทันที และจ่ายเงินโดยไม่ต้องทวงถามสุดแล้วแต่ผู้ถือจะเลือกซึ่งมีความหมายว่า โจทก์มีสิทธิเลือกให้จำเลยชำระหนี้ทั้งหมดได้ทันทีโดยไม่ต้องทวงถามก่อน ตั้งแต่วันที่ 16 มีนาคม2519 อายุความจึงเริ่มนับตั้งแต่วันดังกล่าว โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2530 นับจากวันที่ 16 มีนาคม 2519ถึงวันฟ้องเกิน 10 ปี ฟ้องของโจทก์จึงขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 534/2536

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความฟ้องคดีมูลละเมิด: เริ่มนับจากวันที่รู้ถึงการละเมิด หรือวันที่ทำละเมิด
ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 169 เดิม (มาตรา 193/12)ที่กำหนดให้เริ่มนับอายุความตั้งแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไปนั้น เป็นบทบัญญัติเกี่ยวกับการเริ่มนับอายุความสำหรับการบังคับสิทธิเรียกร้องทั่ว ๆ ไป แต่การเรียกร้องค่าเสียหายอันเกิดแต่มูลละเมิด มาตรา 448 วรรคแรก บัญญัติไว้โดยเฉพาะว่าสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายอันเกิดแต่มูลละเมิดนั้นเป็นอันขาดอายุความเมื่อพ้นปีหนึ่งนับแต่วันที่ผู้ต้องเสียหายรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน หรือเมื่อพ้นสิบปีนับแต่วันทำละเมิด เมื่อคดีได้ความว่าจำเลยจงใจหรือประมาทเลินเล่อปฏิบัติหน้าที่บกพร่อง เรียกเก็บค่าธรรมเนียมล่วงเวลาไม่ครบถ้วนตามกฎหมาย ทำให้โจทก์ขาดรายได้ เหตุเกิดตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน2521 ถึงวันที่ 30 เมษายน 2523 ดังนั้นมูลละเมิดคดีนี้ย่อมเกิดขึ้นอย่างช้าที่สุดวันที่ 30 เมษายน 2523 แต่โจทก์ฟ้องจำเลยในวันที่15 เมษายน 2534 ซึ่งล่วงพ้นสิบปี นับแต่วันทำละเมิดแล้ว คดีโจทก์ย่อมขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 วรรคแรก จำเลยยกปัญหาข้อกฎหมายขึ้นเป็นข้อต่อสู้ฟ้องโจทก์ว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความ ศาลย่อมมีอำนาจวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายนี้ได้ตามที่เห็นสมควรตาม ป.วิ.พ. มาตรา 24โดยไม่จำเป็นต้องให้คู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งร้องขอเสียก่อน
of 31