คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
วิกร อังคณาวิศัลย์

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 58 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 74/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การสนับสนุน vs. ตัวการร่วม: ความผิดฐานชิงทรัพย์และปล้นทรัพย์
จำเลยที่ 2 ร่วมวางแผนกับจำเลยที่ 1 และ ส. มาก่อนเกิดเหตุเพื่อที่จะมากระทำความผิด แต่ขณะที่จำเลยที่ 1 และ ส. กระทำความผิดเอาทรัพย์ของผู้ตายไป จำเลยที่ 2 ขับรถจักรยานยนต์แยกทางออกไปก่อน ไม่ได้รออยู่ใกล้กับที่เกิดเหตุที่จะมีเวลาเพียงพอที่จะช่วยเหลือจำเลยที่ 1 และ ส. ในขณะกระทำความผิดได้ จึงไม่ใช่เป็นการแบ่งหน้าที่กันทำอันจะเป็นตัวการในการกระทำความผิดกับจำเลยที่ 1 และ ส. ได้ จำเลยที่ 2 คงมีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดฐานชิงทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายเท่านั้น หาใช่ร่วมกันเป็นตัวการกระทำความผิดฐานชิงทรัพย์ด้วยกันตั้งแต่สามคนขึ้นไป อันจะเป็นความผิดฐานปล้นทรัพย์ด้วยไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12008/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อุทธรณ์คดีอาญาเด็ก – ศาลใช้วิธีการสำหรับเด็กและเยาวชน – การจำกัดสิทธิอุทธรณ์ – การแก้ไขบทกฎหมายอาญา
ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2534 มาตรา 121 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะจำเลยยื่นอุทธรณ์ กำหนดว่า จำเลยจะอุทธรณ์ปัญหาข้อเท็จจริงว่าจำเลยมิได้กระทำการอันกฎหมายบัญญัติว่าเป็นความผิดโดยมิได้อุทธรณ์เกี่ยวกับการใช้ดุลพินิจกำหนดวิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนได้หรือไม่นั้น ต้องพิจารณาตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาความอย่างคดีธรรมดา ซึ่งเมื่อนำ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2534 มาตรา 6 มาประกอบแล้ว ก็คือ บทบัญญัติแห่ง ป.วิ.อ. มาตรา 193 ทวิ ซึ่งห้ามมิให้อุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นในปัญหาข้อเท็จจริงในคดีซึ่งอัตราโทษอย่างสูงตามที่กฎหมายกำหนดไว้ให้จำคุกไม่เกินสามปีหรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ เมื่อคดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43, 157 ซึ่งระวางโทษปรับตั้งแต่สี่ร้อยบาทถึงหนึ่งพันบาท และศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 (4), 157 ขณะกระทำความผิดจำเลยมีอายุ 12 ปีเศษ ยังไม่ต้องรับโทษตาม ป.อ. มาตรา 74 (1) (2) (3) ศาลชั้นต้นได้ว่ากล่าวตักเตือนจำเลยแล้วมอบตัวให้ผู้ปกครองรับไปอบรมดูแล โดยวางข้อกำหนดผู้ปกครองต้องระวังมิให้จำเลยก่อเหตุร้ายอีกภายใน 2 ปี นับแต่วันพิพากษา มิฉะนั้นผู้ปกครองของจำเลยต้องชำระเงินต่อศาลครั้งละ 3,000 บาท และให้คุมความประพฤติจำเลยไว้มีกำหนด 1 ปี อันเป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นซึ่งเป็นศาลเยาวชนและครอบครัวใช้วิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนแทนการลงโทษทางอาญาแก่จำเลย ไม่เป็นการลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 18 อันจะเข้ากรณียกเว้นที่จะมีสิทธิอุทธรณ์ได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 193 ทวิ จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตามบทบัญญัติดังกล่าว เมื่อจำเลยอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่า จำเลยไม่ได้กระทำโดยประมาท เป็นอุทธรณ์โต้แย้งการรับฟังพยานหลักฐานของศาลชั้นต้น มิใช่อุทธรณ์เกี่ยวกับดุลพินิจกำหนดวิธีการสำหรับเด็กและเยาวชน จึงเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงอันต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามบทบัญญัติดังกล่าว เมื่อจำเลยยื่นอุทธรณ์โดยขอให้ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลเยาวชนและครอบครัวอนุญาตให้อุทธรณ์ แต่ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลเยาวชนและครอบครัวไม่ได้มีคำสั่งอนุญาตให้อุทธรณ์ ก็เป็นการชอบด้วยกฎหมายตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2534 มาตรา 122 เพราะผู้พิพากษาหัวหน้าศาลเยาวชนและครอบครัวจะอนุญาตให้อุทธรณ์ได้เฉพาะในคดีซึ่งห้ามอุทธรณ์ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2534 มาตรา 121 เท่านั้น มิได้ให้ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลเยาวชนและครอบครัวอนุญาตให้อุทธรณ์ในกรณีดังกล่าวได้ แม้ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาหรือลงชื่อในคำพิพากษาจะรับอุทธรณ์ของจำเลยก็ตาม แต่ก็มิได้มีข้อความที่จะจับใจความได้ว่าได้ใช้ดุลพินิจอนุญาตให้อุทธรณ์ได้และจำเลยก็มิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 193 ตรี จึงถือว่าคดีไม่มีการอนุญาตหรือรับรองให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์มานั้นชอบแล้ว ไม่มีเหตุที่จะย้อนสำนวนให้ศาลอุทธรณ์ภาค 9 มีคำพิพากษาใหม่อีก ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
ในระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น ได้มี พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติม ประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 21) มาตรา 6 ให้ยกเลิกความในมาตรา 74 วรรคแรก แห่ง ประมวลกฎหมายอาญาและให้ใช้ข้อความใหม่แทน มาตรา 74 (2) (เดิม) ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับขณะกระทำความผิดกำหนดไว้ว่า ถ้าศาลเห็นว่า บิดา มารดา หรือผู้ปกครองสามารถดูแลเด็กนั้นได้ ศาลจะมีคำสั่งให้มอบตัวเด็กนั้นให้แก่บิดา มารดา หรือผู้ปกครองไป โดยวางข้อกำหนดให้บิดา มารดา หรือผู้ปกครองระวังเด็กนั้นไม่ให้ก่อเหตุร้ายตลอดเวลาที่ศาลกำหนด ซึ่งต้องไม่เกิน 3 ปี และกำหนดจำนวนเงินตามที่เห็นสมควร ซึ่งบิดา มารดา หรือผู้ปกครองต้องชำระต่อศาลไม่เกินครั้งละ 1,000 บาท ในเมื่อเด็กนั้นก่อเหตุร้ายขึ้น โดยตาม มาตรา 74 (2) ที่แก้ไขใหม่ กำหนดไว้ว่า ให้ศาลกำหนดจำนวนเงินตามที่เห็นสมควร ซึ่งบิดา มารดา หรือผู้ปกครองต้องชำระต่อศาลไม่เกินครั้งละ 10,000 บาท ในเมื่อเด็กนั้นก่อเหตุร้ายขึ้น ดังนั้นกฎหมายเดิมจึงเป็นคุณแก่จำเลยมากกว่าจึงต้องใช้กฎหมายเดิมบังคับแก่จำเลย ตาม ป.อ. มาตรา 3 ที่ศาลชั้นต้นนำมาตรา 74 (2) ซึ่งเป็นกฎหมายที่แก้ไขใหม่มาบังคับแก่จำเลยนั้นจึงเป็นการไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11865/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดฐานชิงทรัพย์ vs. วิ่งราวทรัพย์: การกระชากทรัพย์สินด้วยกำลังและการข่มขู่
ข้อเท็จจริงได้ความว่า ขณะพวกของจำเลยซึ่งนั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ของจำเลยที่กำลังขับตามผู้เสียหายไปถามผู้เสียหายว่า จะรีบไปไหน พวกของจำเลยดังกล่าวเพียงแต่มีมีดถืออยู่ในมือ และในขณะผู้เสียหายวิ่งหนี พวกของจำเลยได้วิ่งไล่ตามผู้เสียหายไปจนทัน แล้วกระชากสร้อยคอทองคำที่ผู้เสียหายสวมอยู่ขาดติดมือพวกของจำเลยไป โดยพวกของจำเลยไม่ได้ใช้มีดที่ถืออยู่จี้ขู่เข็ญ หรือแสดงท่าทีใดๆ ให้เห็นว่าเป็นการขู่เข็ญว่าจะใช้มีดที่ถืออยู่ฟันหรือแทงประทุษร้ายหากขัดขืนไม่ให้พวกของจำเลยกระชากเอาสร้อยคอทองคำไป พฤติการณ์ของจำเลยกับพวกตามที่ได้ความดังกล่าวจึงถือไม่ได้ว่าเป็นการขู่เข็ญว่าในทันใดนั้นจะใช้กำลังประทุษร้ายผู้เสียหายเพื่อความสะดวกในการลักทรัพย์ การกระทำของจำเลยกับพวกไม่เป็นความผิดฐานชิงทรัพย์แต่เป็นความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยข้อหาชิงทรัพย์ ไม่ได้บรรยายฟ้องว่าจำเลยฉกฉวยเอาไปซึ่งหน้าและมิได้มีคำขอท้ายฟ้องให้ลงโทษฐานวิ่งราวทรัพย์ แสดงว่าโจทก์ไม่ประสงค์จะให้ลงโทษฐานวิ่งราวทรัพย์ ศาลลงโทษจำเลยฐานวิ่งราวทรัพย์ไม่ได้ คงลงโทษฐานลักทรัพย์ อันเป็นองค์ประกอบหนึ่งของความผิดฐานชิงทรัพย์เท่านั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11490/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฎีกาต้องห้าม อุทธรณ์/ฎีกาประเด็นข้อเท็จจริงที่ไม่ได้ยกขึ้นในศาลชั้นต้น
จำเลยอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงเพื่อเป็นการนำไปสู่การวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายเรื่องเขตอำนาจศาล เมื่ออุทธรณ์ของจำเลยในเรื่องนี้มิได้มีการยกขึ้นว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับอุทธรณ์และศาลอุทธรณ์วินิจฉัยให้จึงเป็นการไม่ชอบ แม้จำเลยยังคงฎีกาต่อมาฎีกาของจำเลยก็เป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8942/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ มัดจำสัญญาซื้อขาย: ศาลลดริบได้หากสูงเกินส่วนตาม พ.ร.บ.ข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม
เงินที่โจทก์ชำระให้จำเลยที่ 1 ในวันทำสัญญาจะซื้อจะขายนั้น เป็นการให้เพื่อเป็นพยานหลักฐานว่าสัญญาจะซื้อจะขายได้ทำขึ้นแล้ว และเป็นประกันการปฏิบัติตามสัญญา โดยคู่สัญญามีเจตนาจัดเอาเป็นการใช้เงินบางส่วนเมื่อชำระหนี้ หรือหากโจทก์ละเลยไม่ชำระหนี้ก็ให้ริบเงินนั้นได้ตามสัญญา เงินจำนวนนี้จึงเป็นมัดจำมิใช่เบี้ยปรับ เพราะเบี้ยปรับเป็นกรณีที่ลูกหนี้สัญญาจะใช้เงินจำนวนหนึ่งเมื่อตนไม่ชำระหนี้อันเป็นการกำหนดค่าเสียหายเอาไว้ล่วงหน้าเท่านั้น คู่สัญญามิได้มีเจตนาให้เอาเบี้ยปรับเป็นการใช้เงินบางส่วนเมื่อชำระหนี้ แม้ตาม ป.พ.พ. มิได้ให้อำนาจศาลที่จะลดมัดจำดังเช่นเบี้ยปรับ แต่ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540 มาตรา 7 บัญญัติว่า ในสัญญาที่มีการให้สิ่งใดไว้เป็นมัดจำ หากมีกรณีที่จะต้องริบมัดจำ ถ้ามัดจำนั้นสูงเกินส่วน ศาลจะลดลงให้ริบได้เพียงเท่าความเสียหายที่แท้จริงก็ได้ โดยบทกฎหมายดังกล่าวเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนซึ่งให้ศาลพิจารณาตามที่เห็นสมควรหากมัดจำสูงเกินส่วน ศาลจึงมีอำนาจลดมัดจำได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8711/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ค่าใช้จ่ายส่วนกลาง-หนังสือรับรองปลอดหนี้: ศาลสั่งถือเอาคำพิพากษาแทนเจตนาจำเลยได้หากไม่ปฏิบัติตาม
หลักเกณฑ์การจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดนั้นกฎหมายบัญญัติไว้เป็นการทั่วไปโดยไม่มีข้อยกเว้น จึงย่อมนำมาใช้บังคับแก่กรณีการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดอันเนื่องมาจากการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาลด้วย มิใช่ใช้บังคับเฉพาะกรณีที่เจ้าของห้องชุดเป็นผู้ขอจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุด หนี้อันเกิดจากค่าใช้จ่ายแม้เจ้าของร่วมผู้เป็นเจ้าของห้องชุดมีหน้าที่ต้องร่วมกันชำระตาม พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 มาตรา 18 กฎหมายมิได้ห้ามบุคคลอื่นชำระหนี้ดังกล่าวแทนเจ้าของห้องชุด ทั้งโดยสภาพห้องชุดเป็นอาคารที่ใช้สำหรับเป็นที่อยู่อาศัยร่วมกันของคนจำนวนมาก บทกฎหมายและข้อบังคับของนิติบุคคลอาคารชุดเป็นข้อกำหนดสิทธิและหน้าที่ของผู้อยู่อาศัยเพื่อประโยชน์แก่การอยู่อาศัยร่วมกันโดยปกติสุข เจ้าของร่วมจึงต้องมีส่วนรับผิดชอบในค่าใช้จ่ายส่วนกลางและค่าปรับตามบทกฎหมายและข้อบังคับเท่าที่ไม่ขัดต่อกฎหมาย โจทก์ซึ่งเป็นผู้ซื้อห้องชุดต้องรับไปทั้งสิทธิและหน้าที่ของเจ้าของร่วมเดิม และต้องถือว่าค่าปรับอันเกิดจากการผิดนัดชำระค่าใช้จ่ายส่วนกลางดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของค่าใช้จ่ายส่วนกลางที่โจทก์ต้องรับผิดชอบด้วย
ข้อบังคับของจำเลยที่ 1 คิดค่าปรับอัตราร้อยละ 10 ต่อเดือน ของจำนวนเงินที่ค้างชำระนั้นมีลักษณะเป็นค่าเสียหายหรือค่าสินไหมทดแทนซึ่งจำเลยที่ 1 กำหนดไว้ล่วงหน้าเมื่อเจ้าของร่วมไม่ชำระให้ถูกต้องสมควร เป็นเบี้ยปรับตาม ป.พ.พ. มาตรา 379 ทั้งเป็นเบี้ยปรับสูงเกินส่วน ศาลมีอำนาจลดลงเป็นจำนวนพอสมควรได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 383 วรรคหนึ่ง เมื่อพิเคราะห์ทางได้เสียของคู่ความ เห็นสมควรกำหนดให้อัตราร้อยละ 12 ต่อปี
หนี้ค่าใช้จ่ายส่วนกลางที่เจ้าของห้องชุดพิพาทคนเดิมค้างชำระแก่จำเลยที่ 1 เมื่อโจทก์ซึ่งเป็นผู้ซื้อห้องชุดจากการขายทอดตลาดได้ชำระหนี้ดังกล่าวแก่จำเลยที่ 1 แล้ว หนี้เป็นอันระงับสิ้นไป แต่โจทก์ก็มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 ออกหนังสือรับรองการปลอดหนี้ตอบแทนเช่นกัน เพราะโจทก์ประสงค์จะนำหนังสือนี้ไปแสดงต่อเจ้าพนักงานที่ดินเพื่อขอจดทะเบียนโอนห้องชุดมาเป็นของตนตาม พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 มาตรา 29 การที่จำเลยที่ 1 ออกหนังสือรับรองการปลอดหนี้จึงก่อให้เกิดสิทธิแก่โจทก์ที่จะโอนห้องชุดได้ จึงเป็นการกระทำนิติกรรมฝ่ายเดียวของจำเลยที่ 1 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 149 ดังนั้น ในการบังคับชำระหนี้หากสภาพหนี้ไม่เปิดช่องศาลชอบที่จะสั่งให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาได้ตาม ป.พ.พ. 213 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8257/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คดีอาญาเด็กและเยาวชน: การพิจารณาโทษตามกฎหมายที่แก้ไขใหม่ และการใช้วิธีการสำหรับเด็กแทนการลงโทษ
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตาม ป.อ. มาตรา 33, 58, 83, 91, 288, 289, 371 และขอให้กำหนดโทษของจำเลยที่ 1 ที่รอการกำหนดโทษไว้ในคดีก่อนบวกเข้ากับโทษของจำเลยที่ 1 ในคดีนี้ แม้ศาลจะพิพากษาในส่วนของจำเลยที่ 1 ว่ากระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 288, 371, 83 ลดมาตราส่วนโทษกึ่งหนึ่ง ลดโทษให้หนึ่งในห้า คงลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 20 ปี และปรับ 40 บาท เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งจำเลยที่ 1 ไปควบคุมเพื่อฝึกและอบรมยังสถานพินิจจนกว่าจำเลยทั้งสองมีอายุครบ 24 ปีบริบรูณ์ หากจำเลยมีอายุครบ 24 ปีบริบูรณ์แล้ว ให้ส่งจำเลยทั้งสองไปจำคุกในเรือนจำมีกำหนดคนละ 10 ปี โดยอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2534 มาตรา 104 (2) และวรรคท้าย แต่การส่งจำเลยที่ 1 ไปจำคุกต่อตามมาตรา 104 วรรคท้ายดังกล่าว มิใช่การพิพากษาให้ลงโทษจำคุกโดยแท้ แต่เป็นหนึ่งในวิธีการสำหรับเด็กและเยาวชน มิใช่การลงโทษจำคุกซึ่งเป็นโทษตาม ป.อ. มาตรา 18 ศาลจึงไม่อาจนำโทษจำคุกในคดีก่อนมาบวกตาม ป.อ. มาตรา 58 ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6292/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สินสมรสกรณีจดทะเบียนสมรสซ้อนและอยู่ร่วมกันเป็นครอบครัว ศาลแบ่งทรัพย์สินเป็นสามส่วน
จำเลยที่ 1 จดทะเบียนสมรสกับทั้งโจทก์และจำเลยที่ 2 ในเวลาห่างกันเพียง 20 วัน และอยู่กินฉันสามีภริยาทั้งกับโจทก์และจำเลยที่ 2 ในลักษณะเป็นครอบครัวเดียวกันมานานถึงประมาณ 20 ปี โจทก์จึงมาฟ้องเป็นคดีนี้ ทรัพย์สินตามคำฟ้องที่โจทก์อ้างเป็นสินสมรสนั้น เป็นทรัพย์สินที่ได้มาในระหว่างเวลาดังกล่าวโดยไม่อาจทราบได้ว่าโจทก์และจำเลยทั้งสองเป็นเจ้าของคนละเท่าใด กรณีต้องสันนิษฐานว่าแต่ละคนมีส่วนเท่ากันตาม ป.พ.พ. มาตรา 1357 จึงต้องแบ่งทรัพย์เป็นสามส่วนเท่าๆ กัน และมีสิทธิคนละหนึ่งส่วน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5308/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ หน้าที่โจทก์ในการพิสูจน์ความผิดฐานมีอาวุธปืน และผลของการขาดอายุความในความผิดเล็กน้อย
ในคดีอาญาโจทก์มีหน้าที่นำสืบพยานหลักฐานให้รับฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่า จำเลยกระทำความผิดตามฟ้อง เมื่อโจทก์ฟ้องจำเลยในความผิดฐานมีและฐานพาอาวุธปืนโดยไม่ได้รับใบอนุญาต โจทก์มีหน้าที่นำสืบว่า จำเลยไม่ได้รับใบอนุญาตให้มีและพาอาวุธปืน เมื่อโจทก์ไม่นำสืบจึงไม่สามารถลงโทษจำเลยในความผิดดังกล่าวตาม พ.ร.บ.อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 วรรคหนึ่ง, 72 ทวิ วรรคสอง ได้
การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้พนักงานคุมประพฤติสืบเสาะและพินิจจำเลย ก็เพื่อนำข้อเท็จจริงมาประกอบดุลพินิจในการกำหนดโทษแก่จำเลย มิใช่มีคำสั่งให้พนักงานคุมประพฤติสืบพยานว่าจำเลยกระทำผิดตามฟ้องหรือไม่ ทั้งศาลก็ไม่มีอำนาจสั่งให้ปฏิบัติเช่นนั้นด้วย และแม้ตาม พ.ร.บ.วิธีดำเนินการคุมความประพฤติตามประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ.2522 มาตรา 13 ศาลจะมีอำนาจรับฟังรายงานของพนักงานคุมความประพฤติโดยไม่ต้องมีพยานบุคคลประกอบ แต่ก็เพื่อประกอบการพิจารณาเรื่องโทษและวิธีการที่จะดำเนินการแก่จำเลยเท่านั้น มิได้เป็นการรับฟังในฐานะเป็นพยานหลักฐานที่จะนำมาวินิจฉัยการกระทำที่ถูกฟ้องด้วย ศาลจึงนำข้อเท็จจริงจากรายงานของพนักงานคุมประพฤติมารับฟังลงโทษจำเลยไม่ได้
ความผิดตาม ป.อ. มาตรา 371 มีระวางโทษปรับไม่เกิน 100 บาท เพียงสถานเดียว อันเป็นระวางโทษอย่างอื่นนอกจากโทษจำคุก และความผิดตาม ป.อ. มาตรา 376 มีระวางโทษจำคุกไม่เกิน 10 วัน หรือปรับไม่เกิน 500 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ จึงมีอายุความ 1 ปี ตาม ป.อ. มาตรา 95 (5) จำเลยกระทำความผิดวันที่ 16 มกราคม 2548 นับถึงวันฟ้องคือวันที่ 13 กันยายน 2549 จึงเลยกำหนดระยะเวลา 1 ปี คดีของโจทก์สำหรับความผิดทั้งสองมาตราดังกล่าวจึงเป็นอันขาดอายุความ สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (6)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1998-1999/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ รวมคดีและรับฟังพยานจำเลยได้ หากคดีเกี่ยวเนื่องกัน และประเด็นข้อพิพาทเป็นเรื่องเดียวกัน
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การในคดีสำนวนแรกแล้ว ต่อมาจำเลยนำคดีมาฟ้องโจทก์เป็นคดีสำนวนหลัง เมื่อกรณีต้องด้วยหลักเกณฑ์ว่าคู่ความในคดีทั้งสองสำนวนเป็นรายเดียวกัน หากรวมการพิจารณาคดีเข้าด้วยกันแล้วจะเป็นการสะดวก โดยศาลเห็นสมควรเองก็ดี หรือคู่ความยื่นคำร้องขอให้พิจารณาคดีรวมกันก็ดี เมื่อศาลได้ฟังคู่ความทุกฝ่ายแล้ว ถ้าเป็นที่พอใจศาลว่าคดีทั้งสองสำนวนเกี่ยวเนื่องกัน ศาลก็มีอำนาจสั่งให้พิจารณาคดีรวมกันได้ ทั้งคดีทั้งสองสำนวนนี้แม้ข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาแต่ละสำนวนจะต่างกัน แต่ประเด็นแห่งคดีเป็นเรื่องเดียวกันว่า ที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์หรือจำเลย ข้อเท็จจริงจึงเกี่ยวพันกันมา ศาลสามารถรับฟังพยานหลักฐานของจำเลยทั้งหมดที่นำสืบได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 28 วรรคหนึ่ง
of 6