คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.วิ.พ. ม. ตาราง 1 ข้อ 2( ก )

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 2 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1517/2538 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การอุทธรณ์คดีแพ่ง: ทุนทรัพย์ที่แท้จริงเป็นเกณฑ์พิจารณา มิใช่จำนวนที่ระบุในฟ้อง
จำเลยฎีกาว่าคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ไม่ชอบเพราะต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง แม้จำเลยจะขอให้พิพากษากลับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์โดยพิพากษายืนตามศาลชั้นต้นก็ตามแต่การพิจารณาว่าคดีต้องห้ามอุทธรณ์หรือไม่ ไม่ว่าผลจะเป็นประการใด ก็เป็นแต่เพียงชี้ขาดว่าคำพิพากษาชอบด้วยกฎหมายแล้วหรือถ้าไม่ชอบด้วยกฎหมายก็ต้องยกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์และยกฎีกานั้นเสียโดยไม่ต้องวินิจฉัยในประเด็นแห่งคดี ฎีกาของจำเลยจึงเป็นคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาได้ จำเลยเสียค่าขึ้นศาล 200 บาท ตามตาราง 1(2)(ก)ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง จึงถูกต้องครบถ้วนแล้ว ปัญหาว่าคดีต้องห้ามอุทธรณ์หรือไม่ เป็นเรื่องอำนาจฟ้องซึ่งเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนเป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัย และแม้ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ก็เป็นฎีกาที่ชอบจึงไม่ต้องห้ามฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 249 วรรคสอง โจทก์ฟ้องบังคับให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 จดทะเบียนโอนที่ดินเนื้อที่ 4 ไร่ 1 งาน 10 ตารางวา ให้แก่โจทก์โดยกำหนดทุนทรัพย์ 3,000 บาท จำเลยที่ 1 คัดค้าน โจทก์กับจำเลยที่ 1รับกันว่าที่ดินตามฟ้องราคา 150,000 บาท จึงเป็นคดีที่มีราคาทรัพย์ที่พิพาทกันในศาลชั้นต้นเป็นเงิน 150,000 บาท ต่อมาศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์แพ้คดี โจทก์อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงขอให้จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนที่ดินส่วนของจำเลยที่ 1 เนื้อที่ครึ่งหนึ่งของที่โจทก์ฟ้องคือเนื้อที่2 ไร่ 55 ตารางวา อุทธรณ์ของโจทก์จึงเป็นคดีที่มีราคาทรัพย์สินที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์เกินกว่า 50,000 บาทไม่ต้องห้ามอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 224 วรรคแรก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5299/2537 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การงดสืบพยานและการกำหนดประเด็นข้อพิพาทใหม่ ศาลมีอำนาจวินิจฉัยความเพียงพอของข้อเท็จจริงและกำหนดประเด็นตามฟ้อง
เมื่อเห็นว่าข้อเท็จจริงเพียงพอที่จะให้ฟังเป็นยุติได้แล้ว ศาลมีอำนาจสั่งงดสืบพยานได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 104 และอำนาจในการวินิจฉัยว่าตามคำฟ้อง คำให้การ และคำรับของคู่ความข้อเท็จจริงเป็นอันเพียงพอยุติได้หรือไม่เป็นอำนาจของศาลเมื่อศาลชั้นต้นใช้ดุลพินิจว่าเพียงพอยุติได้แล้ว การฎีกาโต้เถียงว่ายังไม่ควรยุติเป็นฎีกาโต้เถียงดุลพินิจของศาลอันเป็นปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคหนึ่ง โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็น เจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินมีโฉนดจำเลยบุกรุกเข้าไปในที่ดินดังกล่าว จำเลยให้การว่าไม่เคยเข้าไปกระทำการใดในที่ดินของโจทก์ แต่จำเลยเข้าทำประโยชน์ในที่ดินของจำเลยเองไม่ใช่ที่ดินของโจทก์ตามฟ้อง จึงไม่ได้โต้แย้งสิทธิของโจทก์ ครั้งแรกศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทว่า ที่พิพาทเป็นของโจทก์หรือจำเลย ต่อมาศาลชั้นต้นมีคำสั่งเพิกถอนและกำหนดประเด็นข้อพิพาทใหม่ว่า ที่พิพาทอยู่ในเขตที่ดินของโจทก์หรือไม่ การกำหนดประเด็นข้อพิพาทใหม่เป็นการกำหนดตามข้ออ้างและข้อเถียงในคำฟ้องและคำให้การของโจทก์และจำเลย ซึ่งต้องวินิจฉัยข้อเท็จจริงว่าโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่พิพาทหรือไม่ อันตรงกับประเด็นข้อพิพาทที่กำหนดในครั้งแรกแล้วจึงวินิจฉัยตามข้ออ้างในฟ้องโจทก์ว่าจำเลยบุกรุกที่พิพาทหรือไม่ โดยต้องวินิจฉัยถึงสิทธิของโจทก์และจำเลยว่าฝ่ายใดมีสิทธิดีกว่ากันด้วยดังนี้ การวินิจฉัยตามประเด็นข้อพิพาทที่ศาลชั้นต้นกำหนดใหม่ไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลงจากเดิม และการกำหนดประเด็นข้อพิพาทใหม่ของศาลชั้นต้นจึงชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 183 วรรคสองแล้ว ฎีกาขอให้ศาลฎีกาพิพากษาให้ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทใหม่และสืบพยานโจทก์จำเลยแล้วพิพากษาใหม่ ต้องเสียค่าขึ้นศาลชั้นฎีกา 200 บาท อย่างคดีมีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ ตามตาราง 1(2)(ก)ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง