คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
จินดา ปัณฑะโชติ

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 101 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 17012/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คำพิพากษาไม่ชอบด้วยกฎหมายเนื่องจากผู้พิพากษาไม่มีอำนาจร่วมพิจารณาคดี
การสืบพยานโจทก์และจำเลยแต่ละนัดดังกล่าวมี ต. ผู้พิพากษาศาลชั้นต้นซึ่งเป็นเจ้าของสำนวนร่วมนั่งพิจารณาคดีทุกนัด โดยไม่ปรากฏว่า ส. ได้ร่วมนั่งพิจารณาคดีด้วย ส. จึงไม่มีอำนาจทำคำพิพากษาร่วมกับ ต. กรณีไม่เข้าหลักเกณฑ์ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 29 และ 30 คำพิพากษาศาลชั้นต้นที่ ส. ร่วมลงลายมือชื่อทำคำพิพากษาด้วยจึงไม่ชอบ คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นจึงไม่ชอบเช่นกัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16527/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เจตนาทำร้าย vs. พยายามฆ่า: การประเมินความผิดฐานทำร้ายร่างกายเจ้าพนักงาน
การที่จำเลยขับรถยนต์กระบะชนรถจักรยานยนต์สายตรวจที่จอดขวางอยู่ก็เพื่อต้องการเปิดทางหลบหนีการจับกุม ซึ่งจำเลยย่อมเล็งเห็นผลได้ว่าอาจทำให้ผู้เสียหายที่ 3 ที่ยืนอยู่บริเวณที่รถจักรยานยนต์ดังกล่าวจอดได้รับบาดเจ็บได้ จึงมีเจตนาทำร้ายผู้เสียหายที่ 3 เมื่อผลการตรวจร่างกายผู้เสียหายที่ 3 คงมีอาการปวดแก้มก้น 2 ข้าง และปวดขาข้างขวาถึงเท้า รักษาให้หายภายใน 7 วัน หากไม่มีโรคแทรกซ้อนตามผลการตรวจชันสูตรบาดแผลของแพทย์ ซึ่งอาการดังกล่าวยังถือไม่ได้ว่าผู้เสียหายที่ 3 ได้รับอันตรายแก่กาย การกระทำของจำเลยจึงมีความผิดฐานใช้กำลังทำร้ายผู้อื่นโดยไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายตาม ป.อ. มาตรา 391 และความผิดดังกล่าวก็เป็นความผิดอย่างหนึ่งที่รวมอยู่ในความผิดฐานพยายามฆ่าเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ตามฟ้องซึ่งมีโทษเบากว่า ศาลย่อมลงโทษความผิดฐานนี้ตามที่พิจารณาได้ความได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคท้าย ประกอบมาตรา 215 และ 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15690/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ หนังสือมอบอำนาจที่ปิดอากรแสตมป์ไม่ครบถ้วนตามกฎหมาย ไม่อาจใช้เป็นหลักฐานได้
หนังสือมอบอำนาจซึ่งปิดอากรแสตมป์ 30 บาท ครบถ้วนตามบัญชีอัตราอากรแสตมป์ท้ายประมวลรัษฎากร แต่ไม่มีการขีดฆ่าอากรแสตมป์ ย่อมถือว่ายังไม่ปิดอากรแสตมป์บริบูรณ์ดังที่บัญญัติไว้ในประมวลรัษฎากร มาตรา 118 จึงไม่อาจใช้หนังสือมอบอำนาจเป็นพยานหลักฐานเพื่อรับฟังว่ามีการมอบอำนาจให้ดำเนินคดีแทน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10906/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อตกลงเรื่องภาษีมูลค่าเพิ่มในสัญญาจ้าง: การตีความเจตนาคู่สัญญาและหน้าที่ทางภาษีของผู้ประกอบการ
ตามสัญญาจ้างไม่มีข้อความใดที่แสดงว่าภาษีมูลค่าเพิ่มรวมไว้กับราคาค่าจ้าง ทั้งจำนวนเงินค่าจ้างตามสัญญาก็ตรงกับใบเสนอราคา โดยใบเสนอราคามีข้อสังเกตระบุว่า ราคานี้ไม่รวมภาษี จึงไม่อาจรับฟังได้ว่ามีข้อตกลงให้รวมภาษีมูลค่าเพิ่มไว้ในจำนวนเงินค่าจ้างด้วย
ในส่วนงานว่าจ้างตกแต่งเพิ่มเติมอาคารสำนักงานใหญ่ งานติดตั้งโคมไฟฟ้า และตกแต่งอาคารสำนักงานที่จังหวัดเชียงใหม่ จำเลยจ่ายค่าจ้างให้โจทก์ตามหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ซึ่งจำเลยหักภาษี ณ ที่จ่าย ไว้ร้อยละ 3 หากมีข้อตกลงให้ภาษีมูลค่าเพิ่มรวมอยู่ในค่าจ้างด้วย จำเลยก็น่าจะแยกค่าภาษีมูลค่าเพิ่มออกต่างหากจากจำนวนเงินที่จะนำมาคำนวณเพื่อหักภาษี ณ ที่จ่าย ดังกล่าว ตามพฤติการณ์เป็นเรื่องที่โจทก์ไม่จัดทำและออกใบกำกับภาษีเพื่อเรียกเก็บภาษีขาย ส่วนจำเลยก็มิได้เรียกเอาใบกำกับภาษีมูลค่าเพิ่มจากโจทก์เป็นหลักฐานนำไปใช้เป็นภาษีซื้อ แม้ ป.รัษฎากร มาตรา 82 บัญญัติให้ผู้ประกอบการเป็นผู้มีหน้าที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่มาตรา 82/4 วรรคหนึ่ง ก็บัญญัติให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการ เมื่อโจทก์เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม โจทก์จึงมีสิทธิเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากจำเลย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9039/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การคืนเงินภาษีจากการได้รับการยกเว้นเงินได้จากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเมื่อเกษียณอายุ แม้ลาออกก่อนกำหนดโดยความตกลง
ตามข้อ 2 (36) แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ.2509) ว่า เงินหรือผลประโยชน์ใด ๆ ที่ลูกจ้างได้รับจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เมื่อลูกจ้างออกจากงานเพราะเกษียณอายุตามหลักเกณฑ์ที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนด ให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้เป็นกรณียกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาโดยอาศัยอำนาจตาม ป.รัษฎากร มาตรา 42 (17) ซึ่งประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 52) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการสำหรับกรณีลูกจ้างออกจากงานเพราะเกษียณอายุ ข้อ 1 (1) แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศอธิบดีกรมสรรพากรฯ (ฉบับที่ 151) และ (ฉบับที่ 158) ตามลำดับ กำหนดว่า กรณีเกษียณอายุ ลูกจ้างผู้นั้นต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 55 ปีบริบูรณ์ ซึ่งออกจากงานเพราะครบกำหนดหรือสิ้นกำหนดเวลาทำงานตามสัญญาจ้างแรงงานที่เป็นลายลักษณ์อักษร และเข้าเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี ดังนี้ ตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากรฯ (ฉบับที่ 52) ที่แก้ไขเพิ่มเติมแล้วดังกล่าว มิได้มีบทบังคับเด็ดขาดว่ากรณีเกษียณอายุจะต้องเป็นกำหนดเวลาทำงานที่มีอยู่แล้วตั้งแต่เวลาที่ลูกจ้างเริ่มเข้าทำงานแต่อย่างใด จึงไม่อาจขยายความให้เป็นผลร้ายแก่ผู้เสียภาษีอากรได้ แม้ตามข้อบังคับธนาคารแห่งประเทศไทยว่าด้วยการพนักงาน พ.ศ.2532 จะกำหนดเวลาการจ้างแรงงานไว้ในข้อ 26 คือ พนักงานคนใดมีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ ให้พ้นจากตำแหน่งเพราะครบเกษียณอายุเมื่อสิ้นปีงบประมาณตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณของปีที่พนักงานผู้นั้นมีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ ก็ตาม แต่การที่โจทก์ออกจากงานก่อนกำหนดดังกล่าวตามระเบียบธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นการเลิกสัญญาจ้างกันโดยความตกลงของทั้งสองฝ่ายที่เป็นลายลักษณ์อักษรในภายหลังอันมีผลให้กำหนดเวลาทำงานตามสัญญาจ้างแรงงานสิ้นสุดลง หาใช่เป็นการทำข้อตกลงให้โจทก์ลาออกในกรณีปกติตามข้อบังคับธนาคารแห่งประเทศไทย จึงถือได้ว่าโจทก์ออกจากงานเพราะสิ้นกำหนดเวลาทำงานตามสัญญาจ้างแรงงานที่เป็นลายลักษณ์อักษร ตามหลักเกณฑ์กรณีเกษียณอายุในข้อ 1 (1) ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร (ฉบับที่ 52) แล้ว เมื่อขณะออกจากงานโจทก์มีอายุ 58 ปี และเข้าเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี เงินได้ที่โจทก์ได้จากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพย่อมได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคลธรรมดา
มาตรา 63 แห่ง ป.รัษฎากร บัญญัติให้ผู้มีสิทธิได้รับคืนเงินภาษีที่ถูกหัก ณ ที่จ่าย และนำส่งแล้ว ต้องยื่นคำร้องต่อเจ้าพนักงานประเมินภายใน 3 ปี นับแต่วันสุดท้ายแห่งปีซึ่งได้ถูกหักภาษีเกินไปนั้น เป็นกรณีผู้นั้นมีสิทธิได้รับคืนเงินภาษีมาโดยตลอดตั้งแต่ต้น คดีนี้เงินได้ที่โจทก์ได้รับจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพประจำปีภาษี 2547 นั้น ได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ เป็นผลสืบเนื่องมาจากประกาศอธิบดีกรมสรรพากร (ฉบับที่ 52) ซึ่งได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศอธิบดีกรมสรรพากรฯ (ฉบับที่ 151) ลงวันที่ 16 มกราคม 2549 และ (ฉบับที่ 158) ลงวันที่ 18 ตุลาคม 2549 ตามลำดับ ทั้ง (ฉบับที่ 151) ยังระบุให้ใช้บังคับสำหรับเงินได้พึงประเมินประจำ พ.ศ.2537 ที่จะต้องยื่นรายการใน พ.ศ.2538 เป็นต้นไป อันเป็นการยกเว้นให้ย้อนหลังไปถึงเงินได้ที่ไม่อาจยื่นคำร้องขอคืนภายใน 3 ปี นับแต่วันสุดท้ายแห่งปีซึ่งได้ถูกหักภาษีเกินไปด้วย ซึ่งอาจไร้ผลหรือก่อผลประหลาดหากจะบังคับให้เป็นไปตามมาตรา 63 ดังนั้น เมื่อเงินได้ของโจทก์ที่ถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายในคดีนี้ได้รับผลย้อนหลังตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากรฯ (ฉบับที่ 151) จึงต้องคืนเงินภาษีอากรให้แก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7917/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เหตุบรรเทาโทษทางอาญา: การขาดความระมัดระวังของผู้เสียหายกับการข่มขืน, การพิจารณาข้อเท็จจริงและขอบเขตการแก้ไขโทษ
คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า การกระทำของจำเลยมีสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการขาดความระมัดระวังของผู้เสียหายซึ่งถือว่ามีเหตุอื่นอันเป็นเหตุบรรเทาโทษ จึงลดโทษให้จำเลยกึ่งหนึ่งตาม ป.อ. มาตรา 78 และศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืนมานั้น เห็นว่า การที่ผู้เสียหายเป็นพนักงานธนาคาร จำต้องทำยอดลูกค้าบัตรเครดิตให้ได้ตามที่ธนาคารกำหนด จึงยอมไปเที่ยวและร่วมรับประทานอาหารกับจำเลยเพราะผู้เสียหายเคยรับปากจำเลยไว้ จึงไม่อยากเสียคำพูดกับลูกค้า และในที่สุดยอมขึ้นไปที่ห้องพักบนอพาร์ตเมนต์ที่เกิดเหตุตามคำคะยั้นคะยอของจำเลยเป็นเหตุให้ถูกจำเลยใช้อาวุธปืนพูดขู่เข็ญและใช้กำลังบังคับข่มขืนกระทำชำเราจนสำเร็จความใคร่นั้น พฤติการณ์แห่งการกระทำความผิดของจำเลยดังกล่าว หาใช่กรณีที่จะถือได้ว่าสาเหตุแห่งการกระทำความผิดของจำเลยมีสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการขาดความระมัดระวังตัวของผู้เสียหาย อันจะถือว่ามีเหตุอื่นที่ศาลเห็นว่ามีเหตุอันควรปรานีลักษณะทำนองเดียวกับเหตุอื่น ๆ ที่บัญญัติไว้ใน ป.อ. มาตรา 78 ไม่ อย่างไรก็ตามเมื่อโจทก์มิได้อุทธรณ์ฎีกาในปัญหาข้อนี้ ศาลฎีกาก็ไม่อาจพิพากษาแก้เป็นไม่ลดโทษให้แก่จำเลยตามคำพิพากษาของศาลล่างทั้งสองได้ เพราะจะเป็นการพิพากษาเพิ่มเติมโทษจำเลยซึ่งต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 212 ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7363/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การยกเว้นภาษีเงินได้จากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพกรณีเกษียณอายุ: การตีความ 'สิ้นสุดสัญญาจ้าง' และข้อยกเว้นตามประกาศกรมสรรพากร
ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 52) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการสำหรับกรณีลูกจ้างออกจากงานเพราะเกษียณอายุ ทุพพลภาพ หรือตาย ที่แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 151) และ (ฉบับที่ 158) ตามลำดับ กำหนดว่า ข้อ 1 (1) กรณีเกษียณอายุ ลูกจ้างผู้นั้นต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 55 ปี บริบูรณ์ ซึ่งออกจากงานเพราะครบกำหนดหรือสิ้นกำหนดเวลาทำงานตามสัญญาจ้างแรงงานที่เป็นลายลักษณ์อักษร และเข้าเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี ดังนี้ ตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร ดังกล่าว มิได้มีบทบังคับเด็ดขาดว่ากรณีเกษียณอายุจะต้องเป็นกำหนดเวลาทำงานที่มีอยู่แล้วตั้งแต่เวลาที่ลูกจ้างเริ่มเข้าทำงาน จึงไม่อาจขยายความให้เป็นผลร้ายแก่ผู้เสียภาษีอากรได้ กรณีของโจทก์แม้ตามข้อบังคับธนาคารแห่งประเทศไทยว่าด้วยการพนักงาน พ.ศ.2546 จะกำหนดเวลาการจ้างแรงงานไว้ในข้อ 6.6 คือ พนักงานพ้นจากตำแหน่งเพราะครบเกษียณอายุ คือให้พนักงานผู้มีอายุครบ 60 ปี บริบูรณ์ พ้นจากตำแหน่งในวันที่ 1 ตุลาคม หลังจากที่พนักงานผู้นั้นมีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ ก็ตาม แต่การที่โจทก์ออกจากงานก่อนกำหนดดังกล่าวตามระเบียบธนาคารแห่งประเทศไทย ที่ พ 42/2547 เรื่อง การออกจากงานโดยความเห็นชอบร่วมกัน พ.ศ.2547 ถึง 2550 นั้น เป็นการเลิกสัญญาจ้างกันโดยความตกลงของทั้งสองฝ่ายที่เป็นลายลักษณ์อักษรในภายหลังอันมีผลให้กำหนดเวลาทำงานตามสัญญาจ้างแรงงานสิ้นสุดลง ทั้งมิใช่เป็นการทำข้อตกลงให้โจทก์ลาออกในกรณีปกติตามข้อบังคับธนาคารแห่งประเทศไทย ว่าด้วยการพนักงาน พ.ศ.2546 ข้อ 6.6 (2) จึงถือได้ว่าโจทก์ออกจากงานเพราะสิ้นกำหนดเวลาทำงานตามสัญญาจ้างแรงงานที่เป็นลายลักษณ์อักษร ตามหลักเกณฑ์กรณีเกษียณอายุในข้อ 1 (1) ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 52) ดังกล่าวแล้ว เมื่อขณะออกจากงานโจทก์มีอายุ 56 ปี และเข้าเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี เงินได้ที่โจทก์ได้จากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพย่อมได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6631/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อพิพาทสัญญาจ้างนักร้อง: เขตอำนาจศาล, หลักฐานสัญญา, สัญญาไม่เป็นธรรม, และดอกเบี้ย
แม้ขณะทำสัญญาจำเลยจะมีภูมิลำเนาอยู่ที่จังหวัดชัยนาท และลงลายมือชื่อในสัญญาที่อำเภอสรรคบุรี จังหวัดชัยนาทก็ตาม แต่เมื่อข้อเท็จจริงได้ความจากคำเบิกความของโจทก์ว่า โจทก์ลงลายมือชื่อในสัญญาที่ห้องบันทึกเสียงจาตุรงค์ จึงถือว่ามูลคดีนี้เกิดขึ้นที่ห้องบันทึกเสียงจาตุรงค์อีกแห่งหนึ่ง ซึ่งอยู่ในเขตอำนาจศาลชั้นต้นตาม ป.วิ.พ.มาตรา 4(1) การที่โจทก์เสนอคำฟ้องคดีต่อศาลชั้นต้นจึงชอบแล้ว
เมื่อจำเลยให้การยอมรับว่าทำสัญญาว่าจ้างร้องเพลงตามฟ้องจริง โดยมิได้ปฏิเสธถึงความถูกต้องของข้อความในสัญญา เพียงแต่ต่อสู้ว่าจำเลยไม่ต้องรับผิดเพราะสัญญาเลิกกันแล้ว จำเลยไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์เท่านั้น จึงต้องฟังว่าจำเลยยอมรับว่าได้ทำสัญญาว่าจ้างร้องเพลงกับโจทก์โดยไม่จำต้องอาศัยหนังสือสัญญาจ้างเป็นหลักฐานในคดีแม้สัญญาจะไม่ได้ปิดอากรแสตมป์ไม่ต้องห้ามตาม ป.รัษฎากร มาตรา 118 จึงรับฟังเป็นหลักฐานได้ และตามบทบัญญัติกฎหมายดังกล่าวมิได้บัญญัติว่าต้องปิดและขีดฆ่าอากรแสตมป์เมื่อใด เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าหนังสือมอบอำนาจมีการปิดและขีดฆ่าอากรแสตมป์แล้ว หนังสือมอบอำนาจจึงใช้บังคับได้
สัญญาว่าจ้างร้องเพลงระบุว่าโจทก์มีหน้าที่บันทึกเสียง จัดทำแผ่นเสียง แถบบันทึกเสียงคอมแพกดิสก์ วีดิโอ หรือโสตทัศนวัสดุอื่นใดทุกชนิด รวมทั้งมีหน้าที่โฆษณาประชาสัมพันธ์และเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการผลิต ค่าโฆษณาประชาสัมพันธ์เพื่อชื่อเสียงของจำเลยเองทั้งหมด โจทก์จึงต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมากและมีโอกาสเสี่ยงต่อการลงทุน ซึ่งต่างกับจำเลยซึ่งเพียงแต่ลงทุนแรงกายเป็นหลักเท่านั้น การที่สัญญาดังกล่าวจะระบุให้โจทก์ได้สิทธิและผลประโยชน์ตอบแทนจากรายได้ของจำเลยบางส่วนในกำหนด 5 ปี นับว่าเป็นระยะเวลาพอสมควรซึ่งหลังจากสิ้นสุดสัญญา จำเลยสามารถแสวงหารายได้จากการมีชื่อเสียงของตนได้เอง หาใช่เป็นการตัดการประกอบอาชีพของจำเลยทั้งหมดเสียทีเดียว ทั้งจำเลยก็สมัครใจทำสัญญาโดยยอมรับค่าตอบแทนที่โจทก์กำหนดให้ สัญญาดังกล่าวเป็นสัญญาที่รักษาสิทธิและประโยชน์ของคู่กรณีในเชิงการประกอบธุรกิจโดยชอบจึงไม่เป็นสัญญาที่ไม่เป็นธรรม
โจทก์มีคำขอให้บังคับจำเลยชำระดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 กำหนดให้จำเลยชำระดอกเบี้ยนับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2544 ซึ่งเป็นวันผิดนัดก่อนฟ้องคดี จึงเป็นการเกินคำขอ ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4928/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การวินิจฉัยสถานะผู้เสียหายในคดีอาญา: การพิจารณาจากพฤติการณ์การทะเลาะวิวาทและผลกระทบต่อสิทธิการเรียกร้องค่าสินไหม
ในการพิพากษาคดีอาญา หาได้มีบทบัญญัติของกฎหมายใดให้ศาลจำต้องถือตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีอาญาคดีอื่น เพราะคดีอาญาโจทก์ต้องมีหน้าที่นำสืบข้อเท็จจริงที่กล่าวหานั้น จึงจะฟังลงโทษจำเลยได้ ข้อเท็จจริงในคดีอาญาจะมีผลผูกพันคดีอื่นได้ก็เฉพาะที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.อ. มาตรา 46 เท่านั้น เมื่อข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นอื่นไม่ผูกพันในคดีนี้ ศาลก็ย่อมวินิจฉัยข้อเท็จจริงในคดีนี้ตามที่ปรากฏในสำนวน ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 ฟังข้อเท็จจริงในคดีอาญาของศาลชั้นต้นอื่นแล้ววินิจฉัยว่าโจทก์ร่วมกับจำเลยที่ 1 สมัครใจทะเลาะวิวาทกัน โจทก์ร่วมทำร้ายร่างกายจำเลยที่ 1 โจทก์ร่วมไม่ใช่ผู้เสียหาย จึงเป็นการไม่ชอบ
of 11