คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.วิ.อ. ม. 237 วรรคสอง

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 4 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 609/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เขตอำนาจศาลคดีฉ้อโกง: การพิจารณาจากสถานที่รับเงินและความต่อเนื่องของการกระทำผิด
ปัญหาว่าความผิดเกิดขึ้นในเขตอำนาจของศาลชั้นต้นซึ่งศาลชั้นต้นมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีหรือไม่ เป็นเรื่องอำนาจฟ้องอันเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยทั้งสองไม่ได้ให้การต่อสู้และยกขึ้นว่ากล่าวในศาลชั้นต้นและชั้นอุทธรณ์ จำเลยทั้งสองก็มีสิทธิฎีกาในปัญหาข้อนี้ได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง และมาตรา 225 ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499 มาตรา 4 และ พ.ร.บ.ให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ. 2520 มาตรา 3
พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499 ไม่มีบทบัญญัติเรื่องอำนาจศาล จึงต้องนำ ป.วิ.อ. มาตรา 22 มาใช้บังคับแก่คดีนี้ ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499 มาตรา 4 ประกอบ พ.ร.บ.ให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ. 2520 มาตรา 3 โดย ป.วิ.อ. มาตรา 22 บัญญัติว่า "เมื่อความผิดเกิดขึ้น อ้างหรือเชื่อว่าได้เกิดขึ้นในเขตอำนาจของศาลใด ให้ชำระที่ศาลนั้น..." และ ป.อ. มาตรา 341 บัญญัติว่า "ผู้ใดโดยทุจริต หลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งและโดยการหลอกลวงดังว่านั้นได้ไปซึ่งทรัพย์สินของผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม...ผู้นั้นกระทำความผิดฐานฉ้อโกง..." แสดงว่า การกระทำความผิดฐานฉ้อโกงจะสำเร็จลงเมื่อผู้กระทำความผิดได้ไปซึ่งทรัพย์สินของผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม ดังนั้น ท้องที่ที่มีการมอบเงินให้แก่ผู้กระทำความผิดย่อมเป็นส่วนหนึ่งของการกระทำความผิด และถือว่าผู้กระทำความผิดได้กระทำความผิดฐานฉ้อโกงลงในท้องที่ดังกล่าวต่อเนื่องกับการกระทำความผิดในท้องที่ที่มีการหลอกลวงด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง การที่ น. ภริยา พ. โอนเงิน 11,475,520 บาท ที่ธนาคาร ก. เชียงของ จังหวัดเชียงราย เข้าบัญชีเงินฝากของจำเลยที่ 1 ที่ธนาคาร ส. สวนหลวง จำเลยที่ 1 ได้รับเงินจำนวนดังกล่าวแล้วออกใบเสร็จรับเงินที่จำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อและประทับตราสำคัญของจำเลยที่ 1 เป็นผู้รับเงินมอบให้แก่โจทก์ ถือได้ว่า สถานที่ น. ภริยา พ. ซึ่งเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของโจทก์โอนเงินที่ธนาคาร ก. เชียงของ ที่ทำให้จำเลยที่ 1 ได้ทรัพย์เป็นเงินจากโจทก์ เป็นส่วนหนึ่งของการกระทำความผิดต่อเนื่องกับการหลอกลวงโจทก์ด้วย ดังนั้น ศาลชั้นต้นซึ่งมีเขตอำนาจครอบคลุมอำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย ย่อมมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนี้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 22

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4173/2562

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจศาล, การรับฟังพยานหลักฐานชั้นไต่สวนมูลฟ้อง, ความผิดฐานโกงเจ้าหนี้
จำเลยที่ 2 และที่ 3 กระทำความผิดต่อเนื่องกันในท้องที่ต่าง ๆ ตั้งแต่ท้องที่ที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 โอนหุ้นโครงการคูล เรสซิเด้นท์ ในส่วนของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้บุคคลภายนอก และท้องที่ที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 จัดให้มีการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น รวมทั้งท้องที่ที่จำเลยที่ 2 นำส่งสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น ซึ่งโจทก์ทั้งสองได้บรรยายฟ้องระบุว่า จำเลยที่ 2 นำส่งสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นต่อนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัท สำนักงานพัฒนาธุรกิจการค้าเขต 1 (ปิ่นเกล้า) ถนนบรมราชชนนี แขวงบางบำหรุ เขตบางพลัด กรุงเทพมหานคร เมื่อเขตบางพลัดอยู่ในเขตอำนาจของศาลจังหวัดตลิ่งชัน โจทก์ทั้งสองฟ้องจำเลยที่ 2 และที่ 3 ฐานร่วมกันโกงเจ้าหนี้ต่อศาลจังหวัดตลิ่งชันซึ่งเป็นศาลที่ความผิดเกิดขึ้น อ้าง หรือเชื่อว่าได้เกิดขึ้น ศาลจังหวัดตลิ่งชันจึงมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนี้ได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 22 วรรคหนึ่ง
ป.วิ.อ. มาตรา 237 วรรคสอง เป็นกฎหมายที่ใช้บังคับในขณะศาลชั้นต้นสืบพยานโจทก์และจำเลย บัญญัติว่า "ในกรณีที่คู่ความตกลงกัน ศาลอาจอนุญาตให้ถือเอาบันทึกคำเบิกความพยานในชั้นไต่สวนมูลฟ้องเป็นคำเบิกความพยานในชั้นพิจารณา โดยพยานไม่ต้องเบิกความใหม่หรือให้พยานเบิกความตอบคำถามค้านของจำเลยไปทันทีได้ เว้นแต่ในข้อหาความผิดที่กฎหมายกำหนดอัตราโทษอย่างต่ำจำคุกตั้งแต่ห้าปีขึ้นไปหรือโทษสถานที่หนักกว่านั้น" ซึ่งความผิดที่โจทก์ทั้งสองฟ้องจำเลยที่ 2 และที่ 3 มีอัตราโทษจำคุกไม่เกินสองปี ไม่เข้าข้อยกเว้นตอนท้ายของบทบัญญัติดังกล่าว คดีนี้โจทก์ทั้งสองสืบพยานชั้นไต่สวนมูลฟ้อง ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าคดีมีมูล ในชั้นพิจารณา ศาลชั้นต้นจดรายงานกระบวนพิจารณาฉบับลงวันที่ 3 พฤศจิกายน 2558 ว่า คู่ความร่วมกันแถลงว่าสำหรับพยานโจทก์ปาก ธ. บ. และโจทก์ที่ 2 ได้เบิกความไว้ในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง ขออนุญาตศาลให้ถือเอาบันทึกคำเบิกความพยานในชั้นไต่สวนมูลฟ้องเป็นคำเบิกความพยานในชั้นพิจารณา ศาลอนุญาต ดังนี้ ศาลอุทธรณ์ย่อมมีอำนาจนำบันทึกคำเบิกความในชั้นไต่สวนมูลฟ้องมาเป็นคำเบิกความในชั้นพิจารณาได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2113/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การนำคำเบิกความชั้นไต่สวนมูลฟ้องมาใช้ในชั้นพิจารณา ต้องมีข้อตกลงระหว่างคู่ความและบันทึกในรายงานกระบวนพิจารณา
ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 237 วรรคสอง ระบุว่า ในกรณีที่คู่ความตกลงกัน ศาลอาจอนุญาตให้ถือเอาบันทึกคำเบิกความของพยานในชั้นไต่สวนมูลฟ้องเป็นคำเบิกความพยานในชั้นพิจารณาโดยพยานไม่ต้องเบิกความใหม่หรือให้พยานเบิกความตอบคำถามค้านของจำเลยไปทันทีได้ อันมีความหมายอยู่ในตัวว่าก่อนที่โจทก์หรือจำเลยจะนำพยานปากใดที่เคยเบิกความในชั้นไต่สวนมูลฟ้องมาเบิกความเป็นพยานในชั้นพิจารณา คู่ความสามารถตกลงกันได้ว่าไม่จำต้องให้พยานปากดังกล่าวต้องเบิกความซ้ำในข้อเท็จจริงเดียวกันนี้ และศาลจะต้องจดบันทึกข้อตกลงของคู่ความนี้ไว้ให้แจ้งชัดในรายงานกระบวนพิจารณา สำหรับคดีนี้ไม่ปรากฏในรายงานกระบวนพิจารณาในวันสืบพยานโจทก์ว่าคู่ความทั้งสองฝ่ายที่มาศาลได้ตกลงกันให้นำคำเบิกความของ ห. ในชั้นไต่สวนมูลฟ้องมาเป็นคำเบิกความในชั้นพิจารณา ศาลจึงไม่อาจนำคำเบิกความของ ห. ในชั้นไต่สวนมูลฟ้องมาเป็นคำเบิกความในชั้นพิจารณาได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6781/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การใช้คำเบิกความในชั้นไต่สวนมูลฟ้องเป็นหลักฐานในชั้นพิจารณาได้ หากคู่ความตกลงและไม่มีข้อจำกัดตามกฎหมาย
โจทก์แถลงขอให้ถือเอาบันทึกคำเบิกความพยานในชั้นไต่สวนมูลฟ้องเป็นคำเบิกความในชั้นพิจารณา จำเลยและทนายจำเลยแถลงไม่คัดค้าน ถือว่าโจทก์และจำเลยตกลงกันให้ถือเอาบันทึกคำเบิกความในชั้นไต่สวนมูลฟ้องเป็นคำเบิกความในชั้นพิจารณาได้โดยจำเลยทั้งสองไม่ติดใจถามค้านอีก เนื่องจากได้มีการถามค้านในชั้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว แม้จะไม่ปรากฏว่าศาลชั้นต้นสั่งอนุญาตในขณะนั้น แต่ศาลชั้นต้นได้ดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป โดยนำพยานชั้นไต่สวนมูลฟ้องมาเป็นพยานในชั้นพิจารณาแล้ววินิจฉัยไป เท่ากับว่าศาลชั้นต้นอนุญาตให้นำบันทึกคำให้การชั้นไต่สวนมูลฟ้องมาใช้ในชั้นพิจารณาได้ ตามบทบัญญัติ ป.วิ.อ. มาตรา 237 วรรคสอง