คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.พ.พ. ม. 172 (เดิม)

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 6 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 337/2540

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความและการบอกกล่าวบังคับจำนอง: ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าฟ้องไม่ขาดอายุความ และการบอกกล่าวบังคับจำนองชอบแล้ว
จำเลยที่1ได้กระทำละเมิดต่อโจทก์คณะกรรมการดำเนินการของสหกรณ์โจทก์ได้มีมติให้จำเลยที่1ชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์แต่จำเลยที่ 1 ไม่ยินยอมได้มีหนังสือร้องเรียนไปยังกรมส่งเสริมสหกรณ์เพื่อตรวจสอบความถูกต้องเกี่ยวกับการยุบตัวของข้าวเปลือกอีกครั้งหนึ่งหลังจากนั้นคณะกรรมการดำเนินการได้ประชุมเมื่อวันที่ 20 เมษายน 2535 พิจารณาหาผู้รับผิดชอบชดใช้ข้าวเปลือกขาดบัญชีและมีมติในวันเดียวกันนั้นให้จำเลยที่ 1 รับผิดชอบใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์โดยให้ชดใช้ให้แล้วเสร็จภายใน 30 วันซึ่งจำเลยที่ 1 ได้ร่วมประชุมและทำหนังสือยินยอมชดใช้ค่าเสียหายตามจำนวนข้าวที่หายไปต่อโจทก์หนังสือดังกล่าวเป็นหนังสือรับสภาพหนี้อันเป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลงเมื่อวันที่ 20 เมษายน 2535 และเริ่มนับใหม่ต่อไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 172 เดิม (มาตรา 193/14 (1) ใหม่)โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2536 ภายในอายุความ1ปีมาตรา448คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ มาตรา 728 การบังคับจำนองนั้นผู้รับจำนองต้องมีจดหมายบอกกล่าวไปยังลูกหนี้ก่อนว่าให้ชำระหนี้ภายในเวลาอันสมควรซึ่งกำหนดไว้ในคำบอกกล่าวนั้นไม่ได้ระบุว่าต้องส่งคำบอกกล่าวโดยทางจดหมายลงทะเบียนตอบรับแต่อย่างใดพนักงานของโจทก์ไปส่งหนังสือบอกกล่าวบังคับจำนองให้แก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 แต่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่ยอมรับจึงได้ทำบันทึกไว้ท้ายคำบอกกล่าวว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่ยอมรับผู้ส่งจึงได้วางหนังสือไว้ต่อหน้าผู้รับและต่อหน้าพยานการบอกกล่าวบังคับจำนองชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 456/2539 เวอร์ชัน 3 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความชำรุดบกพร่อง: การซ่อมแซมต่อเนื่องและผลกระทบต่ออายุความ
ตาม ป.พ.พ. มาตรา 474 บัญญัติไว้ว่า "ในข้อรับผิดเพื่อชำรุดบกพร่องนั้น ท่านห้ามมิให้ฟ้องคดีเมื่อพ้นเวลาปีหนึ่งนับแต่เวลาที่ได้พบเห็นความชำรุดบกพร่อง" โจทก์พบเสื้อเกียร์แตกครั้งแรกเมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2532และจำเลยที่ 1 ได้รับไปซ่อมเมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2532 แล้วนำมาส่งคืนเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2532 เช่นนี้ย่อมถือได้ว่าจำเลยที่ 1 กระทำการอันปราศจากเคลือบคลุมสงสัยตระหนักเป็นปริยายว่ายอมรับสภาพตามสิทธิเรียกร้องของโจทก์แล้ว อายุความย่อมสะดุดหยุดลงตั้งแต่วันที่ 29 มีนาคม 2532 ตาม ป.พ.พ.มาตรา 172 (เดิม) ต่อมาวันที่ 16 ธันวาคม 2532 โจทก์ติดตั้งเกียร์ทดพร้อมอุปกรณ์ดังกล่าวเป็นครั้งที่ 2 ใช้งานจนถึงวันที่ 25 ธันวาคม 2532 ปรากฏว่าเสื้อเกียร์ได้แตกเหมือนเดิม จำเลยที่ 1 ได้รับคืนไปซ่อมอีกแล้วส่งคืนโจทก์เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2533 และมีการติดตั้งเกียร์ทดพร้อมอุปกรณ์ดังกล่าวเป็นครั้งที่ 3 จากนั้นวันที่ 20 พฤศจิกายน 2533 โจทก์ได้ใช้เกียร์ทดพร้อมอุปกรณ์ดังกล่าว ใช้ได้ประมาณ 2 ถึง 3 วัน เสื้อเกียร์ก็แตกอีก ดังนี้ แสดงว่าจำเลยที่ 1 ยังไม่สามารถแก้ไขความชำรุดบกพร่องในจุดเดิม คือที่เสื้อเกียร์ของเกียร์ทดและอุปกรณ์นั้นให้โจทก์สามารถใช้งานได้ตามปกติ อันเป็นประโยชน์ที่มุ่งหมายในสัญญา อายุความจึงยังคงสะดุดหยุดลงอยู่ ต่อมาโจทก์มีหนังสือแจ้งให้จำเลยที่ 1ส่งช่างไปแก้ไข แต่จำเลยที่ 1 กลับปฏิเสธความรับผิดเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน2533 จึงเป็นเหตุที่ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงนั้นได้สิ้นสุดลง ต้องเริ่มนับอายุความเดิม 1 ปีใหม่ตั้งแต่วันที่ 28 พฤศจิกายน 2533

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7137/2538

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความสะดุดหยุดเมื่อมีการชำระหนี้บางส่วน แม้โจทก์อ้างวันที่ชำระไม่ตรงกับเอกสาร
ศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่1ชำระเงินครั้งสุดท้ายให้โจทก์เมื่อวันที่11กรกฎาคม2526ถือว่าจำเลยที่1รับสภาพหนี้ต่อโจทก์เป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลงแล้ววินิจฉัยว่าคดีไม่ขาดอายุความโจทก์ไม่ได้อุทธรณ์ในประเด็นข้อนี้ทั้งยังแก้อุทธรณ์ว่าเห็นพ้องด้วยกับศาลชั้นต้นที่ฟังว่าจำเลยที่1ชำระเงินบางส่วนให้โจทก์เมื่อวันที่11กรกฎาคม2526เป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลงตั้งแต่วันดังกล่าวข้อเท็จจริงจึงยุติตามคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นว่าจำเลยที่1ชำระเงินครั้งสุดท้ายให้โจทก์เมื่อวันที่11กรกฎาคม2526โจทก์จะฎีกาว่าจำเลยที่1ชำระเงินครั้งสุดท้ายให้โจทก์เมื่อวันที่14กรกฎาคม2526หาได้ไม่เพราะเป็นข้อที่โจทก์มิได้ยกขึ้นว่าในศาลอุทธรณ์ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้ จำเลยที่1ชำระเงินครั้งสุดท้ายให้โจทก์เมื่อวันที่11กรกฎาคม2526ถือว่าจำเลยรับสภาพหนี้ต่อโจทก์ตามสิทธิเรียกร้องโดยชำระหนี้ให้บางส่วนอายุความสะดุดหยุดลงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา172ระยะเวลาที่ล่วงไปก่อนนั้นไม่นับเข้าในอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา181การนับระยะเวลาจึงต้องเริ่มนับตั้งแต่วันที่12กรกฎาคม2526และครบ2ปีในวันที่11กรกฎาคม2528โจทก์ฟ้องคดีวันที่12กรกฎาคม2528จึงขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7034/2538 เวอร์ชัน 3 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความคดีประกันภัย: ผลของการยอมรับสภาพหนี้โดยตัวแทนและผลของการสะดุดหยุดอายุความ
โจทก์ซึ่งเป็นผู้เอาประกันภัยได้ชำระค่าเสียหายแก่บุคคลผู้ต้องเสียหาย แล้วฟ้องจำเลยให้รับผิดในฐานะผู้รับประกันภัยค้ำจุนใช้ค่าสินไหมทดแทนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 887 เป็นการฟ้องบังคับตามสัญญาประกันภัย จึงต้องอยู่ภายใต้อายุความ 2 ปีนับแต่วันวินาศภัยตามมาตรา 882 วรรคแรก พนักงานตรวจสอบอุบัติเหตุซึ่งเป็นตัวแทนของจำเลยได้ตรวจความเสียหายและได้เรียกเก็บเงินค่าแจ้งเหตุจากโจทก์กับออกเอกสารให้โจทก์ถือไว้เป็นหลักฐาน ทั้งยังได้นำรถคันดังกล่าวไปตีราคาค่าซ่อมอีกด้วย พฤติการณ์ดังกล่าวถือได้ว่าเป็นการทำการอันปราศจากเคลือบคลุมสงสัยตระหนักเป็นปริยายว่ายอมรับสภาพตามสิทธิเรียกร้อง อายุความย่อมสะดุดหยุดลงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 172 เดิม (มาตรา 193/14(1) ที่แก้ไขใหม่) เมื่ออายุความสะดุดหยุดลงแล้ว ระยะเวลาที่ได้ล่วงไปก่อนนั้น ย่อมไม่นับเข้าในอายุความ จนเมื่อเหตุที่ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงนั้นได้สิ้นสุดซึ่งในกรณีนี้ได้แก่วันที่โจทก์ได้รับหนังสือปฏิเสธความรับผิดจากจำเลยซึ่งถือเป็นวันที่เป็นเหตุที่ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงนั้นสิ้นสุดลง จึงเริ่มนับอายุความขึ้นใหม่แต่เวลานั้นสืบไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 181 เดิม(มาตรา 193/15 ที่แก้ไขใหม่) ส่วนประเด็นข้อพิพาทอื่น ๆ ที่จำเลยให้การต่อสู้ไว้ในคำให้การศาลล่างทั้งสองยังมิได้วินิจฉัยมาแม้คู่ความจะได้นำสืบข้อเท็จจริงมาเสร็จสิ้นเป็นการเพียงพอที่ศาลฎีกาจะวินิจฉัยปัญหาดังกล่าวไปเสียเองได้ก็ตามแต่เมื่อฎีกาของโจทก์มิได้กล่าวถึงประเด็นพิพาทอื่นมาด้วยเช่นนี้ ศาลฎีกาจึงไม่อาจที่จะวินิจฉัยไปเสียทีเดียวได้ ต้องย้อนสำนวนให้ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาปัญหาดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 46/2538 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความดอกเบี้ยและการรับผิดของลูกหนี้ร่วม, ผู้ค้ำประกัน, และผู้จำนอง
ตามสัญญาทรัสต์รีซีททั้ง 4 ฉบับ ข้อ 6 กำหนดไว้ว่า จำเลยที่ 1 ยอมเสียดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ในอัตราร้อยละ 18 ต่อปี ในจำนวนเงินที่คำนวณแล้วว่าต้องชำระแก่โจทก์โดยเริ่มนับจากวันทำสัญญานี้จนถึงวันที่โจทก์ได้รับเงินครบถ้วนจากจำเลยที่ 1 ข้อกำหนดดังกล่าวไม่ได้ระบุเวลาให้จำเลยที่ 1 ชำระดอกเบี้ยและจะอนุมานจากพฤติการณ์ก็ไม่ได้ โจทก์ย่อมจะเรียกให้จำเลยที่ 1ชำระดอกเบี้ยได้โดยพลันนับแต่วันทำสัญญาตาม ป.พ.พ. มาตรา 203 วรรคหนึ่งอายุความจึงเริ่มนับตั้งแต่วันทำสัญญาทรัสต์รีซีทเช่นกัน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 169(เดิม) อายุความดอกเบี้ยค้างส่งเริ่มนับจากวันถัดจากวันดังกล่าวไปจนกว่าจะครบ5 ปี การที่จำเลยที่ 1 ชำระดอกเบี้ยสำหรับสัญญาทรัสต์รีซีททั้ง 4 ฉบับ บางส่วนทำให้อายุความสะดุดหยุดลงตาม ป.พ.พ. มาตรา 172 (เดิม) โจทก์ฟ้องคดีนี้ภายในกำหนด 5 ปี จึงไม่ขาดอายุความเรียกร้องดอกเบี้ย
จำเลยที่ 2 ผู้ค้ำประกันซึ่งยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม เหตุที่อายุความสะดุดหยุดลงเป็นโทษแก่ลูกหนี้นั้น ย่อมเป็นโทษแก่ผู้ค้ำประกันด้วย ตามป.พ.พ. มาตรา 692 ซึ่งเป็นข้อยกเว้นมาตรา 295 จำเลยที่ 2 จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1
จำเลยที่ 3 ผู้จำนอง แม้หนังสือต่อท้ายสัญญาจำนองระบุว่าให้รับผิดในฐานะเป็นลูกหนี้ร่วมด้วย เมื่อจำเลยที่ 1 รับสภาพหนี้ ทำให้อายุความสะดุดหยุดลง ย่อมไม่มีผลถึงจำเลยที่ 3 เพราะเป็นเรื่องเฉพาะตัวของจำเลยที่ 1ตาม ป.พ.พ. มาตรา 295 วรรคสอง จำเลยที่ 3 ผู้จำนองจึงต้องรับผิดในดอกเบี้ยที่ค้างชำระย้อนหลังไป 5 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 189 (เดิม) และมาตรา 745
จำเลยทั้งสามฎีกาว่า ในการผ่อนชำระหนี้ จำเลยทั้งสามมิได้กำหนดชำระหนี้รายใดไว้โดยเฉพาะ โจทก์ชอบที่จะเอาชำระหนี้ค่าธรรมเนียมและดอกเบี้ยก่อน แต่โจทก์เลือกการชำระหนี้เอาเองตามใจชอบจึงไม่ผูกพันจำเลยทั้งสามนั้น ประเด็นข้อนี้จำเลยทั้งสามไม่ได้ยกขึ้นว่ากล่าวในศาลชั้นต้น และไม่เป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ตามป.วิ.พ. มาตรา 249 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5483/2537 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ หนังสือรับสภาพหนี้มีผลบังคับใช้ได้ตามกฎหมาย
จำเลยทั้งสองกู้เงินโจทก์ตามเอกสารหมาย จ.1 ต่อมาได้ทำเอกสารหมาย จ.2 มีข้อความว่า ข้าพเจ้าได้กู้เงิน บ. (โจทก์) เป็นเงิน100,000 บาท จะผ่อนส่งคืนให้หมดสิ้นภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2534 แล้วลงท้ายด้วยการลงชื่อของจำเลยทั้งสอง ซึ่งเป็นข้อความที่แสดงแจ้งชัดว่าจำเลยทั้งสองรับว่าเป็นหนี้เงินกู้โจทก์รายนี้จริง จึงเป็นหนังสือรับสภาพหนี้ที่มีผลบังคับได้ตามป.พ.พ.มาตรา 172 (เดิม)