คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.อ. ม. 33 (1)

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 145 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1322/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การริบเครื่องคอมพิวเตอร์เป็นทรัพย์ที่ใช้ในการละเมิดลิขสิทธิ์ ต้องพิจารณาถึงการใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ทั้งหมด ไม่ใช่แค่หน่วยความจำ
โจทก์บรรยายฟ้องในข้อ 2 ว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันละเมิดลิขสิทธิ์งานโปรแกรมคอมพิวเตอร์ของผู้เสียหาย โดยนำเอาโปรแกรมคอมพิวเตอร์ของผู้เสียหายซึ่งมีผู้ทำซ้ำดัดแปลงขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายไปบันทึกลงในหน่วยความจำถาวร (Hard Disk) ของเครื่องคอมพิวเตอร์ที่อยู่ในความดูแลครอบครองของจำเลยทั้งสอง โดยใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ดังกล่าวเป็นอุปกรณ์ในการทำซ้ำ ดัดแปลงโปรแกรมคอมพิวเตอร์ดังกล่าว โดยใช้วิธีบันทึกโปรแกรมคอมพิวเตอร์ลงในหน่วยความจำของเครื่องคอมพิวเตอร์ และบรรยายฟ้องในข้อ 3 ว่า เจ้าพนักงานพบเครื่องคอมพิวเตอร์ดังกล่าวซึ่งมีโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่จำเลยทั้งสองทำซ้ำ ดัดแปลงขึ้น โดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายอันเป็นทรัพย์ที่ใช้ในการกระทำผิดดังกล่าว เมื่อจำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า จำเลยทั้งสองใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ดังกล่าวในการกระทำความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์ในงานวรรณกรรมโปรแกรมคอมพิวเตอร์ของผู้เสียหาย เมื่อหน่วยความจำของเครื่องคอมพิวเตอร์เพียงอย่างเดียวไม่สามารถที่จะทำการละเมิดงานโปรแกรมคอมพิวเตอร์อันเป็นลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายได้ต้องอาศัยอุปกรณ์อื่นในเครื่องคอมพิวเตอร์ทั้งหมดประกอบกันจึงจะสามารถทำซ้ำ ดัดแปลงงานอันเป็นลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายได้ กรณีจึงต้องริบเครื่องคอมพิวเตอร์ของกลาง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11925/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดฐานใช้บัตรปลอม, ปลอมและใช้เอกสารราชการ, การริบทรัพย์สินที่ใช้ในการกระทำผิด
หลังจากเจ้าพนักงานจับจำเลยที่ 3 ได้พร้อมใบคู่มือจดทะเบียนรถยนต์และแผ่นป้ายแสดงการเสียภาษีรถยนต์ปลอมของรถยนต์หมายเลขทะเบียน 1ฬ - 2678 กรุงเทพมหานคร แล้ว จึงให้จำเลยที่ 3 โทรศัพท์ไปหาจำเลยที่ 4 เพื่อนัดรับใบคู่มือจดทะเบียนรถยนต์ปลอมของรถยนต์หมายเลขทะเบียน 7ฮ - 9961 กรุงเทพมหานคร การที่จำเลยที่ 4 นำใบคู่มือจดทะเบียนรถยนต์ปลอมของรถยนต์หมายเลขทะเบียน 7ฮ - 9961 กรุงเทพมหานคร มาส่งให้แก่จำเลยที่ 3 ตามที่จำเลยที่ 3 สั่งทำนั้น ถือว่าเป็นการใช้เอกสารราชการใบคู่มือจดทะเบียนรถยนต์ปลอมของรถยนต์หมายเลขทะเบียน 7ฮ - 9961 กรุงเทพมหานคร แล้ว
ในวันรุ่งขึ้นหลังการจับกุมจำเลยที่ 4 พนักงานสอบสวนได้สอบคำให้การจำเลยที่ 4 และในชั้นพิจารณาที่จำเลยที่ 4 เบิกความต่อศาล จำเลยที่ 4 ไม่เคยกล่าวอ้างว่า จำเลยที่ 4 รับราชการทหาร ทั้งขณะฟ้องคดีนี้ไม่ปรากฏหลักฐานว่า จำเลยที่ 4 รับราชการทหาร ศาลชั้นต้นจึงมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนี้ได้
การที่จำเลยที่ 4 ปลอมหนังสือแสดงการจดทะเบียนของรถบรรทุกส่วนบุคคลหมายเลขทะเบียน 81 - 0409 กรุงเทพมหานคร กับปลอมแผ่นป้ายแสดงการเสียภาษีของรถบรรทุกส่วนบุคคลดังกล่าวนั้น จำเลยที่ 4 มีเจตนาอย่างเดียวกันคือ เพื่อนำไปใช้หรือแสดงต่อผู้พบเห็นว่ารถยนต์คันดังกล่าวเป็นรถยนต์ที่จดทะเบียนและเสียภาษีถูกต้องเพื่อจะได้ใช้รถยนต์คันดังกล่าวโดยชอบ การกระทำของจำเลยที่ 4 ในส่วนนี้จึงเป็นความผิดกรรมเดียว
แม้ตรายางที่ยึดได้ภายในรถยนต์ของจำเลยที่ 4 บางอันจะไม่ใช่ตรายางที่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ใช้ในการกระทำความผิดคดีนี้ แต่ตรายางที่ยึดได้นั้น เห็นได้ชัดว่า เป็นอุปกรณ์ที่มีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิดฐานปลอมเอกสารราชการของกรมการขนส่งทางบกโดยเฉพาะ จึงต้องริบตรายางทั้ง 25 อัน ตาม ป.อ. มาตรา 33 (1)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2271/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การริบทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องกับคดียาเสพติด: รถยนต์, โทรศัพท์, เงินสด และการพิจารณาความเชื่อมโยงกับการกระทำผิด
จำเลยที่ 3 ใช้รถยนต์ของกลางเป็นยานพาหนะไปซื้อผักกาดขาวมาใช้ซ่อนเร้นเมทแอมเฟตามีนของกลาง และพาจำเลยที่ 5 และที่ 6 ซึ่งมีเมทแอมเฟตามีนของกลางไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายไปส่งที่ศาลาพักผู้โดยสาร อันเป็นการใช้รถยนต์ของกลางในการกระทำความผิดหรือให้ได้รับผลในการกระทำความผิดโดยตรงอันจะพึงริบตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 102 และ ป.อ. มาตรา 33 (1)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14262/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดกรรมเดียวและความผิดหลายกรรมต่างกันในคดีจำหน่ายภาพยนตร์และสินค้าควบคุมฉลาก
ความผิดฐานขายสินค้าที่ควบคุมฉลากโดยไม่มีฉลากและจัดทำฉลากไม่ถูกต้อง เป็นความผิดต่อกฎหมายคนละฉบับกับความผิดฐานประกอบกิจการให้เช่า แลกเปลี่ยน หรือจำหน่ายภาพยนตร์และวีดิทัศน์ โดยทำเป็นธุรกิจหรือได้รับประโยชน์ตอบแทนโดยไม่ได้รับใบอนุญาต โดยมีองค์ประกอบความผิดแตกต่างกัน ทั้งเจตนาในการกระทำความผิดสามารถแยกจากกันได้ การกระทำของจำเลยในความผิดฐานนี้จึงเป็นการกระทำอีกกรรมหนึ่งแยกต่างหากจากความผิดสองฐานดังกล่าว
ความผิดฐานประกอบกิจการให้เช่า แลกเปลี่ยน หรือจำหน่ายภาพยนตร์และวีดิทัศน์โดยทำเป็นธุรกิจหรือได้รับประโยชน์ตอบแทนโดยไม่ได้รับใบอนุญาต สาระสำคัญของการกระทำความผิดอยู่ที่การประกอบกิจการโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ส่วนความผิดฐานขายสินค้าที่ควบคุมฉลากโดยไม่มีฉลากและจัดทำฉลากไม่ถูกต้อง สาระสำคัญของการกระทำความผิดอยู่ที่สินค้าที่ควบคุมฉลากนั้นไม่มีฉลากหรือจัดทำฉลากไม่ถูกต้อง หาใช่เกิดจากตัวสินค้าโดยตรงไม่ แผ่นดีวีดีและซีดีของกลางจึงไม่ใช่ทรัพย์สินซึ่งบุคคลได้ใช้หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิดอันจะพึงริบได้ตาม ป.อ. มาตรา 33 (1)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11225/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การลักทรัพย์เพื่อบังคับชำระหนี้ แม้พฤติการณ์ไม่ร้ายแรง ศาลไม่ริบทรัพย์สิน
จำเลยทั้งสามเอาทรัพย์ของกลางของผู้เสียหายไปเพื่อให้ผู้เสียหายไปติดต่อชำระหนี้เงินกู้ที่ค้างชำระจำเลยที่ 1 แต่การกระทำของจำเลยทั้งสามเป็นการบังคับให้ผู้เสียหายชำระหนี้โดยพลการ ซึ่งไม่มีอำนาจจะกระทำได้ตามกฎหมาย การกระทำของจำเลยทั้งสามถือเป็นการกระทำโดยมีเจตนาทุจริตแล้ว จึงเป็นความผิดฐานร่วมกันลักทรัพย์ แต่สำหรับรถยนต์กระบะของกลาง แม้เป็นทรัพย์ที่ใช้ในการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ก็ตาม แต่พฤติการณ์แห่งความผิดของจำเลยทั้งสามไม่ร้ายแรงมากนัก โทษจำคุกและโทษปรับที่กำหนด เชื่อว่าทำให้จำเลยทั้งสามหลาบจำ จึงไม่กำหนดโทษริบทรัพย์สินอีก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2481/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การริบของกลางคดีศุลกากรและการลงโทษปรับที่ถูกต้องตามกฎหมาย
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งห้าในความผิดฐานร่วมกันช่วยซ่อนเร้น ช่วยจำหน่าย พาเอาไปเสีย ซื้อ รับจำนำ หรือรับไว้ด้วยประการใดๆ ซึ่งของอันตนรู้ว่าเป็นของที่นำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงอากร ฐานมีไว้เพื่อขายซึ่งยาสูบที่มิได้ปิดแสตมป์ยาสูบ และฐานเสนอจำหน่ายและมีไว้เพื่อจำหน่ายซึ่งสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าปลอม และขอให้ศาลสั่งริบรถยนต์เก๋งของกลาง โดยอ้างว่าจำเลยทั้งห้าใช้รถยนต์เก๋งของกลางดังกล่าวบรรทุกบุหรี่ของกลาง เมื่อคดีนี้มิได้สืบพยานโจทก์จำเลยจึงต้องพิจารณาข้อเท็จจริงที่ปรากฏจากคำฟ้องและคำให้การ เมื่อข้อเท็จจริงตามฟ้องโจทก์ไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งห้าได้ใช้รถยนต์เก๋งคันดังกล่าวซุกซ่อนขนย้ายบุหรี่ของกลางไปในลักษณะอย่างไร ทั้งรถยนต์โดยสภาพแล้วก็เป็นยานพาหนะที่บุคคลทั่วไปใช้เป็นยานพาหนะสัญจรตามธรรมดาในชีวิตประจำวัน รถยนต์เก๋งของกลางจึงมิได้เป็นเครื่องมือ เครื่องใช้ หรือยานพาหนะที่จำเลยทั้งห้าได้ใช้ในการกระทำความผิดตามที่โจทก์ฟ้องโดยตรง จึงไม่อาจริบรถยนต์เก๋งของกลางตาม ป.อ. มาตรา 33 (1) ได้
เมื่อโจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งห้าร่วมกันกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 27 ทวิ และข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยทั้งห้ากระทำความผิดมาตราดังกล่าว มิใช่มาตรา 27 ซึ่งมาตรา 27 ทวิ เพิ่งบัญญัติขึ้นเมื่อปี 2499 ตาม พ.ร.บ.ศุลกากร (ฉบับที่ 13) พ.ศ.2499 ส่วน พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 32 ที่บัญญัติว่า "เรือชนิดใดๆ อันมีระวางบรรทุกไม่เกินสองร้อยห้าสิบตันก็ดี รถ เกวียน ยานพาหนะ หีบห่อ หรือภาชนะใดๆ หากได้ใช้หรือมีไว้เพื่อใช้ในการย้าย ซ่อนเร้นหรือขนของที่ยังมิได้เสียค่าภาษี หรือที่ต้องจำกัดหรือต้องห้าม ให้ริบเสียทั้งสิ้น" ย่อมเป็นบทบัญญัติที่เป็นการระบุให้ริบทรัพย์ซึ่งเป็นความผิดตามกฎหมายศุลกากรซึ่งใช้ในขณะนั้น ซึ่งมิได้รวมถึงความผิดตามมาตรา 27 ทวิด้วยแต่อย่างใด รถยนต์เก๋งของกลางในคดีนี้จึงจะริบตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 32 ไม่ได้เช่นกัน
พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 27 ทวิ กำหนดให้ลงโทษปรับแก่ผู้กระทำความผิดเป็นสี่เท่าของราคาของซึ่งได้รวมค่าอากรเข้าด้วยแล้ว ซึ่งแม้จะมิได้บัญญัติความเจาะจงลงไปว่า สำหรับความผิดครั้งหนึ่งๆ ให้ปรับเป็นเงินสี่เท่าของราคาของซึ่งได้รวมค่าอากรเข้าด้วยแล้วเช่นเดียวกับมาตรา 27 ก็ตาม แต่มาตรา 27 ทวิ เป็นบทบัญญัติต่อท้ายและเป็นความผิดต่อเนื่องจากมาตรา 27 ดังนั้น ในเรื่องโทษนี้ก็ย่อมมีความหมายเช่นเดียวกับที่บัญญัติไว้ในมาตรา 27 ว่า สำหรับความผิดครั้งหนึ่งๆ นั่นเอง ไม่ใช่ให้ปรับสำหรับความผิดครั้งหนึ่งๆ แล้วแบ่งปรับเป็นรายบุคคลคนละเท่าๆ กัน การที่ศาลลงโทษปรับจำเลยทั้งห้าเรียงตัวคนละสี่เท่าราคาของซึ่งได้รวมค่าอากรเข้าด้วยแล้วจึงเป็นการปรับจำเลยทั้งห้าสำหรับความผิดครั้งหนึ่งๆ เกินกว่าสี่เท่า ซึ่งขัดต่อบทบัญญัติมาตราดังกล่าว ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลมีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องตาม พ.ร.บ. จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 45 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9317/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การริบทรัพย์สิน (เรือประมง) ในความผิดคนเข้าเมือง: ต้องเป็นทรัพย์ที่ใช้ในการกระทำความผิดโดยตรง
โจทก์บรรยายฟ้องเกี่ยวกับเรือประมงของกลางว่าเป็นยานพาหนะในการหลบหนีแก่บุคคลต่างด้าว ดังนั้นเรือประมงของกลางจึงเป็นเพียงยานพาหนะในการหลบหนีเท่านั้น มิใช่ทรัพย์ที่ใช้ในการนำหรือพาคนต่างด้าวเข้ามาโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ที่โจทก์อ้างในฎีกาว่า เรือประมงของกลางเป็นทรัพย์ที่ใช้ในการกระทำความผิดโดยตรง เพราะหากไม่มีเรือประมงของกลาง การนำและพาคนต่างด้าวเข้ามาในราชอาณาจักรทางทะเลย่อมไม่อาจทำได้นั้น ก็ไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้บรรยายไว้ในคำฟ้อง จึงไม่อาจรับฟังได้ส่วนความผิดฐานให้ที่พักอาศัย ซ่อนเร้นเพื่อให้คนต่างด้าวพ้นจากการจับกุม โดยให้คนต่างด้าวเข้าอยู่และหลบซ่อนอยู่ในเรือนั้น ก็คงฟังได้เพียงว่าเรือเป็นสถานที่เกิดเหตุเท่านั้น มิใช่ทรัพย์ที่ใช้ในการกระทำความผิดโดยตรง จึงไม่อาจริบได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1491-1492/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ จำเลยที่ 2 ไม่มีความผิดฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย พยานหลักฐานโจทก์ไม่เพียงพอ
ห้องนอนที่พบเมทแอมเฟตามีนของกลางเป็นห้องนอนเล็กๆ มีที่นอนและตู้เสื้อผ้าสำหรับคนเพียงคนเดียว ซึ่งในบันทึการตรวจค้นจับกุมก็ระบุว่าเมทแอมเฟตามีนของกลางซุกซ่อนอยู่ที่ซับในหมวกนิรภัยซึ่งวางอยู่พื้นห้องนอนของจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 1 เป็นผู้นำเจ้าพนักงานตรวจค้น ทั้งกระสุนปืนขนาดต่างๆ ที่พบในห้องนอนดังกล่าวก็เป็นของจำเลยที่ 1 ประกอบกับบ้านเกิดเหตุมี 2 ห้องนอน จึงเชื่อว่าห้องนอนที่พบเมทแอมเฟตามีนของกลางเป็นห้องนอนของจำเลยที่ 1 ไม่ใช่ห้องนอนของจำเลยที่ 2 เมื่อเมทแอมเฟตามีนซุกซ่อนอยู่ในซับในของหมวกนิรภัย บุคคลอื่นจึงไม่อาจมองเห็นได้จากภายนอก ดังนั้น จำเลยที่ 2 ย่อมไม่รู้ว่ามีเมทแอมเฟตามีนของกลางซุกซ่อนในหมวกนิรภัย เจ้าพนักงานตำรวจผู้จับกุมอ้างว่า จำเลยที่ 2 มีพฤติการณ์ในการจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน แต่ก็ไม่มีหลักฐานใดๆ หรือรูปถ่ายที่แสดงให้เห็นว่ามีการติดตามความเคลื่อนไหวหรือพฤติการณ์ของจำเลยที่ 2 ในการจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน โจทก์มีเพียงพยานเบิกความกล่าวอ้างลอยๆ จึงไม่มีน้ำหนักให้รับฟัง พยานโจทก์อีกสองปากต่างก็เบิกความยืนยันว่า เคยซื้อเมทแอมเฟตามีนจากจำเลยที่ 1 และที่ 3 เท่านั้น ไม่เคยซื้อจากจำเลยที่ 2 แม้ ร.ต.อ. ธ.พนักงานสอบสวนจะเบิกความประกอบคำให้การในชั้นสอบสวนของ ส. ว่า ได้สอบปากคำ ส. เพื่อร่วมงานของจำเลยทั้งสามและ ส. ให้การว่าเคยซื้อเมทแอมเฟตามีนจากจำเลยทั้งสาม แต่โจทก์ก็ไม่นำ ส. มาเบิกความเพื่อให้ทนายจำเลยที่ 2 ถามค้านเพื่อพิสูจน์ พยานคำให้การดังกล่าวจึงมีน้ำหนักน้อย นอกจากนี้แล้วโจทก์ไม่มีพยานอื่นใดมานำสืบให้เห็นว่าจำเลยที่ 2 มีพฤติการณ์หรือร่วมรู้เห็นกับจำเลยที่ 1 ในการมีเมทแอมเฟตามีนของกลางไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย เช่นนี้ แม้จำเลยที่ 2 จะอยู่กับจำเลยที่ 1 ขณะเจ้าพนักงานจับกุมก็ไม่อาจสันนิษฐานเป็นผลร้ายแก่จำเลยที่ 2 ว่าจำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 1 มีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ลำพังคำรับสารภาพชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนเป็นเพียงพยานบอกเล่ามีน้ำหนักน้อย ทั้งจำเลยที่ 2 ก็นำสืบปฏิเสธว่าไม่ได้ให้การรับสารภาพด้วยความสมัครใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจำเลยที่ 1 ก็เบิกความเป็นพยายจำเลยที่ 2 ยืนยันว่าเมทแอมเฟตามีนของกลางเป็นของจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องด้วย พยานหลักฐานของโจทก์เท่าที่นำสืบมาจึงไม่มีน้ำหนักพอให้ฟังว่าจำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 1 กระทำความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย
บัญชีของกลาง 2 แผ่น มิใช่เครื่องมือเครื่องใช้หรือวัสดุอื่นซึ่งใช้ในการกระทำความผิดตามมาตรา 102 แห่ง พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษฯ และไม่ใช่ทรัพย์ที่ใช้หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 33 (1) จึงไม่อาจริบได้ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12543/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ รถจักรยานยนต์เป็นทรัพย์ที่ใช้ในการกระทำความผิด ริบได้ตาม ป.อ. มาตรา 33(1)
ฝ่ายผู้เสียหายขับรถจักรยานยนต์ แล้วจำเลยขับรถจักรยานยนต์พานาย ฉ. ไปยิงผู้เสียหาย หากไม่มีรถจักรยานยนต์ของกลาง การกระทำความผิดในคดีนี้ก็คงไม่เกิดขึ้น การที่จำเลยกับพวกกระทำความผิดในคดีนี้สำเร็จหรือไม่ จึงอาศัยการใช้รถจักรยานยนต์เป็นสำคัญ รถจักรยานยนต์ของกลางจึงเป็นทรัพย์ที่ใช้ในการกระทำผิด จึงต้องริบตาม ป.อ. มาตรา 33 (1)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11260/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจศาลริบทรัพย์สินที่ใช้ในการกระทำความผิดอาญา แม้ไม่มีบทบัญญัติเฉพาะในกฎหมายอาญา
แม้ศาลจะสั่งให้ริบรถยนต์กระบะของกลางสำหรับความผิดตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2584 มาตรา 29 ทวิ ไม่ได้ เพราะไม่มีบทบัญญัติตามกฎหมายดังกล่าวบัญญัติไว้โดยตรงแต่ก็ไม่มีบทบัญญัติใดที่แสดงให้เห็นว่าไม่ต้องการให้นำบทบัญญัติในภาค 1 แห่ง ป.อ. มาใช้บังคับ ทั้งตาม ป.อ. มาตรา 33 ก็ได้บัญญัติให้ศาลมีอำนาจริบทรัพย์สินที่ได้ใช้หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิดได้ นอกเหนือจากอำนาจริบตามกฎหมายที่บัญญัติไว้โดยเฉพาะแล้ว ดังนั้น เมื่อรถยนต์กระบะของกลางเป็นทรัพย์ที่จำเลยที่ 1 กับพวกได้ใช้ในการกระทำความผิด ศาลก็มีอำนาจริบรถยนต์กระบะของกลางได้ตาม ป.อ. มาตรา 33 (1) การที่จำเลยที่ 1 กับพวกใช้รถยนต์กระบะของกลางเป็นพาหนะใช้ในการขนกล้วยไม้ป่าจำนวน 320 ต้น น้ำหนัก 31 กิโลกรัม ซึ่งเป็นของป่าหวงห้ามที่มีไว้ในครอบครองเพื่อการค้า โดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ลักษณะการกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 กับพวก นอกจากเป็นเหตุทำให้กล้วยไม้ป่าอาจสูญพันธุ์ไปจากป่าของประเทศไทยแล้ว ยังมีผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพต่างๆ ซึ่งเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่มีความสำคัญต่อระบบนิเวศ จึงสมควรริบรถยนต์กระบะของกลาง
(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 1/2553)
of 15