คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.พ.พ. ม. 867 วรรคหนึ่ง

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 2 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5434/2537

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การพิสูจน์สัญญาประกันภัยต้องมีหลักฐานลายมือชื่อผู้เอาประกันภัยหรือตัวแทน จึงจะบังคับชำระเบี้ยประกันภัยได้
โจทก์ฟ้องอ้างว่าจำเลยนำรถยนต์มาประกันภัยกับโจทก์แล้วค้างชำระเบี้ยประกันภัย แต่ปรากฏว่าในสำเนากรมธรรม์ประกันภัยทั้ง 5 ฉบับที่โจทก์อ้างส่งต่อศาล ไม่มีลายมือชื่อจำเลยหรือตัวแทนจำเลยโจทก์จึงไม่อาจฟ้องร้องบังคับคดีให้จำเลยชำระเบี้ยประกันภัยได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 867 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3888/2537 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้อง, การรับช่วงสิทธิ, ความรับผิดของผู้ขนส่ง, สัญญาประกันภัย, และการประเมินความเสียหาย
ดวงตราที่ประทับในใบแต่งทนายความของโจทก์เหมือนกับที่จดทะเบียนไว้ตามหนังสือรับรองการจดทะเบียน ต่างกันแต่เพียงขนาด เมื่อไม่ปรากฎว่ามีระเบียบข้อบังคับของกรมทะเบียนการค้าว่าดวงตราที่ประทับจะต้องมีขนาดเท่ากับดวงตราที่จดทะเบียนไว้ ถือไม่ได้ว่าโจทก์ใช้ดวงตราที่ไม่ถูกต้องประทับในใบแต่งทนาย ทั้งในระหว่างสืบพยานโจทก์โจทก์ได้ยื่นใบแต่งทนายใหม่มีกรรมการลงชื่อและประทับตราถูกต้องตามข้อบังคับต่อศาล และให้สัตยาบันแก่กระบวนพิจารณาที่ทนายโจทก์ดำเนินไปแล้ว ศาลชั้นต้นอนุญาต การยื่นฟ้องของโจทก์จึงชอบด้วยกฎหมาย โจทก์มีอำนาจฟ้อง โจทก์ฟ้องในฐานะผู้รับประกันภัยซึ่งได้ชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้เอาประกันภัยไปแล้ว จึงรับช่วงสิทธิมาฟ้องเรียกเอาแก่จำเลยผู้ขนส่ง มิใช่ฟ้องให้บังคับตามสัญญาประกันภัยจึงไม่อยู่ในบังคับประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 867 วรรคหนึ่งที่จะต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิดมาแสดงและไม่ตกอยู่ในบังคับประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 เพราะมิใช่กรณีที่กฎหมายบังคับให้ต้องมีพยานเอกสารมาแสดง ข้อตกลงใช้ค่าเสียหายตามบันทึกประจำวันซึ่งตัวแทนฝ่ายจำเลยทำกับตัวแทนฝ่ายบริษัทผู้ส่งภายหลังเกิดเหตุไม่ชัดเจน ไม่มีรายละเอียดเกี่ยวกับค่าเสียหายที่เกิดขึ้นว่ามีจำนวนเท่าใดแน่นอน ไม่อาจระงับข้อพิพาทที่จะเกิดขึ้นให้เสร็จไปด้วยต่างผ่อนผันให้แก่กัน ไม่เป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ เครื่องปิดฉลากอากรแสตมป์ขวดสุราเป็นเพียงสินค้าธรรมดาสามัญทั่วไปที่มีราคาสูงเท่านั้น ไม่ใช่ของมีค่าพิเศษตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 620 การขนส่งเครื่องปิดฉลากดังกล่าวมีผู้ขนส่งหลายคนคือจำเลยที่ 1 ที่ 3 ที่ 5 ซึ่งเป็นห้างหุ้นส่วนจำกัดมีวัตถุประสงค์รับขนส่ง เมื่อของที่ขนส่งบุบสลาย จำเลยที่ 1ที่ 3 ที่ 5 ผู้ขนส่งทั้งนั้นจึงต้องร่วมกันรับผิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 618 จำเลยที่ 2 ที่ 4ที่ 6 ในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 5จึงต้องร่วมรับผิดด้วย