พบผลลัพธ์ทั้งหมด 234 รายการ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15164/2557
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ความสัมพันธ์นายจ้างลูกจ้าง: ลักษณะการทำงานที่ปราศจากอำนาจบังคับบัญชา ไม่เป็นลูกจ้างตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน
โจทก์ทำงานเป็นพนักงานนวดสปา จำเลยไม่มีระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานว่าด้วยการมาทำงาน การลาหยุดและวันหยุด โจทก์จะมาทำงานหรือไม่ก็ได้ เมื่อมาทำงานแล้วโจทก์จะกลับไปก็เพียงแจ้งให้ผู้จัดการของจำเลยทราบ วันใดที่โจทก์ไม่มาทำงานก็จะไม่มีค่าแรงแบ่งให้ โจทก์ขาดงานโดยไม่แจ้งผู้จัดการของจำเลยทราบก็ไม่มีบทลงโทษโจทก์ จำเลยไม่มีอำนาจบังคับบัญชาโจทก์ การที่จำเลยจัดคิวทำงานก่อนหลังให้แก่พนักงานซึ่งรวมถึงโจทก์ด้วยเป็นการจัดลำดับการทำงานก่อนหลังของพนักงานเพื่อความเป็นระเบียบทั้งป้องกันการทะเลาะวิวาทกัน ไม่ใช่การใช้อำนาจบังคับบัญชา เมื่อจำเลยไม่มีอำนาจบังคับบัญชาโจทก์อย่างลูกจ้าง ความสัมพันธ์ระหว่างโจทก์และจำเลยจึงมิใช่นายจ้างลูกจ้างตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13806/2557
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ข้อบังคับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่ตัดสิทธิลูกจ้างกรณีลาไปทำงานกับคู่แข่งเป็นโมฆะ
ข้อบังคับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพจำเลยซึ่งจดทะเบียนแล้วที่กำหนดว่าจะไม่จ่ายเงินสมทบและผลประโยชน์กรณีลูกจ้างลาออกจากงานเพื่อไปทำงานกับบริษัทคู่แข่งทางธุรกิจนั้น มีลักษณะเป็นไปเพื่อคุ้มครองดูแลผลประโยชน์ในทางการค้าของจำเลยร่วมซึ่งเป็นนายจ้างแต่ฝ่ายเดียว และเป็นการห้ามลูกจ้างไปทำงานกับบริษัทคู่แข่งทางธุรกิจหลังจากนิติสัมพันธ์ระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างไม่มีต่อกัน ทั้งเป็นการตัดสิทธิลูกจ้างไม่ให้ได้รับเงินสมทบและผลประโยชน์โดยที่ลูกจ้างไม่ได้กระทำการที่ไม่ชอบไม่ถูกต้องไม่ควรในขณะที่เป็นลูกจ้าง จึงเป็นข้อกำหนดที่ขัดแย้งกับวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่จัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นหลักประกันและสวัสดิการแก่ลูกจ้างเมื่อออกจากงานตาม พ.ร.บ.กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พ.ศ.2530 มาตรา 5 และหมายเหตุท้าย พ.ร.บ. ดังกล่าว และเป็นการตัดสิทธิของลูกจ้างโดยปราศจากเหตุผลอันสมควรไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ พ.ศ.2530 มาตรา 9 (8) ถือว่าข้อบังคับดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายและขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชนหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนตกเป็นโมฆะ ใช้บังคับไม่ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 150
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13577/2557
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
อำนาจศาลแรงงาน: สัญญาเลือกสถานที่ฟ้องคดีต่างประเทศ ไม่ตัดสิทธิฟ้องคดีในไทย หากมูลคดีเกิดในไทย
แม้ตามสัญญาจ้างตกลงเรื่องการใช้สิทธิทางศาลว่า หากเกิดข้อพิพาทขึ้นจะต้องฟ้องต่อศาลในประเทศกาตาร์ แต่คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยใช้เงินจำนวนต่าง ๆ อันเนื่องมาจากการที่จำเลยถูกเลิกจ้างโดยไม่ชอบ เป็นคดีพิพาทเกี่ยวด้วยสิทธิหรือหน้าที่ตามสัญญาจ้างแรงงานหรือตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 8 (1) อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแรงงาน จำเลยทำสัญญาจ้างโจทก์ที่สำนักงานของจำเลย แม้จะให้โจทก์ไปทำงานบนเครื่องบินของจำเลยซึ่งมีเส้นทางการบินทั้งในและต่างประเทศ ก็ย่อมถือได้ว่าสำนักงานของจำเลยอันเป็นสถานที่สำคัญจ้างซึ่งเป็นต้นเหตุอันเป็นที่มาแห่งการโต้แย้งสิทธิอันจะทำให้เกิดอำนาจฟ้องเป็นสถานที่ที่มูลคดีเกิดอีกแห่งหนึ่งด้วย เมื่อสำนักงานของจำเลยตั้งอยู่แขวงคลองเตยเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพมหานคร โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องคดีนี้ต่อศาลแรงงานกลางได้ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 33 หาจำต้องนำคดีไปฟ้องยังศาลแห่งประเทศกาตาร์แต่เพียงแห่งเดียวเท่านั้นไม่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13522/2557
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การเพิกถอนคำสั่งลงโทษทางวินัยและการจ่ายค่าจ้างระหว่างพักงาน โดยไม่ต้องรอการอุทธรณ์ภายในองค์กร
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าจ้าง เบี้ยเลี้ยง และขอให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยโดยอ้างว่าจำเลยไม่จ่ายค่าจ้างและเบี้ยเลี้ยงในระหว่างพักงานแก่โจทก์ จึงเป็นกรณีที่โจทก์ใช้สิทธิเรียกร้องให้จำเลยจ่ายเงินโดยอาศัยสิทธิในทางแพ่ง อีกทั้งคู่ความทั้งสองฝ่ายไม่ได้โต้แย้งเกี่ยวกับอำนาจในการนำคดีมาสู่ศาลของโจทก์หรืออำนาจในการออกคำสั่งของจำเลย คงโต้แย้งกันเฉพาะเนื้อหาของการกระทำความผิดของโจทก์ เนื่องด้วยกรณีของคดีนี้ไม่มีบทบัญญัติกฎหมายใดบังคับให้โจทก์ต้องใช้สิทธิยื่นอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการอุทธรณ์ตามข้อบังคับของจำเลยก่อนจึงจะนำคดีมาสู่ศาลได้ ขั้นตอนอุทธรณ์ตามข้อบังคับของจำเลยเป็นเพียงระเบียบบริหารงานภายในย่อมไม่อาจนำมาใช้เป็นเหตุตัดสิทธิในการนำคดีเข้าสู่การพิจารณาของศาล กรณีจึงไม่ต้องด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 8 วรรคสอง โจทก์จึงฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยได้ แต่เมื่อศาลแรงงานกลางยังมิได้วินิจฉัยในประเด็นแห่งคดีเกี่ยวกับมูลเหตุแห่งการกระทำความผิดที่ลงโทษโจทก์ ซึ่งเป็นข้อเท็จจริง จึงเห็นสมควรย้อนสำนวนให้ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงแล้วพิจารณาพิพากษาใหม่ไปตามรูปคดีตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 56
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12652/2557
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
สิทธิการจัดสรรหุ้นของอดีตพนักงานขึ้นอยู่กับสถานะการเลิกจ้าง หากเลิกจ้างเพราะทุจริต ย่อมไม่มีสิทธิ
ในโครงการของจำเลยที่ 1 ที่เสนอขายหลักทรัพย์ให้แก่อดีตพนักงานของจำเลยที่ 1 และบริษัทในเครือนั้น อดีตพนักงานที่จะมีสิทธิได้รับการจัดสรรใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นของจำเลยที่ 1 หากพ้นสภาพจากการเป็นพนักงานเพราะถูกเลิกจ้างจะต้องเป็นกรณีที่ถูกเลิกจ้างโดยไม่มีความผิด โดยในคดีก่อนที่โจทก์ฟ้องเรียกค่าชดเชยและค่าเสียหาย ศาลไกล่เกลี่ยคู่ความจนคดีสามารถตกลงกันได้ซึ่งจำเลยที่ 2 จ่ายเงินให้โจทก์และโจทก์ยอมถอนฟ้อง จึงเท่ากับว่าคำสั่งเลิกจ้างของจำเลยที่ 2 ที่อ้างว่าโจทก์ทุจริตต่อหน้าที่อย่างร้ายแรงยังคงอยู่ไม่ได้ถูกเพิกถอน โจทก์จึงขาดคุณสมบัติที่จะได้รับการจัดสรรใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นของจำเลยที่ 1
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12640/2557
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
จำกัดความรับผิดของผู้ค้ำประกันตามประกาศกระทรวงแรงงาน แม้ทำสัญญาก่อนประกาศใช้
ตามประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการเรียกหรือรับหลักประกันการทำงานหรือหลักประกันความเสียหายในการทำงานจากลูกจ้าง พ.ศ.2551 นั้น นอกจากจะมีข้อ 10 ซึ่งกำหนดวงเงินค้ำประกันที่นายจ้างเรียกให้ผู้ค้ำประกันรับผิดต้องไม่เกิน 60 เท่า ของอัตราค่าจ้างรายวันโดยเฉลี่ยที่ลูกจ้างได้รับ อันเป็นการจำกัดขอบเขตความรับผิดของผู้ค้ำประกันในความเสียหายจากการทำงานให้แตกต่างไปจากหลักทั่วไปในเรื่องเสรีภาพในการทำสัญญาแล้วยังมีข้อ 12 ซึ่งกำหนดว่า กรณีที่มีการเรียกหรือรับหลักประกันเกินที่กำหนดไว้มาก่อนวันที่ประกาศฉบับนี้มีผลใช้บังคับนั้น ให้เป็นหน้าที่ของนายจ้างดำเนินการให้มีหลักประกันไม่เกินมูลค่าของหลักประกันตามที่กำหนดไว้ในประกาศนี้ด้วย แสดงว่านายจ้างและลูกจ้างไม่อาจตกลงนอกเหนือจากหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่ประกาศดังกล่าวกำหนด ดังนั้นสัญญาค้ำประกันที่จำเลยที่ 2 ทำไว้กับโจทก์แม้จะทำกันก่อนประกาศฉบับนี้มีผลใช้บังคับก็ตาม แต่เมื่อประกาศฉบับนี้มีผลใช้บังคับแล้ว ความรับผิดของจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ค้ำประกันซึ่งเกิดขึ้นภายหลังก็ต้องบังคับไปตามหลักเกณฑ์ของประกาศฉบับดังกล่าวคือไม่เกิน 60 เท่า ของอัตราค่าจ้างรายวันโดยเฉลี่ยที่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกจ้างได้รับด้วย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6925/2557
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การนับระยะเวลาฟ้องคดีกรณีแจ้งคำวินิจฉัยทางไปรษณีย์ และการขยายระยะเวลาฟ้องคดีเนื่องจากคำพิพากษาเดิม
จำเลยส่งหนังสือแจ้งคำวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์ฉบับเดียวกันไปยังโจทก์ทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับโดยชอบ 2 ครั้ง ครั้งแรกส่งไปยังที่อยู่ตามทะเบียนบ้านของโจทก์ มีผู้รับไว้เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2552 ครั้งที่สองส่งไปยังสถานประกอบการของนายจ้างตามที่โจทก์แจ้งไว้ในคำอุทธรณ์ว่าเป็นสถานที่ติดต่อได้สะดวก มีผู้รับไว้เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2552 การนับเวลานำคดีไปสู่ศาลต้องตีความเป็นคุณแก่โจทก์ผู้ต้องเสียในมูลหนี้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 11 จึงให้เริ่มนับแต่วันที่โจทก์ได้รับแจ้งผลคำวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์ครั้งที่สอง
โจทก์ฟ้องสำนักงานประกันสังคมจังหวัดสุราษฎร์ธานีเป็นจำเลยพอแปลได้ว่า เป็นการฟ้องขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์นั่นเอง
โจทก์ฟ้องสำนักงานประกันสังคมจังหวัดสุราษฎร์ธานีเป็นจำเลยเมื่อวันที่ 7 เมษายน 2552 ซึ่งอยู่ในกำหนด 30 วัน นับแต่วันที่โจทก์ได้รับแจ้งคำวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์ (ครั้งที่สอง) ศาลแรงงานภาค 8 วินิจฉัยว่า สำนักงานประกันสังคมจังหวัดสุราษฎร์ธานีไม่มีสภาพนิติบุคคลพิพากษายกฟ้องโดยไม่ให้ระยะเวลาโจทก์มาฟ้องคดีใหม่ โจทก์จึงฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2553 อันเป็นกรณีจำเป็นและเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม เห็นสมควรขยายระยะเวลาการฟ้องขอเพิกถอนคำวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์เพื่อให้โจทก์ฟ้องเป็นคดีนี้ได้ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 26
โจทก์ฟ้องสำนักงานประกันสังคมจังหวัดสุราษฎร์ธานีเป็นจำเลยพอแปลได้ว่า เป็นการฟ้องขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์นั่นเอง
โจทก์ฟ้องสำนักงานประกันสังคมจังหวัดสุราษฎร์ธานีเป็นจำเลยเมื่อวันที่ 7 เมษายน 2552 ซึ่งอยู่ในกำหนด 30 วัน นับแต่วันที่โจทก์ได้รับแจ้งคำวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์ (ครั้งที่สอง) ศาลแรงงานภาค 8 วินิจฉัยว่า สำนักงานประกันสังคมจังหวัดสุราษฎร์ธานีไม่มีสภาพนิติบุคคลพิพากษายกฟ้องโดยไม่ให้ระยะเวลาโจทก์มาฟ้องคดีใหม่ โจทก์จึงฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2553 อันเป็นกรณีจำเป็นและเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม เห็นสมควรขยายระยะเวลาการฟ้องขอเพิกถอนคำวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์เพื่อให้โจทก์ฟ้องเป็นคดีนี้ได้ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 26
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6506/2557
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
สถานะลูกจ้าง: ศาลวินิจฉัยผิดประเด็นจากคำให้การและข้อเท็จจริงที่รับรอง ย้อนสำนวนให้วินิจฉัยใหม่
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 1 จ้างโจทก์เป็นพนักงาน ต่อมาจำเลยที่ 1 เลิกจ้างโจทก์ จำเลยที่ 1 ให้การว่าจำเลยที่ 1 จ้างโจทก์เป็นพนักงานจริง แต่มิได้เลิกจ้างหรือถอดถอนโจทก์จากการเป็นพนักงาน เห็นได้ชัดแจ้งว่าจำเลยที่ 1 ยอมรับว่าโจทก์เป็นพนักงานของจำเลยที่ 1 ข้อเท็จจริงจึงฟังเป็นยุติว่าโจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 ส่วนที่จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอแก้ไขคำให้การว่าโจทก์มิใช่ลูกจ้างของจำเลยที่ 1 นั้น ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งว่า "ให้รอไว้สอบโจทก์ในวันนัด" แต่หลังจากนั้นจนถึงวันที่ศาลแรงงานกลางมีคำพิพากษา ศาลแรงงานกลางมิได้สั่งคำร้องขอแก้ไขคำให้การของจำเลยที่ 1 แต่อย่างใด กรณีถือไม่ได้ว่าศาลแรงงานกลางอนุญาตให้แก้ไขคำให้การตามคำร้องดังกล่าว ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าโจทก์ไม่ใช่ลูกจ้างของจำเลยที่ 1 จึงเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นแห่งคดี
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6270/2557
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การฟ้องซ้ำ: ศาลฎีกายืนคำพิพากษาศาลแรงงานกลางยกฟ้อง คดีซ้ำประเด็นสัญญาจ้างและละเมิดที่เคยวินิจฉัยแล้ว
เดิมโจทก์ฟ้องเป็นคดีหมายเลขแดงที่ 6323/2548 ของศาลแรงงานกลาง ขอให้เพิกถอนคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานที่ให้โจทก์คืนเงินประกันการทำงานหรือเงินประกันความเสียหายให้แก่ลูกจ้าง (จำเลยที่ 1 ในคดีนี้) ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า โจทก์ไม่สามารถจัดหาบุคคลอื่นมารับมอบหน้าที่จากจำเลยที่ 1 ได้ ผู้บังคับบัญชาไม่เคยแจ้งให้จำเลยที่ 1 สะสางงานที่คั่งค้างหรือดำเนินการให้ค้นหาหรือชี้แจงเกี่ยวกับเอกสารที่อ้างว่าสูญหาย และไม่สามารถระบุได้ว่าเอกสารที่โจทก์อ้างว่าสูญหายนั้นคือเอกสารอะไร ลูกค้ารายใด จำนวนเงินเท่าใด ข้อเท็จจริงจึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 กระทำผิดตามที่โจทก์อ้าง โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากจำเลยที่ 1 ต้องคืนเงินประกันให้จำเลยที่ 1 คำพิพากษามีผลผูกพันโจทก์ซึ่งเป็นคู่ความฝ่ายผู้ยื่นคำฟ้องตาม ป.วิ.พ. มาตรา 1 (11), 145 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 ว่าจำเลยที่ 1 ไม่ได้กระทำผิดและโจทก์ไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากจำเลยที่ 1 นับตั้งแต่วันที่ศาลแรงงานกลางได้มีพิพากษาจนถึงวันที่คำพิพากษานั้นได้ถูกเปลี่ยนแปลง แก้ไข กลับ หรือให้งดเสียถ้าหากมี
คดีนี้โจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากการผิดสัญญาจ้างแรงงานโดยอ้างว่าจำเลยที่ 1 ลาออกโดยมิได้สะสางและส่งมอบงานบัญชีที่อยู่ในความรับผิดชอบให้แก่ผู้จัดการฝ่ายบัญชีคนใหม่ ไม่ดูแลเอกสารของลูกหนี้ทำให้เอกสารสูญหายหลายรายการซึ่งเป็นเหตุอย่างเดียวกันกับที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยไว้ในคดีหมายเลขแดงที่ 6323/2548 แม้คดีดังกล่าวยังไม่ถึงที่สุดแต่โจทก์ก็ถูกผูกพันตามคำพิพากษานั้น จึงต้องถือว่าจำเลยที่ 1 ไม่ได้กระทำความผิดและโจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 และที่ 2 (ผู้ค้ำประกัน) จึงไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์
คดีนี้โจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากการผิดสัญญาจ้างแรงงานโดยอ้างว่าจำเลยที่ 1 ลาออกโดยมิได้สะสางและส่งมอบงานบัญชีที่อยู่ในความรับผิดชอบให้แก่ผู้จัดการฝ่ายบัญชีคนใหม่ ไม่ดูแลเอกสารของลูกหนี้ทำให้เอกสารสูญหายหลายรายการซึ่งเป็นเหตุอย่างเดียวกันกับที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยไว้ในคดีหมายเลขแดงที่ 6323/2548 แม้คดีดังกล่าวยังไม่ถึงที่สุดแต่โจทก์ก็ถูกผูกพันตามคำพิพากษานั้น จึงต้องถือว่าจำเลยที่ 1 ไม่ได้กระทำความผิดและโจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 และที่ 2 (ผู้ค้ำประกัน) จึงไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3529-3530/2557
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ประมาทเลินเล่อในการปฏิบัติหน้าที่ ทำให้จำเลยเสียหาย มีสิทธิเลิกจ้างและฟ้องเรียกค่าเสียหายได้
โจทก์ทั้งสองทำงานในตำแหน่งหัวหน้าหน่วยปฏิบัติการ ในคืนเกิดเหตุรถไถหายไป ด. พนักงานขับรถไถของจำเลยเข้างานช่วงเวลาเดียวกับโจทก์ทั้งสอง ด. จึงอยู่ใต้บังคับบัญชาของโจทก์ทั้งสอง ซึ่งจำเลยมีระเบียบเกี่ยวกับการทำงานว่า หัวหน้าหน่วยปฏิบัติการต้องปฏิบัติตามคำบรรยายลักษณะงานที่กำหนดหน้าที่ความรับผิดชอบ ในข้อ 3.6 ให้ต้องตรวจสอบการทำงานของช่างขับ (พนักงานขับรถ) ให้ปฏิบัติตามกฎของจำเลย โดยจะต้องนำรถไถเข้าไปจอดภายในโรงงาน และตามระเบียบปฏิบัติ ข้อ 14 ให้ติดตามการทำงานของช่างขับอย่างใกล้ชิด และข้อ 15 ให้ติดตามผลเป้าหมายงานทุก ๆ ชั่วโมง แม้ ด. จะละทิ้งหน้าที่ไปโดยไม่แจ้งให้โจทก์ทั้งสองทราบ หากโจทก์ทั้งสองยึดถือระเบียบการทำงานอย่างเคร่งครัด โจทก์ทั้งสองก็จะทราบในทันทีก่อนรถไถหายไปว่า ด. ไม่นำรถไถเข้าไปเก็บไว้ในโรงงาน การกระทำของโจทก์ทั้งสองถือได้ว่าเป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้จำเลยได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์ทั้งสองได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 (3)
ฟ้องแย้งจำเลยขอให้โจทก์ทั้งสองชดใช้ค่าเสียหายอันเนื่องมาจากโจทก์ทั้งสองปฏิบัติหน้าที่ประมาทเลินเล่อทำให้จำเลยได้รับความเสียหาย เป็นการขอให้ศาลแรงงานภาค 2 พิพากษาให้โจทก์ทั้งสองชดใช้ค่าเสียหายตามสัญญาจ้างแรงงาน เมื่อศาลฎีกาเห็นว่าการกระทำของโจทก์ทั้งสองเป็นการประมาทเลินเล่อ เป็นเหตุให้จำเลยได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง จึงชอบที่จะกำหนดค่าเสียหายที่โจทก์ทั้งสองต้องรับผิดต่อจำเลย แต่การกำหนดค่าเสียหายดังกล่าวเป็นเรื่องดุลพินิจซึ่งเป็นข้อเท็จจริง ศาลฎีกาไม่อาจจะกระทำได้ ในปัญหานี้ศาลแรงงานภาค 2 ยังไม่ได้ฟังข้อเท็จจริงมาว่าโจทก์ทั้งสองก่อความเสียหายแก่จำเลยจำนวนคนละเท่าใด จึงต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลแรงงานภาค 2 ฟังข้อเท็จจริงดังกล่าวเสียก่อน แล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี
ฟ้องแย้งจำเลยขอให้โจทก์ทั้งสองชดใช้ค่าเสียหายอันเนื่องมาจากโจทก์ทั้งสองปฏิบัติหน้าที่ประมาทเลินเล่อทำให้จำเลยได้รับความเสียหาย เป็นการขอให้ศาลแรงงานภาค 2 พิพากษาให้โจทก์ทั้งสองชดใช้ค่าเสียหายตามสัญญาจ้างแรงงาน เมื่อศาลฎีกาเห็นว่าการกระทำของโจทก์ทั้งสองเป็นการประมาทเลินเล่อ เป็นเหตุให้จำเลยได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง จึงชอบที่จะกำหนดค่าเสียหายที่โจทก์ทั้งสองต้องรับผิดต่อจำเลย แต่การกำหนดค่าเสียหายดังกล่าวเป็นเรื่องดุลพินิจซึ่งเป็นข้อเท็จจริง ศาลฎีกาไม่อาจจะกระทำได้ ในปัญหานี้ศาลแรงงานภาค 2 ยังไม่ได้ฟังข้อเท็จจริงมาว่าโจทก์ทั้งสองก่อความเสียหายแก่จำเลยจำนวนคนละเท่าใด จึงต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลแรงงานภาค 2 ฟังข้อเท็จจริงดังกล่าวเสียก่อน แล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี