คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 ม. 90/58

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 26 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 845/2545

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การจัดกลุ่มเจ้าหนี้ในคดีฟื้นฟูกิจการ การจัดกลุ่มเป็นธรรมตามประเภทหนี้และสิทธิเรียกร้อง
ตามแผนฟื้นฟูกิจการลูกหนี้ได้จัดกลุ่มเจ้าหนี้ไว้ 6 กลุ่ม เจ้าหนี้ในกลุ่มที่ 5 ถูกกำหนดโดยยอดหนี้จากข้อตกลงระหว่างผู้ทำแผนและเจ้าหนี้ที่เกี่ยวข้องคำชี้ขาดจากเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์คำพิพากษาจากศาลอันเป็นที่สิ้นสุด และคำสั่งศาล และในกรณีที่ภาระหนี้ซึ่งอาจเกิดขึ้นกลายเป็นภาระหนี้ที่ครบกำหนดชำระและต้องจ่ายจะได้รับการจัดกลุ่มตามความเหมาะสมขึ้นอยู่กับลักษณะและสกุลเงินของภาระหนี้ที่ครบกำหนดชำระนั้น ภาระหนี้จะได้รับการปฏิบัติเช่นเดียวกับหนี้ในกลุ่มที่โอน ตามข้อกำหนดและเงื่อนไขในกลุ่มนั้น ๆ เสมือนภาระหนี้ได้รับการจัดกลุ่มตั้งแต่วันที่ศาลพิจารณาเห็นชอบด้วยแผนเมื่อศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดหรือเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีคำสั่งให้ได้รับชำระหนี้แล้ว ผู้ทำแผนจะจัดให้อยู่ในกลุ่มที่เหมาะสมแล้วแต่สกุลเงินขณะนั้น การที่ผู้คัดค้านยื่นคำขอรับชำระหนี้ตามสัญญาค้ำประกันที่ลูกหนี้ได้ค้ำประกันตั๋วสัญญาใช้เงินซึ่งบริษัท พ. ออกให้แก่ผู้คัดค้านจำนวน 22,950,000 เหรียญสหรัฐอเมริกา และเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์อนุญาตให้ได้รับชำระหนี้ตามคำขอ ผู้ทำแผนจึงจัดให้ผู้คัดค้านอยู่ในกลุ่มเจ้าหนี้กลุ่มที่ 5 อันถือได้ว่าเป็นการกระทำที่ชอบด้วยเหตุผลและความเป็นธรรมแล้ว เพราะหนี้ของผู้คัดค้านเป็นหนี้ที่ยังไม่แน่นอนทั้งในเรื่องของจำนวนหนี้และสกุลเงินที่จะได้รับชำระ โดยเป็นหนี้ที่อาจเกิดขึ้นในภายหน้าตามคำสั่งของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์หรือคำพิพากษาของศาลอันเป็นที่สุดว่าจะให้ผู้คัดค้านได้รับชำระหนี้เท่าใดและเป็นเงินสกุลใด ดังนั้น การจัดกลุ่มเจ้าหนี้ที่ผู้ทำแผนดำเนินการตามพระราชบัญญัติล้มละลายฯ มาตรา 90/42(3)(ข) จึงชอบด้วยมาตรา 90/42 ทวิ (3) แล้ว ซึ่งในวรรคท้ายของมาตราดังกล่าวยังเปิดโอกาสให้เจ้าหนี้ที่เห็นว่าการจัดกลุ่มเจ้าหนี้ไม่เป็นไปตามที่กำหนด สามารถยื่นคำร้องขอต่อศาลภายใน 7 วัน นับแต่วันที่ได้รู้ถึงการจัดกลุ่ม ซึ่งศาลอาจมีคำสั่งให้จัดกลุ่มเสียใหม่ให้ถูกต้องได้ แต่ผู้คัดค้านก็มิได้ยื่นคำขอต่อศาลเพื่อให้จัดกลุ่มเสียใหม่ภายในเวลาที่กฎหมายกำหนดจึงถือว่าผู้คัดค้านเห็นชอบด้วยกับการจัดกลุ่มของผู้ทำแผนแล้ว ประกอบกับมาตรา 90/42 ตรี กำหนดให้สิทธิของเจ้าหนี้ที่อยู่ในกลุ่มเดียวกันต้องได้รับการปฏิบัติเท่าเทียมกันด้วยแล้ว ยิ่งเป็นที่เห็นได้ชัดว่าสิทธิของผู้คัดค้านซึ่งถูกจัดให้อยู่ในเจ้าหนี้กลุ่มที่ 5 ย่อมได้รับการปฏิบัติที่เท่าเทียมกับเจ้าหนี้อื่นซึ่งอยู่ในกลุ่มเดียวกัน หาทำให้ผู้คัดค้านเสียเปรียบเจ้าหนี้อื่นไม่ ดังนั้น แผนจึงมีข้อเสนอในการชำระหนี้ที่ไม่ขัดต่อมาตรา 90/42 ตรี และข้อเสนอในการชำระหนี้ตามแผนก็เป็นไปตามลำดับที่กฎหมายบัญญัติไว้ว่าด้วยการแบ่งทรัพย์สินในคดีล้มละลายมิได้ขัดต่อมาตรา 90/58(2) และมาตรา 130 แต่อย่างใด ที่ศาลล้มละลายกลางเห็นชอบกับแผนฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้จึงชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9160/2544

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจศาลในการพิจารณาเห็นชอบแผนฟื้นฟูกิจการ: ค่าตอบแทนผู้บริหารแผนและโอกาสสำเร็จ
ในการพิจารณาให้ความเห็นชอบด้วยแผนของศาลนั้น จะต้องพิจารณาด้วยว่าต้องบทบัญญัติพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/58 หรือไม่ และตามมาตรา 90/58 (1) ให้ศาลมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผน เมื่อศาลพิจารณาแล้วเห็นว่า แผนมีรายการครบถ้วนตามมาตรา 90/42 โดยมาตรา 90/42 (7) ในแผนนั้นจะต้องมีรายการ ชื่อ คุณสมบัติ หนังสือยินยอมของผู้บริหารแผน และค่าตอบแทนของผู้บริหารแผน เช่นนี้ในการพิจารณาให้ความเห็นชอบด้วยแผน ศาลจึงต้องพิจารณาถึงค่าตอบแทนของผู้บริหารแผนด้วยว่าค่าตอบแทนของผู้บริหารแผนนั้นเหมาะสมกับสภาพการงานที่ทำหรือไม่และจำนวนดังกล่าวสูงเกินสมควรหรือไม่
แผนมีโอกาสดำเนินการสำเร็จหรือไม่ แม้ว่ากฎหมายมิได้มีบัญญัติเงื่อนไขส่วนนี้ไว้โดยตรง แต่การที่กระบวนพิจารณาในการฟื้นฟูกิจการกำหนดไว้ว่าหลังจากที่ประชุมเจ้าหนี้ได้ยอมรับแผนด้วยมติพิเศษตามพระราชบัญญัติ
ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 90/46 แล้ว กฎหมายได้กำหนดให้แผนดังกล่าวจะต้องได้รับความเห็นชอบจากศาลอีกขั้นตอนหนึ่งตามบัญญัติในส่วนที่ 8 เรื่อง การพิจารณาให้ความเห็นชอบแผนฟื้นฟูกิจการ กรณีจึงเป็นการกำหนดให้ศาลเข้ามามีบทบาทในทางธุรกิจเพื่อจะได้วินิจฉัยเพื่อจะได้วินิจฉัยตรวจสอบในการให้ความเห็นชอบด้วยแผนเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย และมอบให้เป็นดุลพินิจว่าสมควรให้ความเห็นชอบด้วยแผนหรือไม่ ศาลจึงมีอำนาจที่จะพิจารณาถึงโอกาสความเป็นไปได้ในการดำเนินการตามแผนนั้นด้วย เพราะว่ากรณีไม่มีประโยชน์อันใดที่ศาลจะมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนเมื่อเป็นไปได้ว่าแผนนั้นไม่มีโอกาสดำเนินการสำเร็จได้หรือหากดำเนินการไปแล้วลูกหนี้ต้องประสบกับภาวะล้มละลายในที่สุด
ในการที่จะพิจารณาว่าค่าตอบแทนนั้นสมควรหรือไม่ เมื่อยังไม่มีกฎหมาย ระเบียบ หรือข้อบังคับ เกี่ยวกับเรื่องนี้ใช้บังคับ กรณีจึงต้องพิจารณาถึงขนาดของกิจการ ความยุ่งยากในการดำเนินการ ปริมาณของบุคลากรที่จะต้องใช้ วิธีการในการฟื้นฟูกิจการ ตลอดจนชื่อเสียง ผลงาน ประสบการณ์ของผู้บริหารแผนนั้น รวมทั้งปัจจัยอื่น ๆ ประกอบกันตามแผนฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้แต่ละรายไป
of 3