คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.พ.พ. ม. 150 (113 เ

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 3 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7014/2542 เวอร์ชัน 3 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาแสวงประโยชน์จากความขัดแย้งผู้อื่น: โมฆะตามกฎหมาย
สัญญาที่จำเลยทำกับ ส.มีข้อตกลงว่า ให้ ส.ติดต่อว่าจ้างทนายความในคดีที่จำเลยเป็นโจทก์ฟ้อง ก.ให้โอนที่ดินพิพาทแก่จำเลยตามหนังสือสัญญาจะซื้อขาย โดย ส.เป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ในการดำเนินคดีให้จนกว่าคดีจะถึงที่สุด และเมื่อคดีถึงที่สุดจำเลยชนะคดี จำเลยยอมยกที่ดินพิพาทให้แก่ ส.ทันทีโดย ส.จะต้องจ่ายเงินจำนวน 60,000 บาท แก่จำเลยในวันจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทเป็นการตอบแทน แต่ ส.ไม่มีส่วนได้เสียในที่ดินพิพาทและไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในมูลคดีที่จำเลยกับ ก.พิพาทกัน ดังนี้ สัญญาที่โจทก์และจำเลยทำขึ้นโดยมีข้อตกลงให้ส.ได้รับผลประโยชน์ตอบแทนจากการเป็นความ เป็นการแสวงหาประโยชน์จากการที่ผู้อื่นเป็นความกัน จึงเป็นสัญญาที่มีวัตถุประสงค์เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ย่อมตกเป็นโมฆะ ตาม ป.พ.พ.มาตรา 113 เดิม(มาตรา 150 ที่แก้ไขใหม่) กรณีไม่เป็นสัญญาที่เข้าลักษณะสัญญาจะซื้อขายที่ดินพิพาทโดยมีเงื่อนไขบังคับก่อน
เมื่อโจทก์ทำสัญญากับจำเลยโดยมีข้อความและเงื่อนไขเช่นเดียวกับสัญญาที่จำเลยทำกับ ส.ซึ่งถึงแก่ความตายไปก่อน โดยโจทก์ซึ่งไม่มีส่วนได้เสียในมูลคดีตกลงออกค่าใช้จ่ายให้จำเลยในการดำเนินคดีชั้นฎีกา เพราะหวังได้ที่ดินพิพาทมาเป็นของโจทก์ จึงเป็นการแสวงหาผลประโยชน์จากการที่ผู้อื่นเป็นความกัน สัญญาที่โจทก์ทำกับจำเลยตกเป็นโมฆะเช่นกัน โจทก์ฟ้องบังคับให้จำเลยโอนที่ดินพิพาทให้โจทก์และให้จำเลยรับเงินจากโจทก์ จำนวน 60,000 บาท ตามสัญญาไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2482/2539 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การโอนที่ดินเพื่อชำระหนี้แทนบุคคลอื่นเป็นโมฆะ และสิทธิเรียกร้องความเสียหายจากโมฆะกรรม
การที่โจทก์ตกลงยอมยกที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยโดยจำเลยชำระหนี้ให้แก่บุคคลภายนอกแทนโจทก์ มีผลเท่ากับโจทก์โอนที่ดินพิพาทให้แก่ผู้อื่นตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 31 แล้ว ข้อตกลงดังกล่าวจึงเป็นนิติกรรมที่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย ย่อมตกเป็นโมฆะ ไม่มีผลบังคับ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 113 (มาตรา 150 ที่แก้ไขใหม่)และเมื่อสัญญาระหว่างโจทก์จำเลยตกเป็นโมฆะ โจทก์ซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสียย่อมมีสิทธิยกเอาความเสียเปล่าแห่งโมฆะกรรมขึ้นกล่าวอ้างได้ ตาม ป.พ.พ.มาตรา 172 วรรคแรก ที่แก้ไขใหม่ การที่โจทก์มาฟ้องคดี จึงไม่เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5974/2538

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิบอกล้างสัญญาเกี่ยวกับทรัพย์สินระหว่างสมรส: โมฆะหากตกลงไม่ยกเลิก
สัญญาที่เกี่ยวกับทรัพย์สินที่สามีภริยาได้ทำไว้ต่อกันในระหว่างเป็นสามีภริยาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1469 ได้ให้สิทธิสามีหรือภริยาบอกล้างได้ในระหว่างที่เป็นสามีภริยากันหรือภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่ขาดจากการเป็นสามีภริยากัน จึงเป็นบทบัญญัติที่มุ่งคุ้มครองสิทธิของคู่สมรสโดยทั่วไปที่ได้ทำสัญญาเกี่ยวกับทรัพย์สินกันไว้ในระหว่างสมรส โดยตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของความเสน่หาหรือเหตุอื่นใดอันทำให้ตนต้องเสียประโยชน์ มิให้ถูกเอารัดเอาเปรียบหรือถูกข่มเหงโดยไม่ชอบธรรม และเป็นการป้องกันมิให้ครอบครัวต้องร้าวฉานแตกแยกกันได้ ดังนั้นข้อตกลงที่ว่าจะไม่ยกเลิกสัญญาที่เกี่ยวกับทรัพย์สินในระหว่างสมรสของสามีภริยา จึงมีวัตถุประสงค์ที่ขัดต่อบทกฎหมายดังกล่าว ย่อมตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 113 (เดิม)
โจทก์จำเลยเป็นสามีภริยาโดยจดทะเบียนสมรส แม้จะตกลงหย่าขาดกันตามประเพณีศาสนาอิสลามและทำสัญญาแบ่งผลประโยชน์และทรัพย์สินโดยมีเงื่อนไขระบุไว้ด้วยว่าจำเลยยินยอมผูกพันตามสัญญาตลอดไป และจะไม่ยกเลิกสัญญานี้ แต่เมื่อโจทก์จำเลยยังมิได้จดทะเบียนหย่า ก็ต้องถือว่าโจทก์จำเลยยังเป็นสามีภริยากันตามกฎหมาย สัญญาแบ่งผลประโยชน์และทรัพย์สินดังกล่าวจึงเป็นสัญญาระหว่างสมรสที่เกี่ยวกับทรัพย์สินที่สามีภริยาได้ทำไว้ต่อกันในระหว่างเป็นสามีภริยาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1469