คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
นิพันธ์ ช่วยสกุล

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 222 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5450/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การประเมินภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจากการขายที่ดิน ต้องใช้ราคาประเมินทุนทรัพย์ตามกฎหมายที่ดิน แม้ราคาซื้อขายจะต่างกัน และงดเงินเพิ่มได้หากเจ้าหน้าที่ประเมินผิดพลาด
โจทก์ขายที่ดินพิพาทเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2548 ซึ่งขณะนั้นมีประกาศกรุงเทพมหานครฯ แก้ไขบัญชีกำหนดราคาประเมินทุนทรัพย์ที่ดินพิพาทว่ามีราคาประเมินตารางวาละ 45,000 บาท ดังนั้น ในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับการขายที่ดินพิพาทจะต้องถือตามราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมตามกฎหมายที่ดินโดยถือว่าราคาประเมินที่ดินดังกล่าวนั้นเป็นเงินได้พึงประเมินของโจทก์ ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 49 ทวิ ไม่ว่าโจทก์และพันตรี ส. จะซื้อขายที่ดินพิพาทกันในราคาใดก็ตาม การที่พนักงานเจ้าหน้าที่ของสำนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร สาขาบางเขน ประเมินราคาที่ดินพิพาทในราคาตารางวาละ 4,000 บาท ย่อมทำให้โจทก์ชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาขาดไป เจ้าพนักงานประเมินของจำเลยมีอำนาจเรียกเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้ถูกต้องครบถ้วนได้
การที่โจทก์ชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาไม่ครบถ้วน เนื่องจากเจ้าหน้าที่สำนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร สาขาบางเขน ประเมินราคาที่ดินพิพาทผิดพลาดต่ำกว่าราคาประเมินที่แท้จริง ซึ่งเป็นเหตุที่ไม่ใช่ความผิดของโจทก์ กรณีจึงมีเหตุงดเงินเพิ่มแก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4727/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ กำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินกู้เพื่อสร้างโรงไฟฟ้า ถือเป็นรายได้ที่ต้องนำมารวมคำนวณภาษี
โจทก์กู้เงินสกุลดอลลาร์สหรัฐเพื่อก่อสร้างโรงไฟฟ้า มีหนี้สินคงเหลืออยู่ ณ วันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีปี 2553 ซึ่งเมื่อคำนวณเป็นเงินตราไทยตามมาตรา 65 ทวิ (5) (ก) โจทก์มีกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน 1,195,938,480 บาท เห็นว่า ทั้งผลกำไรและผลขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราสำหรับหนี้เงินกู้ที่เป็นเงินตราต่างประเทศที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติตามมาตรา 65 ทวิ (5) เป็นผลกำไรหรือขาดทุนที่ได้จากการคำนวณจำนวนหนี้เงินตราต่างประเทศเป็นเงินตราไทยตามอัตราแลกเปลี่ยนในวันที่ได้รับเงินกู้เปรียบเทียบกับการคำนวณเป็นเงินตราไทยตามอัตราแลกเปลี่ยนในวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชี ดังนั้น ทั้งผลกำไรและผลขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติตามมาตรา 65 ทวิ (5) โดยหนี้สินนั้นยังไม่ถึงกำหนดชำระเงิน ย่อมนำมาคำนวณได้ทั้งกำไรสุทธิและขาดทุนสุทธิในรอบระยะเวลาบัญชีนั้น โจทก์จึงต้องนำกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา 1,195,938,480 บาท มารวมเป็นรายได้ในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2553

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4326/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เครื่องหมายการค้าไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะ แม้มีองค์ประกอบภาพและคำทั่วไป ศาลฎีกาตัดสินให้ปฏิเสธการจดทะเบียน
"" เป็นเครื่องหมายการค้าที่ประกอบด้วยภาคส่วนอักษรโรมัน "W" และภาคส่วนคำภาษาอังกฤษว่า "HOTELS" โดยคำว่า "HOTELS" เป็นคำธรรมดาที่มีความหมายปรากฏในพจนานุกรมและเป็นที่รับรู้กันทั่วไปว่าหมายถึง โรงแรม สำหรับภาคส่วนอักษรโรมัน "W" วางอยู่ตรงกลางของเครื่องหมายการค้า มีขนาดใหญ่กว่าภาคส่วนคำว่า "HOTELS" มาก หากมองภาพรวมของเครื่องหมายการค้าจะเห็นตัวอักษร "W" เด่นชัดกว่าภาคส่วนคำว่า "HOTELS" มาก ถือได้ว่า ภาคส่วน "W" เป็นสาระสำคัญของเครื่องหมายการค้านี้ เมื่อพิจารณาเปรียบเทียบอักษร "W" ในเครื่องหมายการค้าของโจทก์กับตัวอักษรโรมันดับเบิลยูในรูปแบบต่าง ๆ ที่มีการใช้อยู่ทั่วไปแล้ว แทบไม่พบความแตกต่างจากตัวอักษรดับเบิลยูตัวพิมพ์ใหญ่ธรรมดา จึงไม่อาจถือว่าอักษร "W" ในเครื่องหมายการค้าของโจทก์เป็นตัวหนังสือที่ประดิษฐ์ขึ้นอันจะมีลักษณะบ่งเฉพาะตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 7 วรรคสอง (3) (เดิม) ประกอบกับภาคส่วน "W" ที่เป็นสาระสำคัญนั้น เป็นส่วนเครื่องหมายการค้าที่เป็นตัวหนังสือ ไม่ใช่ส่วนที่เป็นคำหรือข้อความตามมาตรา 7 วรรคสอง (1) หรือ (2) (เดิม) ที่อาจพิสูจน์ลักษณะบ่งเฉพาะโดยการใช้ได้ตามมาตรา 7 วรรคสาม (เดิม) จึงไม่จำต้องวินิจฉัยพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบในเรื่องการใช้เครื่องหมายการค้าแต่อย่างใด ดังนี้ เมื่ออักษร "W" ในเครื่องหมายการค้าตามคำขอของโจทก์ทั้งสามคำขอถือเป็นส่วนสาระสำคัญของเครื่องหมายการค้า แต่ไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะ อันไม่มีลักษณะอันพึงรับจดทะเบียนตามมาตรา 6 ถือว่าเครื่องหมายการค้า "" ไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะ ไม่มีลักษณะอันพึงรับจดทะเบียน เป็นเหตุต้องปฏิเสธไม่รับจดทะเบียนตามมาตรา 16 แห่ง พ.ร.บ ดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4265/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจศาลในการฝากขังก่อนฟ้องและการจำกัดสิทธิอุทธรณ์คำสั่งฝากขังของผู้ต้องหา
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ขังผู้ต้องหาไว้ตามคำร้องของผู้ร้องมีกำหนด 12 วัน เพื่อสอบสวนดำเนินคดีผู้ต้องหาในความผิดตาม ป.อ. มาตรา 116 ผู้ต้องหายื่นอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวของศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์พิพากษายกอุทธรณ์ของผู้ต้องหา ผู้ต้องหาฎีกา เห็นว่า ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 134 วรรคห้า บัญญัติว่า "เมื่อได้มีการแจ้งข้อกล่าวหาแล้ว ถ้าผู้ต้องหาไม่ใช่ผู้ถูกจับและยังไม่ได้มีการออกหมายจับ แต่พนักงานสอบสวนเห็นว่ามีเหตุที่จะออกหมายขังผู้นั้นได้ตามมาตรา 71 พนักงานสอบสวนมีอำนาจสั่งให้ผู้ต้องหาไปศาลเพื่อออกหมายขังโดยทันที... กรณีเช่นว่านี้ให้นำมาตรา 87 มาใช้บังคับแก่การพิจารณาออกหมายขังโดยอนุโลม..." มาตรา 71 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "เมื่อได้ตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยมาแล้ว ในระยะใดระหว่างสอบสวน ไต่สวนมูลฟ้องหรือพิจารณา ศาลจะออกหมายขังผู้ต้องหาหรือจำเลยไว้ตามมาตรา 87 หรือมาตรา 88 ก็ได้ และให้นำบทบัญญัติในมาตรา 66 มาใช้บังคับโดยอนุโลม" มาตรา 66 บัญญัติว่า "เหตุที่จะออกหมายจับได้มีดังต่อไปนี้ (1) เมื่อมีหลักฐานตามสมควรว่าบุคคลใดน่าจะได้กระทำความผิดอาญาซึ่งมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกินสามปี" ตามบทบัญญัติข้างต้นให้อำนาจศาลที่จะขังผู้ต้องหาระหว่างสอบสวนหากมีเหตุตามมาตรา 66 คดีนี้ ผู้ต้องหาถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 116 ซึ่งต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปี จึงเป็นกรณีที่ศาลจะออกหมายขังผู้ต้องหาได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 71 ประกอบมาตรา 66 บทบัญญัติดังกล่าวเป็นกระบวนการก่อนฟ้องซึ่งมีวัตถุประสงค์ให้ผู้ต้องหาอยู่ในอำนาจของศาล เพื่อเป็นหลักประกันว่าจะมีตัวจำเลยในการพิจารณาคดีของศาล ทั้งตาม ป.วิ.อ. มาตรา 106 บัญญัติให้ผู้ต้องหามีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ปล่อยผู้ต้องหาชั่วคราวได้อยู่แล้ว แสดงให้เห็นเจตนารมณ์ของกฎหมายอย่างชัดเจนว่า มีวัตถุประสงค์จะให้กระบวนการยุติธรรมในชั้นฝากขังระหว่างสอบสวนเป็นอำนาจของผู้พิพากษาศาลชั้นต้น และยุติไปในระดับศาลชั้นต้นเท่านั้น ไม่ใช่เรื่องที่กฎหมายมีความประสงค์จะให้ผู้ต้องหายื่นอุทธรณ์คัดค้านคำสั่งอนุญาตให้ฝากขังได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 193 ผู้ต้องหาจึงไม่มีสิทธิยื่นอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้ฝากขังผู้ต้องหาตามคำร้องของผู้ร้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4216/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เครื่องหมายการค้าที่มีชื่อทางภูมิศาสตร์ และการพิสูจน์ลักษณะบ่งเฉพาะจากการใช้
ตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 6 กำหนดให้เครื่องหมายการค้าอันพึงรับจดทะเบียนได้ต้องเป็นเครื่องหมายการค้าที่มีลักษณะบ่งเฉพาะ ซึ่งในมาตรา 7 วรรคสอง (2) กำหนดให้เครื่องหมายการค้าที่มีหรือประกอบด้วยคำหรือข้อความอันไม่ได้เล็งถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้านั้นโดยตรง และไม่เป็นชื่อทางภูมิศาสตร์ที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด ให้ถือว่ามีลักษณะบ่งเฉพาะ โดยประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง การกำหนดชื่อทางภูมิศาสตร์ กำหนดให้ชื่อทางภูมิศาสตร์ดังต่อไปนี้ ถือว่าเป็นชื่อทางภูมิศาสตร์ตามพระราชบัญญัติดังกล่าว "(1) ชื่อประเทศ ชื่อกลุ่มประเทศ ชื่อภูมิภาค หรือเขตปกครองตนเองซึ่งมีลักษณะเช่นเดียวกับประเทศ (2) ชื่อแคว้น รัฐ หรือมณฑล (3) ชื่อเมืองหลวง เมืองท่า จังหวัด หรือเขตปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ (4) ชื่อทวีป (5) ชื่อมหาสมุทร ทะเล อ่าว คาบสมุทร แหลม เกาะ หมู่เกาะ หรือทะเลสาบ (6) ชื่อทางภูมิศาสตร์อื่น ๆ ที่ประชาชนโดยทั่วไปรู้จักกันแพร่หลาย เช่น ภูเขา แม่น้ำ อำเภอ ตำบล หมู่บ้าน ถนน เป็นต้น ชื่อทางภูมิศาสตร์ข้างต้น ให้หมายความรวมถึงชื่อย่อ ชื่อเดิม หรือชื่อที่ใช้เรียกขานทั่วไปโดยไม่จำกัดเฉพาะชื่อในทางราชการ" ตามประกาศกระทรวงพาณิชย์ ประกอบกับตามพจนานุกรม Webster's New Geographical Dictionary ให้ความหมายคำว่า "Milwaukee" ไว้ด้วยว่าหมายถึง "Commercial and industrial city and lake port ..." จึงอาจแปลได้ว่า เมืองพาณิชย์และอุตสาหกรรมและท่าเรือทะเลสาบ อันถือได้ว่าเป็นเมืองท่า ซึ่งโจทก์ไม่ได้โต้แย้งในความหมายดังกล่าว ทั้งยังปรากฏว่าโจทก์แก้ไขเปลี่ยนแปลงรายการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าทั้งสี่ว่าคำดังกล่าวแปลว่า เมืองท่า ดังนี้ ข้อเท็จจริงย่อมรับฟังได้ว่า "Milwaukee" เป็นชื่อเมืองท่า และเป็นชื่อทางภูมิศาสตร์ตามประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง การกำหนดชื่อทางภูมิศาสตร์ ข้อ 2 (3) โดยไม่จำต้องพิจารณาว่าชื่อเมืองท่าดังกล่าวเป็นชื่อที่ประชาชนโดยทั่วไปรู้จักกันแพร่หลายแต่อย่างใด เครื่องหมายการค้าทั้งสี่ของโจทก์ จึงเป็นชื่อทางภูมิศาสตร์ตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 7 วรรคสอง (2) แม้เครื่องหมายการค้าทั้งสี่ของโจทก์จะประกอบไปด้วยภาคส่วนรูปประดิษฐ์คล้ายสายฟ้าอยู่ใต้คำดังกล่าวด้วย แต่คำว่า "Milwaukee" ถือเป็นภาคส่วนสำคัญในเครื่องหมาย ทั้งเมื่อรวมกันแล้วก็ยังคงอ่านออกเสียงเครื่องหมายการค้าดังกล่าวได้เช่นเดิม เครื่องหมายการค้า ของโจทก์จึงเป็นเครื่องหมายที่ไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะในตัวเอง ชอบที่นายทะเบียนจะมีคำสั่งไม่รับจดทะเบียน
ส่วนเครื่องหมายการค้าตามคำขอจดทะเบียนของโจทก์ทั้งสี่คำขอได้ลักษณะบ่งเฉพาะจากการใช้ตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 7 วรรคสาม หรือไม่นั้น จำเลยได้ให้โจทก์ส่งหลักฐานเพื่อพิสูจน์ลักษณะบ่งเฉพาะจากการใช้ตามประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง หลักเกณฑ์การพิสูจน์ลักษณะบ่งเฉพาะตามมาตรา 7 วรรคสาม แห่ง พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 ซึ่งต่อมาโจทก์ส่งเอกสารอธิบายความเป็นมาของบริษัทโจทก์และบริษัทในเครือ เอกสารแสดงการโฆษณาและประชาสัมพันธ์สินค้าของโจทก์ สำเนาใบแจ้งหนี้การจำหน่ายสินค้า สำเนาหน้าเว็บไซต์ต่าง ๆ แล้ว หลักฐานดังกล่าวเป็นเพียงเอกสารแสดงประวัติของบริษัท การโฆษณาและใบแจ้งหนี้แสดงการจำหน่ายสินค้าเท่านั้น โดยไม่ปรากฏว่าเริ่มมีการใช้ การโฆษณาหรือการจำหน่ายสินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้าที่ยื่นขอจดทะเบียนไว้ตั้งแต่เมื่อใด เป็นจำนวนเท่าไรและเป็นระยะเวลานานต่อเนื่องเพียงใด แพร่หลายในประเทศไทยหรือไม่ จึงยังไม่เพียงพอที่จะรับฟังได้ว่า เครื่องหมายการค้าของโจทก์ตามที่ยื่นขอจดทะเบียนไว้ได้มีการจำหน่ายเผยแพร่หรือโฆษณาอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานพอสมควร จนทำให้สาธารณชนทั่วไปหรือสาธารณชนในสาขาที่เกี่ยวข้องในประเทศไทยรู้จักและเข้าใจว่าสินค้าดังกล่าวแตกต่างไปจากสินค้าอื่นตามประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่องหลักเกณฑ์การพิสูจน์ลักษณะบ่งเฉพาะตามมาตรา 7 วรรคสาม แห่ง พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 เครื่องหมายการค้าตามคำขอทั้งสี่คำขอของโจทก์จึงไม่ได้ลักษณะบ่งเฉพาะจากการใช้อันพึงรับจดทะเบียนได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2992/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า: การพิจารณาความคล้ายคลึงของเครื่องหมายการค้า และการเพิกถอนคำสั่งปฏิเสธจดทะเบียน
เครื่องหมายการค้าที่โจทก์ยื่นขอจดทะเบียน 2 รายการ ประกอบด้วยรูปประดิษฐ์รูปหัวใจและคำว่า "Misty Mynx" ซึ่งเป็นคำอักษรโรมันสองคำประกอบกัน สำหรับคำว่า "Misty" เป็นคำธรรมดาทั่วไป มีความหมายปรากฏตามพจนานุกรมว่า ที่ปกคลุมไปด้วยหมอก คลุมเครือ พร่ามัว เลือนลาง จึงไม่เป็นคำที่สร้างความแตกต่างกับเครื่องหมายการค้าอื่นได้ดี ส่วนคำว่า "Mynx" เป็นคำที่ไม่มีความหมายปรากฏในพจนานุกรม จึงเป็นส่วนที่สร้างความแตกต่างกับเครื่องหมายการค้าอื่นได้ดีกว่าส่วนคำว่า "Misty" ย่อมมีเหตุผลให้เห็นได้ว่าเครื่องหมายการค้าของโจทก์มีรูปประดิษฐ์รูปหัวใจและอักษรโรมันคำว่า "Mynx" เป็นสาระสำคัญ ส่วนคำว่า "Misty" ไม่ใช่ส่วนสาระสำคัญ ส่วนการพิจารณาว่าเครื่องหมายการค้าของโจทก์กับของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วดังกล่าวคล้ายกันจนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าหรือไม่นั้น ต้องพิจารณาภาคส่วนของเครื่องหมายการค้าโดยรวมทุกภาคส่วนของเครื่องหมายการค้า ดังนั้นจึงต้องนำรูปประดิษฐ์รูปหัวใจและคำว่า "Mynx" ในเครื่องหมายการค้าของโจทก์ และคำว่า "Morning" ในเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วมารวมพิจารณาเปรียบเทียบความคล้ายของเครื่องหมายการค้าของโจทก์และเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้ว เพราะทุกภาคส่วนล้วนต้องรวมกันจึงเป็นเครื่องหมายการค้าตามที่ขอจดทะเบียนมิใช่พิจารณาแยกเฉพาะส่วนที่เป็นสาระสำคัญเท่านั้น ซึ่งเมื่อพิจารณาจากรูปลักษณะเครื่องหมายและการประดิษฐ์ตัวอักษรในเครื่องหมายการค้าของโจทก์เปรียบเทียบกับรูปลักษณะเครื่องหมายและลักษณะการประดิษฐ์ตัวอักษรในเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วนั้น เห็นได้ว่าเครื่องหมายการค้าของโจทก์ประกอบไปด้วย 2 ภาคส่วน คือ ภาคส่วนบนสุดเป็นรูปประดิษฐ์รูปหัวใจและภาคส่วนล่างสุดเป็นอักษรโรมันคำว่า "Misty Mynx" นอกจากนี้ เครื่องหมายการค้าที่โจทก์ยื่นขอจดทะเบียนอีก 2 รายการ เป็นอักษรโรมันสองคำประกอบกัน คือ คำว่า "Misty" และคำว่า "Mynx" โดยอยู่ในระนาบเดียวกัน ส่วนเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วนั้น ประกอบด้วยอักษรโรมันสองคำ คือคำว่า "MISTY" และคำว่า "MORNING" โดยคำว่า "MISTY" อยู่ด้านบนและมีขนาดใหญ่กว่าคำว่า "MORNING" ซึ่งเครื่องหมายการค้าของโจทก์กับเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วดังกล่าวมีความแตกต่างกันเป็นที่เห็นได้ชัดเจนหลายประการ ตั้งแต่รูปร่างโดยรวมของทุกภาคส่วนในแต่ละเครื่องหมาย รูปประดิษฐ์ ตัวอักษรที่ใช้และลักษณะการวางตัวอักษร ล้วนแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง และเมื่อพิจารณาในส่วนเสียงเรียกขานตามคำที่ปรากฏในเครื่องหมายการค้า เครื่องหมายการค้าของโจทก์อาจเรียกขานได้ว่า "มิส-ตี้-มิ้งซ์" ส่วนเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วอาจเรียกขานได้ว่า "มิส-ตี้-มอร์-นิ่ง" ซึ่งแม้มีคำเรียกขานว่า "มิส-ตี้" คล้ายกันส่วนหนึ่ง แต่เสียงเรียกขานโดยรวมก็แตกต่างกัน มิใช่จะเรียกขานแต่เฉพาะคำว่า "มิส-ตี้" ประกอบกับคำว่า "MISTY" เป็นคำธรรมดาที่ใช้กันทั่วไปซึ่งมีความหมายเข้าใจกันตามธรรมดา มิใช่คำประดิษฐ์ ดังนั้นแม้จะมีบุคคลอื่นจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่มีคำว่า "MISTY" ประกอบอยู่ด้วยไว้ก่อนแล้ว บุคคลอื่นก็ยังคงมีสิทธิใช้คำดังกล่าวได้ตราบเท่าที่ได้มีการสร้างความแตกต่างเพียงพอจนสามารถทำให้เป็นที่สังเกตได้ถึงความแตกต่างกันนั้น เมื่อเครื่องหมายการค้าของโจทก์มีรูปประดิษฐ์รูปหัวใจประกอบอยู่ด้วย และมีลักษณะการใช้และการวางตัวอักษรโรมันในเครื่องหมายการค้าที่แตกต่างกัน ถือได้ว่าเครื่องหมายการค้าของโจทก์กับเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วมีความแตกต่างกันเพียงพอที่สาธารณชนผู้บริโภคจะจดจำและสังเกตได้ถึงความแตกต่างกันนั้นแล้ว แม้รายการสินค้าที่โจทก์ยื่นขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า กับรายการสินค้าที่บุคคลอื่นจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าไว้แล้ว จะเป็นรายการสินค้าเดียวกันและเป็นสินค้าที่ผู้บริโภคนำมาใช้ในชีวิตประจำวันในครัวเรือนเช่นเดียวกัน ซึ่งอาจมีผู้บริโภคกลุ่มเดียวกันหรือมีสถานที่วางจำหน่ายแห่งเดียวกันก็ตาม แต่เมื่อเครื่องหมายการค้าของโจทก์ตามคำฟ้องทั้งสี่คำขอมีความแตกต่างกับเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้ว เครื่องหมายการค้าของโจทก์ย่อมไม่คล้ายกับเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วจนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้า

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2828/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เครื่องหมายการค้า "DULUX INSPIRE": คำว่า "INSPIRE" ไม่ใช่คำที่เล็งถึงลักษณะสินค้าโดยตรง จึงจดทะเบียนได้
แม้เครื่องหมายการค้าคำว่า "DULUX INSPIRE" ที่โจทก์ยื่นขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้านี้จะแบ่งออกได้เป็น 2 ภาคส่วน สำหรับภาคส่วนคำว่า "DULUX" นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าและคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าไม่มีข้อโต้แย้งเรื่องการมีลักษณะบ่งเฉพาะในตนเองแล้วของคำดังกล่าว ส่วนภาคส่วนคำว่า "INSPIRE" นั้นแม้จะเป็นคำภาษาต่างประเทศแต่ก็เป็นคำธรรมดาทั่วไปที่ปรากฏความหมายของคำตามพจนานุกรมว่าคำว่า "INSPIRE" มีความหมายหนึ่งว่า กระตุ้นหรือส่งอิทธิพลให้สามารถทำสิ่งที่ยอดเยี่ยม แต่คำภาษาต่างประเทศที่มีความหมายตามพจนานุกรมจะเป็นคำที่ไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะเพราะเป็นคำที่เล็งถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้าที่ขอจดทะเบียนโดยตรงหรือไม่นั้น ต้องพิจารณาว่าความหมายของคำที่ประกอบเป็นเครื่องหมายการค้าดังกล่าวทำให้ผู้ใช้สินค้าสามารถทราบได้ทันทีหรือไม่ว่าเป็นเครื่องหมายการค้าที่เกี่ยวข้องกับสินค้าใด หากเป็นเครื่องหมายซึ่งเป็นคำที่มีความหมายเป็นการบรรยายถึงลักษณะของสินค้าซึ่งทำให้ผู้ใช้สินค้าสามารถทราบได้ทันทีว่าเป็นเครื่องหมายที่เกี่ยวข้องกับสินค้าใด จึงจะถือว่าเป็นเครื่องหมายที่เล็งถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้านั้นโดยตรง ในขณะที่เครื่องหมายที่มีความหมายเป็นการบรรยายถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้านั้นทางอ้อม ผู้ใช้สินค้าต้องใช้ความคิดและจินตนาการหรือแปลความหมายที่ซ้ำซ้อนกันนั้นอีกชั้นหนึ่งก่อนจึงจะรู้ว่าเป็นเครื่องหมายที่เกี่ยวข้องกับสินค้าใด แม้อาจเป็นเครื่องหมายที่เล็งถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้าก็เป็นไปโดยทางอ้อม หาใช่เป็นเครื่องหมายที่เล็งถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้าที่ขอจดทะเบียนโดยตรงไม่ เมื่อพิจารณาความหมายของคำว่า "INSPIRE" ที่ปรากฏตามที่จำเลยทั้งสองนำสืบกล่าวอ้างดังกล่าว คือ กระตุ้นหรือส่งอิทธิพลให้สามารถทำสิ่งที่ยอดเยี่ยม ประกอบกับรายการสินค้าที่โจทก์นำคำว่า "INSPIRE" ไปใช้ คือ สีทา สีทาด้วยลูกกลิ้ง สีพ่น น้ำมันชักเงา แลกเกอร์ สารทำให้แห้ง ทินเนอร์ และสารทำให้เกิดสี ซึ่งทั้งหมดใช้เป็นสารเติมใส่แลกเกอร์ สารกันสนิม สารป้องกันการเสื่อมสภาพของไม้ สารที่เตรียมขึ้นใช้ทารองพื้นในลักษณะของสี สีแต้ม/ย้อมไม้ ยางเรซินธรรมชาติ(ยางมัสติก) สีโป๊ว สี น้ำมันชักเงา หรือแลกเกอร์ในลักษณะแผ่นปะติดที่สามารถย้ายตำแหน่งใหม่ได้ คำว่า "INSPIRE" ดังกล่าวไม่ได้มีความหมายที่บ่งบอกถึงคุณสมบัติของสินค้าของโจทก์โดยตรงว่าเป็นสินค้าที่เมื่อผู้บริโภคใช้แล้วจะเกิดการกระตุ้นหรือส่งอิทธิพลให้สามารถทำสิ่งที่ยอดเยี่ยมได้แต่อย่างใด ที่คณะกรรมการเครื่องหมายการค้าวินิจฉัยอุทธรณ์ว่า คำว่า "INSPIRE" เมื่อนำมาใช้กับรายการสินค้าที่โจทก์ขอจดทะเบียนดังกล่าวแล้วจะทำให้เข้าใจได้ว่าสินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้านี้เป็นสินค้าที่ยอดเยี่ยมนั้น เป็นการใช้จินตนาการเกินเลยไปกว่าความหมายที่ปรากฏของคำดังกล่าว และแม้คำดังกล่าวจะเป็นคำที่โน้มน้าวจูงใจให้สาธารณชนทั่วไปเข้าใจ ใช้ความคิดจินตนาการต่อเนื่องกันไปได้ว่า สินค้าที่โจทก์ใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวจะเป็นสินค้าที่กระตุ้นหรือมีอิทธิพลให้สามารถทำสิ่งที่ยอดเยี่ยมได้ ก็เป็นการใช้จินตนาการตีความหมายถ้อยคำที่ซับซ้อนให้โยงเกี่ยวข้องถึงสินค้าในทางอ้อม มิได้เป็นคำที่เล็งถึงคุณสมบัติของสินค้าที่โจทก์ขอจดทะเบียนโดยตรง คำว่า "INSPIRE" จึงเป็นคำที่มีลักษณะบ่งเฉพาะแล้ว เมื่อนำคำว่า "INSPIRE" มาใช้ประกอบกับคำว่า "DULUX" เป็นเครื่องหมายการค้าคำว่า "DULUX INSPIRE" ในลักษณะที่ไม่มีคำใดเป็นจุดเด่นกว่าคำใด ทั้งสองคำจึงเป็นภาคส่วนที่เป็นสาระสำคัญของเครื่องหมาย แม้คำว่า "INSPIRE" จะเป็นสาระสำคัญของเครื่องหมายการค้าที่โจทก์ขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าด้วย แต่เมื่อวินิจฉัยแล้วว่าคำดังกล่าวเป็นคำที่มีลักษณะบ่งเฉพาะเครื่องหมายการค้าคำว่า "DULUX INSPIRE" จึงมิใช่เครื่องหมายการค้าที่มีเครื่องหมายส่วนหนึ่งส่วนใดอันเป็นสาระสำคัญของเครื่องหมายที่ไม่มีลักษณะอันพึงรับจดทะเบียน และเมื่อคำว่า "INSPIRE" เป็นคำที่มีลักษณะบ่งเฉพาะ ประกอบกับไม่ปรากฏว่าคำว่า "INSPIRE" เป็นสิ่งที่ใช้กันสามัญในการค้าขายสำหรับสินค้าที่โจทก์ขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า จึงไม่จำต้องให้โจทก์แสดงปฏิเสธว่าไม่ขอถือเป็นสิทธิของตนแต่ผู้เดียวในอันที่จะใช้คำว่า "INSPIRE" ของเครื่องหมายการค้าของโจทก์ กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยปัญหาตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองที่ว่า เครื่องหมายการค้าคำว่า "DULUX INSPIRE" ตามคำขอจดทะเบียนคำขอนี้ของโจทก์มีลักษณะบ่งเฉพาะจากการใช้หรือไม่อีกต่อไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2359/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การมอบอำนาจฟ้องคดี: หนังสือมอบอำนาจทั่วไปไม่ครอบคลุมอำนาจยื่นฟ้องต่อศาล
คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องและนำสืบว่า โจทก์มอบอำนาจให้ บ. ฟ้องและดำเนินคดีแทนโจทก์ ตามหนังสือมอบอำนาจ หนังสือมอบอำนาจดังกล่าวระบุข้อความในการมอบอำนาจแต่เพียงว่า บ. มีสิทธิในการลงนามเอกสารดำเนินการทั้งหมดของบริษัทสาขาทั้งภายในและภายนอก อันมีลักษณะเป็นการมอบอำนาจโดยไม่ระบุกิจการ โดยมิได้ระบุให้ บ. มีอำนาจยื่นฟ้องต่อศาล จึงเป็นหนังสือมอบอำนาจทั่วไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 801 วรรคหนึ่ง แม้โจทก์จะมี บ. มาเบิกความยืนยันว่าตามหนังสือมอบอำนาจ พยานมีสิทธิดำเนินคดีนี้แทนโจทก์ เป็นการนำสืบพยานบุคคลเพิ่มเติมหรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขพยานเอกสาร ซึ่งต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 94 (ข) ข้อเท็จจริงรับฟังไม่ได้ว่าโจทก์ได้มอบอำนาจให้ บ. ฟ้องคดีนี้แทนโจทก์โดยชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1606/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การจดทะเบียนเครื่องหมายบริการที่คล้ายคลึงกัน แต่ต่างประเภทสินค้า/บริการ และกลุ่มผู้บริโภค ไม่ทำให้สับสน
เครื่องหมายบริการที่โจทก์ยื่นขอจดทะเบียนและเครื่องหมายการค้าที่ ว. ได้จดทะเบียนไว้แล้ว เป็นประเภทเครื่องหมายคำและเป็นคำอักษรโรมันคำว่า "EIKON" เหมือนกัน มีเสียงเรียกขานอย่างเดียวกันว่า "อิ-คอน" ถือได้ว่าคล้ายกันมาก แต่ถึงขนาดทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าหรือบริการหรือไม่นั้น ย่อมต้องพิจารณาจากกลุ่มสาธารณชนผู้บริโภคหรือผู้รับบริการของโจทก์และผู้ใช้สินค้าของ ว. เป็นสำคัญ เมื่อโจทก์ยื่นขอจดทะเบียนเพื่อใช้กับบริการจำพวกที่ 42 ส่วนเครื่องหมายการค้าของ ว. ได้รับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าไว้ใช้กับสินค้าในจำพวกที่ 9 นับได้ว่าเป็นการจดทะเบียนกันคนละประเภทและต่างจำพวกกัน รายการบริการที่โจทก์ขอจดทะเบียน คือ บริการการใช้เช่าคอมพิวเตอร์ บริการการออกแบบคอมพิวเตอร์ซอฟต์แวร์สำหรับบุคคลอื่น เป็นต้น ส่วนรายการสินค้าที่ ว. ได้จดทะเบียนไว้แล้วคือ เครื่องควบคุมกระแสไฟฟ้า ฟิวส์ เต้าเสียบ สวิตช์ เป็นต้น อันเป็นกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ไฟฟ้า ถือได้ว่า รายการบริการและรายการสินค้าสองกลุ่มนี้มีลักษณะแตกต่างกัน กลุ่มผู้ใช้สินค้าและบริการเป็นคนละกลุ่มกัน เนื่องจากรายการบริการของโจทก์เน้นเกี่ยวกับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและอิเล็กทรอนิกส์ กลุ่มผู้รับบริการของโจทก์จึงเป็นกลุ่มที่มีความรู้ความสนใจความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและอิเล็กทรอนิกส์ และต้องใช้วิจารณญาณในการเลือกผู้ให้บริการที่มีความน่าเชื่อถือและมีคุณภาพ ส่วนรายการสินค้าของ ว. เป็นกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ไฟฟ้าเป็นสินค้าที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยในการใช้สินค้า ชีวิต และทรัพย์สินของผู้บริโภคด้วย ผู้ซื้อสินค้าดังกล่าวย่อมต้องพินิจพิเคราะห์อย่างระมัดระวัง จึงมิใช่เรื่องที่สาธารณชนจะสับสนหลงผิดได้โดยง่าย ทั้งไม่ปรากฏข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการแอบอิงหรือแสวงหาประโยชน์ในชื่อเสียงเกียรติคุณในเครื่องหมายการค้ากรณียังถือไม่ได้ว่าเครื่องหมายบริการที่โจทก์ยื่นขอจดทะเบียนและเครื่องหมายการค้าที่ ว. ได้จดทะเบียนไว้แล้วคล้ายกันจนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าหรือบริการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1087/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ กรรมเดียวผิดหลายบท: การแสดงตนเป็นเจ้าพนักงาน, หน่วงเหนี่ยวกักขัง, พยายามกรรโชกทรัพย์ และโทษทางอาญา
การที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันแสดงตนเป็นเจ้าพนักงานตำรวจและกระทำการเป็นเจ้าพนักงานตำรวจ เข้าตรวจค้นห้องพักของผู้เสียหายทั้งสี่และรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายที่ 2 และที่ 3 เมื่อพบเมทแอมเฟตามีนอันเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 จึงทำบันทึกการจับกุม แล้วจำเลยทั้งสามร่วมกันหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้เสียหายทั้งสี่ไว้ภายในห้องพัก และขู่เข็ญให้แจ้งญาตินำเงินไปมอบให้จำเลยทั้งสามมิฉะนั้นจะส่งตัวไปดำเนินคดี เป็นการกระทำโดยมีเจตนาเดียวกันเพื่อให้ได้มาซึ่งเงินจากผู้เสียหายทั้งสี่ และเป็นการกระทำที่ต่อเนื่องเชื่อมโยงกัน จึงเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท
of 23