คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.พ.พ. ม. 655 วรรคสอง

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 2 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5887/2537 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เบิกเกินบัญชี: ข้อตกลงดอกเบี้ยสูงสุดตามสัญญา
ตามข้อตกลงการฝากเงินบัญชีกระแสรายวันของธนาคารโจทก์ข้อ 10 ระบุว่า ในกรณีธนาคารได้ผ่อนผันจ่ายเงินไปก่อนด้วยเหตุใดก็ตาม ทั้งที่เงินฝากคงเหลือในบัญชีของข้าพเจ้ามีไม่พอจ่ายตามเช็คที่มาขอขึ้นเงิน ซึ่งตามปกติธนาคารจะปฏิเสธการจ่ายเงินนั้นเสียก็ได้นั้น ข้าพเจ้ายอมผูกพันตนที่จะจ่ายเงินส่วนที่เบิกเกินนั้นคืนให้ธนาคารโดยถือเสมือนหนึ่งว่า ข้าพเจ้าได้ร้องขอเบิกเงินเกินบัญชีต่อธนาคารและยินยอมเสียดอกเบี้ยในจำนวนเงินส่วนที่เกินบัญชีให้แก่ธนาคารในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่เบิกเกินจนถึงวันชำระหนี้เงินเบิกเกินคืน ฯลฯและข้อ 11 ระบุว่า ในกรณีที่ข้าพเจ้านำเช็คฝากเข้าบัญชีและในวันนำฝากนั้นธนาคารได้ผ่อนผันจ่ายเงินส่วนหนึ่งหรือเต็มมูลค่าเช็คที่นำฝากนั้นให้ไปก่อน โดยที่ธนาคารยังไม่ทราบผลการเรียกเก็บเงิน และเช็คดังกล่าวถูกคืนมาโดยมิใช่เนื่องจากความบกพร่องของธนาคารเอง ข้าพเจ้ายอมผูกพันตนที่จะจ่ายเงินส่วนที่เบิกเกินนั้นคืนให้ธนาคาร โดยถือเสมือนหนึ่งว่าได้ร้องขอเบิกเงินเกินบัญชีต่อธนาคาร และยินยอมเสียดอกเบี้ยในจำนวนเงินส่วนที่เบิกเงินเกินบัญชีให้แก่ธนาคารในอัตราสูงสุดเท่าที่กฎหมายจะอนุญาต นับแต่วันที่เบิกเกินจนถึงวันชำระหนี้เงินเบิกเกินคืน ฯลฯ ซึ่งข้อความในข้อ 11 นั้นหมายถึงจำเลยนำเช็คมาฝากเข้าบัญชีและโจทก์จ่ายเงินตามเช็คที่มาขอเบิกให้จำเลยไปก่อน แต่แล้วโจทก์เรียกเก็บเงินตามเช็คไม่ได้ ไม่ใช่กรณีโจทก์ผ่อนผันจ่ายเงินให้จำเลยไปโดยไม่มีการนำเช็คฝากเข้าบัญชี ซึ่งต้องบังคับกันตามข้อตกลงข้อ 10 เมื่อข้อเท็จจริงตามฟ้องมิใช่เป็นเรื่องที่จำเลยนำเช็คมาฝากเข้าบัญชีโดยโจทก์จ่ายเงินตามเช็คที่มาขอเบิกให้จำเลยไปก่อน แต่แล้วโจทก์เรียกเก็บเงินตามเช็คไม่ได้ โจทก์จึงไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยเกินกว่าร้อยละ 15 ต่อปี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 382/2537 เวอร์ชัน 3 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาเบิกเงินเกินบัญชีเลิกแล้ว การค้ำประกันมีผลถึงวงเงินที่จำนองเท่านั้น ผู้ค้ำประกันหลุดพ้นจากหนี้เมื่อเจ้าหนี้ไม่รับชำระ
ตามการ์ดบัญชีกระแสรายวันของจำเลยที่ 1 ลูกค้าโจทก์ ไม่ปรากฏรายการเดินสะพัดในบัญชีอันจะเป็นหลักฐานแสดงว่า นับแต่วันสิ้นสุดของสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชี จำเลยที่ 1 ขอเบิกเงินจากบัญชีดังกล่าวหรือโจทก์ยอมให้จำเลยที่ 1 เบิกเงินเกินบัญชีต่อไปอีก แม้ภายหลังครบกำหนดตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชี จำเลยที่ 1 ได้นำเงินเข้าบัญชีกระแสรายวัน 2 ครั้งก็ตาม แต่ก็เป็นการนำเงินเข้าบัญชีเพื่อชำระหนี้ ไม่ใช่เพื่อให้มีการเดินสะพัดทางบัญชีต่อไป เพราะไม่มีลักษณะเป็นการเดินสะพัดทางบัญชีหักกลบลบกัน พฤติการณ์ดังกล่าวแสดงว่าโจทก์กับจำเลยที่ 1 ไม่ประสงค์จะต่ออายุสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีอีกต่อไป สัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีอันเป็นสัญญาบัญชีเดินสะพัดย่อมเลิกกันนับแต่วันครบกำหนดตามสัญญา ตาม ป.พ.พ. มาตรา 856 ฉะนั้น โจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นได้จนถึงวันสิ้นสุดของสัญญาดังกล่าว และโจทก์ยังคงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยโดยไม่ทบต้นตลอดไปจนกว่าจะมีการชำระหนี้รายนี้เสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 3 ค้ำประกันและจำนองที่ดินเพื่อประกันหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีของจำเลยที่ 1 ที่ทำไว้แก่โจทก์เป็นจำนวนเงิน 400,000 บาทหรือไม่เกิน 400,000 บาท แสดงให้เห็นว่า จำเลยที่ 3 มีเจตนาค้ำประกันและจำนองที่ดินเพื่อประกันหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีของจำเลยที่ 1 ในวงเงิน400,000 บาท เท่านั้น แม้จะปรากฏว่าโจทก์ยินยอมให้จำเลยที่ 1 กู้เบิกเงินเกินบัญชีเกินวงเงิน 400,000 บาท ก็เป็นการผูกพันกันระหว่างจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2หุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 กับโจทก์เท่านั้น หามีผลผูกพันจำเลยที่ 3 ด้วยไม่ดังนั้น เมื่อครบกำหนดตามสัญญาจำเลยที่ 3 มีหนังสือขอชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 จำนวน400,000 บาท แก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ย จึงเป็นการขอชำระหนี้แก่โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้เมื่อหนี้นั้นถึงกำหนดโดยชอบตาม ป.พ.พ. มาตรา 701 วรรคแรก แล้วเมื่อโจทก์ไม่ยอมรับชำระหนี้จากจำเลยที่ 3 ดังกล่าว ย่อมทำให้จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันหลุดพ้นจากความรับผิดในการชำระหนี้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 701, 727ประกอบด้วยมาตรา 744 (3)