คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
ฐานันท์ วรรณโกวิท

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 198 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1089/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การนับโทษต่อเมื่อคดีเดิมยังไม่ถึงที่สุด ศาลฎีกาพิพากษายืนว่าชอบแล้ว
เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติได้ว่าจำเลยเป็นบุคคลเดียวกับจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 964/2546 ของศาลชั้นต้น ซึ่งศาลพิพากษาให้จำคุก 4 ปี 6 เดือน จำเลยยังต้องถูกบังคับตามคำพิพากษาอยู่ แม้คดีดังกล่าวจะยังไม่ถึงที่สุดและอยู่ในระหว่างอุทธรณ์ ก็ไม่ใช่เหตุที่จะนำมานับโทษจำคุกต่อไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 991/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การมีอาวุธปืนของผู้อื่นโดยไม่ได้รับอนุญาตและการพาอาวุธปืนในที่สาธารณะ ศาลลดโทษและไม่ริบอาวุธปืนที่ถูกกฎหมาย
อาวุธปืนพกออโตเมติกของกลาง ซึ่งเป็นอาวุธปืนที่มีใบอนุญาตให้มีและใช้นั้นเป็นของบิดาจำเลยโดยถูกต้อง ความผิดของจำเลยอยู่ที่การมีอาวุธปืนของผู้อื่นไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต และพาอาวุธปืนดังกล่าวไปในเมือง หมู่บ้านและทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ซึ่งเป็นความผิดเฉพาะตัว อาวุธปืนของกลางดังกล่าวจึงไม่ใช่ทรัพย์สินที่มีไว้เป็นความผิดอันจะต้องริบ ทั้งไม่ปรากฎว่าเป็นทรัพย์สินซึ่งได้ใช้หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิด หรือได้มาโดยได้กระทำความผิด จึงไม่อาจริบได้ตาม ป.อ. มาตรา 32, 33

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 920/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การนับอายุความคดีเช็ค: เริ่มนับวันรุ่งขึ้นตามหลักกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
กฎหมายอาญาไม่ได้บัญญัติถึงวิธีการกำหนดนับระยะเวลาอายุความคดีอาญาไว้โดยเฉพาะ ดังนั้น การนับระยะเวลาอายุความคดีอาญาจึงอยู่ในบังคับของหลักทั่วไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/3 วรรคสอง ซึ่งกำหนดมิให้นับวันแรกแห่งระยะเวลานั้นรวมเข้าด้วยกัน จึงเริ่มนับอายุความในวันรุ่งขึ้น คดีนี้ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คฉบับแรก เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2539 การนับอายุความต้องเริ่มนับตั้งแต่วันที่ 21 พฤศจิกายน 2539 และจะครบกำหนด 3 เดือน วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2540 เมื่อโจทก์ฟ้องจำเลยวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2540 ซึ่งเป็นวันครบกำหนดอายุความวันสุดท้าย คดีโจทก์ตามเช็คฉบับแรกจึงไม่ขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 737/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดฐานมีไม้แปรรูปและไม้หวงห้าม การแยกความผิดหลายกรรมต่างกัน และการพิจารณาโทษ
การกระทำความผิดฐานร่วมกันมีไม้หวงห้ามที่ยังมิได้แปรรูปโดยไม่มีรอยตราค่าภาคหลวงหรือรอยตรารัฐบาลขายและโดยพิสูจน์ไม่ได้ว่าได้ไม้นั้นมาโดยชอบด้วยกฎหมายเป็นความผิดตามมาตรา 69 แห่ง พ.ร.บ.ป่าไม้ฯ กระทงหนึ่งส่วนความผิดฐานมีไม้แปรรูปเกิน 0.20 ลูกบาศก์เมตร โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นความผิดตามมาตรา 48 ซึ่งมีโทษตามมาตรา 73 แห่ง พ.ร.บ. เดียวกันอีกระทงหนึ่ง หาใช่เป็นความผิดในบทบัญญัติเดียวกันไม่ เมื่อ ป.อ. มาตรา 91 ซึ่งบัญญัติถึงการกระทำความผิดหลายกรรมมิได้บัญญัติว่าการกระทำความผิดหลายกรรมจะเกิดขึ้นในวาระเดียวกันไม่ได้ ทั้งการที่กฎหมายบัญญัติบทความผิดและบทลงโทษไว้คนละมาตราย่อมเห็นเจตนารมณ์ของกฎหมายได้ว่ามีความประสงค์จะแยกความผิด 2 ฐานนี้ออกจากกัน ดังนั้น แม้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 จะมีไม้แปรรูปและไม้หวงห้ามที่ยังไม่ได้แปรรูปดังกล่าวไว้ในครอบครองในคราวเดียวกัน ก็เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน
คำฟ้องโจทก์ได้บรรยายไว้ชัดแจ้งแล้วว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ร่วมกันมีไม้หวงห้ามซึ่งยังไม่ได้แปรรูปไว้ในครอบครองโดยไม้เหล่านี้ไม่มีรอยตราค่าภาคหลวงหรือรอยตรารัฐบาลขายและภายหลังร่วมกันแปรรูปไม้แล้วจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ร่วมกันมีไม้แปรรูปไว้ในครอบครอง แม้จะบรรยายถึงมูลเหตุจูงใจของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ด้วยว่า การทำไม้และแปรรูปไม้ดังกล่าว เป็นการกระทำตามที่ได้รับการใช้จ้างวานจากจำเลยที่ 6 ก็ไม่ได้หมายความว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 จะไม่สามารถเป็นตัวการร่วมกันกระทำความผิดในฐานดังกล่าวได้ เพราะไม่ว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 จะมีมูลเหตุจูงใจอย่างไรก็ไม่เป็นเหตุให้การกระทำที่ครบองค์ประกอบความผิดแล้วกลับกลายเป็นเพียงผู้สนับสนุนได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 680/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การข่มขืนใจเรียกค่าไถ่ทรัพย์สินต่างกรรมต่างวาระ แม้กระทำในวันเดียวกันและวิธีเดียวกัน ไม่เป็นฟ้องซ้ำ
แม้จำเลยข่มขืนใจผู้เสียหายคดีนี้กับผู้เสียหายอื่นในคดีก่อนในวันเดียวกันใช้วิธีการอย่างเดียวกัน และสถานที่เกิดเหตุเดียวกันก็ตาม แต่จำเลยได้กระทำต่อผู้เสียหายต่างรายกันและเรียกค่าไถ่ทรัพย์สินจากผู้เสียหายแต่ละรายมากน้อยแตกต่างกัน ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับทรัพย์สินของผู้เสียหายแต่ละคนที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ แสดงให้เห็นเจตนาของจำเลยได้ชัดว่า จำเลยมีเจตนาแยกการกระทำของตนเป็นหลายกรรมต่างกัน ถือว่าจำเลยกระทำการหลายกรรมต่างกัน การกระทำของจำเลยคดีนี้จึงเป็นคนละกรรมต่างกันกับการกระทำของจำเลยในคดีก่อนของศาลชั้นต้นที่มีคำพิพากษายกฟ้องและคดีถึงที่สุดแล้ว ฟ้องโจทก์คดีนี้ไม่เป็นฟ้องซ้ำกับคดีดังกล่าว สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์จึงไม่ระงับไป ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (4)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 663/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เหตุสุดวิสัยในการขยายระยะเวลาอุทธรณ์: การจราจรติดขัดไม่ใช่เหตุสุดวิสัยที่คาดหมายไม่ได้
ครบกำหนดอุทธรณ์วันที่ 3 มิถุนายน 2548 จำเลยยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ 30 วัน ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ขยายระยะเวลาถึงวันที่ 17 มิถุนายน 2548 ซึ่งตรงกับวันศุกร์ จำเลยมีทนายความและรูปคดีไม่มีข้อยุ่งยากสลับซับซ้อน ย่อมสามารถยื่นอุทธรณ์ต่อศาลได้ภายในกำหนดระยะเวลาดังกล่าว แต่จำเลยหาได้ยื่นอุทธรณ์ไม่ การที่ทนายจำเลยยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ในวันที่ 20 มิถุนายน 2548 ขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ไปอีก 3 วัน โดยอ้างว่า ทนายจำเลยนำอุทธรณ์ไปยื่นต่อศาลชั้นต้นแต่ระหว่างทางการจราจรติดขัดเนื่องจากมีการก่อสร้างสะพานใหม่และมีรถเฉี่ยวชนกัน ทำให้ทนายจำเลยเดินทางไปถึงศาลชั้นต้นเลยเวลาทำการไปเกือบ 30 นาที และไม่สามารถยื่นอุทธรณ์ได้ทันกำหนดนั้น ล้วนเป็นเหตุที่สามารถป้องกันและคาดหมายได้ล่วงหน้า กรณีมิใช่เหตุสุดวิสัยตาม ป.พ.พ. มาตรา 8 ที่จำเลยจะขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 548/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การปรับโทษตามกฎหมายใหม่หลังคดีถึงที่สุด ต้องพิจารณาโทษจำคุกขั้นสูง
ตาม ป.อ. มาตรา 3 บัญญัติว่า "ถ้ากฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดแตกต่างกับกฎหมายที่ใช้ในภายหลังการกระทำความผิด ให้ใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณแก่ผู้กระทำความผิดไม่ว่าในทางใด เว้นแต่คดีถึงที่สุดแล้ว แต่ในกรณีที่คดีถึงที่สุดแล้วดังต่อไปนี้ (1) ถ้าผู้กระทำความผิดยังไม่ได้รับโทษ หรือกำลังรับโทษอยู่และโทษที่กำหนดตามคำพิพากษาหนักกว่าโทษที่กำหนดตามกฎหมายที่บัญญัติในภายหลัง... ให้ศาลกำหนดโทษเสียใหม่ตามกฎหมายที่บัญญัติในภายหลัง..." คำว่าโทษที่กำหนดตามกฎหมายที่บัญญัติในภายหลังตาม ป.อ. มาตรา 3 (1) นั้น หมายถึงโทษจำคุกขั้นสูงตามกฎหมายที่บัญญัติในภายหลัง คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุก 20 ปี แต่โทษจำคุกตามคำพิพากษาก็ยังต่ำกว่าโทษขั้นสูงตามกฎหมายที่บัญญัติในภายหลังที่วางโทษจำคุกตลอดชีวิต จึงถือไม่ได้ว่าโทษจำคุกตามคำพิพากษาหนักกว่าโทษจำคุกตามกฎหมายที่บัญญัติในภายหลัง ไม่ต้องด้วย ป.อ. มาตรา 3 (1) ที่ศาลจะกำหนดโทษใหม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 394/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อพิพาทซื้อขายสินค้าข้ามชาติ การพิสูจน์การสั่งซื้อและรับสินค้า การผิดนัดชำระหนี้ และการยกข้อต่อสู้ใหม่ในชั้นอุทธรณ์
จำเลยเป็นหนี้ค่าซื้อสินค้าจากโจทก์ เมื่อหนี้ถึงกำหนด จำเลยไม่ชำระหนี้ ถือว่าตกเป็นผู้ผิดนัด จำเลยมีหน้าที่ชำระเงินพร้อมค่าเสียหายเป็นดอกเบี้ย ที่จำเลยอุทธรณ์ว่า จำเลยไม่เคยได้รับหนังสือบอกกล่าวทวงถาม โจทก์บอกกล่าวทวงถามไม่ชอบ จำเลยจึงไม่ตกเป็นผู้ผิดนัด เป็นข้อที่จำเลยมิได้ให้การไว้เพิ่งยกขึ้นกล่าวอ้างในชั้นอุทธรณ์ จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 393/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ หนังสือรับสภาพหนี้ไม่ถือเป็นการแปลงหนี้ใหม่หรือยกเลิกค้ำประกัน ผู้ค้ำประกันยังคงต้องรับผิดตามสัญญาเดิม
หนังสือสัญญารับสภาพหนี้ที่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกหนี้ทำให้ไว้แก่โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้เป็นเพียงการยอมรับว่าเป็นหนี้โจทก์และจะชำระหนี้ มิได้เป็นการยกเลิกหลักประกันหรือการค้ำประกัน หรือเป็นการแปลงหนี้ใหม่อันจะมีผลให้หนี้เดิมระงับไป เมื่อจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมในหนี้ของจำเลยที่ 1 จึงยังคงต้องรับผิดต่อโจทก์ตามสัญญาค้ำประกัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 393/2550 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาค้ำประกันยังคงมีผล แม้มีการทำสัญญารับสภาพหนี้ใหม่ ไม่ถือเป็นการยกเลิกหรือแปลงหนี้
จำเลยที่ 1 เป็นหนี้โจทก์ตามคำขอเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตและสัญญาทรัสต์รีซีท โดยมีจำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกัน แม้ต่อมาจำเลยที่ 1 ทำหนังสือสัญญารับสภาพหนี้ต่อโจทก์ และไม่ได้มีการค้ำประกันในหนังสือสัญญารับสภาพหนี้ หนังสือสัญญารับสภาพหนี้ดังกล่าวเป็นเพียงการยอมรับว่าเป็นหนี้โจทก์และจะชำระหนี้ มิได้เป็นการยกเลิกหลักประกันหรือการค้ำประกัน หรือเป็นการแปลงหนี้ใหม่อันจะมีผลให้หนี้เดิมระงับไป เมื่อจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมในหนี้ของจำเลยที่ 1 จึงยังคงต้องรับผิดต่อโจทก์ตามสัญญาค้ำประกันดังกล่าว
of 20