คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
ชินวิทย์ จินดา แต้มแก้ว

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 179 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1222/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การดัดแปลงรถยนต์เก่าถือเป็นการผลิตรถยนต์ใหม่ ต้องเสียภาษีสรรพสามิต
การที่จำเลยนำซากรถยนต์ไปแปรรูปและประกอบขึ้นใหม่เป็นรถยนต์ที่มีสภาพลักษณะการใช้งานแตกต่างจากสภาพเดิม เปลี่ยนรุ่น และเปลี่ยนลักษณะของตัวรถจึงอยู่ในความหมายของการผลิตในโรงอุตสาหกรรมตามมาตรา 4 แห่ง พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2527 ซึ่งหากการผลิตสำเร็จและนำรถยนต์ออกจากโรงอุตสาหกรรมจำเลยมีหน้าที่ต้องยื่นแบบแสดงรายการแสดงชนิดและปริมาณของสินค้าเมื่อได้ความว่าขณะที่เจ้าพนักงานตำรวจยึดรถยนต์ของกลาง รถยนต์มีสภาพโครงสร้างภายนอกสมบูรณ์สามารถขับแล่นไปได้ และมีการนำรถยนต์ออกมาบนถนนหลวง จอดปะปนกับรถยนต์อื่นๆ อันเป็นสภาพการใช้งานรถยนต์ตามปกติ จึงถือว่าการผลิตสำเร็จและมีการนำรถยนต์ออกจากโรงงานอุตสาหกรรมแล้ว ความรับผิดและภาระในการเสียภาษีสรรพสามิตจึงเกิดขึ้น เมื่อจำเลยมิได้ชำระภาษีสรรพสามิต การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิด
ที่ศาลอุทธรณ์ลงโทษปรับจำเลย โดยกำหนดว่าหากจำเลยไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตาม ป.อ. มาตรา 29, 30 แต่มิได้ระบุให้กักขังเกินกำหนด 1 ปี หรือไม่มีกำหนดเท่าใด เช่นนี้ จะกักขังแทนค่าปรับเกินกำหนด 1 ปีไม่ได้ ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 900/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การฆ่าผู้อื่นโดยบันดาลโทสะจากการข่มเหงและการป้องกันสิทธิของตนเองและผู้อื่น
ผู้ตายเข้าไปลวนลามฉุดมือ ช. แต่มารดาดึงตัว ช. ไว้ได้แล้ว ผู้ตายจึงเดินกลับไปที่รถจักรยานยนต์ ภยันตรายที่เกิดจากการกระทำของผู้ตายได้หมดไปแล้ว กรณีไม่ต้องด้วย ป.อ. มาตรา 68 ที่บัญญัติให้การกระทำโดยป้องกันจะต้องเป็นการป้องกันสิทธิของตนหรือของผู้อื่นให้พ้นภยันตราย ซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันเป็นการละเมิดต่อกฎหมายและเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง อย่างไรก็ดี การที่ผู้ตายเข้าไปลวนลาม ช. บุตรสาวของจำเลยถึงบ้าน เป็นการข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรมและจำเลยใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายในแทบจะทันใดหลังจากถูกข่มแหงการกระทำของจำเลยเป็นการฆ่าผู้อื่นโดยบันดาลโทสะ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 408/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค: การอุทธรณ์ต้องเป็นไปตาม พ.ร.บ.ผู้บริโภค ไม่สามารถใช้วิธีอุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 223 ทวิ
คดีผู้บริโภคจะขึ้นมาสู่ศาลฎีกาได้เฉพาะแต่กรณีที่คู่ความยื่นฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์แผนกคดีผู้บริโภคหรือศาลอุทธรณ์ภาคแผนกคดีผู้บริโภค พร้อมคำร้องขออนุญาตฎีกาต่อศาลชั้นต้นเพื่อส่งให้ศาลฎีกาพิจารณา และศาลฎีกามีคำสั่งอนุญาตให้ฎีกาแล้วเท่านั้น ตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 46, 49, 51, 52 และข้อกำหนดของประธานศาลฎีกาว่าด้วยการดำเนินกระบวนพิจารณาและการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานคดีในคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 ข้อ 40 ดังนั้นจึงไม่อาจอาศัยบทบัญญัติในมาตรา 7 นำบทบัญญัติในเรื่องการอนุญาตให้อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาโดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นตาม ป.วิ.พ. มาตรา 223 ทวิ มาอนุโลมใช้บังคับแก่คดีผู้บริโภคได้ เพราะขัดเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 ดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 277/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ จำเลยต้องลงมือก่อสร้างบ้านตามสัญญา แม้บริษัทเงินทุนฯ จะมีปัญหา หญิงชราฟ้องได้
สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างระหว่าง ด. ผู้บริโภคกับจำเลย เป็นปัญหาพิพาทเกี่ยวกับโครงการบ้านจัดสรรของจำเลยซึ่งคณะกรรมการคุ้มครองบริโภคโจทก์เคยประชุมและมีมติไว้แล้วว่า การกระทำของจำเลยที่ไม่สามารถโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่ผู้บริโภคจำนวน 9 รายในโครงการดังกล่าวของจำเลย เป็นการละเมิดสิทธิของผู้บริโภคเหล่านั้น เมื่อ ด. ยื่นเรื่องราวต่อโจทก์อันเป็นปัญหาพิพาทในโครงการเดียวกันของจำเลย เป็นเรื่องในลักษณะเดียวกับที่โจทก์เคยมีมติไว้แล้ว โจทก์จึงไม่จำต้องนำเรื่องราวของ ด. เข้าประชุมอีก เนื่องจากโจทก์ได้มีมติไว้แล้วว่าในการดำเนินคดีแก่จำเลยนั้นให้รวมถึงผู้บริโภครายอื่นที่จะมาร้องเรียนเพิ่มเติมในลักษณะเดียวกันในภายหลังด้วย การฟ้องร้องของโจทก์ในคดีนี้จึงชอบด้วยพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 มาตรา 10 (1) (7) และมาตรา 39
สัญญาจะซื้อจะขายมิได้กำหนดเวลาการเริ่มลงมือก่อสร้างและกำหนดเวลาการก่อสร้างแล้วเสร็จไว้ แต่ก็เป็นที่เห็นได้ว่าจำเลยต้องรีบลงมือก่อสร้างและก่อสร้างให้แล้วเสร็จภายในเวลาอันสมควรอันเป็นไปตามหลักสุจริตตาม ป.พ.พ. มาตรา 368 มิใช่ขึ้นอยู่กับความพอใจจำเลยว่าจะเริ่มลงมือก่อสร้างเมื่อใดก็ได้ แต่จำเลยมีหน้าที่ต้องรีบลงมือก่อสร้างโดยพลันตามมาตรา 203 เมื่อ ด. ผู้บริโภคได้ชำระเงินแก่จำเลยเป็นจำนวนถึง 130,000 บาท แต่จำเลยยังมิได้เริ่มลงมือก่อสร้างบ้าน ด. จึงมีสิทธิที่จะไม่ชำระเงินค่างวดแก่จำเลยได้เนื่องจากเป็นสัญญาต่างตอบแทนตามมาตรา 369 ดังนั้น การที่ ด. ไม่ชำระเงินค่างวดแก่จำเลยตั้งแต่งวดที่ 6 เป็นต้นไป ด. จึงไม่ได้เป็นฝ่ายผิดสัญญา
การดำเนินคดีในศาลของเจ้าหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภคได้รับยกเว้นค่าฤชาธรรมเนียมทั้งปวง ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2422 มาตรา 39 วรรคสอง จึงต้องคืนค่าขึ้นศาลในศาลชั้นต้นค่าส่งหมายเรียกสำเนาคำฟ้อง และค่าส่งคำบังคับ ซึ่งเป็นค่าฤชาธรรมเนียมที่ชำระมาให้แก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 161/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ตัวการร่วมพยายามฆ่า: การยั่วยุให้ผู้อื่นใช้ปืน และการแสดงเจตนาทำร้าย
จำเลยด่าผู้เสียหายโดยถือมีดและจอบไปด้วย อันมีลักษณะท้าทายพร้อมจะทำร้ายผู้เสียหาย การที่จำเลยตะโกนบอกให้ ส. กับ ร. ไปเอาอาวุธปืนมา แม้ ส. ใช้อาวุธปืนลูกโม่กับอาวุธปืนแก๊ปยาวยิงผู้เสียหายในทันทีภายหลังจากที่จำเลยบอกให้ไปเอาอาวุธปืน และเป็นการยิงขณะที่จำเลยด่าท้าทายผู้เสียหาย เมื่อ ส. ยิงผู้เสียหายจำเลยก็หลบหนีไปพร้อมกับ ส. ด้วย พฤติการณ์ที่แสดงถึงอาการยั่วยุและบอกให้ ส. ไปเอาอาวุธปืนมาเป็นการกระตุ้นให้ ส. ใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหาย ภาษากายที่จำเลยแสดงออกส่อเจตนาว่าจำเลยร่วมเป็นตัวการใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหาย การที่ ส. ใช้ปืนเป็นอาวุธร้ายแรงยิงผู้เสียหายขณะก้มพาบุตรเข้าบ้านอันมีโอกาสเลือกยิง ทั้งกระสุนปืนถูกผู้เสียหายที่มุมปากและคอซึ่งเป็นอวัยวะสำคัญ แสดงถึงเจตนาจะฆ่าผู้เสียหายให้ตายแม้จะรักษาตัวเพียง 15 วัน ก็หายเป็นบาดแผลไม่รุนแรงแสดงว่ากระสุนปืนมีกำลังอ่อนก็ตาม แต่ยังปรากฏว่า ส. ได้ยิงผู้เสียหายอีก 2 นัด แต่กระสุนปืนไม่ลั่นซึ่งกระสุนปืนอาจลั่นอาจทำให้ผู้เสียหายถึงแก่ความตายได้ การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9641/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การอุทธรณ์และฎีกาคดีลักทรัพย์ในศาลแขวง: การจำกัดสิทธิอุทธรณ์และฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ความผิดฐานลักทรัพย์ตาม ป.อ. มาตรา 334 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปีและปรับไม่เกินหกพันบาท เป็นคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแขวง ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า พยานหลักฐานของโจทก์และโจทก์ร่วมที่นำสืบยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยลักทรัพย์ของโจทก์ร่วมแล้วพิพากษายกฟ้อง คดีจึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์คำพิพากษาของศาลชั้นต้นในปัญหาข้อเท็จจริงตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 22 ประกอบ พ.ร.บ.ให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ.2520 มาตรา 3 โจทก์ร่วมอุทธรณ์โต้เถียงว่าพยานหลักฐานของโจทก์และโจทก์ร่วมฟังได้ว่าจำเลยลักทรัพย์ของโจทก์ร่วม อันเป็นการอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง โดยมิได้รับอนุญาตจากผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาหรือลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นหรืออัยการสูงสุดลงลายมือชื่อรับรองในอุทธรณ์ว่ามีเหตุอันควรที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 จะได้วินิจฉัยตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 22 ทวิ ประกอบ พ.ร.บ.ให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ.2520 มาตรา 3 การที่ศาลชั้นต้นรับอุทธรณ์ของโจทก์ร่วมไว้จึงเป็นการไม่ชอบ แม้ศาลอุทธรณ์ภาค 1 จะรับวินิจฉัยชี้ขาดคดีให้ก็เป็นการไม่ชอบเช่นกัน ดังนี้ ผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นไม่อาจอนุญาตให้โจทก์ร่วมฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงในคดีนี้ได้อีก ทั้งศาลฎีกาก็ไม่อาจพิจารณาฎีกาของโจทก์ร่วมได้เพราะเป็นฎีกาในข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 1 อันเป็นฎีกาที่ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9591/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การรับผิดในฐานะตัวการตัวแทนและขอบเขตการฎีกาในประเด็นที่มิได้ยกขึ้นว่ากันในศาลอุทธรณ์
โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 4 รับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 425 มิได้บรรยายว่า จำเลยที่ 1 เป็นตัวแทน จำเลยที่ 4 เป็นตัวการ อันเป็นหลักแห่งข้อหาที่จะให้จำเลยที่ 4 รับผิดต่อโจทก์ในฐานะตัวการตัวแทนตามมาตรา 427 การที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าจำเลยที่ 4 ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ในฐานะตัวการตัวแทนจึงเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็น
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างกระทำการในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 4 โจทก์ไม่อุทธรณ์ปัญหานี้จึงยุติไปแล้วตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ฎีกาของโจทก์ในปัญหาดังกล่าวจึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 7 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง แม้ผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นจะรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้ ศาลฎีกาก็ไม่รับวินิจฉัย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9559/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ลักทรัพย์สำเร็จในสถานที่ทำงาน: ศาลฎีกาแก้ไขข้อกฎหมายและลงโทษฐานลักทรัพย์ธรรมดา
การที่จำเลยเอายาและเครื่องเวชภัณฑ์ใส่ไว้ในถุงพลาสติก ซึ่งไม่ว่าจะเป็นการไปเอาจากห้องคลังยาโดยตรงหรือในช่วงที่จำเลยเอาไปวางบนชั้นด้านหลังเคาน์เตอร์เภสัชกร ย่อมถือได้ว่าจำเลยเคลื่อนย้ายทรัพย์จากที่ตั้งตามปกติและเข้าถือเอาทรัพย์นั้นแล้ว ทั้งจำเลยยังถือถุงพลาสติกออกไปแม้จะยังไม่พ้นจากห้องจ่ายยาเพราะมีผู้พบเห็นเสียก่อนทำให้จำเลยเอาทรัพย์ไปไม่ได้ ก็ถือว่าความผิดฐานลักทรัพย์สำเร็จแล้วหาใช่เป็นเพียงพยายามลักทรัพย์ไม่ การปรับบทกฎหมายให้ถูกต้องเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้และไม่ถือเป็นการเพิ่มเติมโทษจำเลย นอกจากนี้จำเลยเป็นลูกจ้างประจำและทำงานอยู่ในโรงพยาบาลที่เกิดเหตุ ห้องจ่ายยาผู้ป่วยในเป็นสถานที่ทำงานของจำเลยและเหตุเกิดในช่วงเวลาที่จำเลยทำงาน จึงมิใช่เป็นเรื่องที่จำเลยเข้าไปโดยไม่ได้รับอนุญาตแล้วจึงลักทรัพย์ในสถานที่ดังกล่าว การกระทำของจำเลยย่อมเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ธรรมดามิใช่ลักทรัพย์ในสถานที่ราชการ และศาลมีอำนาจที่จะลงโทษจำเลยตามที่พิจารณาได้ความซึ่งเป็นบทที่เบากว่าได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคท้าย ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เอง ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9266/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การโอนสิทธิเรียกร้องและการไม่มีนิติสัมพันธ์โดยตรงระหว่างผู้รับเหมาช่วงกับผู้รับเงิน โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง
ตามสัญญารับเหมาช่วงที่ทำขึ้นระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 ร่วมลงนามผูกพันเป็นคู่สัญญาด้วย ทั้งจำเลยที่ 2 ไม่เคยทำสัญญากับโจทก์โดยตกลงที่จะเป็นผู้ชำระหนี้ดังกล่าวให้โจทก์แทนจำเลยที่ 1 อันจะมีผลเป็นการแปลงหนี้ใหม่ด้วยการเปลี่ยนตัวลูกหนี้ แม้จะได้ความว่าก่อนจะทำสัญญา จำเลยที่ 1 มีหนังสือถึงจำเลยที่ 2 แจ้งว่าจำเลยที่ 1 ทำสัญญาซื้อสินค้าสำหรับใช้ในโครงการที่จำเลยที่ 1 รับเหมากับโจทก์ หากจำเลยที่ 2 ได้รับเงินในงวดงานที่ 17, 18 ก็ขอให้จำเลยที่ 2 ชำระเงินแก่โจทก์ซึ่งจำเลยที่ 2 มีหนังสือแจ้งว่าไม่ขัดข้อง ข้อตกลงระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ดังกล่าว ก็เป็นเพียงข้อตกลงในการจัดการชำระหนี้สินของจำเลยที่ 1 ที่มีอยู่ต่อโจทก์ให้เป็นไปโดยถูกต้องเรียบร้อยเท่านั้น หาใช่เป็นข้อสัญญาที่จำเลยที่ 2 ตกลงจะชำระหนี้ให้แก่โจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกตาม ป.พ.พ. มาตรา 374 เพราะตราบใดมีค่างวดงานที่จำเลยที่ 2 ได้รับจากมหาวิทยาลัย ม. ยังนำไปหักชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 ได้ไม่ครบถ้วน ข้อตกลงที่จำเลยที่ 2 จะชำระค่าจ้างเหมาให้แก่โจทก์ก็ยังไม่เกิดผลบังคับและแม้การเบิกเงินในงวดงานที่ 17, 18 จะเกี่ยวข้องกับผลสำเร็จของงานที่โจทก์รับเหมาช่วงจากจำเลยที่ 1 ก็หาทำให้โจทก์มีนิติสัมพันธ์กับจำเลยที่ 2 ในอันที่จะฟ้องบังคับให้จำเลยที่ 2 ชำระหนี้แก่โจทก์โดยตรงตามมาตรา 374 ได้ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9193/2552 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ลักทรัพย์ในวัด แต่พระพุทธรูปมิได้เป็นที่สักการบูชา ความผิดฐานลักทรัพย์ตาม ม.335(7) มิใช่ความผิดตาม ม.335ทวิ
แม้ทรัพย์ที่จำเลยกับพวกร่วมกันลักจะเป็นพระพุทธรูปและอยู่ในวัดผู้เสียหายแต่ได้ความว่าพระพุทธรูปดังกล่าวเก็บไว้ในศาลาบำเพ็ญกุศลหลังเก่าซึ่งเห็นได้ชัดตามภาพถ่ายว่าอยู่ในสภาพที่ถูกปล่อยทิ้งร้างและรกรุงรัง มิได้จัดวางไว้ในที่เหมาะสมเพื่อให้ประชาชนไปสักการบูชาแต่ประการใด รวมทั้งเครื่องบูชาใด ๆ ไม่มีปรากฏให้เห็นจึงยังถือไม่ได้ว่าพระพุทธรูปดังกล่าวเป็นที่สักการบูชาของประชาชน ตาม ป.อ. มาตรา 335 ทวิ วรรคแรก ดังนี้ แม้จำเลยจะได้ร่วมกับพวกลักพระพุทธรูปดังกล่าวภายในวัดผู้เสียหาย ก็ไม่เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 335 ทวิ วรรคสอง ทั้งศาลาบำเพ็ญกุศลมีไว้เพื่อใช้จัดงานพิธีศพจึงมิใช่สถานที่บูชาสาธารณะตาม ป.อ. 335 (9) การกระทำของจำเลยจึงคงเป็นความผิดฐานร่วมกันลักทรัพย์โดยร่วมกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่สองคนขึ้นไป และโดยใช้ยานพาหนะเพื่อสะดวกแก่การกระทำความผิดการพาทรัพย์นั้นไปหรือเพื่อให้พ้นการจับกุมตาม ป.อ. 335 (7) วรรคแรก ประกอบมาตรา 336 ทวิ, 83 เท่านั้น
of 18