คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.วิ.พ. ตาราง 1 ท้าย ป.วิ.พ. ค่าขึ้นศ

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 3 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5345/2540 เวอร์ชัน 3 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ค่าขึ้นศาลผู้ร้องสอด: ศาลฎีกาแก้ไขคำสั่งให้เสียค่าขึ้นศาลเฉพาะส่วนของราคาที่ดินพิพาท
คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเชิดหรือรู้อยู่แล้วให้พระอธิการ ช.บุตรจำเลย ซึ่งเป็นผู้ร้องสอดในคดีนี้ เชิดตัวเองออกแสดงเป็นตัวแทนของจำเลยทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินพิพาทซึ่งเป็นส่วนของจำเลยและรับเงินมัดจำส่วนของจำเลยจำนวน 220,000 บาท จากโจทก์ ต่อมาจำเลยไม่ยอมโอนที่ดินพิพาทให้โจทก์ทำให้โจทก์เสียหาย ขอให้พิพากษาบังคับให้จำเลยจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์โดยรับเงินส่วนที่เหลือ 5,893,250 บาท หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย และให้จำเลยชำระค่าเสียหายเป็นเงิน30,000,000 บาท ให้แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับตั้งแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ จำเลยให้การว่าจำเลยไม่เคยเชิดหรือรู้แล้วยอมให้ผู้ร้องสอดเชิดตัวเองออกแสดงเป็นตัวแทนของจำเลยทำสัญญาจะซื้อจะขายหรือรับเงินมัดจำจากโจทก์ จำเลยไม่ได้ขายที่ดินของจำเลยให้แก่บุคคลใดเลย ดังนั้นที่ผู้ร้องสอดยื่นคำร้องขอเข้ามาเป็นคู่ความตามป.วิ.พ.มาตรา 57 อ้างว่าผู้ร้องสอดเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทเพียงคนเดียว ผู้ร้องสอดได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทและริบเงินมัดจำกับโจทก์ในนามของตนเองไม่เกี่ยวกับจำเลย โจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาท ขอให้พิพากษายกฟ้องโจทก์และให้ผู้ร้องสอดริบเงินมัดจำจำนวน 220,000 บาท ที่โจทก์วางไว้กับผู้ร้องสอดนั้น จึงเป็นการที่ผู้ร้องสอดขอเข้ามาเป็นคู่ความฝ่ายที่สามเพื่อให้ได้รับความรับรอง คุ้มครอง และบังคับตามสิทธิของผู้ร้องสอดที่ผู้ร้องสอดอ้างว่าตนเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทแต่เพียงผู้เดียว อันเป็นการขัดกับข้ออ้างของโจทก์และข้อต่อสู้ของจำเลย จึงเป็นการเข้ามาเป็นคู่ความฝ่ายที่สามและเป็นปฏิปักษ์ทั้งต่อโจทก์และต่อจำเลย มิใช่เป็นการเข้ามาเป็นคู่ความฝ่ายที่สามเพื่อต่อสู้คดีกับโจทก์ฝ่ายเดียวดังนั้น ผู้ร้องสอดจึงต้องเสียค่าขึ้นศาลตามทุนทรัพย์ที่ผู้ร้องสอดเรียกร้อง สำหรับทุนทรัพย์ที่ผู้ร้องสอดเรียกร้องนั้น โดยในส่วนที่ผู้ร้องสอดขอให้พิพากษายกฟ้องโจทก์เป็นการขอให้ศาลรับรอง คุ้มครอง และบังคับตามสิทธิที่ผู้ร้องสอดอ้างว่าผู้ร้องสอดมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทแต่เพียงผู้เดียว จำเลยมิใช่เจ้าของที่ดินพิพาท ผู้ร้องสอดจึงต้องเสียค่าขึ้นศาลตามทุนทรัพย์ของราคาที่ดินพิพาท ซึ่งเท่ากับเงินค่าที่ดินส่วนที่เหลือจำนวน 5,893,250 บาท รวมกับเงินมัดจำจำนวน 220,000 บาท ที่ผู้ร้องสอดอ้างว่าโจทก์วางไว้กับผู้ร้องสอดเป็นเงินรวม 6,113,250 บาท และในส่วนที่ผู้ร้องสอดขอให้พิพากษาให้ผู้ร้องสอดริบเงินมัดจำจำนวน 220,000 บาทที่โจทก์วางไว้กับผู้ร้องสอดนั้น หากศาลวินิจฉัยว่าที่ดินพิพาทเป็นของผู้ร้องสอดและโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาท ผู้ร้องสอดก็ย่อมมีสิทธิริบเงินมัดจำจำนวน 220,000 บาท ที่โจทก์ได้มอบให้ผู้ร้องสอดไว้นั้นได้เองอยู่แล้วเงินจำนวนดังกล่าวจึงมิใช่ทุนทรัพย์ของคดีที่ผู้ร้องสอดจะต้องเสียค่าขึ้นศาลด้วยผู้ร้องสอดจึงต้องเสียค่าขึ้นศาลตามทุนทรัพย์ของราคาที่ดินพิพาทจำนวน6,113,250 บาท แต่ปรากฏว่าผู้ร้องสอดได้ชำระค่าขึ้นศาลสำหรับทุนทรัพย์จำนวนเพียง 220,000 บาท ยังชำระค่าขึ้นศาลไม่ถูกต้องครบถ้วน ศาลชั้นต้นจึงชอบที่จะสั่งให้ผู้ร้องสอดชำระค่าขึ้นศาลให้ครบถ้วนตามจำนวนทุนทรัพย์ราคาที่ดินพิพาทจำนวน 6,113,250 บาท เท่านั้น การที่ศาลชั้นต้นสั่งให้ผู้ร้องสอดชำระค่าขึ้นศาลตามจำนวนทุนทรัพย์ที่โจทก์ฟ้องเป็นจำนวนถึง 35,893,250 บาทและสั่งไม่รับคำร้องของผู้ร้องสอดเมื่อผู้ร้องสอดไม่ชำระค่าขึ้นศาลเพิ่มตามคำสั่งนั้นจึงเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาให้ยกคำสั่งศาลชั้นต้นที่สั่งไม่รับคำร้องของผู้ร้องสอดและให้เพิกถอนคำสั่งศาลชั้นต้นที่สั่งให้ผู้ร้องสอดชำระค่าขึ้นศาลตามจำนวนทุนทรัพย์ที่โจทก์ฟ้องจำนวน 35,893,250 บาท โดยให้ผู้ร้องสอดเสียค่าขึ้นศาลตามทุนทรัพย์ราคาที่ดินพิพาทจำนวน 6,113,250 บาท ให้ครบถ้วนภายในเวลาที่ศาลชั้นต้นเห็นสมควรกำหนด และให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปตามรูปคดี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9091/2538 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินมีข้อห้ามโอนเป็นโมฆะ แม้มีการแก้ไขกฎหมายภายหลัง สัญญาจำนองที่ผูกพันกับสัญญาจะซื้อจะขายก็ไม่อาจบังคับได้
ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินมีหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.)ซึ่งมีข้อกำหนดห้ามโอนไว้ภายใน 10 ปี ตาม ป.ที่ดิน มาตรา 31 ดังนั้นการที่โจทก์จำเลยทำสัญญาจะซื้อจะขายเพื่อโอนที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยภายในกำหนดเวลาห้ามโอนเป็นการกระทำนิติกรรมที่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายนิติกรรมสัญญาจะซื้อจะขายจึงตกเป็นโมฆะ แม้ต่อมาหลังจากทำสัญญาแล้วจะได้มีพ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติม ป.ที่ดิน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2521 มาตรา 4 ให้ยกเลิกความในมาตรา 31 แห่ง ป.ที่ดิน ที่ใช้บังคับอยู่เดิมมิให้ใช้บังคับกับที่ดินในกรณีเช่นคดีนี้ก็ตาม ก็ไม่ทำให้นิติกรรมที่เป็นโมฆะแล้วนั้นกลับสมบูรณ์ขึ้นได้อีก ดังนั้นเมื่อสัญญาจะซื้อจะขายตกเป็นโมฆะ สัญญาจำนองเพื่อประกันสัญญาจะซื้อจะขายจึงไม่อาจบังคับได้เพราะสัญญาจำนองจะมีได้เฉพาะเพื่อหนี้อันสมบูรณ์ตาม ป.พ.พ.มาตรา 707 ประกอบด้วย มาตรา 681 ดังนั้น จึงไม่อาจบังคับตามสัญญาจะซื้อจะขายและสัญญาจำนองได้ เมื่อสัญญาจะซื้อจะขายตกเป็นโมฆะ จึงต้องบังคับตามป.พ.พ. มาตรา 172 วรรคสอง กล่าวคือ ในการคืนทรัพย์สินอันเกิดจากโมฆะกรรมให้นำบทบัญญัติว่าด้วยลาภมิควรได้มาใช้บังคับ จำเลยต้องคืนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์และรับเงินค่าที่ดินพิพาทที่โจทก์นำไปวางไว้ที่สำนักงานวางทรัพย์
แม้คำฟ้องขอไถ่ถอนจำนองจะเป็นคดีไม่มีทุนทรัพย์ แต่เมื่อจำเลยให้การต่อสู้ว่าได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทจากโจทก์ และโจทก์สละสิทธิครอบครองให้แก่จำเลยแล้ว เป็นการโต้เถียงสิทธิครอบครอง การที่ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นว่าโจทก์มีสิทธิไถ่ถอนจำนองที่ดินพิพาทหรือไม่ เป็นการรวมประเด็นที่ว่า โจทก์จำเลยได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายกันหรือไม่ ตามคำให้การของจำเลยด้วยคดีไม่มีทุนทรัพย์จึงกลายเป็นคดีมีทุนทรัพย์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6727/2538 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ วัตถุประสงค์การประกอบกิจการประกันภัยครอบคลุมประกันภัยทุกชนิด ผู้รับขนส่งมีหน้าที่รับผิดชอบความเสียหายจากการขนส่ง
วัตถุประสงค์ที่โจทก์ได้จดทะเบียนไว้ตามหนังสือรับรองระบุว่า"(1) เพื่อประกอบกิจการประกันภัยทุกชนิด เช่น ประกันอัคคีภัย ประกันภัยทางน้ำประกันภัยทางอุบัติเหตุ ประกันภัยทางชีวิต ประกันภัยสงคราม และประกันภัยวินาศกรรมอื่น ๆ" ดังนี้ แม้หนังสือรับรองดังกล่าวจะมิได้กล่าวถึงการประกันภัยทางอากาศไว้แต่ประกันภัยทางอากาศย่อมรวมอยู่ในวัตถุประสงค์ที่กล่าวว่า "เพื่อประกอบกิจการประกันภัยทุกชนิด" เพราะการประกันภัยทางอากาศเป็นการประกันภัยชนิดหนึ่ง ดังนั้นโจทก์จึงมีวัตถุประสงค์ในการประกันภัยทางอากาศและมีอำนาจฟ้องคดีนี้
โจทก์ได้บรรยายฟ้องไว้แจ้งชัดถึงสภาพแห่งข้อหาของโจทก์และคำขอบังคับ ตลอดจนข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาดังกล่าวตามที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.พ.มาตรา 172 วรรคสอง แล้ว ข้อเท็จจริงที่ว่าสินค้าสูญหายไปเมื่อใด และจำเลยไม่ได้ใช้ความระมัดระวังในการดูแลสินค้าอย่างไร โจทก์อาจนำสืบได้ในชั้นพิจารณา ไม่จำต้องบรรยายในฟ้อง คำฟ้องของโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม
จำเลยเป็นผู้รับขนส่งของเพื่อบำเหน็จเป็นทางค้าปกติของจำเลยจำเลยได้มอบสินค้าที่รับขนส่งให้บริษัทการบินไทย จำกัด เก็บไว้ในคลังสินค้าเพื่อรอส่งขึ้นเครื่องบินไปยังต่างประเทศอันเป็นจุดหมายปลายทางต่อไป ดังนี้ จึงเป็นกรณีที่สินค้าได้ส่งไปโดยมีผู้ขนส่งหลายคนหลายทอด จำเลยผู้ขนส่งจึงต้องรับผิดในการที่สินค้านั้นสูญหายอันเกิดแต่ความผิดของผู้ขนส่งคนอื่นหรือบุคคลอื่นซึ่งจำเลยได้มอบหมายสินค้านั้นไปอีกทอดหนึ่งและต้องรับผิดร่วมกันกับผู้ขนส่งรายอื่นด้วย ทั้งนี้ตามบทบัญญัติของป.พ.พ.มาตรา 617 และ 618
คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินค่าเสียหายจำนวน238,433.30 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ตามฟ้อง ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยฎีกาขอให้ยกฟ้อง ดังนี้ คดีจึงมีทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาเท่ากับจำนวนทุนทรัพย์ตามคำฟ้องคือ 238,433.30 บาทซึ่งจำเลยต้องเสียค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาเพียง 5,960 บาท แต่ศาลชั้นต้นคำนวณทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาโดยรวมดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้องจนถึงวันที่จำเลยยื่นฎีกาเข้าเป็นทุนทรัพย์จำนวน 298,531.50 บาท ด้วย และให้จำเลยเสียค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาเป็นเงิน7,462.50 บาท จำเลยจึงเสียค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาเกินมาจำนวน 1,502.50 บาทศาลฎีกาชอบที่จะสั่งให้คืนเงินค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาที่ชำระเกินมาแก่จำเลย