พบผลลัพธ์ทั้งหมด 23 รายการ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4770/2567
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
กรรมสิทธิ์เงินฝาก ความเสียหายจากการปลอมแปลงเอกสาร และอำนาจฟ้องคดีลักทรัพย์
เงินที่โจทก์นำมาฝากเข้าบัญชีเงินฝากธนาคาร ท. อยู่ในความครอบครองของธนาคาร ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของธนาคาร ท. ซึ่งธนาคารผู้รับฝากย่อมมีสิทธิในการบริหารจัดการเงินฝากจำนวนดังกล่าว ธนาคารผู้รับฝากคงมีหน้าที่เพียงต้องคืนเงินตามจำนวนที่โจทก์ซึ่งเป็นลูกค้านำเข้าฝากไว้เท่านั้น ธนาคารผู้รับฝากไม่จำเป็นต้องคืนเงินเป็นจำนวนอันเดียวกับที่โจทก์ฝากไว้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 672 เงินจำนวนดังกล่าวที่จำเลยรับไปจึงเป็นเงินของธนาคาร ท. ผู้รับฝาก มิใช่เงินของโจทก์ การที่จำเลยทำใบถอนเงินที่ปลอมขึ้นมาเบิกถอนจากบัญชีเงินฝากของโจทก์แล้วเอาเงินจำนวนดังกล่าวไปเข้าบัญชีธนาคารของจำเลย ธนาคาร ท. ผู้รับฝากจึงเป็นผู้เสียหายโดยตรง โจทก์จึงไม่ใช่ผู้เสียหายที่แท้จริงในความผิดฐานลักทรัพย์ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (4)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4637/2567 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การไม่แจ้งวันนัดสืบพยานให้จำเลยที่ขาดนัดยื่นคำให้การทราบ ทำให้กระบวนการพิจารณาคดีไม่ชอบ ศาลฎีกาเพิกถอนกระบวนการ
ป.วิ.พ. มาตรา 184 วรรคสอง บัญญัติว่า "ในกรณีที่ไม่มีการชี้สองสถาน ให้ศาลออกหมายกำหนดวันนัดสืบพยานส่งให้คู่ความทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่าสิบวัน" การที่ศาลชั้นต้นสืบพยานโจทก์และพยานจำเลยที่ 7 แล้วนัดฟังคำพิพากษาไปโดยมิได้แจ้งวันนัดสืบพยานให้จำเลยอื่นซึ่งเป็นคู่ความที่มิได้มาศาลในวันที่ศาลชั้นต้นกำหนดวันนัดสืบพยานทราบ จึงไม่ชอบด้วยบทบัญญัติดังกล่าว แม้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าจำเลยอื่นที่ไม่ได้มาศาลในวันกำหนดนัดสืบพยานขาดนัดยื่นคำให้การแล้วก็ตาม เพราะจำเลยอื่นที่ขาดนัดยื่นคำให้การนี้ยังคงมีสิทธิถามค้านพยานโจทก์ได้ เพียงแต่จะนำสืบพยานหลักฐานของตนไม่ได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 199 วรรคสอง ดังนั้น การที่ศาลชั้นต้นกำหนดวันนัดสืบพยานโจทก์และพยานจำเลยที่ 7 ที่ 32 ที่ 34 และที่ 40 ในวันที่ 25 ถึง 27 พฤศจิกายน 2563 โดยมิได้แจ้งวันนัดสืบพยานให้จำเลยอื่นที่ขาดนัดยื่นคำให้การและมิได้มาศาลทราบและต่อมามีการสืบพยานตามที่กำหนดนัดไว้ แล้วศาลชั้นต้นนัดฟังคำพิพากษาโดยมิได้แจ้งวันนัดให้จำเลยอื่นที่ขาดนัดยื่นคำให้การดังกล่าวทราบ จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบ และไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติว่าด้วยการพิจารณาคดี ศาลฎีกาเห็นสมควรเพิกถอนกระบวนพิจารณาตั้งแต่การนัดสืบพยานเป็นต้นไปตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27 ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 252 ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จะไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 252
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4637/2567
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การเพิกถอนกระบวนพิจารณาคดีเนื่องจากศาลมิได้แจ้งวันนัดสืบพยานให้จำเลยที่ขาดนัดทราบ
ป.วิ.พ. มาตรา 184 วรรคสอง บัญญัติว่า "ในกรณีที่ไม่มีการชี้สองสถาน ให้ศาลออกหมายกำหนดวันนัดสืบพยานส่งให้คู่ความทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่าสิบวัน" การที่ศาลชั้นต้นสืบพยานโจทก์และพยานจำเลยที่ 7 แล้วนัดฟังคำพิพากษาไปโดยมิได้แจ้งวันนัดสืบพยานให้จำเลยอื่นซึ่งเป็นคู่ความที่มิได้มาศาลในวันที่ศาลชั้นต้นกำหนดวันนัดสืบพยานทราบ จึงไม่ชอบด้วยบทบัญญัติดังกล่าว แม้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าจำเลยอื่นที่ไม่ได้มาศาลในวันกำหนดนัดสืบพยานขาดนัดยื่นคำให้การแล้วก็ตาม เพราะจำเลยอื่นที่ขาดนัดยื่นคำให้การนี้ยังคงมีสิทธิถามค้านพยานโจทก์ได้ เพียงแต่จะนำสืบพยานหลักฐานของตนไม่ได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 199 วรรคสอง ดังนั้น การที่ศาลชั้นต้นกำหนดวันนัดสืบพยานโจทก์และพยานจำเลยที่ 7 ที่ 32 ที่ 34 และที่ 40 ในวันที่ 25 ถึง 27 พฤศจิกายน 2563 โดยมิได้แจ้งวันนัดสืบพยานให้จำเลยอื่นที่ขาดนัดยื่นคำให้การและมิได้มาศาลทราบและต่อมามีการสืบพยานตามที่กำหนดนัดไว้ แล้วศาลชั้นต้นนัดฟังคำพิพากษาโดยมิได้แจ้งวันนัดให้จำเลยอื่นที่ขาดนัดยื่นคำให้การดังกล่าวทราบ จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบ และไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติว่าด้วยการพิจารณาคดี ศาลฎีกาเห็นสมควรเพิกถอนกระบวนพิจารณาตั้งแต่การนัดสืบพยานเป็นต้นไปตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27 ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 252 ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จะไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 252 เมื่อปรากฏเหตุที่ศาลชั้นต้นมิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ. ว่าด้วยการพิจารณา ศาลฎีกาจำต้องส่งสำนวนคืนไปให้ศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษาใหม่ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 243 (2) ประกอบมาตรา 252
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3440/2567
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
อำนาจเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในการจัดการทรัพย์สินของลูกหนี้ และสิทธิของเจ้าหนี้ในการโต้แย้ง
การที่ผู้คัดค้านทำรายงานความเห็นและมีหมายแจ้งให้โจทก์คืนเงิน 2,500,000 บาท เข้ากองทรัพย์สินในคดีล้มละลายเป็นการกระทำในขั้นตอนของการจัดการกิจการและทรัพย์สินของจำเลยที่ 4 ซึ่งเป็นอำนาจของผู้คัดค้านแต่เพียงผู้เดียว ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 22 และ 24 ซึ่งตามรายงานความเห็นและหมายแจ้งของผู้คัดค้านดังกล่าวเป็นเพียงการแจ้งข้อเท็จจริงประกอบข้อกฎหมายให้โจทก์ทราบ แม้ในตอนท้ายจะมีข้อความขอให้โจทก์คืนเงินจำนวนดังกล่าวภายใน 30 วัน นับแต่ได้รับหมายนี้ ก็มิได้มีลักษณะเป็นคำสั่งหรือคำวินิจฉัยชี้ขาดที่กฎหมายบัญญัติให้โจทก์ต้องปฏิบัติตาม รายงานความเห็นและหมายแจ้งของผู้คัดค้านดังกล่าวจึงหามีสภาพบังคับแก่โจทก์ไม่ แม้ต่อมาหากปรากฏว่าผู้คัดค้านดำเนินคดีแก่โจทก์ ก็ยังไม่เป็นการแน่นอนว่าโจทก์ต้องคืนเงินจำนวนดังกล่าวเข้ากองทรัพย์สินในคดีล้มละลาย เพราะศาลอาจมีคำวินิจฉัยหรือคำสั่งเป็นอย่างอื่นได้ ลำพังรายงานความเห็นและหมายแจ้งของผู้คัดค้านที่แจ้งไปยังโจทก์ดังกล่าว จึงยังไม่เป็นการกระทำหรือคำวินิจฉัยของผู้คัดค้านที่ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ตามมาตรา 146 โจทก์จึงไม่มีอำนาจร้องขอต่อศาลให้มีคำสั่งเพิกถอนรายงานความเห็นของผู้คัดค้านที่ให้เรียกเงิน 2,500,000 บาท คืนจากโจทก์เพื่อรวบรวมเข้ากองทรัพย์สินในคดีล้มละลาย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2278/2567
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การค้ำประกันหนี้ - ความรับผิดของผู้ค้ำประกันบุคคลธรรมดา - ข้อแตกต่างจากผู้ค้ำประกันที่เป็นนิติบุคคล
แม้หนังสือสัญญาค้ำประกันหนี้ในอนาคตที่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ทำไว้แก่โจทก์หลังจาก ป.พ.พ. มาตรา 681/1 ที่แก้ไขใหม่มีผลใช้บังคับจะมีข้อความในวรรคสุดท้ายของข้อ 1 ระบุว่า กรณีผู้ค้ำประกันเป็นนิติบุคคล ผู้ค้ำประกันตกลงผูกพันตนเพื่อรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมหรือในฐานะลูกหนี้ร่วมกับลูกหนี้ในการชำระหนี้ดังกล่าวข้างต้นก็เป็นเพียงข้อตกลงที่ใช้ในกรณีผู้ค้ำประกันเป็นนิติบุคคล แต่การทำหนังสือสัญญาค้ำประกันหนี้ในอนาคตของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 เป็นเรื่องบุคคลธรรมดาทำสัญญาค้ำประกันกับโจทก์ มิใช่นิติบุคคลทำสัญญาค้ำประกันตามวรรคสุดท้ายของข้อ 1 ทั้งตามสัญญาค้ำประกันดังกล่าวก็ไม่มีข้อความที่ระบุว่าจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ตกลงยอมรับผิดอย่างเดียวกับลูกหนี้ร่วมหรือในฐานะเป็นลูกหนี้ร่วมกับจำเลยที่ 1 ลูกหนี้ชั้นต้นแต่อย่างใด ดังนั้นการทำหนังสือสัญญาค้ำประกันหนี้ในอนาคตของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ดังกล่าวจึงหาตกเป็นโมฆะ โจทก์มีอำนาจฟ้องบังคับให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ในฐานะผู้ค้ำประกันรับผิดต่อโจทก์หากจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ให้โจทก์ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2019/2567
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ค่าเสียหายเชิงลงโทษต้องคำนวณจากค่าเสียหายที่แท้จริง ศาลมิอาจสั่งจ่ายค่าเสียหายเชิงลงโทษหากไม่ได้กำหนดค่าเสียหายที่แท้จริงเสียก่อน
การกำหนดค่าเสียหายเพื่อการลงโทษที่ศาลจะสั่งให้ผู้ประกอบธุรกิจชดใช้ได้นั้น จะกระทำได้ต่อเมื่อศาลได้กำหนดให้มีการชดใช้ค่าเสียหายที่แท้จริงเสียก่อนเพื่อนำมาเป็นฐานในการคำนวณค่าเสียหายเพื่อการลงโทษ แต่คดีนี้ศาลพิพากษาให้จำเลยคืนเงินตามสัญญาซื้อขายห้องชุดแก่ผู้บริโภค พร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันที่จำเลยรับเงินไป โดยให้ผู้บริโภคจดทะเบียนห้องชุดพิพาทคืนแก่จำเลยอันเป็นผลมาจากสัญญาซื้อขายห้องชุดเลิกกันตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 วรรคหนึ่ง มิได้เป็นการกำหนดค่าเสียหายอันเกิดจากการที่จำเลยผิดสัญญาตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 วรรคท้าย ศาลจึงไม่อาจกำหนดค่าเสียหายเพื่อการลงโทษได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1781/2567
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การขายที่ดินหลังทำสัญญาประนีประนอมยอมความเรื่องค่าเช่า ศาลฎีกาพิพากษาให้จำเลยต้องชดใช้ค่าเสียหาย
ข้อตกลงตามสัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างโจทก์กับจำเลยในคดีฟ้องหย่าและแบ่งสินสมรสเรื่องก่อน กำหนดให้ที่ดินพิพาทเป็นของจำเลย และจำเลยตกลงแบ่งเงินค่าเช่าที่เกิดจากการให้เช่าที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ในอัตรา 40 ส่วน ใน 100 ส่วน ของค่าเช่าที่เกิดจากการให้เช่าจากบริษัท ป. หรือบริษัทอื่นที่ประกอบกิจการด้านอุตสาหกรรมตลอดไปจนกว่าโจทก์จะถึงแก่ความตาย ก่อให้เกิดหนี้ผูกพันระหว่างกันที่จำเลยจะต้องชำระหนี้ให้แก่โจทก์ตามเงื่อนไขที่กำหนด แม้ไม่มีข้อกำหนดใดห้ามมิให้จำเลยขายที่ดินพิพาทในอันที่โจทก์จะนำมาใช้อ้างว่าจำเลยกระทำผิดข้อสัญญาประนีประนอมยอมความได้ และจำเลยในฐานะเจ้าของที่ดินพิพาทย่อมมีสิทธิขายที่ดินพิพาทได้อย่างอิสระก็ตาม แต่เมื่อในเวลาที่จำเลยขายที่ดินพิพาทนั้นโจทก์ยังไม่ถึงแก่ความตายอันเป็นเงื่อนไขซึ่งเป็นสาระสำคัญของข้อตกลงที่โจทก์มีสิทธิได้รับส่วนแบ่งของเงินค่าเช่าจนกว่าจะถึงแก่ความตาย ย่อมเป็นการทำให้การชำระหนี้กลายเป็นพ้นวิสัยจะทำได้ เพราะพฤติการณ์อันใดอันหนึ่งซึ่งจำเลยผู้เป็นลูกหนี้ต้องรับผิดชอบ จำเลยจึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์เพื่อค่าเสียหายอย่างใด ๆ อันเกิดแต่การไม่ชำระหนี้นั้น ตาม ป.พ.พ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1464/2567
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การเพิกถอนการขายทอดตลาด: ผู้ซื้อต้องตรวจสอบสภาพทรัพย์ก่อนประมูล หากเกิน 14 วันหลังทราบการกระทำ ไม่มีสิทธิเรียกร้อง
ประกาศเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เรื่องขายทอดตลาดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างระบุเลขที่ดิน ที่ตั้งของที่ดิน สภาพของที่ดินและด้านหลังของประกาศดังกล่าวได้ทำแผนที่สังเขปแสดงการไปที่ดินพิพาทไว้ โดยประกาศอย่างเปิดเผยต่อประชาชนทั่ว ๆ ไป ผู้ร้องหรือบุคคลอื่น ๆ ที่ประสงค์จะเข้าประมูลซื้อที่ดินพิพาทย่อมมีโอกาสตรวจสอบความถูกต้องของที่ดินพิพาทก่อนที่จะเข้าประมูลสู้ราคาได้ นอกจากนี้แผนที่สังเขปแนบท้ายประกาศดังกล่าวก็ระบุสภาพของที่ดินพิพาทไว้ชัดเจนว่า ถนนด้านหน้าที่ดินพิพาทคือถนนกำแพงเพชร 7 ซึ่งผู้ร้องสามารถตรวจสอบได้โดยไม่ยากว่า ถนนดังกล่าวเป็นถนนเลียบทางรถไฟสายตะวันออกและเป็นของการรถไฟแห่งประเทศไทยเพราะเป็นข้อมูลที่เปิดเผยต่อสาธารณชนทั่วไปและสามารถสืบค้นได้ทางอินเทอร์เน็ต เมื่อผู้ร้องไม่ได้ทำการตรวจสอบก่อนเข้าประมูลซื้อ ทั้งข้อสัญญาท้ายประกาศขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ก็ระบุไว้ด้วยว่า ผู้ซื้อทรัพย์มีหน้าที่ต้องตรวจสอบรายละเอียดเกี่ยวกับทรัพย์ที่จะซื้อตามสถานที่ และแผนที่สังเขปแนบท้ายประกาศ และถือว่าผู้ซื้อได้ทราบถึงสภาพทรัพย์โดยละเอียดครบถ้วนแล้ว จึงเป็นความบกพร่องและประมาทเลินเล่อของผู้ร้องเอง เมื่อประกาศขายทอดตลาดที่ดินพิพาทได้ระบุถึงสภาพที่ดินไว้โดยชัดแจ้งแล้ว ถือว่าผู้ร้องได้ทราบถึงสภาพทรัพย์ที่ทำการขายทอดตลาดและทราบถึงการขายทอดตลาดซึ่งเป็นการกระทำของผู้คัดค้านที่ 1 ในวันขายทอดตลาดวันที่ 22 เมษายน 2562 แล้ว การที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอเพิกถอนการขายทอดตลาดที่ดินพิพาทเป็นคดีนี้ในวันที่ 21 เมษายน 2564 จึงเกินกำหนดระยะเวลา 14 วัน นับแต่วันที่ผู้ร้องทราบถึงการกระทำหรือคำวินิจฉัยของผู้คัดค้านที่ 1 ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิที่จะยื่นคำร้องตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 146
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 432-433/2567
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การเพิกถอนนิติกรรมซื้อขายที่ดินจากการถูกหลอกลวง และความรับผิดทางละเมิดจากการปลอมเอกสาร
แม้โจทก์ที่ 1 มีเพียงคำขอให้เพิกถอนนิติกรรมต่าง ๆ ระหว่างจำเลยทั้งสี่โดยมิได้มีคำขอให้ใช้ราคาที่ดินทั้งสองแปลงแก่โจทก์ที่ 1 ก็ตาม แต่เมื่อศาลไม่อาจพิพากษาให้เพิกถอนนิติกรรมดังกล่าวเพื่อให้ที่ดินทั้งสองแปลงกลับคืนมาเป็นของโจทก์ที่ 1 ได้ ศาลย่อมมีอำนาจพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันใช้ค่าสินไหมทดแทนเท่ากับราคาที่ดินทั้งสองแปลงตามราคาที่ดินที่คู่ความแถลงรับกันแก่โจทก์ที่ 1 ได้ ไม่ถือว่าเป็นการพิพากษาเกินคำขอตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 วรรคหนึ่ง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4072/2566
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ความผิดฐานสมคบองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติกับการกระทำความผิดฐานดำเนินการให้มีการตั้งครรภ์แทน เป็นความผิดต่างกรรมกัน
ความผิดฐานมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติเป็นความผิดสำเร็จตั้งแต่มีการสมคบโดยรวมตัวกันเป็นคณะบุคคลกระทำการชักชวน ว. ให้รับตั้งครรภ์แทนผู้อื่น โดยจะให้เงินเป็นการตอบแทนเพื่อกระทำความผิดฐานดำเนินการให้มีการตั้งครรภ์แทนเพื่อประโยชน์ทางการค้า โดยความผิดดังกล่าวจะกระทำในเขตแดนของรัฐมากกว่าหนึ่งรัฐ ซึ่งเป็นความผิดร้ายแรงอันเกี่ยวข้องกับองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ ส่วนความผิดฐานดำเนินการให้มีการตั้งครรภ์แทนเพื่อประโยชน์ทางการค้า เกิดขึ้นเมื่อจำเลยทั้งสองกับพวกให้ ว. ไปรับการตรวจร่างกายที่โรงพยาบาลแล้วนำเอาตัวอ่อนที่เกิดจากอสุจิผสมกับไข่ใส่เข้าไปในรังไข่ของ ว. ซึ่งสามารถแยกการกระทำและเจตนาในการกระทำความผิดฐานมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติกับความผิดฐานดำเนินการให้มีการตั้งครรภ์แทนเพื่อประโยชน์ทางการค้าออกจากกันได้ ความผิดทั้งสองฐานนี้ จึงเป็นความผิดต่างกรรมกัน