คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.พ.พ. ม. 155 วรรคแรก

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 3 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1871/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ นิติกรรมอำพราง: การซื้อขายที่ดินเพื่อปกปิดการยกให้เป็นโมฆะ แต่การยกให้ย่อมไม่เป็นโมฆะตามไปด้วย
ผ. กับจำเลยทำนิติกรรม ตามบันทึกข้อตกลงเรื่องกรรมสิทธิ์รวม (มีค่าตอบแทน) มีข้อความว่าจำเลยเสียค่าตอบแทนให้ ผ. เป็นเงิน 1,600,000 บาท และ ผ. จดทะเบียนกรรมสิทธิ์รวมให้จำเลยจำนวน 2,000 ส่วน แต่จำเลยไม่ได้ให้ค่าตอบแทนจำนวนดังกล่าวแก่ ผ. เพราะ ผ. จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์รวมให้แก่จำเลยโดยไม่มีค่าตอบแทน แต่ทำบันทึกข้อตกลงดังกล่าวเพื่อลวงไม่ให้บุตรซึ่งเป็นบิดาโจทก์ทราบ ถือได้ว่า ผ. ทำบันทึกข้อตกลงดังกล่าว ซึ่งเป็นนิติกรรมซื้อขายที่ดินกับจำเลยเพื่ออำพรางนิติกรรมยกให้
การที่นิติกรรมอันหนึ่งทำขึ้นเพื่ออำพรางนิติกรรมอีกอันหนึ่ง นิติกรรมอันแรกคือบันทึกข้อตกลงเรื่องกรรมสิทธิ์รวม (มีค่าตอบแทน) ย่อมเป็นการแสดงเจตนาลวงด้วยสมรู้กันระหว่างคู่กรณี นิติกรรมดังกล่าวย่อมเป็นโมฆะ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 155 วรรคแรก ส่วนนิติกรรมที่ถูกอำพรางคือสัญญาให้ต้องบังคับตามบทบัญญัติของกฎหมายที่ถูกอำพราง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 155 วรรคสอง การที่ ผ. จดทะเบียนข้อตกลงเรื่องกรรมสิทธิ์รวม (มีค่าตอบแทน) ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินเช่นเดียวกับนิติกรรมให้ ย่อมถือได้ว่าการจดทะเบียนข้อตกลงเรื่องกรรมสิทธิ์รวมดังกล่าวเป็นการทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนสำหรับนิติกรรมการให้ที่ถูกอำพรางด้วย นิติกรรมการยกที่ดินให้ระหว่าง ผ. กับจำเลยจึงไม่เป็นโมฆะ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1201/2541

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การสืบพยานหลักฐานและผลกระทบต่อการรับฟังพยาน การแสดงเจตนาลวงในสัญญาประกันภัย
คู่ความซึ่งมีหน้าที่นำพยานมาสืบภายหลังต้องถามค้านพยานของคู่ความฝ่ายที่นำสืบก่อนในเวลาที่พยานเบิกความตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 89 นั้น ต้องเป็นกรณีที่คู่ความฝ่ายที่มีหน้าที่นำสืบภายหลังประสงค์จะสืบพยานของตนเพื่อหักล้างหรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขถ้อยคำพยานฝ่ายที่นำสืบก่อนในข้อความทั้งหลายซึ่งพยานเช่นว่านั้นเป็นผู้รู้เห็นหรือเพื่อพิสูจน์ข้อความอย่างใดอย่างหนึ่งอันเกี่ยวด้วยการกระทำหรือถ้อยคำหรือหนังสือซึ่งพยานเช่นว่านั้นได้กระทำขึ้นโดยเฉพาะ คดีนี้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4นำสืบหักล้างพยานโจทก์โดยตรง ไม่ใช่เป็นการจู่โจมทางพยานหลักฐานหรือเอาเปรียบโจทก์ จึงไม่ต้องด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 89 ศาลรับฟังได้ ก่อนจะตกลงทำสัญญาประกันภัย โจทก์กับจำเลยที่ 2ถึงที่ 4 ได้ตกลงกันตามเอกสารหมาย ล.1 ซึ่งมีข้อความว่าโจทก์ยอมรับเบี้ยประกันอัตราร้อยละ 30 ของเบี้ยประกันภัยทั้งหมดและให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเองนับแต่วันที่ 8 มิถุนายน 2536 ถึงวันที่ 30 ธันวาคม 2536แต่ตามกรมธรรม์ประกันภัยเอกสารหมาย จ.10 และ จ.13 ระบุให้จำเลยทั้งสี่ชำระเบี้ยประกันทั้งหมดและให้โจทก์เป็นผู้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตลอดอายุสัญญาการแสดงเจตนาในการทำสัญญาประกันภัยดังกล่าวจึงเป็นการแสดงเจตนาลวงโดยโจทก์กับจำเลยทั้งสี่สมรู้กันทำขึ้นเพื่อลวงบุคคลอื่นว่าจำเลยทั้งสี่เป็นผู้เอาประกันภัยและโจทก์เป็นผู้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้บุคคลภายนอก สัญญาประกันภัยจึงตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 155 วรรคหนึ่งจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ซึ่งเป็นคู่กรณียกขึ้นต่อสู้โจทก์ได้ข้อเท็จจริงตามคำฟ้องโจทก์ฟังได้ว่าจำเลยทั้งสี่ได้ชำระเบี้ยประกันให้โจทก์ไปแล้วตามข้อตกลงเอกสารหมาย ล.1โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องเรียกค่าเบี้ยประกันจากจำเลยทั้งสี่อีก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2728/2538

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การโอนทรัพย์สินที่ถูกยึดโดยเจตนาสมยอมเพื่อหลีกเลี่ยงหนี้ ถือเป็นโมฆะ
การที่ผู้ร้องรู้อยู่ว่าที่พิพาทซึ่งจำเลยเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์และมีสิทธิครอบครองอยู่ด้วยถูกยึดเพื่อขายทอดตลาดเอาชำระหนี้โจทก์อยู่ แต่ก็ยังรับโอนที่พิพาทโดยอ้างว่าเจ้าพนักงานที่ดินยอมทำการจดทะเบียนการโอน ถือว่าผู้ร้องรับโอนโดยไม่สุจริต เป็นพฤติการณ์ที่สมคบกันเพื่อหลีกเลี่ยงมิให้ที่พิพาทถูกยึดใช้หนี้โจทก์การจดทะเบียนซื้อขายที่พิพาทระหว่าง ส. ในฐานะผู้จัดการมรดก ป. ในส่วนที่เป็นมรดกตกแก่จำเลยกับผู้ร้อง จึงเป็นไปโดยการสมยอมกันซึ่งเป็นเจตนาลวงตกเป็นโมฆะ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 118 วรรคแรก เดิม (มาตรา 155 วรรคแรก ที่แก้ไขใหม่)