พบผลลัพธ์ทั้งหมด 12 รายการ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3945/2566
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
องค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ: การสมคบเพื่อค้ามนุษย์ และความผิดต่อเนื่องในการช่วยเหลือคนต่างด้าว
พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ พ.ศ. 2556 มาตรา 5 (2) มีองค์ประกอบของความผิด คือ สมคบกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปเพื่อกระทำความผิดร้ายแรงอันเกี่ยวข้องกับองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ ซึ่งมาตรา 3 บัญญัติ คำว่า "องค์กรอาชญากรรม" หมายความว่า คณะบุคคลตั้งแต่สามคนขึ้นไปรวมตัวกันช่วงระยะเวลาหนึ่งและร่วมกันกระทำการใดโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อกระทำความผิดร้ายแรงและเพื่อได้มาซึ่งผลประโยชน์ทางการเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์ทางวัตถุอย่างอื่น ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม คำว่า "องค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ" หมายความว่า องค์กรอาชญากรรมที่มีการกระทำความผิดซึ่งมีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ (1) ความผิดที่กระทำในเขตแดนรัฐมากกว่าหนึ่งรัฐ... และคำว่า "ความผิดร้ายแรง" หมายความว่า ความผิดอาญาที่กฎหมายกำหนดโทษจำคุกขั้นสูงตั้งแต่สี่ปีขึ้นไปหรือโทษที่สถานหนักกว่านั้น ซึ่งความผิดฐานร่วมกันนำหรือพาคนต่างด้าวเข้ามาในราชอาณาจักร ตาม พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 มาตรา 63 วรรคหนึ่ง มีระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปี ส่วนความผิดฐานร่วมกันซ่อนเร้นและช่วยเหลือคนต่างด้าวเพื่อให้พ้นจากการจับกุม ตามมาตรา 64 วรรคหนึ่ง มีระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี ถือได้ว่า ฟ้องของโจทก์ได้บรรยายเกี่ยวกับข้อเท็จจริงและรายละเอียดในการกระทำผิดของจำเลยครบถ้วนตามองค์ประกอบของความผิดฐานมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติแล้ว การบรรยายฟ้องของโจทก์จึงชอบด้วย พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ พ.ศ. 2556 มาตรา 5 (2)
อนึ่ง การกระทำของจำเลยในความผิดฐานมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ และในความผิดฐานร่วมกันนำหรือพาคนต่างด้าวเข้ามาในราชอาณาจักรโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย เป็นการกระทำความผิดที่ต่อเนื่องกันโดยมีเจตนามุ่งหมายอันเดียวกันเพื่อจะช่วยเหลือนำหรือพาคนต่างด้าวทั้งสิบเจ็ดให้เข้ามาในราชอาณาจักรโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย จึงเป็นการกระทำกรรมเดียวอันเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท และการที่จำเลยกับพวกร่วมกันนำหรือพาคนต่างด้าวทั้งสิบเจ็ดเข้ามาในราชอาณาจักรดังกล่าว ย่อมเป็นความผิดสำเร็จอยู่ในตัวเมื่อนำหรือพาคนต่างด้าวทั้งสิบเจ็ดเข้ามาในราชอาณาจักรแล้ว แต่เมื่อจำเลยกับพวกรู้ว่าคนต่างด้าวดังกล่าวเข้าในราชอาณาจักรโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ยังร่วมกันซ่อนเร้น ช่วยด้วยประการใด ๆ เพื่อให้คนต่างด้าวทั้งสิบเจ็ดนั้นพ้นจากการจับกุม จึงเป็นความผิดอีกส่วนหนึ่งซึ่งสามารถแยกการกระทำต่างหากจากกันได้
อนึ่ง การกระทำของจำเลยในความผิดฐานมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ และในความผิดฐานร่วมกันนำหรือพาคนต่างด้าวเข้ามาในราชอาณาจักรโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย เป็นการกระทำความผิดที่ต่อเนื่องกันโดยมีเจตนามุ่งหมายอันเดียวกันเพื่อจะช่วยเหลือนำหรือพาคนต่างด้าวทั้งสิบเจ็ดให้เข้ามาในราชอาณาจักรโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย จึงเป็นการกระทำกรรมเดียวอันเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท และการที่จำเลยกับพวกร่วมกันนำหรือพาคนต่างด้าวทั้งสิบเจ็ดเข้ามาในราชอาณาจักรดังกล่าว ย่อมเป็นความผิดสำเร็จอยู่ในตัวเมื่อนำหรือพาคนต่างด้าวทั้งสิบเจ็ดเข้ามาในราชอาณาจักรแล้ว แต่เมื่อจำเลยกับพวกรู้ว่าคนต่างด้าวดังกล่าวเข้าในราชอาณาจักรโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ยังร่วมกันซ่อนเร้น ช่วยด้วยประการใด ๆ เพื่อให้คนต่างด้าวทั้งสิบเจ็ดนั้นพ้นจากการจับกุม จึงเป็นความผิดอีกส่วนหนึ่งซึ่งสามารถแยกการกระทำต่างหากจากกันได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1978/2566
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การใช้รถยนต์เพื่อช่วยเหลือซ่อนเร้นผู้กระทำผิดข้ามจังหวัด ศาลมีอำนาจริบได้ตามกฎหมาย
การขับรถกระบะบรรทุกของกลางที่มีการทำหลังคาฝาปิดด้านข้างและด้านท้ายจากจังหวัดกาญจนบุรีไปจังหวัดสมุทรปราการมีระยะทางไกลเกินกว่าจะเดินไปได้เอง จำเลยจำเป็นต้องใช้รถของกลางเป็นยานพาหนะพาคนต่างด้าวเดินทางไป โดยใช้วิธีการให้คนต่างด้าวสองคนหลบซ่อนอยู่ในช่องใต้หลังคาด้านบนของหัวรถ แล้วใช้ถังน้ำมันขนาดประมาณ 30 ลิตร หลายถังปิดบังไว้ อันเป็นการซ่อนเร้นคนต่างด้าวดังกล่าว จึงมิใช่การใช้รถของกลางตามสภาพอย่างยานพาหนะโดยสารทั่วไป อันเป็นข้อที่แสดงให้เห็นถึงเจตนาของจำเลยที่มุ่งประสงค์จะใช้รถของกลางในการช่วยเหลือ ซ่อนเร้น หรือช่วยด้วยประการใด ๆ เพื่อให้คนต่างด้าวพ้นจากการจับกุม รถของกลางจึงเป็นทรัพย์ที่จำเลยได้ใช้ในการกระทำความผิด ศาลมีอำนาจริบได้ตาม ป.อ. มาตรา 33 (1)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 756/2566
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การริบรถยนต์ในความผิดคนเข้าเมือง: ต้องใช้เพื่อการกระทำผิดโดยตรง ไม่ใช่แค่เป็นยานพาหนะ
ทรัพย์สินที่ศาลมีอำนาจสั่งให้ริบตาม ป.อ. มาตรา 33 (1) ได้นั้น จะต้องเป็นทรัพย์สินซึ่งจำเลยได้ใช้หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิดในข้อหาความผิดที่โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยนั้นโดยตรง กรณีที่จำเลยใช้รถยนต์ของกลางโดยสารพาคนต่างด้าวทั้งสิบห้าคนซึ่งหลบหนีเข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายอยู่แล้วไปส่งยังจุดหมายปลายทาง จึงเป็นการใช้รถยนต์ของกลางเป็นยานพาหนะให้คนต่างด้าวนั่งโดยสารมาในรถด้วยเท่านั้น มิได้เป็นการใช้รถยนต์ของกลางเพื่อพาคนต่างด้าวหลบหนีให้พ้นจากการจับกุมหรือเพื่อหลีกเลี่ยงการตรวจสอบจับกุมของเจ้าพนักงานตำรวจโดยตรง ดังนี้ รถยนต์ของกลางจึงไม่ใช่ทรัพย์สินรวมที่จำเลยได้ใช้หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิดตามฟ้องโจทก์ตาม ป.อ. มาตรา 33 (1) แม้จะปรากฏข้อเท็จจริงว่า รถยนต์ของกลางที่คนต่างด้าวนั่งโดยสารมาด้วยนั้นจะเป็นรถยนต์นั่งส่วนบุคคลซึ่งบรรทุกผู้โดยสารได้ไม่เกิน 7 คน แต่จำเลยกลับนำรถยนต์ของกลางดังกล่าวมาใช้บรรทุกคนต่างด้าว 15 คน ซึ่งมีจำนวนผู้โดยสารเกินกว่าที่ได้จดทะเบียนไว้กับกรมการขนส่งทางบก และคนต่างด้าวนั่งโดยสารมาในห้องโดยสารในลักษณะแออัดยัดเยียด ซึ่งผิดวิสัยของการนั่งโดยสารมาในรถตามปกติทั่วไปก็ตาม ก็เป็นแต่เพียงการใช้รถยนต์ผิดประเภทและลักษณะการใช้งานของตัวทรัพย์เท่านั้น มิใช่พฤติการณ์ที่ถึงกับบ่งชี้ชัดว่าจำเลยมุ่งหมายที่จะใช้รถยนต์ของกลางดังกล่าวในการกระทำความผิดตามฟ้องโจทก์โดยตรงดังที่ได้วินิจฉัยมาข้างต้น รถยนต์ของกลางจึงเป็นทรัพย์สินที่ไม่อาจริบได้ตาม ป.อ. มาตรา 33 (1)
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 655/2564
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การประเมินกรรมเดียวหรือหลายกรรมในคดีองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติและการช่วยเหลือคนต่างด้าว
การจะพิจารณาว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดกรรมเดียวหรือหลายกรรมต่างกันนั้น ต้องพิจารณาถึงเจตนาในการกระทำความผิดเป็นสำคัญว่ามีเจตนาเดียวกันหรือไม่ประกอบกันด้วย ข้อเท็จจริงได้ความว่าการกระทำของจำเลยในความผิดฐานมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ และในความผิดฐานร่วมกันนำและพาคนต่างด้าวเข้ามาในราชอาณาจักรโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย เป็นการกระทำความผิดที่ต่อเนื่องกันโดยมีเจตนามุ่งหมายอันเดียวกันเพื่อจะช่วยเหลือนำพาคนต่างด้าวทั้งสิบสี่ให้เข้ามาในราชอาณาจักรโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย จึงเป็นการกระทำกรรมเดียวอันเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท และการที่จำเลยกับพวกร่วมกันนำและพาคนต่างด้าวทั้งสิบสี่เข้ามาในราชอาณาจักรดังกล่าว ย่อมเป็นความผิดสำเร็จอยู่ในตัวเมื่อนำหรือพาคนต่างด้าวทั้งสิบสี่เข้ามาในราชอาณาจักรแล้ว แต่เมื่อจำเลยกับพวกรู้ว่าคนต่างด้าวดังกล่าวเข้ามาในราชอาณาจักรโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ร่วมกันซ่อนเร้น ช่วยด้วยประการใด ๆ เพื่อให้คนต่างด้าวทั้งสิบสี่นั้นพ้นจากการจับกุม จึงเป็นความผิดอีกส่วนหนึ่งซึ่งสามารถแยกการกระทำต่างหากจากกันได้ ทั้งจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 วินิจฉัยว่า การกระทำของจำเลยตามฟ้องในข้อ 1 (ก) (ข) และ (ค) เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทนั้น จึงไม่ชอบ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5053/2563
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ความผิดหลายกรรมต่างกันในคดีองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติและการช่วยเหลือคนต่างด้าว
ความผิดฐานมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ ความผิดฐานร่วมกันนำหรือพาบุคคลต่างด้าวเข้ามาในราชอาณาจักร และความผิดฐานร่วมกันซ่อนเร้น หรือช่วยด้วยประการใด ๆ เพื่อให้คนต่างด้าวพ้นจากการจับกุม เป็นการกระทำความผิดที่ผู้กระทำจะต้องมีเจตนาประสงค์ต่อผลต่างกัน กฎหมายจึงได้บัญญัติเป็นความผิดและมีบทลงโทษสำหรับความผิดแต่ละอย่างแตกต่างกัน และลักษณะแห่งการกระทำความผิดสามารถแยกส่วนจากกันได้ แสดงถึงเจตนารมณ์ของกฎหมายมุ่งประสงค์ที่จะลงโทษผู้กระทำความผิดแต่ละการกระทำเป็นกรณีไป แม้จำเลยกับพวกกระทำความผิดในวันเวลาเดียวกันและต่อเนื่องกัน เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพ จึงฟังได้ว่าจำเลยรับว่าได้กระทำความผิดโดยมีเจตนาต่างกันอันเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 477/2563 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 477/2563
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การช่วยเหลือคนต่างด้าวผิดกฎหมายเดินทางออกนอกเขตที่ได้รับอนุญาต ถือเป็นความผิดฐานซ่อนเร้นหรือช่วยเหลือ
ขณะถูกจับกุม น. และ ร. ไม่มีหนังสือเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรโดยถูกต้องตามกฎหมายเป็นหลักฐานเหมือนเช่น ส. และ จ. โดยมีเพียงสำเนาหนังสือรับรองการทำงานกับนายจ้างมาแสดงเท่านั้น หนังสือรับรองการทำงานกับนายจ้างดังกล่าวออกโดยสำนักงานประกันสังคมจังหวัดสมุทรสงครามเพื่อรับรองว่า น. และ ร. ทำงานรับจ้างกับ ธ. นายจ้างที่จังหวัดสมุทรสงคราม ซึ่งแม้ประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่องหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขในการอนุญาตทำงานและการอนุญาตให้ทำงานตาม พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 จะมิได้กล่าวถึงกรณีที่คนต่างด้าวที่ได้รับการผ่อนผันให้ทำงานในราชอาณาจักรสามารถเดินทางออกนอกเขตที่ได้รับอนุญาตทำงานได้หรือไม่ แต่ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การอนุญาตให้คนต่างด้าวบางจำพวกเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 16 มกราคม พ.ศ.2561 ข้อ 4 กำหนดว่า การอนุญาตให้คนต่างด้าวอยู่ในราชอาณาจักรได้เป็นการชั่วคราวตามประกาศนี้เป็นอันสิ้นผลในกรณีอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้ (3) ออกนอกเขตท้องที่กรุงเทพมหานครหรือจังหวัดที่ได้จัดทำทะเบียนประวัติหรือจังหวัดที่ได้รับอนุญาตให้ทำงาน ดังนี้ เมื่อ น. และ ร. ได้รับการผ่อนผันให้ทำงานกับนายจ้างที่จังหวัดสมุทรสงครามเท่านั้น น. และ ร. จึงไม่สามารถเดินทางออกนอกเขตที่ได้รับอนุญาตให้ทำงานหรือไปไหนมาไหนได้ตามอำเภอใจอีกทั้ง น. และ ร. ได้แจ้งความประสงค์ไว้ในสำเนาหนังสือรับรองการทำงานกับนายจ้างว่าจะเข้ารับการตรวจสัญชาติในกรุงเทพมหานคร แต่ น. และ ร. กลับว่าจ้างจำเลยทั้งสองให้ขับรถจากจังหวัดสมุทรสงครามไปส่งที่ชายแดนไทย - กัมพูชา อำเภอโป่งน้ำร้อน จังหวัดจันทบุรี เพื่อกลับไปเยี่ยมญาติที่ประเทศกัมพูชาแต่ถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมเสียก่อน ซึ่งการที่ น. และ ร. เดินทางออกนอกเขตที่ได้รับอนุญาตให้ทำงานโดยไม่ได้รับอนุญาตจากทางราชการ และไม่ได้ไปรับการตรวจสัญชาติในกรุงเทพมหานคร แต่ว่าจ้างจำเลยทั้งสองให้ขับรถไปส่งที่ชายแดนไทย - กัมพูชา อำเภอโป่งน้ำร้อน จังหวัดจันทบุรี จึงเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนข้อกำหนดประกาศกระทรวงมหาดไทย ข้อ 4 (3) จึงมีผลให้การอนุญาตให้คนต่างด้าวอยู่ในราชอาณาจักรได้เป็นการชั่วคราวสิ้นผลไป การที่จำเลยทั้งสองขับรถกระบะของกลางนำพา น. และ ร. จากจังหวัดสมุทรสงครามไปส่งที่ชายแดนไทย - กัมพูชา อำเภอโป่งน้ำร้อน จังหวัดจันทบุรี โดยรู้อยู่แล้วว่า น. และ ร. เป็นแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย จำเลยทั้งสองจึงมีความผิดฐานร่วมกันซ่อนเร้น หรือช่วยด้วยประการใด ๆ เพื่อให้คนต่างด้าวที่เข้ามาในราชอาณาจักรโดยผิดกฎหมายพ้นจากการจับกุม
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8791/2561
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
เจตนาแสวงหาประโยชน์จากเหยื่อต่างด้าว ไม่ถือว่าช่วยเหลือพ้นการจับกุม
เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยทั้งสองกับพวกร่วมกันกักขังผู้เสียหายที่ 1 ถึงที่ 10 ไว้ที่บ้านเกิดเหตุเพื่อให้ติดต่อญาติของผู้เสียหายที่ 1 ถึงที่ 10 เรียกเงินค่าใช้จ่ายในการเดินทางมาทำงานในประเทศไทยเพิ่ม แสดงให้เห็นว่าจำเลยทั้งสองกับพวกมีเจตนาจะแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบด้วยกฎหมายจากผู้เสียหายที่ 1 ถึงที่ 10 โดยไม่ปรากฏพฤติการณ์ของจำเลยทั้งสองว่ามีเจตนาที่จะช่วยเหลือผู้เสียหายที่ 1 ถึงที่ 10 ให้พ้นจากการจับกุมและไม่อาจถือได้ว่าการกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดสำเร็จตั้งแต่จำเลยทั้งสองกับพวกร่วมกันนำผู้เสียหายที่ 1 ถึงที่ 10 เข้ามาในราชอาณาจักร การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงไม่เป็นความผิดฐานร่วมกันให้เข้าพักอาศัย ซ่อนเร้น หรือช่วยด้วยประการใด ๆ เพื่อให้ผู้เสียหายที่ 1 ถึงที่ 10 ซึ่งเป็นคนต่างด้าวพ้นจากการจับกุมตาม พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.2522 มาตรา 64 วรรคหนึ่ง
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2823/2553
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การปรับบทกฎหมายความผิดฐานจ้างงานคนต่างด้าว และการพิจารณาความผิดตาม พ.ร.บ.คนเข้าเมือง เมื่อข้อเท็จจริงไม่เข้าองค์ประกอบความผิด
แม้จำเลยที่ 3 ซึ่งยื่นฎีกาเพียงผู้เดียวถึงแก่ความตายในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกาและศาลฎีกามีคำสั่งให้จำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 3 เสียจากสารบบความของศาลฎีกาแล้ว แต่สำหรับความผิดตาม พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.2522 มาตรา 64 วรรคหนึ่ง เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้เป็นที่ยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ว่า สถานบริการที่เกิดเหตุเป็นสถานบริการที่เปิดเพื่อให้บริการแก่บุคคลทั่วไป ในวันเวลาเกิดเหตุที่เจ้าพนักงานตำรวจเข้าตรวจสอบพบหญิงสัญชาติพม่า 30 คน นั่งอยู่ในตู้กระจกใสอันเป็นที่เปิดเผยเพื่อรอให้บริการแก่ลูกค้า เป็นที่เห็นได้ว่าจำเลยที่ 1 ที่ 2 มีเจตนาเพื่อให้หญิงทั้งหมดทำงานเป็นหญิงบริการให้แก่ลูกค้าในสถานบริการเท่านั้น หาได้มีเจตนาเพื่อให้หญิงทั้ง 30 คน พ้นจากการจับกุมไม่ ฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 ที่ 2 กระทำความผิด กรณีเป็นปัญหาที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นฎีกา เมื่อศาลฎีกาเห็นว่าการกระทำของจำเลยที่ 1 ที่ 2 ไม่เป็นความผิดก็มีอำนาจยกขึ้นพิจารณาแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 วรรคหนึ่ง, 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 215, 225
ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกาได้มี พ.ร.บ.การทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2551 มาตรา 3(1) ให้ยกเลิก พ.ร.บ.การทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2521 ซึ่งความผิดฐานรับคนต่างด้าวเข้าทำงานตามกฎหมายที่ใช้บังคับใหม่เป็นความผิดตาม มาตรา 27 ที่ได้กำหนดโทษไว้ในมาตรา 54 ให้ระวางโทษปรับสถานเดียวต่อคนต่างด้าวที่จ้างหนึ่งคน ต่างจาก พ.ร.บ.การทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2521 มาตรา 39 ที่ให้ระวางโทษจำคุกหรือปรับหรือทั้งจำทั้งปรับ ในส่วนของโทษจำคุกกฎหมายที่ใช้ในภายหลังเป็นคุณแก่จำเลยที่ 2 มากกว่า แต่ในส่วนโทษปรับกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดมีบางส่วนเป็นคุณแก่จำเลยที่ 2 มากกว่า จึงต้องใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณบังคับแก่จำเลยที่ 2 ไม่ว่าในทางใดตาม ป.อ. มาตรา 3 วรรคแรก กรณีเป็นปัญหาที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้คดีสำหรับจำเลยที่ 2 จะยุติการพิจารณาไปในชั้นศาลอุทธรณ์แล้ว แต่คดีนี้ยังไม่ถึงที่สุด ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นอ้างและแก้ไขโดยปรับบทกฎหมายให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกาได้มี พ.ร.บ.การทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2551 มาตรา 3(1) ให้ยกเลิก พ.ร.บ.การทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2521 ซึ่งความผิดฐานรับคนต่างด้าวเข้าทำงานตามกฎหมายที่ใช้บังคับใหม่เป็นความผิดตาม มาตรา 27 ที่ได้กำหนดโทษไว้ในมาตรา 54 ให้ระวางโทษปรับสถานเดียวต่อคนต่างด้าวที่จ้างหนึ่งคน ต่างจาก พ.ร.บ.การทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2521 มาตรา 39 ที่ให้ระวางโทษจำคุกหรือปรับหรือทั้งจำทั้งปรับ ในส่วนของโทษจำคุกกฎหมายที่ใช้ในภายหลังเป็นคุณแก่จำเลยที่ 2 มากกว่า แต่ในส่วนโทษปรับกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดมีบางส่วนเป็นคุณแก่จำเลยที่ 2 มากกว่า จึงต้องใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณบังคับแก่จำเลยที่ 2 ไม่ว่าในทางใดตาม ป.อ. มาตรา 3 วรรคแรก กรณีเป็นปัญหาที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้คดีสำหรับจำเลยที่ 2 จะยุติการพิจารณาไปในชั้นศาลอุทธรณ์แล้ว แต่คดีนี้ยังไม่ถึงที่สุด ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นอ้างและแก้ไขโดยปรับบทกฎหมายให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 658/2551
ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
ความผิดกรรมเดียวหรือหลายกรรมต่างกัน กรณีประกอบการขนส่งโดยไม่ได้รับอนุญาต และช่วยเหลือคนต่างด้าว
การที่จำเลยขับรถยนต์กระบะโดยสารขนส่งคนโดยสารเป็นการประกอบการขนส่งไม่ประจำทางโดยจำเลยไม่ได้รับใบอนุญาต เป็นความผิดสำเร็จกรรมหนึ่งตั้งแต่จำเลยขับรถรับคนโดยสาร และการที่จำเลยรับคนต่างด้าวจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่ง เป็นการช่วยด้วยประการใด ๆ เพื่อให้คนต่างด้าวนั้นพ้นจากการจับกุม แม้เหตุการณ์ที่จำเลยถูกจับกุมจะเป็นเหตุการณ์ต่อเนื่องกันกับการกระทำความผิดฐานแรกก็ตาม แต่ลักษณะแห่งการกระทำสามารถแยกส่วนจากกันได้ จึงเป็นความผิดอีกกรรมหนึ่ง