คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
พ.ร.ก.พิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ.2530 ม. 15

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 5 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4728/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การประเมินอากรขาเข้า ไนโตรเซลลูโลส และการคำนวณเงินเพิ่มอากรตามกฎหมายศุลกากร
ตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 10 ทวิ วรรคหนึ่ง และ พ.ร.ก.พิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2530 ภาค 4 ว่าด้วยของที่ได้รับยกเว้นอากร ประเภทที่ 13 ยุทธภัณฑ์ที่จะได้รับการยกเว้นอากรตาม พ.ร.ก.พิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2530 ภาค 4 ประเภทที่ 13 ต้องเป็นยุทธภัณฑ์ที่ใช้ในทางราชการเป็นสำคัญ ดังนั้น การจะพิจารณาว่าสินค้าที่โจทก์นำเข้าตามใบขนสินค้าพิพาทเป็นยุทธภัณฑ์ที่ได้รับการยกเว้นอากรตาม พ.ร.ก.พิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2530 ภาค 4 ประเภท 13 หรือไม่ นั้น จะต้องพิจารณาในเวลาที่นำของเข้าสำเร็จว่าโจทก์นำเข้าสินค้าในลักษณะที่เป็นยุทธภัณฑ์ที่ใช้ในทางราชการหรือไม่ เมื่อสินค้าพิพาทเป็นส่วนประกอบที่จะต้องนำไปผลิตอาวุธ (กระสุนปืน) เสียก่อนแล้วจึงนำมาขายหรือจำหน่ายให้กับส่วนราชการเพื่อนำไปใช้อีกทอดหนึ่ง โดยในขณะเกิดความรับผิดทางภาษี (Tax Point) หรือขณะยื่นใบขนสินค้าต่อเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 นั้น ของที่นำเข้ายังไม่เป็นยุทธภัณฑ์ที่ใช้ในทางราชการซึ่งส่วนราชการเป็นผู้มีสิทธิใช้ยุทธภัณฑ์นั้นแต่อย่างใด ดังนั้น สินค้าพิพาทจึงไม่ได้รับยกเว้นอากรตาม พ.ร.ก.พิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2530 ภาค 4 ประเภทที่ 13
เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าสินค้าพิพาทมีการเติมสาร Diphenylamine ที่เป็น Stabilizer และ Diethyl Ether ซึ่งทำให้เกิดการระเบิดได้ ทำให้มีคุณสมบัติของดินขับในประเภทพิกัด 36.01 ซึ่งเป็นประเภทพิกัดที่เฉพาะเจาะจงกว่า สินค้าพิพาทจึงไม่ใช่ไนโตรเซลลูโลสกึ่งสำเร็จรูปที่มีน้ำเป็นองค์ประกอบตามประเภทพิกัด 39.12 ประเภทย่อย 3912.20.11 ตามหลักเกณฑ์การตีความพิกัดอัตราศุลกากรในภาค 1 ท้าย พ.ร.ก.พิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2530 ข้อ 1 และข้อ 6
โจทก์มีหน้าที่ต้องรับผิดในส่วนเงินเพิ่มตามกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในเวลานั้น เมื่อคดีนี้โจทก์นำเข้าสินค้าตามใบขนสินค้าขาเข้าพิพาททั้งสองฉบับเมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2553 และวันที่ 17 พฤศจิกายน 2555 และโจทก์นำของออกไปจากอารักขาของศุลกากร ความรับผิดอากรขาเข้าตามใบขนสินค้าขาเข้าทั้งสองฉบับดังกล่าว จึงเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2469 มีผลใช้บังคับอยู่ จำเลยที่ 1 ย่อมมีสิทธิคำนวณเรียกเงินเพิ่มส่วนที่เกินอากรขาเข้าได้จนถึงวันที่ 12 พฤศจิกายน 2560 ส่วนนับแต่วันที่ 13 พฤศจิกายน 2560 หากเงินเพิ่มยังไม่เท่าอากรขาเข้าตามการประเมิน จำเลยที่ 1 คงมีสิทธิคำนวณเรียกเงินเพิ่มอากรขาเข้าดังกล่าวต่อไปได้จนกว่าจำนวนเงินเพิ่มจะเท่าจำนวนอากรขาเข้าตามการประเมินดังที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 มาตรา 22 คดีนี้ ปรากฏว่าเงินเพิ่มที่โจทก์ต้องชำระนับถึงวันที่ 12 พฤศจิกายน 2560 ยังไม่เกินอากรที่ต้องเสียเพิ่ม โจทก์จึงต้องรับผิดชำระจนกว่าจะเท่าจำนวนอากรที่ต้องเสียเพิ่ม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4726/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจศุลกากรในการตีความพิกัดอัตราศุลกากรและการใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีตามข้อตกลงเขตการค้าเสรี
การจะจัดสินค้าพิพาทว่าอยู่ในประเภทพิกัดใดต้องใช้หลักเกณฑ์การตีความพิกัดอัตราศุลกากรในภาค 1 ท้าย พ.ร.ก.พิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2530 ประกอบคำอธิบายพิกัดศุลกากรระบบฮาร์โมไนซ์ (Explanatory Notes : EN) และบัญชีท้าย พ.ร.ก.พิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2530 ภาค 2 พิกัดอัตราอากรขาเข้า อันเป็นอำนาจหน้าที่ของจําเลยที่ 1 ที่จะต้องตรวจสอบและตีความพิกัดอัตราศุลกากรสำหรับสินค้าพิพาทว่าอยู่ในประเภทพิกัดใด และสามารถใช้สิทธิพิเศษทางภาษีได้หรือไม่ เมื่อเจ้าหน้าที่ของจําเลยที่ 1 โต้แย้งพิกัดอัตราศุลกากรสำหรับสินค้าพิพาทที่สำแดงตามหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า (Form E) ว่าไม่ถูกต้อง และจําเลยที่ 1 พิจารณาแล้วเห็นว่าสินค้าพิพาทไม่สามารถใช้สิทธิประโยชน์การยกเว้นอากรและลดอัตราอากรศุลกากรสำหรับเขตการค้าเสรีอาเซียน - จีน ตามสำแดงได้ จึงเป็นการดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ของจําเลยที่ 1 โดยจําเลยที่ 1 ไม่ได้มีความผูกพันตามบทกฎหมายที่จะต้องถือพิกัดอัตราศุลกากรของสินค้าตามที่ระบุไว้ในหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าหรือจะต้องถือเอาพิกัดอัตราศุลกากรของสินค้าตามประเทศอื่นแต่อย่างใด และตามกฎข้อ 5 ของระเบียบปฏิบัติเกี่ยวกับหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าสำหรับกฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้าของความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน - จีน เอกสารแนบ ก ท้ายประกาศกรมศุลกากรที่ 3/2555 ได้กำหนดวิธีการขอหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า (Form E) เพื่อให้มีการตรวจสอบถิ่นกำเนิดของสินค้า ซึ่งแสดงให้เห็นว่าหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า (Form E) คือ หนังสือที่หน่วยงานที่มีอำนาจในการออกได้รับรองว่าสินค้านั้นมีสถานที่ผลิตและส่งออกจากประเทศสมาชิกในเขตการค้าเสรีอาเซียน - จีน โดยผ่านเกณฑ์ถิ่นกำเนิดและได้ถิ่นกำเนิดภายใต้ความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน - จีน ส่วนพิกัดอัตราศุลกากรที่ระบุในหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า (Form E) มิได้มีกฎข้อใดให้ต้องรับฟังยุติตามนั้น จึงเป็นเพียงข้อมูลประกอบการพิจารณาของจําเลยที่ 1 เท่านั้น สำหรับการโต้แย้งเกี่ยวกับการจําแนกประเภทพิกัดของสินค้าตามกฎข้อ 25 ของระเบียบปฏิบัติดังกล่าว ต้องเป็นการโต้แย้งระหว่างหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องของประเทศภาคีผู้นําเข้าและส่งออก มิใช่การโต้แย้งระหว่างเอกชนผู้นําเข้าและหน่วยราชการของประเทศภาคีผู้นําเข้าดังเช่นกรณีของโจทก์ จําเลยที่ 1 จึงมีอำนาจพิจารณาและกำหนดประเภทพิกัดสินค้าของโจทก์ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 17215/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การตีความพิกัดอัตราศุลกากร การประเมินอากร และอายุความทางภาษีอากร
แม้แบบแจ้งการประเมินอากรทั้งสองฉบับระบุแต่เพียงเลขแฟ้มคดี แต่ก็เป็นเลขแฟ้มคดีเดียวกันกับแบบแจ้งการประเมินอากรอีก 9 ฉบับ ที่เป็นการนำเข้าสินค้าพิพาทประเภทเดียวกัน ในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน ในชั้นอุทธรณ์การประเมินและในชั้นยื่นคำฟ้องโจทก์ทั้งสามก็บรรยายฟ้องโดยโต้แย้งเหตุผลการประเมินของพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ถูกต้อง จึงถือว่าโจทก์ทั้งสามทราบเหตุผลในการออกคำสั่งตามแบบแจ้งการประเมินดังกล่าวแล้ว จำเลยจึงไม่ต้องระบุเหตุผลเกี่ยวกับข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญ ข้อกฎหมายที่อ้างอิง ข้อพิจารณาและข้อสนับสนุนในการใช้ดุลพินิจอีก เนื่องจากเหตุผลนั้นเป็นที่รู้อยู่แล้วโดยไม่จำต้องระบุอีกตาม พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 มาตรา 37 วรรคสาม (2)
คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ของจำเลยพิจารณาอุทธรณ์ตามแบบแจ้งการประเมินอากรฉบับเดิมที่ไม่มีการลงลายมือชื่อ แต่ในระหว่างการพิจารณาคำอุทธรณ์ จำเลยได้ออกแบบแจ้งการประเมินอากรทั้งสองฉบับใหม่แทนฉบับเดิม ซึ่งไม่มีการเพิ่มเติมประเด็นหรือภาระภาษี เมื่อจำเลยทำการแก้ไขข้อบกพร่องย่อมถือได้ว่าแบบแจ้งการประเมินอากรดังกล่าวได้ระบุชื่อและตำแหน่งของเจ้าหน้าที่ผู้ทำคำสั่ง พร้อมทั้งมีลายมือชื่อของเจ้าหน้าที่ผู้ทำคำสั่งนั้นตาม พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 มาตรา 36 แล้ว
พ.ร.ก.พิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ.2530 มาตรา 15 วรรคท้าย บัญญัติให้การตีความในพิกัดอัตราศุลกากร ให้ถือตามหลักเกณฑ์การตีความพิกัดอัตราศุลกากรในภาค 1 ท้ายพระราชกำหนดนี้ประกอบคำอธิบายพิกัดศุลกากรระบบไฮโมไนซ์ของคณะมนตรีความร่วมมือทางศุลกากรฯ นอกจากนี้ ตามหลักเกณฑ์การตีความพิกัดอัตราศุลกากรในภาค 1 ท้ายพระราชกำหนดดังกล่าวหลักเกณฑ์ข้อ 3 (ค) เมื่อของใดไม่อาจจำแนกประเภทตามหลักเกณฑ์ข้อ 3 (ก) หรือ 3 (ข) ได้ ให้จำแนกเข้าประเภทที่ลำดับไว้หลังสุด ในบรรดาประเภทที่อาจจำแนกเข้าได้โดยเท่าเทียมกัน สินค้าพิพาททั้งสามรุ่นมีลักษณะเป็นปั้นจั่นที่ติดตั้งอยู่บนยานยนต์หรือโครงยานยนต์หรือรถบรรทุกสมบูรณ์แบบ และมีวัตถุประสงค์ที่แสดงลักษณะอันเป็นสาระสำคัญทั้ง 2 ประการ สินค้าพิพาทจึงมีลักษณะเป็นของที่ไม่อาจจำแนกประเภทตามหลักเกณฑ์ข้อ 3 (ก) หรือ 3 (ข) ได้ ซึ่งหลักเกณฑ์ข้อ 3 (ค) ให้จำแนกเข้าประเภทที่ลำดับไว้หลังสุด ในบรรดาประเภทที่อาจจำแนกเข้าได้โดยเท่าเทียมกัน ดังนั้น สินค้าพิพาททั้งสามรุ่นดังกล่าวจึงต้องจัดเข้าประเภทพิกัด 87.05
(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 11/2557)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1049/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การตีความพิกัดอัตราศุลกากร: เครื่องฝากเงินอัตโนมัติไม่ใช่เครื่อง ATM จึงไม่ได้รับการยกเว้นอากร
การตีความในพิกัดอัตราศุลกากร มาตรา 15 แห่ง พ.ร.ก.พิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ.2530 ให้ถือตามหลักเกณฑ์การตีความพิกัดอัตราศุลกากรในภาค 1 ท้าย พ.ร.ก.ดังกล่าวประกอบกับคำอธิบายพิกัดศุลกากรระบบฮาร์โมไนซ์ของคณะมนตรีความร่วมมือทางศุลกากรที่จัดตั้งขึ้นตามอนุสัญญาว่าด้วยการจัดตั้งคณะมนตรีความร่วมมือทางศุลกากร ซึ่งทำขึ้นเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ.2493 และประเทศไทยได้เข้าเป็นภาคีอนุสัญญาดังกล่าวเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2515
คำอธิบายพิกัดศุลกากรระบบฮาร์โมไนซ์ของคณะมนตรีความร่วมมือทางศุลกากร ได้ให้ความหมายของเครื่องบริการเงินด่วนอัตโนมัติ (Automatic Teller Machine : ATM) ไว้ว่า "เครื่องจักรซึ่งลูกค้าสามารถฝาก ถอน และโอนเงิน และดูยอดเงินคงเหลือในบัญชี โดยไม่ต้องติดต่อกับเจ้าหน้าที่ของธนาคารโดยตรง" เมื่อเครื่องบริการฝากเงินอัตโนมัติ (Automatic Deposit Machine : ADM" (ที่โจทก์นำเข้ามีคุณสมบัติเฉพาะการรับฝากเงินเท่านั้น มิได้มีคุณสมบัติครบทั้ง 4 ประการ เครื่องบริการฝากเงินอัตโนมัติ (Automatic Deposit Machine : ADM" จึงไม่อาจถือเป็นเครื่องบริการเงินด่วนอัตโนมัติ (Automatic Teller Machine : ATM) ที่จะได้รับการยกเว้นอากร

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4877/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การจัดประเภทอัตราอากรสินค้ากากกุ้ง: พิจารณาจากสภาพสินค้า (ป่น/ทำเป็นเพลเลต) เพื่อวินิจฉัยตามพิกัดอัตราศุลกากร
ประเภทพิกัด 0508.00 ระบุว่า "หินปะการังและสิ่งที่คล้ายกัน ที่ยังไม่ได้จัดทำหรือจัดทำอย่างง่าย ๆ... เปลือกของสัตว์น้ำจำพวกโมลลุสก์ ครัสตาเซีย หรือเอคไคโนเดิร์ม และลิ้นทะเล ที่ยังไม่ได้จัดทำหรือจัดทำอย่างง่าย ๆ แต่ไม่ได้ตัดเป็นรูปทรง รวมทั้งผงและเศษของสิ่งดังกล่าว" และประเภทพิกัด 2301.20 ระบุว่า "ปลาหรือสัตว์น้ำจำพวกครัสตาเซีย โมลลุสก์ สัตว์น้ำที่ไม่มีกระดูกสันหลังอื่น ๆ ที่ป่น ที่ทำเป็นเพลเลต" ดังนั้น เปลือกของสัตว์น้ำจำพวกครัสตาเซียที่จัดอยู่ในประเภทพิกัด 0508.00 อัตราอากรร้อยละ 35 ควรจะต้องเป็นเปลือกของสัตว์น้ำที่ยังคงรูปร่างสมบูรณ์ของสภาพเดิมของสัตว์น้ำนั้น ๆ จึงได้ระบุไว้ว่าที่ยังไม่ได้จัดทำหรือจัดทำอย่างง่าย ๆ แต่ไม่ได้ตัดเป็นรูปทรง ส่วนประเภทพิกัด 2301.20 อัตราอากรร้อยละ 10 นั้น ต้องอยู่ในสภาพป่นและที่ทำเป็นเพลเลต คดีนี้จำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทไม่เกินห้าหมื่นบาท ต้องห้ามมิให้คู่ความอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรฯ พ.ศ. 2528 มาตรา 25 ในการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมาย ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรต้องถือตามข้อเท็จจริงที่ศาลภาษีอากรกลางรับฟังมาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 238 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรฯ พ.ศ. 2528 มาตรา 29 ซึ่งศาลภาษีอากรกลางฟังข้อเท็จจริงว่า สินค้าที่จำเลยนำเข้าเป็นกากกุ้งที่ได้จากการทำกุ้งแห้ง ประกอบด้วยหัว หาง เปลือก และมีเศษเนื้อติดมาบ้างเล็กน้อย นำเข้ามาเป็นอาหารสัตว์ แม้ไม่ปรากฏคำว่า "ป่น" หรือ "ทำเป็นเพลเลต" หรือไม่ แต่สภาพของกากกุ้งที่ได้จากการทำกุ้งแห้ง ย่อมไม่เหลือเค้าโครงเดิมของสภาพเปลือกกุ้งที่สมบูรณ์ โดยสภาพต้องอยู่ในสภาพป่น ๆ เพราะถูกคัดเอาเนื้อกุ้งส่วนดีออกไปแล้ว จึงต้องจัดอยู่ในประเภทพิกัด 2301.20 เสียอากรอัตราร้อยละ 10