คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
พ.ร.บ.โรงงานผลิตอาวุธของเอกชน พ.ศ. 2550 ม. 25

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 1 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4728/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การประเมินอากรขาเข้า ไนโตรเซลลูโลส และการคำนวณเงินเพิ่มอากรตามกฎหมายศุลกากร
ตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 10 ทวิ วรรคหนึ่ง และ พ.ร.ก.พิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2530 ภาค 4 ว่าด้วยของที่ได้รับยกเว้นอากร ประเภทที่ 13 ยุทธภัณฑ์ที่จะได้รับการยกเว้นอากรตาม พ.ร.ก.พิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2530 ภาค 4 ประเภทที่ 13 ต้องเป็นยุทธภัณฑ์ที่ใช้ในทางราชการเป็นสำคัญ ดังนั้น การจะพิจารณาว่าสินค้าที่โจทก์นำเข้าตามใบขนสินค้าพิพาทเป็นยุทธภัณฑ์ที่ได้รับการยกเว้นอากรตาม พ.ร.ก.พิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2530 ภาค 4 ประเภท 13 หรือไม่ นั้น จะต้องพิจารณาในเวลาที่นำของเข้าสำเร็จว่าโจทก์นำเข้าสินค้าในลักษณะที่เป็นยุทธภัณฑ์ที่ใช้ในทางราชการหรือไม่ เมื่อสินค้าพิพาทเป็นส่วนประกอบที่จะต้องนำไปผลิตอาวุธ (กระสุนปืน) เสียก่อนแล้วจึงนำมาขายหรือจำหน่ายให้กับส่วนราชการเพื่อนำไปใช้อีกทอดหนึ่ง โดยในขณะเกิดความรับผิดทางภาษี (Tax Point) หรือขณะยื่นใบขนสินค้าต่อเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 นั้น ของที่นำเข้ายังไม่เป็นยุทธภัณฑ์ที่ใช้ในทางราชการซึ่งส่วนราชการเป็นผู้มีสิทธิใช้ยุทธภัณฑ์นั้นแต่อย่างใด ดังนั้น สินค้าพิพาทจึงไม่ได้รับยกเว้นอากรตาม พ.ร.ก.พิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2530 ภาค 4 ประเภทที่ 13
เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าสินค้าพิพาทมีการเติมสาร Diphenylamine ที่เป็น Stabilizer และ Diethyl Ether ซึ่งทำให้เกิดการระเบิดได้ ทำให้มีคุณสมบัติของดินขับในประเภทพิกัด 36.01 ซึ่งเป็นประเภทพิกัดที่เฉพาะเจาะจงกว่า สินค้าพิพาทจึงไม่ใช่ไนโตรเซลลูโลสกึ่งสำเร็จรูปที่มีน้ำเป็นองค์ประกอบตามประเภทพิกัด 39.12 ประเภทย่อย 3912.20.11 ตามหลักเกณฑ์การตีความพิกัดอัตราศุลกากรในภาค 1 ท้าย พ.ร.ก.พิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2530 ข้อ 1 และข้อ 6
โจทก์มีหน้าที่ต้องรับผิดในส่วนเงินเพิ่มตามกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในเวลานั้น เมื่อคดีนี้โจทก์นำเข้าสินค้าตามใบขนสินค้าขาเข้าพิพาททั้งสองฉบับเมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2553 และวันที่ 17 พฤศจิกายน 2555 และโจทก์นำของออกไปจากอารักขาของศุลกากร ความรับผิดอากรขาเข้าตามใบขนสินค้าขาเข้าทั้งสองฉบับดังกล่าว จึงเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2469 มีผลใช้บังคับอยู่ จำเลยที่ 1 ย่อมมีสิทธิคำนวณเรียกเงินเพิ่มส่วนที่เกินอากรขาเข้าได้จนถึงวันที่ 12 พฤศจิกายน 2560 ส่วนนับแต่วันที่ 13 พฤศจิกายน 2560 หากเงินเพิ่มยังไม่เท่าอากรขาเข้าตามการประเมิน จำเลยที่ 1 คงมีสิทธิคำนวณเรียกเงินเพิ่มอากรขาเข้าดังกล่าวต่อไปได้จนกว่าจำนวนเงินเพิ่มจะเท่าจำนวนอากรขาเข้าตามการประเมินดังที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 มาตรา 22 คดีนี้ ปรากฏว่าเงินเพิ่มที่โจทก์ต้องชำระนับถึงวันที่ 12 พฤศจิกายน 2560 ยังไม่เกินอากรที่ต้องเสียเพิ่ม โจทก์จึงต้องรับผิดชำระจนกว่าจะเท่าจำนวนอากรที่ต้องเสียเพิ่ม