คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
ชินวิทย์ จินดา แต้มแก้ว

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 179 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7337/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เขตอำนาจศาลเปลี่ยนแปลงหลังมีกฎหมายใหม่ คดีอยู่ในอำนาจศาลฎีกาฯ
ประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 30 ข้อ 10/1 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 30 พ.ศ.2550 มาตรา 3 เป็นบทบัญญัติว่าด้วยการฟ้องและการพิจารณาคดีจึงเป็นกฎหมายในส่วนวิธีสบัญญัติและมีผลใช้บังคับทันทีนับตั้งแต่วันที่กฎหมายมีผลใช้บังคับ เป็นผลให้คดีที่โจทก์ฟ้องกล่าวหาจำเลยในฐานะกรรมการตรวจสอบว่ากระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ทั้งการดำเนินคดีต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ซึ่งรวมทั้งคณะกรรมการตรวจสอบตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2542 มาตรา 36 ถึงมาตรา 44 มีวิธีพิเศษแตกต่างไปจากการดำเนินคดีอาญาทั่วไป เป็นการคุ้มครองประโยชน์สาธารณะ และคุ้มครองคณะกรรมการดังกล่าวมิให้ถูกกลั่นแกล้งดำเนินคดีได้โดยง่าย อันเป็นหลักประกันในการปฏิบัติหน้าที่ ศาลชั้นต้นจึงไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนี้อีกต่อไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3867/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ผลกระทบของกฎหมายวิธีสบัญญัติใหม่ต่อคดีที่ฟ้องไว้ก่อนหน้า: อำนาจศาลเปลี่ยนแปลง
หลักกฎหมายที่ห้ามมีผลใช้บังคับย้อนหลังนั้น ห้ามใช้บังคับย้อนหลังเฉพาะกฎหมายในส่วนที่เป็นสารบัญญัติเท่านั้น มิได้ห้ามในส่วนวิธีสบัญญัติด้วย พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 30 พ.ศ.2550 ที่แก้ไขเพิ่มเติม ข้อ 10/1 ของประกาศฉบับดังกล่าวจึงมีผลใช้บังคับแก่คดีนี้ทันที อันมีผลให้คดีของโจทก์ทั้งสองไม่อยู่ในเขตอำนาจการพิจารณาพิพากษาของศาลชั้นต้นอีกต่อไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12210/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องคดีภาษี: การแจ้งการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มและเบี้ยปรับเป็นขั้นตอนก่อนฟ้อง การยังไม่ได้แจ้งการประเมินถือว่าไม่มีอำนาจฟ้อง
ภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นภาษีอากรประเมินตาม ป.รัษฎากร มาตรา 77 และเบี้ยปรับภาษีมูลค่าเพิ่มให้ถือเป็นภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 89/2 มาตรา 88/5 บัญญัติว่า เมื่อเจ้าพนักงานประเมินได้ประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว ให้แจ้งการประเมินเป็นหนังสือไปยังผู้มีหน้าที่เสียภาษี หากผู้เสียภาษีมิได้เสียหรือนำส่งภาษีเมื่อถึงกำหนดชำระจึงจะถือเป็นภาษีอากรค้างตามมาตรา 12 ซึ่งจะเป็นการโต้แย้งสิทธิของผู้เสียภาษี กรณีของโจทก์ การที่สำนักงานสรรพากรภาค 7 มีหนังสือเรื่อง อนุมัติให้ลดเบี้ยปรับภาษีมูลค่าเพิ่มเดือนภาษีมิถุนายน 2548 แจ้งแก่โจทก์ว่า คงเรียกเก็บเพียงร้อยละ 50 ของเบี้ยปรับตามกฎหมายและหนังสือเรื่อง ผลการทบทวนการพิจารณาคำร้องของดเบี้ยปรับภาษีมูลค่าเพิ่ม แจ้งแก่โจทก์ว่ากรณีของโจทก์ยังไม่มีเหตุอันควรผ่อนผันงดหรือลดเบี้ยปรับให้อีก และหนังสือสำนักงานสรรพากรพื้นที่นครสวรรค์ เรื่อง เตือนให้นำเงินภาษีอากรค้างไปชำระนั้น หนังสือทั้งสามฉบับเป็นขั้นตอนก่อนมีการแจ้งการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มแก่โจทก์ หากโจทก์ไม่ชำระเบี้ยปรับตามหนังสือเตือนดังกล่าว เบี้ยปรับก็หาใช่ภาษีอากรค้างตาม ป.รัษฎากร ไม่ จำเลยย่อมไม่มีอำนาจเรียกเก็บจากโจทก์ได้ เพราะฉะนั้นหนังสือทั้งสามฉบับที่จำเลยแจ้งแก่โจทก์ตามฟ้องจึงยังไม่มีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ของโจทก์ตาม ป.รัษฎากร ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 17 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 55 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ปัญหานี้แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นอุทธรณ์ แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8766/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เงินได้จากการจ้างงานแม้จะโอนให้บุตรก็ยังเป็นเงินได้พึงประเมิน ต้องนำไปยื่นภาษี
โจทก์แสดงความประสงค์ไว้ล่วงหน้าให้นายจ้างโจทก์จ่ายเงินค่าจ้างในปีภาษี 2549 ให้แก่ เด็กชาย จ. บุตรของโจทก์โดยตรง ก็ต้องถือว่าโจทก์มีเงินได้เนื่องจากการจ้างแรงงานอันเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (1) เพราะโจทก์ย่อมต้องได้รับเงินค่าจ้างดังกล่าวมาก่อนแล้วจึงนำมาโอนให้แก่บุตรของโจทก์ได้ โจทก์จึงมีหน้าที่ต้องนำเงินค่าตอบแทนจากการทำงานดังกล่าวไปยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3386/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เอกสารกู้ยืม พี.เอ็น.มาร์จิน/แคชมาร์จิน ไม่ต้องเสียอากรแสตมป์ มาตรา 118 ป.รัษฎากร
จำเลยเป็นหนี้โจทก์ตามบัญชี พี.เอ็น.มาร์จิน และบัญชีแคชมาร์จิน ตามสัญญาให้กู้ยืมเงินเพื่อซื้อหลักทรัพย์และบัญชีเดินสะพัด กับบันทึกข้อตกลงในการกู้ยืมเงินเพื่อซื้อหลักทรัพย์โดยมีหลักทรัพย์มาวางเป็นประกัน
บทบัญญัติในการตัดพยานเอกสารในคดีแพ่งตามมาตรา 118 แห่ง ป.รัษฎากรนั้น ต้องตีความโดยเคร่งครัด เอกสารที่ถูกห้ามเป็นพยานจึงต้องเป็นเอกสารที่ระบุไว้ในบัญชีอัตราอากรแสตมป์ท้ายประมวลรัษฎากรเท่านั้น ตามบัญชีอัตราอากรแสตมป์ข้อ 5 ระบุว่า "5. กู้ยืมเงิน หรือการตกลงให้เบิกเงินเกินบัญชีจากธนาคาร ค่าอากรแสตมป์ 1 บาท ทุกจำนวน 2,000 บาท หรือเศษของ 2,000 บาท แห่งยอดเงินที่กู้ยืมหรือตกลงให้เบิกเกินบัญชี" ตามบทบัญญัติดังกล่าวระบุเอกสารไว้เพียง 2 ประเภท คือ สัญญากู้เงินกับสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีจากธนาคาร สัญญากู้เงินแตกต่างจากสัญญาเบิกเงินเกินบัญชี เนื่องจากการกู้เงินคู่สัญญาย่อมทราบจำนวนเงินอันมีวัตถุประสงค์ของสัญญาได้ทันที และสามารถปิดอากรแสตมป์ไปตามจำนวนดังกล่าวได้ แต่สัญญาเบิกเงินเกินบัญชีแม้ในทางปฏิบัติจะเรียกว่าสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชี แต่ก็มิใช่สัญญากู้ทั่วไป เนื่องจากขณะทำสัญญาเป็นเพียงกำหนดวงเงินที่ลูกหนี้จะทำการก่อหนี้ได้เท่านั้น ส่วนลูกหนี้จะขอกู้และเป็นหนี้จำนวนเท่าใดยังไม่ทราบแน่ชัดในขณะทำสัญญา ด้วยเหตุนี้บัญชีอัตราอากรแสตมป์จึงระบุไว้ให้ถือเอาวงเงินที่ตกลงให้เบิกเงินเกินบัญชีเป็นจำนวนที่จะคำนวณค่าอากรแสตมป์ หาใช่จำนวนที่เป็นหนี้กันจริงไม่
สัญญาให้กู้ยืมเงินเพื่อซื้อหลักทรัพย์และบัญชีเดินสะพัดมีวัตถุประสงค์ให้บริษัทตัวแทนจ่ายเงินทดรองอันถือเป็นเงินกู้ยืมเพื่อชำระราคาค่าซื้อหลักทรัพย์ที่ลูกค้าสั่งซื้อ หรือออกค่าใช้จ่ายไปตามความจำเป็นเพื่อดำเนินการในเรื่องนี้ โดยมีการหักทอนบัญชีเป็นครั้งคราว เช่นเดียวกับบันทึกข้อตกลงในการกู้ยืมเพื่อซื้อหลักทรัพย์โดยมีหลักทรัพย์นั้นมาวางเป็นประกัน ที่มีวัตถุประสงค์และวิธีการปฏิบัติทำนองเดียวกัน แสดงว่าในขณะทำสัญญายังไม่ทราบจำนวนยอดเงินที่เป็นหนี้คงทราบแต่เพียงวงเงินที่อนุมัติไว้หนี้ตามวงเงินจะเกิดขึ้นหรือไม่ก็ยังไม่แน่ชัด อยู่ที่การสั่งซื้อของลูกค้าและการหักทอนบัญชีอันจะมีระหว่างคู่สัญญา กรณีถือไม่ได้ว่าเป็นการกู้ตามความประสงค์ของข้อ 5 แห่งบัญชีอัตราอากรแสตมป์ คงมีลักษณะเป็นเพียงการกำหนดวงเงินเพื่อหักทอนบัญชีเดินสะพัด แต่ข้อ 5 แห่งบัญชีดังกล่าวกำหนดให้การตกลงให้เบิกเงินเกินบัญชีจากธนาคารเท่านั้นที่จะเสียค่าอากรแสตมป์ตามยอดที่ตกลงให้เบิกเงินเกินบัญชี หาได้รวมถึงสัญญาที่กำหนดวงเงินกู้ซื้อหลักทรัพย์ประเภท พี.เอ็น.มาร์จิน และแคชมาร์จิน ด้วยไม่ กรณีไม่อาจตีความให้คลุมถึงได้ จึงต้องถือว่าสัญญาให้กู้ยืมเงินเพื่อซื้อหลักทรัพย์และบัญชีเดินสะพัด และบันทึกข้อตกลงในการกู้ยืมเงินเพื่อซื้อหลักทรัพย์โดยมีหลักทรัพย์เป็นประกันมิใช่เอกสารที่ระบุไว้ในบัญชีอัตราอากรแสตมป์ เอกสารดังกล่าวไม่อยู่ในบังคับของบทบัญญัติมาตรา 118 แห่ง ป.รัษฎากร ศาลชอบที่จะรับและฟังเอกสารดังกล่าวเป็นพยานหลักฐานในคดีแพ่งได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2908/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การสมคบกันกระทำผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ต้องเป็นการสมคบกันในความผิดนั้น พยานหลักฐานต้องเชื่อมโยงถึงการกระทำความผิด
ตาม พ.ร.บ.มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 8 วรรคสอง ที่บัญญัติว่า "ถ้าได้มีการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดเพราะเหตุที่ได้มีการสมคบกันตามวรรคหนึ่ง ผู้สมคบกันนั้นต้องระวางโทษตามที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น" ศาลฎีกาเห็นว่า ผู้ที่สมคบกันเพื่อกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดและต้องถูกลงโทษตามที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น ต้องเป็นการสมคบกันกระทำความผิดที่เกี่ยวกับยาเสพติดในครั้งนั้นด้วย เมื่อจำเลยขับรถมารับยาเสพติดให้โทษไปส่งให้แก่ผู้ค้าคือ อ. 2 ครั้ง แต่ไม่ใช่ครั้งที่ ว. และ ส. กระทำความผิดในครั้งนี้ จึงไม่อาจลงโทษจำเลยในข้อหาตามฟ้องได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11632/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ละเมิดจากการโอนสิทธิเรียกร้องและการมอบอำนาจโดยไม่มีสิทธิ จำเลยต้องร่วมกันรับผิดคืนเงิน
คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องว่า เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2539 โจทก์ตรวจรับมอบผ้างวดที่ 1 ตามสัญญาที่จำเลยที่ 1 ส่งมอบไว้เรียบร้อยแล้ว ครั้นเมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2539 จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้แทนจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ในฐานะส่วนตัวได้ร่วมกันหลอกลวงฉ้อโกงและจงใจทำละเมิดต่อโจทก์โดยแสดงข้อความเท็จและปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง กล่าวคือจำเลยทั้งสองร่วมกันทำหนังสือมอบอำนาจให้พนักงานของจำเลยที่ 1 ไปขอรับค่าสินค้างวดที่ 1 จากโจทก์โดยแจ้งต่อโจทก์ว่า จำเลยที่ 1 มีสิทธิรับเงินค่าสินค้างวดที่ 1 ซึ่งเป็นความเท็จ เพราะความจริงแล้วจำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องค่าสินค้านั้นไปให้ผู้อื่นก่อนแล้ว จำเลยที่ 1 จึงไม่มีสิทธิขอรับชำระหนี้ค่าสินค้าจากโจทก์อีก การกระทำของจำเลยทั้งสองดังกล่าวเป็นการกระทำความผิดฐานฉ้อโกงตาม ป.อ. และเป็นการจงใจทำละเมิดต่อโจทก์ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนหรือชดใช้เงินค่าสินค้าผ้างวดที่ 1 พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ ดังนี้ จึงเป็นการฟ้องให้จำเลยทั้งสองร่วมกันรับผิดฐานละเมิด และให้คืนทรัพย์สินอันผู้เสียหายต้องเสียไปเพราะละเมิด ตาม ป.พ.พ. มาตรา 420 ประกอบมาตรา 438
พฤติการณ์ที่จำเลยที่ 2 ร่วมเดินทางไปกับหัวหน้างานบัญชีของบริษัทสยามเจเนอรัลแฟคตอริ่ง จำกัด (มหาชน) ผู้รับโอนสิทธิเรียกร้อง เพื่อไปส่งมอบหนังสือบอกกล่าวการโอนสิทธิเรียกร้องให้แก่กองพลาธิการ กรมตำรวจ ย่อมบ่งชี้ชัดว่าจำเลยที่ 2 รู้อยู่แล้วว่า การโอนสิทธิเรียกร้องในการรับเงินค่าสินค้าจากโจทก์ของจำเลยที่ 1 ให้แก่บริษัทสยามเจเนอรัลแฟคตอริ่ง จำกัด (มหาชน) มีผลสมบูรณ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 306 วรรคหนึ่ง อันเป็นผลให้สิทธิเรียกร้องของจำเลยที่ 1 ในการรับเงินค่าสินค้าผ้าจากโจทก์ตกเป็นของบริษัทสยามเจเนอรัลแฟคตอริ่ง จำกัด (มหาชน) และจำเลยที่ 1 หมดสิทธิที่จะรับเงินดังกล่าวจากโจทก์แล้ว ดังนั้นต่อมาเมื่อโจทก์ตรวจรับมอบสินค้างวดที่ 1 จากจำเลยที่1 แล้ว เจ้าหน้าที่ของโจทก์ได้โทรศัพท์แจ้งให้จำเลยที่ 2 ทราบเพื่อให้ไปรับเงินค่าผ้าในงวดที่ 1 อีก ไม่ว่าจะเป็นเพราะความผิดพลาดในการตรวจสอบเอกสาร หรือความเข้าใจผิดใดก็ตาม การที่จำเลยที่ 2 ในฐานะกรรมการผู้มีอำนาจของจำเลยที่ 1 มอบอำนาจให้พนักงานของจำเลยที่ 1 ไปรับเงินจากกองพลาธิการ กรมตำรวจ แทนจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธิที่จะรับเงินจำนวนดังกล่าวจากโจทก์ได้อีก การกระทำของจำเลยที่ 2 ดังกล่าวย่อมเป็นการกระทำในฐานะกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 โดยมีเจตนาที่ไม่สุจริตอันถือได้ว่าจำเลยที่ 2 กระทำต่อโจทก์โดยผิดกฎหมายทำให้โจทก์เสียหาย จึงเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 420 จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ทำละเมิดจึงต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 นิติบุคคลเจ้าของกิจการที่จำเลยที่ 2 เป็นผู้กระทำการแทนรับผิดคืนเงินจำนวนดังกล่าวแก่โจทก์ด้วยตาม ป.พ.พ. มาตรา 420 และมาตรา 1167 ประกอบมาตรา 427

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11367/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ องค์คณะไม่ครบถ้วนในการพิจารณาคดีของศาลอุทธรณ์ภาค การวินิจฉัยของศาลฎีกาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย
พระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 27 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ในการพิจารณาพิพากษาคดีของศาลอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาคหรือศาลฎีกา ต้องมีผู้พิพากษาอย่างน้อยสามคน จึงเป็นองค์คณะที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีได้ เมื่อคดีนี้มีผู้พิพากษาลงชื่อในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5 เพียงสองคน จึงไม่ครบองค์คณะ ไม่ชอบด้วยบทบัญญัติดังกล่าว ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10701/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การขอคืนภาษีเกินกำหนดเวลาและข้อยกเว้นตาม ป.รัษฎากร มาตรา 27 ตรี การฟ้องคดีแพ่งขยายเวลาขอคืนภาษี
ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 27 ตรี ใช้บังคับกับผู้ที่ถูกหักภาษีไว้ ณ ที่จ่าย และนำส่งแล้วเป็นจำนวนเงินเกินกว่าที่ควรต้องเสียภาษี รวมถึงบุคคลที่ไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีอากรด้วย โจทก์อ้างว่าเป็นผู้ไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีอากร แต่ได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับปีภาษี 2535 ถึงปีภาษี 2539 ว่ามีเงินได้ประเภทดอกเบี้ยเงินกู้ยืมพร้อมนำส่งภาษีแก่จำเลย โจทก์จึงต้องยื่นคำร้องขอคืนเงินภาษีอากรภายในสามปีนับแต่วันสุดท้ายแห่งกำหนดเวลายื่นรายการภาษี โจทก์ยื่นคำร้องเมื่อพ้นกำหนดเวลาที่กฎหมายกำหนดตามมาตรา 27 ตรี (2) กรณีผู้มีสิทธิขอคืนอุทธรณ์การประเมินตามหมวดนี้ หรือเป็นคดีในศาลให้ผู้มีสิทธิขอคืนยื่นคำร้องขอคืนภายในสามปีนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์การประเมินเป็นหนังสือหรือนับแต่วันที่มีคำพิพากษาถึงที่สุด แล้วแต่กรณีนั้น คำว่า เป็นคดีในศาล หมายถึง คดีฟ้องเพิกถอนคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ต่อศาลตาม ป.รัษฎากร มาตรา 30 (2) หรือฟ้องคดีโดยเป็นคู่ความกับกรมสรรพากรอ้างว่าตนไม่มีหน้าที่เสียภาษี มิใช่เป็นการฟ้องคดีแพ่งทั่วไประหว่างตนกับบุคคลอื่น แล้วนำผลคดีมาอ้างขยายเวลาขอคืนภาษี การที่โจทก์ฟ้อง จ. แล้วศาลจังหวัดสมุทรสาครมีคำพิพากษาว่า จ. ไม่ชำระต้นเงินและดอกเบี้ยแก่โจทก์นั้นเป็นการฟ้องคดีแพ่งทั่วไปไม่อยู่ในบังคับ ป.รัษฎากร มาตรา 27 ตรี (2) โจทก์จึงไม่มีอำนาจนำคดีมาฟ้องต่อศาลได้ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 7 (3) ประกอบมาตรา 9

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10521/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การคำนวณปริมาณสารบริสุทธิ์ยาเสพติดจากส่วนหนึ่งของยาเสพติดของกลาง และการลงโทษปรับตาม พ.ร.บ.ยาเสพติด
แม้โจทก์ไม่ได้บรรยายว่าเมทแอมเฟตามีน 30 เม็ด ที่จำหน่ายให้แก่สายลับมีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์เท่าใด แต่โจทก์บรรยายฟ้องมาแล้วว่า เมทแอมเฟตามีนของกลาง 160 เม็ด ที่จำเลยที่ 1 มีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายมีน้ำหนัก 14.86 กรัม คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ 2.847 กรัม ซึ่งคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ตั้งแต่สามร้อยเจ็ดสิบห้ามิลลิกรัมขึ้นไป อันเป็นการบรรยายฟ้องขอให้ลงโทษตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคสาม (2), 66 วรรคสอง และเมทแอมเฟตามีนที่จำเลยที่ 1 จำหน่ายดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของเมทแอมเฟตามีนที่โจทก์บรรยายฟ้อง และเป็นส่วนหนึ่งของเมทแอมเฟตามีนของกลาง จึงคำนวณสารบริสุทธิ์ของเมทแอมเฟตามีน 30 เม็ด ดังกล่าวได้เช่นเดียวกันว่าคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ 0.5338 กรัม ซึ่งเป็นปริมาณตั้งแต่สามร้อยเจ็ดสิบห้ามิลลิกรัมขึ้นไป กรณีจึงลงโทษจำเลยที่ 1 ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง, 66 วรรคสอง ได้ ซึ่งตามมาตรา 100/1 บัญญัติว่า ตามผิดตามพระราชบัญญัตินี้ที่มีโทษจำคุกและปรับ ให้ศาลลงโทษจำคุกและปรับด้วยเสมอ โดยคำนึงถึงการลงโทษในทางทรัพย์สินเพื่อป้องปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษ ที่ศาลล่างทั้งสองลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 ฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนโดยไม่ปรับด้วยนั้น จึงไม่ถูกต้อง ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 แต่โจทก์มิได้อุทธรณ์ฎีกาในปัญหานี้ ศาลฎีกาไม่อาจลงโทษปรับได้ เพราะจะเป็นการพิพากษาเพิ่มเติมโทษจำเลยที่ 1 ต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 212 ประกอบมาตรา 225
of 18