คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
นิพันธ์ ช่วยสกุล

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 222 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16750/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การขายทรัพย์หลักประกันเพื่อฟื้นฟูกิจการลูกหนี้ บรรษัทบริหารสินทรัพย์ได้รับยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะ
โจทก์เป็นบริษัทเฉพาะกิจ ตั้งขึ้นตามมติที่ประชุมผู้บริหารบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย (บสท.) มีวัตถุประสงค์รับเป็นผู้จัดการดูแลผลประโยชน์และเก็บผลประโยชน์จากการรับโอนหลักประกันของลูกหนี้ รายบริษัทคันทรี่ฯ ซึ่งปรับโครงสร้างหนี้กับ (บสท.) โดยผ่านกระบวนการฟื้นฟูของศาลล้มละลายกลาง การที่โจทก์รับโอนกรรมสิทธิ์อสังหาริมทรัพย์ในโครงการคันทรี่ มารีน่า ซิตี้ ซึ่งเป็นหลักประกันการชำระหนี้ของบริษัทคันทรี่ฯ แล้วขายคืนให้แก่นิติบุคคลทั้งสามที่ลูกหนี้เสนอซื้อก็เป็นไปเพื่อแก้ไขฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ให้สามารถประกอบกิจการต่อไปได้ และมีวัตถุประสงค์ในการบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพของ (บสท.) เพื่อประโยชน์แก่การฟื้นฟูเศรษฐกิจหรือความมั่นคงของประเทศ ย่อมถือได้ว่าการขายอสังหาริมทรัพย์ซึ่งเป็นหลักประกันของลูกหนี้ของโจทก์เป็นการขายแทน บสท. เมื่อ บสท. ได้รับยกเว้นค่าธรรมเนียมและภาษีอากรจากกฎหมายทั้งปวงในการโอนสินทรัพย์ด้อยคุณภาพตามมาตรา 43 แห่ง พ.ร.ก.บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ.2544 จึงไม่มีภาษีธุรกิจเฉพาะที่โจทก์จะต้องชำระแก่จำเลย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16748/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม: การรับรู้รายได้และค่าใช้จ่าย, ข้อจำกัดเครดิตภาษี, และเหตุงดเบี้ยปรับ
บริษัทตามกฎหมายว่าด้วยปิโตรเลียมซึ่งได้รับสัมปทานหรือมีส่วนได้เสียร่วมกันในสัมปทานมีหน้าที่เสียภาษีเงินได้เป็นรายรอบระยะเวลาบัญชีของกำไรสุทธิที่ได้จากกิจการปิโตรเลียมและยังมีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้ของเงินกำไรที่เหลือจากการชำระภาษีเงินได้เป็นรายรอบระยะเวลาบัญชี หรือเงินประเภทอื่นใดที่กันไว้จากกำไรดังกล่าว หรือที่ถือว่าเป็นเงินกำไรดังกล่าว เฉพาะจำนวนที่จำหน่ายออกนอกราชอาณาจักรและจะได้รับเครดิตสำหรับปิโตรเลียมที่ผลิตได้เพื่อใช้ในราชอาณาจักรเป็นจำนวนเงินตามอัตราของยอดเงินได้จากการขายปิโตรเลียมหรือมูลค่าของปิโตรเลียมที่จำหน่ายหรือมูลค่าของปิโตรเลียมที่ส่งชำระเป็นค่าภาคหลวงตามมาตรา 65 นว วรรคหนึ่ง ทั้งการได้เครดิตหรือไม่ เพียงใดยังต้องอยู่ภายใต้ข้อจำกัดตามมาตรา 65 นว วรรคท้าย กล่าวคือ เครดิตที่เกิดขึ้นในรอบระยะเวลาบัญชีใด จะมีได้เป็นจำนวนเท่าที่ไม่เกินภาษีเงินได้เป็นรายรอบระยะเวลาบัญชีและภาษีเงินได้ของเงินกำไรที่เหลือจากการชำระภาษีเงินได้ที่เป็นรายรอบระยะเวลาบัญชีดังกล่าวสำหรับกำไรที่ได้ในรอบระยะเวลาบัญชีนั้นและเครดิตที่จะนำมาหักในรอบระยะเวลาบัญชีใด จะต้องไม่เกินภาษีเงินได้ของเงินกำไรที่เหลือจากการชำระภาษีเงินได้ที่เป็นรายรอบระยะเวลาบัญชีนั้นด้วย การที่โจทก์จะได้รับเครดิตตามมาตรา 65 นว วรรคหนึ่ง หรือไม่นั้น จะต้องพิจารณาทั้งตามมาตรา 65 นว วรรคหนึ่ง รวมกับข้อจำกัดตามมาตรา 65 นว วรรคสอง ประกอบกัน ซึ่งการจะทราบจำนวนเครดิตที่เกิดขึ้นดังกล่าวได้ ก็ต่อเมื่อมีการคำนวณกำไรหรือขาดทุนสุทธิเมื่อสิ้นรอบระยะเวลาบัญชี เพื่อให้ทราบว่าโจทก์มีภาษีเงินได้เป็นรายรอบระยะเวลาบัญชีและมีเงินกำไรที่เหลือจากการชำระภาษีเงินได้เป็นรายรอบระยะเวลาบัญชีตามมาตรา 65 จัตวา เสียก่อน และเครดิตที่เกิดขึ้นจะนำมาหักในรอบระยะเวลาบัญชีใด ต้องใช้บังคับแก่กำไรสุทธิที่ต้องเสียภาษีเงินได้ปิโตรเลียมสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีนั้นเท่านั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16502/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การครอบครองทรัพย์สินที่ได้มาจากการกู้ยืม และความผิดฐานลักทรัพย์ แม้มีการผิดสัญญาเช่าซื้อ
จำเลยที่ 1 ให้โจทก์ร่วมกู้ยืมเงินเพื่อนำไปใช้จ่ายในการเล่นการพนันโดยยึดถือรถกระบะที่โจทก์ร่วมเช่าซื้อมาจากผู้ให้เช่าซื้อเป็นหลักประกันการชำระหนี้ เมื่อจำเลยที่ 1 ยอมให้โจทก์ร่วมนำรถกระบะกลับไปใช้ และโจทก์ร่วมไม่นำรถกระบะกลับมาคืนภายในเวลาที่ตกลงกันไว้ จำเลยที่ 1 ก็ไม่มีอำนาจนำรถกระบะกลับมายึดถือครอบครองโดยโจทก์ร่วมไม่ยินยอม การที่จำเลยที่ 1 เอารถกระบะไปจากโจทก์ร่วม แม้น่าเชื่อว่าหากโจทก์ร่วมชำระหนี้แก่จำเลยที่ 1 ครบถ้วน จำเลยที่ 1 คงจะคืนรถกระบะให้ แต่ก็เห็นได้ว่าถ้าโจทก์ร่วมไม่ชำระหนี้ จำเลยที่ 1 คงไม่คืนรถกระบะให้ การที่จำเลยที่ 1 เอารถกระบะไปดังกล่าวจึงเป็นการตัดกรรมสิทธิ์ในรถกระบะของผู้ให้เช่าซื้อขณะอยู่ในความครอบครองของโจทก์ร่วมตลอดไปแล้ว และเมื่อเป็นการใช้อำนาจบังคับเพื่อให้ตนได้รับชำระหนี้โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ย่อมต้องถือว่าเป็นการแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเอง ดังนี้ การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นการเอาทรัพย์ของผู้อื่นไปโดยทุจริต อันเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ และไม่ว่าโจทก์ร่วมจะผิดสัญญาเช่าซื้อหรือไม่ก็ตาม เมื่อโจทก์ร่วมเป็นผู้ครอบครองรถกระบะคันดังกล่าวในขณะที่กล่าวอ้างว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันเอารถกระบะของผู้ให้เช่าซื้อไปโดยทุจริต โจทก์ร่วมย่อมเป็นผู้เสียหายและเข้าร่วมเป็นโจทก์ร่วมคดีนี้ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16001/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การแจ้งความร้องทุกข์โดยสุจริตตามสิทธิ ย่อมไม่เป็นละเมิด แม้จะมีการฟ้องคดีอาญา
มูลคดีเดียวกันนี้ พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด เคยฟ้องจำเลยทั้งสองกับพวกเป็นจำเลยในคดีอาญาข้อหาแจ้งข้อความอันเป็นเท็จ มีโจทก์ในคดีนี้ได้เข้าร่วมเป็นโจทก์ในคดีดังกล่าว คดีนี้จึงเป็นคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา โดยคดีอาญาคดีถึงที่สุด ข้อเท็จจริงฟังยุติว่า พฤติการณ์ของโจทก์ร่วม ทำให้จำเลยที่ 1 เข้าใจว่าโจทก์ร่วมถอนเงินที่วางประกันไว้ไปใช้ประโยชน์อื่น นอกจากข้อตกลงอันเป็นความผิดอาญา จำเลยที่ 1 จึงแจ้งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงแก่พนักงานสอบสวน อันเป็นการใช้สิทธิตามกฎหมาย การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงไม่มีความผิดฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จ
ดังนั้น คดีนี้จึงต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาดังกล่าวว่า จำเลยที่ 1 ใช้สิทธิตามกฎหมาย ไม่ได้แจ้งข้อความอันเป็นเท็จต่อพนักงานสอบสวนจึงไม่มีความผิดและมีผลไปถึงจำเลยที่ 2 ที่ลงลายมือชื่อในหนังสือมอบอำนาจให้ผู้อื่นไปแจ้งความร้องทุกข์ดำเนินคดีอาญาต่อโจทก์ ไม่มีความผิดตามไปด้วย การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงไม่เป็นละเมิดต่อโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15064/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความสิทธิเรียกร้องค่าจ้างจากสัญญาผู้รับเหมา: 5 ปี หากงานทำเพื่อกิจการลูกหนี้
โจทก์เป็นผู้ประกอบกิจการรับเหมาก่อสร้าง และงานก่อสร้างทุกชนิด ฟ้องเรียกร้องให้บังคับจำเลยที่ 1 ชำระหนี้ค่าจ้างส่วนที่ค้างชำระตามสัญญา โดยจำเลยที่ 1 ทำสัญญาว่าจ้างให้โจทก์ส่งช่างพ่นสีและช่างพ่นทรายพร้อมอุปกรณ์ไปทำงานให้จำเลยที่ 1 ซึ่งรับเหมาก่อสร้างโรงไฟฟ้าเขื่อนน้ำเทินที่สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เงินค่าจ้างที่จำเลยที่ 1 ต้องชำระให้แก่โจทก์นั้น เป็นค่าแรงงาน ค่าเช่าอุปกรณ์ และค่าทำงานล่วงเวลาของคนงานโจทก์ ย่อมถือได้ว่าเป็นการที่โจทก์ซึ่งเป็นผู้ประกอบการอุตสาหกรรม ใช้สิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าการงานที่ได้ทำ และงานที่ได้ทำก็เพื่อกิจการของจำเลยที่ 1 อยู่ด้วย กรณีจึงตกอยู่ในบังคับของ ป.พ.พ. มาตรา 193/34 (1) ตอนท้ายที่ว่า เว้นแต่เป็นการที่ได้ทำเพื่อกิจการของฝ่ายลูกหนี้นั้นเอง ดังนั้น อายุความสิทธิเรียกร้องของโจทก์จึงมีกำหนด 5 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/33 (5) หาใช่อายุความ 2 ปีไม่ โจทก์ฟ้องคดีนี้ภายในกำหนด 5 ปีนับแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้ ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14778/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การขนส่งเพื่อจ้างโดยไม่ได้รับอนุญาต: การพิสูจน์เจตนาและขอบเขตการจ้าง
การที่จำเลยนำรถยนต์ตู้โดยสารซึ่งจดทะเบียนในประเภทรถยนต์นั่งส่วนบุคคลเกิน 7 คน ซึ่งไม่ใช่รถของบริษัทหรือรถที่ใช้ในกิจการของบริษัทที่ตนเป็นลูกจ้างบรรทุกคนต่างด้าวจำนวน 13 คน จากอำเภอเมืองสมุทรสาครไปส่งยังจังหวัดระนองและรับกลับมาส่งยังอำเภอเมืองสมุทรสาคร แม้คนต่างด้าวจะเป็นลูกค้าของบริษัทแต่ก็ต้องเสียค่าโดยสาร ถือได้ว่าเป็นการขนส่งเพื่อสินจ้างโดยไม่จำกัดเส้นทาง แม้จำเลยจะได้รับเงินเดือนจากบริษัท แต่จำเลยก็เบิกความตอบคำถามค้านของโจทก์ว่า ในการเดินทางแต่ละเที่ยวจำเลยจะได้รับค่าอาหาร 200 บาท และในชั้นจับกุมจำเลยรับว่าจำเลยรับจ้างขนส่งแรงงานต่างด้าวเพื่อไปพิสูจน์สัญชาติยังจังหวัดระนอง และกำลังเดินทางกลับตามบันทึกการจับกุมเอกสารหมาย จ. 1 ส่วนในชั้นสอบสวนจำเลยให้การว่า เป็นผู้ขับรถยนต์พาคนต่างด้าวเดินทางไปพิสูจน์สัญชาติที่จังหวัดระนอง จำนวน 13 คน ได้ค่าจ้างขับรถ ค่าน้ำมันและค่าก๊าซจำนวน 2,500 บาท ฟังได้ว่าจำเลยได้รับค่าจ้างในการขับรถดังกล่าว ถือได้ว่าจำเลยเป็นผู้ประกอบการขนส่งโดยไม่ประจำทางแล้ว เมื่อจำเลยไม่ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบการขนส่งไม่ประจำทางจากนายทะเบียน การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตามฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12701/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การประเมินภาษีมูลค่าเพิ่ม การขายไม้โตเร็ว และเหตุงดเบี้ยปรับ
อุทธรณ์ของโจทก์และจำเลยเป็นการอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง การพิจารณาทุนทรัพย์พิพาทต้องพิจารณาแต่ละเดือนภาษีเป็น 1 ข้อหา แยกออกจากกันได้ เมื่อเดือนภาษีเมษายน 2548 เดือนภาษีกรกฎาคม 2548 และเดือนภาษีพฤศจิกายน 2548 มีทุนทรัพย์ที่พิพาทไม่เกิน 50,000 บาท จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 25
โจทก์ซื้อที่ดินที่มีไม้โตเร็วปลูกอยู่และขายไม้โตเร็วให้แก่บริษัท ช. โดยมีเหตุผลให้เชื่อว่าเจ้าของที่ดินเดิมผู้ขายที่ดินให้โจทก์น่าจะขายที่ดินในราคารวมต้นไม้โตเร็วที่ปลูกไว้และโจทก์รับซื้อไว้โดยคาดเห็นว่าจะนำไปขายหาประโยชน์ต่อไปได้ โดยใช้เวลาในการดูแลต้นไม้เพื่อขายพอสมควร อันเป็นพฤติการณ์ที่เชื่อได้ว่าโจทก์ได้ประกอบการขายไม้โตเร็วตามคำนิยามมาตรา 77/1 (5) แห่ง ป.รัษฎากร และเมื่อโจทก์ขายไม้โตเร็วให้แก่บริษัท ช. เพื่อนำไม้ไปใช้ก่อสร้างโรงเรือนเลี้ยงสุกรอันเป็นการขายต้นไม้ในลักษณะเพื่อเป็นไม้ที่ใช้ในการก่อสร้างโรงเรือน เป็นการขายต้นไม้เพื่อให้ผู้ซื้อโค่นเป็นท่อนแล้วเลื่อยแปรรูปเพื่อทำเป็นเสาเข็มหรือใช้ในการก่อสร้าง ต้องด้วยลักษณะของไม้ซุงและผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการเลื่อยไม้ อันเป็นลักษณะยกเว้นที่ไม่ถือเป็นการขายพืชผลทางการเกษตรที่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 81 (1) ก โจทก์จึงมีหน้าที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มตาม มาตรา 77/2 (1)
บทบัญญัติแห่ง ป.รัษฎากร มิได้ห้ามเจ้าพนักงานประเมินแก้ไขการประเมินที่ผิดพลาดให้ถูกต้องได้ เมื่อเจ้าพนักงานประเมินยกเลิกการประเมินครั้งแรกเพราะเห็นว่าไม่ถูกต้อง เจ้าพนักงานประเมินย่อมมีอำนาจประเมินใหม่ตามที่เห็นว่าถูกต้องได้ แม้การประเมินครั้งหลังจะทำให้โจทก์ต้องชำระภาษีมากกว่าการประเมินครั้งแรก แต่มีผลทำให้โจทก์ต้องเสียภาษีเพียงครั้งเดียว มิใช่การประเมินซ้ำซ้อนและยังคงเป็นการประเมินในเรื่องเดิม การที่เจ้าพนักงานประเมินแจ้งยกเลิกใบแจ้งภาษีอากรแล้วประเมินใหม่จึงชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12538/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ประเด็นภาษีเงินได้นิติบุคคล: การปันส่วนดอกเบี้ย, ค่าใช้จ่ายโครงการแฟมิลี่แคร์, และการประเมินผลขาดทุนสุทธิ
ทุนทรัพย์ที่พิพาทในแต่ละเดือนภาษีเป็นแต่ละข้อหาแยกจากกัน เฉพาะเดือนภาษีที่มีทุนทรัพย์ไม่เกินห้าหมื่นบาทต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรฯ มาตรา 25
แม้บทบัญญัติของ ป.รัษฎากรในส่วนของภาษีเงินได้นิติบุคคลมิได้กำหนดนิยามคำว่า "ราคาตลาด" ไว้ แต่เมื่อพิจารณาถึงความหมายในทางการค้าทั่วไปแล้ว คงมีความหมายในทำนองเดียวกันกับ ป.รัษฎากร มาตรา 91/1 (3) ซึ่งเป็นบทบัญญัติในส่วนของภาษีธุรกิจเฉพาะกำหนดนิยามคำว่า "ราคาตลาด" คือ ราคาสินค้าที่มีการซื้อขายกันตามความเป็นจริงทั่วไปในขณะใดขณะหนึ่ง ห้องชุดบางรายการ มีราคาตามสัญญาจะซื้อขายสูงกว่าราคาตามสัญญาซื้อขายที่จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ตั้งแต่ห้องละประมาณ 30,000 บาท จนถึงประมาณ 800,000 บาท โดยโจทก์ไม่นำสืบให้ปรากฏว่าราคาที่แตกต่างกันนั้นมีเหตุผลให้เป็นเช่นนั้นเพราะเหตุใด จึงไม่น่าเชื่อว่าราคาดังกล่าวเป็นราคาตลาดในขณะนั้นหรือเป็นการทำสัญญาซื้อขายห้องชุดโดยมีราคาที่ต่ำกว่าราคาตลาดโดยมีเหตุผลอันสมควร การที่เจ้าพนักงานประเมินถือเอาราคาประเมินของทางราชการในวันจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดพิพาทเป็นราคาตลาดจึงชอบด้วย ป.รัษฎากร มาตรา 65 ทวิ (4) และมาตรา 91/16 (6)
ดอกเบี้ยที่โจทก์จ่ายไปสำหรับเงินที่กู้ยืมมาสร้างอาคารซึ่งเป็นทรัพย์สินที่มีไว้เพื่อขายเป็นส่วนหนึ่งของมูลค่าต้นทุนจนกว่าอาคารจะก่อสร้างเสร็จพร้อมที่จะขาย เมื่อไม่ปรากฏว่าโครงการของโจทก์ก่อสร้างเสร็จจนพร้อมที่จะขาย ดอกเบี้ยจ่ายที่เกิดขึ้นจึงยังไม่อาจถือเป็นค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารได้ทั้งหมดจนกว่าโจทก์จะปิดโครงการในเดือนสิงหาคม 2542
ค่าใช้จ่ายสำหรับโครงการแฟมิลี่แคร์เป็นเงินที่โจทก์จ่ายเพื่อช่วยค่าก่อสร้างอาคารศูนย์อภิบาลคนชรา ศูนย์พัฒนาเด็ก สถานที่ออกกำลังกาย และโพลีคลินิกที่ดำเนินการโดยคณะแพทย์โรงพยาบาล ซ. ซึ่งทำให้โจทก์ได้รับประโยชน์โดยได้ปลดเปลื้องภาระหน้าที่ในการรับผิดชอบต่อลูกค้าตามที่โจทก์โฆษณาประชาสัมพันธ์ไว้ แต่กรรมสิทธิ์ในอาคารที่ก่อสร้างมิได้เป็นของโจทก์ กลับเป็นของโรงพยาบาล ซ. รายได้จากศูนย์ดังกล่าวก็เป็นรายได้ของโรงพยาบาล ซ. ทั้งตามทางนำสืบของโจทก์ก็ไม่ปรากฏว่าค่าใช้จ่ายดังกล่าวเกิดจากการร่วมทุนของโจทก์โดยมีข้อตกลงแบ่งปันผลประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นในภายหลัง การจ่ายเงินดังกล่าวจึงมิได้มีลักษณะตามหลักเกณฑ์ที่ระบุในข้อ 5 ของคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.61/2539 และไม่มีค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างระบบสาธารณูปโภคอันจะนำมาถือเป็นมูลค่าต้นทุน จึงไม่อาจนำมาถือเป็นต้นทุนของโครงการในการคำนวณกำไรหรือขาดทุนสุทธิได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10839/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ หมิ่นประมาทโดยการโฆษณา: การให้สัมภาษณ์สื่อและผลกระทบต่อชื่อเสียง
การที่จำเลยไปให้ข่าวและหนังสือพิมพ์ได้ลงข่าวแพร่หลายทั่วจังหวัดลำปางว่า จำเลยซื้อสลากเลขท้าย 3 ตัวตรงหมายเลข 966 ประจำงวดวันที่ 1 พฤศจิกายน 2547 แล้วถูกรางวัล โจทก์ร่วมไม่ยอมจ่ายเงินรางวัลให้แก่จำเลย ซึ่งไม่เป็นความจริง ถือเป็นการใส่ความโจทก์ร่วมโดยมุ่งประสงค์ให้โจทก์ร่วมเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชัง และการที่จำเลยให้สัมภาษณ์ต่อผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ จำเลยย่อมทราบดีว่าผู้รับข้อความคือผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์เป็นผู้ประกอบวิชาชีพสื่อสารมวลชน อาจนำเสนอข่าวสารที่ได้รับมาเผยแพร่ต่อบุคคลทั่วไป ทั้งข้อความที่จำเลยให้สัมภาษณ์เป็นเรื่องเกี่ยวกับการถูกเงินรางวัลแต่ไม่ได้รับเงินรางวัลอันเป็นความหวังของบุคคลทั่วไปที่ซื้อสลาก ซึ่งมีลักษณะเป็นเรื่องที่สนใจของประชาชน ถือว่าจำเลยมีเจตนาเล็งเห็นผลได้ว่าผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ต้องนำข้อความที่จำเลยให้สัมภาษณ์ไปลงพิมพ์โฆษณาในหนังสือพิมพ์ตามที่จำเลยให้สัมภาษณ์ เมื่อหนังสือพิมพ์นำข้อความที่ให้สัมภาษณ์ไปลงพิมพ์โฆษณาสมตามเจตนาของจำเลยแล้ว การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณาตาม ป.อ. มาตรา 328

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10778/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ใบสำคัญแสดงสิทธิฯ ถือเป็นเงินได้พึงประเมิน แม้ยังมิได้ใช้สิทธิซื้อหุ้น
ใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นสามัญของบริษัท ช. ที่โจทก์ได้รับมีราคาเสนอขายหน่วยละ 0 บาท มีสิทธิซื้อหุ้นสามัญได้ 1 หุ้น ราคาการใช้สิทธิ 4.50 บาทต่อหน่วย ในเดือนที่ใช้สิทธิซื้อหุ้นสามัญได้ราคาปิดเฉลี่ยของหุ้นสามัญของบริษัท ช. ที่ซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย 16.63 บาทต่อหุ้น ซึ่งเป็นทางให้ผู้ถือใบสำคัญแสดงสิทธิซื้อหุ้นสามัญนี้ได้รับประโยชน์แล้ว ใบสำคัญแสดงสิทธินี้ยังมีอีกสถานะหนึ่งคือเป็นหลักทรัพย์ที่บุคคลนำมาซื้อขายได้โดยตรง และไม่มีข้อจำกัดการโอน ใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นที่โจทก์ได้รับจึงอาจคำนวณได้เป็นเงิน ถือเป็นเงินได้พึงประเมินตาม ป.รัษฎากร มาตรา 39
of 23