คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
ปกรณ์ สุวรรณพรหมา

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 47 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6609/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกจ้างลูกจ้างกรณีฝ่าฝืนระเบียบอย่างร้ายแรง: นายจ้างมีสิทธิเลิกจ้างโดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย
การที่โจทก์ให้ ณ. เปิดบัญชีเงินฝากกระแสรายวันกับธนาคารจำเลย สาขาพาราไดซ์ พาร์ค และเปิดบัญชีเงินฝากกระแสรายวันกับธนาคาร ท. สาขาหนึ่งพัน โดยโจทก์ออกค่าใช้จ่ายให้จากนั้นให้ ณ. สั่งจ่ายเช็คธนาคาร ท. จำนวนเงิน 50,000,000 บาท ให้ตนเองแล้วโจทก์นำเช็คดังกล่าวเรียกเก็บเงินที่ธนาคารจำเลย สาขาซีคอนสแควร์ เพื่อเข้าบัญชีของ ณ. ที่ธนาคารจำเลยสาขาพาราไดซ์ พาร์ค ทั้งที่โจทก์รู้อยู่แล้วว่าเงินในบัญชีของ ณ. ไม่พอจ่ายตามเช็คและยังกระทำในลักษณะเดียวกันนี้อีกสามครั้งโดยมีเจตนาเพื่อเพิ่มยอดเงินฝากของธนาคารจำเลย สาขาพาราไดซ์ พาร์ค อันเป็นการสร้างผลงาน (KPI) ของโจทก์ ถือได้ว่าเป็นการกระทำที่ไม่ซื่อสัตย์สุจริตทำให้ตนเองได้รับประโยชน์ว่าสามารถดำเนินงานได้ตามเป้าหมาย การกระทำของโจทก์ส่งผลให้จำนวนเงินที่จำเลยรับฝากผิดไปจากความเป็นจริงทำให้การแปลผลการประกอบการของจำเลยไม่ตรงความจริงตามไปด้วย ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของตลาดเงิน จำเลยประกอบกิจการธนาคารพาณิชย์ซึ่งต้องอาศัยความเชื่อถือไว้วางใจจากประชาชนเป็นสำคัญ การกระทำดังกล่าวอาจทำให้จำเลยขาดความเชื่อถือไว้วางใจในการประกอบธุรกิจส่งผลให้เกิดความเสียหายร้ายแรงได้ เป็นการกระทำฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานที่ระบุไว้ว่าพนักงานต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต พนักงานผู้ใดปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือโดยทุจริตเพื่อให้ตนเองหรือผู้อื่นได้ประโยชน์อันมิควรได้เป็นการทุจริตต่อหน้าที่และผิดวินัยอย่างร้ายแรง และที่ระบุไว้ว่าพนักงานผู้ใดจงใจในการปฏิบัติหน้าที่ ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ฝ่าฝืนระเบียบ ข้อบังคับของธนาคารอาจเป็นเหตุให้ธนาคารได้รับความเสียหายถือเป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง อีกทั้งการที่โจทก์มอบรหัสประจำตำแหน่ง (Password) ของตนเองให้ ว. เพื่อใช้อนุมัติรายการนำฝากเช็คดังกล่าวเข้าบัญชีนั้น โจทก์เป็นผู้จัดการสาขา รหัสประจำตำแหน่ง (Password) ของโจทก์สามารถใช้ทำธุรกรรมการเงินของสาขาได้ทั้งหมด ซึ่งเสี่ยงต่อการเกิดความเสียหายทางการเงินสูงมาก การกระทำดังกล่าวเป็นการฝ่าฝืนระเบียบการปฏิบัติงานประจำวันของสำนัก/สาขา ที่ระบุไว้ว่าห้ามบอกกล่าวหรือแสดงสัญลักษณ์ใด ๆ อันทำให้ผู้อื่นล่วงรู้ User ID และ Password ของตนเอง มิฉะนั้นจะถือว่ามีความผิดอย่างร้ายแรง และที่ระบุไว้ว่าในระหว่างวันทำการ หากเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติหน้าที่ใด ๆ มีความจำเป็น ต้องมอบหมายงานให้เจ้าหน้าที่ท่านอื่นปฏิบัติงานแทน ห้ามมอบหมาย Password ของตนเองอย่างเด็ดขาด การกระทำของโจทก์ทั้งสองกรณีเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน ระเบียบ หรือคำสั่งของจำเลยอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรมกรณีที่ร้ายแรงแล้ว ดังนั้น การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ด้วยเหตุดังกล่าวจึงเป็นการเลิกจ้างโดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 วรรคหนึ่ง (4)
ในการพิจารณาว่าโจทก์มีสิทธิได้รับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าหรือไม่นั้น ต้องพิจารณาตาม ป.พ.พ. มาตรา 583 และ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 17 มิใช่พิจารณาว่าหากการเลิกจ้างโจทก์เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมแล้ว โจทก์ก็มีสิทธิได้รับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจากจำเลยดังที่โจทก์อ้าง เมื่อโจทก์ฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน ระเบียบ หรือคำสั่งของจำเลยอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรมกรณีร้ายแรงแล้ว โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าตาม ป.พ.พ. มาตรา 583 และ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 17 วรรคสี่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6413/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อมูลยาเสพติดที่จำเลยให้ไม่เป็นประโยชน์ต่อการขยายผลจับกุมผู้กระทำผิด และการยกข้อเท็จจริงใหม่ในชั้นอุทธรณ์
ร้อยตำรวจโท ส. และร้อยตำรวจเอก ว. ผู้ร่วมจับกุมจำเลยทั้งสองเบิกความเป็นพยานโจทก์ประกอบคำรับสารภาพของจำเลยทั้งสองว่า ชั้นจับกุมจำเลยที่ 1 อ้างว่าได้รับเมทแอมเฟตามีนมาจาก ว. แล้วได้แจ้งหมายเลขโทรศัพท์ไว้ แต่จำเลยทั้งสองไม่ได้แจ้งที่อยู่ ว. และไม่ได้พาเจ้าพนักงานตำรวจไปจับกุม ว. แต่อย่างใด ดังนั้น ข้อมูลที่จำเลยที่ 1 ให้การในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนจึงไม่อาจรับฟังได้ว่าเป็นข้อมูลที่มีการขยายผลจนสามารถยึดเมทแอมเฟตามีนหรือจับกุมผู้กระทำความผิดได้ ทั้งยังไม่เป็นข้อมูลที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษ
ตามสำเนาบันทึกการจับกุม เจ้าพนักงานตำรวจจับกุม ท. พร้อมยึดเมทแอมเฟตามีน 5,967 เม็ด เป็นของกลางโดยการใช้สายลับล่อซื้อภายหลังจากที่ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 แล้ว ทั้งข้อเท็จจริงในการจับกุม ท. ก็ไม่ปรากฏในทางนำสืบของพยานโจทก์และคำให้การของจำเลยที่ 1 ในระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น จำเลยที่ 1 เพิ่งยกข้อเท็จจริงดังกล่าวนี้อ้างในชั้นอุทธรณ์จึงถือว่าเป็นข้อเท็จจริงที่มิได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 และ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2550 มาตรา 3

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5712/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกจ้างลูกจ้างโดยไม่ชอบธรรมในช่วงข้อตกลงสภาพการจ้างมีผลบังคับ แม้ไม่มีความจำเป็นเพียงพอ
พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 123 บัญญัติห้ามไม่ให้นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างซึ่งเกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้องในระหว่างที่ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างหรือคำชี้ขาดมีผลใช้บังคับ เว้นแต่ลูกจ้างกระทำความผิดตามที่ระบุไว้ใน (1) ถึง (5) ทั้งนี้ เพื่อประสงค์จะคุ้มครองลูกจ้างมิให้ถูกเลิกจ้างระหว่างที่ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างมีผลบังคับ
จำเลยร่วมเป็นพนักงานป้อนข้อมูลของโจทก์และเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานซึ่งเกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้อง โจทก์เลิกจ้างจำเลยร่วมเพราะโจทก์ยุบแผนกคลังสินค้าสำเร็จรูปเพื่อใช้เป็นพื้นที่ขยายกำลังผลิตและว่าจ้างบุคคลภายนอกมาบริหารจัดการแผนกคลังสินค้าสำเร็จรูปที่จำเลยร่วมทำงานอยู่แทน เพื่อประโยชน์ในการประกอบกิจการของโจทก์เอง จำเลยร่วมเป็นเพียงพนักงานบันทึกข้อมูล เป็นลูกจ้างที่ไม่ต้องใช้ฝีมือหรือความรู้เชี่ยวชาญมาก ซึ่งโจทก์ก็เคยใช้วิธีการสับเปลี่ยนลูกจ้างป้อนข้อมูลลักษณะแบบเดียวกับจำเลยร่วมไปทำงานแผนกอื่นโดยไม่ต้องเลิกจ้างมาแล้ว การเลิกจ้างจำเลยร่วมจึงเป็นกรณีไม่มีความจำเป็นเพียงพอ เป็นการฝ่าฝืน พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 123

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5095/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมและการโอนกรรมสิทธิ์: การคุ้มครองผู้เช่าเมื่อเจ้าของที่ดินเปลี่ยนมือ
จำเลยที่ 3 เช่าที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 633 และ 23993 ตำบลโคกแฝด อำเภอหนองจอก (แสนแสบ) กรุงเทพมหานคร บางส่วนจากบริษัท อ. ทำนาปลูกข้าวเป็นระยะเวลาประมาณ 30 ปี ก่อนที่โจทก์จะได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท ต่อมาวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2550 บริษัท อ. โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทให้แก่บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย และวันที่ 5 ตุลาคม 2555 บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทยโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ จำเลยที่ 3 จึงได้รับประโยชน์จาก พ.ร.บ.การเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2524 มาตรา 28 เรื่องการเช่านาย่อมไม่ระงับไปเพราะเหตุโอนกรรมสิทธิ์นาที่เช่า ผู้รับโอนต้องรับไปทั้งสิทธิและหน้าที่ของผู้โอนที่มีต่อผู้เช่านา และแม้ตามมาตรา 30 (4) เรื่องการเช่านาอาจสิ้นสุดก่อนกำหนดระยะเวลาการเช่านากรณีเมื่อนาที่เช่าถูกเวนคืนตามกฎหมายหรือโอนไปเป็นของรัฐด้วยประการอื่น แต่โจทก์เป็นหน่วยงานของรัฐที่รับโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทจากบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทยเพื่อบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ มิใช่รับโอนที่ดินพิพาทมาเป็นของหน่วยงานของรัฐเพื่อเป็นผู้ให้เช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมตามมาตรา 4 จึงไม่ได้รับยกเว้นตามกฎหมายดังกล่าว สิทธิการเช่านาของจำเลยที่ 3 ยังไม่สิ้นสุดลงตามมาตรา 30 (4) เมื่อก่อนฟ้องคดีนี้โจทก์ยังไม่ได้ดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายโดยการบอกเลิกการเช่านา โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 3

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4032/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ โบนัสเป็นสิทธิที่เกิดจากข้อตกลง นายจ้างมีสิทธิกำหนดเงื่อนไขการจ่ายได้ หากหลักเกณฑ์ชัดเจนและไม่เอาเปรียบ
เงินโบนัสไม่มีกฎหมายบังคับว่านายจ้างต้องจ่ายเสมอไป หลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการจ่ายเงินโบนัสหรือสิทธิที่ลูกจ้างจะได้รับเงินโบนัส จึงต้องเป็นไปตามข้อตกลงระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างนั้น จำเลยมีประกาศ เรื่อง เงินโบนัสประจำปี 2557 กำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการจ่ายเงินโบนัสว่า "1.2 กำหนดเวลาการจ่ายเงินโบนัสประจำปี 2557 ในวันพฤหัสบดีที่ 19 กุมภาพันธ์ 2558..." และ "1.4 พนักงานจะต้องมีสถานภาพจนถึงวันที่จ่ายโบนัสประจำปี" โจทก์รับทราบหลักเกณฑ์และเงื่อนไขดังกล่าวตลอดมา การที่จำเลยกำหนดให้มีการจ่ายเงินโบนัสแก่ลูกจ้างก็เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจให้แก่ลูกจ้าง ตอบแทนการทำงานที่ผ่านมา และจูงใจให้ลูกจ้างทำงานให้จำเลยต่อไป หลักเกณฑ์และเงื่อนไขการจ่ายเงินโบนัสประจำปี 2557 จึงเป็นไปตามหลักการบริหารองค์กรโดยทั่วไป ไม่เป็นการเอาเปรียบหรือเลือกปฏิบัติต่อโจทก์ ทั้งมีข้อกำหนดถึงคุณสมบัติของลูกจ้างที่มีสิทธิได้รับเงินโบนัสไว้ชัดแจ้งแล้ว จึงใช้บังคับได้และผูกพันโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3464/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาค้ำประกันครอบคลุมความเสียหายจากตำแหน่งงานที่เปลี่ยนไป ผู้ค้ำประกันต้องรับผิดร่วมกับลูกหนี้
ตามสัญญาค้ำประกันรับรองความเสียหายที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ทำไว้กับโจทก์เพื่อค้ำประกันการทำงานของจำเลยที่ 1 นั้น มีข้อความระบุว่า "ข้าพเจ้าจึงตกลงยินยอมเข้าเป็นผู้ค้ำประกันรับรองความเสียหาย...และข้าพเจ้าทำสัญญานี้...ด้วยความสมัครใจ มีผลผูกพันข้าพเจ้าตามกฎหมายในฐานะเป็นลูกหนี้ร่วมกับผู้ที่ข้าพเจ้าค้ำประกัน" และในข้อ 1 ระบุว่า "ในระหว่างเวลาที่บุคคลที่ข้าพเจ้าค้ำประกันปฏิบัติงานอยู่กับบริษัท ฯ ผูกพันตามสัญญาว่าจ้างหรือสัญญาแต่งตั้งผู้ขาย...หรือตำแหน่งหน้าที่การงานที่บริษัท รับไว้ในชั้นต้นหรือในตำแหน่งหน้าที่การงานที่เปลี่ยนไปในภายหน้าหากบุคคลที่ข้าพเจ้าค้ำประกันได้กระทำ หรือละเว้นกระทำ...เป็นเหตุให้บริษัท ฯ ได้รับความเสียหาย..." กรณีถือได้ว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 ยอมผูกพันตนต่อโจทก์เพื่อชำระหนี้ที่จำเลยที่ 1 ก่อให้เกิดความเสียหายสำหรับการทำงานในตำแหน่งที่ระบุไว้ในขณะทำสัญญาค้ำประกันและในตำแหน่งงานที่เปลี่ยนไปในอนาคตอย่างลูกหนี้ร่วม ซึ่งความเสียหายดังกล่าวเกิดขึ้นขณะจำเลยที่ 1 ทำงานในตำแหน่งผู้จัดการร้าน สาขาบัวขาว เมื่อปี 2549 แม้ตำแหน่งหน้าที่ของจำเลยที่ 1 จะสูงขึ้นและมีความรับผิดชอบมากขึ้นก็ตาม แต่มิได้อยู่นอกเหนือความตกลงของสัญญาค้ำประกันประกอบกับจำเลยที่ 1 ยังคงมีหน้าที่ในการขายสินค้าและเก็บเงินค่าสินค้านำส่งโจทก์ จำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงต้องร่วมรับผิดชำระหนี้ในความเสียหายที่จำเลยที่ 1 ก่อขึ้นต่อโจทก์อย่างลูกหนี้ร่วมตามสัญญาค้ำประกัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3393-3394/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาจ้างหมดอายุ-คุ้มครองกรรมการลูกจ้าง: นายจ้างไม่ต้องขออนุญาตเลิกจ้างหากสัญญาหมดอายุตามกำหนด
โจทก์ทั้งสองทำสัญญาจ้างกับจำเลยโดยมีระยะเวลาการทำงาน 10 เดือน เมื่อครบกำหนดระยะเวลาจำเลยจะจ่ายค่าชดเชยตามระยะเวลาการทำงานให้แก่โจทก์ทั้งสองและเรียกให้โจทก์ทั้งสองมาทำสัญญาจ้างแรงงานฉบับใหม่ สัญญาจ้างแรงงานระหว่างโจทก์ทั้งสองกับจำเลยจึงมีกำหนดระยะเวลาสิ้นสุดตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ในสัญญาแต่ละคราว การที่ในระหว่างสัญญาจ้างสหภาพแรงงานรถยนต์มิตซูบิชิแห่งประเทศไทยมีมติแต่งตั้งให้โจทก์ทั้งสองเป็นกรรมการลูกจ้างในวันที่ 6 พฤษภาคม 2557 นั้น โจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นกรรมการลูกจ้างย่อมได้รับความคุ้มครองตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 52 ในการห้ามมิให้นายจ้างเลิกจ้าง ลดค่าจ้าง ลงโทษ หรือขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของกรรมการลูกจ้าง หรือกระทำการใด ๆ อันอาจเป็นผลให้กรรมการลูกจ้างไม่สามารถทำงานอยู่ต่อไปได้ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาลแรงงาน แต่การที่จำเลยไม่ต่อสัญญาจ้างฉบับใหม่กับโจทก์ทั้งสองถือเป็นกรณีระยะเวลาตามสัญญาจ้างสิ้นสุดลงอันส่งผลให้สัญญาจ้างระหว่างโจทก์ทั้งสองกับจำเลยต้องเลิกกันตามผลของสัญญา ทั้งไม่ปรากฏว่า จำเลยกลั่นแกล้งไม่ต่ออายุสัญญาจ้างให้แก่โจทก์ทั้งสอง กรณีจึงไม่อยู่ในบังคับที่จำเลยจะต้องได้รับอนุญาตจากศาลแรงงานก่อนตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 52 และไม่จำต้องรับโจทก์ทั้งสองกลับเข้าทำงาน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2438/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การลดโทษตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดฯ ต้องมีข้อมูลให้การช่วยเหลือตั้งแต่ชั้นจับกุม-สอบสวน หากยกขึ้นในชั้นอุทธรณ์ถือเป็นข้อที่มิได้ว่ากล่าวกันมาแล้ว
แม้ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 100/2 ที่ให้อำนาจศาลลงโทษผู้กระทำความผิดที่ได้ให้ข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษน้อยกว่าอัตราโทษขั้นต่ำจะเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ที่ศาลมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยแม้ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้นก็ตาม แต่ต้องเป็นข้อเท็จจริงที่ปรากฏว่ามีการนำสืบกันมาแล้วในศาลชั้นต้นตามประเด็นแห่งคดี เมื่อได้ความว่า โจทก์จำเลยไม่เคยนำสืบถึงข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ไว้แล้วในศาลชั้นต้น แต่เป็นข้อที่จำเลยพึ่งจะยกขึ้นอ้างในชั้นอุทธรณ์ และศาลอุทธรณ์มีคำสั่งให้ศาลชั้นต้นไต่สวนข้อเท็จจริงก็ตาม ก็ถือไม่ได้ว่าข้อเท็จจริงนี้ได้ว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบ ข้อเท็จจริงดังกล่าวจึงต้องห้ามอุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 และ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3 ที่ศาลอุทธรณ์รับวินิจฉัยข้อเท็จจริงดังกล่าวจึงไม่ชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1688/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความชอบธรรมของรัฐธรรมนูญชั่วคราวหลังรัฐประหาร และผลกระทบต่อความรับผิดทางอาญา
สภาพความเป็นรัฐของรัฐใดรัฐหนึ่งนั้นจะต้องประกอบไปด้วยดินแดนที่มีอาณาเขตแน่นอน และมีประชากรอาศัยอยู่ในดินแดนนั้นโดยมีรัฐบาลปกครอง และมีอธิปไตยเป็นของตนเอง ประการสำคัญการตีความกฎหมายต้องตีความในเชิงให้เกิดผลบังคับได้ และต้องเป็นการตีความในลักษณะที่เป็นประโยชน์ต่อเจตนารมณ์แห่งความธำรงอยู่ของความเป็นรัฐหรือชาติบ้านเมืองด้วย มิฉะนั้นสถานะความเป็นรัฐหรือความเป็นชาติบ้านเมืองจะถูกกระทบให้เสียหายไปเพราะไม่มีอธิปไตยอยู่ครบถ้วน เมื่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติยึดอำนาจการปกครองแผ่นดินจากรัฐบาลรักษาการได้อย่างเบ็ดเสร็จ และประกาศให้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาญาจักรไทยพุทธศักราช 2550 คณะรัฐมนตรี และวุฒิสภาสิ้นสุดลง ประเทศไทยในขณะนั้นจึงไม่มีหน่วยงานใดที่จะทำหน้าที่ในทางนิติบัญญัติ แต่มีคณะรักษาความสงบแห่งชาติเข้ามาใช้อำนาจรัฏฐาธิปัตย์แทน ซึ่งแม้การได้มาซึ่งอำนาจนั้นจะเป็นวิธีการที่ไม่เป็นไปตามครรลองของระบอบประชาธิปไตย และจะมีความชอบธรรมในการได้มาซึ่งอำนาจหรือไม่ก็เป็นกรณีที่ต้องไปว่ากล่าวกันในด้านอื่น แต่คณะรักษาความสงบแห่งชาติก็ยังมีอำนาจในเชิงข้อเท็จจริงว่าเป็นคณะบุคคลที่ใช้อำนาจบริหารและนิติบัญญัติโดยควบคุมกลไกและหน่วยงานของรัฐได้ ดังนั้น รัฐธรรมนูญแห่งราชอาญาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 ที่บัญญัติโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติจึงมีสภาพเป็นกฎหมาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 667/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การประชุมนิติบุคคลอาคารชุด การถอดถอนกรรมการและผู้จัดการ การแต่งตั้งใหม่ และอำนาจฟ้องจำเลย
ไม่มีกฎหมายใดกำหนดให้สำนักงานที่ดินจังหวัดเชียงใหม่มีฐานะเป็นนิติบุคคล โจทก์ทั้งสองจึงไม่อาจฟ้องจำเลยที่ 4 เป็นจำเลยได้ และไม่จำต้องวินิจฉัยถึงจำเลยที่ 5 ซึ่งเป็นตัวแทนว่าจะต้องรับผิดด้วยหรือไม่
มติที่ประชุมใหญ่วิสามัญครั้งที่ 1/2557 ของนิติบุคคลอาคารชุด ช. ที่ลงมติถอดถอนโจทก์ที่ 1 ให้พ้นจากตำแหน่งกรรมการและรักษาการผู้จัดการนิติบุคคลอาคารชุด และลงมติถอดถอนโจทก์ที่ 2 ให้พ้นจากตำแหน่งกรรมการนิติบุคคลอาคารชุด นั้น ตาม พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 มาตรา 42/2 (3) ไม่ได้กำหนดให้เจ้าของร่วมต้องลงลายมือชื่อแต่งตั้งตัวแทนในการร้องขอเปิดประชุม แต่บัญญัติให้เจ้าของร่วมไม่น้อยกว่าร้อยละยี่สิบของคะแนนเสียงเจ้าของร่วมทั้งหมดมีสิทธิจัดให้มีการประชุมใหญ่วิสามัญเองได้ โดยให้แต่งตั้งตัวแทนคนหนึ่งเพื่อออกหนังสือเรียกประชุมเท่านั้น การประชุมใหญ่วิสามัญครั้งนี้ของนิติบุคคลอาคารชุด ช. จึงเป็นการประชุมที่ชอบด้วยกฎหมาย
ส่วนการกำหนดวาระการประชุมเป็นเพียงการกำหนดหัวข้อการประชุมว่ามีเรื่องประชุมอะไรบ้าง และไม่จำเป็นต้องประชุมตามวาระการประชุม เนื่องจากต้องพิจารณาความสำคัญของหัวข้อการประชุมและความเกี่ยวพันกัน ประกอบกับผลการลงคะแนนเสียงได้คะแนนเกินกว่าหนึ่งในสี่ของจำนวนคะแนนเสียงของเจ้าของร่วมทั้งหมดตาม พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 มาตรา 49 ดังนั้น มติเห็นชอบแต่งตั้งให้จำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการนิติบุคคลอาคารชุด และมติถอดถอนโจทก์ทั้งสองให้พ้นจากตำแหน่งดังกล่าวจึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว
of 5