พบผลลัพธ์ทั้งหมด 32 รายการ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3332/2565
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การบรรยายฟ้องคดีไม้พะยูงและการดำเนินกระบวนการซ้ำที่ต้องห้าม
ข้อเท็จจริงในเรื่องไม้พะยูงของกลาง จำเลยที่ 1 เคยยื่นคำร้องขออนุญาตฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง แต่ผู้พิพากษาที่จำเลยที่ 1 ร้องขอไม่อนุญาตให้จำเลยที่ 1 ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง และศาลฎีกามีคำสั่งให้ยกคำร้องอุทธรณ์คำสั่งของจำเลยที่ 1 การที่จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอให้ศาลไต่สวนเพื่อพิสูจน์ว่าไม้พะยูงของกลางเป็นไม้ที่ขึ้นในที่ดินที่มีกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองโดยเจตนาที่จะให้มีการรับฟังข้อเท็จจริงใหม่ว่า ไม้พะยูงของกลางเป็นไม้ที่ขึ้นในที่ดินที่มีกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองของผู้อื่น ทำนองเดียวกับการขออนุญาตฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ถือได้ว่าเป็นการยื่นคำร้องในประเด็นเดียวกันกับที่ศาลได้วินิจฉัยไปแล้ว ย่อมเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 144 วรรคหนึ่ง ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับคำร้องของจำเลยที่ 1 มา เป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2971/2565
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การซื้อขายที่ดินโดยผู้จัดการมรดกประมาทเลินเล่อ ผู้รับจำนองสุจริตไม่ต้องรับผิด
ภายหลัง ท. ถึงแก่ความตาย ได้มีผู้ไถ่ถอนที่ดินพิพาททั้งสองแปลงซึ่งมีชื่อ ท. เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ และในการที่ บ. ร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของ ท. ก็ได้ระบุว่าที่ดินพิพาททั้งสองแปลงเป็นทรัพย์มรดก ดังนั้น โฉนดที่ดินพิพาททั้งสองแปลงอยู่ในครอบครองของ บ. แล้ว ต่อมาที่ดินพิพาททั้งสองแปลงมีการจดทะเบียนโอนขายแก่จำเลยที่ 1 โดยมีลายมือชื่อ ท. เป็นผู้มอบอำนาจและมี ส. ลงลายมือชื่อเป็นพยาน ซึ่ง บ. มิได้ดำเนินการจดทะเบียนโอนมาเป็นชื่อของตนในฐานะผู้จัดการมรดกเสียก่อน แต่กลับมีผู้นำหนังสือมอบอำนาจของ ท. ไปโอนขายแก่จำเลยที่ 1 ซึ่งมีลายมือชื่อของ ส. เป็นพยานในหนังสือมอบอำนาจของทั้งสองฝ่าย แม้ตามสัญญาซื้อขายระหว่าง ท. กับจำเลยที่ 1 ไม่ปรากฏว่า บ. มีส่วนเกี่ยวข้องทำหนังสือมอบอำนาจให้ แต่ ส. ย่อมมีหนังสือมอบอำนาจที่ ท. ลงลายมือชื่อไว้ล่วงหน้าโดยมีชื่อ ส. เป็นพยาน ดังนั้น ในการไถ่ถอนจำนองที่ดินพิพาททั้งสองแปลงจึงเชื่อได้ว่า ส. เป็นผู้ดำเนินการภายหลัง ท. ถึงแก่ความตายแล้ว จึงสามารถนำโฉนดที่ดินพิพาทมาคืนแก่ บ. ได้ การที่ บ. มอบโฉนดที่ดินพิพาททั้งสองแปลงให้ ส. ไปดำเนินการโอนขายแก่จำเลยที่ 1 นับว่าเป็นความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของ บ. หรืออาจเป็นเพราะ บ. ทราบจาก ส. ว่า การจดทะเบียนโอนที่ดินใส่ชื่อ บ. ในฐานะผู้จัดการมรดก แล้วจดทะเบียนขายต่อบุคคลภายนอกจะต้องเสียค่าธรรมเนียม 2 ครั้ง พฤติการณ์ดังกล่าวย่อมเป็นเหตุให้ บ. ในฐานะผู้จัดการมรดกและทายาทของ ท. ไม่อาจยกเอาความบกพร่องของตนมาใช้ยันแก่จำเลยที่ 2 ซึ่งรับจำนองไว้โดยสุจริตและเสียค่าตอบแทนให้รับความเสียหาย โจทก์ซึ่งเป็นทายาทผู้สืบสิทธิของ บ. และ ฮ. จึงไม่มีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนหนังสือสัญญาจำนองและการจดทะเบียนจำนองที่ดินพิพาททั้งสองแปลงระหว่างจำเลยที่ 1 กับที่ 2 ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2943/2565
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การเพิกถอนมติที่ประชุมใหญ่หมู่บ้านจัดสรร และการบริหารจัดการพื้นที่ส่วนกลางตาม พ.ร.บ.จัดสรรที่ดิน
ตามคำฟ้องและคําขอท้ายฟ้องเป็นกรณีโจทก์ทั้งสองโต้แย้งเกี่ยวกับมติที่ประชุมใหญ่โดยอ้างว่ามติที่ประชุมใหญ่สามัญสมาชิกไม่ชอบด้วยกฎหมายและข้อบังคับของจําเลย และมีคําขอบังคับขอให้ศาลสั่งเพิกถอนมติที่ประชุมใหญ่ดังกล่าว จึงเป็นเรื่องที่โจทก์ทั้งสองขอให้เพิกถอนมติที่ประชุมใหญ่สามัญประจำปี ซึ่งกฎหมายกำหนดระยะเวลาในการใช้สิทธิไว้เป็นการเฉพาะแล้ว โจทก์ทั้งสองจะอ้างว่าโจทก์ทั้งสองฟ้องให้จําเลยรับผิดในมูลละเมิด จึงต้องนําอายุความละเมิดมาใช้บังคับกับกรณีการขอให้เพิกถอนมติที่ประชุมใหญ่หาได้ไม่
แม้ข้อบังคับนิติบุคคลจําเลย จะมีข้อความว่าต้องร้องขอให้ศาลเพิกถอนมติในการประชุมครั้งนั้นภายใน 30 นับแต่วันที่ที่ประชุมใหญ่ลงมติ โดยไม่ปรากฏหน่วยนับเป็นวัน เดือน หรือปี แต่ข้อบังคับนิติบุคคลดังกล่าวไม่ใช่พยานหลักฐานที่มีกฎหมายบังคับว่าต้องมีเอกสารมาแสดงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 94 วรรคหนึ่ง (ข) จึงไม่ต้องห้ามที่จะนําพยานบุคคลมานําสืบแก้ไขเพิ่มเติมข้อความในเอกสาร เมื่อผู้จัดการฝ่ายปฏิบัติการนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรมาเบิกความยืนยันว่าการร้องขอเพิกถอนมติที่ประชุมใหญ่ที่ลงมติโดยฝ่าฝืนกฎหมายหรือข้อบังคับ จะต้องยื่นคําร้องขอต่อศาลภายในกำหนดสามสิบวันนับแต่วันลงมติ สอดคล้องกับกฎกระทรวงว่าด้วยการขอจดทะเบียนจัดตั้ง การบริหาร การควบและการยกเลิกนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร พ.ศ. 2545 ข้อ 15 ดังนั้น ตามข้อบังคับของนิติบุคคลจําเลย การร้องขอเพิกถอนมติที่ประชุมใหญ่ต้องยื่นฟ้องต่อศาลภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ที่ประชุมใหญ่ลงมติ
ตาม พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน พ.ศ. 2543 มาตรา 43, 44 ประกอบมาตรา 48 สาธารณูปโภคที่ผู้จัดสรรที่ดินได้จัดให้มีขึ้นเพื่อการจัดสรรที่ดิน เช่น ถนน สวน สนามเด็กเล่น ให้ตกอยู่ในภาระจำยอมเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินจัดสรร และให้เป็นหน้าที่ของผู้จัดสรรที่ดินที่จะบำรุงรักษาสาธารณูปโภคดังกล่าว แต่ผู้จัดสรรที่ดินจะพ้นจากหน้าที่นี้เมื่อมีการจดทะเบียนจัดตั้งนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรแล้ว โดยให้เป็นอำนาจหน้าที่ของนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรในการบำรุงรักษาและการจัดการสาธารณูปโภค ซึ่งมีคณะกรรมการหมู่บ้านจัดสรรเป็นผู้ดำเนินการภายใต้การควบคุมดูแลของที่ประชุมใหญ่สามัญสมาชิก กรณีจึงเป็นอำนาจหน้าที่ของจําเลยตามกฎหมายรวมทั้งตามข้อบังคับและมติของที่ประชุมใหญ่ในการดูแลถนนในหมู่บ้านเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินจัดสรร เหตุที่จําเลยนํากรวยหรือนําหมุดไปปักบริเวณถนนสายหลักข้างบ้านโจทก์ทั้งสองและบริเวณหัวมุมถนนซอยเท่าที่จําเป็นก็เพื่อมิให้สมาชิกในหมู่บ้านนํารถยนต์มาจอด เพื่อความปลอดภัยและความสะดวกในการขับรถเลี้ยวโค้ง เข้า - ออก บริเวณหัวมุมถนน ซึ่งเป็นอำนาจหน้าที่ของจําเลยตาม พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน พ.ศ. 2543 ในการบริหารจัดการอํานวยความสะดวกในการใช้สาธารณูปโภค ตลอดจนการใช้พื้นที่ส่วนกลางในหมู่บ้านที่พักอาศัยร่วมกันของสมาชิกทั้งหมด การกระทำดังกล่าวของจําเลยมิได้เลือกปฏิบัติเฉพาะสมาชิกผู้หนึ่งผู้ใด จึงถือไม่ได้ว่าเป็นเหตุให้ประโยชน์แห่งภาระจำยอมลดไปหรือเสื่อมความสะดวก
แม้ข้อบังคับนิติบุคคลจําเลย จะมีข้อความว่าต้องร้องขอให้ศาลเพิกถอนมติในการประชุมครั้งนั้นภายใน 30 นับแต่วันที่ที่ประชุมใหญ่ลงมติ โดยไม่ปรากฏหน่วยนับเป็นวัน เดือน หรือปี แต่ข้อบังคับนิติบุคคลดังกล่าวไม่ใช่พยานหลักฐานที่มีกฎหมายบังคับว่าต้องมีเอกสารมาแสดงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 94 วรรคหนึ่ง (ข) จึงไม่ต้องห้ามที่จะนําพยานบุคคลมานําสืบแก้ไขเพิ่มเติมข้อความในเอกสาร เมื่อผู้จัดการฝ่ายปฏิบัติการนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรมาเบิกความยืนยันว่าการร้องขอเพิกถอนมติที่ประชุมใหญ่ที่ลงมติโดยฝ่าฝืนกฎหมายหรือข้อบังคับ จะต้องยื่นคําร้องขอต่อศาลภายในกำหนดสามสิบวันนับแต่วันลงมติ สอดคล้องกับกฎกระทรวงว่าด้วยการขอจดทะเบียนจัดตั้ง การบริหาร การควบและการยกเลิกนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรร พ.ศ. 2545 ข้อ 15 ดังนั้น ตามข้อบังคับของนิติบุคคลจําเลย การร้องขอเพิกถอนมติที่ประชุมใหญ่ต้องยื่นฟ้องต่อศาลภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ที่ประชุมใหญ่ลงมติ
ตาม พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน พ.ศ. 2543 มาตรา 43, 44 ประกอบมาตรา 48 สาธารณูปโภคที่ผู้จัดสรรที่ดินได้จัดให้มีขึ้นเพื่อการจัดสรรที่ดิน เช่น ถนน สวน สนามเด็กเล่น ให้ตกอยู่ในภาระจำยอมเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินจัดสรร และให้เป็นหน้าที่ของผู้จัดสรรที่ดินที่จะบำรุงรักษาสาธารณูปโภคดังกล่าว แต่ผู้จัดสรรที่ดินจะพ้นจากหน้าที่นี้เมื่อมีการจดทะเบียนจัดตั้งนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรแล้ว โดยให้เป็นอำนาจหน้าที่ของนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรในการบำรุงรักษาและการจัดการสาธารณูปโภค ซึ่งมีคณะกรรมการหมู่บ้านจัดสรรเป็นผู้ดำเนินการภายใต้การควบคุมดูแลของที่ประชุมใหญ่สามัญสมาชิก กรณีจึงเป็นอำนาจหน้าที่ของจําเลยตามกฎหมายรวมทั้งตามข้อบังคับและมติของที่ประชุมใหญ่ในการดูแลถนนในหมู่บ้านเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินจัดสรร เหตุที่จําเลยนํากรวยหรือนําหมุดไปปักบริเวณถนนสายหลักข้างบ้านโจทก์ทั้งสองและบริเวณหัวมุมถนนซอยเท่าที่จําเป็นก็เพื่อมิให้สมาชิกในหมู่บ้านนํารถยนต์มาจอด เพื่อความปลอดภัยและความสะดวกในการขับรถเลี้ยวโค้ง เข้า - ออก บริเวณหัวมุมถนน ซึ่งเป็นอำนาจหน้าที่ของจําเลยตาม พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน พ.ศ. 2543 ในการบริหารจัดการอํานวยความสะดวกในการใช้สาธารณูปโภค ตลอดจนการใช้พื้นที่ส่วนกลางในหมู่บ้านที่พักอาศัยร่วมกันของสมาชิกทั้งหมด การกระทำดังกล่าวของจําเลยมิได้เลือกปฏิบัติเฉพาะสมาชิกผู้หนึ่งผู้ใด จึงถือไม่ได้ว่าเป็นเหตุให้ประโยชน์แห่งภาระจำยอมลดไปหรือเสื่อมความสะดวก
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2659/2565
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
อายุความคดีอาญา – การหลบหนี – ผลกระทบต่ออายุความตาม พ.ร.บ. ป.ป.ช. และประมวลกฎหมายอาญา
หมายจับเป็นหมายอาญาตามที่ ป.วิ.อ. บัญญัติไว้ใน หมวด 2 เมื่อตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 24 บัญญัติให้ผู้พิพากษาคนหนึ่งมีอำนาจดังต่อไปนี้ (1) ออกหมายเรียก หมายอาญา... ดังนั้นผู้พิพากษาคนเดียวจึงมีอำนาจในการออกหมายอาญาประเภทหมายจับได้ รวมทั้งให้หมายความถึงมีอำนาจพิจารณาการยกคำร้องขอออกหมายจับโดยพิจารณาว่าคดีอาญาตามที่ขอออกหมายจับนั้นขาดอายุความหรือไม่ ทั้งนี้ ในการออกหมายจับนั้นต้องพิจารณาประกอบตาม ป.วิ.อ. มาตรา 68 ซึ่งบัญญัติว่า หมายจับคงใช้ได้อยู่จนกว่าจะจับได้ เว้นแต่ความผิดอาญาตามหมายนั้นขาดอายุความหรือศาลซึ่งออกหมายนั้นได้ถอนหมายคืน อันเป็นการแสดงให้เห็นว่าในการออกหมายจับ ผู้พิพากษาคนเดียวที่จะพิจารณาออกหมายจับมีอำนาจพิจารณาว่า คดีที่จะออกหมายจับนั้นขาดอายุความแล้วหรือไม่ด้วย การสั่งยกคำร้องขอออกหมายจับของศาลชั้นต้นจึงไม่เป็นกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบการนับอายุความตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 7 แตกต่างจากบทบัญญัติเรื่องอายุความในประมวลกฎหมายอาญาที่บัญญัติให้นับแต่วันกระทำความผิดเท่านั้น โดยไม่มีข้อยกเว้นไม่ให้นับวันที่หลบหนีรวมเข้าด้วยดังที่ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 7 บัญญัติไว้ และตามมาตรา 3 แห่ง ป.อ. บัญญัติว่า ถ้ากฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดแตกต่างกับกฎหมายที่ใช้ในภายหลังการกระทำความผิด ให้ใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณแก่ผู้กระทำความผิดไม่ว่าในทางใด เว้นแต่คดีถึงที่สุดแล้ว... เมื่อบทบัญญัติตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 7 ที่แก้ไขใหม่ดังกล่าวมีผลใช้บังคับวันที่ 22 กรกฎาคม 2561 ซึ่งเป็นระยะเวลาภายหลังการกระทำความผิดของผู้ถูกกล่าวหาทั้งเก้า และการนับอายุความโดยมิให้นับระยะเวลาที่หลบหนีเข้าด้วยตามมาตราดังกล่าวมีผลทำให้ผู้ถูกกล่าวหาทั้งเก้าถูกฟ้องร้องดำเนินคดีอาญาได้ ทั้งที่ผู้ร้องไม่ได้ตัวผู้ถูกกล่าวหาทั้งเก้ามาฟ้องภายใน 15 ปี ซึ่งไม่เป็นคุณแก่ผู้ถูกกล่าวหาทั้งเก้า จึงต้องนําอายุความตาม ป.อ. มาตรา 95 (2) ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในขณะที่ผู้ร้องกล่าวอ้างว่าผู้ถูกกล่าวหาทั้งเก้ากระทำความผิดมาบังคับใช้เพราะเป็นคุณแก่ผู้ถูกกล่าวหาทั้งเก้ามากกว่า ไม่อาจนําบทบัญญัติเรื่องการนับอายุความตามมาตรา 7 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาใช้บังคับแก่ผู้ถูกกล่าวหาทั้งเก้าได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2530/2565
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การเพิกถอนนิติกรรมให้ที่ดินเนื่องจากฉ้อฉลและมีผลต่อเจ้าหนี้ การพิจารณาค่าตอบแทนและเจตนา
โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการฉ้อฉลนิติกรรมให้ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างเฉพาะส่วนของจำเลยที่ 1 แก่จำเลยที่ 2 โดยเสน่หาไม่มีค่าตอบแทน มิใช่เป็นเรื่องที่โจทก์ฟ้องขอให้บังคับหรือไม่บังคับตามสัญญาให้ที่โจทก์กับจำเลยทั้งสองเป็นคู่สัญญาที่ก่อนิติสัมพันธ์กันเอง กรณีไม่อยู่ในบังคับตาม ป.วิ.พ. มาตรา 94 (ข) จำเลยที่ 2 จึงมีสิทธินำสืบพยานบุคคลได้ว่าเป็นนิติกรรมให้โดยมีค่าตอบแทน
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2311/2565
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ความสมบูรณ์ของฟ้องอาญา: การบรรยายฟ้องที่ชัดเจนเพียงพอต่อการเข้าใจข้อหา
ฟ้องใดจะเป็นฟ้องที่เคลือบคลุมหรือไม่ต้องพิจารณาจากฟ้องที่โจทก์ยื่นต่อศาล คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องเป็นใจความสำคัญว่า เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2561 เวลากลางวัน จำเลยกับ ช. จำเลยที่ 1 และ ส. จำเลยที่ 2 ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ อ 1990/2562 ของศาลชั้นต้น ซึ่งให้การรับสารภาพและศาลพิพากษาลงโทษแล้ว ร่วมกันบุกรุกเข้าไปก่นสร้าง แผ้วถาง หรือกระทำด้วยประการใด ๆ บริเวณป่าบ้านผักกาด โดยการใช้รถไถ 1 คัน ทำการโค่นล้มทำลายต้นไม้ขนาดต่าง ๆ และต้นไม้อื่น ๆ ปรับไถพื้นที่ป่าและทำการแผ้วถางต้นไม้ออก เพื่อปรับพื้นที่ซึ่งเป็นป่าในบริเวณดังกล่าว เป็นเนื้อที่ 2 ไร่ 54 ตารางวา คิดเป็นค่าเสียหายของรัฐ 145,722.73 บาท อันเป็นการร่วมกันทำลายป่าและร่วมกันเข้าไปยึดถือครองครองป่าเพื่อตนเองหรือผู้อื่นโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ฟ้องโจทก์ได้ระบุชัดแล้วว่าจำเลยกับ ช. จำเลยที่ 1 และ ส. จำเลยที่ 2 ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ อ 1990/2562 ของศาลชั้นต้น ซึ่งให้การรับสารภาพและศาลพิพากษาลงโทษแล้ว ร่วมกันเข้าไปก่นสร้าง แผ้วถาง หรือกระทำด้วยประการใด ๆ บริเวณป่าบ้านผักกาดซึ่งเพียงพอที่จะทำให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดี ส่วนข้อเท็จจริงอื่นและพยานหลักฐานเป็นเรื่องที่โจทก์สามารถทำสืบได้ในชั้นพิจารณาไม่จำต้องกล่าวมาในฟ้อง การบรรยายฟ้องของโจทก์จึงสมบูรณ์ ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) ไม่ใช่เป็นฟ้องที่เคลือบคลุมตามที่จำเลยอ้างในฎีกา
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1732/2565
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
เจตนาการออกเช็ค - ผู้แทนสหกรณ์ไม่มีเจตนาออกเช็คที่ไม่มีเงินเพียงพอ - ยกฟ้อง
ข้อเท็จจริงรับฟังไม่ได้ว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นผู้แทนสหกรณ์จำเลยที่ 1 ได้ออกเช็คของจำเลยที่ 1 เพื่อชำระหนี้แก่โจทก์ โดยไม่มีเงินอยู่ในบัญชีอันจะพึงให้ใช้เงินได้หรือมีเงินเหลืออยู่ไม่เพียงพอที่จะใช้เงินตามเช็ค เพราะจำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่รู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4 ว่าในวันที่ออกเช็คนั้น จำเลยที่ 1 ไม่มีเงินเพียงพอที่จะชำระเงินตามเช็คได้ จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนิติบุคคลรู้ว่าในวันที่ออกเช็คนั้นจำเลยที่ 1 ไม่มีเงินอยู่ในบัญชีเพียงพอที่จะชำระเงินตามเช็คให้แก่โจทก์ได้เช่นกัน การกระทำของจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 และที่ 3 ดังกล่าว จึงเป็นการกระทำโดยขาดเจตนาในการกระทำความผิดอันจะเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4 จำเลยทั้งสามย่อมไม่มีความผิดตามที่โจทก์ฟ้อง และกรณีนี้เป็นเหตุอยู่ในส่วนลักษณะคดี ศาลย่อมมีอำนาจพิพากษาตลอดไปถึงจำเลยที่ 1 ที่มิได้อุทธรณ์ฎีกาด้วยได้ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499 มาตรา 4 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 225 มาตรา 215 มาตรา 213 และมาตรา 185 วรรคหนึ่ง ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499 มาตรา 4 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 225 และมาตรา 195 วรรคสอง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1730/2565
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
เจตนาออกเช็ค – นิติบุคคล – ผู้แทน – การขาดเจตนา – ความผิด พ.ร.บ.เช็ค
แม้จำเลยที่ 1 จะให้การรับสารภาพว่า จำเลยที่ 1 กระทำความผิดตามฟ้องโจทก์ แต่ข้อเท็จจริงปรากฏตามฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคล การกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 ต้องกระทำโดยการแสดงเจตนาในการกระทำความผิดผ่านทางจำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นผู้แทนของนิติบุคคลจำเลยที่ 1 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 70 กล่าวคือ จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ประธานกรรมการสหกรณ์ในคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3 เลขานุการในคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์จำเลยที่ 1 ร่วมกันลงลายมือชื่อพร้อมประทับตราสำคัญของจำเลยที่ 1 ออกเช็คตามฟ้อง เพื่อชำระหนี้เงินฝากคืนแก่โจทก์ เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังไม่ได้ว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นผู้แทนสหกรณ์จำเลยที่ 1 ได้ออกเช็คของจำเลยที่ 1 เพื่อชำระหนี้แก่โจทก์ โดยเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็ค เพราะจำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่รู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4 ว่าในวันที่ออกเช็คนั้น จำเลยที่ 1 ไม่มีเงินเพียงพอที่จะชำระเงินตามเช็คได้ จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนิติบุคคลรู้ว่าในวันที่ออกเช็คนั้นจำเลยที่ 1 ไม่มีเงินอยู่ในบัญชีเพียงพอที่จะชำระเงินตามเช็คให้แก่โจทก์ได้ การกระทำของจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 และที่ 3 ดังกล่าว จึงเป็นการกระทำโดยขาดเจตนาในการกระทำความผิดอันจะเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 4 จำเลยที่ 1 ย่อมไม่มีความผิดฐานออกเช็คโดยเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็คตามที่โจทก์ฟ้อง และกรณีนี้เป็นเหตุอยู่ในส่วนลักษณะคดี ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจพิพากษาตลอดไปถึงจำเลยที่ 1 ที่มิได้อุทธรณ์ฎีกาด้วยได้ ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499 มาตรา 4 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 225 มาตรา 215 มาตรา 213 และมาตรา 185 วรรคหนึ่ง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1680/2565
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การแจ้งการชุมนุมสาธารณะ: การตีความ 'ผู้ประสงค์จะจัดการชุมนุม' และขอบเขตจำกัดสิทธิเสรีภาพ
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 44 บัญญัติรับรองและคุ้มครองเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธไว้ โดยมีข้อยกเว้นให้สามารถจํากัดเสรีภาพในการชุมนุมดังกล่าวได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ตราขึ้นเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ ความปลอดภัยสาธารณะ ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเพื่อคุ้มครองสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลอื่น และมาตรา 26 บัญญัติให้การตรากฎหมายที่มีผลเป็นการจํากัดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลต้องเป็นไปตามเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ กล่าวคือ ต้องไม่ขัดต่อหลักนิติธรรม ไม่เพิ่มภาระหรือจํากัดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลเกินสมควรแก่เหตุ และจะกระทบต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของบุคคลมิได้ เมื่อ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 เป็นกฎหมายที่ตราขึ้นเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์การใช้สิทธิชุมนุมสาธารณะให้ชัดเจนและโดยสอดคล้องกับกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองที่ประเทศไทยเป็นภาคี ทั้งนี้ เพื่อให้การชุมนุมสาธารณะเป็นไปด้วยความสงบเรียบร้อย ไม่กระทบกระเทือนต่อความมั่นคงของชาติ ความปลอดภัยสาธารณะ ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดี ตลอดจนสุขอนามัยของประชาชนหรือความสะดวกของประชาชนที่จะใช้ที่สาธารณะ และไม่กระทบกระเทือนสิทธิและเสรีภาพและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้อื่น ดังนั้น บทบัญญัติเกี่ยวกับการแจ้งการชุมนุมสาธารณะตามมาตรา 10 ซึ่งกําหนดให้ผู้ประสงค์จะจัดการชุมนุมสาธารณะต้องแจ้งการชุมนุมต่อผู้รับแจ้งก่อนเริ่มการชุมนุมไม่น้อยกว่ายี่สิบสี่ชั่วโมง อันมีวัตถุประสงค์เพื่อประโยชน์ในการคุ้มครองความสะดวกของประชาชนที่อาจได้รับผลกระทบจากการชุมนุมสาธารณะ การดูแลการชุมนุมสาธารณะและการรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง รวมทั้งเพื่อประโยชน์ในการอํานวยความสะดวกและคุ้มครองผู้ชุมนุม จึงเป็นบทบัญญัติที่จํากัดสิทธิเสรีภาพของบุคคลตามรัฐธรรมนูญ และมีการกำหนดโทษทางอาญาไว้ตามมาตรา 28 การตีความบทบัญญัติเช่นนี้ ซึ่งหมายรวมถึงลักษณะและความหมายของ "ผู้ประสงค์จะจัดการชุมนุมสาธารณะ" ในวรรคสอง จึงต้องตีความโดยเคร่งครัด และไม่อาจนําบทนิยาม "ผู้จัดการชุมนุม" ตามมาตรา 4 แห่ง พระราชบัญญัติดังกล่าวมาพิจารณาประกอบดังที่จําเลยฎีกา เนื่องจากบทนิยาม "ผู้จัดการชุมนุม" ให้หมายความรวมถึงผู้ประสงค์จะจัดการชุมนุมสาธารณะอยู่แล้ว หากมาตรา 10 วรรคสอง ต้องการที่จะกำหนดเงื่อนไขให้ผู้เชิญชวนหรือนัดให้ผู้อื่นมาร่วมชุมนุมต้องแสดงออกหรือมีพฤติการณ์ทำให้ผู้อื่นเข้าใจว่าตนเป็นผู้จัดหรือร่วมจัดให้มีการชุมนุม จึงจะถือว่าเป็นผู้ประสงค์จะจัดการชุมนุมสาธารณะแล้ว ก็น่าจะระบุเงื่อนไขดังกล่าวไว้ให้ชัดเจนในบทมาตรานี้ โดยไม่จําต้องระบุเงื่อนไขให้ซ้ำซ้อนในบทนิยามดังกล่าวอีก นอกจากนั้น หากแปลความดังที่จําเลยอ้าง ย่อมจะทำให้มีการเลี่ยงไม่ปฏิบัติตามกฎหมายในเรื่องแจ้งการจัดการชุมนุมสาธารณะ ด้วยวิธีการที่ผู้ประสงค์จะจัดการชุมนุมสาธารณะอาจไม่แสดงตัว แล้วให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดเชิญชวนหรือนัดให้ผู้อื่นมาร่วมชุมนุมแทนตนเอง หรืออาจมีการจัดการชุมนุมโดยใช้วิธีต่างคนต่างเชิญชวนให้ผู้อื่นเข้าร่วมชุมนุมสาธารณะ อันจะทำให้การบริหารจัดการการชุมนุมสาธารณะก่อนที่จะเริ่มมีการชุมนุมไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย ดังนั้น แม้ทางพิจารณาจะไม่ปรากฏแกนนําในการจัดชุมนุมสาธารณะตามฟ้องที่ชัดเจน แต่เมื่อจําเลยโพสต์ข้อความลงในระบบคอมพิวเตอร์บนเว็บไซต์เฟซบุ๊กเพื่อเชิญชวนหรือนัดให้ผู้อื่นมาร่วมชุมนุมในวัน เวลา และสถานที่ที่กำหนด และต่อมามีการจัดการชุมนุมดังกล่าวขึ้นโดยไม่มีการแจ้งการชุมนุมสาธารณะต่อผู้รับแจ้งก่อนเริ่มการชุมนุมไม่น้อยกว่ายี่สิบสี่ชั่วโมงแล้ว การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานมิได้แจ้งการชุมนุมสาธารณะต่อผู้รับแจ้งการชุมนุมก่อนเริ่มการชุมนุมไม่น้อยกว่ายี่สิบสี่ชั่วโมง ตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 มาตรา 10
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1509/2565
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ผลกระทบของคำพิพากษาคดีอาญาต่อคดีแพ่งเกี่ยวเนื่อง: การถือข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาอาญา
ป.วิ.อ. มาตรา 46 บัญญัติว่า "ในการพิพากษาคดีส่วนแพ่ง ศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญา" อันมีความหมายว่าคำพิพากษาในส่วนอาญานั้นต้องถึงที่สุดแล้วและเป็นคู่ความเดียวกัน ทั้งข้อเท็จจริงที่คดีส่วนแพ่งจะต้องถือตามนั้นต้องเป็นข้อเท็จจริงอันเป็นประเด็นโดยตรงในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาด้วย เมื่อปรากฏว่าคำพิพากษาในคดีอาญาถึงที่สุดและโจทก์กับจำเลยต่างเป็นคู่ความเดียวกัน จึงต้องพิจารณาเพียงว่าคำวินิจฉัยเกี่ยวกับข้อเท็จจริงในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาเป็นประเด็นโดยตรงกับคดีนี้หรือไม่ ซึ่งในคดีอาญาดังกล่าวทั้งสามศาลต่างพิพากษายกฟ้องโจทก์ในความผิดฐานปลอมเอกสารสิทธิและใช้เอกสารสิทธิปลอม โดยคำพิพากษาในคดีส่วนอาญาของทั้งสามศาลต่างวินิจฉัยในประเด็นโดยตรงแห่งคดีเช่นเดียวกับคดีนี้ แม้จะมีรายละเอียดของการให้เหตุผลแตกต่างไปบ้างก็สืบเนื่องมาจากการวินิจฉัยตามข้ออุทธรณ์และข้อฎีกาของโจทก์ แต่ผลสุดท้ายแห่งคดีคือยกฟ้องโจทก์ในความผิดฐานปลอมและใช้เอกสารสิทธิปลอม อันเกิดจากการฟังข้อนำสืบพยานหลักฐานของทั้งสองฝ่าย ดังนั้น ในการพิพากษาคดีนี้ย่อมต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีอาญาว่าจำเลยมิได้กระทำละเมิดต่อโจทก์โดยการปลอมเช็คและใช้เช็คปลอม