คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.รัษฎากร ม. 27 ตรี

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 17 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4725/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิการขอคืนภาษีอากรของผู้จ่ายเงินได้และการคืนดอกเบี้ย กรณีหักภาษีเกิน
แม้เอกสารที่โจทก์นำสืบจะเป็นภาษาต่างประเทศและไม่ได้ทำคำแปลเป็นภาษาไทย แต่คู่ความสามารถส่งพยานเอกสารที่ทำขึ้นเป็นภาษาต่างประเทศต่อศาลได้โดยไม่จำต้องทำคำแปลเป็นภาษาไทยเสมอไป เว้นเสียแต่ศาลสั่งให้ทำคำแปล ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 46 วรรคสาม ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. 2528 มาตรา 17 กรณีจึงรับฟังเอกสารดังกล่าวเป็นพยานหลักฐานของโจทก์ได้ และเมื่อโจทก์ได้ส่งเอกสารดังกล่าวให้แก่จำเลยตั้งแต่ในชั้นพิจารณาคำร้องขอคืนเงินภาษีและชั้นพิจารณาอุทธรณ์แล้ว ศาลภาษีอากรกลางย่อมมีอำนาจยกประเด็นตามเอกสารดังกล่าวขึ้นวินิจฉัยได้
ป.รัษฎากร มาตรา 27 ตรี ไม่ได้กำหนดบทนิยามของคำว่า "ผู้มีสิทธิขอคืน" ไว้แต่จำเลยมีระเบียบกรมสรรพากรว่าด้วยการคืนเงินภาษีอากร พ.ศ. 2539 ข้อ 4 (5) ให้นิยามของคำว่า "ผู้ขอคืน" หมายความรวมถึงผู้เสียประโยชน์จากการชำระหรือนำส่งภาษีไว้เกิน หรือผิด หรือซ้ำ หรือโดยไม่มีหน้าที่ต้องเสีย มีสิทธิขอคืนเงินส่วนที่เกินได้ เมื่อโจทก์มีหน้าที่ต้องหักภาษีจากเงินได้ที่จ่ายให้แก่บริษัท บ. ตามอัตราที่กฎหมายกำหนดแล้วนำส่งให้แก่จำเลย ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 70 การที่โจทก์โอนเงินในส่วนที่หักไว้เกินให้แก่บริษัท บ. แล้วจำเลยก็ออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ในอัตราที่ถูกต้องให้แก่บริษัท บ. เท่ากับจำเลยยอมรับว่าบริษัท บ. ได้ชำระภาษีไว้ถูกต้องครบถ้วนแล้ว ข้อเท็จจริงดังกล่าวพอฟังได้ว่าโจทก์เป็นผู้เสียประโยชน์จากการชำระหรือนำส่งภาษีไว้เกิน โจทก์จึงเป็นผู้มีสิทธิยื่นคำร้องขอคืนภาษีตาม ป.รัษฎากร มาตรา 27 ตรี
ป.รัษฎากร มาตรา 4 ทศ กำหนดให้ผู้ได้รับคืนเงินภาษีอากรมีสิทธิได้รับดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 1 ต่อเดือนหรือเศษของเดือนของเงินภาษีอากรที่ได้รับคืนโดยไม่คิดทบต้น ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนดโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 161 (พ.ศ. 2526) ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการให้ดอกเบี้ยแก่ผู้ได้รับคืนเงินภาษีอากร โดยไม่ใด้กำหนดว่าผู้ได้รับคืนเงินภาษีอากรจะต้องร้องขอดอกเบี้ยต่อจำเลยก่อนแต่อย่างใด โจทก์จึงมีสิทธิได้รับดอกเบี้ยจากเงินค่าภาษีอากรที่ได้รับคืนตามที่โจทก์ขอ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9145/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การหักกลบลบหนี้ภาษีและคำนวณเงินเพิ่มที่ถูกต้องตามกฎหมาย
คดีก่อนโจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ ศาลฎีกามีคำพิพากษาว่า การประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ชอบแล้ว โจทก์จึงมีหน้าที่ต้องชำระภาษีตามการประเมิน ซึ่งจำเลยคำนวณเงินภาษีและเงินเพิ่มที่โจทก์ต้องชำระและแจ้งเตือนให้โจทก์ทราบ เป็นเหตุให้โจทก์ฟ้องคดีนี้โดยโต้แย้งว่าวิธีการหักกลบลบหนี้ของจำเลยไม่ถูกต้อง จึงมีประเด็นว่าจำเลยหักกลบลบหนี้เพื่อนำเงินไปชำระหนี้ค่าภาษีและเงินเพิ่มถูกต้องหรือไม่ และการคิดเงินเพิ่มถูกต้องหรือไม่ แม้การหักกลบลบหนี้เกิดขึ้นก่อนโจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ในคดีก่อน แต่เมื่อคดีนี้เป็นกรณีที่โจทก์โต้แย้งในวิธีการคำนวณภาษีที่ต้องชำระโดยวิธีการหักกลบลบหนี้ว่าไม่ถูกต้องและในส่วนเงินเพิ่มเท่านั้น จึงเป็นคนละขั้นตอนกัน มีประเด็นต่างกับคดีเดิมและการวินิจฉัยของศาลก็อาศัยเหตุที่แตกต่างกัน ฟ้องโจทก์คดีนี้จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 17
คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า จำเลยมีหนังสือแจ้งให้โจทก์นำส่งภาษีเงินได้นิติบุคคลและเงินเพิ่ม ในขณะเดียวกันจำเลยมีคำสั่งให้คืนเงินภาษีมูลค่าเพิ่มแก่โจทก์ ซึ่งจำเลยนำไปหักกลบลบหนี้กับหนี้ภาษีเงินได้นิติบุคคลตามการประเมินดังกล่าวบางส่วน โจทก์ไม่เห็นด้วยจึงอุทธรณ์การประเมินและยื่นฟ้องคดี คดีถึงที่สุดโดยศาลฎีกาพิพากษาว่าไม่เพิกถอนการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ จำเลยจึงมีหนังสือแจ้งเตือนให้โจทก์นำเงินภาษีอากรค้างไปชำระ ซึ่งโจทก์ชำระหนี้ภาษีอากรค้างดังกล่าวไปก่อน และยื่นหนังสือโต้แย้งว่าการคำนวณเงินเพิ่มไม่ถูกต้องในวันเดียวกัน ต่อมาจำเลยมีหนังสือแจ้งโจทก์ว่า เงินเพิ่มที่จำเลยเรียกเก็บไว้ถูกต้องตามมาตรา 27 แห่ง ป.รัษฎากร แล้ว โจทก์เห็นว่าไม่ถูกต้องจึงมาฟ้องคดีนี้ ขอให้บังคับจำเลยเพิกถอนหรือแก้ไขการคำนวณภาษีและเงินเพิ่มตามแบบขอชำระภาษีอากรคงค้าง เพิกถอนคำสั่งตามหนังสือแจ้งเตือนให้นำเงินภาษีอากรไปชำระและคำสั่ง ในส่วนการคิดเงินภาษีและเงินเพิ่มและให้คืนเงินให้แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ย แสดงให้เห็นว่ากรณีเป็นเรื่องในชั้นบังคับชำระค่าภาษีอากรค้าง โดยโต้แย้งกันในเรื่องวิธีการคำนวณภาษีที่ต้องชำระโดยการหักกลบลบหนี้ว่าไม่ถูกต้องและในส่วนเงินเพิ่มเท่านั้น มิได้พิพาทกันเกี่ยวกับมูลหนี้ภาษีอากรโดยตรง ประกอบกับเมื่อโจทก์ยื่นหนังสือโต้แย้งการคำนวณเงินเพิ่ม จำเลยก็รับวินิจฉัยให้โดยไม่ได้โต้แย้งถึงเรื่องรูปแบบของหนังสือ กรณีจึงถือได้ว่าเป็นการโต้แย้งสิทธิหน้าที่ระหว่างโจทก์กับจำเลยในเรื่องหนี้ภาษีอากรค้างชำระ หาใช่เป็นกรณีที่โจทก์ขอคืนเงินภาษีอากรที่นำส่งแล้วเป็นจำนวนเงินเกินกว่าที่ควรต้องเสียภาษี หรือที่ไม่มีหน้าที่ต้องเสีย ซึ่งโจทก์จะต้องยื่นคำร้องขอคืนตามมาตรา 27 ตรี โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องคดีนี้และขอคืนเงินภาษีจากจำเลยได้
เงินเพิ่มตามมาตรา 27 แห่ง ป.รัษฎากร มิใช่ดอกเบี้ยตาม ป.พ.พ. มาตรา 329 วรรคหนึ่ง จำเลยจึงไม่อาจนำเงินที่โจทก์มีสิทธิได้รับมาหักชำระหนี้เงินเพิ่มก่อนได้ กรณีนี้เป็นเรื่องลูกหนี้ต้องผูกพันต่อเจ้าหนี้ในอันจะกระทำการเพื่อชำระหนี้เป็นการอย่างเดียวกันโดยมูลหนี้หลายราย เมื่อหนี้ถึงกำหนดชำระพร้อมกัน หนี้ค่าภาษีซึ่งเป็นหนี้ที่ก่อให้เกิดภาระและเป็นฐานในการคำนวณเงินเพิ่มจึงเป็นหนี้รายที่ตกหนักที่สุดย่อมได้รับการปลดเปลื้องไปก่อนตาม ป.พ.พ. มาตรา 328 วรรคสอง จำเลยจึงต้องนำเงินภาษีมูลค่าเพิ่มที่โจทก์มีสิทธิได้รับคืนไปหักชำระค่าภาษีอากรให้หมดก่อนแล้วจึงไปหักในส่วนเงินเพิ่มได้
ป.รัษฎากร มาตรา 27 วรรคสาม บัญญัติว่า การคำนวณเงินเพิ่มต้องไม่เกินจำนวนภาษีที่ต้องเสียหรือนำส่งโดยไม่รวมเบี้ยปรับ ส่วนการหักกลบลบหนี้หรือการชำระหนี้ภาษีซึ่งอาจทำให้จำนวนเงินภาษีอากรที่ผู้เสียภาษีต้องเสียหรือนำส่งลดลงนั้น การคำนวณเงินเพิ่มก็ต้องเปลี่ยนแปลงไปตามจำนวนภาษีอากรที่ลดลง เงินเพิ่มที่คำนวณได้จึงต้องไม่เกินต้นเงินภาษีอากรตามการประเมิน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6693/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเวนคืนที่ดินและภาษีธุรกิจเฉพาะ กรณีที่ดินใช้ประกอบกิจการให้เช่า ไม่ใช่ขายเพื่อหากำไร
โจทก์มีที่ดินพิพาทเพียงแปลงเดียวขณะที่ถูกเวนคืนโจทก์ใช้เป็นที่ตั้งอาคารสำนักงานของโจทก์และมีไว้ให้ผู้อื่นเช่า อันแสดงให้เห็นว่าที่ดินและอาคารที่พิพาทเป็นอสังหาริมทรัพย์ที่โจทก์มีไว้เพื่อประกอบกิจการไม่ได้มีไว้เพื่อขาย ประกอบกับการที่โจทก์ต้องโอนทรัพย์ก็เนื่องจากมี พระราชกฤษฎีกาออกมากำหนดให้ที่ดินที่โอนนั้นอยู่ในบริเวณที่ที่จะเวนคืน ซึ่งหากโจทก์ไม่ตกลงกับเจ้าหน้าที่ก็ต้องถูกเวนคืน ดังนั้น การที่โจทก์ยอมตกลงโอนที่ดินภายใต้สภาพบังคับเช่นนี้ย่อมไม่ใช่การโอนโดยเจตนาหรือเพื่อประโยชน์ในกิจการของโจทก์ กรณีของโจทก์จึงไม่เป็นการขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นทางค้าหรือหากำไรที่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะตามมาตรา 91/2 (6) แห่ง ป.รัษฎากร
เมื่อโจทก์ไม่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะและไม่มีหน้าที่ต้องยื่นแบบแสดงรายการ การฟ้องขอคืนภาษีธุรกิจเฉพาะและภาษีส่วนท้องถิ่นในคดีนี้จึงไม่อยู่ในบังคับกำหนดเวลาสามปีนับแต่วันพ้นกำหนดเวลายื่นแบบแสดงรายการภาษีตามมาตรา 91/11 และมาตรา 27 ตรี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4751/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การขอคืนภาษีอากร: การเริ่มต้นระยะเวลาการขอคืนเมื่อไม่มีหน้าที่ยื่นแบบฯ และการฟ้องเรียกคืนไม่ขาดอายุความ
ป.รัษฎากร มาตรา 27 ตรี บัญญัติว่า "เว้นแต่จะมีบทบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น การขอคืนภาษีอากรและภาษีที่ถูกหักไว้ ณ ที่จ่าย และนำส่งแล้วเป็นจำนวนเงินเกินกว่าที่ควรต้องเสียภาษีหรือไม่มีหน้าที่ต้องเสีย ให้ผู้มีสิทธิขอคืนยื่นคำร้องขอคืนภายในสามปี นับแต่วันสุดท้ายแห่งกำหนดเวลายื่นรายการภาษีตามที่กฎหมายกำหนด เว้นแต่ (1) ในกรณีผู้มีสิทธิขอคืนได้ยื่นรายการเมื่อพ้นเวลาที่กฎหมายกำหนดหรือได้ยื่นรายการภายในเวลาที่รัฐมนตรีหรืออธิบดีขยายหรือเลื่อนออกไป ให้ผู้มีสิทธิขอคืนยื่นคำร้องขอคืนภายในสามปี นับแต่วันที่ได้ยื่นรายการ..." บทบัญญัติดังกล่าวเป็นเรื่องการขอคืนภาษีอากรซึ่งจะต้องยื่นคำร้องขอคืนภายใน 3 ปี นับแต่วันสุดท้ายแห่งกำหนดเวลายื่นรายการภาษีตามความในตอนท้ายของมาตรา 27 ตรี วรรคหนึ่ง แต่หากยื่นรายการเมื่อพ้นเวลาที่กฎหมายกำหนด ผู้มีสิทธิขอคืนก็ยังยื่นคำร้องขอคืนได้ภายใน 3 ปี นับแต่วันที่ได้ยื่นรายการนั้นตามมาตรา 27 ตรี (1) การนับระยะเวลาขอคืนภาษีอากรจึงต้องเริ่มต้นจากการยื่นแบบแสดงรายการของผู้เสียภาษีก่อน เนื่องจากการยื่นแบบแสดงรายการจะมีภาษีที่ได้ชำระแล้วหรือมีการคำนวณเครดิตภาษีจากจำนวนเงินภาษีที่หักและนำส่ง อันมีผลทำให้เกิดจำนวนภาษีที่ได้ชำระแล้วและมีสิทธิจะขอคืนได้ ดังนั้น ในกรณีที่กฎหมายมิได้กำหนดให้ต้องยื่นแบบแสดงรายการก็จะไม่มีเวลาเริ่มต้นที่จะใช้สำหรับนับระยะเวลาในการขอคืนภาษีตามบทบัญญัติดังกล่าวได้ โจทก์มิใช่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลตามมาตรา 39 ทั้งตาม พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์ พ.ศ.2479 มาตรา 8 วรรคสอง บัญญัติว่า "ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ย่อมได้รับความยกเว้นจากการเก็บภาษีอากรเช่นเดียวกับทรัพย์สินของแผ่นดิน" เป็นผลให้เงินค่าทดแทนการเวนคืนที่ดินของโจทก์ได้รับยกเว้นไม่ต้องนำมาเสียภาษีเงินได้ตามบทบัญญัติดังกล่าว โจทก์ไม่มีหน้าที่ต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษี จึงไม่มีกำหนดเวลายื่นรายการภาษีของโจทก์ที่จะนำมาใช้เป็นหลักในการเริ่มต้นระยะเวลาการขอคืนภาษีตามมาตรา 27 ตรี
การที่จำเลยที่ 2 หักภาษี ณ ที่จ่าย และนำส่งจำเลยที่ 1 โดยอาศัย ป.รัษฎากร มาตรา 52 และจำเลยทั้งสองไม่คืนเงินภาษีแก่โจทก์โดยอ้างว่าโจทก์ยื่นคำร้องขอคืนเกินกำหนดตามมาตรา 27 ตรี จึงเป็นกรณีที่จำเลยที่ 1 ได้เงินภาษีไปโดยมีมูลอันจะอ้างกฎหมายได้ในขณะรับเงินนั้น การที่โจทก์ฟ้องเรียกภาษีคืนจึงมิใช่ฟ้องเรียกคืนในฐานลาภมิควรได้ อันจะอยู่ในบังคับอายุความ 1 ปี นับแต่เวลาที่โจทก์รู้ว่าตนมีสิทธิเรียกคืน หรืออายุความ 10 ปี นับแต่เวลาที่สิทธินั้นได้มีขึ้น ตาม ป.พ.พ. มาตรา 419 คดีโจทก์ไม่ขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12131/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเกษียณอายุเร็วตามโครงการของบริษัท และสิทธิขอคืนภาษีเงินได้ที่ได้รับการยกเว้น
หลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนดตามประกาศเรื่อง โครงการเกษียณอายุก่อนกำหนดประจำปี 2550 ที่ให้พนักงานออกจากงานก่อนอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ โดยความสมัครใจร่วมกันคือข้อกำหนดส่วนหนึ่งในหลักเกณฑ์การเกษียณอายุงาน โดยเพิ่มเติมจากข้อบังคับธนาคารเพื่อการเกษตรฯ ฉบับที่ 4 ที่กำหนดให้เกษียณเมื่ออายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ เป็นให้เกษียณอายุเมื่ออายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ หรือเกษียณอายุงานก่อนอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ การที่โจทก์ใช้สิทธิตามประกาศนี้แม้จะเป็นเวลาที่ยังไม่มีการแก้ไขเพิ่มเติมข้อบังคับดังกล่าว ถือได้ว่าเป็นการเกษียณอายุโดยการออกจากงานเมื่อสิ้นกำหนดเวลาการทำงานตามสัญญาจ้างแรงงานที่กำหนดไว้เป็นลายลักษณ์อักษรแล้ว
เงินได้ที่โจทก์ได้รับจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพประจำปีภาษี 2550 ได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ โจทก์จึงเป็นผู้ไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษี ซึ่งตาม ป.รัษฎากร มาตรา 63 เดิม ที่ใช้บังคับในขณะพิพากษาคดีนี้ มีเจตนารมณ์ที่จะใช้บังคับแก่บุคคลผู้มีหน้าที่เสียภาษีที่ถูกหักภาษีไว้ ณ ที่จ่าย เป็นจำนวนเงินเกินกว่าที่ควรต้องเสียเท่านั้น มิได้บัญญัติขยายรวมไปถึงบุคคลผู้ไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษี แต่ถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย ดังเช่นโจทก์ในคดีนี้ ซึ่งต่อมาภายหลังจึงได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 63 ดังกล่าว โดยมาตรา 63 วรรคสอง ที่แก้ไขใหม่ บัญญัติให้บุคคลผู้ไม่มีหน้าที่ต้องยื่นรายการเกี่ยวกับเงินได้พึงประเมินในปีภาษีแต่ถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย บุคคลนั้นมีสิทธิได้รับเงินคืนแต่ต้องยื่นคำร้องขอคืนภายในกำหนด กรณีของโจทก์จึงไม่อยู่ภายใต้บังคับ ป.รัษฎากร มาตรา 63 เดิม เมื่อกรณีของโจทก์ไม่มีบทบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น โจทก์จึงมีความชอบธรรมที่จะใช้สิทธิขอคืนภายใน 3 ปี นับแต่วันสุดท้ายแห่งกำหนดเวลายื่นรายการภาษีตามมาตรา 27 ตรี ซึ่งเป็นบทบัญญัติให้ใช้กับกรณีทั่วไป จึงต้องคืนภาษีให้กับโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8482/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิขอคืนภาษีธุรกิจเฉพาะกรณีผู้ซื้อชำระภาษีแทนผู้ขายตามสัญญาซื้อขายจากการบังคับคดี
ป.รัษฎากร มาตรา 91/7 และมาตรา 91/11 เป็นบทบัญญัติที่ใช้บังคับแก่กรณีที่ผู้มีหน้าที่เสียภาษีตามกฎหมายเท่านั้น มิอาจตีความขยายรวมไปถึงผู้ไม่มีหน้าที่เสียภาษีหรือผู้ที่ถูกพนักงานเจ้าหน้าที่เรียกเก็บภาษีแทนผู้มีหน้าที่เสียภาษีไปด้วย โจทก์ซื้ออสังหาริมทรัพย์จากการขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดี ท. ลูกหนี้ตามคำพิพากษาจึงเป็นผู้มีหน้าที่เสียภาษีธุรกิจเฉพาะ แต่ตามข้อสัญญาท้ายประกาศเจ้าพนักงานบังคับคดีระบุให้ผู้ซื้อต้องเป็นผู้เสียค่าธรรมเนียมในการโอนและค่าภาษีต่าง ๆ จากการขายอสังหาริมทรัพย์ตามประมวลรัษฎากร และในหนังสือขอให้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์อสังหาริมทรัพย์ให้แก่ผู้ซื้อระบุให้เจ้าพนักงานที่ดินเรียกเก็บค่าธรรมเนียมและค่าภาษีต่าง ๆ จากการขายอสังหาริมทรัพย์ตามประมวลรัษฎากรจากผู้ซื้อ โดยโจทก์และจำเลยต่างนำสืบรับกันว่า โจทก์เป็นผู้ชำระเงินค่าภาษีตามข้อสัญญาท้ายประกาศเจ้าพนักงานบังคับคดี เมื่อในช่วงเวลาที่โจทก์จดทะเบียนรับโอนที่ดินทั้ง 21 แปลง อยู่ภายใต้บังคับพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการลดอัตรารัษฎากร (ฉบับที่ 488) พ.ศ.2552 ให้ลดอัตราภาษีธุรกิจเฉพาะสำหรับการขายอสังหาริมทรัพย์ตามความใน ป.รัษฎากร มาตรา 91/6 (3) ลงเหลืออัตราร้อยละ 0.11 ซึ่งเป็นอัตราที่รวมภาษีธุรกิจเฉพาะในส่วนที่เป็นรายได้ของท้องถิ่น ท. จึงไม่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะในส่วนที่กฎหมายกำหนดให้ลดอัตราลงและจำเลยย่อมไม่มีสิทธิยึดเงินค่าภาษีในส่วนที่โจทก์จ่ายไปดังกล่าว การฟ้องขอคืนค่าภาษีจากจำเลยในคดีนี้จึงไม่อยู่ภายใต้บังคับมาตรา 91/11 แห่ง ป.รัษฎากร และมิได้อยู่ภายใต้บังคับมาตรา 27 ตรี ซึ่งเป็นเรื่องการขอคืนภาษีอากรและภาษีที่ถูกหักไว้ ณ ที่จ่าย และนำส่งแล้วเป็นจำนวนเกินกว่าที่ควรต้องเสียหรือไม่มีหน้าที่ต้องเสีย โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องให้จำเลยคืนเงินภาษีได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10701/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การขอคืนภาษีเกินกำหนดเวลาและข้อยกเว้นตาม ป.รัษฎากร มาตรา 27 ตรี การฟ้องคดีแพ่งขยายเวลาขอคืนภาษี
ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 27 ตรี ใช้บังคับกับผู้ที่ถูกหักภาษีไว้ ณ ที่จ่าย และนำส่งแล้วเป็นจำนวนเงินเกินกว่าที่ควรต้องเสียภาษี รวมถึงบุคคลที่ไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีอากรด้วย โจทก์อ้างว่าเป็นผู้ไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีอากร แต่ได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับปีภาษี 2535 ถึงปีภาษี 2539 ว่ามีเงินได้ประเภทดอกเบี้ยเงินกู้ยืมพร้อมนำส่งภาษีแก่จำเลย โจทก์จึงต้องยื่นคำร้องขอคืนเงินภาษีอากรภายในสามปีนับแต่วันสุดท้ายแห่งกำหนดเวลายื่นรายการภาษี โจทก์ยื่นคำร้องเมื่อพ้นกำหนดเวลาที่กฎหมายกำหนดตามมาตรา 27 ตรี (2) กรณีผู้มีสิทธิขอคืนอุทธรณ์การประเมินตามหมวดนี้ หรือเป็นคดีในศาลให้ผู้มีสิทธิขอคืนยื่นคำร้องขอคืนภายในสามปีนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์การประเมินเป็นหนังสือหรือนับแต่วันที่มีคำพิพากษาถึงที่สุด แล้วแต่กรณีนั้น คำว่า เป็นคดีในศาล หมายถึง คดีฟ้องเพิกถอนคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ต่อศาลตาม ป.รัษฎากร มาตรา 30 (2) หรือฟ้องคดีโดยเป็นคู่ความกับกรมสรรพากรอ้างว่าตนไม่มีหน้าที่เสียภาษี มิใช่เป็นการฟ้องคดีแพ่งทั่วไประหว่างตนกับบุคคลอื่น แล้วนำผลคดีมาอ้างขยายเวลาขอคืนภาษี การที่โจทก์ฟ้อง จ. แล้วศาลจังหวัดสมุทรสาครมีคำพิพากษาว่า จ. ไม่ชำระต้นเงินและดอกเบี้ยแก่โจทก์นั้นเป็นการฟ้องคดีแพ่งทั่วไปไม่อยู่ในบังคับ ป.รัษฎากร มาตรา 27 ตรี (2) โจทก์จึงไม่มีอำนาจนำคดีมาฟ้องต่อศาลได้ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 7 (3) ประกอบมาตรา 9

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8804/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การอุทธรณ์การประเมินภาษี, สิทธิขอคืนภาษี, ดอกเบี้ยคืนภาษี, และผลของการไม่ยื่นรายการภาษีตามกำหนด
โจทก์อ้างในคำฟ้องว่า โจทก์มิได้ใช้ที่ดินและโกดังสินค้าในการประกอบกิจการใด การขายที่ดินและโกดังสินค้าดังกล่าวจึงไม่ใช่การขายอสังหาริมทรัพย์ที่มีไว้ในการประกอบกิจการ ซึ่งจะต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะตามคำวินิจฉัยอุทธรณ์ การที่ศาลภาษีอากรกลางหยิบยกข้อความตามสัญญาซื้อขายที่ดินระหว่างโจทก์กับบริษัท ส. และข้อที่โจทก์ยอมรับการประเมินค่ารายปีและเสียภาษีโรงเรือนและที่ดิน ซึ่งเป็นพยานหลักฐานที่ปรากฏในสำนวนมาประกอบดุลพินิจในการชั่งน้ำหนักพยานหลักฐาน แล้ววินิจฉัยว่าโจทก์มีอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าวไว้ในการประกอบกิจการจึงมิใช่การวินิจฉัยนอกประเด็น แม้เหตุผลตามคำพิพากษาจะแตกต่างจากเหตุผลของเจ้าพนักงานประเมินหรือคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ก็ตาม
โจทก์อ้างว่าอสังหาริมทรัพย์จำนวน 4 แปลง โจทก์ได้มาตั้งแต่ปี 2525 และขายไปในปี 2535 โดยมิได้มุ่งในทางการค้าหรือหากำไร จำเลยให้การว่า โจทก์ซื้อที่ดิน 4 แปลงมาในราคา 4,000,000 บาท แล้วขายไปในราคา 30,254,882 บาท และตามหนังสือสัญญาซื้อขายระบุว่าขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นโกดังก่ออิฐถือปูน ซื้อเพื่อใช้เป็นที่สร้างคลังเก็บสินค้า แสดงว่าโจทก์ผู้ซื้อมีเจตนาใช้ประกอบกิจการเป็นโกดังเก็บสินค้ามิได้มีเจตนาใช้เป็นที่อยู่อาศัย ทั้งยังยื่นแบบแสดงรายการกำหนดค่ารายปีและชำระภาษีโรงเรือนและที่ดิน ด้วยเหตุผลดังกล่าวการขายอสังหาริมทรัพย์ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวถือว่าเป็นการขายอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นทางค้าหรือหากำไร ตาม พ.ร.ฎ. (ฉบับที่ 244) พ.ศ.2534 มาตรา 3 (5) คือ อสังหาริมทรัพย์ที่ผู้ขายมีไว้ในการประกอบกิจการ โจทก์มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีธุรกิจเฉพาะและต้องนำเงินได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์ไปรวมคำนวณกับเงินได้พึงประเมินประเภทอื่นๆ ของโจทก์ เห็นได้ว่าคำให้การของจำเลยมิได้ปฏิเสธข้ออ้างตามคำฟ้องว่าโจทก์ได้ที่ดินทั้ง 4 แปลงมาโดยมิได้มุ่งในทางค้าหรือหากำไรให้เห็นโดยชัดแจ้ง คำให้การของจำเลยมุ่งแสดงข้อเท็จจริงให้เห็นว่าโจทก์ขายที่ดินไปในทางค้าหรือหากำไรซึ่งจะต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะอันเป็นภาษีคนละประเภทกับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา คำให้การของจำเลยจึงมิได้ปฏิเสธข้ออ้างของโจทก์ดังกล่าวตาม ป.วิ.พ. มาตรา 177 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 17 ดังนั้น ปัญหาที่ว่าโจทก์ได้ที่ดินมาโดยมุ่งในทางค้าหรือหากำไรนั้น ถือว่าจำเลยได้รับแล้ว และข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามคำฟ้องว่าโจทก์ได้ที่ดินมาโดยมิได้มุ่งในทางการค้าหรือหากำไร โจทก์จึงมีสิทธิเลือกเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปีภาษี 2535 สำหรับเงินได้จากการขายที่ดินตามวิธีการที่กำหนดในมาตรา 48 (4) (ข) แห่งประมวลรัษฎากร
มาตรา 47 แห่ง พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 บัญญัติว่า "การใดที่กฎหมายกำหนดให้อุทธรณ์ต่อเจ้าหน้าที่ซึ่งเป็นคณะกรรมการ ขอบเขตการพิจารณาอุทธรณ์ให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น..." ซึ่ง ป.รัษฎากร มาตรา 32 ได้กำหนดขอบเขตการพิจารณาอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ไว้แล้วโดยไม่ได้กำหนดระยะเวลาไว้ คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ของจำเลยจึงมีอำนาจดำเนินการไปตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ในมาตรา 32 แห่งประมวลรัษฎากร ไม่อาจนำระยะเวลาที่กำหนดให้วินิจฉัยอุทธรณ์ และแจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์ภายใน 30 วัน ตามมาตรา 45 แห่ง พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครองฯ ดังกล่าวมาใช้ได้
มาตรา 27 ตรี (1) แห่งประมวลรัษฎากร บัญญัติให้ผู้มีสิทธิขอคืนภาษีอากรที่ยื่นรายการเมื่อพ้นเวลาที่กฎหมายกำหนด ขอคืนได้ภายใน 3 ปี นับแต่วันยื่นรายการก็สืบเนื่องมาจากแม้ผู้ยื่นจะยื่นเกินกำหนดเวลาที่กฎหมายกำหนดก็ตาม แต่เมื่อผู้ยื่นไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีอากรจึงต้องคืนให้ ส่วนเรื่องดอกเบี้ย มาตรา 4 ทศ แห่งประมวลรัษฎากร กำหนดให้เป็นไปตามกฎกระทรวง ซึ่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 161 (พ.ศ.2526) ข้อ 2 กำหนดไว้ว่า การคิดดอกเบี้ยให้แก่ผู้ได้รับคืนภาษีอากรนั้น จะคิดให้ต่อเมื่อได้มีการยื่นแบบแสดงรายการหรือคำร้องขอคืนเงินภาษีอากรภายในเวลาที่กฎหมายกำหนด หรือภายในเวลาที่ได้รับการขยายหรือเลื่อนให้ เมื่อโจทก์มิได้ยื่นแบบแสดงรายการภายในกำหนดเวลาที่กฎหมายกำหนด โจทก์จึงมีสิทธิได้รับภาษีอากรที่ชำระไปแล้วคืนตามมาตรา 27 ตรี (1) แห่งประมวลรัษฎากร โดยไม่มีสิทธิได้ดอกเบี้ย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7700/2548 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การหักลดหย่อนภาษีเงินได้จากการบริจาคที่ระบุชื่อผู้บริจาคและครอบครัว ผู้บริจาคมีสิทธิหักลดหย่อนได้เต็มจำนวน
คดีมีประเด็นที่ต้องพิจารณาเพียงว่าใบอนุโมทนาบัตรที่ระบุชื่อโจทก์และครอบครัวเป็นผู้บริจาค โจทก์สามารถนำไปหักค่าลดหย่อนเงินบริจาคได้หรือไม่ การที่ศาลภาษีอากรกลางวินิจฉัยว่า แม้โจทก์ไม่มีใบอนุโมทนาบัตรของวัดมาแสดง แต่โจทก์พิสูจน์พยานบุคคลว่ามีการบริจาคจริงโจทก์ก็ย่อมนำไปหักเป็นค่าลดหย่อนได้ จึงเป็นการวินิจฉัยนอกฟ้องนอกประเด็น ไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 17 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 ถือไม่ได้ว่าเป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลภาษีอากรกลางตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 29 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง
ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 47 (7) (ข) ให้สิทธิผู้มีเงินได้พึงประเมินนำเงินที่ตนบริจาคมาหักเป็นค่าลดหย่อนได้ โดยหักได้เท่าจำนวนที่บริจาค แต่ไม่เกินร้อยละ 10 ของเงินได้พึงประเมินที่เหลือจากการหักค่าใช้จ่ายแล้ว เมื่อใบอนุโมทนาบัตรที่โจทก์นำมาขอหักเป็นค่าลดหย่อนระบุชื่อโจทก์และครอบครัวเป็นผู้บริจาค และโจทก์ได้บริจาคเงินจริง โจทก์ซึ่งเป็นผู้มีชื่อในใบอนุโมทนาบัตรดังกล่าวจึงมีสิทธิหักเป็นค่าลดหย่อนได้
การที่ใบอนุโมทนาบัตรระบุชื่อโจทก์และครอบครัวเป็นผู้บริจาคเพื่อเหตุผลทางด้านจิตใจและความเชื่อทางศาสนาว่าบุคคลในครอบครัวของโจทก์ทุกคนได้ร่วมกันทำบุญกุศล เมื่อโจทก์เป็นผู้มีชื่อระบุในใบอนุโมทนาบัตร โดยไม่มีชื่อบุคคลอื่นร่วมด้วย โจทก์จึงมีสิทธิที่จะนำเงินบริจาคทั้งจำนวนตามที่ปรากฏในใบอนุโมทนาบัตรนั้นมาหักเป็นค่าลดหย่อนในการคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของโจทก์ได้
การขอคืนภาษีอากรที่นำส่งแล้วเป็นจำนวนเงินเกินกว่าที่ควรต้องเสียภาษีหรือที่ไม่มีหน้าที่ต้องเสีย ผู้เสียภาษีจะต้องยื่นคำร้องขอคืนภาษีต่อเจ้าพนักงานของจำเลยตามประมวลรัษฎากร มาตรา 27 ตรี แต่โจทก์ไม่ได้ยื่นคำร้องขอคืนภาษี โจทก์จึงไม่มีอำนาจนำคดีมาฟ้องต่อศาลขอคืนภาษีและดอกเบี้ยตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร ที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้จำเลยคืนเงิน 21,806 บาท พร้อมดอกเบี้ยให้แก่โจทก์จึงไม่ชอบ ปัญหานี้แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นอุทธรณ์ แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรมีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 29 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) และมาตรา 246

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7700/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การหักลดหย่อนภาษีเงินบริจาคจากใบอนุโมทนาบัตรที่ระบุชื่อครอบครัว และการขอคืนภาษีที่ถูกต้อง
คดีนี้มีประเด็นที่ต้องพิจารณาเพียงว่า ใบอนุโมทนาบัตรที่ระบุชื่อโจทก์และครอบครัวเป็นผู้บริจาค โจทก์สามารถนำไปหักลดหย่อนเงินบริจาคได้หรือไม่ การที่ศาลภาษีอากรกลางวินิจฉัยว่า แม้โจทก์ไม่มีใบอนุโมทนาบัตรของวัดมาแสดง แต่โจทก์พิสูจน์พยานบุคคลว่ามีการบริจาคจริง โจทก์ก็ย่อมนำไปหักเป็นค่าลดหย่อนได้จึงเป็นการวินิจฉัยนอกฟ้อง นอกประเด็น ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 142 แม้คู่ความจะหยิบยกขึ้นเป็นประเด็นในชั้นอุทธรณ์ ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรไม่จำต้องวินิจฉัยในประเด็นดังกล่าว
มาตรา 47 (7) แห่ง ป. รัษฎากร ให้สิทธิผู้มีเงินได้พึงประเมินนำเงินที่ตนบริจาคมาหักเป็นค่าลดหย่อนได้ โดยหักได้เท่าจำนวนที่บริจาค แต่ไม่เกินร้อยละ 10 ของเงินได้พึงประเมินที่หักรายจ่ายแล้ว เมื่อใบอนุโมทนาบัตรที่โจทก์นำมาหักเป็นค่าลดหย่อนระบุชื่อโจทก์และครอบครัวเป็นผู้บริจาค โจทก์จึงมีสิทธินำมาหักเป็นค่าลดหย่อนได้
การที่ใบอนุโมทนาบัตรระบุชื่อโจทก์และครอบครัวเป็นผู้บริจาคก็เพื่อเหตุผลทางด้านจิตใจและความเชื่อทางศาสนาว่า บุคคลในครอบครัวของโจทก์ทุกคนได้ร่วมกันทำบุญกุศล เมื่อโจทก์เป็นผู้มีชื่อระบุในใบอนุโมทนาบัตรเพียงคนเดียวโดยไม่มีชื่อบุคคลอื่นร่วมด้วย โจทก์จึงมีสิทธินำเงินบริจาคทั้งจำนวนตามที่ปรากฏในใบอนุโมทนาบัตรพิพาท มาหักเป็นค่าลดหย่อนในการคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของโจทก์ได้
การขอคืนภาษีอากรที่นำส่งแล้วเป็นจำนวนเงินเกินกว่าที่ควรต้องเสีย หรือไม่มีหน้าที่ต้องเสีย ผู้เสียภาษีจะต้องยื่นคำร้องขอคืนภาษีต่อเจ้าพนักงานของจำเลย ตาม ป. รัษฎากร มาตรา 27 ตรี การที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้จำเลยคืนเงินจำนวน 21,806 บาท ที่โจทก์นำไปชำระแก่จำเลยตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ พร้อมดอกเบี้ยให้แก่โจทก์โดยไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้ยื่นคำร้องขอคืนภาษีแล้วจึงไม่ชอบ ปัญหานี้แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นอุทธรณ์ แต่เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรมีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ ตาม พ.ร.บ. จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ. 2528 มาตรา 29 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5)
of 2