คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.พ.พ. ม. 887 วรรคสอง

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 7 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4904/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบังคับตามคำชี้ขาดอนุญาโตตุลาการที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อย/ศีลธรรม และการคืนค่าขึ้นศาล
การที่คณะอนุญาโตตุลาการมีคำชี้ขาดให้ผู้ร้องชำระค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้คัดค้านเต็มตามวงเงินสูงสุดตามกรมธรรม์ แต่ยังสงวนสิทธิให้ผู้คัดค้านมีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนอีก ย่อมมีผลให้ผู้ร้องต้องรับผิดเกินกว่าความรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัย อันเป็นการขัดต่อ ป.พ.พ. มาตรา 877 วรรคท้าย ที่ห้ามมิให้คิดค่าสินไหมทดแทนเกินไปกว่าจำนวนซึ่งเอาประกันไว้ และ ป.พ.พ. มาตรา 887 วรรคสอง ที่ไม่ให้คิดค่าสินไหมทดแทนเกินไปกว่าจำนวนอันผู้รับประกันภัยจะพึงต้องใช้ตามสัญญา ปัญหาเรื่องการกำหนดความรับผิดเกินกว่าความรับผิดตามกฎหมายอันทำให้ผู้ร้องต้องรับผิดเกินกว่าความรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัยถือเป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน
คดีนี้ระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้นหลังจากรับคำร้องของผู้ร้องแล้ว ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านคำร้องขอเพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ และขอให้บังคับตามคำชี้ขาดโดยในตอนท้ายคำคัดค้าน ขอให้ศาลมีคำพิพากษาบังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ ให้ผู้ร้องจ่ายค่าขาเทียมพร้อมดอกเบี้ยให้แก่ผู้คัดค้าน การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับคำคัดค้านอย่างเดียว โดยยังไม่มีคำสั่งคำร้องของผู้คัดค้าน จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบ อย่างไรก็ตามเมื่อคำชี้ขาดที่ผู้ร้องขอให้เพิกถอนกับคำชี้ขาดที่ผู้คัดค้านขอให้บังคับตามนั้นเป็นคำชี้ขาดฉบับเดียวกันซึ่งคู่ความทั้งสองฝ่ายต่างได้นำสืบพยานหลักฐานของฝ่ายตนจนเสร็จสิ้นแล้วไม่ปรากฏว่ามีคู่ความฝ่ายใดโต้แย้งการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบดังกล่าว และตามอุทธรณ์ของผู้คัดค้านก็มิได้กล่าวอ้างถึงเหตุดังกล่าว คงอุทธรณ์เพียงขอให้กลับคำพิพากษาศาลชั้นต้นยกคำร้องของผู้ร้องและบังคับให้ผู้ร้องปฏิบัติตามคำชี้ขาดในส่วนค่าสินไหมทดแทนในการจัดทำขาเทียมเท่านั้น ทั้งประเด็นที่สำคัญที่ได้โต้แย้งกันในคดีนี้ก็มีเพียงว่าการยอมรับหรือการบังคับตามคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการในส่วนที่สงวนสิทธิให้ผู้คัดค้านมีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนกรณีขาเทียมขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนหรือไม่เท่านั้น กระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบดังกล่าวย่อมไม่ทำให้คู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งต้องเสียเปรียบในทางคดี การที่จะแก้ไขกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบดังกล่าวโดยส่งสำนวนคืนไปยังศาลชั้นต้นเพื่อดำเนินกระบวนพิจารณาให้ถูกต้องแล้วมีคำสั่งหรือคำพิพากษาใหม่จึงไม่เป็นประโยชน์แต่อย่างใด นอกจากจะทำให้ คู่ความต้องเสียเวลามากขึ้น กรณีจึงไม่สมควรแก้ไขกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบดังกล่าวของศาลชั้นต้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4888/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ประกันภัยค้ำจุน: ผู้รับประกันภัยต้องรับผิดชอบความเสียหายที่ผู้เอาประกันภัยต้องรับผิดชอบฐานละเมิด แม้มีการประนีประนอมยอมความ
จำเลยที่ 1 เป็นผู้ทำละเมิดต่อโจทก์และเป็นผู้เอาประกันภัยโดยทำสัญญาประกันภัยค้ำจุนกับจำเลยที่ 2 เพื่อคุ้มครองความรับผิดต่อบุคคลภายนอกรวมถึงความเสียหายต่อชีวิต ร่างกาย หรืออนามัยและทรัพย์สิน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 887 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "อันว่าประกันภัยค้ำจุนนั้นคือสัญญาประกันภัยซึ่งผู้รับประกันภัยตกลงว่าจะใช้ค่าสินไหมทดแทนในนามของผู้เอาประกันภัยเพื่อความวินาศภัยอันเกิดขึ้นแก่บุคคลอีกคนหนึ่งและซึ่งผู้เอาประกันภัยจะต้องรับผิดชอบ" และวรรคสอง บัญญัติว่า "บุคคลผู้ต้องเสียหายชอบที่จะได้รับค่าสินไหมทดแทนตามที่ตนควรจะได้นั้นจากผู้รับประกันภัยโดยตรง แต่ค่าสินไหมทดแทนเช่นว่านี้หาอาจจะคิดเกินไปกว่าจำนวนอันผู้รับประกันภัยจะพึงต้องใช้ตามสัญญานั้นได้ไม่..." มีความหมายว่าบุคคลผู้ต้องเสียหายมีสิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนเพื่อความวินาศภัยอันเกิดขึ้นแก่ตนจากผู้รับประกันภัยโดยตรงและเป็นค่าสินไหมทดแทนที่ผู้เอาประกันภัยต้องรับผิดชอบฐานละเมิด คือจำนวนค่าเสียหายทั้งหมดที่โจทก์ได้รับ และมาตรา 877 บัญญัติว่า "ผู้รับประกันภัยจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนดังจะกล่าวต่อไปนี้ คือ (1) เพื่อจำนวนวินาศภัยแท้จริง..." คำว่า "วินาศภัยอันเกิดขึ้นและซึ่งผู้เอาประกันภัยจะต้องรับผิดชอบ" จึงหมายความว่า เมื่อเกิดวินาศภัยขึ้น ผู้รับประกันภัยต้องรับผิดชอบความเสียหายทั้งหมดที่เกิดขึ้นเพื่อจำนวนวินาศภัยอันแท้จริงแต่ไม่เกินจำนวนเงินที่ระบุในกรมธรรม์ ส่วนผู้เอาประกันภัยต้องรับผิดชอบค่าสินไหมทดแทนในหนี้ละเมิดทั้งหมดที่เกิดขึ้นกับโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 420 ประกอบมาตรา 438 กรณีที่โจทก์และจำเลยที่ 1 ทำสัญญาประนีประนอมยอมความทำให้หนี้ละเมิดระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 ระงับเกิดเป็นหนี้ใหม่ตามสัญญาประนีประนอมยอมความตาม ป.พ.พ. มาตรา 850 และ 852 เป็นเรื่องระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นคู่สัญญา เมื่อจำเลยที่ 2 ไม่ได้เป็นคู่สัญญาประนีประนอมยอมความกับโจทก์ จำเลยที่ 2 จึงยังต้องรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัยที่มีอยู่ก่อนแล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องบังคับให้จำเลยที่ 2 รับผิดค่าเสียหายที่โจทก์ควรได้รับในส่วนที่เหลือ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 500/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ประกันภัยรถยนต์: ความรับผิดของผู้รับประกันภัยแม้ผู้เอาประกันภัยมิได้เป็นผู้ขับขี่
แม้ปัญหาว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่ จะเป็นปัญหาข้อกฎหมายก็ตาม แต่ก็ไม่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยที่ 2 ยกประเด็นดังกล่าวขึ้นต่อสู้ไว้ในคำให้การ เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาว่าฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุม จำเลยที่ 2 ไม่ได้อุทธรณ์หรือแก้อุทธรณ์เพื่อตั้งเป็นประเด็นไว้ จำเลยที่ 2 จึงไม่มีสิทธิยกปัญหาดังกล่าวขึ้นฎีกาได้อีก เพราะถือว่าเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ ต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง
ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์และผู้ครอบครองรถบรรทุกคันเกิดเหตุที่ได้เอาประกันภัยค้ำจุนไว้กับจำเลยที่ 2 ผู้รับประกันภัย โดยวันเกิดเหตุลูกจ้างของจำเลยที่ 1 ขับรถของจำเลยที่ 1 ไปส่งสินค้าให้แก่โจทก์ ย่อมถือได้ว่าลูกจ้างของจำเลยที่ 1 ขับรถของจำเลยที่ 1 ซึ่งจำเลยที่ 2 รับประกันภัยโดยได้รับความยินยอมจากจำเลยที่ 1 ผู้เอาประกันภัยเสมือนหนึ่งเป็นผู้เอาประกันภัยเอง ตามเงื่อนไขกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ประเภท 1 เมื่อลูกจ้างของจำเลยที่ 1 ขับรถคันที่จำเลยที่ 2 รับประกันภัยถอยหลังชนซุ้มเสาประตูโรมันค้ำยันและรองรับระเบียงหน้าบ้านของโจทก์แตกหักเสียหาย โจทก์ซึ่งเป็นผู้ต้องเสียหายจึงชอบที่จะได้รับค่าสินไหมทดแทนตามที่ตนควรจะได้นั้นจากจำเลยที่ 2 ผู้รับประกันภัยโดยตรงตาม ป.พ.พ. มาตรา 887 วรรคสอง ซึ่งโจทก์สามารถฟ้องจำเลยที่ 2 ให้รับผิดได้โดยลำพัง เพียงแต่หากโจทก์ผู้ต้องเสียหายไม่ได้ฟ้องหรือเรียกตัวผู้เอาประกันภัยเข้ามาสู้คดีด้วย จะมีผลเพียงทำให้ผู้ต้องเสียหายไม่อาจเรียกค่าสินไหมทดแทนส่วนที่ยังขาดจากผู้เอาประกันภัยได้เท่านั้น หาได้มีผลถึงกับทำให้ผู้เอาประกันภัยไม่ต้องรับผิดต่อผู้ต้องเสียหายและทำให้ผู้รับประกันภัยหลุดพ้นความรับผิดไปด้วยไม่ คดีนี้ การที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ผู้เอาประกันภัยรวมมากับจำเลยที่ ๒ ผู้รับประกันภัยโดยอ้างว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ขับรถบรรทุกคันเกิดเหตุ แต่ทางพิจารณาได้ความว่า จำเลยที่ 1 มิได้เป็นผู้ขับรถบรรทุกคันเกิดเหตุเอง ลูกจ้างของจำเลยที่ 1 เป็นผู้ขับ จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์เนื่องจากไม่ได้เป็นไปตามคำฟ้องของโจทก์นั้น หาทำให้มูลหนี้อันเกิดจากการกระทำละเมิดของลูกจ้างของจำเลยที่ 1 ที่มีต่อโจทก์ระงับสิ้นไปไม่ ความรับผิดของจำเลยที่ 1 ในฐานะนายจ้างที่ลูกจ้างได้กระทำละเมิดในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 1 ที่มีต่อโจทก์ตามกฎหมายก็ยังคงมีอยู่ เพียงแต่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ผิดไปมีผลทำให้จำเลยที่ 1 ไม่ต้องรับผิดตามฟ้องเท่านั้น ดังนั้น เมื่อความรับผิดของจำเลยที่ 1 ผู้เอาประกันภัยยังคงมีอยู่ในขณะที่ลูกจ้างของจำเลยที่ 1 กระทำละเมิดต่อโจทก์และขณะนั้นจำเลยที่ 2 ผู้รับประกันภัยซึ่งมีความรับผิดตามตารางกรมธรรม์ประกันภัยอยู่ก่อนแล้ว จำเลยที่ 2 จึงหาหลุดพ้นความรับผิดไปด้วยไม่ จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้รับประกันภัยค้ำจุนยังคงต้องผูกพันรับผิดต่อโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกที่ได้รับความเสียหาย กรณีหาใช่เรื่องมูลความแห่งคดีที่การชำระหนี้มิอาจแบ่งแยกกันได้ เมื่อจำเลยที่ 1 ผู้เอาประกันภัยหลุดพ้นความรับผิดอันจะเป็นผลให้จำเลยที่ 2 ผู้รับประกันภัยต้องหลุดพ้นไปจากความรับผิดแต่อย่างใดไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 352/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ กรมธรรม์ประกันภัย คุ้มครองความรับผิดทางละเมิดจากผู้ขับขี่เมาสุรา ข้อจำกัดการยกเว้นความรับผิดต่อบุคคลภายนอก
กรมธรรม์ประกันภัยระหว่างจำเลยที่ 2 ผู้เอาประกันภัย และจำเลยที่ 4 ผู้รับประกันภัย หมวดที่ 2 ส่วนที่ 2 เรื่องการคุ้มครองความรับผิดต่อบุคคลภายนอก ข้อ 2.12 ระบุว่า การประกันภัยความรับผิดต่อความบาดเจ็บหรือมรณะ หรือความรับผิดต่อผู้โดยสาร และความรับผิดต่อทรัพย์สิน ไม่คุ้มครองความรับผิดอันเกิดจากการขับขี่โดยบุคคลขณะที่อยู่ภายใต้ฤทธิ์สุรายาเมาถึงขนาดที่ไม่สามารถควบคุมรถยนต์ได้ตามข้อ 2.12.7 และมีข้อสัญญาพิเศษตามข้อ 2.13 ระบุว่า ภายใต้จำนวนเงินจำกัดความรับผิดที่ระบุไว้ในตาราง บริษัทผู้รับประกันภัยจะไม่ยกข้อยกเว้นความรับผิดตามข้อ 2.12 เป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกเพื่อปฏิเสธความรับผิดต่อความบาดเจ็บหรือมรณะของบุคคลภายนอก หรือความรับผิดต่อผู้โดยสาร จากข้อสัญญาในกรมธรรม์ประกันภัยดังกล่าวย่อมหมายความว่า โดยหลักแล้วกรมธรรม์ประกันภัยจะคุ้มครองความรับผิดของผู้เอาประกันภัยในเรื่องความรับผิดต่อความบาดเจ็บหรือมรณะของบุคคลภายนอกที่เกิดจากรถยนต์ที่เอาประกันภัย ความรับผิดต่อผู้โดยสารที่อยู่ในรถยนต์ที่เอาประกันภัยที่เกิดจากรถยนต์ที่เอาประกันภัย และความรับผิดต่อทรัพย์สินของบุคคลภายนอกที่เกิดจากรถยนต์ที่เอาประกันภัย เว้นแต่เป็นกรณีผู้ขับรถยนต์ที่เอาประกันภัยอยู่ภายใต้ฤทธิ์สุรายาเมาถึงขนาดที่ไม่สามารถควบคุมรถยนต์ได้ ผู้เอาประกันภัยจะไม่ได้รับความคุ้มครอง แต่มีข้อสัญญาพิเศษยกเว้นให้รับผิดจากข้อยกเว้นข้างต้นอีก กล่าวคือ ถ้าเป็นกรณีความรับผิดต่อความบาดเจ็บหรือมรณะของบุคคลภายนอกและความรับผิดต่อผู้โดยสาร แม้ผู้ขับรถยนต์ที่เอาประกันภัยอยู่ภายใต้ฤทธิ์สุรายาเมาถึงขนาดที่ไม่สามารถควบคุมรถยนต์ได้ ผู้รับประกันภัยจะไม่ยกเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอก คงมีแต่เฉพาะกรณีความรับผิดต่อทรัพย์สินเท่านั้นที่ไม่มีข้อห้ามยกขึ้นต่อสู้บุคคลภายนอก ฉะนั้น เมื่อกรณีนี้โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยที่ 4 รับผิดในฐานะผู้รับประกันภัยของจำเลยที่ 2 ผู้เอาประกันภัย โดยอาศัยสัญญาประกันภัยดังกล่าวให้ชำระเงินค่าเสียหายเนื่องจากโจทก์ได้รับบาดเจ็บและรถยนต์ของโจทก์เสียหาย แบ่งเป็นเงินค่ารักษาพยาบาลและค่าซ่อมรถยนต์ ค่าลากรถยนต์และค่ารถยนต์ที่เสื่อมราคา จึงเป็นกรณีที่จำเลยที่ 4 ไม่ต้องรับผิดต่อผู้เอาประกันภัยตามสัญญาประกันภัยนั้นแล้ว จำเลยที่ 4 ก็ย่อมมีสิทธิยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้โจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกได้ จำเลยที่ 4 จึงไม่ต้องรับผิดเฉพาะต่อความเสียหายในทรัพย์สินของโจทก์
ป.พ.พ. มาตรา 887 วรรคสอง บุคคลผู้ต้องเสียหายชอบที่จะได้รับค่าสินไหมทดแทนตามที่ตนควรจะได้นั้นจากผู้รับประกันภัยโดยตรง ฉะนั้น แม้โจทก์จะไม่ได้ฟ้องผู้เประกันภัยด้วย ก็ไม่ทำให้สิทธิของโจทก์ที่จะเรียกร้องเอาแก่จำเลยที่ 4 ผู้รับประกันภัย เสียไป จำเลยที่ 4 จึงยังต้องรับผิดตามกรมธรรม์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4127/2543

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความฟ้องค่าเสียหายจากเหตุละเมิด: พิจารณาจากวันที่ผู้อำนวยการทราบเหตุและตัวผู้รับผิด และข้อยกเว้นการรับผิดตามสัญญาประกันภัย
พ.ร.บ. องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยฯ มาตรา 38 กำหนดให้ผู้อำนวยการเป็นผู้กระทำการในนาม ขององค์การโทรศัพท์ฯ และเป็นตัวแทนขององค์การโทรศัพท์ฯ ดังนั้น วันที่ถือว่าโจทก์ทราบคือวันที่ผู้อำนวยการรู้ถึง การละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน เว้นแต่ผู้อำนวยการจะตั้งตัวแทนเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้โดยเฉพาะ การที่ บ. หัวหน้าหน่วยบำรุงรักษาซึ่งมีหน้าที่ควบคุมดูแลทรัพย์สินของโจทก์มอบอำนาจให้ ค. ไปแจ้งความ จึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามระเบียบที่วางไว้ตามปกติเท่านั้น มิใช่เป็นผู้กระทำแทนผู้อำนวยการของโจทก์เฉพาะเรื่องตามที่ได้รับมอบหมายในลักษณะตัวการตัวแทนตาม ป.พ.พ. มาตรา 797 อันถือว่ากิจการทุกประการที่ บ. กระทำไปเป็นการกระทำของผู้อำนวยการของโจทก์ เมื่อผู้อำนวยการของโจทก์รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนจาก บ. เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2538 และโจทก์ฟ้องคดีเมื่อวันที่ 28 กันยายน 2538 ฟ้องของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
ตาม ป.พ.พ. มาตรา 887 วรรคสอง โจทก์จะมีสิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยที่ 2 ผู้รับประกันภัย ค้ำจุนได้ตามจำนวนที่ระบุไว้ในสัญญาเท่านั้น เมื่อกรมธรรม์ประกันภัยระบุความรับผิดต่อบุคคลภายนอกใน ความเสียหายแก่ทรัพย์สินว่าผู้เอาประกันภัยต้องรับผิดส่วนแรก 10,000 บาท ต่อครั้ง/ทุกครั้ง จึงต้องหักเงินจำนวนนี้ออกจากค่าสินไหมทดแทนทั้งหมดเสียก่อน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2381/2522

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อยกเว้นความรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัย: ผู้โดยสารในรถยนต์ที่ไม่ใช่บุคคลในครอบครัวหรือลูกจ้าง
ตามข้อสัญญาในกรมธรรม์ประกันภัย จำเลยตกลงจะจ่ายเงินชดใช้เพื่อความรับผิดตามกฎหมายที่จะต้องชดใช้ค่าทดแทนเพื่อมรณกรรมหรือบาดเจ็บของบุคคลใด อันเกิดแต่รถยนต์คันที่เอาประกันภัยเว้นแต่มรณกรรมหรือบาดเจ็บนั้นเกิดแก่ลูกจ้างหรือบุคคลผู้อยู่ในครอบครัวของผู้เอาประกันภัยเมื่อ พ. เป็นผู้อาศัยนั่งมาในรถคันที่เอาประกันภัยแต่มิได้เป็นผู้ร่วมครัวเรือนหรือเป็นลูกจ้างของผู้เอาประกันภัย คงเป็นเพียงเพื่อนของบุตรผู้เอาประกันภัยเท่านั้นเมื่อรถคันที่จำเลยรับประกันภัยเกิดชนกับรถอื่น.เป็นเหตุให้ พ. ถึงแก่ความตายผู้ต้องเสียหายจึงชอบที่จะได้รับค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยโดยตรงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 887 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2381/2522 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อยกเว้นกรมธรรม์ประกันภัย: ความรับผิดต่อบุคคลที่นั่งมาในรถยนต์ของผู้เอาประกันที่ไม่ใช่ผู้ร่วมครัวเรือน
ตามข้อสัญญาในกรมธรรม์ประกันภัย จำเลยตกลงจะจ่ายเงินชดใช้เพื่อความรับผิดตามกฎหมายที่จะต้องชดใช้ค่าทดแทนเพื่อมรณกรรมหรือบาดเจ็บของบุคคลใด อันเกิดแต่รถยนต์คันที่เอาประกันภัย เว้นแต่มรณกรรมหรือบาดเจ็บนั้นเกิดแก่ลูกจ้างหรือบุคคลผู้อยู่ในครอบครัวของผู้เอาประกันภัย เมื่อ พ.เป็นผู้อาศัยนั่งมาในรถคันที่เอาประกันภัย แต่มิได้เป็นผู้ร่วมครัวเรือนหรือเป็นลูกจ้างของผู้เอาประกันภัย คงเป็นเพียงเพื่อนของบุตรผู้เอาประกันภัยเท่านั้น เมื่อรถคันที่จำเลยรับประกันภัยเกิดชนกับรถอื่นเป็นเหตุให้ พ.ถึงแก่ความตาย ผู้เสียหายจึงชอบที่จะได้รับค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยโดยตรงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 887 วรรคสอง