คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
วิกร อังคณาวิศัลย์

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 58 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4524/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อมูลยาเสพติดที่ไม่ชัดเจนและการพิสูจน์ข้อเท็จจริงที่ไม่ถูกต้อง ส่งผลต่อการลดโทษตาม พ.ร.บ.ยาเสพติด
ตามพ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 100/2 ผู้ที่ให้ข้อมูลในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษจะต้องเป็นผู้กระทำความผิดและให้ข้อมูลต่อพนักงานฝ่ายปกครอง หรือตำรวจที่จับกุมผู้กระทำความผิด หรือพนักงานสอบสวนในคดีที่ผู้กระทำความผิดถูกดำเนินคดี และข้อมูลดังกล่าวต้องเป็นข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษ
การที่จำเลยบอกข้อมูลว่าเคยซื้อยาเสพติดให้โทษมาจาก ต. อายุประมาณ 45 ปี รูปร่างอ้วน ให้แก่ ว. ภริยาจำเลย พร้อมทั้งให้หมายเลขโทรศัพท์ของ ต. โดยแจ้งให้ ว. นำข้อมูลไปแจ้งแก่เจ้าพนักงานตำรวจ แต่กลับได้ความจาก ว. ว่ารับข้อมูลจากจำเลยว่าเคยซื้อยาเสพติดให้โทษจากผู้หญิงชื่อ ต. มีภูมิลำเนาอยู่แถวพระราม 2 จะส่งยาเสพติดให้โทษที่ตลาดรังสิต จึงนำข้อมูลไปแจ้งต่อเจ้าพนักงานตำรวจคนละชุดกับเจ้าพนักงานตำรวจที่จับกุมจำเลย พันตำรวจตรี ป. ได้รับข้อมูลเบื้องต้นของ ต. แล้วจึงสืบสวนหาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนวางแผนจับกุม ต. ได้พร้อมเมทแอมเฟตามีน 1,600 เม็ด จำเลยให้ข้อมูลของ ต. โดยไม่มีรายละเอียดหรือลักษณะรูปพรรณของ ต.ว่าเป็นอย่างไร โดยเฉพาะจำเลยอ้างว่าบอกข้อมูลให้ ว. ขณะจำเลยต้องขังในเรือนจำ แต่กลับปรากฏในคำร้องอุทธรณ์คำสั่งขอปล่อยชั่วคราวของจำเลย จำเลยให้การปฏิเสธและไม่ได้อ้างเหตุดังกล่าว เมื่อการจับกุม ต. ได้โดยไม่มีความเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงจากข้อมูลของจำเลยซึ่งให้ข้อมูลที่อ้างอย่างคร่าว ๆ จึงไม่เชื่อว่าจำเลยให้ข้อมูลแก่ ว. ไปแจ้งต่อพันตำรวจตรี ป. ให้ไปจับกุม ต. จริง ทั้งพันตำรวจตรี ป. มิได้เป็นเจ้าพนักงานตำรวจที่จับกุมจำเลยซึ่งเป็นผู้กระทำความผิดในคดีนี้แต่อย่างใด จำเลยจึงไม่ได้รับประโยชน์ตาม มาตรา 100/2 การที่ศาลอุทธรณ์รับฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่าจำเลยแจ้งข้อมูลผ่าน ว. ให้ไปแจ้งต่อเจ้าพนักงานตำรวจเกี่ยวกับข้อมูลของ ต. ผู้เคยจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนให้แก่จำเลยจนจับกุม ต. ได้พร้อมเมทแอมเฟตามีน 1,600 เม็ด จึงเป็นการรับฟังพยานหลักฐานที่ไม่ถูกต้อง แม้ไม่มีคู่ความฎีกา แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง และมาตรา 225 ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4008/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การแบ่งบรรจุยาเสพติด: การใช้กฎหมายใหม่ (พ.ร.บ.ยาเสพติดฯ ฉบับที่ 6 พ.ศ.2560) และการปรับบทลงโทษ
ในระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา ได้มี พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 6) พ.ศ.2560 มาตรา 6 ให้ยกเลิกความในมาตรา 65 แห่ง พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2545 และให้ใช้ความใหม่แทน โดยบทบัญญัติมาตรา 65 วรรคสาม ที่แก้ไขใหม่ กำหนดให้การผลิตยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 โดยการแบ่งบรรจุ หรือรวมบรรจุ เป็นความผิดตามมาตรานี้ โดยไม่คำนึงว่ายาเสพติดให้โทษนั้นมีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์หรือมีหน่วยการใช้หรือมีน้ำหนักสุทธิเพียงใด เว้นแต่เป็นการผลิตเพื่อจำหน่ายซึ่งแตกต่างจากมาตรา 65 วรรคสาม เดิม ที่ผู้ผลิตยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 โดยการแบ่งบรรจุหรือรวมบรรจุยาเสพติดให้โทษต้องมีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์หรือมีหน่วยการใช้หรือมีน้ำหนักสุทธิไม่ถึงปริมาณที่กำหนดตามมาตรา 15 วรรคสาม เดิม มิฉะนั้น หากมีปริมาณตั้งแต่ที่กำหนดดังกล่าวขึ้นไป ย่อมเข้าบทสันนิษฐานเด็ดขาดว่าเป็นการผลิตเพื่อจำหน่ายตามมาตรา 15 วรรคสาม (2) เดิม ซึ่งจะต้องรับโทษหนักขึ้นตามมาตรา 65 วรรคสี่ เดิม ดังนั้น บทบัญญัติมาตรา 65 วรรคสาม ที่แก้ไขใหม่ จึงเป็นคุณมากกว่า ต้องใช้กฎหมายที่แก้ไขใหม่บังคับแก่จำเลยที่ 1 ตาม ป.อ. มาตรา 3 โดยเห็นว่าตามบทบัญญัติมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 ให้บทนิยามคำว่า "ผลิต" ให้หมายความรวมตลอดถึงการแบ่งบรรจุ หรือรวมบรรจุด้วย ซึ่งตามมาตรา 65 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวที่แก้ไขใหม่ บัญญัติการกระทำอันเป็นความผิดฐานผลิตยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 โดยการแบ่งบรรจุไว้ในวรรคสามและวรรคสี่เป็นกรณีเฉพาะ แยกต่างหากจากบทความผิดและบทลงโทษในความผิดฐานผลิตยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ในกรณีทั่วไปตามมาตรา 65 วรรคหนึ่งและวรรคสอง ซึ่งมีสภาพแห่งความผิดเป็นภัยร้ายแรงต่อสังคมมากกว่าการกระทำความผิดฐานผลิตยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 โดยการแบ่งบรรจุ หรือรวมบรรจุ ตามมาตรา 65 วรรคสาม ที่แก้ไขใหม่ ดังนั้น การที่จำเลยที่ 1 ผลิตโดยการแบ่งบรรจุเมทแอมเฟตามีนเพื่อจำหน่าย จึงเป็นความผิดและต้องรับโทษตามมาตรา 65 วรรคสี่ เดิม เพราะบทบัญญัติมาตรา 65 วรรคสี่ ที่แก้ไขใหม่ มีข้อความเช่นเดียวกับบทบัญญัติมาตรา 65 วรรคสี่ เดิม กฎหมายที่แก้ไขใหม่จึงไม่เป็นคุณ ต้องใช้กฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดบังคับแก่จำเลย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2161/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การกำหนดประเภท 'ยาเสพติด' ที่ใช้บังคับตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก ต้องมีประกาศอธิบดีกรมตำรวจชัดเจน
ในขณะเกิดเหตุ พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 ทวิ วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "ห้ามมิให้ผู้ขับขี่เสพยาเสพติดให้โทษตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ หรือเสพวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทตามกฎหมายว่าด้วยวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ทั้งนี้ ตามที่อธิบดีกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา" ตามบทบัญญัติดังกล่าว ผู้ที่กระทำความผิดข้อหานี้ได้นั้น นอกจากต้องเป็นผู้ขับขี่ที่เสพยาเสพติดให้โทษตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษแล้ว ยาเสพติดให้โทษที่ผู้ขับขี่เสพนั้นต้องเป็นไปตามที่อธิบดีกรมตำรวจกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา อันเป็นข้อเท็จจริงประการหนึ่งที่เป็นองค์ประกอบแห่งความผิดดังกล่าวด้วย เมื่ออธิบดีกรมตำรวจออกข้อกฎกำหนดห้ามมิให้ผู้ขับขี่เสพแอมเฟตามีนและเมทแอมเฟตามีนตามข้อกำหนดกรมตำรวจ เรื่องกำหนดชื่อและประเภทของวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทและประเภทของรถที่ให้เจ้าพนักงานมีอำนาจตรวจสอบผู้ขับขี่ ลงวันที่ 13 กรกฎาคม 2537 เท่านั้น โดยขณะกระทำผิด อธิบดีกรมตำรวจไม่ได้ออกข้อกำหนดห้ามมิให้ผู้ขับขี่เสพมอร์ฟีนซึ่งเป็นยาเสพติดให้โทษตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานผู้ขับขี่เสพยาเสพติดให้โทษตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 ทวิ วรรคหนึ่ง, 157/1 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10634/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดชดใช้ค่าเลือกตั้งใหม่ แม้ไม่มีความผิดอาญา เพียงมีหลักฐานเชื่อได้ว่าการเลือกตั้งไม่สุจริต
มาตรา 97 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2545 บัญญัติว่า ในกรณีมีหลักฐานเชื่อได้ว่าการเลือกตั้งมิได้เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม ก็ให้มีการเลือกตั้งใหม่ หาใช่จำต้องฟังจนแน่ใจว่าจำเลยเป็นผู้กระทำความผิดในคดีอาญาหรือทำละเมิดจริง ดังนั้น แม้พนักงานอัยการจะมีคำสั่งไม่ฟ้องจำเลยเป็นคดีอาญาก็ตาม แต่เมื่อพยานหลักฐานของโจทก์มีหลักฐานควรเชื่อได้ว่าการกระทำของจำเลยเป็นผลให้การเลือกตั้งมิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรมแล้ว จำเลยต้องรับผิดชดใช้ค่าใช้จ่ายในการจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ตาม มาตรา 99 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3987/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฐานฉ้อโกง: โจทก์ไม่ใช่ผู้เสียหายหากเงินที่จ่ายเป็นเงินส่วนตัวของกรรมการผู้จัดการ ไม่ใช่เงินของบริษัท
ข้อเท็จจริงปรากฏว่า ตามปกติโจทก์ร่วมจ่ายเงินค่าซื้อข้าวโพดหวานให้เกษตรกรภายใน 7 วัน ถึง 15 วัน นับแต่วันที่ซื้อ หากเกษตรกรรายใดประสงค์จะขอรับเงินก่อนภายใน 1 ถึง 2 วัน จะต้องขายลดสิทธิการรับเงิน โดยเกษตรกรต้องแจ้งให้จำเลยทราบแล้วจำเลยเป็นผู้มีหน้าที่รวบรวมเอกสารเสนอเพื่อขออนุมัติกับกรรมการผู้จัดการของโจทก์ร่วมก่อน เมื่ออนุมัติแล้ว ม. กรรมการผู้จัดการของโจทก์ร่วมจะสั่งจ่ายเงินจากบัญชีของตนเองจ่ายไปก่อน การจ่ายเงินของ ม. ดังกล่าวจึงเป็นเงินส่วนตัวของ ม.ทั้งสิ้นหาใช่เงินของโจทก์ร่วมซึ่งมีฐานะเป็นบุคคลต่างหากจาก ม. ไม่ แม้ ม. มีความสัมพันธ์ในฐานะเป็นกรรมการผู้จัดการของโจทก์ร่วมก็ตาม แต่ ม. ก็ได้รับเงินส่วนต่างจากการขายลดสิทธิที่เป็นกำไรเป็นของตนเองแต่เพียงผู้เดียวตามที่โจทก์ร่วมยอมรับในคำแก้อุทธรณ์ ส่วนข้อที่กล่าวอ้างว่าให้ ม. จ่ายเงินส่วนตัวไปก่อนเพื่อมิให้ผิดหลักการการจ่ายเงินในการซื้อวัตถุดิบไม่ให้เสียระบบการจ่ายเงินนั้นไม่สมเหตุสมผล ทั้งไม่มีผลทำให้โจทก์ร่วมซึ่งไม่ใช่ผู้เสียหายอยู่แล้วกลายเป็นผู้เสียหายตามกฎหมายแต่อย่างใด โจทก์ร่วมจึงไม่ใช่ผู้เสียหายในความผิดฐานฉ้อโกง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15497/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การยิงต่อเนื่องสองครั้งถือเป็นความผิดสองกรรม แม้เวลาใกล้เคียงกัน หากมีเจตนาต่างกัน
ขณะเกิดเหตุผู้ตายยืนอยู่ใกล้กับผู้เสียหายห่างกันไม่เกิน 50 เมตร และผู้เสียหายเบิกความตอบทนายโจทก์ร่วมว่า ในครั้งแรกจำเลยยิงอาวุธปืนติดต่อกัน 2 นัด ผู้เสียหายถูกยิงนัดที่ 2 หลังจากนั้นผู้ตายจึงถูกยิง การที่จำเลยใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายและผู้เสียหายจึงเป็นการยิงคนละครั้ง แม้จะเป็นเวลาต่อเนื่องกันไป แต่ก็แยกเจตนาในการกระทำความผิดออกจากกันได้ การยิงผู้เสียหายย่อมเป็นความผิดสำเร็จในตัวเอง และการยิงผู้ตายก็เป็นความผิดสำเร็จในตัวเองต่างหากอีกกรรมหนึ่ง ดังนั้น การที่จำเลยใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหายและยิงผู้ตายจึงเป็นความผิดสองกรรม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13705/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การได้รับค่าตอบแทนจากการปฏิบัติหน้าที่ แม้แต่งตั้งโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย หากงานที่ทำเป็นประโยชน์และไม่มีความเสียหาย
แม้ภายหลังที่จำเลยเข้าทำงานแล้วจะปรากฏว่าจำเลยได้รับการแต่งตั้งโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายอันเป็นเหตุให้จำเลยต้องพ้นจากตำแหน่งไปก็ตาม แต่เมื่อจำเลยได้ปฏิบัติหน้าที่ตามหน้าที่แล้วโดยไม่ปรากฏความเสียหายแต่อย่างใด การพ้นจากตำแหน่งของจำเลยจึงไม่มีผลกระทบกระเทือนถึงงานที่จำเลยได้กระทำไปในหน้าที่ และเมื่อจำเลยปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นประโยชน์แก่โจทก์ จำเลยย่อมมีสิทธิได้รับเงินเดือนและค่าตอบแทนอื่นจากโจทก์เพราะการปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าว โจทก์จึงไม่มีสิทธิที่จะเรียกให้จำเลยคืนเงินเดือนและค่าตอบแทนอื่นก่อนที่จะพ้นจากหน้าที่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12235/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การคืนเงินประจำตำแหน่งและประโยชน์ตอบแทนอื่นกรณี ส.ส./ส.ว. ถูกออกจากตำแหน่งเนื่องจากเลือกตั้งโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
เมื่อคณะกรรมการการเลือกตั้งวินิจฉัยว่าจำเลยกระทำการอันเป็นการฝ่าฝืน พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2541 มาตรา 44 (1) ประกอบมาตรา 90 และมีคำสั่งให้มีการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาในเขตเลือกตั้งจังหวัดลพบุรีใหม่ มีผลทำให้สมาชิกภาพของจำเลยสิ้นสุดลงตั้งแต่วันที่ 13 มีนาคม 2544 ก่อนที่คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 3 ลงวันที่ 19 กันยายน 2549 ข้อ 1 ให้ยกเลิกรัฐธรรมนูญ พุทธศักราช 2540 และมีผลให้รัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวสิ้นผลบังคับในวันดังกล่าวก็ตาม แต่สิทธิเรียกร้องของโจทก์ที่จะให้จำเลยคืนเงินประจำตำแหน่งและประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นที่จำเลยได้รับเนื่องจากการดำรงตำแหน่งดังกล่าว เริ่มนับตั้งแต่วันที่ 13 มีนาคม 2544 ก่อนรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวถูกยกเลิก โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องให้จำเลยคืนเงินประจำตำแหน่งและผลประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นที่จำเลยได้รับไปจากโจทก์ในระหว่างที่ดำรงตำแหน่งโดยไม่มีสิทธิได้ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 97 และโจทก์ในฐานะผู้มีสิทธิในเงินดังกล่าวย่อมมีสิทธิติดตามเอาคืนจากผู้ไม่มีสิทธิได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336 คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
เมื่อจำเลยเป็นผู้ขอให้โจทก์แต่งตั้งผู้เชี่ยวชาญ และผู้ปฏิบัติงานประจำตัวจำเลย ที่ปรึกษาประธานวุฒิสภาและรองประธานรัฐสภา และเลขานุการประธานวุฒิสภาประจำตัวจำเลย ซึ่งเป็นสิทธิของจำเลยที่ได้มาระหว่างที่จำเลยดำรงตำแหน่งและเป็นประโยชน์แก่จำเลยเอง เงินที่โจทก์ได้จ่ายให้แก่บุคคลที่จำเลยขอให้โจทก์แต่งตั้งจึงมีลักษณะเป็นประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นที่จำเลยได้รับมาเนื่องจากการดำรงตำแหน่ง จำเลยจึงต้องคืนแก่โจทก์ด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4134/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การขยายเวลาอุทธรณ์: การไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาลและการใช้สิทธิอุทธรณ์คำสั่ง ไม่ถือเป็นเหตุสุดวิสัย
ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 23 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 ได้บัญญัติหลักเกณฑ์ในการขอขยายระยะเวลาไว้ว่าให้คู่ความขอขยายระยะเวลาได้เมื่อมีพฤติการณ์พิเศษ โดยให้มีคำขอก่อนสิ้นระยะเวลานั้น เว้นแต่ในกรณีมีเหตุสุดวิสัยก็ให้ขอได้แม้สิ้นระยะเวลานั้น สำหรับกรณีของจำเลย การที่จำเลยไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้ทำคำฟ้องอุทธรณ์มายื่นใหม่ภายในกำหนด แต่กลับอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นดังกล่าว จึงเป็นกรณีที่จำเลยเลือกที่จะใช้สิทธิดำเนินกระบวนพิจารณาในทางอุทธรณ์คัดค้านคำสั่งศาลชั้นต้น และเลือกที่จะไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้โอกาสจำเลยแก้ไขคำฟ้องอุทธรณ์มายื่นใหม่ภายในกำหนด การที่ต่อมาศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายืนโดยเห็นพ้องตามคำสั่งศาลชั้นต้น แล้วจำเลยจึงมายื่นขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ เมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาที่ศาลชั้นต้นให้จำเลยทำคำฟ้องอุทธรณ์มายื่นใหม่แล้วนั้นไม่ถือเป็นเหตุสุดวิสัยที่ศาลจะอนุญาตให้ขยายระยะเวลาอุทธรณ์แก่จำเลยได้ เพราะไม่มีเหตุขัดข้องที่ทำให้จำเลยไม่อาจยื่นอุทธรณ์ได้ภายในกำหนดตามคำสั่งศาลชั้นต้นแต่อย่างใด ที่จำเลยฎีกาว่า เมื่อจำเลยใช้สิทธิอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นดังกล่าวย่อมเป็นเหตุให้ระยะเวลาในการยื่นอุทธรณ์ตามกฎหมายของจำเลยต้องสะดุดหยุดลง ระยะเวลาที่ล่วงไประหว่างอุทธรณ์ไม่นับหักจากระยะเวลาตามคำสั่งศาลชั้นต้นนั้น เห็นว่า ระยะเวลาในการยื่นอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ไม่ใช่อายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่จะสะดุดหยุดลงได้ ทั้งไม่มีบทกฎหมายบัญญัติไว้ดังที่จำเลยอ้าง ดังนั้น การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ขยายระยะเวลาอุทธรณ์แก่จำเลยจึงไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 23 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 กรณีเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 4 ก็ยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2473/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิฟ้องหย่าไม่ระงับแม้มีการยินยอมเรื่องชู้สาว หากไม่มีเจตนาที่จะกลับไปอยู่กินฉันสามีภริยา
แม้โทรสารที่โจทก์ส่งมายังจำเลยที่ 1 ข้อความบางตอนมีรายละเอียดเกี่ยวกับการหย่าว่าการหย่าครั้งนี้เป็นการหย่าที่ยินยอมทั้งสองฝ่าย โดยไม่มีการฟ้องหย่าเรื่องชู้สาวระหว่างจำเลยทั้งสอง แต่กรณีที่จะเป็นการกระทำอันแสดงให้เห็นได้ว่าเป็นการที่โจทก์ให้อภัยการกระทำของจำเลยทั้งสองและทำให้สิทธิฟ้องหย่าหมดไปนั้นต้องได้ความว่าคู่สมรสที่มีสิทธิฟ้องหย่าจะต้องมีเจตนาที่จะยกโทษให้คู่สมรสฝ่ายที่ทำผิดกลับคืนสู่สถานะในทางครอบครัวดังเดิม คือคู่สมรสทั้งสองฝ่ายมีเจตนากลับมาอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยาต่อไป การที่โจทก์ขอเข้าไปขนย้ายทรัพย์สินต่าง ๆ ของโจทก์ออกจากบ้านที่เคยอยู่กินกับจำเลยที่ 1 ไม่มีพฤติการณ์ที่โจทก์และจำเลยที่ 1 จะอยู่กินฉันสามีภริยาดังเดิมต่อไปอีก นอกจากนี้โจทก์ยังได้แจ้งความดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 1 ในความผิดฐานพยายามฆ่า ตามพฤติการณ์จึงไม่อยู่ในวิสัยที่โจทก์และจำเลยที่ 1 จะกลับมาอยู่กินฉันสามีภริยากันดังเดิมต่อไป ถือไม่ได้ว่าโจทก์ได้ให้อภัยแก่จำเลยอันจะเป็นเหตุให้สิทธิฟ้องหย่าหมดไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 1518
of 6